Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
24 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 

วิทยาศาสตร์ หรือ ศาสนา

ความน่าจะเป็นฯ
วินทร์ เลียววาริณ + ปราบดา หยุ่น





วินทร์ ถึง ปราบดา

25 เมษายน 2550

ช่วงหลายอาทิตย์นี้มีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ มีหลายองค์กรแสดงเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ว่า สมควรที่จะกำหนดให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย

ที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็เพราะว่า ในช่วงเวลาไล่ๆ กันนี้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หญิงวัยกลางคนผู้หนึ่งถูกเหยียบตายขณะกำลังขอใบจองวัตถุมงคลที่เรียกว่า จตุคามรามเทพ

มาถึงวันนี้ คนที่ไม่อ่านข่าวชาวบ้านอย่างผมก็รู้จนได้ว่า อะไรคือจตุคามรามเทพ แม้ว่าจะไม่รู้สึกแปลกใจเลยแม้แต่นิดเดียวที่วัตถุมงคลใหม่เป็นที่ต้องการมากขนาดนี้ในเวลาแทบชั่วข้ามคืน

หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่งรายงานว่า ผู้อำนวยการองค์กรทางพุทธศาสนาแห่งหนึ่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราชบอกว่า “เราไม่สามารถหยุดยั้งการผลิตจตุคามรามเทพ และก็ต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดนี้เบ่งบานไปทั่ว”

ครับ เศรษฐกิจในจังหวัดนี้เบ่งบานไปทั่วจริงๆ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์โรงแรมทั้งหลายถูกจองเต็มหมด นักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลแห่ไปที่นครศรีธรรมราชเพื่อสักการะรูปปั้นจตุคามรามเทพที่วัดแห่งหนึ่ง ขณะที่นักสร้างวัตถุมงคลทั่วประเทศก็ขับจองพื้นที่วัดเพื่อใช้ในการปลุกเสก จนคิวยาวเหยียดไปจนถึงสิ้นปี นับถึงวันนี้มีจตุคามรามเทพมากกว่า 400 รุ่น และที่กำลังผลิตอีกราวสองร้อยรุ่น มิพักเอ่ยถึงธุรกิจอื่นๆ ที่ขอ ‘เล่นด้วยคน’

คำถามของผมไม่ใช่ “เกิดอะไรขึ้น?” แต่เป็นว่า หากนี่คือ ‘พุทธศาสนา’ ที่หลายคนต้องการให้กำหนดเป็นศาสนาประจำชาติ เราอาจต้องถอยกลับมาตั้งหลักและคิดดูใหม่หรือไม่? อย่างน้อยก็ควรตั้งคำถามก่อนว่า ‘พุทธศาสนา’ ที่ว่านี้คือ ‘พุทธศาสนา’ จริงๆ หรือไม่ ใช่พุทธแบบที่พระพุทธองค์ตรัสสอน (พระพุทธองค์ตรัสให้เราคิดก่อนเชื่อ และไม่สักการะวัตถุมงคลใดๆ) หรือว่าพุทธแบบเหยียบกันตายเพื่อจองวัตถุมงคลไว้บูชา?

ผมยังมองโลกในแง่ดีว่า แม้ว่าคนที่เรียกร้องให้พุทธเป็นศาสนาประจำชาติให้ความสำคัญความเชื่อทางศาสนามากกว่าเสรีภาพของมนุษย์ แต่ก็เชื่อว่าพวกเขามีความหวังดีต่อชาติ อยากให้ประเทศของเราที่กำลังจมปลักสกปรกทางจิตวิญญาณสะอาดขึ้นอีกครั้ง แต่เจตนาดีเป็นคนละเรื่องกับเสรีภาพครับ

หากเราเปรียบเทียบประเทศเป็นบ้าน รัฐธรรมนูญก็เป็นเจตนารมณ์ของเจ้าของบ้านในการที่จะสร้าง ‘บ้าน’ ที่ทุกคนอยู่ได้อย่างสันติ จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องกำหนดในเจตนารมณ์ว่าจะต้องสร้างบ้าน ‘ทรงไทย’ หรือ ‘ทรงอินเดีย’ เสรีภาพของมนุษย์ควรอยู่เหนือความเชื่อทางศาสนาหรือไม่?




เมื่อคืนนี้ผมเพิ่งอ่านหนังสือเรื่อง The God Delusion (อาจแปลว่า ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับพระเจ้า) ของ ริชาร์ด ดอว์กินส์ จบ หลังจากอ่านมานานราวสองสัปดาห์ เป็นหนังสือย่อยยากเล่มหนึ่ง และก็เป็นหนังสือที่ชวนถูกตีหัวเล่มหนึ่ง

ริชาร์ด ดอว์กินส์ เป็นนักสัตววิทยาที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ และศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ดอว์กินส์ผู้นี้ศึกษาเรื่องหลักวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน มานาน

ใครๆ ก็รู้จุดยืนของดอว์กินส์ในเรื่องศาสนา นั่นคือเขาเป็น atheist (คนที่ไม่มีศาสนา หรือไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า) เชื่อว่าปราบดาก็คงผ่านตาชื่อนี้มาก่อน ดอว์กินส์เขียนบอกไว้ในคำนำเลยว่า นี่เป็นหนังสือที่เขาหวังว่าคนที่มีศาสนาอ่านแล้วจะเปลี่ยนใจเป็นคนที่ไม่มีศาสนา แต่อย่าเพิ่งประนามหรือต่อต้าน เพราะการที่ใครคนหนึ่งเอ่ยปากบอกว่าตัวเองไม่มีศาสนา ไม่ว่าจะเป็น atheist หรือ free thinker มักถูกเข้าใจผิดไว้ก่อน ในความเห็นของเขา ศาสนานั้นฝังรากลึกในสังคมมนุษย์จนเมื่อบอกว่า “ไม่มีศาสนา” ก็แปลว่า “ไม่มีศีลธรรม”

ดอว์กินส์บอกว่าเขาถูกโจมตีเสมอในเรื่องนี้ บางคนก็ยกตัวอย่างคนไร้ศาสนาอย่างฮิตเลอร์และสตาลินมาเปรียบ

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ฮิตเลอร์เกิดในครอบครัวของแคธอลิค (ความเชื่อที่ห้ามแม้แต่การคุมกำเนิด!)

จุดที่เขาพยายามจะชี้คือ คำว่า ‘ไม่มีศาสนา’ กับ ‘ไม่มีศีลธรรม’ เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง

คนไม่มีศาสนาสามารถเป็นคนดีได้ เช่นกัน คนมีศาสนาก็ยังสามารถทำเรื่องชั่วร้ายได้ และความจริงก็คือความชั่วร้ายส่วนใหญ่ในโลกตั้งแต่เริ่มบทแรกของอารยธรรมมนุษย์มาล้วนเกิดมาจากคำว่า ‘ศาสนา’ ถ้าไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการทำสงคราม ก็ผูกศาสนาเข้ากับลัทธิชาตินิยม หรือการสั่งสอนว่า สงครามศาสนาคือสงครามศักดิ์สิทธิ์

ดอว์กินส์ยกตัวอย่างความรุนแรงที่เกิดจากความเชื่อแบบนี้ เชื่อไหมว่าใน พ.ศ. นี้ หลายประเทศในโลกยังมีโทษประหารชีวิต ‘มารศาสนา’ :

ในวันที่ 3 กันยายน 2535 นายซาดิค อับดุล การิม มัลลาลาห์ ถูกตัดหัวกลางที่สาธารณะข้อหาเป็นคนนอกศาสนา

ในวันที่ 18 สิงหาคม 2544 ที่ปากีสถาน ดร ยุนิส ชาอิค ถูกประหารชีวิตเนื่องจากบอกนักศึกษาว่า พระมูหมัดไม่ได้เป็นมุสลิมก่อนที่พระองค์ตั้งศาสนาอิสลามในวัยสี่สิบ น่าเศร้าตรงที่เขาไม่ได้ฆ่าใคร ไม่ได้ทำร้ายใคร เขาเพียงแต่สอนศาสนาในมุมมองของประวัติศาสตร์เท่านั้น

และในปีที่แล้วนี่เอง นายอับดุล ราห์มาน ถูกสั่งประหารชีวิตโทษฐานที่แปลงศาสนาเป็นคริสเตียน เขาไม่ได้ฆ่าใคร ไม่ได้ทำร้ายใคร เขาเพียงแต่เปลี่ยนความเชื่อของเขาเท่านั้น โชคดีที่แรงกดดันจากนานาชาติหนักหน่วงพอที่ทำให้เขารอดชีวิตและลี้ภัยไปอิตาลี (ที่ซึ่งเขาคงต้องระวังตัวจากการถูกตามล้างเหมือนกับกรณีนักเขียน ซาลมัน รัชดี)

หากคิดว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศตะวันออกกลาง ก็คิดใหม่ได้ ที่ประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2465 จอห์น วิลเลียม ก็อตต์ ถูกจำคุกและใช้แรงงานหนักข้อหาเปรียบเทียบพระเยซูเป็นตัวตลก และสองปีก่อน กลุ่มคริสเตียนกลุ่มหนึ่งก็พยายามฟ้องร้องศาลให้จัดการนักข่าวบีบีซีคนหนึ่งข้อหานอกศาสนา

เว็บไซต์หนึ่งของอเมริกันชื่อ The American Taliban มีการตั้งรางวัลและใช้ประโยคว่า “...เราควรบุกยึดประเทศเหล่านั้น ฆ่าผู้นำของพวกแม่งมัน และจับพวกมันเข้ารีตเป็นคริสต์ให้หมด”

พูดง่ายๆ ก็คือ การหมกมุ่นกับเปลือกของศาสนามากเกินไปก็ไม่ต่างจากพวกสุดโต่งทางศาสนาอื่นๆ (fundamentalist) นั่นคือคิดว่าความเชื่อของตัวเองดีที่สุด และเป็นทางเดียวที่จะกู้โลก




ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลายองค์กรรวมเอาความ ‘นอกศาสนา’ เข้ากับพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ เช่น โฮโมเซ็กชวล
ในประเทศอัฟกานิสถานยุคตาลิบัน โทษของโฮโมเซ็กชวลคือประหารชีวิตโดยการฝังทั้งเป็น แต่หากจะบอกว่าพวกตะวันออกกลางป่าเถื่อน พวกฝรั่งตะวันตกก็ไม่น้อยใครในเรื่องนี้ ตะวันออกกลางอาจมีพวกตาลิบัน แต่ตะวันตกก็มี ‘ตาลิบัน’ เช่นกัน

แพ็ต รอเบิร์ตสัน ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี พ.ศ. 2531 ผู้มีพื้นฐานของศาสนาหัวรุนแรงโยงความเป็นโฮโมเซ็กชวลเข้ากับความเป็นนอกศาสนา เช่นเดียวกับผู้นำศาสนาบางกลุ่มในอเมริกาที่บอกว่า หากคริสเตียนเป็นเสียงส่วนใหญ่ของการเลือกตั้ง พวกโฮโมเซ็กชวลจะไม่ต้องมีสิทธิ์มีเสียงใดๆ

แพ็ต รอเบิร์ตสัน คนเดียวกันนี้แสดงความเห็นต่อพวกผู้หญิงที่ถูกกดขี่ภายใต้รัฐตาลิบัน อัฟกานิสถาน ว่า “ผมรู้ว่ามันเจ็บปวดสำหรับผู้หญิงที่จะฟัง แต่ถ้าคุณแต่งงาน คุณก็ต้องยอมรับการนำทางของสามี พระเยซูเป็นหัวหน้าของครอบครัว และสามีเป็นหัวหน้าของภรรยา มันเป็นอย่างนี้แหละ จบแค่นี้นะ ไม่ต้องพูดต่อ”

ใครบอกว่าพวกฝรั่งใจกว้างในเรื่องเพศ? เพียงไม่กี่ทศวรรษก่อน โฮโมเซ็กชวลมิเพียงเป็นคำต้องห้าม ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย!

ในปี พ.ศ. 2497 อลัน ทูริง นักคณิตศาสตร์อังกฤษซึ่งจัดว่าเป็นหนึ่งบิดาของคอมพิวเตอร์ศาสตร์ถูกตัดสินว่ามีความผิดจากการมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ

อลัน ทูริง ผู้นี้ไม่ใช่ใครอื่นไกล ในช่วงสงครามเขาเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการเจาะเครื่องรหัสอีนิคมาของเยอรมนี สิ่งที่เขาทำเพื่อชาตินั้นสูงส่งมาก เพราะทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้แผนของเยอรมนีล่วงหน้า และชนะสงครามในที่สุด แต่รางวัลที่ทางการอังกฤษมอบให้เขาคือข้อเสนอทางเลือกให้เข้าคุกสองปี หรือฉีดฮอร์โมนเพื่อให้เขาหมดความเป็นโฮโมฯ สารเคมีตัวนี้จะทำให้เขามีหน้าอกเช่นสตรี

ทูริงเลือกทางที่สาม คือกินแอ๊ปเปิ้ลที่เขาฉีดไซยาไนด์เข้าไป

รอเบิร์ต เอ็ม. เพอร์ซิก เขียนไว้ในหนังสือ Zen and the Art of Motorcycle Maintenance ว่า “When one person suffers from a delusion, it is called insanity. When many people suffer from a delusion, it is called Religion.”

คนเขียนอาจตั้งใจให้ ‘ขำขำ’ แต่ผมอ่านแล้วไม่ขำ

ความเกลียดชังของมนุษย์นั้นน่ากลัว และน่ากลัวกว่าเดิมหลายเท่าเมื่อรวมความเชื่อทางศาสนาและชาตินิยมเข้าไปด้วย คนเหล่านี้เชื่อมั่นว่าพวกเขาถูกต้อง และเชื่ออย่างยิ่งว่าพวกเขากำลังทำคุณความดีเพื่อชาติและมนุษยชาติ

ประวัติศาสตร์ของโลกเราไม่เคยขาดแคลนสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นเพราะความเชื่อทางศาสนา มันอันตรายกว่าการก่อการร้ายแบบพลีชีพที่เกิดจากชาตินิยม เช่น หน่วยกามิกาเซ่ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง การก่อการร้ายโดยใช้ระเบิดพลีชีพที่เกิดขึ้นทุกวันในอิรัก และอีกหลายมุมโลก ล้วนเป็นความพยายามของการใช้ความเชื่อทางศาสนาเป็นเครื่องมือ

ไม่มีอะไรมืดมนไปกว่าความมืดบอดทางปัญญาของคน และน่าเศร้าที่ความมืดบอดทางปัญญานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนที่ไร้การศึกษาด้วย

ดอว์กินส์ยกตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์สาขา Geology คนหนึ่ง : เคิร์ท ไวซ์ ผู้เรียนจบสามปริญญาจากชิคาโกและฮาร์วาร์ด เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีอนาคตก้าวไกล สิ่งที่เขาเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยชั้นนำขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาของเขาโดยสิ้นเชิง นั่นคือโลกเรามีอายุไม่ถึงหนึ่งหมื่นปีตามที่แสดงไว้ในคัมภีร์ไบเบิ้ล

วันหนึ่ง เคิร์ท ไวซ์ หยิบไบเบิ้ลขึ้นมา ใช้กรรไกรตัดข้อความในคัมภีร์ที่ขัดแย้งกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ออก ปรากฏว่าเหลือคัมภีร์บางนิดเดียว

เคิร์ท ไวซ์ เขียนว่า “...ข้าพเจ้าต้องตัดสินใจเลือกระหว่างหลักวิวัฒนาการกับพระคัมภีร์ ถ้าพระคัมภีร์ถูก หลักวิวัฒนาการก็ผิด หรือหากหลักวิวัฒนาการถูก และข้าพเจ้าต้องทิ้งพระคัมภีร์ คืนนั้นเองที่ข้าพเจ้ายอมรับในพจนาแห่งพระเจ้าและละทิ้งสิ่งอื่นๆ ซึ่งขัดขวาง รวมถึงหลักวิวัฒนาการด้วย ด้วยความโศกเศร้า ข้าพเจ้าโยนทิ้งความฝันและความหวังทางวิทยาศาสตร์ทั้งมวลในกองไฟ...”

ดอว์กินส์บอกว่า ไวซ์เป็นพวกสุดกู่ที่ซื่อสัตย์อย่างไม่น่าเชื่อ ความจริงเขาอาจเลี่ยงการเลือกข้างโดยการตีความพระคัมภีร์อย่างที่คนจำนวนมากนิยม นั่นคือตีความในเชิงสัญลักษณ์

ดอว์กินส์ชี้ว่า หากศาสนาสามารถส่งอิทธิพลต่อนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการศึกษาระดับฮาร์วาร์ดถึงขนาดนี้ ลองคิดดูว่าคนที่ด้อยการศึกษากว่าเขาและมีเครื่องมือน้อยกว่าเขาจะเป็นอย่างไร




หลังจากหนังสือ The God Delusion เป็นเบสท์เซลเลอร์นิวยอร์กไทม์นานสิบสี่สัปดาห์ นิตยสารไทม์เมื่อต้นปีนี้ (มกราคม 2007) จับ ริชาร์ด ดอว์กินส์ ไปโต้วาทีกับ ฟรานซิส คอลลินส์ ในบทสัมภาษณ์-วิวาทะชื่อ God vs. Science

ฟรานซิส คอลลินส์ คนนี้เป็นผู้อำนวยการ U.S. National Human Genome Research Institute เป็นคนนำขบวนนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ 2,400 คนทำแผนที่จีโนมมนุษย์เมื่อหลายปีก่อน ที่น่าสนใจก็คือ ต่างจากนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ ในวัย 27 คอลลินส์เปลี่ยนตัวเองจากคนไร้ศาสนาเป็นคริสเตียน

คอลลินส์เชื่อว่าพระเจ้าอยู่เหนือธรรมชาติ และอวกาศ-เวลา ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ไปตรวจวัด พระเจ้าอาจเป็นผู้ก่อกำเนิดหลักวิวัฒนาการ และปล่อยให้ระบบนี้ทำงานของมันไป

ดอว์กินส์แย้งว่า งั้นก็ประหลาด เพราะทำไมพระเจ้าต้องรอเวลานานเป็นหมื่นล้านปีเพื่อให้ชีวิตสามารถเริ่มต้นได้ และอีกสี่พันล้านปีเพื่อให้เกิดมนุษย์ฉลาดพอที่จะบูชาพระเจ้า

คอลลินส์โต้กลับว่า ใครจะบอกได้เล่าว่านั่นเป็นเรื่องประหลาด มันอาจเป็นวิถีทางของมันอย่างนั้นก็ได้

บทสัมภาษณ์ยาวกว่านี้มาก อ่านแล้วก็อยากให้บ้านเรามีการนำผู้นำความเชื่อด้านต่างๆ (รวมทั้งจตุคามรามเทพ ฮวงจุ้ย หมอดู) มาชน เอ้ย! สนทนากับนักวิทยาศาสตร์กันบ้าง เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญาให้ประชาชน แต่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ข้อมูลข่าวสารด้านเดียว

ท่อนหนึ่งของเพลงชื่อ Imagine จอห์น เลนนอน เขียนว่า

“...Imagine there’s no countries

It isn’t hard to do

Nothing to kill or die for

And no religion too…”

จอห์น เลนนอน อาจหัวเราะไม่ออกหากรู้ว่ามีคนดัดแปลงเพลงของเขาเป็น

“And ONE religion too…”

เมื่อมองปรากฏการณ์จตุคามรามเทพอย่างพิจารณา บางทีสิ่งแรกสุดที่ชาวพุทธที่แท้ควรทำก็คือการสังคายนาพุทธให้เป็นพุทธ วัดให้เป็นวัด พระให้เป็นพระ เจ้าอาวาสให้เป็นเจ้าอาวาส

เพียงเพราะค่านิยม ‘ก่อนตายขอให้เห็นชายผ้าเหลืองของลูก’ ทำให้การบวชเป็นพระนั้นง่ายเกินไป ง่ายจนทำให้เรามีเหลือบศาสนาจำนวนมาก

หรือบางทีเราควรจะกำหนดให้มีการสอบ ‘โอ เน็ต’ เข้าอาณาจักรสงฆ์ดีไหม?

เมื่อคนมีคุณภาพ พระมีคุณภาพ ศาสนามีหรือจะตกต่ำจนต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ

บางทีในใบสมัคร ใบแบบฟอร์มต่างๆ ควรจะตัดช่องศาสนาออกไปอย่างถาวร มันไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย ศาสนาจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อในจิตใจมีศีลธรรม ความเมตตา และความใจกว้างต่อความเชื่อของผู้อื่น

คำว่า ‘ศาสนา’ น่าจะลึกซึ้งกว่า ‘ยี่ห้อ’ ของความเชื่อ และเปลือกของการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อนั้นๆ

ข่าวหนังสือพิมพ์ทุกยุคทุกสมัยรายงานว่าคนระดับผู้นำนิยมใช้นักโหราศาสตร์เป็นที่ปรึกษา บางรัฐบาลพึ่งหมอดู บางรัฐบาลพึ่งหมอผี ซินแสฮวงจุ้ย ฯลฯ

น่าจะตั้งกระทรวงหมอผีแห่งชาติไปเสียเลยจะดีกว่า

ไม่ได้ประชดนะครับ พูดจริง ไหนๆ เราก็อยู่ในร่มเงาของศาสนาผีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

..............................

ปราบดา ตอบ วินทร์

๓๐ เมษายน ๒๕๕๐

หลายเดือนก่อนผมได้อ่านบทความเกี่ยวกับหนังสือชื่อ The God Delusion ของคุณริชาร์ด ดอว์กินส์ ที่คุณวินทร์พูดถึง บทความชิ้นนั้นเขียนโดยแมรี มิดกเลย์ (Mary Midgley) นักปรัชญาหญิงชาวอังกฤษ วัยเกือบเก้าสิบปีแล้ว ผู้เคยต่อล้อต่อเถียงกับคุณดอว์กินส์เรื่องศาสนากับวิทยาศาสตร์มาก่อน คุณยายแมรีให้ความเห็นไว้น่าสนใจ เธอบอกว่าเธอเห็นด้วยกับดอว์กินส์ที่มองความคลั่งไคล้ศาสนาแบบรุนแรงและสุดโต่งเป็นเรื่องน่าวิตกกังวล ถึงขั้นเป็นพิษเป็นภัยต่อมนุษยชาติ แต่นั่นเป็นเพียงด้านลบส่วนหนึ่งของการนับถือศาสนา กระทั่งวิทยาศาสตร์เองก็มีด้านลบ คุณยายแมรีบอกว่า แทนที่เราจะต่อต้านและพยายามกำจัดความคลั่งทางศาสนา อย่างที่ดอว์กินส์ต้องการ เราควรหาทางทำความ “เข้าใจ” ในปรากฏการณ์นั้นให้ดีขึ้นมากกว่า

คุณยายแมรีคิดว่าคุณดอว์กินส์เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์เสียจนไม่อาจยอมรับว่าแหล่งความรู้อาจมีอยู่ในสิ่งอื่นๆด้วยเช่นกัน ดูเหมือนเขาจะลืมไปว่าความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์แบบที่เขามี ไม่ใช่มาตรฐานเดียวกับคนส่วนใหญ่ในโลก การตัดสินใจหรือพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ได้เป็นระบบขั้นตอนแบ่งแยกอย่างหมดจดว่าอะไรเป็น “วิทยาศาสตร์” อะไรเป็นเพียง “ความเชื่อ” หรือความเคยชิน ชีวิตของเรามีหลายรายละเอียดผสมปนเปกันเสมอ และสำหรับหลายๆคนในหลายๆสังคม ศาสนาคือสิ่งเดียวที่ช่วยให้ชีวิตของพวกเขามีความหมาย

ผมเองเข้าใจในความพยายามและจุดยืนของคุณดอว์กินส์ แต่ผมเห็นด้วยกับคุณยายแมรีมากกว่า ผมคิดว่าการโยนความผิดและความเลวร้ายทุกอย่างให้กับศาสนาเป็นความคิดแบบตื้นเขินไปสักหน่อย แม้ว่าผมจะรู้สึกร่วมกับคุณดอว์กินส์ในหลายๆเรื่อง ผมยังมั่นใจว่าเราไม่สามารถใช้มาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่งตัดสินมนุษย์ทุกคนในโลก เราไม่สามารถสั่งหรือบังคับให้คนเลิกนับถือศาสนาแล้วหันมาบูชาวิทยาศาสตร์ เราไม่อาจยัดเยียดให้คนอื่นคิดหรือเชื่อแบบเราเพียงเพราะเราคิดว่าเราถูกต้องที่สุด เหมือนที่เราไม่ชอบให้ผู้นับถือศาสนาแบบบ้าคลั่งมาเกลี้ยกล่อมให้เราคล้อยตาม เราก็ไม่ควรนำความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ของเราไปยัดเยียดกับใครด้วยเช่นกัน

ผมไม่คิดว่าการเลือกที่จะนับถือศาสนาหรือยึดมั่นในวิทยาศาสตร์ เป็นประเด็นสำคัญเท่าไรนักในการดำเนินชีวิตด้วยซ้ำ ที่สำคัญกว่านั้น คือทำอย่างไรให้คนเราอยู่อย่าง “แตกต่าง” ได้ด้วยความสามัคคี การที่โลกนี้มีแต่ความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ จะทำให้สังคมมนุษย์เจริญขึ้นและสงบลงจริงหรือ ผมไม่เชื่อ ทุกวันนี้ความโหดร้ายของความเป็นมนุษย์ไม่ได้เกิดจากศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ แม้บางครั้งบนผิวเปลือกจะดูเหมือนอย่างนั้น แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นจากนิสัยใจคอด้านร้ายๆของคน เกิดจากความเห็นแก่ตัว ความละโมบ และความไร้ยางอาย เกิดจากการมีกิเลสไม่หยุดหย่อนและการเห็นตนเองเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล ทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้นับถือศาสนาและนักวิทยาศาสตร์อย่างเท่าเทียมกัน

จะว่าไป นักวิทยาศาสตร์กับผู้นับถือศาสนา โดยเฉพาะผู้นับถือในพระเจ้า ไม่มีทางจะมานั่งถกเถียงกันได้เลยด้วยซ้ำ เพราะพวกเขามาจากพื้นฐานความคิดคนละขั้ว วิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบทุกคำถามด้วยหลักฐาน ในขณะที่ศาสนามีคำตอบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นคำตอบที่น่าฟังหรือน่าขำก็ตาม ถ้าผมพูดว่า “เพราะพระเจ้าต้องการให้เป็นเช่นนี้” ใครจะมาหักล้างคำพูดของผมด้วยเหตุผลได้ ถ้านักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าโลกของเราเกิดจากปรากฏการณ์ Big Bang ผมอาจจะถามกลับไปว่า “แล้วรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าไม่ได้เป็นผู้ทำให้เกิดบิ๊กแบง” (และถ้าผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมก็อาจจะกวนตีนกลับว่า “โอเค ถ้าพระเจ้ามีจริง ใครเป็นผู้สร้างพระเจ้าขึ้นมา และอะไรสร้างผู้สร้างพระเจ้า...”) ไม่มีทางที่การถกเถียงเช่นนี้จะเปลี่ยนใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีใคร “รู้” อย่างแท้จริง ใครเล่าจะสามารถตอบได้ว่า “ทำไมจึงต้องมีจักรวาล มีโลก มีสิ่งมีชีวิต มีมนุษย์” ต่อให้นับถือศาสนาที่มีตำนานเล่าขานและให้เหตุผลต่างๆนานาเกี่ยวกับการสร้างโลก ก็ไม่มีใครเคยบอกว่า “ทำไม” ทำไมพระเจ้าจึงต้องสร้างโลก และทำไมท่านจึงสร้างโลกที่ซับซ้อนขนาดนี้ ทำไมไม่สร้างโลกแบบย่อยง่ายๆ เหมือนหนังฮอลลีวูด พระเจ้านี่ช่างเป็น “ศิลปิน” เสียจริง ชอบทำอะไรอาร์ตๆ

ความจริงผมเป็นคนชอบคิดเรื่องทำนองนี้นะครับ รำคาญตัวเองเหมือนกัน เพราะมันเป็นการคิดแบบไม่สามารถหาบทสรุปได้ แถมยังทำให้นอนไม่ค่อยหลับในบางคืน ในที่สุดผมไม่เห็นว่าความเชื่อแบบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีผลอะไรมากนัก หากคนคนหนึ่งมีชีวิตที่ดีและสมบูรณ์ มีความสุขกับตัวเองและสามารถแบ่งปันความสุขให้คนอื่นได้บ้าง ไม่ว่าจะเชื่อในวิทยาศาสตร์หรือนับถือศาสนา เมื่อเขาหรือเธอตายจากไปก็น่าจะกล่าวได้ว่าคนคนนั้นสร้างประโยชน์เล็กๆไว้กับโลกเหมือนกัน

สิ่งที่ทำให้ความรู้ความเข้าใจทั้งสองแบบไม่มีบทสรุปที่แน่ชัด ก็คือข้อจำกัดของความเป็นมนุษย์นี่เอง สมองของเราเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนและมีอิทธิพลต่อความเป็นไปในชีวิตอย่างมาก อาจจะมากที่สุดในบรรดาปัจจัยทั้งหมดก็ว่าได้ นักวิทยาศาสตร์มั่นใจได้อย่างไรว่าความรู้ความเข้าใจของพวกเขาถูกต้องและ “เป็นจริง” ทั้งหมด หากทุกอย่างเป็นการตรึกตรองทบทวนโดยอวัยวะที่อาจมีขีดจำกัดทางความเข้าใจ นักวิทยาศาสตร์เองก็รู้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เราเห็นและรู้สึกล้วนเป็นเพียงปฏิกิริยา “เทียม” ที่ถูกจัดการและบริหารโดยสมอง โลก “ภายนอก” จริงๆเป็นอย่างที่เราเห็นและเข้าใจหรือไม่ ไม่มีใครรู้ ในเมื่อสัตว์ต่างชนิดยังมีประสบการณ์ต่อโลกแตกต่างกันไป เราจะทึกทักว่าเราคือสัตว์ประเภทที่ “เห็นจริง” ที่สุดอย่างนั้นหรือ ตราบใดที่เราเป็นมนุษย์ เราย่อมตกอยู่ในข้อจำกัดเดียวกัน

ผมเคยอ่านบทกวีบทหนึ่งที่พูดถึงชีวิตสั้นๆของแมลงบางชนิด สัตว์บางประเภทไม่เคยรู้ว่าโลกมีกลางวันและกลางคืน เพราะมันเกิดตอนเช้าและตายตอนเย็น ระยะเวลาที่จำกัดทำให้ความรู้ของมันจำกัดไปด้วย มนุษย์เราแตกต่างจากสัตว์หลายประเภทตรงที่เรามีการบันทึกและสืบสานวัฒนธรรม เรายังพอจะรู้ว่าคนในยุคโบราณใช้ชีวิตอย่างไร เชื่ออะไร แต่เรารู้ได้อย่างไรว่าธรรมชาติไม่ได้มีหลายรายละเอียดมากกว่าที่เราบันทึกและพิสูจน์มาแล้ว ปรากฏการณ์บางอย่างอาจเกิดหนึ่งครั้งในสามร้อยล้านปี เราคงอยู่ไม่ทันที่จะได้เห็น เหมือนแมลงที่ไม่รู้จักกลางคืน เราเองก็อาจจะมี “กลางคืน” ที่เราไม่รู้จักอยู่มากมาย

เช่นเดียวกัน ผู้นับถือหรือคลั่งไคล้ในศาสนารู้ได้อย่างไรว่าความเชื่อหรือประสบการณ์ต่างๆเกี่ยวกับพระเจ้าที่พวกเขายึดมั่น ไม่ได้เป็นแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในสมอง หรือไม่ได้เป็นเพียงความไม่รู้และไม่เข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาติของคนในอดีต

แต่ผมคิดว่าทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์และฝ่ายศาสนาไม่ได้สนใจใน “ความจริง” สักเท่าไร (แม้ว่าวิทยาศาสตร์คือการทดลองและค้นคว้าเพื่อหาความจริงก็ตาม) เพราะจะว่าไป ผมคิดว่ามนุษย์มีข้อจำกัดมากมายที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้จริงๆ หรือกระทั่งความหมายของคำว่า “ความจริง” อาจจะเป็นเพียงสิ่งที่สมองมนุษย์สร้างให้มนุษย์ยึดมั่นเป็นแรงขับในการดำรงชีวิตเท่านั้นก็เป็นได้

ด้วยเหตุผลที่ผมเออๆออๆขึ้นมาเองอย่างนี้ ทำให้ผมคิดว่าการบังคับให้คนเชื่อด้านใดด้านหนึ่งเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ อย่างไรเสียความแตกต่างทางความเชื่อจะยังคงมีอยู่เสมอ เพราะมีคำถามมากมายที่มนุษย์ไม่สามารถตอบได้ เราจึงต้องสร้าง “ความเชื่อ” ขึ้นมายึดเหนี่ยว บางความเชื่ออาจจะสงบและมีประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าหลายๆความเชื่อ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าควรมีการบัญญัติให้ทุกคนต้องเชื่อเหมือนกัน

ผมคิดว่าการรวบรวมทุกอย่างเป็นหนึ่งคืออุดมคติที่ผิดธรรมชาติ กระทั่งในความเชื่อเดียวกันยังมีการแตกแขนงออกไปเป็นรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันมากมาย ผู้นับถือพระเยชูยังนับถือต่างกันและทะเลาะเบาะแว้งกันเองว่าใครเชื่อถูกเชื่อผิด ไม่เว้นกระทั่งศาสนาพุทธ ซึ่งมีนิกายหลากหลายที่ชาวพุทธจำนวนมากในบ้านเราไม่เคยรู้จัก ความจริงผมค่อนข้างสงสัยว่าในประเทศที่เรียกตัวเองว่า “เมืองพุทธ” อย่างเรา มีกี่คนที่ศึกษาอย่างเข้าใจในความเป็นมาของศาสนาพุทธและพุทธปรัชญาจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นความเชื่อแบบผสมผสาน มีทั้งพุทธผสมผี พุทธผสมไสยศาสตร์ พุทธผสมฮินดู พุทธผสมตำนานพื้นบ้าน พุทธผสมความเชื่อของตัวเองที่โมเมขึ้นมา พุทธผสมการเมือง ฯลฯ

ดูเหมือนผมจะเป็นคนส่วนน้อย (อีกแล้ว) ที่ไม่เห็นด้วยกับการมีศาสนาประจำชาติ ใน “ความเชื่อ” ของผม ผมคิดว่าการที่พระสงฆ์ออกมาเดินขบวนรณรงค์ให้ตั้งศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นพฤติกรรมที่ผิดต่อพุทธปรัชญาดั้งเดิมเป็นอย่างยิ่ง ผมเห็นว่าเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่า (เมื่อศาสนาใดก็ตามกลายเป็น “สถาบัน” เมื่อนั้นความเป็นการเมืองก็เข้าครอบคลุมทันที) ศาสนาที่สอนให้คนลดละอัตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ และไม่ยึดติดกับเรื่องทางโลก คงไม่ควรมี “ความต้องการ” หรือความพยายามให้ได้รับการแต่งตั้งเพื่อบังคับให้คนต้องนับถือตัวเอง

คนในสังคมจริงๆแล้วมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์น้อยมาก เมื่อเรียนจบก็ไม่มีเหตุผลหรือโอกาสที่จะสัมผัสวิทยาศาสตร์เท่าไรนัก บางทีเราอาจเห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หรือได้ฟังคำศัพท์แปลกๆจากรายการโทรทัศน์ แต่ผมเชื่อว่าเปอร์เซนต์ของประชาชนที่เข้าใจความหมายของความเคลื่อนไหวใหม่ๆทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ได้ยินบ่อยๆอย่าง DNA หรือทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่มีมาค่อนข้างนานแล้วอย่าง Quantum หรือที่เพิ่งเป็นที่ถกเถียงฮือฮาอย่างทฤษฎี String คงมีน้อยเกินกว่าที่จะทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น และที่จะให้อยู่ดีๆผู้คนต่างพากันขวนขวายอยากเข้าใจวิทยาศาสตร์เองยิ่งเป็นฝันกลางวันเข้าไปใหญ่ ลำพังความเชื่อทางศาสนายังเชื่อกันมั่วๆ เชื่อตามความสะดวก เชื่อตามความเชื่อของคนอื่นอีกที และมีการฆ่ารันฟันแทงลบล้างกันอยู่ทั่วโลก เราคงไม่อยากเพิ่มความสับสนมากขึ้นด้วยการให้คนทำสงครามระหว่างกันเพื่อวิทยาศาสตร์เพิ่มเข้าไปอีก

สังคมมนุษย์ไม่ได้บริหารจัดการง่ายๆอย่างที่นักอุดมการณ์ (รวมถึงนักวิทยาศาสตร์อย่างดอว์กินส์) คิด และด้วยเหตุผลของความซับซ้อนนี้เอง ทำให้ผมคิดว่าสิ่งที่จำเป็นมากกว่าการนำเสนอว่าทุกคนควรจะเชื่อ (หรือไม่เชื่อ) อะไร เราน่าจะหาทางให้ทุกคนได้เชื่อและอยู่ได้อย่างแตกต่างร่วมกันในความสันติ

ผมดีใจที่ตัวเองเกิดขึ้นในประเทศที่ทำให้ผมได้รู้จักและใกล้ชิดกับพุทธปรัชญา ผมไม่อาจบอกได้เต็มปากว่าผมนับถือศาสนาพุทธ และผมไม่อาจเชื่อคำกล่าวประเภท “พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า” ได้ทั้งหมด เพราะในความเป็นจริงศาสนาพุทธผ่านความเปลี่ยนแปลงและการผสมผสานโดยผู้คนมากมายที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า กว่าที่จะมีการบันทึก “คำสอน” ของพระพุทธเจ้าเป็นลายลักษณ์อักษร ก็เป็นเวลาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปหลายร้อยปี ผมไม่อาจทำใจ “เชื่อ” สิ่งที่สืบทอดต่อกันมาโดยปากของมนุษย์ได้เต็มที่ เราต่างก็รู้ดีว่ามนุษย์มีความสามารถในการบิดเบือนข้อมูลอย่างเก่งกาจขนาดไหน ผมจึงพูดได้เพียงว่าผมนับถือ “พุทธปรัชญา” นั่นคือปรัชญาที่เกิดจากศาสนาพุทธ ซึ่งหลายข้อมีความคล้ายคลึงกับปรัชญากรีก ปรัชญาโรมัน ปรัชญาจีนโบราณ จนอาจเรียกกว้างๆได้ว่าผมนับถือปรัชญา “ทำนองนั้น” ดีกว่าที่จะเจาะจงชื่อใดชื่อหนึ่งด้วยซ้ำ

เหตุผลหลักๆที่ทำให้ผมนับถือพุทธปรัชญา คือผมรู้สึกว่าพุทธเป็นปรัชญาที่ช่วยสอนให้มนุษย์สงบลง ช่วยให้โลกมีสันติภาพมากขึ้น และช่วยให้คนมีจิตใจสะอาดขึ้น ไม่ใช่เพราะชาติหน้าจะได้เกิดมาดี หรือเพราะจะได้ไม่ตกนรก หรือเพราะอยากจะนิพพาน หรือเพราะเหตุผลทาง “ศาสนา” ใดๆ

ผมชอบตำนานในพุทธประวัติเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างจะเข้ากับประเด็นที่เราคุยกันในครั้งนี้

ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไม้ มีพราหมณ์เข้าไปถามพระพุทธองค์ว่าท่านเป็นชาติอะไร มีวรรณอะไร พระพุทธเจ้าตอบเรียบๆว่า “อย่าถามเรื่องชาติตระกูลเลย ถามเรื่องความประพฤติของเราดีกว่า”

เป็นคำตอบที่ใช้ได้กับทุกอย่างที่ผู้คนสมมติขึ้นมาเอง เช่น “อย่าสนใจว่านับถือศาสนาหรือวิทยาศาสตร์เลย สนเรื่องความประพฤติดีกว่า”

หรือ “อย่าสนเลยว่าศาสนาประจำชาติคืออะไร สนเรื่องความประพฤติของคนในชาติดีกว่า”




ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร GM ฉบับเดือนมิถุนายน 2550 เผยแพร่ใน //www.onopen.com




 

Create Date : 24 กรกฎาคม 2550
3 comments
Last Update : 24 กรกฎาคม 2550 18:22:05 น.
Counter : 2088 Pageviews.

 

ขอแนะนำหนังสือ "ไม่มีศาสนา"
จากเวบไซต์ //www.whatami123.com

 

โดย: แก้ว IP: 203.113.80.13 23 พฤศจิกายน 2550 22:15:04 น.  

 

เรารู้จักตนเองอย่างถูกต้องแท้จริงแล้วหรือยัง?
ถ้าใครยังไม่รู้จักตนเองอย่างถูกต้อง ก็ขอเชิญมาค้นหาตัวเองจากหนังสือธรรมะวิทยาศาสตร์ :
"ฉันคืออะไร?"(ศึกษาชีวิตโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์)
//www.whatami.net/web-w/hatami/for/am.html
จากเวบไซต์สำหรับผู้แสวงหาความจริง...."ฉันคืออะไร?"
//www.whatami.net

 

โดย: แก้ว/kaw_47@hotmail.com IP: 203.113.80.137 5 กุมภาพันธ์ 2551 20:52:54 น.  

 


ทำเองก็ได้ที่ comment-thai

ผ่านมาทักทายอ่ะจร้า...จู๊ฟ...จู๊ฟ...

 

โดย: ป้าหู้เองจ่ะ (fifty-four ) 10 มกราคม 2553 18:50:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.