Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
11 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพี้ยง

วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพี้ยง
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์



บทความนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์
เป็นผลงานของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (ซึ่งตอนที่เขียนบทความนี้ยังเป็น ผู้ว่าการธนาคารชาติ) กล่าวในการประชุม ซึ่งหอการค้าไทยจัดขึ้น ว่า "เศรษฐกิจพอเพียง...เป็นปรัชญามากกว่าวิธีการ" ผมเห็นด้วยเกิน 100% เลยครับ ที่ต้องเกินร้อย ก็เพราะเห็นยิ่งกว่านั้นอีกว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นวัฒนธรรม คือมากกว่าปรัชญาด้วญซ้ำ กล่าวคือ ไม่ใช่แค่แนวคิดที่ตนเลือกปฏิบัติตาม แต่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ต้องมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเอื้อให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเพียงปรัชญาที่ผู้คนเอาไปเขียนไว้บนเสื้อยืด โดยไร้ความหมายในชีวิตจริงตลอดไป

แน่นอนครับว่า มีบางคนที่อาจยึดถือ "ปรัชญา" แบบนี้ แล้วดำเนินชีวิตในเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแข็งขัน ท่ามกลางสังคมทุนนิยม-บริโภคนิยมที่เข้มข้นได้ อย่างเดียวกับที่มีฤษีชีไพร, ฮิปปี้ส์ และเดวิด โธโร ในสังคมอะไรก็ได้เสมอ

แต่การที่เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก (แม้เพียง 25%) ได้ก็ต้องมีสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและสังคมเอื้ออำนวยให้เป็นไปได้ ผมคิดว่ามีโครงสร้างอย่างน้อยสี่อย่างที่เอื้อหรือค่อนข้างจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของเศรษฐกิจพอเพียง คือ

- โครงสร้างทางนิเวศน์
- โครงสร้างทางสังคม
- โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และ
- โครงสร้างทางการเมืองของความพอเพียง

ทั้งหมดนี้ต้องการงานศึกษาอย่างจริงจังและลุ่มลึกทั้งนั้น ผมจึงขอพูดถึงอย่างหยาบๆ เพียงเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของโครงสร้างเหล่านี้กับเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น

ระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ลดต้นทุนการผลิตและให้ผลผลิตบางอย่างที่ไม่ต้องลงทุนเลย เช่น ป่าให้ความชุ่มชื้น และอาหาร ตราบเท่าที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรไม่จำเป็นต้องลงทุนกับเรื่องน้ำมากนัก และยังมีหลักประกันด้านอาหารและยาที่มั่นคงด้วย จึงง่ายที่จะมองเห็นว่ามีข้าวเกินยุ้ง ก็กินได้แค่อิ่มเดียวเหมือนกัน เช่นเดียวกับป่า น้ำดื่มที่สะอาด, ที่อยู่อาศัยซึ่งอากาศถ่ายเทได้ดี, สภาพการทำงานที่ปลอดภัย, เมืองที่ไร้มลภาวะ ฯลฯ ย่อมเอื้อต่อการใช้ชีวิตที่พอเพียงของกรรมกรอย่างแน่นอน

ในด้านโครงสร้างทางสังคมของความพอเพียง เรามักให้ความสำคัญเพียงอย่างเดียวกับสันตุฏฐิธรรม หรือรู้จักพอใจกับสิ่งที่ตัวมี ซึ่งเป็นเรื่องปัจเจก ถ้าจะขยายไปถึงสังคมก็จะเน้นการต่อต้านวัฒนธรรมบริโภคนิยม สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญแน่ครับ แต่ผมคิดว่ายังไม่พอ เพราะถ้ามองจากปัจเจกด้านเดียว ย่อมยากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่อย่างพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงนั้นตั้งอยู่บนฐานของชีวิตทางสังคม ไม่ใช่ปัจเจก ยกเว้นแต่เราทุกคนจะพากันไปบวชในนิกายสยามวงศ์หมด ซึ่งทำให้ไม่เหลือใครไว้ตักบาตรอีกเลย

ทั้งนี้ เพราะว่าในฐานะปุถุชน คนเราคงต้องการความมั่นคงในชีวิตอย่างน้อย 4 ด้านด้วยกัน คือความมั่นคงด้านอาหาร, สุขภาพ, ที่อยู่อาศัย, และความก้าวหน้า (ซึ่งต้องมีความหมายทั้งด้านที่เป็นวัตถุและด้านที่เป็นจิตวิญญาณด้วย ไม่อย่างนั้นก็ต้องตีกันตายเพื่อให้ได้มาซึ่งความก้าวหน้าทางวัตถุอย่างเดียว) แต่ทั้งสี่ด้านนี้อาจบรรลุได้ ไม่ใช่จากการกระทำของตัวคนเดียว แต่รวมถึงการกระทำของสังคมควบคู่ไปด้วย

ผมขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายให้ดูเพียงบางด้าน ในอีสานสมัยโบราณ หากบ้านไหนประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติในบางปี ก็จะออกไปขอทานข้าวจากบ้านอื่นมาประทังชีวิต การกระทำเช่นนี้เป็นไปตามประเพณี กล่าวคือ ผู้ให้ก็ถือเป็นหน้าที่ต้องทาน ผู้รับก็ถือเป็นหน้าที่ว่าต้องทำอย่างเดียวกันเมื่อบ้านอื่นประสบภัยพิบัติเหมือนกัน ฉะนั้น มองในแง่นี้ ความมั่นคงทางอาหารจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความหมั่นเพียรทำกินของครอบครัวเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับเครือข่ายทางสังคมที่ช่วยรองรับวิกฤตได้ในบางปีด้วย

หรือในสังคมที่ไม่มีกฎหมายรองรับความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยเลย ชาวสลัมไม่มีวันนอนเป็นสุข เพราะไม่รู้ว่าจะถูกไล่รื้อเมื่อไร จำเป็นต้องหาช่องทางค้ายาม้าเพื่อเก็บเงินไว้สำหรับหาที่อยู่ใหม่ในคราวจำเป็น. เช่นเดียวกับชาวเขาซึ่งรู้เต็มอกว่าเขตอุทยานซึ่งประกาศทับที่ทำกินของตัว ทำให้ชีวิตหาความมั่นคงอะไรไม่ได้สักอย่าง จะมานั่งพอเพียงอยู่ไม่ได้ มีทางจะดิ้นให้หลุดจากความไม่มั่นคงนี้ด้วยวิธีใด ก็ต้องคว้าเอาไว้ ไม่ว่าจะขายตัว, ขนยาเสพติด, รับตัดไม้เถื่อน ฯลฯ ก็ต้องรับ

อำนาจทางการเมืองก็เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเรามีโครงสร้างทางการเมืองที่กระจุกอำนาจไว้ในคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น การเมืองก็กลายเป็นเรื่องได้-ได้หมด เสีย-เสียหมด เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นสิ่งที่คนเล็กๆ ต้องใช้เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ในขณะที่ถูกปล้นสะดมทรัพยากรที่ตัวมีอยู่หรือเข้าถึงไปทุกวัน ในที่สุดก็ไม่อาจ "พอเพียง" ต่อไปได้ ต้องไปตายดาบหน้าด้วยการแทงหวย, กู้หนี้ยืมสิน, หรือเมาเพราะจน-เครียด และก่ออาชญากรรม

โครงสร้างทางการเมืองที่จะเอื้อต่อเศรษฐกิจพอเพียงจึงต้องทำให้การเมืองเป็นการต่อรอง ยืดหยุ่น มีได้มีเสียกับคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่กลุ่มหนึ่งมีแต่ได้ กลุ่มหนึ่งมีแต่เสียตลอดไป ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางเลือก (ไม่ใช่บังคับเลือก) ที่เป็นไปได้แก่คนที่อยากเลือก

ผมคิดว่าถ้าเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้แก่สังคมไทย ต้องกินความกว้างขวางกว่าปัจเจกหรือครอบครัว กล่าวคือ ต้องมีปัจจัยทางสังคมที่เอื้อให้เป็นได้ด้วย

และตรงปัจจัยทางสังคมนี่แหละครับที่ผมรู้สึกว่าได้รับความใส่ใจจากบุคคลและหน่วยงานที่ส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไม่พอเพียง จนบางครั้งก็พูดกันง่ายๆ ว่าจะใช้เศรษฐกิจพอเพียงคู่ขนานกันไปกับเศรษฐกิจทุนนิยม-เสรีนิยม

ดังเช่นท่านผู้ว่าการธนาคารชาติ ก็บอกว่า การส่งออกจะยังเป็นหัวจักรดึงการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป เพียงแต่ว่าธุรกิจเอกชน (เหมือนครอบครัวและรัฐบาล) คือไม่ใช้จ่ายเกินตัวด้วยการขยายกำลังการผลิตเกินขีดความสามารถของตัว

ความรู้ของผมไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่า เราสามารถแยกวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงออกไปต่างหากจากระบบเศรษฐกิจโดยรวม, การเมืองโดยรวม, สังคมโดยรวม ฯลฯ หรือเอามันมาคู่ขนานกันเป็นสองระบบได้จริงหรือไม่ ไม่ใช่ความรู้ของผมไม่พอคนเดียวนะครับ แต่ผมสงสัยว่าความรู้ของคนพูดแบบนั้นก็ไม่พอด้วย เพราะเราเอาแต่พูดพอเพียง-พอเพี้ยง โดยไม่ศึกษาความเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ให้ดี

ฉะนั้น ทุกครั้งที่ใครพูดคำว่าพอเพียงทีไร หูผมผ่าไปได้ยินพอเพี้ยงทีนั้น เหมือนจะเสกให้สังคมเป็นโน่นเป็นนี่ได้ด้วยการเอ่ยวาจาสิทธิ์คำเดียว อย่างเช่น หากบริษัทเอกชนไม่ขยายกำลังการผลิตเกินขีดความสามารถนั้นเป็นความพอเพียงจริงหรือ? นั่นเป็นคำสอนพื้นฐานของการบริหารธุรกิจอยู่แล้วไม่ใช่หรือครับ แต่ก็เหมือนคำสอนพื้นฐานทั่วไป คือถูกทุกทีจนใช้จริงในทางปฏิบัติไม่ได้

เนื่องจาก "ขีดความสามารถ" จะมีแค่ไหนนั้น ไม่ได้มีเส้นแดงขีดไว้ให้ แต่ต้องมาจากการวิเคราะห์ปัจจัยหลายอย่าง และขึ้นชื่อว่าวิเคราะห์แล้ว อย่ามาพูดเลยครับว่ามีใครทำได้อย่างเป็นภววิสัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ตัวเลขและความสัมพันธ์ของตัวเลขต่างๆ นั้นจะมีความหมายอย่างไร ผู้วิเคราะห์เป็นคนให้ทั้งนั้น ความโลภของผู้วิเคราะห์ก็อาจให้น้ำหนักแก่ความต้องการสินค้านั้นๆ ในตลาดไว้เกินกว่าความเป็นไปได้ จึงตัดสินใจขยายการผลิต

ในทางตรงกันข้าม ความขี้ขลาดของผู้วิเคราะห์ก็อาจให้ความสำคัญแก่ความต้องการของตลาดน้อยเกินไป จนตัดสินใจไม่ยอมกู้เงินเขามาขยายการผลิต ปรากฏว่าน้ำขึ้นเต็มตลิ่ง แต่บริษัทตักไม่ทัน จากบริษัทยักษ์ใหญ่กลายเป็นบริษัทคนแคระไปในพริบตา อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงนะครับ

เพราะการวิเคราะห์ขีดความสามารถของบริษัทในเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ใช่มาดูตัวเองเพียงคนเดียว แต่ต้องดูสังคมโดยรวม และว่าที่จริง ดูไปถึงดาวเคราะห์โลกทั้งใบเลย เพราะการผลิตอะไรก็ล้วนต้องอาศัยฐานทรัพยากรทั้งนั้น ขีดความสามารถในการผลิตจึงต้องเกี่ยวกับว่า การใช้ทรัพยากรนั้นๆ แล้วจะไปกระทบต่อคนอื่น ชีวิตอื่นอย่างไร ถ้าเพิ่มการใช้เข้าไปอีกจะกระทบอย่างไร ไม่ว่าทรัพยากรนั้นจะเป็นธรรมชาติหรือเป็นคนก็ตาม

อยู่ๆ คิดจะขุดแร่โพแทสใต้ดินมาใช้ก็เห็นมันนอนอยู่เฉยๆ ไม่มีใครใช้ ฉันจึงขอใช้โดยไม่ต้องคำนึงว่า แล้วกระบวนการนั้นจะไปกระทบต่อคนอื่นและชีวิตอื่นอย่างไร จะเรียกว่าวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร แม้ว่าบริษัทอาจไม่ได้ overexpand หรือขยายการผลิตเกินขีดความสามารถเลยก็ตาม

ฐานทรัพยากรคือฐานชีวิตของคนและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดนะครับ คุณทำลายมันแล้วดูแต่ว่าบริษัทไม่เจ๊งแน่ จึงไม่ใช่วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงแน่ เพราะอะไรหรือครับ? ก็เพราะว่าหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงคือการคิดถึงคนอื่น, สัตว์อื่น, และอะไรอื่นๆ ทั้งหลายนอกตัวเราออกไป รวมทั้งการคิดถึงพระเจ้าหรือพระนิพพานก็เป็นฐานสำคัญของวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน

แม้แต่เห็นด้วยกับผม ทั้งหมดที่ผมพูดถึงตรงนี้ก็เป็นแค่ฝอยน้ำลาย เพราะเอาไปปฏิบัติจริงไม่ได้ เช่น หากมีบริษัทใดที่คิดถึงฐานทรัพยากรในการวิเคราะห์ขีดความสามารถของตัว ปัญหาแรกที่ต้องเผชิญก็คือ จะไปหานักวิเคราะห์ดังกล่าวที่ไหน ด๊อกเตอร์ด๊อกตีนจากเมืองอเมริกาทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครเขาสอนให้คิดแบบนี้ มหาวิทยาลัยไทยก็ไม่ได้ผลิตบัณฑิตถึงดุษฎีบัณฑิตแบบนี้เหมือนกัน ฉะนั้น เราจึงไม่มีข้อมูลอะไรในมือพอที่จะเอาไปวิเคราะห์ได้ นั่งเก็บข้อมูลเดี๋ยวนี้ บริษัทก็เจ๊งเสียก่อนที่จะตัดสินใจได้

วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงจึงไปเกี่ยวกับอะไรที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวเลย คือการศึกษา ไม่ใช่สอนให้รู้จักความสันโดษอย่างเดียวนะครับ ยังต้องสอนทักษะในการสร้างความรู้ที่จะเอื้อต่อเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ผมจึงเชื่อว่า ตราบเท่าที่เราไม่มองให้รอบด้านอย่างนี้ วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นเพียงเศรษฐกิจพอเพี้ยงอยู่ตราบนั้น

มีประโยชน์สำหรับเป็นไม้กระดานสร้างเวทีหาเสียง ซึ่งก็ต้องรื้อลงเมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จเสมอไป




Create Date : 11 เมษายน 2550
Last Update : 11 เมษายน 2550 11:55:58 น. 0 comments
Counter : 1648 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.