Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
24 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
“รัฐเนียนๆ” และ “สื่อเนียนๆ” ในบรรยากาศ “ประชามติแบบเนียนๆ”

With Words That Appear Like Bats
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์





“สารัตถะแห่งชีวิตของหนังสือพิมพ์อาจจะมีอยู่หลายแห่ง แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าคำนึงมากที่สุดคือความเปนอิสระ เพราะว่าถ้าขาดสิ่งนี้เสียแล้ว หนังสือพิมพ์ก็จะเปนหนังสือพิมพ์ไปไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็จะเปนหนังสือพิมพ์ที่ดีไม่ได้”

“ถ้าน้ำใจของคนทำหนังสือพิมพ์เปนน้ำใจที่เชิดชูบูชาอิสรภาพโดยแท้จริง และน้ำใจเช่นนั้นได้แสดงออกมาเปนการกระทำแล้ว หนังสือพิมพ์นั้นย่อมจะดำรงความเปนอิสระไว้ได้ ถ้าน้ำใจของคนทำหนังสือพิมพ์ไม่สู้นำพาต่ออิสรภาพเท่าใด ก็ยากที่หนังสือพิมพ์จะดำรงความเปนอิสระไว้ได้ ... น้ำใจของคนทำหนังสือพิมพ์เปนอย่างไร หนังสือพิมพ์มักจะเปนไปอย่างนั้น”

... กุหลาบ สายประดิษฐ์. “หนังสือพิมพ์”. (2482) ... (1)




ข้อเขียนของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ อดีตนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (2487) เป็นที่มาของบทความชิ้นนี้ และที่สำคัญเป็นทั้งบทวิจารณ์และทางออกหนึ่งต่อ “บรรยากาศเนียนๆ” ที่เรากำลังเผชิญอยู่

บรรยากาศเนียนๆนี่เป็นบรรยากาศที่กำลังจะนำไปสู่การลงประชามติแบบเนียนๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากความร่วมมืออัน “แนบ -แน่น-นียน” ของ “รัฐเนียนๆ” และ “สื่อเนียนๆ”

1. ในกรณีของ “รัฐเนียนๆ” นั้น ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจกับความเนียนของรัฐนั้น เราควรจะเข้าใจคำว่า “รัฐ” เสียก่อน โดยในที่นี้ผมขอนำเอาคำจำกัดความหนึ่ง ที่ครูผู้สอนวิชารัฐธรรมนูญไทย และ วิชารัฐธรรมนูญเปรียบเทียบของผมได้บัญญัติเอาไว้ว่า รัฐนั้นคือ “จักรกลแห่งการบังคับ” (2) ซึ่งน่าจะขยายความได้ว่า การดำรงอยู่ของรัฐเป็นเรื่องของ “การบังคับ” ที่การบังคับนั้นทำได้โดยการอ้าง “ความชอบธรรมบางประการ” ที่ทำให้รัฐนั้นสามารถผูกขาดการบังคับได้ โดยเฉพาะการผูกขาดการบังคับด้วยกำลัง (3)

ในแง่นี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าเราเห็น “จักรกลแห่งการบังคับ” ดังกล่าวทำหน้าที่ “บังคับ” ให้ประชาชนไปลงประชามติ และมิหนำซ้ำผู้คนจำนวนมากในจักรกลแห่งการบังคับดังกล่าวยัง “ชี้นำ” ประชาชนด้วย “ความจริงครึ่งเดียว” ประเภท “เห็นชอบเพื่อให้มีการเลือกตั้ง” ทั้งที่การเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องที่ทั้งฝ่ายไม่เห็นชอบและฝ่ายเห็นชอบ มีความเห็นพ้องต้องกันมาตั้งแต่แรก และฝ่ายที่ไม่เห็นชอบต่างหากที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งมาตั้งแต่แรก

การกระทำที่รัฐในฐานะจักรกลแห่งการบังคับนั้นกระทำผ่านการจูงใจให้ไปลงมติเห็นชอบ แทนที่จะเป็นเรื่องของการลงประชามตินั้นถือเป็น การกระทำแบบ “เนียนๆ” ที่เป็นการเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ คณะกรรมการเลือกตั้งซึ่งถือว่าควรจะเป็นผู้ที่รณรงค์ให้ไปใช้สิทธิในการลงประชามติ ขณะที่ฝ่ายสภาร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายคัดค้านรัฐธรรมนูญ ควรจะเป็นผู้รณรงค์ว่ารัฐธรรมนูญนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร

แต่ที่สำคัญ คมช. และ รัฐบาล นั้นไม่สามารถที่จะรณรงค์ให้ไปลงมติให้ความเห็นชอบ เพราะเป็นการใช้อำนาจรัฐไปจูงใจให้ประชาชนไปลงคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากใช้มาตรฐานเดียวกับมาตรฐานการจัดให้มีการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถ้ารัฐบาลเข้าไปมีบทบาทในการชี้นำให้เกิดการลงคะแนนเสียงไปยังพรรคพวกของตน สิ่งนี้ถือเป็นความผิด

นอกจากนั้นแล้ว หาก คมช. และ รัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคมช.นั้นควรเรียนรู้และพยายามไม่พูด(มาก) และไม่ส่งตัวแทนของตนไป “ทำความเข้าใจกับประชาชน” ก็จะเกิดผลดีต่อการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เพราะจะเป็นการทำให้ข้อหาที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้เปิดช่องทางให้คมช.และสมาชิกรัฐบาลนี้สืบทอดอำนาจต่อไปนั้นไม่มีน้ำหนัก และทำให้ความทรงจำของสังคมที่ว่า คมช. นั้นเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่ คมช. นั้นมีอำนาจในการดูแลบ้านเมือง ... เป็นความทรงจำที่เลือนลางลง

ลองมาดูตัวอย่างของความเนียนของจักรกลแห่งการบังคับที่ชื่อว่า คมช. กับ รัฐบาลของ คมช. ดังเนื้อข่าวต่อไปนี้

ก. “ส่วนตัวเห็นว่าควรจะผ่านประชามตินี้ประเทศชาติจะได้เรียบร้อยสักที หากไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปและไม่รู้จะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ ดังนั้น เป็นเรื่องที่ไม่รู้จบ”

พลเอก บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม (4)

ข. “รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ดีกว่าฉบับอื่นที่ผ่านมาเพราะกลั่นกรองมาจากประชาชนโดยแท้จริง ดังนั้นหากมีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ และความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหายังอยู่ที่นักการเมืองและประชาชน ซึ่งขอให้ประชาชนเลือกคนดีเข้ามาบริหาร จะเห็นว่าปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศดีมากอยู่แล้วหากเป็นเพราะผู้บริหารประเทศขาดความสุจริตจึงอยู่ที่ประชาชนที่จะเลือกคนดีเข้ามาบริหารประเทศเท่านั้น”

สนธิ บุญรัตนกลิน ประธาน คมช. และ ผู้บัญชาการทหารบก (5)

ค. “การให้ข้าราชการช่วยให้คำแนะนำในการทำประชามติ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนถึงประเด็นที่สำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ และถือเป็นสิทธิของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะบอกถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากร่างรัฐธรรมนูญ ข้าราชการหรือบุคคลธรรมดามีสิทธิที่จะเข้าใจในส่วนนี้ เพราะข้าราชการคือประชาชน ดังนั้น การจะเห็นด้วยกับการทำประชามติ จึงเป็นสิทธิของข้าราชการ”

อารีย์ วงอารยะ รมว. กระทรวงมหาดไทย (6)

ง. “เมื่อถามว่า กรณีที่จะให้ทุกกระทรวงความเข้าใจกับประชาชนจะให้ใครเข้าไปชี้แจงบ้าง พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า โดยหลักการจะให้บุคคลที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์ในพื้นที่ต่างๆ เข้าไปชี้แจง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ให้แพทย์ พยาบาล อาสมัครสาธารณสุข (อสม.)เข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชน กระทรวงมหาดไทยก็ให้หน่วยงานด้านการปกครอง กระทรวงศึกษาเน้นให้ความรู้ในระดับอุดมศึกษา โดยให้ทุกกระทรวง ทบวง กรมเข้าไปให้ความรู้กับประชาชนให้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงในการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ และช่วยกันเป็นสื่อในการที่นำข้อมูลของร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นข้อดีและในแง่ที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้”

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก คมช. (7)

กล่าวโดยสรุป การลงประชามติในครั้งนี้ควรจะเป็นหน้าที่ของ กกต. ในการกำกับดูแลให้เกิดความเรียบร้อยและรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิลงประชามติ และ กกต. นั้นจะต้องมีความเข้าใจว่า การรณรงค์ให้ไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และการกระทำการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พลเมืองมีสิทธิกระทำได้ ทั้งนี้เพราะการลงประชามติในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของการล้มล้างระบอบการปกครอง (8) และไม่ใช่การขัดขวางการลงประชามติแต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น กกต. ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดการลงประมติจะต้องทำความเข้าใจด้วยว่า การที่ คมช. และรัฐบาลนั้นไม่มีสิทธิเข้าไปรณรงค์ให้ไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเทียบเคียงกับมาตรฐานเดียวกับการที่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยไม่มีสิทธิที่จะใช้ตำแหน่งของตนในการหาเสียงเพื่อให้ตนเองได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง

ทั้งนี้รวมไปถึงการที่ กกต. ควรพิจารณาความหมิ่นเหม่ของการรณรงค์แบบให้ความจริงครึ่งเดียวของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาใช้แคมเปญ “ความจริงครึ่งเดียว” ในแนวของการพยายามชี้ให้เห็นว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ทั้งที่การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็นำไปสู่การเลือกตั้งเช่นกัน

และสิ่งที่สำคัญอย่างมากก็คือ กกต. จะต้องเข้าใจว่า บรรยากาศในการลงประชามติจะต้องประกอบไปด้วยเสรีภาพในแสดงความคิดของประชาชน ทั้งนี้เพราะว่าการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชนไม่ได้แปลว่าสังคมนั้นมีความแตกแยก

ขอย้ำว่า ความแตกต่างทางความคิดนั้นเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่สภาวะที่เป็นอยู่นั้นยังมีพื้นที่อีก 35 จังหวัดที่ยังอยู่ในการประกาศกฏอัยการศึก (9) ซึ่งหมายความว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้นไม่เป็นอิสระ และถูกแทรกแซงจากกลไกของรัฐ ดังในกรณีของการจับกุม นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำของเครือข่าย พลเมืองภิวัตน์ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อสัปดาห์ก่อนขณะไปรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (10)

2. ในกรณีของ “สื่อเนียนๆ” ผมหมายถึงสื่อมวลชนในปัจจุบันนั้น ความจริงมีอยู่สองแบบ ที่ไม่ใช่การแบ่งแบบ “สื่อแท้” หรือ “สื่อเทียม” หรือ “สื่อมืออาชีพ” กับ “สื่อรับจ้าง” หากแต่วันนี้เรามีแต่ “สื่อเนียน” กับ “สื่อไม่เนียน” ต่างหาก

หรือใช้ภาษาของคนที่โจมตีสื่อเทียมก็คือ ตอนนี้นั้นเรามีสื่อสองแบบหลัก คือ สื่อเทียม กับ สื่อเนียน ครับผม

“สื่อเนียน” เป็นกระบอกเสียงของจักรกลแห่งการบังคับ และสื่อเนียนบางพวกได้ประโยชน์โดยตรงจากการรัฐประหารทั้งตำแหน่งและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อาทิการจัดสรรคลื่นและเวลามากขึ้น หรือการเข้าไปดำรงตำแหน่งภายใต้จักรกลแห่งการบังคับ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราเห็นได้ชัดว่า สื่อเนียนทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของจักรกลแห่งการบังคับ ด้วยเสื้อคลุมของการ “รายงานข่าว” เพราะสื่อเนียนรายงานข่าวความคิดเห็นของจักรกลแห่งการบังคับ มากกว่า เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับจักรกลแห่งการบังคับ แถมสื่อเนียนยังใช้เสื้อคลุมของการทำข่าวสืบสวนในแง่ของการเปิดโปงว่าเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับจักรกลแห่งการบังคับที่มาจากการยึดอำนาจนั้นเป็นพวกของกลุ่มอำนาจเก่า(เสียเป็นส่วนใหญ่) แถมยังแขวนป้ายให้สื่อที่ไม่ใช่พวกเดียวกับตนว่าเป็นสื่อเทียม ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายนั้นทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงทั้งคู่ ในนามของการเป็นสื่อของมวลชน ด้วยความเนียน และ/หรือ ความเทียม

ยิ่งในกรณีของบรรยากาศเนียนๆแบบนี้ ที่จักรกลแห่งการบังคับกำลังออกมาจูงใจให้ประชาชนไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ สื่อเนียนก็ยังทำตัวเป็นแค่กระบอกเสียงของจักรกลแห่งการบังคับ ว่าใครในจักรกลแห่งการบังคับนั้นทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โดยเฉพาะพวกที่ออกมาพูดว่าให้ไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่คนเหล่านี้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญเหล่านี้ผ่าน เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้อำนาจแก่พลังที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (แต่มักได้ดีจากการรัฐประหาร) มากขึ้น ซึ่งถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ก็มีความเป็นไปได้ว่า กลุ่มพลังเหล่านี้ย่อมจะสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้อีก

สังเกตให้ดีอีกครั้ง จะพบว่า สื่อเนียนไม่เคยสนใจว่า จักรกลแห่งการบังคับนั้นแทรกแซงกระบวนการลงประชามติอย่างรุนแรง และกว้างขวางเพียงใด ทั้งที่ข่าวการให้ทัศนะกึ่งจูงใจของผู้มีอำนาจรัฐเหล่านั้น จัดเป็นการกระทำที่แสดงความไม่เป็นกลาง และใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการของตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการลงประชามติ

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิด “ต่อหน้า” สื่อ ดังที่ได้เขียนรายงาน แต่สื่อเลือกที่จะเขียนออกมาเป็นรายงานข่าว มากกว่าการตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการจูงใจให้ไปลงคะแนนเสียง และ กกต. ควรจะไปตรวจสอบการกระทำดังกล่าว (11)

นอกจากนี้แล้ว ด้วยกลวิธีในการแบ่งแยกการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญออกเป็นพวกสื่อเทียมและกลุ่มอำนาจเก่าเป็นพวกหนึ่ง และพวกบ้าหลักการ-อุดมคติซึ่งมีจำนวนน้อยเป็นอีกพวกหนึ่ง สื่อเนียนได้อวดอ้างความเป็นมืออาชีพของพวกเขาโดยประกอบสร้างลักษณะสำคัญของสื่อเนียนขึ้นมาใหม่ นั่นก็คือการเป็นมืออาชีพที่ไม่เป็นกลาง แต่เป็นมืออาชีพที่เข้าข้างความถูกต้อง ในเวลาที่ “ต้องเลือกข้าง”

ถ้าสื่อเนียนเข้าใจสิ่งที่นายกุหลาบ สายประดิษฐ์พูดไว้เมื่อปี 2482 สื่อเนียนจะเข้าใจว่าหัวใจสำคัญของการเป็นสื่อนั้นคือ “อิสรภาพ” และอิสรภาพนั้นจะเป็นหลักประกันซึ่ง “สันติภาพ” และ “มนุษยภาพ” และอาจเป็นไปได้ว่า ความเป็นอิสระต่างหากที่จะทำให้การเลือกข้างนั้นเป็นข้างของประชาชนอย่างแท้จริง กว่าการเลือกข้างในเวลาที่สื่อ(เนียน)นั้นไม่มีอิสรภาพ

แต่ก็นั่นแหละครับ ใน “สังคมแห่งความเนียน” เช่นนี้ จะพูดอะไรกันได้มาก เมื่อสื่อเนียนยินดีที่จะ “ผูกตัวเอง” เข้ากับจักรกลแห่งการบังคับในนามของการยืนข้างความถูกต้องอย่างมืออาชีพ มากกว่าสนใจคำว่า “อิสรภาพ” ที่นายกุหลาบได้เคยกล่าวไว้

กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้าสื่อเนียนจะลดความเนียนลงซักนิด ช่วยทำหน้าที่ “ส่องไฟ” ให้กับ กกต. เพื่อไล่จับความเนียนของจักรกลแห่งการบังคับชุดนี้อีกสักหน่อย การลงประชามติครั้งนี้จะมีความหมายมากขึ้นกว่าการเป็นเพียงการลงประชามติเนียนๆ ในบรรยากาศเนียนๆ เพื่อให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญเนียนๆที่สัมพันธ์กับการรัฐประหารเนียนๆ

ตกลงเราอยากได้-อยากเดินหน้า-อยากกลับสู่ประชาธิปไตย หรืออยากแค่ทำอะไรให้มันเนียนๆ ไปวันๆ ครับ? (12)




เชิงอรรถขยายความ:

1. กุหลาบ สายประดิษฐ์, “หนังสือพิมพ์”,” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ: ข้อเขียนการเมืองในฐานะนักหนังสือพิมพ์ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์, พิมพ์ครั้งที่ 2. สุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ) (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”, 2548). (ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ประชามิตรรายวัน วันที่ 1 พฤษภาคม 2482)

2. พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย, PS 202 (S) หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง, พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: ฝ่ายตำราและอุปกรณ์การศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2529).

3. Max Weber, “Politics as a Vocation,” in From Max Weber: Essays in Sociology, ed. H.H. Gerth and C. Wright Mills (London: RKP, 1919 (1970)).

4. “อยากเลือกตั้ง-ต้องรับรธน. “แอ้ด”ยื่นหมูยื่นแมววัดใจประชาชน” แนวหน้า. 9 กรกฎาคม 2550. (เว็บไซต์)

5. “ บิ๊กบัง” มั่นใจ รธน.50 ดีกว่าทุกฉบับ ลั่นพร้อมแลกชีวิตเพื่อชาติ. เดลินิวส์. 11 กรกฎาคม 2550. (เว็บไซต์)

6. “มท.1 มั่นใจให้ข้าราชการช่วยชี้แจงร่าง รธน.ไม่ใช่เรื่องผิด”. กรุงเทพธุรกิจ. 8 กรกฎาคม 2550. (เว็บไซต์)

7. “คมช.ลั่นเอาโทษถึงที่สุดผู้แอบอ้างหาผลประโยชน์”. กรุงเทพธุรกิจ. 2 กรกฎาคม 2550. (เว็บไซต์)

8. ขนาดล้มล้างการปกครองด้วยการทำรัฐประหารที่ยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญยังไม่ผิด แล้วการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผยภายใต้การรองรับสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญจะผิดได้อย่างไร?

9. ดูมติคณะรัฐมนตรีในการคงกฏอัยการศึกใน 35 จังหวัด ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ประกาศกฎอัยการศึกทั้งจังหวัด 19 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ ชัยภูมิ นราธิวาส นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปัตตานี มหาสารคาม ยะลา ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี และส่วนที่ประกาศกฎอัยการศึกเฉพาะบางอำเภอ ได้แก่ กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด ตาก น่าน ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พิษณุโลก เพชรบุรี แม่ฮ่องสอน ราชบุรี ระนอง สตูล สระแก้ว อุตรดิตถ์ และสงขลา (“มติเดินหน้าหวย-ชะลอเหล้า-ยกอัยการศึก”. ไทยโพสต์. 29 พฤษจิกายน 2550. และ “35 จ. ยังมีคลื่นใต้น้ำ”. สยามรัฐ 29 พฤศจิกายน 2549 (เว็บไซต์))

10. “นักวิชาการรุมอัดทหารจับแกนนำม็อบต้านคมช.”. กรุงเทพธุรกิจ. 9 กรกฎาคม 2550. (เว็บไซด์) สำหรับ ลีลาการเขียนข่าวที่แตกต่างจากข่าวดังกล่าว อ่าน ““บก.ลายจุด”เปิดปราศรัยถล่ม “คมช.-สุรยุทธ์”กลางขนส่งฯเชียงราย”. ผู้จัดการออนไลน์. 6 กรกฎาคม 2007.

11. ท่านเคยรู้สึกหลอนๆ ไหมครับ เวลาที่อ่านข่าวข่มขืนในหนังสือพิมพ์? ในแง่ที่ว่า 1. ทำไมเขียนได้ละเอียดเหมือนกับยืนอยู่ในสถานที่จริงเช่นนั้น (แล้วทำไมไม่ไปช่วยเหยื่อ)? และ 2. ตกลงข่าวเหล่านั้นผู้ที่รายงานข่าวต้องการรายงานถึงความโหดร้าย-รุนแรงของการข่มขืนในฐานะเป็นอาชญากรรม หรือเอาเข้าจริงแล้วการเขียนข่าวเหล่านั้นมีจินตนาการ (fantasy) บางอย่างอยู่เบื้องหลังโครงสร้างและท่วงทำนองในการเขียนข่าวถึงความรุนแรงทางเพศในลักษณะนั้น เพราะว่าความบันเทิงของข่าวนั้นสำคัญไม่น้อยไปกว่าเนื้อข่าว? ซึ่งในแง่นี้คำถามที่สำคัญก็คือ ข่าวนั้นต้องการรายงานข่าว หรือขายจินตนาการ-ความบันเทิง กันแน่ (ความบันเทิงไม่ได้แปลว่ารื่นเริง)? จนในบางครั้งผมอดที่จะคิดไม่ได้ว่า บางทีนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา ก็มีนักวิชาการและบุคคลสาธารณะจำนวนหนึ่งยกเอาคำเปรียบเปรยถึงความรุนแรงทางการเมืองดังกล่าวกับความรุนแรงทางเพศว่าการรัฐประหารก็เหมือนกับการข่มขืน

บางทีอาจเป็นไปได้นะครับว่า ถ้าเราเข้าใจลักษณะของ(วัฒนธรรม)การรายงานข่าวเรื่องความรุนแรงทางเพศในหน้าสื่อ เราก็อาจจะทำความเข้าใจกับการรายงานข่าวการเมืองของสื่อได้ โดยไม่ต้องเข้าใจเรื่องของเศรษฐศาสตร์การเมืองของสื่อ และความเป็นอิสระของสื่อเหมือนที่ผมพยายาม “สื่อ” ให้ท่านผู้อ่านเข้าใจมาเสียยืดยาวเช่นนี้ ...

12. ขอขอบคุณ ปริญ นิทัศน์เอก และ นักข่าวสาวจากสื่อที่ไม่ค่อยเนียนรายหนึ่ง สำหรับข้อมูลประกอบการเขียนบทความชิ้นนี้




ปรับปรุงจากบทความที่ชื่อ “รัฐเนียนๆ” และ “สื่อเนียนๆ” ในบรรยากาศ “ประชามติเนียนๆ” ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์กระดานความคิด หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันพุธที่ 11 กรกฏคม 2550 หน้า 4 และตีพิมพ์พร้อมกันใน onopen.com และ prachathai.com




Create Date : 24 กรกฎาคม 2550
Last Update : 24 กรกฎาคม 2550 18:20:28 น. 0 comments
Counter : 504 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.