Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
14 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 
บนรอยทางแห่งรอยธรรมจากท่านพุทธทาสภิกขุ ถึงท่าน ว. วชิรเมธี


การที่คนเริ่มหันมาสนใจธรรมะจนกลายเป็นกระแสอย่างทุกวันนี้ อาตมามองว่า นี่คือคุณูปการของ ธรรมะติดปีก ไม่ใช่คุณูปการของอาตมานะ อาตมาใช้คำว่าธรรมะติดปีกไม่ได้ หมายถึงหนังสือที่ตัวเองเขียน แต่ใช้เป็นภาษาสัญลักษณ์ ซึ่งหมายถึงการรู้จักประยุกต์ธรรมให้สอดคล้องกับยุคสมัย อีกอย่างหนึ่ง อาตมาเชื่อว่าเป็นจังหวะของยุคสมัยด้วย คือคนมีทุกข์มาก ธรรมะก็จำเป็นมากเป็นธรรมดา เหมือนท่านพุทธทาสเกิดขึ้นมาตรงกับจังหวะที่สังคมไทยกำลังอภิวัฒน์ครั้งใหญ่ (การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕) ท่านจึงกลายเป็นนักอภิวัฒน์ชั้นนำไม่น้อยไปกว่านายปรีดี พนมยงค์

อาตมามองว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเหมือนเพชร กล่าวคือมีคุณค่าในตัวเอง มีความงดงามแพรวพราวอยู่แล้วด้วยตัวของตัวเอง เราเพียงแต่เอาเพชรที่แพรวพราวนั้นมาจัดวางให้ถูกที่ ถูกเวลา แล้วก็ถูกโอกาสเท่านั้นเอง เพชรนั้นก็สามารถที่จะแพรวพราวต้องตาต้องใจสาธารณชนทุกเมื่อ เราไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านำเพชรมาวางในที่ที่เหมาะที่ควร เพราะฉะนั้นคุณงามความดี (คือการที่คนหันมาสนใจธรรมะมากๆ) เหล่านี้ อาตมภาพคิดว่า เป็นเพราะเสน่ห์อันแท้จริงของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ตัวของอาตมาเอง ได้รับอิทธิพลมาจากท่านพุทธทาสกว่า ๗๐ เปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากรู้จักงานของอาตมา หรือตัวอาตมาเอง ขอแนะนำให้อ่านงานของท่านพุทธทาส คือ ตามรอยพระอรหันต์ พุทธทาสรำลึก เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา สิบปีในสวนโมกข์ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ อ่านงาน ๕ ชิ้นนี้ก็เข้าใจท่านพุทธทาสทั้งหมด และเช่นเดียวกัน ก็สามารถเข้าใจเบื้องหลังการทำงานของอาตมาได้ทั้งหมดเช่นเดียวกัน

งานเหล่านี้คืองานที่ฉายให้เห็นเบื้องหลังการถ่ายทำชีวิตของท่าน เพรางานชิ้นอื่นจะไม่มีแต่งาน ๔-๕ ชิ้นนี้ ทำให้เราได้เห็นว่า กว่าจะเป็นพุทธทาสนั้นต้องผ่านอะไรมา ท่านพุทธทาสกลายมาเป็น idol ในหัวใจของอาตมา เป็นเมื่อไรไม่รู้ แต่พอรู้สึกตัวอีกทีหนึ่ง กลายเป็นว่าเราได้รับอิทธิพลของท่านมาเต็มๆ เลย

อาตมารู้จักท่านพุทธทาสตั้งแต่ตอนอยู่ต่างจังหวัด รู้จักเป็นการส่วนรวม (หัวเราะ) ไม่ใช่ส่วนตัว คือไม่เคยเจอตัวจริง ก็คงเหมือนคนไทยทั่วๆ ไปที่มักได้ยินชื่อเสียงท่านผ่านหูผ่านตาต่างๆ นานา แล้วอยู่มาวันหนึ่งอาตมาไปเจอหนังสือสองเล่ม ซึ่งเปลี่ยนชีวิตอาตมา ตั้งแต่ยังเป็นเณรน้อย เล่มหนึ่งชื่อ นอกเหตุเหนือผล ของหลวงพ่อชา สุภทฺโท หนังสืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อ บรมธรรม ฉบับย่อ ของท่านพุทธทาส ตอนนั้นเป็นเณรน้อย ก็แย่งกันกับเพื่อนสามเณรด้วยกัน แย่งกันครอบครองหนังสือสองเล่มนี้แหละ อาตมาแย่งได้สำเร็จ แต่ก็ไม่เคยได้อ่านนะ หน้าปกน่าสนใจดี แย่งมาได้ก็ใส่ตู้ไว้

มาศึกษาอย่างจริงจังก็เมื่อมาอยู่กรุงเทพฯแล้ว แต่มีงานอยู่ชิ้นหนึ่งที่เป็นเสมือนมัคคุเทศก์ ทำให้อาตมาได้รู้จักกับท่านพุทธทาส ก็คืองานเขียนชื่อ สายลม-แสงแดด ของคุณวิลาศ มณีวัต งานชิ้นนั้น ทำให้อาตมภาพอยากรู้ว่า ทำไมท่านพุทธทาสจึงยิ่งใหญ่จริงๆ ถึงขนาดฝรั่งเอาไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นภาษาเยอรมัน พระอะไรยิ่งใหญ่จริงๆ ก็อยากรู้จัก

วันหนึ่งอาตมาไปร้านหนังสือเพื่อตามหาหนังสือของท่านจากการที่คุณวิลาศเขียนถึงไว้ ไปได้ ตามรอยพระอรหันต์ มาเล่มหนึ่ง พิมพ์ปกแข็งอย่างดี เอามาอ่าน ประทับใจตั้งแต่คำนำ ตอนั้นอายุแค่ ๑๘-๑๙ กระมัง อ่าน ตามรอยพระอรหันต์ แล้ว จำได้ว่า อ่านด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง ต่อมาก็ได้ไปอ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งทำให้ประทับใจต่องานของท่านพุทธทาสแน่นแฟ้นก็คือ พุทธทาสรำลึก เป็นรวมจดหมายระหว่างท่านพุทธทาสกับอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ซึ่งถือว่าเป็น "น้องชายโดยธรรม" ของท่านพุทธทาส โอ ประทับใจมากๆ เลย รู้สึกว่าความผูกพันกันระหว่างพี่น้องในทางธรรม ทำไมจึงงดงามอย่างนี้ แล้วภาษาวรรณกรรมของท่านพุทธทาสในหนังสือเล่มนี้งามมากๆ อาตมารู้สึกประทับใจเหลือเกิน พุทธทาสรำลึก ทำให้อาตมภาพรู้สึกว่าผูกพันกับท่านพุทธทาสมากๆ ได้อ่านแล้วก็เห็นว่า ท่านพุทธทาสใช้ชีวิตอย่างไร พัฒนาตัวเองอย่างไร เพราะท่านจะเล่าหมดว่าท่านสั่งซื้อหนังสือจากต่างประเทสอย่างไร เรียนธรรมะด้วยตัวเองอย่างไร ฝึกเขียนกวีนิพนธ์อย่างไร ตามรอยพระอรหันต์ นี้ให้ความรู้แก่อาตมา แต่ พุทธทาสรำลึกให้แรงบันดาลใจกับอาตมา งานเหล่านี้แหละสำคัญมาก เพราะเป็นเหตุให้อาตมาเริ่มสะสมงานชุด "ธรรมโฆษณ์" แล้วก็เริ่มอ่าน ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ อิทัปปัจจยตา พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ อริยสัจจากพระโอษฐ์

ในฐานะนักเขียน อาตมภาพชอบตรงที่ท่านเป็นนักอ่านชั้นยอด คือเมื่อท่านอ่านมาก ทำให้องค์ความรู้ท่านกว้าง หลากหลายมากๆ อัจฉริยลักษณ์ตรงนี้กระตุ้นให้อาตมภาพคิดว่า เมื่อเราเขียนงาน เราควรจะเขียนให้ได้อย่างท่าน คือ อธิบายพุทธศาสนาด้วย Modern Science คือ ศาสตร์ร่วมสมัยต่างๆ ดังนั้น วันหนึ่งเมื่อเรามาเขียนงานของเราเองบ้าง ก็จะเห็นว่ามีศาสตร์ร่วมมัยต่างๆ เข้ามาเยอะมาก เป็นธรรมประยุกต์ไปเลย เรียกว่า เราได้รับแรงบันดาลใจจากท่านด้วย เห็นท่านใช้วิธีการเขียนแบบประยุกต์อย่างไร อธิบายธรรมะด้วยภาษาของยุคสมัย เช่น อธิบายธรรมะด้วยแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ จิตวิทยา รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ เราก็จะเห็นว่า เอ้อ ตรงนี้เองที่ทำให้คนอ่านธรรมะของท่านแล้วรู้สึกว่ามีความร่วมสมัย เข้าใจง่าย พูดจาภาษาเดียวกัน วันหนึ่งเมื่อเราเขียนหนังสือเราควรทำอย่างนั้นบ้าง

ถ้าเราอยากจะหยิบงานชิ้นเดียวของท่านพุทธทาสมาพูดถึง คำสอนเรื่อง นิพพานที่นี่ นับว่าเด่นที่สุด การอธิบายนิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้ ของท่านพุทธทาสผ่านกระบวนการตีความเรื่องปฏิจจสมุปบาทภายในชีวิตเดียว ชั่วขณะจิตเดียว ความทุกข์เวลาเกิดขึ้น มันปุ๊บเลยละมันก็เจ้ามาถึงใจเลยใช่ไหม เมื่อมีคนมาด่าปุ๊บ ถ้าสติไม่มี มันก็แทงเข้ามาถึงใจเลยใช่ไหม แต่ถ้าเรามีสติ พอมันกระทบโสตประสาท ได้ยินหนอ มันก็พังลงไป มาถึงใจไหมล่ะ ก็มาไม่ถึง นี่เห็นไหม ปฏิจจสมุปบาท มันเกิดขึ้น มันไม่มีไฟแดง ปุ๊บปั๊บ ทันตาเห็น แต่ถ้าอธิบายอย่างเดิม มันตั้ง ๓ ชาติ โอ้โฮ นานเหลือเกินกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าจะเห็นผล นี้แหละพอเราไปตีความแบบนั้น คนก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติธรรมไปทำไม

อิทธิพลในการบรรยายปฏิจจสมุปบาทแบบคร่อมภพคร่อมชาตินี้ แผ่ครอบงำพระพุทธศาสนาแบบเถรวาททุกหนทุกแห่งที่กระจายไปทั่วทั้งโลก แต่พอมาถึงยุคของท่านพุทธทาส อาตมาคิดว่าท่านอาจจะเป็นบุคคลแรกๆ ที่กล้าฉีกแนวการอธิบายแบบพระพุทธโฆษาจารย์พร้อมทั้งเสนอแนวการอธิบายตามแบบของท่านแทน

ท่านพุทธทาสวิพากษ์วิจารณ์พระพุทธโฆษาจารย์ด้วยการบันลือสีหนาท คือคำรามเหมือนราชสีห์แห่งพุทธธรรม ในแวดวงการศึกษาพุทธศาสนา อย่าว่าแต่ในสังคมไทยหากรวมถึงในเวทีโลกด้วย พระพุทธโฆษาจารย์คือสถาบันบุคคลของเถรวาท พอๆ กับที่นาคารชุนเป็นสถาบันบุคคลของอาจริยวาท แต่ไหนแต่ไรมา ไม่มีใครกล้าแตะพระพุทธโฆษาจารย์ แต่ท่านพุทธทาสบอกว่าวันนี้ขอสักวันหนึ่ง จะเป็นไม้ซีกงัดไม้ซุง แล้วท่านก็วิพากษ์วิจารณ์พระพุทธโฆษาจารย์ ตั้งแต่ภูมิหลังก่อนบวชเลย จนมาถึงเนื้องานคือคัมภีร์วิสุทธิมรรค แล้วก็เจาะลึกลงไปเรื่องการอธิบายปฏิจจสมุปบาทว่า ที่พระพุทธโฆษาจารย์อธิบายมานั้น ไม่ถูก (เน้นเสียง) ชัดเจนมาก ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีใครบ้างจะกล้าอาจหาญขึ้นไปท้าชกกับพระพุทธโฆษาจารย์ในทางปัญญา ไม่มี แต่ท่านพุทธทาสทำ อาตมาคิดว่านี้คือจุดที่เด่นที่สุดที่ทำให้อาตมาภาพประทับใจท่านพุทธทาส แล้วตกกระทบมาถึงอาตมาตรงที่ทำให้เรามีความกล้าทางจริยธรรม หมายความว่า อะไรที่ไม่ถูกต้องและสิ่งนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของสังคม ของคนส่วนใหญ่ เรานิ่งดูดายอยู่เฉยๆ ไม่ได้ นี่คือจิตสำนึกสาธารณะ อาตมาคิดว่าท่านพุทธทาสกล้าที่จะไปหักหาญพระพุทธโฆษาจารย์เพราะมองเห็นว่าถ้าทิ้งเอาไว้ คนรุ่นหลังจะได้รับผลกระทบเสียหาย จะกลายเป็นความเข้าใจผิดระดับชาติ ระดับมนุษยชาติกี่พันปีก็ไม่รู้ พอท่านตระหนักอย่างนี้ก็มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ยินดีที่จะให้ใครด่าก็ได้ แต่ฉันจะต้องแก้ความเข้าใจผิดตรงนี้ให้แจ่มแจ้งกันไป อาตมาก็เลยคิดว่าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สุขของสังคมของมนุษยชาติแล้ว พระจะต้องกล้า ตรงนี้วันหนึ่งเมื่อมาเป็นคนทำงานบ้าง ทำให้เชื่อมั่นว่า ถ้าเราไม่กล้า เราก็คงทำอะไรได้ไม่มาก

อาตมากล้ายืนยันได้เลยว่า ที่ใดมีความกลัว ที่นั่นไม่มีปัญญา แต่พอเราออกจากความกลัวด้ ปัญญาของเราปราดเปรียวมาก กล้าที่จะใช้ปัญญา กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ กล้าที่จะทะลุทะลวงต่อปัญหาต่างๆ อิทธิพลที่ทำให้กล้าหาญทางจริยธรรมอย่างนี้อาตมภาพเชื่อว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจจากการที่เห็นท่านพุทธทาสกล้าวิพากษ์วิจารณ์พระพุทธโฆษาจารย์มาก่อนนั่นเอง

ท่านพุทธทาสนี้ ไปไกลกว่าพระมหาเถระชั้นนำของสังคมไทยหลายๆรูป ประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องของการอยู่เหนือนิกาย พระสงฆ์ไทยส่วนใหญ่ที่บวชเรียนมาในนิกายเถรวาทมักจะคิดว่า ธรรมะทั้งหมดนั้นมีอยู่อย่างสมบูรณ์ที่สุดในฝ่ายเถรวาท ดีที่สุดแล้วละ มหายานนี่ไม่พูดถึง ไม่สนใจ ไม่ศึกษา แต่ท่านพุทธทาสทะลุนิกาย หรือเหนือนิกาย ขั้นแรกทะลุนิกายคือศึกษาเถรวาทก่อน แจ่มแจ้งเถรวาทแล้วศึกษามหายานด้วย ถึงขนาดแลก คำสอนของฮวงโป สูตรของเว่ยหล่าง ได้ นี้เรียกว่าท่านทะลุนิกาย พอทะลุนิกายแล้ว ท่านเหนือนิกาย คือ ไม่ติดทั้งเถรวาทและมหายาน ท่านบอกว่านิกายเป็นของเด็กเล่น ท่านกลับไปหาตาน้ำแห่งโพธิ คือศึกษาพุทธธรรมจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เช่น เขียน พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ อริยสัจจากพระโอษฐ์ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ นี่คือการอยู่เหนือนิกายที่แท้จริง กลับไปหาพุทธศาสนาตัวแท้ นี่คืออัจฉริยภาพของท่านพุทธทาสซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะไม่มองแต่อาตมภาพคิดว่าตรงนี้คือจุดเด่นประการหนึ่ง

ธรรมะของท่านพุทธทาสที่พูดเอาไว้ทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงมรณภาพไป สามารถเอามาเป็นตัวเลือกทางภูมิปัญญาของมนุษยชาติได้ทั้งหมด เพราะยิ่งเราผ่านวันเวลา ผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ เราก็จะยิ่งเห็นว่าที่ท่านพุทธทาสพูดนั้นไม่ผิดเลย มีอยู่ในนั้นทั้งหมด ปัญหาก็คือสังคมตามความคิดของท่านทันหรือเปล่า ประเด็นแรกในเรื่องการเมือง ท่านเสนอให้มีการเมืองในระบบธัมมิกสังคมนิยมใช่ไหม ทุกวันนี้การเมืองนี้เป็นการเมืองภายใต้การขับเคลื่อนของทุนนิยม แล้วก็การตลาด ก็จะเกิดธุรกิจการเมือง (Money Democracy) พอเป็นธุรกิจการเมืองก็จะเห็นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย มีการครอบงำกิจการแบบไม่เป็นมิตรมากมาย แต่ถ้าเราทำการเมืองให้มีธรรมะอยู่ในนั้น ซึ่งจะตรงกับศัพท์เทคนิคแท้ๆ ว่า ทำให้การเมืองมีธรรมาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่พอ ต้องทำให้การเมืองนั้นมีธรรมาธิปไตย คำว่า "ธรรมาธิปไตย" ก็คือ "good governance" นั่นเอง ฝรั่งเพิ่งโยนคำนี้เข้ามาเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี ๔๐ แต่ท่านพุทธทาสเห็นวิกฤตินี้ก่อนใครๆ ตั้งกี่ปีแล้วล่ะ เพราะฉะนั้นนวัตกรรมทางปัญญาของท่านไม่เป็นเพียงทางเลือกทางภูมิปัญญาสำหรับสังคมไทยและของโลกเท่านั้น แต่ยังฉายให้เห็นวิสัยทัศน์ของท่านพุทธทาสด้วยว่า ท่านรู้ว่าหากการเมืองไม่มีคุณธรรมมันจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเรากับโลกของเรา

ประเด็นที่สอง คือในเรื่องของเศรษฐกิจ ท่านก็เน้นมากกว่าเราอย่าไปวิ่งตามความต้องการใช่ไหม เวลาท่านเทศน์ออกวิทยุ เราจะได้ยินเสมอ ใครไปถามอะไร ท่านก็จะบอกว่าอย่าเห็นแก่ตัว หลังๆ ท่านจะพูดย้ำมากก่อนที่จะดับขันธ์ใช่ไหม ท่านพูดอยู่เรื่องเดียวว่า อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเห็นแก่ตัว เศรษฐกิจทุกวันนี้เป็นเศรษฐกิจมือใครยาวสาวได้สาวเอาใช่ไหม เศรษฐกิจทุนนิยม ขับเคลื่อนด้วยบริโภคนิยม และวัตถุนิยม แล้วก็การตลาดแบบ free trade แต่ไม่ fair trade นี้แหละ ท่านพุทธทาสก็บอกแล้วว่า ตัณหาเป็นตุ่มใส่น้ำที่เติมไม่เต็ม ถ้าเราวิ่งตามมันเป็นอย่างไร ก็ทุกข์

แต่ว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เห็นคุณค่าอย่างที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นจะต้องมีคลื่นลูกที่สอง คลื่นลูกที่สาม ที่มาเคลื่อนไหวต่อ ให้เป็นสึนามิแบบพุทธทาส คนจะได้เห็นสิ่งที่ท่านพูด สิ่งที่ท่านทำ แล้วถ้าทำต่อเนื่องกันได้ อาตมาคิดว่าการสอนพุทธศาสนาในเมืองไทยจะมีความหมายมาก

อาตมาคิดว่าวันใดก็ตามที่คนไทยเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท่านพุทธทาสนะ วันนั้นสังคมไทยมีความหวังมาก และคิดว่ายังไม่สายเกินไป

สัมภาษณ์และเรียบเรียง: บุลยา

๒๔ กันยายน ๒๕๔๘








ที่มาจากwww.buddhadasa.comซึ่งคัดจาก หนังสือ ร้อยคนร้อยธรรม๑๐๐ปี พุทธทาส
พิมพ์ ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๙ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ



Create Date : 14 มิถุนายน 2550
Last Update : 14 มิถุนายน 2550 18:17:13 น. 0 comments
Counter : 872 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.