Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
4 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
จากชุมชนสู่นโยบาย: ถ้ารัฐทำไม่ได้ เราจะทำเอง





กรณ์อุมา พงษ์น้อย

ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี





“นโยบาย” เป็นคำที่พวกเราชาวบ้านได้ยินบ่อยตามวงสัมมนาต่างๆ ตามข่าวภาคค่ำทางโทรทัศน์เวลาพวกรัฐมนตรีออกมาแถลงผลงาน หรือเวลาผู้มีอำนาจต้องการจะปรามผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง ก็จะใช้คาถาว่า “นี่เป็นเรื่องนโยบาย”

แต่เวลาที่คำคำนี้มาเกี่ยวข้องกับพวกเราโดยตรงทีไร เรามีอันต้องก่ายหน้าผากทุกที

ชาวบ้านอย่างเราทำมาหากินไปตามประสา ลำพังจะจัดการชีวิตให้สอดคล้องกับดินฟ้าอากาศ จัดการผลผลิตให้ขายรอดได้ในตลาด จัดสรรเวลาให้กิจกรรมศาสนาและวัฒนธรรมในชุมชน และจัดการรับมือกับการละเมิดสิทธิโดยรัฐและทุนที่ชอบดอดเข้ามาเวลาเราเผลอ

เท่านี้ชีวิตเราลำเค็ญอย่างเป็นองค์รวมพอแล้ว

ยังจะต้องให้เราไปยุ่งกับภาษาซับซ้อน โวหารชั้นสูง เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีปัญญาเข้าใจ หรือกระทั่งเสนอนโยบายอีกหรือ

และต่อให้เราดิ้นรนจะมีส่วนร่วมในระดับนโยบายเท่าไหร่ รัฐก็ทำเป็นสักแต่ว่ารับฟังเพียงเพื่อให้ครบองค์ประกอบของการมีส่วนร่วมตามที่รัฐจะมีเมตตาบัญญัติให้เป็นกฏหมายทุกครั้งไป

แต่พอถึงเวลาก็ไปอาศัยเหตุผลและปัจจัยอื่นมาชี้ขาดทุกที

สำหรับเราแล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือนโยบายที่แท้จริง จึงมีแต่ต้องเริ่มจากตีนเล็กๆของชาวบ้านที่มาเดินร่วมกัน ฟันฝ่าล้มลุกคลุกคลานด้วยกัน ผลักดันความเปลี่ยนแปลงไปทีละก้าว ทีละขั้นร่วมกัน

ตราบใดที่แต่ละก้าวนั้น ย่างออกไปด้วยกำลังขาของตัวเอง และด้วยการตัดสินใจของตัวเอง

จะเดินช้า หรือสะดุดล้มบ้าง ก็ยังภูมิใจได้ว่าเป็นการก้าวไปด้วยตีนของเรา

เหมือนอย่างที่พี่น้องสมัชชาคนจนเคยบอกว่า รัฐธรรมนูญเขียนได้ด้วยตีนของเรา

สาเหตุที่ทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าสุดขีดอย่างเรา เลือกจะสังฆกรรมกับนโยบายด้วยการใช้ฝ่าเท้าเท่านั้น ก็เพราะว่าจากประสบการณ์ของเรา เราเจอมาแต่นโยบายที่อาจจำแนกประเภทได้อย่างหยาบๆสองแบบ คือ ๑. นโยบายปั้นเขวี้ยง และ ๒. นโยบายบ่อนทำลายความเข้มแข็งของชุมชน





นโยบายปั้นเขวี้ยง

นโยบายจำพวกนี้มักมาพร้อมข้ออ้างเพื่อการพัฒนา หรือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุน ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้วก็เป็นนโยบายที่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อพวกพ้อง แล้วอ้างว่าเพื่อชาติ อ้างแต่ตัวเลขจีดีพี แต่ไม่ได้สนใจว่าตัวเลขพวกนั้นทำให้คนโดยรวมดีขึ้นจริงๆ หรือทำให้เป็นอย่างที่พูดกันว่า “รวยกระจุก จนกระจาย”

นโยบายที่ “ปั้นเขวี้ยง” จากรัฐมาสู่ชุมชนนั้น ไม่สนใจว่าจะสอดคล้องกับศักยภาพและวิถีของชุมชนหรือไม่ อย่างที่จ.ประจวบฯของเรา แต่ไหนแต่ไรมาเราก็ไม่ได้เคยร้องขอให้รัฐต้องมาช่วยอะไร เรามีศักยภาพของเรา มีทรัพยากรชายฝั่งทะเล พืชผล มีแหล่งท่องเที่ยว แล้วจู่ๆคุณก็ปั้นเขวี้ยงนโยบายพลังงานที่จะให้เอกชนมาสร้างโรงไฟฟ้าล้างผลาญท้องถิ่นของเรา แทนที่คุณจะส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งจะสร้างรายได้ที่อาจจะมีผลต่อจีดีพีด้วย และอาจจะกระจายรายได้อย่างแท้จริงด้วย แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้ทำให้ตัวเลขจีดีพีสูงขึ้นเป็นพิเศษเหมือนเวลาไปอุดหนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่มันก็ทำให้คนโดยรวมอยู่ดีกินดีขึ้นจริงๆ

แต่รัฐก็ไม่ได้สนใจ มุ่งแต่จะเขียนนโยบายอ้างการกระตุ้นเศรษฐกิจชาติที่แปลว่าพวกพ้องของตนกลุ่มเดียว

นโยบายพัฒนาแบบปั้นเขวี้ยงเช่นนี้ ผลที่สุดก็มีแต่จะทำลายชุมชน เช่น ถ้าวันนี้โรงไฟฟ้าบ่อนอกบ้านกรูดสร้างได้ ชุมชนที่เคยพึ่งตัวเองได้ด้วยรายได้จากการทำประมง เกษตรและการท่องเที่ยว ก็ต้องไปเป็นลูกจ้าง ชาวประมงชายฝั่งก็คงหากินไม่ได้แล้ว มีสะพานขนลำเลียงถ่านหินขวางทะเล ขี้เถ้าถ่านหินถ้าไม่ปลิวว่อนก็ไหลลงทะเล ชายหาดบ้านกรูดบ่อนอกก็จะไม่มีใครไปเที่ยว เหมือนทุกวันนี้ไม่มีใครไปเที่ยวมาบตาพุด ชาวบ้านจากที่เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ก็ต้องไปเป็นผู้ใช้แรงงาน วงจรชีวิตเปลี่ยนไปเป็นเข้ากะเช้ากะดึก มีรายได้นิดหน่อยเพื่อยังชีพ ค่าแรงวันละร้อยกว่าบาทหมดไปกับการซื้อแกงถุง ซื้อบัตรเติมเงินโทรคุยกับลูกเพราะมัวแต่ต้องทำโอที ไม่มีเวลาไปอยู่กับลูกหลังเลิกเรียน ลูกหลานสมองกลวง เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ออกเรือหาเลี้ยงปากท้องไม่ได้ ติดยา กลายเป็นข้ออ้างให้รัฐใช้เงินโฆษณาส่งเสริมสังคมศีลธรรม คุณธรรมกันให้วุ่นวาย หรือไม่วันดีคืนดีก็โดนอุ้มฆ่าเพราะถูกรัฐสงสัยว่าโดนขบวนการก่อความไม่สงบล่อลวงมอมยา

นโยบายที่อ้างว่าเพื่อการเพิ่มรายได้ประชาชาติ คือตัวทำลายอาชีพของประชาชน สมัชชาคนจนเคยบอกไว้ชัดเจนว่า ความยากจนของพวกเขาล้วนเป็นผลมาจากโครงการพัฒนา นโยบายของรัฐไม่เคยแก้ไขความยากจนที่เป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่กลับตั้งงบประมาณมาโฆษณาให้ชาวบ้านแก้ปัญหาเอาเองด้วยการเลิกเหล้า หรือในกรณีเมื่อไม่นานมานี้ ที่กระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ก็ยังอุตส่าห์แถลงว่า คนจนเมือง จนเพราะรายจ่ายมากกว่ารายได้ พูดง่ายๆคือบอกว่าจนเพราะฟุ้งเฟ้อเกินตัวเสียเอง ทั้งยังบอกว่า คนมุสลิมในภาคใต้ จนเพราะมีลูกมาก ทำให้ลูกไม่ได้รับการศึกษาที่เพียงพอ และทำให้ง่ายต่อการถูกชักจูงโดยผู้ก่อความไม่สงบ แต่เพื่อนมุสลิมที่เราได้ไปรู้จักที่อ.จะนะ จ.สงขลา เคยบอกกับเราด้วยความภูมิใจว่า เขามีลูก ๙ คนและเขาไม่กลัวความยากจน เขาทำงานหนักเพื่อส่งลูกเรียนหนังสือ แต่เขาไม่ได้คิดจะหาเงินทองสะสมเพื่อความมั่งมี สำหรับเขาแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือลูกๆจะต้องมีความรู้ เป็นคนดีตามหลักศาสนา และต้องรู้จักทำไร่ทำนาเลี้ยงตัวเองได้ จะได้ไม่ต้องพึ่งวิถีชีวิตแบบโลกภายนอกที่ต้องอาศัยเงินซื้อทุกอย่างกระทั่งน้ำดื่ม แต่อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดที่จะทำให้ชีวิตครอบครัวของเขาไม่เป็นดังฝัน ก็คือการเข้ามาของโครงการท่อก๊าซ โรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่จะทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของพวกเขา ถ้าเขาหยุดโครงการนี้ไม่ได้ เขาและลูกหลานจะต้องกลายเป็นคนจนชนิดที่จนอย่างถาวร

มันเรื่องอะไรกันหรือ ที่จู่ๆชีวิตของเขาและชุมชนจะต้องเปลี่ยนไปขนาดนั้น เพื่อสังเวยนโยบายพลังงานที่เขาไม่เคยมีส่วนรู้เห็นด้วยเลย

เหมือนสมัยที่เราเริ่มต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้า กว่าที่เราจะรู้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่จะมาสร้าง โครงการก็ผ่านการอนุมัติโดยครม.มาแล้ว ภายใต้นโยบายเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้านพลังงาน และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ที่ชี้นิ้วลงมาเสร็จสรรพแล้วว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าชนิดไหน ขนาดเท่าไหร่ ที่ชุมชนไหนบ้าง พวกเราต้องใช้เวลาถึงสิบปี กว่าจะล้มโครงการที่ผ่านมติครม.มาแล้วนี้ได้ และตลอดสิบปีของการต่อสู้ พวกเราชาวบ้านก็ได้เรียนรู้ว่ามีกลไกในระดับนโยบายที่มาเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พอเรารู้ว่ารัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน กำลังออกนโยบายที่อ้างการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังรัฐประหาร แล้วผลักดันแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ ที่กำหนดจะให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และนิวเคลียร์กันอย่างบ้าคลั่ง พวกเราก็เลยรีบยกขบวนมาแสดงความเห็นคัดค้านกันเสียตั้งแต่ในขั้นของนโยบาย เพราะไม่อยากต้องใช้เวลาอีกสิบปีสู้กับโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะอ้างว่าผ่านครม.แล้วอีก และในเมื่อกระทรวงพลังงานเองก็สร้างภาพว่าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นขึ้นด้วย พวกเราก็เลยอาศัยโอกาสนี้เพื่อจะมีส่วนร่วมเสียแต่เนิ่นๆ

แต่ปรากฏว่ากระทรวงฯกลับหลบเลี่ยง บ่ายเบี่ยง ถึงกับปิดประชุมหนีพวกเรา และต่อมาก็แอบจัดประชุมใหม่ในวงล้อมของท็อปบู๊ตทหาร มีการเตรียมการสกัดพวกเราไม่ให้เดินทางเข้ามาร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ แล้วการรับฟังความเห็นก็ผ่านไป นโยบายการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่นี้ก็ผ่านความเห็นชอบไปเรียบร้อย

ในขณะที่เราพยายามเอาชุมชนไปสู่นโยบาย แต่ในที่สุดก็กลายเป็นนโยบายไปสู่ชุมชน คือกลายเป็นปัญหาโรงไฟฟ้าแพร่ระบาดสู่ชุมชนไปทั่ว ไม่ว่าประจวบฯ แม่กลอง ราชบุรี ระยอง ชุมพร ด้วยข้ออ้างเหตุผลต่างๆนานา

กลายเป็นว่าชุมชนจะเอาตัวเองขึ้นไปสู่นโยบายก็ทำไม่ได้ กลายเป็นว่าต้องจัดการปัญหาเหมือนวงเตะตะกร้อ คือเตะกันอยู่ในวง เตะจากประจวบไปลงสระบุรี เตะจากบ้านกรูดไปลงราชบุรี ถ้าชุมชนไหนอ่อนแอก็รับไป เป็นเหยื่อของนโยบายไป

คิดดูเถอะ เราค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกันมาสิบปีกว่ารัฐบาลจะยอมรับความผิดพลาดในการตัดสินใจ แต่ถึงที่สุดก็กลับไม่มีผลเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการวางนโยบายด้านพลังงานอยู่ดี วันนี้กระทรวงพลังงานประกาศอย่างไม่อายโลกอายฟ้าดิน ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แถมด้วยนิวเคลียร์อีกทั่วประเทศ

กลายเป็นว่าปัญหาของนโยบายปั้นเขวี้ยงที่ไม่ฟังเสียงชุมชนยังไม่ได้รับการแก้ไข และกลับยิ่งหนักข้อกว่าเดิม กลายเป็นสร้างเพื่อสร้าง เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ สร้างโรงไฟฟ้าให้มากไว้ก่อนทั้งที่ไฟในระบบก็ยังเหลือ สร้างมาแล้วจะได้ใช้ไฟหรือไม่ได้ใช้ก็ไม่สนใจ ขอเพียงให้ได้ลงทุน ให้ผู้ลงทุนได้ประโยชน์ เหมือนสมัยที่มีการจะสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอกหินกรูด กฟผ.ก็ต้องวางแผนว่าจะหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าบางแห่งที่มีอยู่ เพื่อจะได้มีข้ออ้างรองรับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใหม่ เพราะไม่อย่างนั้นไฟที่มีล้นอยู่แล้วก็จะยิ่งล้นไปอีก

ไม่ใช่แต่โรงไฟฟ้าเท่านั้น อย่างโครงการเตาเผาขยะ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังมีการผลักดันจะสร้างถึงสามแห่งที่จ.ประจวบฯ ก็เป็นโครงการปั้นเขวี้ยงลงมาให้เราต้องเหนื่อยออกแรงคัดค้านกันอีก ทั้งที่โครงการเตาเผาขยะแบบนี้สร้างมาแล้วหลายที่ก็ไม่ได้ใช้ ผลาญงบประมาณไปเป็นร้อยล้านสองร้อยล้าน สุดท้ายก็ทิ้งซากไว้เป็นอนุสรณ์ แต่คนผลักดันโครงการก็ไม่เดือดร้อนละอายใจอะไร เพราะได้ค่าคอมมิชชั่นไปแล้ว ได้สร้างเพื่อสร้างไปแล้ว ปั้นเขวี้ยงกันได้สมใจอยาก





นโยบายบ่อนทำลายความเข้มแข็งของชุมชน

แทนที่จะมาบีบให้เราต้องยอมรับนโยบายปั้นเขวี้ยงเหล่านั้น สิ่งที่รัฐในความหมายของกลไกที่ต่างๆบริหารและปกครองประเทศควรจะทำ น่าจะเป็นเรื่องของนโยบายด้านสวัสดิการเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงมากกว่า แต่สิ่งที่เราเคยเห็นตลอดมา ถ้าไม่ใช่กลไกเช้าชามเย็นชามในสมัยรัฐบาลที่ข้าราชการเป็นใหญ่ ก็เป็นกลไกประชานิยมในสมัยนักการเมืองที่ลุแก่อำนาจ ทั้งหมดนั้นล้วนมีแต่รูปแบบ ไม่เกิดผลอย่างแท้จริง มีแต่การสร้างภาพ เหมือนกรณีที่มีการโฆษณาว่ามีคนผ่าตัดสมองโดยจ่ายแค่สามสิบบาทแทนที่จะต้องเสียเป็นล้าน

แต่ในความเป็นจริง อย่างที่ประจวบฯ ชาวบ้านที่ป่วยเป็นโรคไต โรงพยาบาลประจวบฯก็ไม่มีปัญญารักษา แต่พอคนไข้จะขอย้ายไปรักษาโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพฯ โรงพยาบาลประจวบฯไม่ยอมทำเรื่องส่งตัวให้ เอาเข้าจริงสามสิบบาทก็ใช้ได้แค่ปวดหัวตัวร้อน เป็นนโยบายลวงโลก ยาที่จ่ายให้ก็คนละเกรดกับพวกที่ใช้สิทธิประกันสังคมหรือจ่ายเอง การได้รับการดูแลก็ต่างกัน

นโยบายด้านการศึกษาเช่นการเรียนฟรีก็ไม่ฟรีจริง คิดแล้วสมัยก่อนที่เราเสียค่าเรียน ก็ยังได้รู้กันตรงไปตรงมาว่าเป็นค่าเทอม แต่ค่าอื่นไม่มี สมัยนี้ไม่เสียค่าเทอมแต่เสียค่าอื่นๆสารพัดอย่าง บวกรวมเสร็จสรรพก็มากพอๆกับค่าเทอมหรืออาจจะมากกว่าด้วย

แต่นโยบายที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาเสียยิ่งกว่า คือนโยบายจำพวกที่รัฐโฆษณาว่าตั้งเป้าหมายเพื่อจะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ปลอดยาเสพติด อยู่ดีมีสุข หรือประเภทที่โยนลงไปเป็นให้เป็นกองทุนในหมู่บ้าน

ประสบการณ์ที่เราได้เห็นอยู่ในชุมชน เราพบว่านโยบายประเภทที่โยนเงินลงไป เช่นกองทุนหมู่บ้านละล้านนั้น นอกจากจะไม่สามารถช่วยคนรากหญ้าได้จริงแล้ว ยังก่อปัญหาความแตกแยก ทำให้คนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้อีกด้วย เพราะเงินที่โยนลงไปจะถูกนำไปแบ่งกัน โดยหมู่บ้านที่เล็กหน่อยก็อาจจะเฉลี่ยส่วนแบ่งต่อคนออกมาได้มากหน่อย ส่วนหมู่บ้านที่ใหญ่กว่า ประชาชนก็ทะเลาะกันเองเพราะเงินไม่พอแบ่ง และเอาเข้าจริงเงินนั้นก็ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่จะทำให้สามารถนำไปต่อยอดอย่างยั่งยืนได้ แค่เอาไปตอบสนองได้เฉพาะหน้า พอถึงกำหนดคืน ก็คืนได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะทุกคนรู้สึกเหมือนเป็นเงินให้เปล่าจากรัฐ คนบางส่วนพอถึงกำหนดต้องคืน ก็ไม่มี เงินคืน ต้องไปกู้นอกระบบมา เสียดอกร้อยละสิบร้อยละยี่สิบ เป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีก

หรือเงินงบเอสเอ็มแอล เราก็เห็นว่ามีปัญหาในการใช้กรอบเกณฑ์การตัดสินวัดผลการดำเนินการของแต่ละชุมชน เพราะความคิดตั้งต้นไม่ได้คิดให้ชัดว่า ความเข้มแข็งของชุมชนนั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยความคิดชี้นำเรื่องการเสียสละเพื่อชุมชน หรือการตักตวงเพื่อความสุขสบายส่วนตนกันแน่ ทำให้ไม่เท่าทันในการประเมินการใช้เงิน เช่น บางหมู่บ้านที่บ่อนอก ก็วางแผนการใช้เงินบนฐานความคิดเพื่อการสามัคคีรวมหมู่ จึงตัดสินใจที่จะใช้เงินนั้นไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เช่น สร้างศาลาเผาศพ โดยให้ทางวัดไปซื้อวัสดุ แล้วชาวบ้านมาช่วยกันลงแรงก่อสร้าง หรือนำเงินไปใช้ปรับปรุงตลาดสดที่คนในชุมชนใช้ร่วมกันให้มีสภาพดีขึ้น ในขณะที่บางหมู่บ้านกลับเอาเงินไปซื้อโอ่ง ซื้อถังน้ำแจกกัน ชาวบ้านก็ติดนิสัยรับของแจกจ่ายเข้าตัว ผู้นำก็ได้ค่าคอมมิชชั่นจากการจัดซื้อจำนวนมาก หรือบางหมู่บ้านก็นำเงินไปหมุนเวียนซื้อวัวกัน แต่เป็นการซื้อวัวตัวเอง วัวที่เลี้ยงมาเองตั้งชาติหนึ่งแล้ว แต่อำเภอก็กลับประเมินผลโดยให้เกรดเอโดยดูจากรายงานของโครงการ ในขณะที่พวกที่ใช้เงินเพื่อประโยชน์สาธารณะกลับได้เกรดซี แล้วพวกที่ได้เกรดเอก็จะได้รับการพิจารณางบก้อนต่อไปเป็นรางวัล

หรือโครงการจำพวกชุมชนเป็นสุข หรือหมู่บ้านปลอดยาเสพติด ก็คิดง่ายๆเหมือนหลอกเด็กให้ทำดีกวาดห้องเรียนให้สะอาดแล้วจะได้รางวัลดีเด่น แล้วทุกคนก็จะเป็นสุขเพราะทุกคนเป็นคนดี ทุกคนรักษาความสะอาดของห้องเรียน วันไหนโครงการมีตัวแทนสาธารณสุขมาตรวจ ชุมชนก็จะสร้างนิสัยผักชีโรยหน้าแบบข้าราชการ ประกาศให้ทุกคนช่วยกันเก็บขยะให้เรียบร้อย วันนี้งดการพนันหนึ่งวัน แค่นี้ก็ผ่านแล้ว เมื่อรัฐคิดมาให้แบบง่ายๆว่าจะสร้างความสุข ลดความทุกข์ของชุมชนได้อย่างไร ชุมชนก็เข้าใจความทุกข์ความสุขของตนเหมือนเด็กท่องอาขยานตามอย่างว่าง่าย โดยไม่ได้แตะถึงปัญหาที่แท้จริงเลย ส่วนการตั้งกลุ่มแม่บ้าน ตั้งกลุ่มอาชีพอะไรทั้งหลาย ถ้าไม่ได้อยู่บนฐานคิดอย่างเท่าทันของการพึ่งตัวเองเพื่อการปลดแอกจากระบบที่เอารัดเอาเปรียบอย่างที่เป็นอยู่ ก็มีแต่จะกลายเป็นการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจแค่ในความหมายของการหาวิธีตักตวงเพื่อตัวเองไม่ต่างจากที่นายทุนทั่วไปทำกัน

มีเงินแล้วไม่ทำให้มีความคิดในเชิงเสียสละ เอาแต่ตักตวงแบบนี้ ไม่มีเสียยังดีกว่า เพราะเงินที่มาพร้อมกับความคิดชี้นำผิดๆ จะบ่อนทำลายความเสียสละ ความสามัคคี ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน นอกจากนี้ยังจะเป็นการลดศักดิ์ศรี ทำให้ชุมชนยิ่งต้องพึ่งพาและเสพติดความเมตตาจากรัฐ ยิ่งกลายเป็นชุมชนว่าง่ายที่ไม่กล้ามีปากเสียงมากขึ้นไปอีก

เราไม่อยากให้ชุมชนติดนิสัยแบบราชการ ที่มีงบประมาณมาให้ผลาญกันเล่นโดยไม่รู้จักคิด พอมีเงินมาก มีอำนาจในการใช้จ่ายมาก คนก็จะเริ่มคิดน้อย เรียกร้องตัวเองน้อย แต่ความเข้มแข็งของชุมชนเราที่ผ่านมาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนโยบายประชานิยมเหล่านี้ เราต่อสู้ปกป้องท้องถิ่นปกป้องสิ่งแวดล้อมกันมาเลือดตาแทบกระเด็นจนได้ชัยชนะ ก็เพราะเราปลูกฝังความคิดความเสียสละ ความสามัคคี และความคิดพึ่งตัวเอง

ในขณะที่เราเห็นราชการเคยเช้าชามเย็นชามมาอย่างไร ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น มีเงิน มีอำนาจ แต่กลับไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่พวกเราชาวบ้านทำกันมา

รัฐไม่มีนโยบายที่จะพัฒนาความคิด มีแต่พัฒนาวัตถุ สาธารณูปโภค จนทุกวันนี้ชาวบ้านบอกว่า วัวแถวบ้านเดินเจ็บตีนกันหมดแล้วเพราะต้องเดินบนถนนคอนกรีต บนทางราดยาง แล้วพอเริ่มอิ่มตัวกับการพัฒนาวัตถุ ก็มาหากินกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม มีการตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ระดับประเทศ คนที่เข้าไปทำงานก็เป็นพวกข้าราชการ อบต. ผู้ใหญ่ กำนัน ตั้งงบประมาณไว้สูงมาก สามปีที่เราติดตามผลงานมา ชาวบ้านเห็นแล้วก็ได้แต่ส่ายหน้า และพูดว่าถ้ามึงคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำได้แค่การปลูกป่า ปลูกป่าชายเลน อย่างที่บ่อนอกปลูกป่าชายเลนพื้นที่นิดเดียว ใช้งบตั้งสามแสน มึงก็ยุบหน่วยงานไปเถอะ ไม่ต้องมาตั้งให้เสียงบประมาณ เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมมันมีมิติที่กว้างกว่ากิจกรรมที่พวกมึงคิด

วันนี้พื้นที่ป่าพรุที่อ.บางสะพาน ชาวบ้านก็รักษากันมาแต่ครั้งปู่ย่าเพราะคิดว่าต้องใช้หากินกันไปถึงรุ่นลูกหลาน แล้วจู่ๆโรงงานสหวิริยาจะมาถมป่าพรุทั้งผืนสร้างนิคมอุตสาหกรรมถลุงเหล็กครบวงจร ชาวบ้านถึงขั้นเสี่ยงชีวิตเข้าไปตั้งป้อมค่ายเฝ้าระวังดูแลรักษาป่า แบบนี้ทำไมรัฐไม่นึกอยากเอาเงินไปให้เขาบ้างล่ะ เพราะเขาดูแลแน่ๆ เห็นผลกันชัดๆ หรือกรณีชาวบ้านที่ป่าคลอก จ.ภูเก็ต ก็ดูแลป่าชายเลนที่นั้นกันมาจนต้องแลกด้วยชีวิตแกนนำที่ถูกฆ่าตาย

แต่นี่กลายเป็นว่าชาวบ้านที่ดูแลก็ดูแลกันไปเอง เสี่ยงชีวิตปกป้องป่าจากการทำลายของรัฐและทุน ส่วนรัฐก็ไปปลูกป่า ปตท.ก็ขยันปลูกป่า แสนต้นล้านต้น ถึงที่สุดมันก็เป็นแค่จำนวนสถิติที่ปรากฏอยู่บนกระดาษเท่านั้น เพราะถึงที่สุดต้นไม้เหล่านี้ก็แทบจะไม่เหลือ เหมือนแถวสามร้อยยอดที่ประจวบฯ ชาวบ้านเห็นโครงการต่างๆขนเอานักเรียน นักศึกษาไปปลูกป่ากัน ก็รู้ว่าเป็นความคิดที่ดี มีความปรารถนาดี แต่ทุกวันนี้วิ่งรถผ่านก็แทบจะไม่เห็น ชาวบ้านได้แต่ส่ายหัว ถึงเราไม่ได้เรียนมาสูงๆ แต่เราเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ตรง ไม่ใช่โดยตำรา ว่าป่าชายเลนสร้างด้วยน้ำมือมนุษย์มันเป็นเรื่องยาก มันเป็นเรื่องที่ต้องสร้างโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นที่มีอยู่ต้องรักษาไว้ให้ดีเสียก่อนเถอะ

ในขณะที่ชาวบ้านไม่ได้ต้องรอนโยบาย รองบประมาณที่ไหนมาบอกให้รักษาสิ่งแวดล้อม ฝ่ายรัฐก็เอาแต่ตั้งนโยบายมาสั่งข้าราชการพร้อมงบประมาณ ให้ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ก็หมดไปกับการตั้งงบเปิดโรงแรมสัมมนาที่โน่นที่นี่ ไม่ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นตรงไหนเลย

จิตสำนึกเสียสละที่ต่างกันขนาดนี้ จะมาทำเป็นวางนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้หรือ ถ้ารู้ตัวว่าไม่มีปัญญาทำได้ ก็แค่อย่าออกนโยบายมาบ่อนทำลายความเข้มแข็งของชุมชนก็พอ





กบฏนโยบาย

การอ้างเรื่องการมีส่วนร่วมที่จะนำไปสู่นโยบายต่างๆนั้น เอาเข้าจริงเราเจอแต่นโยบายที่กำหนดมาแล้ว แล้วมาค่อยมาบอกให้เราไปมีส่วนร่วม ซึ่งก็เป็นได้แค่การร่วมรับฟัง ร่วมแสดงความคิดเห็น แต่ถึงที่สุดก็ไม่ได้เคารพการตัดสินใจของชุมชน กลายเป็นว่ากำหนดนโยบายมา แล้วก็สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจอมปลอมขึ้นมาเพื่อหาความชอบธรรม

สมัยที่สู้เรื่องโรงไฟฟ้า นโยบายก็ออกมาแล้ว โครงการก็ผ่านครม.แล้ว ใบอนุญาตต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโรงไฟฟ้าก็ออกมาแล้ว แล้วรัฐบาลก็ค่อยมาจัดประชาพิจารณ์ ทั้งที่ตามระเบียบแล้วต้องจัดประชาพิจารณ์ก่อนแล้วหน่วยงานต่างๆถึงจะพิจารณาได้ว่าจะอนุญาตหรือไม่ พวกเราก็เรียกร้องว่าต้องยกเลิกการอนุญาตต่างๆที่ผ่านมาให้เป็นโมฆะเสียก่อน และต้องให้เรามีส่วนร่วมในการตั้งกรรมการประชาพิจารณ์ด้วย ไม่ใช่เอาคนของรัฐที่ผลักดันให้สร้างโครงการมาเป็นกรรมการ แต่รัฐบาลก็ไม่สนใจ จนพวกเราต้องคว่ำบาตรกระบวนการมีส่วนร่วมจอมปลอมแบบนั้น เมื่อรัฐเป็นฝ่ายไม่รักษากติกาแล้วมาช่วยเอกชนเล่นขี้โกงกันแบบนี้ ชาวบ้านถึงกับเขียนป้ายผ้าบอกเลยว่า “กัดกะหมา ดีฝ่าประชาพิจารณ์กะมึง”

ล่าสุดที่หนองหญ้าปล้อง อ.อ่าวน้อย จ.ประจวบ ฝ่ายที่ผลักดันโรงการสร้างเตาเผาขยะก็เพิ่งจัดประชุมชาวบ้าน โดยอ้างว่าเป็นการประชาพิจารณ์ พอชาวบ้านรับฟังข้อมูลเสร็จ ก็แสดงความเห็นออกมาถึง 80 % ว่าไม่ต้องการโครงการนี้ ไม่ต้องการแนวทางการกำจัดขยะแบบนี้ แต่พอเอกสารสรุปผลการประชุมออกมา กลายเป็นว่ามีนักวิชาการขายตัวคณะหนึ่งไปเป็นตราประทับรับรองให้กับกระบวนการประชาพิการนี้ ผลกลับกลายเป็นว่าคนเห็นด้วย 80% ไม่เห็นด้วยแค่ 20%

ในเมื่อหลายนโยบายของรัฐไม่ได้เสริมความเข้มแข็งของชุมชน แต่ทำลายความเป็นชุมชน อีกทั้งนโยบายปั้นเขวี้ยงที่กำหนดออกมาจากทัศนะที่กดขี่ ก็มีแต่จะก่อปัญหา ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะทนกับมันได้อีกนานแค่ไหน มันเรื่องอะไรกันหรือที่ชุมชนต้องมาวุ่นวายกับนโยบายกันขนาดนี้ เมื่อรัฐไม่ทำหน้าที่ ชุมชนก็ต้องออกแรงกันอีกกี่ชั่วนาตาปีกว่าที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายได้อย่างแท้จริง นโยบายสวยหรูแค่ไหนจะมีประโยชน์อะไรถ้าประชาชนยังต้องรบกับรัฐ

เราไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่ลึกซึ้งรอบด้านเพียงพอที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ทั้งหมด แต่จากประสบการณ์ของเรา ก็ทำให้อย่างน้อยเราพอจะนึกภาพออกว่าทำไมความสงบสันติถึงเกิดขึ้นไม่ได้

ช่วงที่เราประท้วงโรงไฟฟ้า เราเคยรู้สึกว่ามึงไม่ฟังเรา มีแต่ดันทุรังทำให้เป็นปัญหา ใช้วิธีการทุกรูปแบบมากดหัวเรา ทำให้เราต้องลุกขึ้นมาเพื่อจะปกป้องชุมชนและท้องถิ่นของเรา ช่วงนั้นพวกเรามีทั้งถูกลอบยิง ถูกขู่ฆ่า มีเสียงปืนดังรอบบ้านในยามวิกาล โดยที่ตำรวจก็ไม่มาดูแลเพราะอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์เชื่อมโยงกันกับพวกฝ่ายโรงไฟฟ้า จนเราลุกขึ้นมาจัดเวรยามดูแลกันเอง ตั้งป้อมยามคอยสอดส่องดูรถ ดูคนแปลกหน้า แต่กลับกลายเป็นว่าตำรวจมาตรวจค้นป้อมเรา ค้นแล้วก็เจอแต่คนเฝ้าทั้งคนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มคนสาว ซึ่งไม่ได้มีอาวุธ อย่าว่าแต่ปืนส่วนตัวเลย กระทั่งปืนอปพร.ก็ถูกเรียกกลับหมดแล้ว เพราะตั้งแต่เราลุกขึ้นมาปกป้องชุมชน ปืนหลวงก็ถูกเรียกกลับหมด พอค้นไม่เจออะไรก็มาด่าเรา แทนที่จะละอายว่าเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อย แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเราต้องมาทำหน้าที่แทน นอกจากจะไม่รู้จักละอายหรือขอบคุณเราแล้ว นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่นำเจ้าหน้าที่มาค้นยังมาหาว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์ ซ่องสุมกำลัง มาด่าเราว่า พวกมึงจะแยกเป็นรัฐอิสระหรือยังไง? ชาวบ้านก็เลยด่าสวนไปทันทีว่า เออ! ถ้ากูแยกเป็นรัฐอิสระได้ กูนี่ล่ะจะเป็นผู้ว่าการรัฐเอง !

สมัยนั้นเราต้องทำทุกทางเพื่อปกป้องกันเอง จนถึงขนาดเคยมีการพูดกันในหมู่ชาวบ้านว่าถ้ากูเป็นจังหวัดที่สี่ของเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ กูก็อยากจะเป็น

ในท่ามกลางบรรยากาศของการแย่งชิงกันระหว่างขั้วอำนาจในระดับชนชั้นนำ ที่ไม่ว่าจะขัดแย้งหรือประสานมือกันอย่างไร ถึงที่สุดเมื่อขึ้นสู่อำนาจแล้ว ไม่ว่าขั้วไหนก็ก่อปัญหาแก่พวกเราชาวบ้านทั้งสิ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเราในตอนนี้ จึงมีแต่การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อรับมือกับนโยบายหรือโครงการใดก็ตามที่จะมาทำลายหม้อข้าว หม้อรกของเรา แรงผลักดันที่ทำให้เราต้องสร้างความเข้มแข็งนั้น ไม่ใช่เพื่อเป็นแค่การ “แสดงออกถึงการมีส่วนร่วม” หรือ “แสดงออกตามวิถีทางประชาธิปไตย” หรือถ้อยคำใหญ่โตอะไรอย่างที่ชอบเขียนกันไว้ในนโยบาย แต่มันคือการปกป้องปากท้อง ปกป้องท้องถิ่น ถ้าต้องรบก็รบจริง ตายเป็นตาย และไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน เพราะไม่เคยมีใครเป็นที่พึ่งหวังอะไรให้เราได้ เรามีแต่ต้องพึ่งตัวเอง

ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราต้องมานั่งชั่งใจว่า ตกลงแล้วเราควรจะเป็นชุมชนที่เป็นไปตามนโยบายรัฐ หรือเอาตัวเองออกห่างจากนโยบายรัฐ เราจึงจะเข้มแข็ง

นิยามของความเข้มแข็งของเรา จึงต่างจากนิยามที่เขียนไว้ในนโยบายรัฐ เพราะชุมชนจะเข้มแข็งได้ ต้องเป็นชุมชนที่กล้าลุกขึ้นมาตรวจสอบ ลุกขึ้นมากบฏต่อนโยบายรัฐ คือตรวจสอบแล้วถ้าเห็นว่าไม่ดี ก็ต้องเรียกร้องให้เกิดการแก้ไข ถ้ายังไม่ยอมแก้ไข ก็ต้องกบฏ จะบอกว่าคัดค้านก็อาจจะเบาไป ไหนๆที่ผ่านมาพวกเราก็ถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นกบฏอยู่แล้ว ก็ลุกขึ้นมาเป็นกบฏไปเลย จบเรื่องไป

กบฏในที่นี้ ไม่ใช่ในความหมายแบบที่พวกคลั่งชาติจะมองว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดน เพราะสำหรับเราแล้ว ชาติยังเป็นสิ่งแปลกหน้าที่จับต้องได้ยากกว่าชุมชนด้วยซ้ำ

เราแค่ต้องการจะสรุปให้รัฐเข้าใจได้ง่ายๆว่า ทางเลือกในการปกครองมีอยู่แค่นี้ คือถ้าไม่ใช่จากชุมชนสู่นโยบาย ก็มีแต่จะต้องเจอกับกบฏนโยบาย เท่านั้น





ส่งท้าย

ถ้ารัฐจะแสดงความปรารถนาดีด้วยการจินตนาการเป็นนโยบายขึ้นมาให้ ว่าชีวิตอย่างที่น่าจะมีความสมบูรณ์พูนสุขของประชาราษฎร์ควรจะเป็นอย่างไรนั้น

เราจะว่าอะไรได้ นอกจากบอก ขอบใจในความหวังดี

แต่มันจะไม่ง่ายกว่า และตรงประเด็นกว่าหรือ หากจะตั้งต้นจากการที่รู้จักเงี่ยหูฟังเสียก่อนว่าความทุกข์ของเราคืออะไร ปัญหาของเราคืออะไร รัฐกำลังทำอะไรให้เราเดือดร้อนหรือเปล่า นายทุนที่ไหนกำลังเบียดเบียนเราอยู่หรือเปล่า กลไกราชการที่เป็นอยู่กำลังกดหัวเราหรือเปล่า

และที่ง่ายที่สุดก็คือ

เวลาเราบอกว่าเราคัดค้านอะไร ไม่เอาอะไร ไม่ต้องการอะไร นั่นละคือสิ่งที่รัฐพึงเอาไปเป็นนโยบาย

เป็นการบอกอย่างจริงใจ ชัดเจน ตรงไปตรงไปตรงมา และตรงเป้าที่สุดแล้ว

นโยบายจากชาวบ้าน แบบบ้านๆ เพื่อชาวบ้าน ทำเป็นไหม?

ถ้าทำไม่ได้ก็ขอให้รู้ไว้ ว่าวันหนึ่งชุมชนจะสามารถสะเทือนถึงนโยบายให้ได้ ด้วยปัญญาและฝ่าตีนของเราเอง



ที่มา : ประชาไท วันที่ : 4/9/2550




Create Date : 04 กันยายน 2550
Last Update : 4 กันยายน 2550 16:37:26 น. 1 comments
Counter : 902 Pageviews.

 
กรณีบ่อนอก ถ้าทุกชุมชนต่างอ้าง "รักท้องถิ่น" ขวางการพัฒนาชาติ จะทำอย่างไรดี???
//arayachon.org/forum/arayachon/1383


โดย: ss IP: 58.8.40.116 วันที่: 1 กรกฎาคม 2552 เวลา:21:01:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.