Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
3 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
คิดอย่างเคนส์


รศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

มติชนรายวัน ประจำวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2545

การแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ท้าทายและยากลำบาก ส่วนหนึ่งนั้นทางการ มักมีเครื่องมือทางนโยบายไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนเป้าหมาย และปัญหาที่รอการแก้ไขในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจทรุดตัว และส่งผลกระทบไปยังส่วนต่างๆ ของสังคม ส่วนหนึ่งนั้นแม้ว่า ทางการจะถูกคาดหวัง ให้แก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างรวดเร็ว แต่ก็มักขาดประสบการณ์ที่เพียงพอ เกี่ยวกับพื้นฐานแห่งวิกฤต และทิศทางที่เหมาะสมในการฟื้นฟูประเทศ

การขาดแคลนประสบการณ์ภายใต้ปัญหาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ๆ หมายถึงความจำเป็น ที่รัฐต้องรับฟังประชาชนและนักวิชาการ โดยในขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ก็จักต้องใช้ทฤษฎีเป็น "เครื่องนำทาง" ด้วย ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยง อันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบาย ตามแรงจูงใจทางการเมือง และความฉาบฉวยของสามัญสำนึก

ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกช่วงต้นทศวรรษ 1920 ซึ่งติดตามมาด้วย ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ของโลก ช่วงปี ค.ศ.1929-1933 เป็นประสบการณ์ใหม่ของรัฐในยุคนั้น ทฤษฎีเศรษฐกิจที่เคยมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง ขาดความเหมาะสม และเคนส์ (kenyes) ก็ได้สร้างคุณูปการ ด้วยการปฏิรูปความคิดทางเศรษฐศาสตร์ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เป็นจริง จนกระทั่งเป็นที่มาของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาค อันเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน

เคนส์ปฏิเสธแนวคิดดั้งเดิม ที่ปล่อยให้กลไกตลาดแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำโดยลำพัง และเสนอให้รัฐเข้ามามีบทบาทจริงจัง ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือคนว่างงาน

ณ วันนี้ ความคิดของเคนส์กลายเป็นทั้งเหตุผล และความหวังที่รัฐจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอาศัยนโยบายการเงิน-การคลัง ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทั้งในญี่ปุ่น ไทย ตลอดจนสหรัฐอเมริกา

คำถามก็คือว่า รากฐานของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ ที่ก่อกำเนิดจากปัญหาเมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว จะยังเป็นคำตอบ สำหรับการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจของโลก และเอเชียในยุคนี้หรือไม่ และเราจะสามารถอาศัย ความคิดของเคนส์ ในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างไร

เคนส์เป็นอัจฉริยบุคคล เป็นนักคิด เท่าๆ กับที่เป็นนักมนุษยธรรมผู้ไม่ยอมทนเพิกเฉยต่อความทุกข์ร้อนของประชาชน เคนส์ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของแนวทางดั้งเดิม และความล้มเหลวของกลไกตลาด ในการจัดภาวะการว่างงานขนานใหญ่ โดยเห็นว่า ถ้ารัฐไม่ดำเนินการเชิงรุกก็จะทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วนั้นทรุดหนักลงไปอีก ดังนั้น การเข้ามากระตุ้นอุปสงค์รวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ จึงเป็นแนวทางสำคัญของเคนส์

ข้อสรุปทางนโยบายของเคนส์นี้ มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซบเซาในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รวมทั้งในประเทศไทยของเราเอง แต่น่าเสียดายที่เรามักหยิบยืม เอาข้อสรุปของเคนส์มาใช้อย่างง่ายๆ โดยมิได้คำนึงถึงข้อจำกัดในนโยบายแบบเคนส์เซียน ลักษณะปัญหาที่แตกต่างกัน ระหว่างวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน กับในยุคที่เคนส์มีชีวิตอยู่ รวมทั้งมิได้ดำเนินรอยตามความคิดที่แท้จริงของเคนส์ ที่มุ่งปฏิรูปแนวความคิด ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วย

เรามักเชื่อว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจสามารถกระทำได้โดยง่ายถ้ารัฐบาลทุ่มเทงบประมาณรายจ่าย และลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อเพิ่มอุปสงค์รวมของระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อเช่นนี้เกิดขึ้นและล้มเหลวมาแล้วในประเทศญี่ปุ่นและก็เป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นอีกกับประเทศสหรัฐอเมริกา

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มชะลอตัวลงในช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยทางการเชื่อว่าเป็นปัญหาวัฏจักรธุรกิจระยะสั้น และมิได้ยึดเป็นโอกาสสำคัญที่จะปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ แนวทางการแก้ไขปัญหานั้นตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีปัญหามาจากการที่อุปสงค์รวมอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป และสามารถแก้ไขได้ ด้วยการเพิ่มปริมาณเงินหรือลดอัตราดอกเบี้ย ทางการญี่ปุ่นต้องการเห็นค่าเงินเยนต่ำโดยหวังว่าการส่งออกหรือดุลบัญชีเดินสะพัดจะช่วยเพิ่มรายจ่ายรวมของประเทศ แต่การดำเนินนโยบายการเงิน-การคลัง ของญี่ปุ่นก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ศาสตราจารย์พอล ครุกแมน (Paul Krugman) ก็เชื่อว่าปัญหาญี่ปุ่น มีสาเหตุมาจากการขาดอุปสงค์รวม เนื่องจากประชาชนออกมาก หรือบริโภคน้อยเกินไป พอล ครุกเมน จึงเสนอให้ดำเนินนโยบายการเงินขยายตัว ในอัตราเร่งเพื่อให้ประชาชนรีบจับจ่ายใช้สอย (โดยทำให้เชื่อว่า ราคาสินค้าในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก) ศาสตราจารย์เคนเนธ รอกอฟฟ์ (Kenneth Rogoff) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก็มีความเห็นแตกต่างจาก พอล ครุกเมน เพียงเล็กน้อย คือต้องการเห็นรัฐบาลญี่ปุ่น ใช้นโยบายการคลัง มากกว่านโยบายการเงิน แต่ก็เชื่อว่าการเพิ่มอุปสงค์รวมโดยรัฐ จะช่วยแก้ปัญหาได้

ประเด็นสำคัญคือถ้าญี่ปุ่นมีปัญหาหลักอยู่ที่ระดับอุปสงค์รวมต่ำเหมือนที่โลกตะวันตกประสบในช่วงทศวรรษ 1920-1930 แล้ว ทำไมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ดำเนินมาโดยตลอด จึงไม่สามารถสร้างผลสำเร็จได้ทั้งๆ ที่ได้นำไปสู่การก่อหนี้สาธารณะที่สูงถึงร้อยละ 140 ของจีดีพี และอัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำมากเพียงร้อยละศูนย์เท่านั้น

ในสหรัฐอเมริกา ภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้น และการลงทุนที่มากเกินไป ในช่วงที่เอเชียเผชิญกับภาวะวิกฤต ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตผิดปกติ และยากที่จะรักษา อัตราการเติบโตที่สูงไว้ได้ แนวโน้มแห่งภาวะชะลอตัวนี้ ถูกซ้ำเติมด้วยเหตุการณ์ 11 กันยายน ดังนั้นการขาดความเชื่อมั่น ของนักลงทุนจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเผชิญปัญหาความขาดแคลนอุปสงค์ ซึ่งคล้ายคลึงกับที่ปรากฏในทฤษฎีของเคนส์ นักวิเคราะห์จำนวนมากรวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์บางคนเช่นศาสตราจารย์ลอรา ไทสัน (Lsaura Tyson) ที่ปรึกษาอดีตประธานาธิบดี คลินตัน เคยเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวโดยเร็ว ตามมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และมาตรการทางการคลังของประธานาธิบดี บุช

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของแนวทางแบบเคนส์เซียนนั้นมีมากกว่าที่คิด เนื่องจากงบประมาณที่เกินดุลมาไม่กี่ปีจะเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดดุลอย่างรวดเร็วตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายทางการทหารและการรักษาความปลอดภัย ส่วนนโยบายการเงินก็กำลังเข้าสู่ภาวะการเงินกำลังเข้าสู่ภาวะกับดักกับสภาพคล่อง ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำมากอย่างไรไม่เคยเป็นมาก่อน

ในประเทศไทย การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณของภาครัฐกำลังเป็นคาถาทางการเมืองที่กระตุ้นความหวังจากประชาชน แต่รัฐมิได้บอกถึงข้อดีข้อเสียของนโยบายดังกล่าวและก็มิได้เตือนว่าเป็นนโยบายเฉพาะหน้าที่ให้ผลบวกในระยะสั้น แต่อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะยาวหรืออ่อนแอลง

นโยบายสำคัญ เช่น นโยบายควบคุมราคาบริการสาธารณสุข นโยบายเงินกู้สำหรับกองทุนหมู่บ้านและนโยบายพักการชำระหนี้เกษตรกร มิใช่นโยบายที่จะมีผลชัดเจนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากแต่เป็นนโยบายที่นอกจากจะเป็นการก้าวถอยหลังแล้วยังจะสร้างภาระต่อประชาชนผู้เสียภาษีอากรในอนาคต เฉพาะโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ "30 บาทรักษาทุกโรค" เพียงโครงการเดียว รัฐต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2546 สูงถึง 55,700 ล้านบาท นี่ไม่นับภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นอีกจากกลไกการประนอมหนี้ภายใต้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(TAMC)

แม้ว่าสาเหตุแห่งวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยอาจมีหลายประการ แต่ภาวะชะลอตัวของอุปสงค์รวมนั้นเป็น "ผล" (effect) มากกว่าที่จะเป็น "เหตุ" (cause) ประชาชนจำนวนมากเชื่อว่า ในอนาคตเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ในขณะที่มีการกล่าวน้อยมากถึงความจำเป็น ที่จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ในทางโครงสร้าง อุปสงค์รวมที่อยูในระดับต่ำ มีสาเหตุสำคัญ มาจากการที่เศรษฐกิจไทยในอดีต เติบโตอาศัยการก่อหนี้ ทำให้การประหยัดรายจ่ายของประชาชน เป็นการปรับตัวทางธรรมชาติ และเป็นแนวทางที่จำเป็น ประเทศไทยจึงต้องมุ่งสร้าง แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีประสิทธิภาพสูง มีเกณฑ์ทางการคลังที่ชัดเจน และหวังผลได้จริงในทางเศรษฐกิจ

นโยบายกระตุ้นรายจ่ายแบบที่ทำกันอยู่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ และสะท้อนความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า ปัญหาเศรษฐกิจมีสาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ต่ำเหมือนกับที่เคนส์วินิจฉัยไว้เมื่อประมาณ 70 กว่าปีก่อน

ความจริงแล้วในยุคของเคนส์นั้น รายจ่ายภาครัฐมีขนาดเล็กมาก และอังกฤษเองก็ดำเนินนโยบายเพิ่มค่าเงินปอนด์ และชะลอรายจ่ายอยู่ก่อนหน้านั้น ภาวะตกต่ำของอุปสงค์รวมจึงเป็นประเด็นใหญ่ แต่ในปัจจุบันปัญหาความล้มเหลวในญี่ปุ่น และไทย อยู่ที่หนี้ภาคเอกชน ซึ่งยากต่อการแก้ไขด้วยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ส่วนในสหรัฐอเมริกา มีการใช้งบประมาณรายจ่ายเกินตัว มาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการด้านสาธารณสุข

แม้แต่เคนส์เองก็มิได้สนับสนุนให้รัฐใช้จ่ายในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต ถ้ามีโครงการทางเลือกที่ดีกว่า

รัฐบาลควรคิดอย่างเคนส์ แต่ควรคิดมุ่งปฏิรูปแนวทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิผลมากขึ้นกว่าที่เคนส์เคยเสนอ รัฐต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ ที่มุ่งหวังผลทางการเมืองแต่ขาดความรับผิดชอบในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องหันหน้าสู่แผนที่มีประสิทธิภาพ และมีหลักเกณฑ์ที่หวังผลได้

การคิดอย่างเคนส์ ไม่ใช่การยึดเอาสิ่งที่เคนส์สรุปไว้เป็นเหตุ เพราะนั่นจะกลายเป็นความผิดพลาด ที่ปล่อยให้ปัญหาพื้นฐานสำคัญๆ ดำรงอยู่ตามยถากรรม ซึ่งมิใช่สปิริตหรือความคิดของเคนส์เลย





Create Date : 03 กรกฎาคม 2550
Last Update : 3 กรกฎาคม 2550 16:34:57 น. 3 comments
Counter : 928 Pageviews.

 
ไม่เข้าใจเลย


โดย: อิ IP: 203.113.71.69 วันที่: 8 มกราคม 2551 เวลา:9:37:46 น.  

 


โดย: ฐิติพงศ์และพวก IP: 125.24.38.49 วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:15:48:31 น.  

 
คิดอย่างเคนส์ ในปัจจุบันนี้ ควรเป็นอย่างไร


โดย: นักศึกษา IP: 125.26.187.248 วันที่: 11 ธันวาคม 2551 เวลา:12:32:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.