Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
27 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 

ประวัติศาสตร์ชุมชนพราหมณ์-ฮินดูในสังคมไทย


ภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดีย
ประวัติศาสตร์ชุมชนพราหมณ์-ฮินดูในสังคมไทย
ดุลยภาค ปรีชารัชช : เขียน
ศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




ชุมชนพราหมณ์-ฮินดูในกรุงเทพมหานคร:
ภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียในสังคมไทย
Brahman and Hindu Communities in Bangkok:
A Historical Reflection of Indian Settlements in Thai Society

ชุมชนชาวต่างประเทศ (Foreign Communities) จัดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการก่อรูปและวิวัฒนาการของรัฐไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น บทบาทของชุมชนชาวโปรตุเกสกับการทหารในสมัยกรุงศรีอยุธยา และบทบาทของชาวจีนโพ้นทะเลกับการค้าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. สำหรับชุมชนชาวอินเดียนั้น จัดว่ามีความเก่าแก่และมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการก่อตัวของอารยธรรมไทยในหลากหลายมิติ เช่น แนวคิดทางการปกครองแบบเทวราชา (Devaraja) การออกแบบผังเมือง และการก่อสร้างเทวสถานตามหลักจักรวาลวิทยา (Cosmology) การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของกลุ่มพราหมณ์ในราชสำนัก หรือการเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายของชาวอินเดียโพ้นทะเลในสมัยอาณานิคม (Colonial Period)

ชุมชนชาวอินเดียในสังคมไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามเกณฑ์ประวัติศาสตร์ (1)

โดยกลุ่มแรกได้แก่ชุมชนพราหมณ์ (Brahmans) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในราชสำนักและเริ่มอพยพจากอินเดียเข้าสู่ประเทศไทยเป็นเวลากว่าสองพันปีนับตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล ทวารวดี สุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์

สำหรับผู้อพยพกลุ่มที่สองได้แก่ชุมชนชาวฮินดู (Hindus) ซึ่งอพยพจากอินเดียเข้าสู่ประเทศไทยเป็นเวลาประมาณเจ็ดสิบถึงหนึ่งร้อยห้าสิบปี เมื่อครั้งอินเดียยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมอังกฤษ (British Colonialism) โดยกลุ่มชาวฮินดูมักประกอบอาชีพค้าขายและตั้งถิ่นฐานอยู่ตามย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานคร เช่น สุขุมวิท, สีลม, สาธร และสี่แยกบ้านแขก สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของชุมชนพราหมณ์-ฮินดูนั้นจัดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุมชนพราหมณ์: กระบวนการอพยพและตั้งถิ่นฐานของชุมชนพราหมณ์ในสังคมไทยเริ่มก่อตัวขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของกระบวนการภารตภิวัฒน์ (Indianization) ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกลุ่มผู้ปกครองพื้นเมืองได้ปรับใช้วัฒนธรรมอินเดียและคติความเชื่อแบบเทวราชา เพื่อสร้างความชอบธรรมและเพิ่มพูนบารมีทางการเมือง ผ่านการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มพราหมณ์ราชปุโรหิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของชุมชนพราหมณ์ในกลุ่มบ้านเมืองแถบอุษาคเนย์ (Southeast Asia) อาทิเช่น ชุมชนพราหมณ์ในอาณาจักรศรีวิชัยทางคาบสมุทรมลายู และอาณาจักรจามปาทางตอนใต้ของเวียดนาม

สำหรับการอพยพของกลุ่มพราหมณ์อินเดียเข้าสู่ประเทศไทยนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นสามเส้นทางหลัก

โดยสายที่หนึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 301 เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช (Asoka) ทรงมีนโยบายกรีฑาทัพเข้าโจมตีแคว้นกลิงคะ (Kalinga- โอริสาในปัจจุบัน) เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับแคว้นมคธ (Magadha) และรวบรวมชมพูทวีป (Jampudvipa) ให้เป็นหนึ่งเดียว จนนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ของกลุ่มพราหมณ์และราษฏรชาวกลิงคะ จากอินเดียตะวันออก ผ่านอ่าวเบงกอล แผ่นดินมอญ-พม่า และตัดข้ามเทือกเขาถนนธงชัย-ตะนาวศรีเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของไทย

สำหรับสายที่สองนั้นเริ่มก่อตัวตั้งแต่สมัยราชวงศ์ปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 10-14) และราชวงศ์โจฬะของอินเดีย (พุทธศตวรรษที่ 14-20) เมื่อแผ่นดินอุษาคเนย์เริ่มเป็นที่รับรู้ของกลุ่มพราหมณ์และพ่อค้าอินเดียในฐานะสุวรรณภูมิ (Golden Continent) ซึ่งเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศและของป่า ตลอดจนเป็นจุดขนถ่ายสินค้าและจุดเชื่อมต่อทางอารยธรรมระหว่างกลุ่มแว่นแคว้นแถบมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก



แผนที่แสดงเส้นทางอพยพของกลุ่มพราหมณ์เข้าสู่ประเทศไทย
สีเขียวหมายถึงเส้นทางสายที่หนึ่ง สีแดงหมายถึงเส้นทางสายที่สอง และสีเหลืองหมายถึงเส้นทางสายที่สาม


การขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ และกิจการเผยแพร่ศาสนาผสมผสานกับอิทธิพลของลมมรสุมที่เพิ่มความรวดเร็วให้กับการเดินเรือ จัดว่าเป็นปัจจัยดึงดูดและผลักดันให้ชาวอินเดียจำนวนมากเดินทางจากตอนใต้ของชมพูทวีป ผ่านหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ในมหาสมุทรอินเดีย เข้าสู่ดินแดนทางตอนใต้ของไทย เช่น เมืองตะกั่วป่า, พัทลุง, สงขลา, ไชยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิกอร์ (Lighor) หรือนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธและฮินดูในคาบสมุทรมลายู

เส้นทางสายที่สามหลังสถาปนากรุงศรีอยุธยา เส้นทางสุดท้ายนี้เริ่มก่อตัวขึ้นหลังจากการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 1893 เมื่อมีการเคลื่อนกำลังของกองทัพสยามเข้าโจมตีเมืองพระนครของกัมพูชา (Angkor) จนทำให้ เกิดการเทครัวและกวาดต้อนพราหมณ์ปุโรหิตและขุนนางในราชสำนักเขมรเข้ามายังพระนครศรีอยุธยา โดยกลุ่มพราหมณ์เขมรส่วนใหญ่จัดว่ามีเชื้อสายมาจากชาวอินเดียที่อพยพจากหมู่เกาะชวาของอินโดนีเซียเข้ามายังอาณาจักรพระนคร ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่สอง (Jaivoraman the Second) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 และมีอิทธิพลต่อการก่อตัวของอารยธรรมไทยในสมัยต่อมา โดยเฉพาะคติทางการปกครอง, การใช้คำราชาศัพท์, หลักกฎหมายพระมนูธรรมศาสตร์ และพิธีกรรมในราชสำนัก เช่น พิธีราชาภิเษก, โองการแช่งน้ำ, และพิธีโล้ชิงช้า

การตั้งรกรากของชุมชนพราหมณ์ จัดว่ามีความต่อเนื่องเคียงคู่กับวิวัฒนาการของรัฐไทย โดยเห็นได้จากการกระจายตัวของกลุ่มเทวสถานในเมืองโบราณสมัยทวารวดี เช่น เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์, เมืองอู่ทองจังหวัดสุพรรณบุรี, และเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีณบุรี, ส่วนในสมัยสุโขทัยนั้นได้มีการค้นพบอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์กระจายตัวอยู่ตามเขตเมืองเก่า และเขตอรัญญิกวาส เช่น ศาลตาผาแดงและวัดพระพายหลวง. ครั้นมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ชุมชนพราหมณ์ได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคติทางการปกครองที่ให้ความสำคัญกับองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะสมมุติเทพ และภาคอวตารของพระวิษณุ (Vishnu Reincarnation) โดยมีการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนพราหมณ์ในเขตกำแพงเมือง และรอบวัดมหาธาตุ (Mahathatu Temple) ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นศูนย์กลางของเมืองหลวงคล้ายคลึงกับเขาพระสุเมรุ (Mount Meru) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล นอกจากนี้ตามบันทึกของชาวตะวันตกที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยา เช่น Nicholas Gervaise ยังได้กล่าวถึงบทบาทของกลุ่มพราหมณ์ปุโรหิตในการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย เพื่อเพิ่มพูนบารมีทางการเมืองให้กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

หลังการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 กลุ่มพราหมณ์ในราชสำนักได้ถูกกวาดต้อนไปยังกรุงอังวะ (Ava) ของพม่าในขณะที่บางส่วนได้อพยพลี้ภัยไปอยู่ตามเมืองต่างๆ เช่น เพชรบุรีและนครศรีธรรมราช ท่ามกลางภัยสงครามและสูญญากาศทางการเมือง กลุ่มพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในราชสำนักกรุงธนบุรี เพื่อถ่ายทอดศิลปวิทยาการและชดเชยการขาดแคลนพราหมณ์หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในเวลาต่อมาเมื่อมีการสถาปนาราชวงศ์จักรีและการย้ายเมืองหลวงมายังกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีนโยบายรื้อฟื้นความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรอยุธยาและอารยธรรมพราหมณ์-ฮินดู เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับสยามประเทศ โดยเห็นได้จากการสร้างพระบรมมหาราชวังที่จำลองแบบมาจากอยุธยาและการสร้างเสาชิงช้า (Giant Swing) และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในปี พ.ศ. 2327 ซึ่งจัดว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนพราหมณ์แห่งแรกในกรุงเทพมหานคร

อิทธิพลจากการรื้อฟื้นธรรมเนียมราชสำนักโบราณในสมัยรัชกาลที่หนึ่งได้ส่งผลให้กลุ่มพราหมณ์ที่กระจัดกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ กลับมารวมตัวกันที่กรุงเทพฯ และเข้ารับราชการเป็นปุโรหิตและผู้ประกอบพิธีทางศาสนาให้กับราชวงศ์จักรี แต่อย่างไรก็ตาม บทบาทของพราหมณ์ราชสำนักได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 (2) พระราชอำนาจที่ลดลงขององค์พระมหากษัตริย์ และการขยายตัวของแนวคิดทางการเมืองสมัยใหม่ ได้ส่งผลให้อิทธิพลของชุมชนพราหมณ์ทางด้านการเมืองและการปกครองต้องเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว เคียงคู่กับการขยายตัวของโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Worldview) ตลอดจนการถาโถมของกระแสโลกาภิวัฒน์ และวัฒนธรรมสมัยใหม่ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปรับตัวของชุมชนพราหมณ์ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน

ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนพราหมณ์ในกรุงเทพมหานคร:
หลังจากการก่อสร้างเสาชิงช้าและเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในปี พ.ศ. 2327 การตั้งถิ่นฐานของชุมชนพราหมณ์ได้เริ่มก่อตัวขึ้นรอบๆ เทวสถาน ถนนดินสอ และวัดสุทัศน์ โดยรูปแบบการตั้งถิ่นฐานมีความสัมพันธ์กับคติการสร้างบ้านแปลงเมืองของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยหากพิจารณาจากโครงสร้างผังเมืองของเกาะรัตนโกสินทร์ ที่รอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านตะวันตกและคลองคูเมืองทางด้านตะวันออก จะเห็นว่าบริเวณเสาชิงช้าและวัดสุทัศน์จะตั้งอยู่ทางตรงใจกลางของพระนครซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างแผนผังจักรวาล กับการจัดวางโครงสร้างผังเมือง จากบริบทดังกล่าว การก่อสร้างเสาชิงช้าจึงเปรียบเสมือนการจำลองเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาลมาไว้ในกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพูนบารมีให้กับผู้ปกครองและเสริมความศักดิ์สิทธิ์ให้กับดวงเมือง นอกจากนี้ เสาชิงช้ายังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบพิธีตรียัมปวาย เพื่อเป็นการต้อนรับการเสด็จมายังโลกมนุษย์ของพระอิศวร เพื่อตรวจสอบความสมดุล ความมั่นคงและความมั่งคั่งของราชอาณาจักร (3)

ธรรมเนียมการสร้างเสาชิงช้าและวัดสำคัญทางศาสนา จัดเป็นจารีตทั่วไปของกลุ่มผู้ปกครองโบราณเพื่อเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์ และสวรรค์ ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างวัดมหาธาตุที่อยุธยาและลพบุรี หรือการก่อสร้างเสาชิงช้าและหอพระอิศวรที่นครศรีธรรมราช. มรดกทางประวัติศาสตร์และธรรมเนียมการสร้างเมืองจัดเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของชุมชนพราหมณ์รอบๆ เสาชิงช้าและวัดสุทัศน์ เช่น กลุ่มอาคารบ้านเรือนของชุมชนโบสถ์พราหมณ์ในย่านถนนดินสอ การพบปะสังสรรค์ของกลุ่มพราหมณ์บริเวณวัดสุทัศน์ หรือการร่ำเรียนพระเวทและภาษาสันสฤตภายในหอเวทวิทยาคม บริเวณเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ซึ่งยังคงมีให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ชุมชนพราหมณ์ในกรุงเทพมหานคร จัดว่าสืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์นครศรีธรรมราช และกลุ่มพราหมณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะพราหมณ์ศิริวัฒนะ ซึ่งเป็นขุนนางปุโรหิตที่มีชื่อเสียงและเป็นบรรพบุรุษของข้าราชการ และชนชั้นนำทางการเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ต้นตระกูลสิงหเสนี, เจ้าพระยาพลเทพ (ทองอิน) ต้นตระกูลทองอิน อินทรพล, และเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) ต้นตระกูลบูรณศิริ.

สำหรับกลุ่มพราหมณ์ที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นจัดเป็นพราหมณ์ในสังคมพุทธ ดังนั้น การถือวรรณะจึงไม่ใช่การแบ่งแยกชนชั้นทางสัมคมเหมือนในประเทศอินเดีย แต่เป็นเพียงการการรักษาธรรมเนียมของตระกูล (4) และเป็นการลดความเข้มงวดของลัทธิพราหมณ์-ฮินดูเพื่อให้เกิดการหลอมรวมเข้ากับพระพุทธศาสนา ในปัจจุบันชุมชนพราหมณ์ในกรุงเทพฯสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ (5) ได้แก่

- กลุ่มพราหมณ์ที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีในราชสำนัก โดยกลุ่มพราหมณ์ดังกล่าวจัดเป็นข้าราชการในสำนักพระราชวัง ซึ่งมีจำนวนเพียงแค่ 11 คน เช่น พระราชครูวามเทพมุนี, พราหมณ์ศรีล รังสิพราหมณกุล, พราหมณ์ภพสาม สยมภพ และพราหมณ์ยศ โกมลเวทิน (6) บทบาทของกลุ่มพราหมณ์ในราชสำนักยุคปัจจุบันคือ การประกอบพระราชพิธีในงานสำคัญตลอดจนการขยายบทบาทเกี่ยวกับการจัดทำวัตถุมงคล และทำนายโชคชะตาให้กับกลุ่มนักธุรกิจและชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีการขยายบทบาทในการพัฒนาสังคมและการศึกษา เช่น การจัดตั้งมูลนิธิพระพิฆเณศของพราหมณ์ขจร นาคะเวทิน ใน ปี พ.ศ. 2537 ซึ่งจัดเป็นองค์กรสำคัญที่นำรายได้จากการบูชา และสร้างรูปเคราพทางศาสนาฮินดูมามอบให้เป็นทุนการศึกษา แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

- สำหรับชุมชนพราหมณ์กลุ่มที่สองนั้นจัดเป็นชุมชนที่มองไม่เห็น (Invisible Communities) เนื่องจากประกอบด้วยชนชั้นสูงและสามัญชนทั่วไปที่มิได้ประกอบอาชีพเป็นนักบวชเหมือนพราหมณ์ในกลุ่มแรก แต่มีบรรพบุรุษเป็นข้าราชการที่สืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ เช่น สมาชิกในตระกูลจันทรโรจวงศ์, ชัชกุล, นรินทรกุล, และบูรณศิริ. โดยถึงแม้ว่ากลุ่มบุคคลในตระกูลดังกล่าว จะมีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนกับประชาชนทั่วไปและแทบไม่มีใครประกอบอาชีพเป็นพราหมณ์ในราชสำนัก ยกเว้นในบางตระกูล เช่น รังสิพราหมณ์กุล แต่สมาชิกบางคนยังคงรับรู้และระลึกถึงบรรพบุรุษในอดีต ตลอดจนมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับเทพเจ้าฮินดูและการสะสมวัตถุโบราณ

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในยุคโลกาภิวัฒน์ และกระบวนการพัฒนาเมือง (Urbanization) ได้ส่งผลให้ตระกูลพราหมณ์ทั้งสองประเภท มีลักษณะการตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีพราหมณ์บางกลุ่มที่ยังอาศัยอยู่แถวถนนดินสอและเสาชิงช้า เช่น พราหมณ์ขจร นาคะเวทิน ตลอดจนยังคงมีการรวมตัวและพบปะสังสรรค์ของกลุ่มพราหมณ์ในเขตวัดสุทัศน์และเทวสถานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ จึงยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ (Spiritual Centre) และการประกอบพิธีกรรมของชุมชนพราหมณ์ในกรุงเทพมหานคร

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุมชนฮินดู:
กระบวนการอพยพและตั้งถิ่นฐานของชุมชนฮินดูในสังคมไทย เริ่มก่อตัวขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของลัทธิอาณานิคมตะวันตก (Western Colonialism) ในอินเดียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 23 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 โดยการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรในอินเดียและการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ จัดเป็นปัจจัยผลักดันที่ส่งผลกระทบต่อการอพยพของชาวอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสองเส้นทางหลักได้แก่

- เส้นทางอพยพทางทะเลผ่านหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ตัดเข้าสู่สิงคโปร์ มะละกา (Melaka) มาเลเซีย จากนั้นจึงเป็นการเดินทางโดยรถไฟเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร

- ส่วนเส้นทางอพยพสายที่สองนั้นเริ่มจากอินเดียเข้าสู่จิตตะกอง (Chittagong)ในบังคลาเทศ จากนั้นจึงเดินทางโดยรถไฟตัดเข้าสู่พม่าและภาคเหนือของไทย แล้วจึงลงใต้สู่กรุงเทพมหานคร (7)

สำหรับกลุ่มผู้อพยพชาวฮินดูนั้นจัดว่ามีความหลากหลายและสามารถแบ่งออกได้เป็นห้ากลุ่มหลักได้แก่

1) กลุ่มชาวฮินดูจากอุตตรประเทศ (Uttra Pradesh) ทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพเป็นคนส่งหนังสือพิมพ์ คนขายนมวัว และพนักงานรักษาความปลอดภัยในบริษัทต่างประเทศ เช่น East Asiatic Company ลักษณะเด่นของชาวอินเดียอุตตรประเทศ คือการนับถือพระวิษณุ โดยมีการจัดตั้งชุมชนในเขตสาธร และยานนาวา ตลอดจนการจัดสร้างวัดวิษณุ เมื่อปี พ.ศ. 2458 เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวอุตตรประเทศในเขตกรุงเทพมหานคร (8)

2) กลุ่มชาวฮินดูจากแคว้นซินด์ (Sind) และปัญจาบ (Punjab) ซึ่งเข้ามาประกอบธุรกิจทอผ้าและนำเข้าส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ชาวอินเดียกลุ่มดังกล่าวมักตั้งถิ่นฐานอยู่แถวสำเพ็ง และพาหุรัด โดยถึงแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาซิกซ์และมีศูนย์กลางอยู่ที่คุรุสิงหสภา ในย่านพาหุรัด แต่ก็มีชาวอินเดียบางกลุ่มนับถือศาสนาฮินดู และแยกตัวออกมาจัดตั้งวิหารเทพมณเทียรแถวถนนศิริพงศ์เมื่อปี พ.ศ. 2482 เพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวฮินดูจากซินด์และปัญจาบ โดยปัจจุบันชุมชนดังกล่าวได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมฮินดูสมาชแห่งประเทศไทย ซึ่งมีที่ทำการอยู่ที่โรงเรียนภารตะวิทยาลัย และอยู่ไม่ไกลจากวัดสุทัศน์ เสาชิงช้า และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์

3) กลุ่มชาวฮินดูจากกุจราช (Gujarat) และราชสถาน (Rajasthan) ซึ่งมักประกอบอาชีพค้าขายส่งออกและเจียระไนอัญมณี โดยตั้งถิ่นฐานอยู่แถวถนนสีลมและสาธร กลุ่มชาวฮินดูดังกล่าวจัดว่ามีบทบาทสำคัญในสมัยอาณานิคม และสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างประเทศไทย อินเดีย และตะวันออกกลาง

4) กลุ่มชาวฮินดูจากทมิฬนาดูร์ (Tamil Nadur) ซึ่งอพยพมาจากตอนใต้ของอินเดียและทางตอนเหนือของศรีลังกา แถวคาบสมุทรจาฟนาร์ โดยส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ พนักงานบริษัทต่างประเทศและค้าขายทั่วไป สำหรับลักษณะเด่นของกลุ่มแขกทมิฬคือ การบูชาพระศิวะและพระอุมาอย่างเหนียวแน่น จนนำไปสู่การสร้างวัดพระศรีรัตนมหาอุมาเทวี หรือที่รู้จักกันดีว่าวัดแขก เพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการประกอบกิจกรรมของชาวฮินดูจากอินเดียใต้ และ

5) กลุ่มชาวฮินดูจากเบงกอล ซึ่งอพยพมาจากเมืองธาร์กา (Dhaka) และจิตตะกองในบังคลาเทศตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษ ประชากรส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพขายถั่ว เครื่องเทศ และเครื่องหอมบูชาเทพเจ้า กลุ่มแขกเบงกอลมักนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีบางส่วนนับถือศาสนาฮินดู โดยอพยพเข้ามาอาศัยอยู่กับแขกทมิฬในย่านวัดแขกและถนนสีลม (9)

ชุมชนฮินดูในกรุงเทพมหานคร จัดว่ามีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ โดยกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอินเดียมักมองว่า ประเทศไทยคือฐานที่มั่นที่ปลอดภัยในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อเปรียบเทียบกับพม่าและมลายูซึ่งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในขณะเดียวกันบรรดานักการทูตและเจ้าหน้าที่อังกฤษได้เคยสงสัยว่า พรรค Garthar ของอินเดียซึ่งดำเนินกิจกรรมเรียกร้องเอกราช มีเครือข่ายการเคลื่อนไหวอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-อังกฤษ และอินเดีย (10) ต่อมาหลังจากอินเดียได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2490 การตั้งถิ่นฐานและการแสดงบทบาททางเศรษฐกิจของชุมชนฮินดู ได้เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วเขตกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ในสมัยสงครางโลกครั้งที่สอง ชุมชนฮินดูยังได้แสดงบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อเกิดความขัดแย้งและเผชิญหน้าระหว่างกองทัพไทยกับกองทหารกัวระข่า (Gokhar) ของอินเดียในเขตแดนเชียงตุง ประเทศพม่า โดยในครั้งนั้น สวามีสัตยา นันทบุรี อาจารย์สอนภาษาสันสกฤตชาวฮินดูในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวบรวมชาวฮินดูเพื่อร่างจดหมายทั้งฉบับภาษาฮินดีและสันสกฤต และนำไปส่งให้กองทัพอินเดียผ่านทางเฮลิคอปเตอร์อันเป็นการกรุยทาง ไปสู่การยับยั้งการเผชิญหน้าของกองกำลังทั้งสองฝ่าย (11)

การกระทำของสวามีสัตยา นันทบุรี และพรรคพวก จัดเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การถอนกำลังของทหารกัวระข่า และเปิดทางไปสู่การเข้าครอบครองเชียงตุงของทหารไทย ซึ่งส่งผลให้นโยบายการขยายอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามประสบความสำเร็จ และชุมชนฮินดูในกรุงเทพฯ เริ่มได้รับความสนใจจากรัฐบาลในสมัยนั้น นอกจากนี้ สวามีสัตยา นันทบุรี ยังได้เป็นผู้นำในการก่อตั้งอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ ซึ่งจัดเป็นองค์กรส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อินเดีย และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของชาวฮินดูในกรุงเทพมหานครทั้งในแง่ของการพัฒนาสังคม การศึกษา และการดำเนินนโยบายการทูตเชิงวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy) กับประเทศอินเดีย

หลังจากการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-อินเดียเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 การตั้งถิ่นฐานของชุมชนฮินดู ได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันได้มีชาวอินเดียตั้งหลักแหล่งอยู่แถวสีลม, สาธร, ยานนาวา, พาหุรัต, สี่แยกบ้านแขก, และถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ซอย 1 ถึง 81 (แต่ละซอยประกอบด้วยชุมชนชาวฮินดูประมาณ 5-10 ครัวเรือน) (12) สำหรับลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาวฮินดูจัดว่ามีความสอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยชาวฮินดูมักตั้งถิ่นฐานอยู่ตามย่านธุรกิจสำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ การตั้งถิ่นฐานยังมีลักษณะพิเศษและแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน โดยในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพียงแค่ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาวฮินดูจากอุตตรประเทศในวัดวิษณุ เขตยานนาวา ซึ่งผู้เขียนมองว่ามีความน่าสนใจและเป็นประเด็นแปลกใหม่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียในสังคมไทย นอกจากนี้ ผู้เขียนขอทำการนำเสนอเฉพาะในมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม แทนที่การนำเสนอในมิติทางเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาโดยรวม

ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนฮินดูในวัดวิษณุ: วัดวิษณุ (Vishnu Temple)
จัดเป็นศูนย์รวมของชาวฮินดูจากอินเดียเหนือ และได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดฮินดูที่มีความโดดเด่นในอุษาคเนย์ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของรูปสลักเทพเจ้าฮินดูที่ทำมาจากหินอ่อน และมีลักษณะงดงามได้สัดส่วนจำนวน 24 องค์ นอกจากนี้วัดวิษณุยังถูกพัฒนาให้เป็นสมาคมฮินดูธรรมสภา ซึ่งจัดเป็นองค์กรทางศาสนาที่มีบทบาทสำคัญเคียงคู่กับสมาคมฮินดูสมาช ในโรงเรียนภารตะวิทยาลัย

วัดวิษณุหรือสมาคมฮินดูธรรมสภา ตั้งอยู่เลขที่ 50 ซอยวัดปรก แขวงทุ่งวัดดอน เขตยานาวา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2458 โดยชาวอินเดียที่มาจากแคว้นอุตตรประเทศ หรือที่เรียกกันว่า พวกยูพี (U.P. - United Province or Uttra Pradesh) โดยมีคณะกรรมการบริหารงานชุดหนึ่ง ซึ่งเลือกตั้งมาจากสมาชิกสามัญทุกๆ ปี คณะกรรมการบริหารของสมาคมได้ร่วมกับชาวอินเดียในประเทศไทยจัด ซื้อที่ดินและสร้างเทวาลัยวัดวิษณุขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2463 เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ฮินดู (13)

หลังจากนั้น จึงมีการสร้างห้องสมุดวัดวิษณุ สุสานฮินดู ศิวาลัย และเทวาลัยพระศรีหนุมาน ส่วนสาเหตุที่เลือกซื้อที่ดินแถวยานนาวาเพื่อสร้างเป็นเทวาลัยนั้น สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อนที่ดินย่านดังกล่าวมีราคาถูก ประกอบกับชาวอุตตรประเทศก็ประกอบอาชีพอยู่แถววัดดอนและถนนตก มากกว่าย่านอื่นๆ ของกรุงเทพมหานครจึงทำให้สะดวกต่อการติดต่อและไปมาหาสู่ (14) นอกจากนี้ ลักษณะภูมิศาสตร์ของเขตยานนาวาซึ่งประกอบด้วยที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สลับกับที่ดอนยังมีความสอดคล้องกับลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียเหนือ ตามเมืองพาราณศรีและอโยธยา ซึ่งมักตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ดอนแต่ไม่ไกลจากฝั่งแม่น้ำคงคาและสาขามากนัก

วัดวิษณุจัดเป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีทางศาสนา โดยมีการจัดหาที่พักให้กับนักบวชที่เดินทางมาจากอินเดียผ่านการประสานงานของสมาคมฮินดูธรรมสภา ตลอดจนเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของนักธุรกิจฮินดูและชาวอินเดียเชื้อสายอุตตรประเทศแถวยานนาวา ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ไม่ไกลจากวัดวิษณุ โดยในปัจจุบัน บัณฑิต วิทยาธร ศุกุล จัดเป็นเสาหลักสำคัญของการประกอบกิจการทางศาสนาภายในวัดวิษณุ ส่วน นาย กฤษณะ ดี อุปเดียร์ จัดเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนฮินดูในเขตยานนาวา และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฮินดูธรรมสภาคนปัจจุบัน

ความโดดเด่นของชุมชนรอบวัดวิษณุคือ ารหลอมรวมและสมานฉันท์ระหว่างชาวฮินดูกับชุมชนชาวต่างประเทศ งตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตยานนาวาอันประกอบด้วย ชุมชนชาวมอญ-พม่า-ไทย นย่านวัดปรกและถนนทวาย, ชุมชนชาวมุสลิมรอบมัสยิดยะวา, ชุมชนชาวไทย-จีนแถวสุสานวัดดอน, และชุมชนชาวคริสต์ในย่านบางรักและสาธร (15) โดยสำหรับการปะทะสังสรรค์กับชุมชนชาวมอญ-พม่านั้น ได้เริ่มขึ้นจากนโยบายการขยายอำนาจทางการทหารของพม่าในสมัยพระเจ้าปดุง (Bodawpaya) ซึ่งทำให้มีชาวมอญและพม่าเป็นจำนวนมาก อพยพลี้ภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งราชวงศ์จักรี แล้วค่อยๆตั้งหลักแหล่งปะปนกับคนไทยแถววัดปรกและยานนาวา

ต่อมาเมื่อชาวฮินดูอุตตรประเทศได้เข้ามาสร้างเทวาลัยวัดวิษณุ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดปรก จึงเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชาวฮินดูกับชาวพุทธ โดยกลุ่มชาวอุตตรประเทศได้ทำการบริจาคเทวรูป ตลอดจนดินและน้ำศักดิ์สิทธิ์ในเขตพุทธสถานจากประเทศอินเดียให้กับวัดปรก ซึ่งสร้างความพอใจให้กับคนไทย-มอญและพม่า ในขณะเดียวกัน ชาวชุมชนรอบวัดปรกก็นิยมเข้าไปนมัสการและบูชาเทพเจ้าฮินดูในวัดวิษณุ เพื่อตรวจสอบโชคชะตาและเพิ่มพูนสิริมงคลให้กับชีวิต โดยเฉพาะชาวมอญและพม่านั้นจัดว่ามีความเชื่อและศรัทธาทั้งพระพุทธศาสนาและเทพเจ้าของศาสนาฮินดู

สำหรับความสัมพันธ์กับชาวมุสลิมนั้นจะพบว่า ในสมัยอาณานิคม กลุ่มชาวชวาบางส่วนจากอินโดนิเซียได้ถูกเกณฑ์เป็นแรงงานให้กับบริษัทต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตบางรัก สีลม และยานนาวา ครั้นต่อมากลุ่มชาวมุสลิมอินโดนิเซียได้ตั้งหลักแหล่งแถวยานนาวา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่มัสยิดยะวาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดวิษณุ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิมเกิดจากความเห็นอกเห็นใจกันในการตกเป็นเมืองขึ้นของอาณานิคมตะวันตก ตลอดจนมีการขยายความร่วมมือระหว่างชุมชนทั้งในแง่ของการต่อต้านลัทธิอาณานิคมในอดีต ตลอดจนการพัฒนาท้องถิ่น เช่น การจัดทำกิจกรรมสมานฉันท์ทางศาสนาระหว่างฮินดูกับอิสลาม (16)

ส่วนความสัมพันธ์กับชุมชนชาวไทย-จีนนั้น จัดว่ามีความน่าสนใจเนื่องจากเขตยานนาวาจัดเป็นที่ตั้งของสุสานวัดดอน และสมาคมต่างๆ ของชาวจีนในกรุงเทพมหานคร การมีปฏิสัมพันธ์กับชาวจีนมักเป็นไปในลักษณะของการผสมผสานทางศาสนา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการประกอบพิธีฝังศพในสุสานวัดดอน กลุ่มชาวไทย-จีนมักทำการเชิญนักบวชและชาวอุตตรประเทศเข้ามาประกอบพิธีกรรมเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทดิ์ ในขณะเดียวกัน ความเชื่อของชาวไทยจีนเกี่ยวกับเทวตำนาน ได้เริ่มขยายตัวจากพระโพธิสัตย์ เจ้าแม่กวนอิม ไปสู่เทพในศาสนาฮินดู เช่น พระวิษณุและพระพิฆเณศ ซึ่งจัดเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองชุมชน

ส่วนความสัมพันธ์กับชุมชนชาวคริสต์นั้นจะพบว่าย่านสาธร บางรัก และยานนาวา จัดเป็นศูนย์กลางของการค้าระหว่างประเทศและเป็นที่ตั้งของสถานทูตตะวันตก ตลอดจนโรงเรียนทางคริสต์ศาสนา เช่น อัสสัมชัญ และกรุงเทพคริสต์เตียน โดยชาวอุตตรประเทศบางคนได้ถูกว่าจ้างเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษและหลักศาสนาฮินดู เนื่องจากมีความคล่องแคล่วทางการสอนและมีอัตราจ้างที่ถูกกว่าชาวตะวันตก ในขณะเดียวกัน ชาวอุตตรประเทศยังได้ไปประกอบอาชีพเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยตามบริษัทต่างชาติ เนื่องจาก ชาวอุตตรประเทศมักมีรูปร่างกำยำและสูงใหญ่ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความปลอดภัย (17)

ดังนั้นจากลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างชาวฮินดูรอบวัดวิษณุกับชุมชนต่างประเทศกลุ่มต่างๆ จะพบว่า การผสมผสานทางศาสนา ความผูกพันทางประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคม และลักษณะการประกอบอาชีพ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความโดดเด่นให้กับชุมชนอุตตรประเทศตลอดจนส่งเสริมให้วัดวิษณุกลายเป็นสถานที่สำคัญในการบูรณาการทางศาสนา และวัฒนธรรมในเขตกรุงเทพมหานคร

บทสรุป:
การศึกษาชุมชนพราหมณ์-ฮินดูในกรุงเทพมหานคร จัดเป็นประเด็นแปลกใหม่และน่าสนใจ โดยสามารถสรุปได้ว่า ชุมชนพราหมณ์มีลักษณะเป็นชุมชนดั้งเดิม (Native Communities) เคียงคู่กับการก่อรูปและวิวัฒนาการของรัฐไทย สืบเนื่องมาจากการปรากฎตัวของเส้นทางการอพยพที่มาพร้อมกับกระบวนการภารภิวัฒน์ในอุษาคเนย์ การแสดงบทบาทของกลุ่มพราหมณ์ในราชสำนักตั้งแต่ยุคจารีตจนถึงปัจจุบัน และการปรับตัวอย่างกลมกลืนทางด้านชาติพันธุ์และการผสมผสานทางศาสนาระหว่างพุทธและพราหมณ์ ดังนั้น ชุมชนพราหมณ์จึงกลายเป็นองคาพยพสำคัญที่สะท้อนถึงความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ และกระบวนการผ่องถ่ายวัฒนธรรมอินเดียในสังคมไทย

ในขณะเดียวกัน ชุมชนฮินดูตามโลกทัศน์และการรับรู้ของคนไทยจัดว่าเป็นชุมชนต่างประเทศ (Foreign Communities) เนื่องจากลักษณะการอพยพที่มาพร้อมกับกระบวนการล่าอาณานิคมและการแพร่กระจายของภาวะทันสมัย (Modernization) ทำให้ขาดความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนการผสมผสานทางศาสนาและชาติพันธุ์ยังขาดความกลมกลืนเมื่อเทียบกับกลุ่มพราหมณ์ อาทิเช่น ลักษณะรูปร่างหน้าตา การรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการรับรู้เกี่ยวกับมาตุภูมิ (Motherland) ซึ่งชาวฮินดูบางกลุ่มมีความรู้เกี่ยวกับประเทศอินเดียมากกว่าประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ชาวฮินดูในเขตกรุงเทพมหานครจัดว่ามีบทบาทสำคัญทางด้านการค้า การเผยแพร่ศาสนาฮินดู และการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอินเดียมากกว่ากลุ่มพราหมณ์ ซึ่งถูกจำกัดบทบาทเฉพาะในราชสำนักและการรักษาวัฒนธรรมพราหมณ์ในสังคมไทย ดังนั้น ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในมิติทางประวัติศาสตร์และการบูรณาการทางสังคมระหว่างชาวฮินดูทั้งสองกลุ่ม การก่อรูปและพัฒนาการของชุมชนพราหมณ์-ฮินดูในกรุงเทพมหานคร ก็จัดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สะท้อนภาพลักษณ์ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอพยพ และตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียในสังคมไทยได้อย่างชัดเจนและรอบด้าน

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++




เชิงอรรถ

(1) การแบ่งในลักษณะดังกล่าวจัดเป็นการแบ่งแบบคร่าวๆ โดยเน้นกลุ่มชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งอพยพเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน นอกจากนี้กลุ่มชาวอินเดียในประเทศไทย ยังหมายถึงกลุ่มอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม ซิกซ์ และพุทธศาสนา แต่ในบทความฉบับนี้จะทำการศึกษาเพียงกลุ่มพราหมณ์-ฮินดูในกรุงเทพมหานครเท่านั้น

(2) สัมภาษณ์พราหมณ์ขจร นาคะเวทิน ณ มูลนิธิพระพิฆเนศ ถนนดินสอ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
(3) เพิ่งอ้าง
(4) เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์, ประวัติศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (เอกสารเผยแพร่), หน้า 16.
(5) การแบ่งดังกล่าวเป็นไปตามทรรศนะและการวิเคราะห์ส่วนตัวของผู้เขียน
(6) มูลนิธิพระพิฆเณศ, ประวัติศาสนาพราหมณ์และพระมหาเทพ ๗ องค์ (กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2546), หน้า 52.
(7) สัมภาษณ์บัณฑิต วิทยากร ศุกุล ณ บ้านพักส่วนบุคคล สี่แยกบ้านแขก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549

(8) เพิ่งอ้าง
(9) เพิ่งอ้าง
(10) เพิ่งอ้าง
(11) เพิ่งอ้าง
(12) เพิ่งอ้าง

(13) สมาคมฮินดูธรรมสภา, ฮินดูธรรมสภาวัดวิษณุ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2531). หน้า 52.
(14) เพิ่งอ้าง
(15) ผลจากการสอบถามชาวบ้านและลงพื้นที่สำรวจเขตยานนาวาของผู้เขียนระหว่างวันที่ 3 และ 4 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
(16) เพิ่งอ้าง
(17) เพิ่งอ้าง


เอกสารอ้างอิง
หนังสือภาษาอังกฤษ

Amarijiva Lochan. The Brahmans in Pre Sukhothai Thailand: A Socio-Cultural Study in Adoption and Adaptation. Bangkok: Chulalongkorn University, 1996.

Coedes,C. The Indianized States of Southeast Asia, Honolulu: A East-West Centre, 1988.

Dawee Daweewarn. Brahmanism in Southeast Asia: from the earliest time to 1445 A.D. New Delhi: Aterling Pub, 1982.

Mohammad, Ayoob. India and Southeast Asia: Indian Perceptions and Policies. New York: Routledge, 1990.
Quaritch, H.G. the Indianization of China and of Southeast Asia, London: Bernard Quaritch, 1967.

Santosh Nagpual. Hinduism in Thai life. Bombay: Popular Prakashan, 1982.

U.A. Amith. Asoka: the Buddhist Emperor of India. Oxford: Clarendon Press, 1909.

Walsh, M. A History of Philosophy. London: Geoffrey Chapmen, 1985.

หนังสือภาษาไทย
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๔.

แซร์แวส, นิโกลาส์ เดอ. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ก้าวหน้า, ๒๕0๖.

บุญสม รดาเจริญ. อินเดีย : แหล่งกำเนิดพุทธศาสนา.กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น, ๒๕๔๒.

มูลนิธิพระพิฆเณศ. ประวัติศาสนาพราหมณ์และพระมหาเทพ ๗ องค์. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, ๒๕๔๖.

วิเชียร ณ นคร. นครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, ๒๕๒๑.

ศรีศักร วัลลิโภดม. นครหลวงของไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๒.

สมาคมฮินดูธรรมสภา. ฮินดูธรรมสภาวัดวิษณุ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๑.

สถานเอกอัคราชทูตอินเดีย. ความสัมพันธ์ไทย- อินเดีย (จุลสาร). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิมพ์วิไล, ๒๕๒๒.
อรุณ เฉตตีย์. อินเดีย : แผ่นดินมหัศจรรย์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: ศูนย์อินเดียศึกษา, ๒๕๓๙.

สื่อออนไลท์ภาษาอังกฤษ
Charuwan Chareonla. "Buddhist Arts of Thailand." 2005. (22 January 2006).

Hoskin, John. "Thai Brahmans." 2006.
< // //www.mahidol.ac.th/thailand/brahmans.html> (21 January 2006).

Phasook Indrawooth. "Dvaravati, the Early Buddhist Kingdom of Thailand." 2003.
(23 January 2006).

Ram Upendra Das. "A Feasibility on A Free Trade Agreement between India and Thailand." 2002. (23 January 2006).

Sanjay Kulakarni. "History Repeats." 2004.
(22 January 2006).

Watt, David K. "Southeast Asia - Past and Present." 1990. (21 January 2006).

ที่มา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน //www.midnightuniv.orgเผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2550
3 comments
Last Update : 27 กรกฎาคม 2550 14:19:08 น.
Counter : 5322 Pageviews.

 

ขอฝากลิงก์ไว้ที่นี่ด้วยนะครับ
รวมรูปภาพและบทสวดมนต์ของพระพิฆเนศ เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาเรื่องพระคเณศ
มีเรื่องราวการกำเนิด พิธีกรรม การสวดบูชา ปางต่างๆ อวตารของพระพิฆเณศและพระเครื่อง ฯลฯ
เชิญชมได้ที่ //www.siamganesh.com

 

โดย: Pitak IP: 58.8.182.57 28 พฤษภาคม 2551 2:00:21 น.  

 

ศาสนาทุกๆ ศาสนาสอนให้มนุษย์ทุกคนทำดี

 

โดย: บวรเศรษฐ์ IP: 125.24.172.129 15 พฤษภาคม 2552 17:19:51 น.  

 

whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him

 

โดย: da IP: 124.120.9.185 19 เมษายน 2553 0:19:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.