Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2550
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
12 พฤษภาคม 2550
 
All Blogs
 
ผลของการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ และจับตาสถานการณ์ภาคใต้

ผลของการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ และจับตาสถานการณ์ภาคใต้
ข้อเสนอคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับขุนนาง และนโยบายชายแดนใต้
รวบรวมบทความ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้ เคยตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประกอบด้วย
๑. รัฐธรรมนูญเผด็จการซึ่งจะนำไปสู่การนองเลือด
๒. เศรษฐกิจพอเพียงจริงเร้อ
๓. นโยบายภาคใต้

ซึ่งรวบรวมไว้ในเวปไชน์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยเรื่องแรกเป็นผลจากการวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ที่กำลังจะทำประชามติ
โดยสาระแล้วเป็นการซ่อนการกำกับนักการเมืองและประชาชนของฝ่ายทหาร โดยแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังอำนาจฝ่ายตุลาการ
พูดให้ถูกต้องก็คือการผลักให้ตุลาการไปสู่ความตกต่ำ และไม่ดำรงความเป็นกลางอีกต่อไป
เมื่อต้องเข้ามาพัวพันกับการเมืองในระบอบขุนนางธิปไตย
ส่วนเรื่องที่สอง เป็นการวิจารณ์เกี่ยวกับความสับสนในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และเรื่องสุดท้าย
เป็นผลมาจากการจับตาสถานการณ์ภาคใต้ในรอบ ๔ ปีที่ผ่านมา
หนทางแก้ปัญหาก็คือการให้ความยุติธรรมที่ต้องตีความให้กว้างกว่ากฎหมาย
เพื่อช่วงชิงประชาชนกลับมาให้อยู่ในรัฐที่ปลอดภัย



+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ผลของการวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ และจับตาสถานการณ์ภาคใต้
ข้อเสนอคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับขุนนาง และนโยบายชายแดนใต้
รวบรวมบทความ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
โดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

1. รัฐธรรมนูญเผด็จการซึ่งจะนำไปสู่การนองเลือด
เพราะพัฒนาการทางการเมืองของภาคสังคมไทยมากว่าสองทศวรรษ รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการจึงไม่อาจปฏิเสธสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญปี 40 ได้เปิดไว้ให้ได้ ซ้ำยังสามารถใช้เป็น"จุดขาย"ในการเรียกคะแนนเสียงสนับสนุนในการทำประชามติภายหน้าด้วย. แต่รัฐธรรมนูญเผด็จการฉบับนี้ไม่ไว้วางใจและรังเกียจนักการเมืองยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 จำต้องยอมให้มี"การเมืองของนักการเมือง"เพียงเพื่อให้พอรับได้แก่มหาอำนาจตะวันตกเท่านั้น ยิ่งนักการเมืองในปัจจุบันสามารถสร้าง"ความภักดี"ในหมู่ประชาชนได้หนาแน่นในระดับหนึ่ง ยิ่งเป็นที่น่ารังเกียจและหวาดหวั่นมากขึ้น

รัฐธรรมนูญปี 40 แก้ปัญหาความรังเกียจนักการเมืองด้วยสองแนวทาง

หนึ่ง. คือยกอำนาจการควบคุมให้พรรคการเมือง พร้อมกันนั้นก็สร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลของภาคสังคมให้เข้มแข็งขึ้น ด้วยการทำการตรวจสอบให้เป็นสถาบัน ได้แก่องค์กรอิสระทั้งหลาย ข้อที่น่าสังเกตก็คือ รัฐธรรมนูญปี 40 ไม่ได้คิดว่าภาคสังคมคือ"ราชการ" แม้ว่าคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการอิสระบางตำแหน่งอาจมาจากราชการ แต่ที่ถูกระบุไว้ให้ทำหน้าที่นี้ก็เพราะเป็นราชการที่ไม่ "ราชการ" เช่นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นต้น ถ้าวิเคราะห์จากสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลตรงนี้คือ ให้อำนาจแก่คนชั้นกลางระดับกลางและล่างนั่นเอง

สอง. แนวทางที่สองคือการเปิดการเมือง"ภาคประชาชน"ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคลื่นความถี่, การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย, ถอดถอน, ประชาพิจารณ์, สิทธิชุมชน ฯลฯ

อย่างน้อย รัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งรังเกียจนักการเมืองเช่นกัน แต่ก็ไว้วางใจประชาชน จึงเสริมอำนาจประชาชนในการตรวจสอบถ่วงดุลย์นักการเมือง. แต่รัฐธรรมนูญเผด็จการรังเกียจไม่ไว้วางใจทั้งนักการเมืองและประชาชน จึงออกแบบให้การควบคุมนักการเมืองและการเมืองของนักการเมืองอยู่ในมือของระบบราชการ ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 34 และก่อนหน้านั้น

กำลังหลักที่เป็นหัวหอกของระบบราชการคือกองทัพ แต่การเมืองที่มีกองทัพกำกับอย่างโจ่งแจ้งเป็นไปไม่ได้อีกแล้วทั้งในประเทศไทยและในโลก ฉะนั้นรัฐธรรมนูญเผด็จการจึงยกกลไกการกำกับให้แก่ฝ่ายตุลาการ เพราะตุลาการนั่นแหละคือผู้เลือกสรรองค์กรอิสระ และตัดสินชะตากรรมของนักการเมืองในหลายกรณี อีกทั้งประธานของคณะกรรมการอิสระ ซึ่งก็เลือกสรรโดยฝ่ายตุลาการจะเข้าไปตัดสินประเด็นทางการเมืองอีกหลายเรื่อง รวมทั้งยามที่เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นด้วย (ไม่ว่าจะแปลว่าอะไร)

ในการเลือกสรรบุคคล ถามว่าคนที่ตุลาการเลือกจะเป็นใครไปได้นอกจาก"ผู้ใหญ่"ในระบบราชการ ในปัจจุบันหรืออดีตก็ตาม ทั้งนี้ยังไม่นับข้าราชการซึ่งเข้าไปเป็นกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิกตามตำแหน่งโดยตรง. สรุปก็คือรัฐธรรมนูญเผด็จการกำลังนำประเทศกลับไปสู่ระบอบอมาตยาธิปไตย ซึ่งครอบงำสังคมไทยมาจนถึงต้นทศวรรษ 2530
(ส่วนหนึ่งของข้อความข้างต้นนำมาจากคำอภิปรายของคุณไพโรจน์ พลเพชร ในการสัมมนาของสมัชชาคนจนเรื่อง
"รัฐธรรมนูญที่กินได้และเห็นหัวคนจน" ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2550)

กองทัพจะอยู่ที่ไหนในรัฐธรรมนูญเผด็จการ หลักประกันที่มั่นคงที่สุดว่าระบบราชการจะสามารถคุมการเมืองไทยได้ตลอดไปอยู่ที่กองทัพ แม้ไม่สามารถนำเอากองทัพมาออกหน้าในรัฐธรรมนูญได้ แต่ก็ซ่อนไว้อย่างแนบเนียนในบทเฉพาะกาล นั่นคือการให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารชั่วนิรันดร แปลว่าเมื่อใดก็ตามที่การเมืองไทยผันแปรไปจนกระทบต่ออำนาจยึดกุมของระบบราชการ เมื่อนั้นกองทัพย่อมมีความชอบธรรมที่จะก่อรัฐประหารใหม่ และสถาปนาอำนาจของระบบราชการกลับคืนมาใหม่ได้เสมอไป…

ในสัมพันธภาพทางการเมืองของทุกส่วนของสังคม มีเส้นขีดไว้โดยไม่ต้องพูดว่า อย่าล้ำเกินนี้ เพราะกองทัพจะไม่อยู่เฉยเมื่อ"ชาติและราชบัลลังก์ถูกคุกคาม" โดยกองทัพจะเป็นผู้ตีความเองแต่ผู้เดียวว่า "ชาติและราชบัลลังก์"ถูกคุกคามเมื่อไร ภายใต้เงื่อนไขอะไร? เหนือระบบราชการซึ่งคุมการเมืองผ่านตุลาการ ยังมีเงาทะมึนของกองทัพทาบทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง

ส.ส.ร.ซึ่งกองทัพเลือกสรรมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เข้าถึงจินตนาการทางการเมืองที่"สงบเรียบร้อย"ของทหารได้ถึงแก่น อาจเป็นเพราะพวกเขาเองก็มีจินตนาการอันเดียวกันนี้อยู่แล้ว จึงเป็นเหตุให้เขาถูกเลือกมารับใช้ได้อย่างลงตัว

แม้การรับใช้อาจจะลงตัว แต่ตัวจินตนาการไม่ลงตัวกับสังคมไทยเสียแล้ว ความเข้มแข็งของภาคประชาชนทำให้ไม่อาจสยบลงได้ด้วยการตราสิทธิเสรีภาพของบุคคลไว้ในรัฐธรรมนูญเพียงเท่านั้น ประชาชนมีศักยภาพในการตรวจสอบไม่เฉพาะแต่นักการเมืองและข้าราชการ แต่รวมถึงการตรวจสอบนโยบายด้วย และตรงนี้แหละที่ระบบราชการไม่สามารถวางนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มได้อีกต่อไป การชุมนุมประท้วง, การยื่นถอดถอน, ตลอดจนความสิ้นศรัทธาต่อองค์กรอิสระทั้งหลายภายใต้อิทธิพลของตุลาการ จะทำให้การเมืองท้องถนนกลายเป็นกระแสหลักของการเมืองไทย แทนรัฐสภาภายใต้การกำกับของระบบราชการ

ไม่ตรงกันเลยกับจินตภาพการเมืองที่"สงบเรียบร้อย"ของทหาร และนี่แหละที่อาจตีความได้ว่าเป็นภัยคุกคาม"ชาติและราชบัลลังก์" กองทัพซึ่งไม่มีทางที่จะกลับไปเป็นองค์กรใต้การนำที่เป็นเอกภาพอย่างสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้อีกแล้ว ก็จะขับเคลื่อนเข้ามาโดยทหาร"มุ้ง"หนึ่ง โอกาสที่"มุ้ง"อื่นไม่ยอมย่อมมีเป็นธรรมดา ย่อมขับเคลื่อนออกมาต่อต้านในนามของ"ชาติและราชบัลลังก์"เหมือนกัน เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการกำหนดไว้ให้เกิดการนองเลือด

ถึงแม้"มุ้ง"ต่างๆ ของกองทัพสามารถประนีประนอมผลประโยชน์กันได้ ก็ใช่ว่าการทำรัฐประหารจะได้รับการต้อนรับ แม้แต่จากคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งมีศักยภาพที่จะร่วมผลักดันการวางนโยบายของระบบราชการอยู่เหมือนกัน ถึงตอนนั้น ไม่มีฝ่ายใดไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรือฝ่ายประชาชนผู้ต่อต้านการรัฐประหารจะเหลือทางเลือกอะไรอื่นอีก นอกจากต้องปะทะกัน และไม่ว่าฝ่ายใดจะประสบชัยชนะ ก็เป็นเงื่อนไขของการนองเลือดอีกอย่างหนึ่งซึ่งรัฐธรรมนูญเผด็จการได้วางไว้ให้

ทางออกของฝ่ายประชาชนในขณะนี้ จึงเหลืออยู่ทางเดียว คือคว่ำรัฐธรรมนูญเผด็จการลงให้ได้ในการทำประชามติ

ดูเหมือนเป็นทางออกที่เสี่ยงอันตราย และเสี่ยงต่อการนองเลือด ซึ่งต้องยอมรับว่าจริง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับด้วยว่า เมื่อเสี่ยงต่อการนองเลือด ก็เท่ากับยอมรับว่ามีโอกาสของการไม่นองเลือดเหลืออยู่ด้วย ฉะนั้น อย่างน้อยก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าเลือกกว่ามุ่งตรงไปยังรัฐธรรมนูญที่มีสัญญาการนองเลือดมาแต่ต้น

ผู้ที่เข้าไปรับใช้กองทัพร่างรัฐธรรมนูญบางท่านกล่าวว่า ขอให้รับรองรัฐธรรมนูญเผด็จการนี้ไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ไขเอาหลังเลือกตั้ง แต่ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกสรรของระบบราชการมีส่วนในการลงคะแนนเสียง อีกทั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคการเมืองและนักการเมืองย่อมอ่อนแอเกินกว่าจะกล้าขัดแย้งกับระบบราชการได้ หากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญเผด็จการวางเอาไว้ ที่จะผ่านออกไปได้ก็มีแต่ส่วนที่จะยิ่งเพิ่มอำนาจของอมาตยาธิปไตยให้เข้มข้นขึ้นเท่านั้น

ในบรรดาผู้รับใช้เหล่านี้ บางท่านกล่าวเชิงขู่ว่า หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการ ก็จะได้มาแต่รัฐธรรมนูญทหาร ซึ่งก็จริงแน่อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะคณะรัฐประหารวางเงื่อนไขไว้อย่างนั้น แต่จะไม่มีรัฐธรรมนูญอะไรที่เลวไปกว่านี้อีกแล้ว ทหารไม่มีกึ๋นที่จะนำเอารัฐธรรมนูญปี 34 กลับมาใช้ใหม่หรอก ทางออกของคณะรัฐประหารมีเหลืออยู่ทางเดียวคือนำเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาวางเงื่อนไขให้เป็นไปตามฉบับร่างที่ถูกคว่ำเท่านั้น ซึ่งก็คือเลวเท่ากับร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการ เพียงแต่อยู่ภายใต้ฉายาของรัฐธรรมนูญ 40 เท่านั้น

ฉะนั้นถ้าสังคมไทยตัดสินใจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการ แล้วกลับไปนิ่งเฉย โดยไม่เคลื่อนไหวกดดันอะไรเลย รัฐธรรมนูญที่ทหารยื่นให้ก็คือฉบับที่เราไม่รับในเชิงเนื้อหานั่นแหละ รัฐธรรมนูญที่ถือกันว่าดีที่สุดคือปี 40 นั้นที่จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นจาก สสร.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาล้วนๆ ตลอดเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญจนถึงผ่านรัฐสภา มีการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่างๆ อยู่อย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่จำกัดการเข้าถึง

รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ไม่อาจเกิดขึ้นจากผู้รับใช้ หรือเทวดาที่ได้รับเลือกตั้งมา แต่ต้องมาจากการเคลื่อนไหวของพลเมืองที่จะกำกับให้การร่างเป็นไปตามความประสงค์ของตน รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นภายใต้บรรยากาศของการจำกัดสิทธิทางการเมืองของคณะรัฐประหาร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีได้

ฉะนั้น หากรู้เท่าทันและตัดสินใจคว่ำรัฐธรรมนูญ ก็ต้องพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวกดดันทางการเมือง เพื่อให้บังเกิดรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดอีกฉบับหนึ่งให้ได้ อย่ายอมให้กองทัพชี้นิ้วสั่งตามใจชอบอีกต่อไป ถึงอย่างไรประชาชนก็ไม่ใช่ผู้รับใช้ของใคร

2. เศรษฐกิจพอเพียงจริงเร้อ
รัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็นมาตรา 82 บัญญัติว่า "รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"

รัฐมนตรีคลังที่เพิ่งออกไปไม่นานบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ปรัชญา แต่ ส.ส.ร.บอกว่าใช่ แสดงว่ายังไม่ค่อยกระจ่างกันนักว่าเศรษฐกิจพอเพียง ที่รัฐจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนนั้นคืออะไรกันแน่ และแม้แต่ไม่รู้ว่าคืออะไรกันแน่เช่นนี้ ส.ส.ร.ก็ได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว. ฉะนั้นวันหนึ่งในอนาคต คงมีกลุ่มพันธมิตรอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจออกมาประท้วงรัฐบาลว่าฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง ถึงตอนนั้นก็เกิดวิกฤตทางการเมืองซึ่งต้องใช้วิธีนอกรัฐธรรมนูญในการแก้ปัญหาอีกตามเคย

ในมาตราถัดมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเลียนรัฐธรรมนูญฉบับอื่นว่า รัฐต้อง "สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด". บางคนกล่าวว่าเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดนั้น ไม่ได้ขัดแย้งกับเศรษฐกิจพอเพียง แต่บางคนก็กล่าวว่าไปกันไม่ได้ในทุกเรื่อง

ผมเห็นด้วยกับทั้งสองฝ่าย เพราะไม่แต่เพียงเศรษฐกิจพอเพียงที่ความหมายไม่ชัดเจน เศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดก็ไม่ได้ชัดเจนไปกว่ากัน กลไกตลาดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมได้ ฉะนั้นอย่างไรเสียก็ต้องมีกลไกอื่นเข้ามาแทรกแซงตลาดในบางเรื่องอยู่เสมอ เช่นจะโยนสิ่งที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน เช่นการรักษาพยาบาล, พลังงาน, น้ำ, ที่ดิน, การศึกษา ฯลฯ เข้าสู่ตลาดจนสิ้นเชิงย่อมไม่ได้ แต่จะแทรกแซงแค่ไหน และอย่างไร ทำให้กลไกตลาดไม่ทำงานเลย หรือให้ทำงานแต่ไม่เสรี ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องเจรจาต่อรองกัน

เศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดขัดแย้งกับเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ ไม่ขัดแย้งก็ได้. ขัดแย้งหรือไม่ขัดแย้งจึงเป็นเรื่องของการเมือง ไม่ใช่เรื่องของรัฐธรรมนูญ และตรงนี้เองที่ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมือง แท้จริงแล้วไม่เฉพาะแต่การเมือง ยังเกี่ยวไปถึงวัฒนธรรมและสังคมอีกด้วย

เที่ยวตราโน่นตรานี่ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมองไม่เห็นความเชื่อมโยงกันของสิ่งที่ถูกตราเอาไว้กับส่วนอื่นๆ ระหว่างกันและกัน จึงสมประโยชน์แต่เพียงได้เอาใจฝ่ายที่ควรได้รับการเอาใจเท่านั้น แต่ไม่เกิดผลจริงจังขึ้นในทางปฏิบัติไปได้หรอกครับ

ผมนึกถึงสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศทำให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง จนกระทั่งกระทบต่อการผลิตและภาคบริการอย่างหนัก รัฐมนตรีคลังให้สัมภาษณ์ว่า จะพยายามอัดฉีดเงินลงไประดับล่าง เพื่อทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบให้กลับมามีพลังขึ้นใหม่ อันนี้จะเป็นการแก้ที่ตรงจุดหรือไม่ ยกไว้ก่อน แต่ที่ผมออกจะสงสัยก็คือ การที่ผู้คนมองเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต จึงพยายามควบคุมการบริโภคของตนเช่นนี้ นับเป็นอุดมการณ์ของเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ เพราะชีวิตขาดความแน่นอน เศรษฐกิจพอเพียงจึงกระตุ้นให้ทุกคนสร้าง "ตาข่ายความปลอดภัย" ให้แก่ตนเองก็น่าจะถูกแล้วไม่ใช่หรือครับ และก็น่าจะถือว่าเป็นพลังทางวัฒนธรรมที่สังคมไทยมีอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง

ในหลายสังคม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจหรือการเมืองไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การชะลอการบริโภคเสมอไป ในบางสังคม การบริโภคเสียอีกที่เข้ามาทดแทนความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิต และลงคนเราอยากบริโภคเสียอย่างเดียว ไม่ต้องห่วง ธุรกิจมีหนทางให้เข้าถึงสินค้าและบริการที่อยากบริโภคได้เสมอ ผ่านบัตรเครดิต, สินเชื่อ, เงินผ่อน, ฯลฯ ฉะนั้น หากรัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง รัฐควรหาทางเพิ่มพลังทางวัฒนธรรมตรงนี้ หรือควรทำลายมันด้วยการกระตุ้นบริโภคนิยมให้แรงขึ้น หรือหาทางที่จะใช้พลังของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีอยู่ในสังคมไทยให้เกิดพลังของตลาดขึ้นใหม่

รัฐจะทำอะไรไม่ค่อยจะขึ้นกับรัฐธรรมนูญเท่ากับว่า ใครเสียงดังกว่ากัน ระหว่างสภาหอการค้าไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ กับนักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งกระจายอยู่ในหมู่ชาวบ้าน, ปัญญาชน, และสื่อ นั่นก็คือสองฝ่าย (หรือ สาม สี่ ห้า หก เจ็ดฝ่าย) มีอำนาจต่อรองที่ใกล้เคียงกันหรือไม่ นโยบายของรัฐจะออกมาอย่างประนีประนอมกับทุกฝ่าย หรือออกมาแบบเอียงกระเท่เร่ เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นเรื่องของกระบวนการทางการเมืองหรือกระบวนการต่อรองที่เป็นธรรม

อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจไม่ได้ขึ้นกับเศรษฐกิจด้านเดียว แต่เป็นอำนาจรอบด้าน อย่างที่ท่านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เคยชี้ไว้ กล่าวคือต้องมีอำนาจต่อรองทางการเมือง, ทางวัฒนธรรม, และทางสังคมอยู่ด้วย และในทางกลับกันอำนาจต่อรองทางการเมือง ก็มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงอยู่ด้วยเหมือนกัน

เศรษฐกิจพอเพียง (ไม่ว่าจะแปลว่าอะไร) จะเข้าไปในระบบการศึกษาอย่างไร ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างไร ในองค์กรทางธุรกิจอย่างไร หรือเข้าไปในการจัดการทางวัฒนธรรมอย่างไร? ในสภาพความเป็นจริง กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจพอเพียงมีอำนาจต่อรอง เพียงพอจะคานกับกลุ่มอื่นๆ ในเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาดหรือไม่

และอย่างที่กล่าวข้างต้น ไม่ใช่ต่อรองเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่จะสอนให้ลูกหลานมีทักษะอาชีพและทักษะชีวิตที่จะสืบต่อเศรษฐกิจพอเพียงได้หรือไม่ จะจัดการรวมกลุ่มเพื่อเป็นทางเลือกของการทำธุรกิจ, การสาธารณสุข, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, หรือแม้แต่การทหาร ได้อย่างไร? เพราะคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันคือกลุ่มคนไร้อำนาจ

ผมทราบว่า มีผู้นิยามเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นปรัชญาที่สามารถเอาไปใช้ในเศรษฐกิจตลาดได้ทุกระดับ สมมุติว่าทำได้จริง เหตุใดกลุ่มคนที่อยู่ในเศรษฐกิจตลาด ซึ่งมีทั้งทักษะวิชาชีพและทักษะชีวิตที่ถูกกล่อมเกลามาอีกอย่างหนึ่ง จึงจะหันไปรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเล่าครับ ในเมื่อกลุ่มคนที่อยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงล้วนเป็นคนไร้อำนาจทั้งสิ้น

คำถามสุดท้ายก็คือ เศรษฐกิจพอเพียงจริงเร้อ

3. นโยบายภาคใต้
กว่าหกเดือนภายใต้คณะรัฐประหาร สถานการณ์ภาคใต้ยังไม่ดีขึ้น ตรงกันข้ามดูเหมือนฝ่ายตรงข้ามจะมีสมรรถนะในการปฏิบัติการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย อันที่จริงนโยบายของคณะรัฐประหารต่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่ได้แตกต่างจากในตอนท้ายๆ ของสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แต่อย่างไร? คือนั่งร้องเพลงชาติรอให้เหตุการณ์คลี่คลายไปตามยถากรรม

นั่นหมายความว่า ยิ่งนับวัน รัฐก็ยิ่งอันตรธานไปจากพื้นที่ ในขณะที่ประชาชนหาที่พึ่งจากใครไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่พร้อมหรือไม่สามารถที่จะสร้างรัฐขึ้นมาได้เช่นกัน อย่างที่พวกเขาเรียนรู้จักรัฐจากพฤติกรรมของรัฐไทยและกลุ่มก่อการร้าย รัฐคืออำนาจดิบที่กระทำต่อประชาชนได้อย่างไม่มีขีดจำกัดเท่านั้น

รัฐบาลของคณะรัฐประหารแก้ปัญหานี้โดยการคิดตั้งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงขึ้น เพื่อจัดให้เกิดการประสานงานด้านความมั่นคง แต่ความหมายของความมั่นคงก็แคบเสียจนรวมเฉพาะหน่วยงานรัฐที่มีศักยภาพจะใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพได้เท่านั้น. แท้จริงแล้ว เพื่อจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือแนวทางที่ชัดเจน จนอาจปฏิบัติได้จริง และการประสานงานอย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีนั่นเอง แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยเวลานี้ มีแต่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ไม่มีนายกรัฐมนตรี

น่าประหวั่นว่า สภาพไร้รัฐกำลังขยายมาถึงประเทศไทยทั้งหมดด้วยซ้ำ หลังจากที่รัฐถูกประหารไปในวันที่ 19 ก.ย.ปีกลาย. สังคมไทยจึงควรเข้ามากำกับควบคุมรัฐให้มากขึ้น มีแนวทางของตนเองในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่ปล่อยให้ "ผู้เชี่ยวชาญ" ในกองทัพหรือนอกกองทัพ จัดการโดยไร้ประสิทธิผลมาเกือบ 4 ปีแล้ว

โดยการคิดตามแนวนี้ ผมมีข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายภาคใต้ต่อสังคมไทยดังนี้

(1). ผมเห็นด้วยกับนโยบายสมานฉันท์ แต่สมานฉันท์ไม่ได้หมายความแต่เพียงการกล่าวคำขอโทษ หรือการละเว้นไม่ใช้กฎหมายในบางกรณีเท่านั้น การสำนึกผิด (ซึ่งมีมากกว่ากรณีตากใบ) ต้องนำไปสู่ความพยายามจะแก้ไขความผิดพลาด และชดเชยความเสียหาย (ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงเงินแต่เพียงอย่างเดียว) แก่เหยื่อทั้งหลายอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ยังรวมถึงการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งร่วมกระทำความผิดเหล่านั้นในนามของรัฐอย่างจริงจัง เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐจะไม่ทำผิดเช่นนั้นอีก

รัฐไม่ได้ทำอะไรในเชิงสมานฉันท์มากกว่าคำขอโทษ และไม่ใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงในกรณีที่คาดว่าจะทำให้เหตุการณ์บานปลาย (อย่าลืมด้วยว่าด้านหนึ่งการประท้วงเป็นสิทธิตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์) แม้แต่ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ก็แทบจะไม่มีการปฏิบัติตามสักข้อหนึ่ง เช่นประชาชนตามเทือกเขาบูโดซึ่งถูกกรมป่าไม้ประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกิน เคยมีมติ ครม.สมัยรัฐบาลทักษิณ ให้ป่าไม้ระงับการจับกุมไว้ก่อน จนกว่าจะสำรวจกันใหม่อย่างแน่ชัดแล้ว ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้

นายทุนยังใช้เรืออวนลากอวนรุนผิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ไม่จับกุม ซ้ำยังอาจรู้เห็นเป็นใจด้วย เฉพาะการแย่งชิงทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมประเด็นเดียว ซึ่งเกิดจากการกระทำของรัฐและทุนภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐ นโยบายสมานฉันท์ของทั้งสองรัฐบาล ก็ไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด

ผมคิดว่าประเด็นการเข้าถึงทรัพยากรเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายสมานฉันท์ ที่ผู้คนยากจน, ไม่มีงานทำ, ไม่ได้เกิดขึ้นจากการไม่มีโอกาสด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากทรัพยากรที่เขาเคยใช้ประโยชน์ถูกแย่งยื้อจากคนอื่นจนแทบไม่เหลืออะไรให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ต่างหาก. สมานฉันท์จึงต้องหมายถึงการนำเอากฎหมายและความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรกลับมาสู่ดินแดนแห่งนี้โดยเร็วก่อนอื่น

(2). ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นเหตุผลหลักของการมีรัฐ จะต้องฟื้นฟูสภาพที่ทำให้เกิดความปลอดภัยนี้ขึ้นมาให้ได้ ในการนี้ต้องร่วมมือกับคนในท้องถิ่น จะร่วมมือได้ก็ต้องได้รับความไว้วางใจจากเขา ฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง กองกำลังติดอาวุธไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป แม้มีความจำเป็นต้องใช้ในบางกรณีหรือบางระดับ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ความวางใจต่ออำนาจรัฐของประชาชน เช่น อาจเริ่มสร้างชุมชนปลอดภัยไปทีละชุมชน และขยายขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อบีบให้พื้นที่ปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้ามแคบลง

นโยบายพัฒนาเข้ามาเสริมความปลอดภัยได้ แต่ต้องเข้าใจการพัฒนาให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไป เท่าที่ผ่านมาในประเทศไทย การพัฒนาหมายถึงการเปิดให้ทุนเข้ามาทำกำไรกับทรัพยากรและแรงงานราคาถูก แต่การพัฒนาที่แท้จริง หมายถึงการเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ไปปลดเปลื้องเขาจากความสามารถที่เขามีอยู่ แล้วต้อนเขาเข้าสู่โรงงานในฐานะแรงงานไร้ฝีมือ

นโยบายพัฒนาที่พูดถึงกันอยู่บ่อยๆ มานานว่า เป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการแก้ปัญหาภาคใต้ มีความหมายอย่างไรกันแน่ หากหมายถึงเปิดพื้นที่ให้ทุนลงไปพร่าผลาญทรัพยากรและผู้คนอย่างที่ทำกันอยู่ ผมเชื่อว่าสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงไป แต่หากการพัฒนาคือการเพิ่มขีดความสามารถของผู้คน ก็ต้องเริ่มที่ความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับรัฐ และดำเนินการพัฒนาไปตามแนวทางที่ประชาชนเป็นผู้เลือกเอง

(3). ปฏิบัติการทางการทหารยังมีความจำเป็นอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่เท่าที่ผ่านมาดูเหมือนไม่มีการพัฒนายุทธวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ได้แต่ส่งกำลังลงไปตรึงในจุดต่างๆ (จุดเหล่านั้นมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์อย่างไร ผมไม่แน่ใจว่าคนสั่งได้วิเคราะห์จนรู้ชัดแล้วหรือไม่)

ยุทธวิธีที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ไม่ได้มาจากตำรา แต่มาจากการรู้จักปรับเปลี่ยนซึ่งผมเชื่อแน่ว่ากองทัพมีความสามารถที่จะพัฒนาขึ้นได้อย่างแน่นอน ทั้งจากบุคลากรในกองทัพเองและจากบุคคลภายนอก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือกองทัพต้องระดมความรู้ -สภาพการณ์ที่เป็นจริงในสนาม, พฤติกรรมการรบของฝ่ายตรงข้าม, สมรรถนะที่เป็นไปได้ของกองทัพเอง, ฯลฯ - เพื่อทำให้ปฏิบัติการทางการทหารบรรลุเป้าหมาย นั่นคือการก่อเหตุร้ายต่างๆ ทำได้ยากขึ้นและราคาแพงขึ้นแก่ฝ่ายตรงข้าม จนที่สุดสามารถระงับเหตุได้ก่อนการก่อเหตุร้ายจะเริ่มขึ้น

เป็นไปไม่ได้ที่กองทัพจะปล่อยให้กำลังพลต้องสูญเสียไปจำนวนมาก ด้วยการก่อเหตุที่กระทำซ้ำเก่าอย่างเดิมเช่นนี้มาเป็นปีๆ โดยไม่สามารถคิดยุทธวิธีป้องกันได้เลย

อีกด้านหนึ่งคือขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติการ ผมคิดว่าขวัญกำลังใจเกิดขึ้นจากสองปัจจัยสำคัญ

- หนึ่ง. คือต้องฝึกซ้อมยุทธวิธีให้กำลังพลอย่างเข้มข้นจริงจังก่อนจะส่งลงพื้นที่ ความสามารถในการป้องกันชีวิตและความปลอดภัยของตนเองนั้นเป็นสิ่งที่สามารถฝึกซ้อมให้เกิดขึ้นได้มาก แม้ไม่เป็นหลักประกัน 100% ก็ตาม ทหาร (และตำรวจ) ทุกคนต้องมั่นใจในตนเองว่า สามารถดูแลความปลอดภัยของตนเองได้ในระดับสูง

- สอง. นอกจากการฝึกซ้อมแล้ว ยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นและช่วยเพิ่มความปลอดภัยและสมรรถนะต้องจัดให้ได้อย่างเต็มที่ ไม่กี่วันมานี้มีข่าวว่าฝ่ายผู้ก่อการในภาคใต้สวมเสื้อเกราะออกปฏิบัติการ น่าเศร้าที่ทหาร-ตำรวจยังไม่มีเสื้อเกราะใช้ในการปฏิบัติงานครบทุกคน ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงยานพาหนะซึ่งจะช่วยให้การเคลื่อนย้ายกำลังพลในยามฉุกเฉินทำได้อย่างรวดเร็ว

ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจที่จะจัดหาสิ่งเหล่านี้ได้อย่างบริบูรณ์ และจะเป็นผลดีแก่การแก้ปัญหาได้มาก เพราะเพิ่มทั้งสมรรถนะและขวัญกำลังใจแก่กำลังพล ดีกว่าการเตรียมงบประมาณเพื่อจ่ายให้ครอบครัวศพละหลายแสนอย่างที่ทำมานาน

(4). ถึงที่สุดแล้วเป้าหมายคือการแย่งชิงประชาชนกลับมาภักดีต่อรัฐ หรืออย่างน้อยก็ไม่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งดังที่เป็นอยู่

มาตรการสองประการมีความสำคัญที่สุด

- หนึ่ง. คือความยุติธรรมในการบริหาร อย่ามองความยุติธรรมแต่กฎหมายและกระบวนการของกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะแม้ดำเนินตามกระบวนการของกฎหมายก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกฝ่ายบริหารกลั่นแกล้งได้มาก และอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าการบริหารรัฐกิจในประเทศไทยขาดความยุติธรรมอย่างร้ายแรง ข้อเท็จจริงนี้ต้องยอมรับ และกวดขันเป็นพิเศษในพื้นที่ให้เกิดความยุติธรรมในการบริหารอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องยกเว้นความผิดให้ใครทั้งสิ้น แต่อย่าใช้อำนาจกลั่นแกล้ง เพราะรัฐบาลจะลงโทษอย่างเด็ดขาด

ความยุติธรรมหมายถึงความรวดเร็วฉับไวในการปฏิบัติด้วย เพราะความยุติธรรมที่มาช้าคือความอยุติธรรมนี่เอง ฉะนั้นคำสั่งใดๆ ที่ชอบธรรม เช่นการให้ค่าชดเชย, การสั่งให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด, การตรวจสอบสิทธิที่ประชาชนแย้ง, ฯลฯ ต้องกระทำอย่างรวดเร็ว

- สอง. การเปิดประตูให้แก่ผู้กลับใจเสมอ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มผู้ก่อการในครั้งนี้ ได้ดึงเอาประชาชนจำนวนไม่น้อยเข้าไปร่วมด้วย นับตั้งแต่ร่วมปฏิบัติการไปจนถึงร่วมมือห่างๆ เช่นช่วยโปรยเรือใบ, ช่วยผลิตเรือใบ, ช่วยแจกใบปลิว ฯลฯ เราไม่สามารถผลักคนทั้งหมดให้หมดทางกลับมาสู่สังคมได้ ฉะนั้นต้องเปิดประตูไว้ให้แก่การกลับมาของคนเหล่านี้เสมอ บางคนอาจได้ประตูแคบหน่อย บางคนได้กว้างขึ้นมา บางคนเปิดกว้างเลย ต้องยอมรับว่าทั้งหมดนี้เป็นการต่อสู้ทางการเมือง แม้เป็นการต่อสู้ด้วยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม อย่าลืมว่าประเทศไทยได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่นักรัฐประหารและผู้สังหารหมู่ประชาชนมาหลายฉบับแล้ว






Create Date : 12 พฤษภาคม 2550
Last Update : 24 กรกฎาคม 2550 17:55:53 น. 0 comments
Counter : 1119 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.