Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
3 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
ทั้งเห็นแก่ตัวและเห็นแก่สังคม

ทั้งเห็นแก่ตัวและเห็นแก่สังคม


ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ

กรุงเทพธุรกิจ
23 และ 24 กรกฏาคม 2546


ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้ศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ได้อ่านบทความเรื่อง "เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่สังคม" ของ ศุภวุฒิ สายเชื้อ เมื่อ 30 มิ.ย. ทำให้ต้องหาเวลามาร่วมเสวนาผ่านคอลัมน์นี้ด้วย เนื่องจาก ศุภวุฒิ ได้อ้างถึง อาดัม สมิธ (Adam Smith) และ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งคู่

1. เศรษฐศาสตร์การเมืองไม่ใช่มาร์กซิสม์ แต่…

ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่า เศรษฐศาสตร์การเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสม์ แต่เศรษฐศาสตร์มาร์กซิสม์เป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองแน่นอน นักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก่อน มาร์กซ์ ก็คือ อาดัม สมิธ ผู้เขียนหนังสือ An Inquiry in to the Nature and Causes of the Wealth of Nations ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ในชื่อสั้นๆ ว่า Wealth of Nations หรือความมั่งคั่งของชาติ

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1776 ครั้งที่สอง 1778 ครั้งที่สาม 1784 ครั้งที่สี่ 1786 ครั้งที่ห้า 1789 และปัจจุบันพิมพ์เผยแพร่อีกเมื่อ 1982, 1986 และ 1997 ในการพิมพ์เมื่อปี 1997 Andrew S.Skinner ได้กล่าวไว้ในบทนำชัดเจนว่า หนังสือเล่มนี้คือระบบความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของ อาดัม สมิธ

นักเศรษฐศาสตร์การเมืองคนต่อมาที่โด่งดังมากเช่นกัน คือ เดวิด ริคาร์โด อายุน้อยกว่า อาดัม สมิธ 51 ปี ริคาร์โดเขียนหนังสือเรื่อง หลักเศรษฐศาสตร์การเมืองและการภาษี (Principles of Political and Taxation)

อีกคนหนึ่งที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับหลักการเศรษฐศาสตร์การเมือง คือ จอห์น สจ๊วต มิลล์ เขียนหนังสือเรื่อง หลักเศรษฐศาสตร์การเมือง (principles of Political Economy) และก่อนหน้านั้น พ่อของเขาคือ เจมส์ มิลล์ ก็เขียนหนังสือเรื่อง หลักเศรษฐศาสตร์การเมืองเบื้องต้น (Element of Political Economy)

ส่วนมาร์กซ์เข้าสู่เวทีวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมืองเต็มตัว เมื่อเขาได้เขียนหนังสือเรื่อง A Contribution to the Critique of Political Economy เมื่อปี 1859 ซึ่งต่อมารู้จักกันทั่วไปในชื่อ Das Kapital หรือ Capital

2. เห็นแก่ตัว เห็นแก่สังคม

ที่กล่าวมาค่อนข้างยืดยาวก็เพื่อจะยืนยันว่า วิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นมีมาก่อนงานของ มาร์กซ์ ดังนั้น การศึกษาความคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง จึงต้องศึกษาให้กว้างไกลกว่าความคิดของมาร์กซ์ และนักวิชาการไทยก็ควรเปิดใจเสียทีว่า เศรษฐศาสตร์การเมืองไม่ใช่มาร์กซิสม์

กลับมาสู่ประเด็นของศุภวุฒิ ซึ่งได้อ้าง อาดัม สมิธ เพื่อจะบอกว่า

"ความเห็นแก่ตัวของผู้ผลิตที่พยายามจะสร้างกำไรสูงสุดให้กับตนเองนั้น จะทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรไปในทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ผลที่ได้มาคือ ผลผลิตที่สูงที่สุด ราคาต่ำที่สุด และคุณภาพดีที่สุด ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากที่สุด และนำมาซึ่งความมั่งคั่งมากที่สุดให้กับสังคม"

ศุภวุฒิกำลังบอกว่า "จงปล่อยให้ผู้ผลิตเห็นแก่ตัวไปเถิด แล้วทุกอย่างจะดีเอง ไม่ว่าผู้ผลิต ผู้บริโภค หรือสังคมโดยรวม เพราะ 'มือที่มองไม่เห็น' จะเข้ามาจัดการให้ทุกอย่างดีสมอารมณ์ปรารถนา"

ข้อสรุปนี้ก็คงได้มาจากบทที่สองของหนังสือ Wealth of Nations เล่ม 1 ซึ่งอาดัม สมิธ กล่าวถึง ความรักตนเอง ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของมนุษย์ ซึ่งเขายกตัวอย่างรูปธรรมว่า การที่คนขายเนื้อ ขายเบียร์ ขายขนมปัง ขายสิ่งเหล่านี้ให้เรา ไม่ใช่เพราะมีเมตตาแก่เรา แต่เพราะเขาต้องการกำไรจากเรา มันเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนของเขาแท้ๆ แต่ผลที่เราได้ก็คือ เรามีอาหารและเครื่องดื่มบำบัดความต้องการของเราด้วย

แต่ข้อสรุปที่ว่า ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากที่สุด และนำมาซึ่งความมั่งคั่งมากที่สุดให้กับสังคม เป็นข้อสรุปที่จำเป็นต้องวิเคราะห์ ทบทวน และทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวความคิดของอาดัม สมิธ ให้ถ่องแท้

ประการแรก อย่าเพิ่งไปตีความง่ายๆ ว่า อาดัม สมิธ ปล่อยให้ทุกคนเห็นแก่ตัวมากๆ เพื่อสังคมจะได้ "มั่งคั่ง" มากๆ และทุกคนจะได้รับประโยชน์สูงสุด อาดัม สมิธ เพียงอธิบายให้เห็นว่า แรงขับเคลื่อนที่ทำให้มนุษย์ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น คือการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

เรียกตามภาษาศาสนาพุทธว่า "โลภจริต" และอาดัม สมิธ ก็ประจักษ์ว่า ความเห็นแก่ตัวของคนนั้น ถ้าไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนมันจะต้องถูกจำกัด ปล่อยให้เลยเถิดไม่ได้ ความเห็นแก่ตัวทางเศรษฐกิจ ถ้าทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน สังคมเดือดร้อน ก็จะต้องถูกควบคุม

3. ความรู้สึกเชิงศีลธรรม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักเศรษฐศาสตร์ที่ชอบอ้างงานของ อาดัม สมิธ เรื่อง Wealth of Nations มักจะไม่สนใจงานอีกชิ้นหนึ่งของอาดัม สมิธ ที่เคียงคู่กัน คือ ทฤษฎีว่าด้วยความรู้สึกเชิงศีลธรรม (The Theory of Moral Sentiments) ซึ่งสมิธมีกรอบความคิดเรื่องความเหมาะสม คือคนเราควรระลึกได้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร เพราะถ้าทำสิ่งที่ไม่ควรก็จะมีระเบียบสังคม คอยควบคุมมิให้ทำในสิ่งที่ไม่ควร

งานชิ้นนี้ของเขา สมิธให้ความสำคัญเท่ากับ Wealth of Nations อาดัม สมิธ ยืนยันในงานชิ้นนี้ของเขาว่า กฎแห่งความยุติธรรม จะต้องมีไว้เพื่อขัดขวางหรือป้องกันมิให้คนใดคนหนึ่ง ใช้ความเห็นแก่ตัวของตนไปสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น

พิจารณาจากทฤษฎีว่าด้วยความรู้สึกเชิงศีลธรรมควบคู่กับ Wealth of Nations ก็หมายความว่า สมิธยอมรับให้ความเห็นแก่ตัวของคนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ แต่ความเห็นแก่ตัวนี้ จะต้องถูกจำกัดควบคุมมิให้ไปทำลายผู้อื่นและสังคม นั่นก็หมายความว่า ให้ยอมรับความเห็นแก่ตัวของคน แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้คนเห็นแก่สังคมบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้เห็นแก่ตัวอย่างไม่จำกัด แล้วสังคมจะมั่งคั่งได้ประโยชน์สูงสุด

ในศาสนาพุทธเองก็ยอมรับความเห็นแก่ตัวของคนว่า คนธรรมดาผู้ครองเรือนไม่อาจละ "ความโลภ" ได้ พระพุทธเจ้าจึงเพียงสอนให้มีฆราวาสธรรม คืออย่าให้มากเกินไป ถ้ามากเกินไปก็จะก่อให้เกิดทุกข์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

ผู้เขียนเห็นว่า ในเรื่อง "ความรู้สึกเชิงศีลธรรม" ของอาดัม สมิธ ก็มีหลักคิดที่คล้ายคลึงกัน คือ จำเป็นต้องควบคุมความเห็นแก่ตัวของคนไว้บ้าง

นอกจากนี้ ในทฤษฎีว่าด้วยความรู้สึกเชิงศีลธรรม สมิธ เห็นว่า มนุษย์ทุกคนมีด้านที่ไม่เห็นแก่ตัวควบคู่กับความเห็นแก่ตัว สมิธเรียกความรู้สึกนี้ว่า ความรู้สึกเป็นมิตร หรือภราดรภาพ (fellow feeling) คือ เมื่อเห็นผู้อื่นทุกข์โศก ก็พลอยทุกข์โศกไปด้วย เห็นผู้อื่นมีความสุข ก็พลอยยินดีไปด้วย

ความรู้สึกเช่นนี้เป็นที่มาของการยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำให้ผู้อื่นโศกเศร้าและทำในสิ่งที่เกิดความสุขแก่ผู้อื่น เพราะในทัศนะของสมิธ คนจะต้องมีทั้งสองด้าน คือ เห็นแก่ตัวและเห็นแก่สังคมพร้อมๆ กัน จึงจะเกิดดุลยภาพทางสังคม คือเศรษฐกิจก้าวหน้า สังคมสงบสุข



4. มูลค่าแรงงาน

ศุภวุฒิ อ้างถึงมาร์กซ์ว่า เป็นผู้ตั้งสมมติฐานว่า มูลค่าสินค้านั้นเกิดจากแรงงานทั้งหมด กว่าที่มาร์กซ์จะได้หยิบยกเรื่องทุน เรื่องแรงงาน ขึ้นมาสร้างเป็นกรอบทฤษฎีอย่างเป็นระบบนั้น ก็ล่วงเลยมาถึง ค.ศ.1859 ขณะที่งานของ อาดัม สมิธ เรื่อง Wealth of Nations เล่ม 1 บทที่ 5 ย่อหน้าแรก สมิธก็เปิดฉากวิเคราะห์ว่า ความสุข สะดวก สบาย ในชีวิตของคนเรานั้น แท้จริงแล้วได้มาจากแรงงานของตนเองเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วได้มาจากแรงงานผู้อื่น

ดังนั้น คนเราจะยากจนหรือร่ำรวยขึ้นอยู่กับความสามารถควบคุมแรงงานผู้อื่น หรือสามารถซื้อแรงงานจากผู้อื่นมาใช้สอยได้ แล้วประโยคสุดท้าย สมิธก็ฟันธงเปรี้ยงลงไปว่า "แรงงาน (หรือพลังแรงงาน) คือ มาตรวัดที่แท้จริงของมูลค่าแลกเปลี่ยนของสินค้า"

อาดัม สมิธ ได้จำแนก "มูลค่าสิ่งของ" เป็น 2 ประเภท คือ มูลค่าใช้สอย และมูลค่าแลกเปลี่ยน

มูลค่าการใช้สอยนั้นมาจากแรงงานเป็นด้านหลัก ดังนั้น สมิธจึงเห็นว่ามูลค่าการแลกเปลี่ยนจะมีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอย และปริมาณแรงงานที่ใส่เข้าไป

ต่อมาสมิธก็ยอมรับว่า ราคาสินค้าในตลาดไม่จำเป็นจะต้องมีค่าเท่ากับมูลค่าแลกเปลี่ยนตามมาตรวัดของปริมาณแรงงาน เขาจึงสรุปว่า ราคาสินค้าในตลาด ถูกกำหนดจาก "ปริมาณสินค้าที่นำออกขายในตลาด และความต้องการสินค้าของผู้ที่ต้องการจะซื้อ" หรือพูดตามภาษาสมัยใหม่ ก็คือ ขึ้นอยู่กับกลไกอุปสงค์ และอุปทาน

แต่เรากลับพบว่า การเรียนเศรษฐศาสตร์ในห้องเรียนยุคสมัยสงครามเย็น ทั้งในตะวันตกและไทย แทบไม่ได้กล่าวถึงทฤษฎีมูลค่าแรงงานของอาดัม สมิธ มีแต่พูดถึงทฤษฎีมือที่มองไม่เห็น หรือกลไกอุปสงค์อุปทานของอาดัม สมิธ เท่านั้น

แล้วต่างก็พากันเข้าใจผิดว่า ทฤษฎีมูลค่าแรงงานเป็นทฤษฎีที่กำเนิดจากมาร์กซ์

อย่างไรก็ดี ต้องยกย่องว่า อาดัม สมิธ คือผู้ที่ได้พัฒนาและสร้างทฤษฎีมูลค่าแรงงานขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะมีทฤษฎีมูลค่าแรงงานของมาร์กซ์



5. มาร์กซ์กับมูลค่าแรงงานส่วนเกิน

มาร์กซ์ ได้ศึกษาทฤษฎีมูลค่าแรงงาน และพบว่า พลังแรงงานของมนุษย์นั้น นอกจากจะก่อให้เกิดมูลค่าใช้สอยและมูลค่าแลกเปลี่ยนแล้ว ยังสามารถสร้าง "มูลค่าส่วนเกิน" ได้ด้วย

มาร์กซ์ บอกว่า นายจ้างหรือนายทุน จะจ่ายค่าจ้างให้กรรมกรเท่าที่พอทำให้มีชีวิตอยู่ได้ ผลิตพลังแรงงานได้ แล้วก็ใช้พลังแรงงานของคนงานให้ทำการผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และผลผลิตที่ได้จะสูงกว่า (หรือเกินกว่า) ค่าจ้างที่จ่ายไปเสมอ มาร์กซ์จึงสรุปว่า นายจ้างหรือนายทุนเติบโตได้ด้วยมูลค่าส่วนเกิน หรืออยู่ได้ด้วยการขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน

ความจริงหลักการนี้ก็ไม่ต่างจากความจริงทั่วไปที่เราเห็นกันอยู่และเรียนกันอยู่ในวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ว่า "ผลิตภาพแรงงานจะต้องสูงกว่าค่าจ้าง" ธุรกิจหรือนายจ้างจึงจะตัดสินใจจ้างเพิ่มหรือลงทุนเพิ่ม

และด้วยทฤษฎีเช่นนี้แหละที่ทำให้มาร์กซ์มีข้อสรุปว่า ระบบทุนนิยมอยู่ได้ด้วยการกินมูลค่าส่วนเกินของแรงงาน ดังนั้น ถ้าต้องการให้มูลค่าแรงงานส่วนเกินเป็นของแรงงาน ก็ต้องเลิกระบบทุนนิยม



6. ทั้งเห็นแก่ส่วนตัวและเห็นแก่ส่วนรวม

ส่วนประเด็นว่า วิสัยทัศน์ของมาร์กซ์ผิดพลาดที่ว่า ระบบทุนนิยมจะล่มสลาย จะถูกทำลายด้วยการปฏิวัติของผู้ใช้แรงงานนั้น จะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ให้ดี นับตั้งแต่มาร์กซ์ได้เผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์ เกิดขบวนการปฏิวัติทางชนชั้น ก็ทำให้เกิดความหวั่นไหวในระบบทุนนิยม

เพราะฉะนั้น ในสังคมใดที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ คนงานอดอยาก ว่างงาน นายจ้างเอาเปรียบมากๆ สังคมนั้นจะถูกกระตุ้นเตือนให้มีการปรับตัว รัฐบาลที่มีตัวแทนของคนงานจะปรับเปลี่ยนนโยบาย กดดันระบบทุนนิยมให้มีการผ่อนคลายต่อคนงาน เกิดเป็น "รัฐสวัสดิการ" เช่น ในเยอรมนี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และกลุ่มสแกนดิเนเวีย ภายใต้ระบบนี้ รัฐแทรกแซงกลไกตลาด เพราะถ้าไม่แทรกแซงในภาวะวิกฤติ มือที่มองไม่เห็นก็จะกลายเป็นมือปีศาจพิฆาตคนยากคนจนได้

การสร้างระบบสวัสดิการสังคม การประกันสังคม เป็นกลไกที่ทำให้นายจ้างและระบบทุนนิยมต้องจ่ายคืนให้แก่คนงาน และมันก็คือ กลไกการปรับตัวของทุนนิยมอย่างประนีประนอมต่อการเรียกร้องต่อสู้ของแรงงาน

และถ้าหากไม่มีการประนีประนอมในแนวทางนี้ ก็ไม่แน่เหมือนกันว่า จะเป็นไปตามคำทำนายของมาร์กซ์หรือไม่ เพราะแม้แต่ในสหรัฐช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อทศวรรษที่ 1930 ก็ต้องมี โครงการนิวดีล (New Deals) ออกมาแทรกแซงการลงทุน (คือลงทุนโดยรัฐ) และช่วยเหลือคนตกงาน

จากนี้จะเห็นได้ว่า ในความเป็นจริงของสังคม ไม่สามารถที่จะมีเพียงด้านเห็นแก่ส่วนตนโดยไม่เห็นแก่สังคมโดยส่วนรวม และถ้าปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะชนชั้นแรงงานที่เป็นคนส่วนใหญ่ทางสังคม ถูกกดขี่เอาเปรียบอย่างไม่ผ่อนคลาย ไม่ยอมประนีประนอม เหตุการณ์ก็อาจพัฒนาเป็นไปตามที่มาร์กซ์ทำนายก็ได้

ต้องไม่ลืมว่า ยุคที่มาร์กซ์ประกาศลัทธิคอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto, 1848) และเผยแพร่ Capital เมื่อ ค.ศ.1859 สังคมอังกฤษซึ่งเป็นสังคมอุตสาหกรรมทุนนิยมตามที่มาร์กซ์ได้เห็นนั้นมันเลวร้ายมากๆ คนงานถูกกดขี่ขูดรีดรุนแรงมาก มีการประท้วงและนัดหยุดงานต่อสู้ล้มตายกันไปมากมาย

ถ้าอยากรู้ว่ารุนแรงอย่างไร ก็ให้อ่าน สภาพของชนชั้นแรงงานในอังกฤษ เขียนโดย เฟรดเดอริค เองเกลร์ (Frederick Engels) พิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมนี เมื่อ 1845 สมัยนั้นมีการใช้แรงงานเด็กวัย 5-9 ขวบ ให้ทำงานวันละ 14-15 ชั่วโมง สภาพเช่นนี้ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบทุนนิยมก็คงอยู่ไม่ได้เช่นกัน

ส่วนเรื่องเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ เรื่องรัสเซียและการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ถูกเรียกว่า "คอมมิวนิสต์" การพิจารณาความล้มเหลว ความสำเร็จ ด้วยตัวแปรว่าเป็น "ทุนนิยม" หรือ "สังคมนิยม" ออกจะหยาบเกินไป มันมีตัวแปรอื่นๆ อีก "ในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองและสังคม" ของประเทศเหล่านั้น

ในหลายๆ ตัวแปรเหล่านี้ นักเศรษฐศาสตร์มักจะไม่ค่อยพิจารณาตัวแปรด้านความเห็นแก่ตัวที่ทำลายส่วนรวม ด้านการจัดการ และด้านสงครามเย็น สงครามร้อน ระหว่างค่ายสหรัฐ และค่ายโซเวียต

ใครสนใจที่จะได้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กล่าวมา ก็ควรไปเรียนหลักสูตรปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเมือง (ภาคพิเศษ) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งจะเปิดรับสมัครรุ่นต่อไปในเดือน ส.ค.นี้






Create Date : 03 กรกฎาคม 2550
Last Update : 3 กรกฎาคม 2550 16:29:19 น. 1 comments
Counter : 928 Pageviews.

 
ดร.ศุภวุฒิ ตอบ อ. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เรื่องความเห็นแก่ตัว ตามบทความนี้ ดูได้ที่
//www.nidambe11.net/ekonomiz/2003q3/article2003july28p1.htm ครับ


โดย: สุธน หิญ วันที่: 5 สิงหาคม 2550 เวลา:22:49:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.