Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
12 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 

มายาคติในความหมายของความยากจน


Picasso's Poverty was stolen in Manchester - and later found near a toilet จาก newsimg.bbc.co.uk


บทความวิชาการนี้นำมาจากเวปไซน์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งทางกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกล่าวไว้ว่าบทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นการพยายามทำความเข้าใจความหมายของความยากจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายที่ผันแปรไปของคำนี้ในประวัติศาสตร์
ดังมีการลำดับหัวข้อทำความเข้าใจดังต่อไปนี้
- การวิเคราะห์ความหมายในระดับมายาคติ
- ความผันแปรไปของความหมายความยากจน
- ความยากจนในสมัยกลาง
- ความยากจนก่อนสังคมอุตสาหกรรม
- ความยากจนหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม และช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ ๒๐
- ดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) หรือ HDI
- ธนาคารโลกกับนโยบาย Post Washington Consensus
- โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม หรือ Social Safety Net
โดยบทความนี้เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๐


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สามชาย ศรีสันต์ : เขียน
นักศึกษาปริญญาเอกโครงการสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เอกสารเสนอในการสัมนาทางวิชาการ โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการและโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่องกติกาและอำนาจในสังคมไทย เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2550



บทคัดย่อ
ความหมายของความยากจนมิได้มีเพียงการนิยามด้วยรายได้ หากแต่มีความหลากหลาย ซับซ้อน และแปรรูปความหมายไปได้อย่างไม่สิ้นสุด การนิยามความหมายของความยากจน และระบุว่าใครคือคนยากจน ทำให้เกิดการตอบโต้และแปรรูปความหมายของความยากจนในกลุ่มคนที่ถูกนิยามว่ายากจน เขาเหล่านี้ยอมรับต่อหน่วยงานราชการว่าเป็นคนยากจน ในขณะเดียวกันก็พยายามดิ้นรน และแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตนพ้นไปจากความยากจน ด้วยการใช้สัญญะที่สะท้อนถึงการมีวิถีชีวิตแบบ "คนทันสมัย" และมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภค การแก้ปัญหาความยากจนในรูปแบบกระจายเงินทุนลงไปสู่คนยากจน จึงตอบสนองต่อการพ้นจากความยากจน ในสายตาของคนยากจนและเพื่อนบ้านที่จับจ้องกันเอง แต่ได้กลายเป็นหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหนี้ทางสังคมที่ต้องตอบแทนแก่ผู้กำหนดนโยบายนำเงินมาให้ และหนี้ตัวเงินที่ทำให้คนยากจนเหล่านี้ต้องทำงาน สร้างผลผลิตและหาเงินมาชดใช้หนี้ มายาคติของความยากจนได้ขยายขอบเขตความหมายของความยากจนออกไปครอบคลุมคนทั่วไปที่รัฐบาลที่แล้วเรียกว่า "คนรากหญ้า" และรัฐบาลปัจจุบันเรียกว่า "รากแก้ว" เป็นการจัดระเบียบ ควบคุม และพันธนาการคนยากจนไว้ด้วยการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา แสดงออกถึงความปารถนาดี ขณะเดียวกันสินค้าเชิงสัญญะได้กลายเป็นความหมายใหม่ที่ใช้พิจารณาความยากจน

ความนำ
ความยากจนถูกทำให้เป็นลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ เป็นสิ่งจำเป็นต้องขจัดให้หมดไป เสมือนเป็นเชื้อแห่งความเลวร้ายที่แฝงฝังอยู่ในพื้นที่สกปรก แปดเปื้อน กันดาร ล้าหลัง ดังเช่นในสลัม ในพื้นที่ชนบทประเภทต้องเร่งรัดพัฒนา เพื่อชะล้างและเปิดพื้นที่เหล่านี้สู่ความเจริญ คนยากจนคือคนประเภทที่ไม่สามารถเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ประเทศชาติจะนำมาใช้ได้ มีลักษณะ "โง่ จน เจ็บ" กล่าวคือ ขาดการศึกษา มีรายได้ไม่เพียงพอ ร่างกายทรุดโทรมอ่อนแอ คนจนและความยากจนจึงเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ เป็นสิ่งที่ต้องบำบัด เยียวยา และเร่งฟื้นฟูให้กลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าอีกครั้ง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการเร่งฟื้นฟูเยียวยา ให้พ้นไปจากความยากจนนั้น มิได้เป็นดังคำกล่าวอ้าง เพราะความยากจนไม่เพียงยังดำรงอยู่ แต่ยังสร้างความทุกข์ยากรุนแรงเข้มข้นขึ้น ด้วยการพันธนาการคนที่ถูกนิยามว่ายากจนไว้ให้ตกอยู่ในการควบคุมกำกับ และชี้นำ โดยไม่อาจหลุดพ้นไปได้โดยง่าย

ในการศึกษานี้จะไม่กล่าวอ้างถึงตัวเลขคนยากจนที่นิยามจากเส้นความยากจน (poverty line) ที่ยังดำรงอยู่ หรือการกล่าวอ้างความทุกข์ยากจากรายได้ที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ หากแต่จะกล่าวอ้างถึง

- การซึมซับรับรู้ความหมายของคนที่ถูกนิยามว่ายากจน และ
- แบบแผนการปฏิบัติที่สังคมกระทำต่อคนยากจน

โดยวิเคราะห์ความหมายของความยากจนจากเอกสาร และตัวเลขสถิติมหภาคโดยมุ่งแสดงให้เห็นว่า คนทั่วไปรับรู้ความหมายของความยากจนในลักษณะอย่างไร และเกิดผลสิ่งใดตามมาบ้างจากการรับรู้ความหมายแบบนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าไม่เพียงความยากจนจะยังคงดำรงอยู่ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจะไม่มีทางหมดไปจากสังคมไทยและสังคมโลก

การวิเคราะห์ความหมายในระดับมายาคติ
การวิเคราะห์ความหมายในการศึกษานี้ใช้วิธีวิทยาแบบสัญวิทยา. โซซูร์ (Ferdinand De Saussure, 1959) กล่าวไว้ในงานเรื่อง "Course in general linguistics" ว่า การรับเอาความหมายที่ถูกส่งผ่านมา (transformation) ซึ่งไม่ใช่ความหมายอย่างตรงไปตรงมาในรูปของภาษา หากแต่เป็นสัญญะ (sing) ที่เกี่ยวเนื่องสัมพัทธ์กับบริบทแวดล้อม ซึ่งเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง และสถาบัน การส่งผ่านมายังบุคคลที่สองไปสู่การนิยามให้ความหมายที่ไม่จำเป็นต้องตรงไปตรงมาดังตัวรูปสัญญะ (signifier) ที่ให้ภาพปรากฏ (image) แต่ขึ้นอยู่กับการตีความและนิยาม ความหมายสัญญะ (signified) ที่ผันแปรไปตามปรากฏการณ์ เราจึงต้องศึกษาสัญญะในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีองค์ประกอบแวดล้อม

แม้ว่า โซซูร์ จะกล่าวถึงความหมายตรง (denotation) ซึ่งได้แก่การตีความตามสิ่งที่ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา ไม่ลดทอน ขยายความ ขณะที่ความหมายที่ผ่านประสบการณ์ ค่านิยม และปรากฏการณ์แวดล้อม เป็นความหมายแฝง (connotation) ที่ไม่ได้ตรงไปตรงมาดังเช่น ดอกกุหลาบแดง คือดอกไม้ชนิดหนึ่งมีกลิ่นหอมในความหมายตรง แต่เป็นสัญญะของความรักในความหมายแฝง แต่การวิเคราะห์ความหมายสัญญะในอีกระดับที่มีความลึกซึ้งและน่าสนใจคืองานของ โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ในเรื่อง "มายาคติในปัจจุบัน" (Myth Today) ในฐานะที่เป็นภาพมายาจอมปลอม ซึ่งเป็นภาพที่ถูกเสนอผ่านภาษาโดยมีเจตนากำกับ เป็นรูปแบบการให้ความหมาย ซึ่งเป็นความหมายที่อาจกล่าวได้ว่าอยู่เหนือความหมายตรง และความหมายแฝงของโซซูร์

ความหมายในระดับมายาคติ เป็นความหมายที่ไม่ต้องผ่านการตีความในตัวสัญญะ เพื่อค้นหาความหมายสัญญะ แต่เป็นระดับที่สามารถเกิดภาพความรู้สึกในความหมายได้เลย โดยความหมายในระดับแรกคือสัญญะ (sign) ที่ประกอบด้วยตัวรูปสัญญะ (signifier) และความหมาย (signified) ที่รับรู้ได้โดยตรงจากตัวสัญญะ ขณะที่ความหมายในระดับที่สองต้องผ่านการถอดรหัส (decode) ที่แฝงอยู่ในความหมายแรกของตัวสัญญะ การผสมผสานของความหมายในระดับแรก และระดับที่สองที่ทำการผลิตอุดมการณ์โดยมีสิ่งซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังอันเกิดจากการกระทำของอำนาจคือความหมายในรูปของมายาคติ (myht) อันเป็นความหมายชุดใหม่จากการลดทอดความหมายในชุดเดิมลง และเติมความหมายใหม่ลงไป เป็นความหมายที่สร้างอารมณ์ ความรู้สึก มีจุดประสงค์ที่แฝงอยู่ของการจัดกระทำผ่านตัวสัญญะ เพื่อให้เกิดความหมายขึ้น เป็นความหมายที่ให้การรับรู้โดยตัวของสัญญะได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการตีความ (Barthes, Edited by Mark, 2003, pp. 3-36.)

ดังเช่น ความยากจน ที่ได้แก่ ความขาดแคลน ไม่เพียงพอ อยู่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นภาพสัญญะในระดับความหมายตรง แต่เมื่อเป็นความหมายในระดับมายาคติ ความยากจนได้ถูกลดทอนความหมายเดิมลง และให้ภาพของความ หิวโหย ต่ำต้อย ด้อยค่า เป็นเคราะห์กรรมอันเกิดจากบาปติดตัว ที่ถูกลงโทษโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนยากจนจึงเป็นคนที่น่ารังเกียจ ไม่ควรเข้าไปคบหาสมาคมด้วย

ขณะที่ความหมายในปัจจุบันได้ให้ภาพของ ความยากจน เป็นความด้อยพัฒนา ขาดคุณสมบัติที่ดีของการเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ กลายเป็นภาระและเรื่องที่รัฐต้องเข้าไปแก้ไขฟื้นฟู เยียวยาโดยเร่งด่วน โดยปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจใหม่ และมีระบบการตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐโดยภาคประชาสังคม ขณะที่คนจนกลายเป็นคนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และมีหน้าที่ต้องเชื่อฟังรัฐเพื่อให้พ้นจากความยากจน ความยากจนในระดับมายาคติจึงเลื่อนไหล เปลี่ยนแปลง และก่อรูปขึ้นของสัญญะใหม่อันเกิดจากการเมือง และความต้องการของผู้มีอำนาจ เป็นการหน้าที่ซ้อน (double function) ของความหมายที่แฝงอยู่ถึงความต่ำต้อย ด้อยค่า จากคุณลักษณะที่ผิดพลาดของผู้ที่ได้รับการนิยามว่ายากจน ขณะเดียวกันก็ต้องเชื่อฟังรัฐ เพื่อให้พ้นจากความยากจน เพราะรัฐคือผู้มีหน้าที่เข้ามาบำบัดเยียวยา

มายาคติเป็นนามธรรม (abstract) ที่มีภาพของคุณค่า โน้นน้าวใจให้ยอมรับ และทำตามซึ่งถือเป็นการผลิตซ้ำมายาคติ เป็นระดับความหมายที่มีมิติอันหลากหลายเปลี่ยนรูปร่างได้ แต่ถูกลดรูปให้เหลือเพียงแค่แนวคิด (concept) การศึกษามายาคติต้องค้นหากรรมวิธีสร้างความหมาย การถอดรหัส (decode) สัญญะ เพื่อสร้างความหมาย (signification) ใหม่ที่เป็นมายาคติ เพื่อดูการบิดเบือนมายาภาพที่ถูกสร้างขึ้น การค้นหามายาคติในที่นี้ มีหน่วยการวิเคราะห์ที่วาทกรรมความยากจน เป็นวาทกรรมในรูปของความคิดที่กำกับให้เกิดการปฏิบัติ เสมือนเป็นคำสั่ง (word-order) ซึ่งได้จากงานของ ชิลส์ เดอเลิซ และเฟลิกซ์ กัตตารี (Deleuze and Guattari, 1987, pp.75-85) ในเรื่อง "Postulates of Linguistics"

คำที่เป็นคำสั่งที่ชี้แนะ กำกับให้ผู้ที่ถูกนิยามว่ายากจนปฏิบัติตาม เพื่อนำไปสู่การพ้นจากความยากจน เป็นคำสั่งที่ฟังดูมีเหตุมีผล เป็นความช่วยเหลือ ที่มีความน่าเชื่อถือ สร้างความเห็นพ้องต้องกัน มีฐานะเป็นวาทกรรมทางอ้อม (indirect discourse) เป็นเสียงบ่งบอกนัยสำคัญที่แฝงเร้นอยู่ท่ามกลางเสียงบอกกล่าวทั้งหมด แต่ได้สร้างผลสะเทือนถึงร่างกาย จิตวิญญาณ เสมือนเป็นคำพิพากษาที่ไม่ใช่เพียงเป็นการอ่านคำตัดสิน หากแต่ส่งผลถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนสถานภาพคนให้กลายเป็นนักโทษผ่านภาษา โดยที่ภาษาเป็นเพียงเครื่องมือส่งผ่านไปสู่การควบคุม กำกับ ชี้นำ ที่สื่อความหมายเพียงส่วนหนึ่งในฐานะที่เป็นโครงสร้างประโยค คำ ที่รับรู้ร่วมกันเท่านั้น

แต่สิ่งที่แฝงเร้นอยู่ซึ่งไม่ปรากฏในรูปแบบที่ง่ายและตรงไปตรงมา คือการแฝงเร้นด้วยคำสั่ง ภายใต้เงื่อนไขด้านการเมือง ขณะเดียวกัน การรับเอาความหมายที่ส่งผ่านมาก็ไม่ได้เป็นแบบที่ฝ่ายข้างมาก (majority) จะสามารถย่อยสลายความเป็นตัวตนของฝ่ายที่ถูกระทำลงได้ทั้งหมด (deterritorialisation) หากแต่มีการตอบสนองกลับไป (reactive) ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งการเข้าควบคุมเชิงบังคับ (force) ไม่จำเป็นต้องเป็นการใช้กำลังรุนแรง แต่อาจเป็นเรื่องที่แทรกซึมยอมรับเอาโดยไม่รู้ตัว เป็นความปารถนาดี เป็นมิตรภาพ และถ้อยคำที่ต้องการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา

ดังที่ ฟูโก (Foucault) แสดงให้เห็นใน "วินัยและการลงทัณฑ์" ที่มีทั้งสิ่งที่บ่งบอกให้กระทำ และสิ่งที่ห้ามไม่ให้กระทำ ขณะที่การตอบสนองกลับไปนั้นมีทั้ง ยอมรับ คัดค้าน ยืนยันเห็นพ้อง หรือปฏิเสธ ดังนั้นเสียงข้างน้อย (minority) สามารถตอบโต้ย่อยสลาย หรือส่งเสริมปริมณฑลทางอำนาจ และสร้างปริมณฑลพื้นที่ของตนเองขึ้นมาได้ด้วยเช่นเดียวกัน เป็นความเคลื่อนไหวที่เรียกว่าการกลายพันธ์ (mutation) ดังลำต้นใต้ดินที่แตกแขนงจากรากย่อยมากมาย (rhizome) แยกตัวออกมาก่อเกิดลำต้นใหม่ (Patton, 2000, pp 42-45, 97-108)

ดังเช่น ถ้อยคำที่ว่า "ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน" ซึ่งไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงคนที่ขยันเลย เพราะคนขยันเหล่านั้นไม่ยากจนและเป็นคนปกติธรรมดา หากแต่ข้อความนี้มุ่งปะทะโดยตรงต่อคนยากจน ซึ่งเป็นคำที่แฝงเร้นคำสั่ง ที่ต้องการให้คนยากจนขยันทำมาหากิน ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข (เมื่อว่างจากฤดูเพาะปลูกเก็บเกี่ยว ก็ให้ไปทำงานรับจ้าง) ขณะที่อีกนัยหนึ่งก็คือ คนยากจนที่ยังยากจนอยู่นั้นขี้เกียจ หรือการที่ต้องปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐบอกให้ทำเพื่อหลุดพ้นจากความยากจน เป็นต้น และก็ไม่ได้หมายว่า คนยากจนจะตอบสนองกลับไปในทางที่ยอมตาม เชื่อฟัง เพียงอย่างเดียว เขาสามารถต่อต้าน ขัดขืน ยอมรับบางสิ่งและสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นอาณาบริเวณ พื้นที่ของเขาเองขึ้นมาเป็นอัตลักษณ์เป็นตัวตน ที่เคลื่อนไหวและมีชีวิต

ความผันแปรไปของความหมายความยากจน
ในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน การรับรู้ความหมายของความยากจนไม่ได้มีเพียงมิติเดียว หากแต่มีลักษณะที่แตกต่างกันไปทั้งในด้านพื้นที่และเวลา วันนี้ความยากจนไม่ใช่สิ่งไม่พึงประสงค์อีกต่อไป ในทางตรงข้ามกลับกลายเป็นสิ่งที่สามารถยอมรับได้ และยินดีที่จะเป็น"คนยากจน". แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนยากจนเหล่านี้ ก็แสดงให้ผู้คนรอบข้างในสังคมเห็นว่าตนเองไม่ใช่คนที่มีคุณลักษณะของคนยากจนในแบบที่คนทั่วไปเข้าใจกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง"คนยากจน"กลายเป็นคนยากจนที่ไม่ยอมจน อันเป็นความจน (poorness) (1) ในความหมายที่แฝงอยู่ในความยากจน (poverty) แต่ในการต่อต้านขัดขืนเพื่อให้ตัวเองพ้นไปจาก "ความจน" นี้ กลับสร้างความลำบากยากแค้น และตกอยู่ในภาวะ "ความจน" ในอีกรูปแบบหนึ่ง

(1) ความจนในที่นี้ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการถูกนิยามว่า "ยากจน" โดยผู้ที่ถูกนิยามว่ายากจนจะมีลักษณะที่ต่ำต้อยด้อยคุณค่า ในภูมิหลังความเป็นมา ความถนัด และวิถีการดำเนินชีวิต เขาเหล่านี้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่เพื่อไปให้พ้นจากความยากจน เป็นวิถีชีวิตที่ถูกกำหนดชี้นำ ควบคุม และบังคับโดยทางอ้อมจากบุคคลที่ไม่ยากจน ความจนสามารถแยกพิจารณาได้ใน 3 มิติ คือ ภาวะไร้รากเหง้าของอดีตอันเป็นความเลวร้าย (unfounded) ภาวะไร้คุณค่า ต่ำต้อย ไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในงานที่ทำ (unvalued) และภาวะไร้ตัวตน คือขาดความเป็นตัวของตัวเองเป็นผู้ที่คอยเดินตามในสิ่งที่ผู้อื่นบอกให้กระทำและห้ามไม่ให้กระทำ (unautomated)

ความยากจนในสมัยกลาง
ก่อนหน้าการปฏิวัติอุตสาหกรรม(ในตะวันตก) ความยากจนเป็นภาวะความอดอยาก หิวโหย อันเนื่องจากภาวะภัยธรรมชาติ ความแห้งแล้ง น้ำท่วม นำไปสู่การขาดแคลนอาหาร และสิ่งของเครื่องยังชีพ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ ในตอนปลายของยุคกลาง (ราวศตวรรษที่ 11-13) ความยากจนกลายเป็นภาวะความทุกข์ยากหิวโหย จากภัยพิบัติ กล่าวคือคนจนเป็นผู้มีความเป็นอยู่อดอยาก ยากลำบาก เป็นผู้ที่ต้องได้รับการแก้ไขเยียวยา ซึ่งรัฐต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

จากบันทึกภาวะความอดอยากหิวโหย ในประเทศอังกฤษระบุว่า ในศตวรรษที่ 11-12 ประชาชนตกอยู่ในภาวะอดอยาก แร้นแค้น (famine) โดยเฉลี่ยถึงคราวละ 14 ปี มีคนตายเพราะความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บเป็นจำนวนมาก ประชาชนต้องกินเนื้อม้า เปลือกไม้ และหญ้าเป็นอาหาร. ในช่วงศตวรรษที่ 10-17 ภาวะความอดอยากหิวโหยเกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกจากสารานุกรมของอังกฤษระบุว่า ในปี ค.ศ. 1064-1072 ภาวะความอดอยาก แร้นแค้นเกิดขึ้นยุโรปเป็นเวลา 7 ปี ที่อิยิปต์ระหว่าง ค.ศ. 1148-1159 เป็นเวลา 11 ปี ในอินเดียระหว่าง ค.ศ. 1396-1407 (Farr, 1846, p.158; Walford, 1878, p.433 Cited by. Hazlitt, 1973, pp.14-15)

ภาวะที่เกิดขึ้นนี้ผู้ที่ประสบกับความยากจนมักเป็นบุคคลทั่วไป ที่ไม่ใช่ชนชั้นปกครอง คนเหล่านี้แม้ไม่ได้รับภัยพิบัติ ก็ถือว่าเป็นคนจน จากสถานะทางสังคมที่ในอดีตมีเพียงชนชั้นปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครอง คนยากจนจึงเป็นคนที่ต้องได้รับการฟื้นฟูช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ต่อไป. ปี 1597 รัฐสภาอังกฤษได้ผ่านกฎหมายให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูคนจน (poor law) และต่อมามีการลงทะเบียนคนจนในปี 1601 การศึกษากฎหมายฟื้นฟูคนจนของอังกฤษระหว่างปี 1780-1834 พบว่า มีการให้เงินช่วยเหลือแก่แรงงานที่มีสมาชิกจำนวนมากในครอบครัว ให้เงินช่วยเหลือในฤดูว่างงาน มีการประกันรายได้ต่ำสุดต่อสัปดาห์ที่พึงได้ (Boyer, 1990 pp.1,10) การให้ความช่วยเหลือคนจนโดยรัฐนี้ เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ความยากจนก่อนสังคมอุตสาหกรรม
ก่อนสังคมอุตสาหกรรมการมองความยากจนนั้น เป็นการช่วยเหลือคนจนด้วยความเมตตา เป็นการทำบุญ ให้ทาน ซึ่งคนจนพึงได้รับจากสังคม ระบบค่านิยมของสังคมเปลี่ยนแปลงไปเมื่อรับเอาการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาใช้ คนจนกลายเป็นคนที่สมควรได้รับการตำหนิ เป็นคนที่ไม่รู้จักพอ ไร้ศีลธรรม เป็นคนบาป และเป็นผู้ถูกลงโทษจากพระเจ้า ซึ่งเป็นมุมมองในตอนต้นของสังคมทุนนิยม แนวคิดนี้ทำให้คนจนเป็นที่น่ารังเกียจ ไม่สมควรคบหาสมาคมด้วย โดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดกลุ่มทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่ ที่มองว่าคนยากจนคือคนที่บกพร่องในการทำหน้าที่ต่อสังคม เป็นบุคคลที่ไม่ทำงาน ขี้เกียจ และสมควรจะถูกลงโทษหรือขจัดให้หมดสิ้นไปจากการเลือกสรรโดยสังคม

อันมีพื้นฐานจากแนวคิดการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในสังคม (social Darwinism) ผู้ที่แข็งแรงกว่า ขยัน ฉลาด คือผู้สมควรสืบทอดเผ่าพันธุ์ และผู้ที่จน โง่ ขี้เกียจก็ไม่สมควรอยู่ (Feagin and Feagin 1997, pp. 97) การสร้างความหมายให้กับคนยากจนจึงไม่ใช่เป็นบุคคลที่สมควรได้รับความช่วยเหลือด้วยความเมตตา หรือความมีมนุษยธรรมต่อเพื่อนมนุษย์อีกต่อไป หากแต่มีนัยของการฟื้นฟูให้คนที่บกพร่องเหล่านี้ กลับมาทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการจำเป็นของสังคมได้เฉกเช่นคนปกติ หรือมิเช่นนั้นก็กีดกันให้พ้นไปจากสังคม

ความเลวร้ายของความยากจน "คนยากจน" ได้ถูกตอกย้ำให้หนักแน่นขึ้น โดยมีลักษณะที่สามารถถ่ายทอดส่งต่อถึงลูกหลานและคนใกล้ชิดได้ ประดุจดังเชื้อโรคร้ายที่คนยากจนเป็นพาหะเผยแพร่จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากผลงานของ เลวิส (Oscar Lewis,1950) ได้เสนอแนวคิด วัฒนธรรมของความยากจน (culture of poverty) คนจนมีคุณลักษณะสำคัญที่ฝังแน่นในความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนชายขอบ (marginality) มีตำแหน่ง ที่ต่ำกว่าบุคคลกลุ่มอื่นในสังคมต้องพึ่งพา และรับความช่วยเหลือ มีลักษณะที่ยอมจำนน (resignation) และเชื่อในโชคชะตา ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในคนจน และได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา (socialization) ทำให้คนจนไม่เข้าร่วมกับองค์กรหรือกิจกรรมใดๆ ทางสังคม ไม่มีส่วนร่วมในองค์กรที่จะช่วยเหลือเขาได้ในเรื่องสวัสดิการทางสังคม เลวิสเห็นว่า วัฒนธรรมความยากจนนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนจน วนเวียนอยู่กับความยากจน แบบทำร้ายตัวเอง ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ฝังแน่นอยู่ในประเทศอาณานิคม และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย (2) (Lewis, 1950, Cited by Haralambos and Hoiborn, 1990, p.208)

(2) แนวคิดนี้ได้ถูกหักล้างในการศึกษาระยะต่อมา จากงานวิจัยที่พบว่า คนจนนั้นมีเป้าหมายของชีวิตเช่นเดียวกับคนทั่วไป เขาต้องการประสบผลสำเร็จ แต่ไม่สามารถหาหนทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้ นอกจากนั้นยังพบว่าคนจนในเมืองนั้นมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน และเป็นผู้มีส่วนร่วมในทางการเมืองเป็นอย่างดีด้วย (Haralambos and Hoiborn, 1990,pp.209-211)

ความยากจนหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม และช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 20
ภายหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม และทุนนิยมเจริญก้าวหน้าขึ้น ในตอนกลางของศตวรรษที่ 20 ความยากจนถูกทำให้เป็นระบบ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจโดยวัดความยากจนในมิติเดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่การวัดจากตัวเลขรายได้อันเป็นแนวคิดที่เร่งเร้าให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญและจัดการขจัดปัญหาความยากจน โดยการเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั่นเอง

การวัดความยากจนจากตัวเลขรายได้ที่เรียกว่าเส้นความยากจน (poverty line) ได้รับการส่งเสริมอย่างแข็งขันจากธนาคารโลก โดยระบุว่ามาตรฐานของการดำรงชีวิตอยู่สามารถวัดได้จากการมีรายได้ในระดับครัวเรือน และนำรายได้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายที่เพียงพอ การครอบครองเป็นเจ้าของสินค้ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนยากจน (the world bank,1990, p.13) การวัดความยากจนจากรายได้ขั้นต่ำที่พึงได้รับนี้ นำไปสู่ข้อเสนอการขจัดความยากจนให้หมดไปจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ กล่าวคือยิ่ง GDP สูงความยากจนก็ยิ่งมีแนวโน้มลดลง ดังเช่น World Bank ได้พยายามพิสูจน์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นผลดีต่อความยากจน

จากงานวิจัยหลายเรื่อง แต่ที่ถูกหยิบยกนำมากล่าวอ้างในตำราเศรษฐศาสตร์การพัฒนาได้แก่เรื่อง "การขยายตัวเป็นผลดีต่อคนยากจน" (Growth is Good for the Poor) โดย ดอลลาร์และเครย (Dollar and Kraay ,2001) ทั้งสองคนเป็นนักวิจัยของธนาคารโลก งานวิจัยนี้พยายามจะชี้ให้เห็นด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า รายได้หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้นได้กระจายไปสู่คนจน ที่ยิ่งรายได้ของประเทศมีสูงคนจนก็ยิ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงตามไป

นอกจากนั้นในโครงการวิจัยชุดเดียวกันอีกเรื่องที่ชื่อว่า "การค้า, การขยายตัว, และความยากจน" (Trade, Growth, and Poverty, 2001) มีเนื้อหายืนยันถึงผลดีของการเข้าสู่กระบวนการ Globalization ว่า ภายหลังปี 1980 เป็นต้นมาประเทศต่างๆ ได้เข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์ ทำให้มีการลดกำแพงภาษีลง ซึ่งก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา แต่หลังจากปี 1980 กลับพบว่า ประเทศที่เข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์ ซึ่งได้แก่ประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก(WTO) และดำเนินนโยบายการเสรีการค้า เริ่มมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ขณะที่การขยายตัวของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วชะลอตัวลง เช่นเดียวกับประเทศที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์

โดยพบแบบแผนเดียวกันนี้เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการค้า ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้วย. ในปี 1990 ประเทศกลุ่มที่เปิดรับโลกาภิวัตน์ (Globalizing development) เศรษฐกิจขยายตัว 5% ประเทศพัฒนาแล้ว 2.2% ประเทศที่ไม่เปิดรับโลกาภิวัตน์ (Non Globalizing development) เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.4%. วาทกรรมการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเปิดประเทศต้อนรับโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นผลดีต่อการลดความยากจนนี้ เป็น 2 วาทกรรมหลักของธนาคารโลกที่เผยแพร่มาจนกระทั่งปัจจุบัน

แต่การนิยามความยากจนที่รายได้และมุ่งสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความยากจนเพียงอย่างเดียว ทำให้สถานการณ์แก้ปัญหาความยากจนดูจะเลวร้ายลงในหลายประเทศ นับแต่ปี 1990 ที่แต่ละประเทศมีข้อตกลงกันว่าจะลดจำนวนคนยากจนให้เหลือครึ่งหนึ่งในปี 2015 ตามฉันทามติที่เรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหศวรรษ (Millennium Development Goals). แต่ 10 ปีนับจากวันนั้นสามารถลดจำนวนคนยากจนลงได้ 137 ล้านคน ในปี 2000 หรือลดลงได้ร้อยละ 6.7 ขณะที่บางภูมิภาคมีอัตราคนยากจนลดลง แต่ในบางภูมิภาคกลับเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เช่นในยุโรปและเอเชียกลาง (Europe and Central Asia) จาก 6 ล้านคนในปี 1990 เพิ่มเป็น 20 ล้านคนในปี 2000 และกลุ่มอาฟริกา (Sub-saharan Africa) จาก 241 ล้านคนในปี 1990 เพิ่มเป็น 323 ล้านคนในปี 2000 และถึงแม้ว่าธนาคารโลกยังคงยืนยันว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีผลดีต่อเป้าหมายการลดความยากจน แต่ก็ยอมรับว่า ด้วยระยะเวลาที่เหลือ 15 ปี ตามที่กำหนดไว้นั้น ในบางภูมิภาคอาจไม่เพียงพอที่จะลดความยากจนได้ตามเป้าหมาย แม้จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในภูมิภาคต่างๆ ก็ตาม (The World Bank, 2005, p. 21)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สร้างให้เกิดช่องว่างของการกระจายรายได้ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอัตราคนยากจนที่ไม่ได้ลดลงในหลายประเทศ นำไปสู่การมองว่า ที่คนจนไม่ได้รับผลประโยชน์เป็นเพราะข้อจำกัดทางโครงสร้างที่ไม่สามารถกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนคนยากจนได้ เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการกระจายทรัพยากรใหม่ (redistribution) เพราะโครงสร้างที่มีอยู่เดิมไม่เป็นธรรม เหนี่ยวรั้งคนจนไว้ ทำให้พวกเขาขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่มีทักษะที่ดีพอในด้านอาชีพ รวมไปถึงค่านิยมและการดำเนินชีวิตที่แตกต่าง จุดสนใจจึงหันกลับมาที่รัฐในการทำหน้าที่กระจายทรัพยากร และผลประโยชน์ลงไปถึงคนยากจน แทนที่จะสนใจเพียงการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

ด้วยมุมมองที่ว่า ภาวะความยากจนเกี่ยวพันธ์โดยตรงกับการพัฒนามนุษย์ ที่ไม่เพียงแต่จะพิจารณาเฉพาะรายได้ที่เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่การพัฒนาหมายรวมถึงความสามารถที่บุคคลจะเข้าถึงการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข โดยมีอิสระที่จะเลือกวิถีทางการดำรงชีวิตด้วยตัวเอง. อมาตยา เซ็น (Amartya Sen) เสนอว่าการพัฒนาจะต้องนำไปสู่ความสามารถที่จะเข้าถึงการได้รับสินค้า และการบริการ (capability to function) โดยบุคคลต้องมีอิสระ(freedom) และความสุขที่จะเลือกในสิ่งที่เขาต้องการจะได้รับ (Sen, Ed. by Goodin and Pettit, 1997 pp.476-486)

ดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) หรือ HDI
ปี 1990 องค์กรการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดทำตัวชี้วัดที่เรียกว่าดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) หรือ HDI ขึ้น โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนคือความมั่งคั่งของชาติ พื้นฐานของการพัฒนาก็เพื่อให้คนมีอิสระ (freedom) ทำให้คนมีความสามารถ (capabilities) โดยเปิดช่องทางให้เกิดทางเลือกที่จะมีความสุขในชีวิต ซึ่งประชาชนนั้นเป็นทั้งผู้ก่อให้เกิดการพัฒนาและผู้รับผลของการพัฒนา ดังนั้น HDI จะเป็นตัวชี้ถึงความเท่าเทียมกันของปัจเจกบุคคลในการได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนา ซึ่งดัชนีที่ใช้วัดระดับการพัฒนามนุษย์ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัด

1) ความยืนยาวของชีวิต (life expectancy at birth)
2) ความรู้ (knowledge) ซึ่งได้แก่ จำนวนของผู้ที่อ่านออกเขียนได้ ค่า Ratio ของจำนวนผู้ได้รับ
การศึกษาในระดับ ประถม มัธยม และอุดมศึกษา
3) ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเบื้องต้นต่อหัว ที่ปรับค่าตามค่าครองชีพของประเทศนั้นๆ {GDP per capita (ppp US$)} (United Nation Development Program, 2005 : 127)

การจัดทำตัวชี้วัด HDI นี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างความแตกต่างของปัจเจกบุคคลในการรับผลการพัฒนา จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยประเทศต่างๆ พยายามสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการได้รับบริการ พร้อมไปกับการสร้างรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่รัฐจัดสรรการบริการด้านสาธารณสุข และการศึกษาแก่ประชาชน นอกจากนั้นยังเป็นการลดความยากจนลงในทางอ้อม เมื่อรัฐเข้าไปแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านความจำเป็นพื้นฐานเหล่านี้แทนประชาชนที่ยากจน กล่าวได้ว่า HDI เกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะกำกับให้ประเทศต่างๆ ส่งผ่านผลประโยชน์ในรูปสวัสดิการทางสังคมไปสู่ประชาชนที่ยากจนเพิ่มมากขึ้น และกระจายผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายของรัฐเพื่อส่งผ่านไปยังคนยากจน

พร้อมไปกับมาตรวัดความยากจนแบบที่ให้ความสำคัญกับคน ในการได้รับผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ. UNDP ได้เสนอแนวทางที่หลากหลายซึ่งจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างใหม่ของการกระจายทรัพยากร โดยเสนอให้มีนโยบายเติบโตอย่างเท่าเทียม (growth with equity) ด้วยการสร้างงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่คนยากจนโดยการลงทุนจากภาครัฐ การควบคุมราคาอาหารที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และให้การบริการด้านการศึกษา และการสาธารณะสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งให้มีสถาบันการเงินขนาดเล็กในท้องถิ่นที่คนจนจะสามารถกู้ยืมเงินได้ (United Nation Development Program, 1990, p.61-83)

ธนาคารโลกกับนโยบาย Post Washington Consensus
ในช่วงเวลาเดียวกันธนาคารโลก ก็ปรับนโยบายใหม่ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ โดยส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนกำหนดทิศทางการพัฒนา รู้จักกันในชื่อ"หลังฉันทานุมัตรวอชิงตัน" หรือ PWC (Post Washington Consensus) อันเป็นผลมาจากองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลก ได้เคลื่อนไหวคัดค้านความผิดพลาดในวิธีคิดของการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งล้มเหลวในเชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถปรับให้เกิดประโยชน์ต่อความยากจนได้

แต่เหตุผลที่ลึกกว่านั้นจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารโลกโดย กิบบอน (Gibbon 1995) พบว่า สหรัฐอเมริกาที่เดิมใช้ธนาคารโลกเป็นเครื่องมือด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เริ่มเห็นถึงการสูญเสียผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ประสบผลสำเร็จด้านการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกสินค้าเกษตร รัฐบาลของประเทศเหล่านี้เริ่มมีความเข้มแข็งในการปกป้องสินค้านำเข้าจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และบทบาทของธนาคารโลกในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเริ่มลดลง ดังนั้นภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในสหรัฐฯ ที่เคยได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานของธนาคารโลก มีความประสงค์ต้องการให้ธนาคารโลกคงบทบาทสำคัญในการชี้นำนโยบายอยู่ต่อไป และต้องการให้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเม็ดเงินที่ลงไปในรูปของเงินกู้จากประเทศกำลังพัฒนากลับคืน

ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้เป็นตลาดส่งออกในสินค้าระดับกลาง เพราะเริ่มมีข้อจำกัดด้านความต้องการซื้อสินค้าระดับนี้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จึงได้ผลักดันให้ธนาคารโลกปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ (Storey, 2000, pp.361-370) ไปสู่การเสนอแนวคิดการเปิดประเทศรับกระแสโลกาภิวัตน์ แต่ก็ยังคงยืนยันว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีผลดีต่อคนยากจน เพียงแต่การขยายตัวเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีการส่งผ่านทรัพยากรโดยประเทศที่พัฒนาแล้วไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา รวมทั้งการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการจัดการของสถาบันทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่สามารถลดความยากจนลงได้ (The World Bank, 2004 ,pp. 2-3b.)

ธนาคารโลกยังเสนอด้วยว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์ (globalization) ซึ่งได้แก่ การลดลงของต้นทุนการคมนาคมขนส่ง การกีดกันทางการค้า ความสามารถในการติดต่อสื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี รวมถึงการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานเป็นผลดี โดยทำให้เกิดวัฒนธรรมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน (uniformity of culture) เมื่อประเทศต่างๆ ลดกำแพงภาษีลงก็จะเกิดการเคลื่อนย้ายทุนจากประเทศพัฒนาแล้วมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา ที่ดินที่มีอยู่มากมายถูกนำมาใช้ประโยชน์สร้างผลผลิต ซึ่งกระบวนการนี้เป็นพลังสำคัญในการลดความยากจน จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยืนยันว่าระหว่างปี 1993-1998 ประเทศที่เปิดระบบเศรษฐกิจเข้ากระบวนการโลกาภิวัตน์ มีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวถึงร้อยละ 5, ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น นอกจากนั้นยังสามารถลดคนยากจนที่เป็นประชากรของประเทศในกลุ่มเปิดรับโลกาภิวัตน์นี้ได้อีกถึง 120 ล้านคน (The World Bank, 2002, pp. 1-4)

จากบทบาทขององค์กรการพัฒนาแห่งสหประชาชาติที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมในการมองความยากจน ประกอบกับการปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารโลก การมองความยากจนอันเป็นผลมาจากโครงสร้างจึงได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นระบบชัดเจน และมีคำตอบสำหรับการนำไปใช้งานแบบสินค้าสำเร็จรูป ทำให้มาตรวัดความยากจนหันมาให้ความสนใจกับดัชนีชี้วัดคุณภาพของคนมากขึ้น เป็นการวัดแบบหลากหลายมิติ (multidimensional approach) ให้ความสำคัญกับความจำเป็นพื้นฐาน(basic needs) ของคน และไม่จำกัดอยู่ที่มิติด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงมิติด้านสังคมด้วย ซึ่งมาตรวัดดังกล่าวได้แก่มาตรวัดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง (Boltvinik, 2000, pp. 1-6) พร้อมไปกับมาตรวัดแบบหลายมิติ

โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม หรือ Social Safety Net
การแก้ปัญหาความยากจนได้ถูกทำให้กลายเป็นตัวแบบสำเร็จรูปมากขึ้น มีคู่มือแนวทาง และผลงานวิจัยของประเทศต่างๆ ที่ใช้วิธีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้กระจายผลการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปสู่คนยากจน ซึ่งเรียกรวมวิธีการปรับโครงสร้างดังที่กล่าวอ้างว่า "โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม" หรือ "Social Safety Net" ซึ่งหมายถึงการให้ความช่วยเหลือหรือสวัสดิการสังคมที่ส่งผ่านไปสู่คนยากจน เพื่อฟื้นฟูเยียวยา ในด้านการเข้าถึงทรัพยากรและรายได้ โดยฟื้นฟูคนยากจนให้กลับมามีศักยภาพด้านการผลิตอีกครั้ง

นโยบายนี้ประกอบไปด้วย การส่งผ่านเงินไปยังคนยากจน (cash transfers) โดยอาจส่งผ่านเพื่อให้การสนับสนุนในด้านการเรียนในโรงเรียน หรือการได้รับการบริการสุขภาพ หรือแม้แต่การส่งเงินไปให้โดยตรงในรูปของเงินกู้หมุนเวียน นอกจากการส่งผ่านเงินลงไปแล้ว ก็ยังมีเรื่องอาหารในรูปของคูปองแลกอาหาร สนับสนุนอาหารกลางวันในโรงเรียน การควบคุมราคาหรือการที่รัฐให้งบประมาณสนับสนุนเพื่อให้คนยากจนสามารถซื้ออาหารได้ในราคาถูกลง นอกจากนั้นก็มีรูปแบบการให้ความช่วยเหลือในด้านการจ้างงาน ในลักษณะงานสาธารณะ (public works) ที่รัฐจ้างประชาชนทำงานในฤดูว่างงาน รวมถึงการให้การรักษาพยาบาล การคุมกำเนิด ฉีดวัคซีน ที่รัฐให้บริการประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (The world bank, online, 2007)

ในกรณีของประเทศไทย ได้นำทุกวิธีการมาใช้ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในรูปของการส่งผ่านเงินไปโดยตรง จากนโยบายกองทุนหมู่บ้าน และ SML, 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการธงฟ้าราคาประหยัด หรือกรณีการจ้างงานสาธารณะก็เคยถูกใช้มาแล้วในรูปของโครงการเงินผัน ในสมัยรัฐบาล มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และปรับเปลี่ยนเป็นโครงการ กสช. (การสร้างงานในชนบท) สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รวมถึงโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียนในหลายรัฐบาล

แม้ว่าเหตุแห่งความยากจนจะขยับออกห่างจาก "คนยากจน" แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงได้รับอิทธิพลจากลักษณะความบกพร่องของคนยากจนเอง จนเกิดเป็นวัฒนธรรมความยากจน เพราะสิ่งเหล่านี้แม้จะถูกกำหนดขึ้นโดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมืองก่อให้เกิดลักษณะความยากจน แต่ขณะเดียวกันความยากจนก็สร้างบุคลิก วัฒนธรรมแห่งความยากจนขึ้น และสะท้อนกลับมาส่งเสริมให้เกิดความยากจนต่อคนจนมากยิ่งขึ้นไปอีก (Kerbo, 2000, pp. 245-263)

จะเห็นได้ว่ามุมมองที่มีต่อปัจเจกบุคคล และวัฒนธรรมของความยากจนนั้นไม่ได้หมดไป เพราะแม้ว่าจะมองว่าโครงสร้างได้สร้างความยากจนขึ้น แต่ลักษณะความบกพร่องของคนยากจนก็ยังดำรงอยู่ และพร้อมจะสืบเชื้อสายของวัฒนธรรมความยากจน ดังจะเห็นได้จากการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนที่สะท้อนภาพความบกพร่อง ไร้ระเบียบของคนยากจน เช่น "จน เครียด กินเหล้า" ในโฆษณาให้ประชาชน ("คนยากจน") เลิกเหล้า หรือคำพูดก่อนเริ่มรายการประกาศหาผู้สมัครงานที่ว่า "ไม่เลือกงานไม่ยากจน" เหล่านี้ล้วนสะท้อนภาพวัฒนธรรมความยากจน และความบกพร่องของการประพฤติปฏิบัติของคนยากจน

ขณะที่การมองความยากจนอันเป็นผลมาจากโครงสร้าง ก็ได้นำไปสู่การสร้างคนยากจน ให้กลายเป็นเป้าหมายของการพัฒนาฟื้นฟู คนยากจนกลายเป็นศูนย์กลางที่ทุกฝ่ายมุ่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ดังที่การพัฒนาในปัจจุบันมักพูดว่า คน(จน)เป็นศูนย์กลาง วิธีการที่ทำให้คนเป็นศูนย์กลางนี้ก็คือ การทำให้เป้าหมายของการพัฒนาอยู่ที่ปัจเจกบุคคล และใช้ตัวชี้วัดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคน เป็นสิ่งบ่งบอกความสำเร็จของการพัฒนา

ความหมายของความยากจน ในปัจจุบันจึงเป็นความขาดแคลน ทั้งในเรื่องรายได้ การศึกษา การบริการสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นสวัสดิการที่รัฐพึงจัดให้อย่างครอบคลุมทั่วถึงและเป็นธรรม เป็นเรื่องของโอกาสที่รัฐมีหน้าที่ต้องหยิบยื่นโอกาสเหล่านี้ให้เพื่อสามารถเลื่อนฐานะขึ้น นอกจากนั้นยังพิจารณาไปถึงอำนาจ สิทธิเสรีภาพ มิติของความยากจนจึงมีหลากหลายมิติ (Mooney, 2002, p. 284) แต่ทั้งหมดถูกทำให้มาตรฐานสากล ในรูปของดัชนีชี้วัดที่ง่าย สะดวก และเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการพัฒนาซึ่งได้แก่ เส้นความยากจน (poverty line) และดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ (HDI) และดัชนีชี้วัดอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ วัดปริมาณตัวเลขที่สะท้อนถึงการได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียน การได้รับบริการสาธารณสุขและพฤติกรรมด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนา และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนถูกกำหนดขึ้นจากสังคมตะวันตก และประเทศที่พัฒนาแล้ว

จากความผันแปรไปของความหมายความยากจน ในปัจจุบันจึงมีลักษณะที่เหลื่อมซ้อน เชื่อมโยง ทั้งจาก สถานะทางสังคมที่ด้อยกว่าต่ำกว่าของคนยากจน การมีรายได้ที่ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต การไม่ได้โอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากร เป็นบุคคลที่การศึกษาต่ำ สุขภาพอนามัยมีปัญหา ขาดทักษะการทำงาน และยังคงแฝงไว้ด้วยคุณลักษณะอันไม่พึงประสงค์ ที่ต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยา อันเป็นความบกพร่อง ผิดปกติของคนยากจนที่สามารถสืบทอดส่งต่อไปยังลูกหลาน




 

Create Date : 12 ตุลาคม 2550
4 comments
Last Update : 12 ตุลาคม 2550 16:47:54 น.
Counter : 4760 Pageviews.

 

การส่งผ่านความหมายไปยังคนยากจนในประเทศไทย
การส่งผ่านวาทกรรมความยากจนเข้าสู่พื้นที่ ศึกษากรณีประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะใน 3 ช่วงเวลา คือ

1. ยุคเตรียมการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขจัดความยากจน พ.ศ. 2504-2524
2. ยุคประกาศเขตพื้นที่ยากจน พ.ศ.2525-2535
3. ยุคจัดระเบียบคนยากจน พ.ศ. 2536 - ปัจจุบัน

1. ยุคเตรียมการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขจัดความยากจน พ.ศ. 2504-2524 นับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504) เป็นต้นมา รัฐบาลได้ลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้ง ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และการศึกษา และการบริการสาธารณสุข โดยค่อยๆ กระจายลงสู่ภูมิภาคมากขึ้นตามลำดับ ในช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านการคมนาคมสื่อสาร สำหรับการดำเนินการปรับเปลี่ยนไปไปสู่สิ่งที่รัฐเรียกว่า"การพัฒนา" โดยมีแหล่งให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่สำคัญคือ ธนาคารโลก

เอกสารจากธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทยระบุว่า ธนาคารโลกได้เริ่มให้เงินกู้แก่ประเทศไทยนับแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2493 จนถึงปี พ.ศ.2542 มีจำนวนโครงการเงินกู้ 127 โครงการ คิดเป็นเงิน 7.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลักษณะโครงการที่มียอดเงินกู้สูงสุดได้แก่ สาขาการไฟฟ้าและพลังงาน จำนวนเงินที่กู้ไปทั้งหมด 1,565 ล้านเหรียญสหรัฐฯ. รองลงมาได้แก่การขนส่งจำนวนเงิน 1,129 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยโครงการเงินกู้ในช่วงปี 2490-2510 ส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟ ท่าเรือ โรงไฟฟ้า โทรคมนาคม ถนน และการกู้เพื่อการชลประทาน (บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ, 2544, น.17-18)

ในช่วงปี 2504- 2524 รัฐได้ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตโดยส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เร่งขยายพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตมีเป้าหมายเพื่อการส่งส่งออก ในช่วงปี 2515-2519 ได้เกิดพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ ได้แก่ ข้าวโพด พืชน้ำมัน มันสำปะหลัง และปอ รวมถึงสัตว์น้ำประเภท กุ้ง ปศุสัตว์ พืชไร่ ประเภท ถั่วเหลือง ฝ้ายและใบยาสูบ ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดในขณะนั้น นอกจากนั้นยังส่งเสริมการผลิตภาคการเกษตรที่ทดแทนการนำเข้าด้วย ซึ่งได้แก่ ฝ้าย ยาสูบ เยื่อกระดาษ สินแร่เหล็ก และผลิตภัณฑ์จากนม สำหรับการเพาะปลูกพืชการเกษตรที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ก่อนมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การผลิตด้านการเกษตรในสาขาพืชผลมีเพียงข้าวเป็นพืชหลักประเภทเดียว และเป็นการผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นสำคัญ แต่จากแนวทางการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทำให้มีโครงข่ายถนนหลวงจำนวนมากไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เป็นเส้นทางการอพยพจับจองพื้นที่ป่าเพื่อการเพาะปลูก พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงไม่เหมาะกับการปลูกข้าว ทำให้พืชไร่ เช่น ข้าว ปอ มันสำปะหลัง และยาสูบ ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ (โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์, 2534, น.14-15)

นอกจากนั้นในช่วงเวลาระหว่างปี 2518 เป็นต้นมาจนกระทั่งปี 2524 ซึ่งอยู่ระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (2515-2519) ต่อเนื่องมาจนกระทั่งสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 เป็นช่วงเวลาที่ได้เกิดโครงการที่เรียกว่า โครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยเหลือประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (*) รัฐบาลในขณะนั้นจัดสรรเงิน 2,500 ล้านบาท ให้กับสภาตำบล ตำบลละ 4.8 แสนบาท โดยสภาตำบลสามารถกำหนดโครงการพัฒนาขึ้นเอง ซึ่งต้องเน้นการจ้างแรงงานของคนในท้องถิ่นเป็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนมีงานทำในฤดูแล้ง และให้มีวัตถุถาวรจากการก่อสร้าง โครงการดังกล่าวรู้จักกันในชื่อว่า "โครงการเงินผัน" (เมธี ครองแก้ว และคณะ, 2524, 2-3)

(*) รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช มีนโยบายที่คล้ายกับนโยบายประชานิยมในปัจจุบัน คือ ให้ผู้มีรายได้ขึ้นรถเมล์ และรักษาพยาบาลฟรี และจัดสรรเงินปีละ 2,500 ล้านบาทให้กับโครงการเงินผัน

การให้ความช่วยเหลือประชาชนในรูปของการจ้างงานสาธารณะ (public work) นี้ได้มีการดำเนินการต่อเนื่อง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น"โครงการสร้างงานในชนบท" ในปี พ.ศ. 2523 โดยจัดสรรงบประมาณใน ปี พ.ศ. 2523 และ 2524 ประมาณปีละ 3,500 ล้านบาท และในช่วงปี พ.ศ.2525-2529 อีกปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อว่าจ้างชาวบ้านซึ่งว่างงานในฤดูแล้งมาสร้างสาธารณูปโภคในท้องถิ่นเอง เน้นการพัฒนาแหล่งน้ำและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรด้วย

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2534 ให้เปลี่ยนโครงการสร้างงานในชนบทมาเป็น "โครงการพัฒนาตำบล" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของท้องถิ่น และแก้ไขปัญหาความยากจนและสร้างเศรษฐกิจชุมชน โครงการพัฒนาตำบลอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี งบประมาณของโครงการพัฒนาตำบลจะถูกจัดสรรไปสู่โครงการ 7 ประเภท ดังนี้ 1) น้ำกินน้ำใช้ 2) น้ำเพื่อโครงการเกษตร 3) พัฒนาอาชีพและรายได้ 4) สิ่งสาธารณประโยชน์ 5) อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6) การพัฒนาองค์กรท้องถิ่นและบุคลากรท้องถิ่น และ 7) โครงการพัฒนาระหว่างตำบล โครงการพัฒนาตำบลได้รับงบประมาณในปีงบประมาณ 2540 จำนวน 5,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 และพ.ศ. 2542 เป็นจำนวน 4,000 ล้านบาท และ 2,000 ล้านบาท ตามลำดับ ปัจจุบันโครงการพัฒนาตำบลไม่มีการดำเนินการแล้ว (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ออนไลน์, 2550)

ในยุคแรกของการกำหนดนิยามความยากจน จึงเป็นการปรับเตรียมโครงสร้างเพื่อให้คนยากจนพร้อมสำหรับการเป็นกำลังการผลิต โดยเฉพาะการผลิตพืชเศรษฐกิจด้วยการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ไม่เพียงเป็นสิ่งสนับสนุนการขยายพื้นที่เพาะปลูก ยังเป็นเส้นทางเผยแพร่ความคิดเกี่ยวกับความยากจนลงไปสู่พื้นที่ด้วย ขณะเดียวกันก็ส่งผ่านความหมายความยากจนอันเกิดจากการว่างงาน หรือไม่มีงานทำช่วงว่างเว้นจากการผลิต โดยรัฐนำเงินลงไปจ้างงานให้คนเหล่านี้ทำ. งาน-รายได้-กับการขจัดความยากจนจึงเป็นสิ่งที่เกิดควบคู่กัน

2. ยุคประกาศเขตพื้นที่ยากจน พ.ศ.2525-2535
ช่วงเวลานี้ถือได้ว่าเป็นทศวรรษของการประกาศเขตพื้นที่ยากจน จุดเน้นของการดำเนินการของรัฐในช่วงนี้ก็คือ แก้ปัญหาความยากจนในชนบทล้าหลัง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ได้กำหนดจุดประสงค์การพัฒนาชนบทเป็นเป้าหมายหลักสำคัญ เพื่อมุ่งพัฒนาชนบทในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา โดยจะมุ่งพัฒนาชาวชนบทที่ยากจนให้ขึ้นสู่ระดับพอมีพอกิน และสามารถก้าวไปสู่ขั้นการอยู่ดีกินดีขึ้นในระยะยาวต่อไป แผนพัฒนาชนบทยากจนอันเป็นแผนย่อยในแผนพัฒนาฉบับนี้ ระบุว่า

"...ได้ยึดถือหลักการพัฒนาที่ให้ความสำคัญแก่พื้นที่ยากจนหนาแน่นก่อน ด้วยการปรับปรุงให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น และให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาที่พวกเข้าเผชิญอยู่ให้มากที่สุด มิใช่เป็นการให้จากรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว…" ( สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,ออนไลน์, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5, น.10)

การดำเนินการให้เป็นไปตามจุดประสงค์การพัฒนาชนบทดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาชนบท โดยเริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 เป็นต้นมา มีประกาศครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายรวม 216 อำเภอ 30 กิ่งอำเภอ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้ โดยกำหนดให้ส่วนราชการจัดสรรงบประมาณและโครงการลงในพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวให้มากที่สุด งบประมาณที่ส่งผ่านลงไปยังพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม คือการกระจายเม็ดเงินลงสู่ชนบทโดยตรง ที่เรียกว่า"โครงการสร้างงานในชนบท" โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในเขตชนบทยากจนให้มีงานทำในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว อีกทั้งเพื่อพัฒนาองค์กรท้องถิ่นให้เข้มแข็ง และสามารถพึ่งตัวเองได้โดยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง. ในช่วงปี พ.ศ. 2530-2535 กำหนดเป้าหมายที่สำคัญเพื่อการจ้างงานประชาชนจำนวน 3 ล้านคน ในพื้นที่ยากจนในฤดูที่ว่างจากงานเกษตรตามปกติ

การประเมินโครงการแก้ปัญหาความยากจน
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น (ประธานองคมนตรีในปัจจุบัน) กล่าวว่า "เงินที่เราลงไป โครงการ กสช. ลงไป 7 ปีแล้ว เราลงไปปีหนึ่งประมาณ 2,000-2,500 ล้านบาท ลองคูณเอาเองว่าจะออกมาเท่าไร" (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, 2530, น.2) ผลการดำเนินการที่ตามมาก็ไม่ต่างกันนักกับโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งโครงการเอ็ส เอ็ม แอล (small medium large : SML) โดยผลการประเมินโครงการในขณะนั้นพบว่า โครงการสร้างงานในชนบท ซึ่งเป็นโครงการที่กระจายเงินจ้างงานไปสู่สภาตำบลนั้น หลักการจัดสรรเงินจะจัดสรรโดยคำนวณจากปริมาณน้ำฝน และรายได้ต่อหัวของประชาชนในจังหวัด กล่าวคือ ยิ่งมีความแห้งแล้งและยากจนสูงก็ยิ่งได้รับเงินจัดสรรมาก กระนั้นก็ตามจากการประเมินผลโครงการพบว่า

- เงินโครงการไม่ได้นำไปช่วยประชาชนที่ยากจนที่สุดก่อน และมีแนวโน้มว่าผู้มีฐานะดีจะได้รับประโยชน์จากโครงการ (เมธี ครองแก้วและคณะ, 2524, น. 8-9, 58) ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะทั่วไปของโครงการของรัฐที่มักจะตกอยู่กับผู้มีฐานะดี หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในท้องถิ่น คนกลุ่มเหล่านี้มักจะได้ผลประโยชน์ก่อนในอันดับแรก ซึ่งไม่ต่างจากโครงการแก้ปัญหาความยากจนในปัจจุบัน

- นอกจากผลในระยะสั้นคือ เม็ดเงินที่ได้เป็นค่าแรงแล้ว ผลในระยะยาวของการดำเนินโครงการ กสช. พบว่า ส่วนใหญ่แล้วโครงการที่เสนอขอจ้างงาน ไม่ได้นำไปสู่การเพิ่มรายได้แต่อย่างใด แต่มักจะเป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ประเภทถนน ไฟฟ้า ประปา ชลประทาน ซึ่งเป็นการเลียนแบบพื้นที่ที่เจริญแล้ว แนวทางการพัฒนานี้จึงไม่ได้เป็นการช่วยแก้ปัญหาของคนชนบทยากจนอย่างแท้จริง (ปาริชาต ลอตระกูล, 2530, น.53)

- ลักษณะความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก การสื่อสารคมนาคมนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของ กองศึกษาและเผยแพร่การพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในเดือนมีนาคม 2529 พื้นที่ชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หมู่บ้านยากจน 63 หมู่บ้าน พบว่า ประชาชนในชนบทที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.9 มีโทรทัศน์ดูก่อนที่จะมีไฟฟ้าใช้ โดยซื้อแบตเตอรี่เพื่อเป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าให้กับเครื่องรับโทรทัศน์ ที่เหลือร้อยละ 33.3 มีโทรทัศน์ในปีเดียวกันกับที่มีไฟฟ้าหรือไม่เกิน 1 ปีหลังมีไฟฟ้าใช้ มีเพียงร้อยละ 4.8 ที่มีโทรทัศน์หลังจากมีไฟฟ้าแล้ว 2 ปีขึ้นไป (ทัศนีย์ มุขวิจิตและ อัจฉรา ภาคิกะวัยวัฒน์, 2530, น.145-153)

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ชนบทยากจนนั้นรับเอาการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องใช้ไฟฟ้า และความต้องการคมนาคมสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว และสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ต่างไปจากคนในภาคเมือง ขณะเดียวกันก็แสดงถึงความสำเร็จของการส่งผ่านความหมายของความยากจน ที่ใช้วิถีชีวิตของคนในเมืองเป็นตัวแบบของความไม่ยากจน

ความยากจนในช่วงเวลานี้จึงมีความหมายในสองลักษณะ ที่สำคัญคือ

- รายได้ต่ำ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ด้อยกว่า ต่ำกว่า ในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกเมื่อเทียบกับเมือง และ
- การมีรายได้เพิ่มขึ้นก็คือความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าเครื่องอำนวยความสะดวก

การพัฒนาชนบทแนวใหม่
นอกเหนือจากการกำหนดพื้นที่เป้าหมายความยากจน และการกระจายเม็ดเงินลงไปอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ในปี 2524 เป็นต้นมา ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2524 ว่าด้วย ระบบบริหารการพัฒนาชนบทแนวใหม่ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า "ระบบ กชช." ระบบนี้ออกแบบมาเพื่อเน้นให้เกิดเอกภาพในการบริหารงานพัฒนาชนบทในทุกระดับ โดยจัดตั้งองค์กรบริหารที่เป็นเส้นตรงสายเดียวจากระดับชาติ ลงไปจนถึงระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งเป็นระบบที่สอดคล้องกับการกำหนดพื้นที่เป้าหมายความยากจน เพราะใช้ข้อมูลชุดเดียวกันโดยทุกองค์กรหน่วยงาน ทั้งระดับชาติลงไปจนถึงระดับอำเภอ รับรู้ร่วมกันว่าพื้นที่ใดคือพื้นที่เป้าหมายที่จะขจัดความยากจน

การดำเนินการที่สำคัญคือ เน้นให้คณะกรรมการหมู่บ้าน และสภาตำบล เป็นผู้เสนอขอโครงการโดยตรงมายัง คณะกรรมการพัฒนาอำเภอ (กพอ.) อำเภอเสนอต่อมายังจังหวัด (กพจ.) เพื่อจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดประจำปี และนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช.) และกระทรวง, ทบวงฐ กรม, ภายใต้ระบบ กชช. นี้รัฐบาลกำหนดนโยบายแก้ปัญหาความยากจนไว้ 2 ประการที่เด่นชัดคือ

ประการแรก มุ่งเน้นให้มีการขยายขอบเขตการพัฒนาชนบทให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และ
ประการที่สอง มุ่งเน้นให้ประชาชนได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตนเอง
โดยผ่านเครื่องมือสำคัญคือ เกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน หรือ จปฐ.

และเพื่อให้นโยบายทั้ง 2 ประการ บรรลุผลโดยเร็วตรงตามกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ระบบ กชช. จึงได้แบ่งพื้นที่ชนบทออกเป็น 3 ระดับ คือ ชนบทล้าหลัง ชนบทปานกลาง และชนบทก้าวหน้า (ปาริชาต ลอตระกูล, 2530, น.55-56) จากนโยบายสองประการดังกล่าว ได้เกิดเครื่องมือสำคัญของการกำหนดนิยามความยากจนขึ้นได้แก่ เกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน หรือ จปฐ. ซึ่งเป็นข้อมูลในระดับครัวเรือนที่แสดงถึงสิ่งจำเป็นที่ครัวเรือนพึงได้รับ โดยจะบ่งบอกว่าครัวเรือนที่ทำการสำรวจนั้นตกเกณฑ์ตัวชี้วัดหรือผ่านเกณฑ์ ปัจจุบัน (ปี 2550) มี 6 หมวด 37 ตัวชี้วัด ครอบคลุมทั้งหมดของการดำเนินชีวิตของคน ได้แก่ สุขภาพดี, มีบ้านอาศัย, ฝักใฝ่การศึกษา, รายได้ก้าวหน้า, ปลูกฝังค่านิยมไทย, ร่วมใจพัฒนา

นอกจากนั้นยังมีเกณฑ์ชี้วัดที่เรียกว่า กชช. 2ค.หรือแบบสำรวจข้อมูลพื้นฐานหมู่บ้านโดยทำการสำรวจทุกสองปี แสดงให้เห็นสภาพทั่วไป และปัญหาของหมู่บ้านชนบทด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สุขภาพและอนามัย ความรู้และการศึกษาความเข้มแข็งของชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาพแรงงาน และยาเสพติด เครื่องชี้วัดสภาพปัญหาของหมู่บ้านมีจำนวน 6 กลุ่ม 30 ตัวชี้วัด มีการจัดระดับความรุนแรงของปัญหา และระดับการพัฒนาของหมู่บ้าน ทำให้ทราบลำดับความสำคัญของปัญหา และพื้นที่เป้าหมายที่ควรได้รับการพัฒนาให้มากเป็นพิเศษ (กรมการพัฒนาชุมชน, ออนไลน์, 2550)

สำหรับครัวเรือนหน่วยในการวัดของ จปฐ. และหมู่บ้านในกรณี กชช. 2ค. ที่ไม่สามารถไปถึงเกณฑ์มาตรฐานในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของตัวชี้วัดได้จะเรียกว่า "ตกเกณฑ์" ซึ่งจะกลายเป็นจุดสนใจเพ่งเล็งเป็นพิเศษที่ต้องเร่งให้ผ่านเกณฑ์ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงที่สะท้อนถึงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา

ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ทุกหน่วยงานใช้ร่วมกันเป็นมาตรฐานเดียวกัน และใช้อ้างอิงสำหรับการกำหนดแผนงาน โครงการของหน่วยงานต่างๆ ดังจะเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ได้ระบุพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาไว้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะด้อยในทางเศรษฐกิจและเผชิญปัญหา ใน 4-5 ประเภท ด้านความไม่สะดวกในการคมนาคม และไม่มั่นคงในการถือครองที่ดินทำกิน ผลผลิตหรือรายได้ต่ำ สุขภาพอนามัยไม่ดี ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ และขาดความรู้ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิต จะเป็นพื้นที่ที่ต้องเร่งรัดพัฒนาเป็นอันดับแรก หรือเรียกว่าพื้นที่พัฒนาที่อยู่ในระดับล้าหลัง ซึ่งมีอยู่จำนวน 5,787 หมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็นภาคเหนือ 1,065 หมู่บ้าน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,684 หมู่บ้าน, ภาคกลาง 954 หมู่บ้าน และภาคใต้ 1,084 หมู่บ้าน

ส่วนพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะด้อยในทางเศรษฐกิจและเผชิญปัญหาอยู่ 1 ถึง 3 ประเภท จากที่กล่าวข้างต้นจะเป็นพื้นที่ที่ต้องเร่งรัดการพัฒนาเป็นอับดับรองลงมาก หรือที่เรียกว่าพื้นที่พัฒนาที่อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งมีอยู่ 35,514 หมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็นภาคเหนือ 6,672 หมู่บ้าน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17,990 หมู่บ้าน, ภาคกลาง 5,731 หมู่บ้าน, และภาคใต้ 5,121 หมู่บ้าน (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6, น.331)

การเกิดขึ้นของระบบ กชช. นี้ได้นำไปสู่การกำกับควบคุมพื้นที่ยากจนทั้งลึกและกว้าง กล่าวคือ มีการผนึกกำลังของหน่วยงานราชการของกระทรวงต่างๆ ตั้งแต่ระดับชาติลงไปจนถึงหมู่บ้าน มีการส่งเจ้าหน้าที่ทางราชการเข้าไปถึงในระดับตำบลหมู่บ้าน ขณะเดียวกันก็ได้จัดตั้งสถาบันประมวลผลข้อมูลเพื่อการศึกษาและการพัฒนา ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้านจัดเก็บข้อมูลไว้ที่ส่วนกลาง มีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ยากจนหนาแน่นก่อนเรียกแนวทางนี้ว่า "ยึดพื้นที่เป็นหลัก" โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาชนบทฯ กำหนดพื้นที่ชนบทยากจน (สมชาย กรุสวนสมบัติ และจินตนา ศรีตงกุล, 2530, น.31-39)

 

โดย: Darksingha 12 ตุลาคม 2550 16:16:48 น.  

 

การปรับโครงสร้างภาคการผลิตจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม
อีกแนวทางที่รัฐดำเนินการควบคู่กันไปก็คือ การปรับโครงสร้างภาคการผลิตจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม โดยเริ่มมีแผนพัฒนาพื้นที่เฉพาะและการพัฒนาเมือง ซึ่งเน้นการสร้างอุตสาหกรรมให้กระจายไปสู่ภูมิภาคในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ได้ส่งผลให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นในภูมิภาค ประชาชนจากชนบทเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ โดยนับแต่ปี 2533 ได้เกิดการปรับเปลี่ยนทางโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยอย่างรวดเร็ว ภาคการเกษตรมีสัดส่วนในผลผลิตมวลรวมประชาชาติเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น โดยมีมูลค่าการส่งออกร้อยละ 22.6 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 75.7 (สมภพ มานะรังสรรค์, 2545, น.48-49)

การเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาทำงานนี้ ทำให้ชาวชนบทเข้ามาทำงานในเมือง กลายเป็นผู้เผยแพร่โดยรับเอาวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบสังคมเมืองกลับเข้าไปสู่ท้องถิ่นของตนเอง ดังนั้นนอกเหนือจากข้อมูลข่าวสารที่ผ่านสื่อ โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์แล้ว การเผยแพร่ ผู้เคลื่อนย้ายแรงงานตามฤดูกาล หรือผู้ที่เดินทางออกไปทำงานภายนอกแล้วกลับมาใช้ชีวิตในท้องถิ่น ก็คือผู้เป็นตัวแบบของการใช้ชีวิตแบบสังคมเมือง ที่ดูดีมีคุณค่ากว่าชีวิตแบบในอดีต

ในยุคของการตีตราพื้นที่ยากจน และการส่งความหมายไปพร้อมกับผลประโยชน์ในรูปของเม็ดเงินนี้ จึงเป็นยุคที่สามารถระบุพื้นที่และลักษณะของผู้ยากจนได้ รวมทั้งปรับเปลี่ยนทัศนะการรับรู้ความหมายของความยากจนอย่างได้ผล. คนยากจนคือคนว่างงาน มีรายได้ต่ำ ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวก และต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐ. โดยพิจารณาจากการตกเกณฑ์ชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน และความเป็นหมู่บ้านล้าหลัง ขณะเดียวกันก็สามารถตั้งตัวแทนขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเป็นตัวแทนที่รับเอาแนวคิดที่จะพ้นความยากจนได้ ในรูปของการเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ โดยมีหน่วยงานราชการกำกับควบคุม

3. ยุคจัดระเบียบคนยากจน พ.ศ. 2536 - ปัจจุบัน
ในช่วงปลายปี 2534 ได้เกิดกระแสตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการกล่าวถึงการพัฒนาแบบยั่งยืนในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง จากปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการตื่นตัวและตระหนักของประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้เกิดพลังประชาชนที่รวมกลุ่มจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นในท้องถิ่นของตนเอง อันเป็นผลมาจากที่ดินเพื่อการผลิตลดลงและมีราคาสูงขึ้น การบุกรุกทำลายป่า การขยายตัวของการผลิตด้านอุตสาหกรรมและบริการ ตลอดจนการขยายตัวของเมืองและการเก็งกำไรที่ดิน ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา เป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาต่อไปในอนาคตทั้งในแง่การขาดแคลนที่ดินและที่ดินราคาแพง ขณะเดียวกันก็ได้เกิดการเติบโตขององค์กรพัฒนาเอกชน ที่เริ่มมีบทบาทเพิ่มสูงขึ้นในด้านการทำงานพัฒนาระดับท้องถิ่น

ประกอบกับในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 8 และฉบับที่ 9 การพัฒนาประเทศได้หันกลับมาให้ความสนใจกับบทบาทขององค์กรประชาชนในด้านการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง แนวคิดที่มีการพูดถึงกันมาในช่วงเวลานั้นคือ แนวคิดการสร้างพลังการมีส่วนร่วมให้กับประชาชน เน้นให้ "คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา" และใช้เศรษฐกิจเป็นเพียงเครื่องมือช่วยพัฒนาให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนามาเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม มีกระบวนการที่จะเชื่อมโยงมิติต่างๆ ของการพัฒนา ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับวาทกรรมการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในงานพัฒนาของธนาคารโลก

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540
อย่างไรก็ตาม ในปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อคนและสังคมโดยรวม ทำให้ต้องมีการปรับแผนเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ โดยเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การลดผลกระทบต่อการพัฒนาคนและสังคม การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและกลับสู่สมดุล และการปรับระบบบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 8 ไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้แต่แรก

วิกฤติเศรษฐกิจได้เริ่มส่งสัญญาณนับแต่ปี 2539 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฉบับที่ 7 ภาวะเศรษฐกิจของไทยเริ่มมีสัญญาณว่าจะตกต่ำลง จากการเติบโตของ GDP ในปี 2539 ที่ลดลงเหลือ 5.9 จากปี 2538 ที่ยังคงเติบโตที่ระดับ 9.2 ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 2536 เป็นต้นมา โดยในปี 2539 ขาดดุลยบัญชีถึง -372.2 พันล้านบาท (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2547 : 2,8) ในแผนพัฒนา ฉบับที่ 8 ไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนใดๆ ต่อเรื่องเหล่านี้ ขณะเดียวกันเมื่อใช้แผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 8 เป็นปีแรกคือ ปี 2540 วิกฤติเศรษฐกิจได้เกิดขึ้นควบคู่กับความไม่เชื่อมั่นในระบบการเมือง และการตั้งคำถามกับแผนพัฒนาฯ อย่างกว้างขวาง ในช่วงแผน ฯ 8 จึงไม่มีการดำเนินการตามแผนอย่างเป็นรูปธรรมนัก สังคมในขณะนั้นสนใจการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และการทำตามข้อตกลงขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มากกว่า

ภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ธนาคารโลก (2534) ได้เผยแพร่รายงาน "ยุทธศาสตร์เพื่อฟื้นฟูการพัฒนาชนบทของประเทศไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ" สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ สอดคล้องกับแนวความคิดการพัฒนาและแก้ปัญหาความยากจนของธนาคารโลกที่เรียกว่า" เสรีนิยมใหม่" (neo liberal) โดยมีสาระสำคัญมุ่งสร้างให้เกิดความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนท้องถิ่น โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมให้เกิดสถาบันชุมชนที่มีหลักประกันในด้านเงินทุนสนับสนุนที่เพียงพอ เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตรของชุมชนท้องถิ่น ด้วยการให้สินเชื่อการก่อตั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขึ้นในชนบท และที่สำคัญคือ การพัฒนาตลาดสินเชื่อในชนบทให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มทุนให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และช่องทางการลงทุนให้เกิดขึ้นในชนบทซึ่งจะนำไปสู่ธุรกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างงานเพิ่มรายได้ และลดความยากจนลงในที่สุด คนยากจนจึงถูกทำให้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการแก้ไขปัญหาภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งมีนัยว่าวิกฤติเศรษฐกิจนำไปสู่ความยากลำบากของคนยากจนเพิ่มขึ้น และเมื่ออ่านน้ำเสียงของรายงานฉบับนี้แล้ว ฟังคล้ายกับว่าสามารถแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้ด้วยการแก้ปัญหาความยากจน (1)

(1) เป็นที่น่าสังเกตว่ามีรายงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ภาคเกษตรเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซ้ำยังเป็นแหล่งรองรับผลกระทบของคนกรุงเทพฯ อันเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจด้วย

แนวทางที่ธนาคารโลกเสนอเหล่านี้ถูกเรียกว่า "นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า" ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และมีนโยบายในลักษณะเดียวกันนี้อย่างต่อเนื่องในรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยเรียกว่า "ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข" (2) (สำนักนายกรัฐมนตรี, ออนไลน์, 2550)

(2) คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2550 สำหรับดำเนินการตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข 5,000 ล้านบาท และอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีก 5,000 ล้านบาท แนวทางการดำเนินงานคล้ายคลึงกันคือยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรชาวบ้าน เสนอโครงการเพื่อขออนุมัติเงินตามเงื่อนไขที่กำหนด ส่วนโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นโครงการที่มาแทน SML โดยเน้นที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก ให้องค์กรชาวบ้านเสนอโครงการเองได้โดยตรง ทั้งสองโครงการนี้สื่อมวลชนระบุว่า เป็นการอัดฉีดเงินลงสู่ "รากแก้ว"

การลงทะเบียนคนยากจน
ในยุคนี้เป็นยุคที่ไม่เพียงสามารถระบุได้ว่าคนยากจนมีลักษณะอย่างไร และพื้นที่ใดบ้างที่มีคนยากจนอยู่หนาแน่น แต่ยังสามารถเข้าไปสัมผัส พูดคุย และกำกับชี้นำได้ด้วยการสื่อสารแบบซึ่งหน้า โดยบอกได้ว่าใครและหน้าตาอย่างไรที่เป็นคนยากจน เป็นการแทงทะลุลงไปในพื้นที่ยากจน เพื่อค้นหาตัวบุคคลผู้ยากจน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่มุ่งขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการกระจายทุน ผลประโยชน์ ไปสู่คนยากจนและคนที่ไม่ใช่คนรวย ซึ่งรัฐบาลนี้เรียกว่า"รากหญ้า" ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง, นโยบาย SML, นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร, นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน, ธนาคารประชาชน, 30 บาทรักษาทุกโรค, การส่งเสริมการผลิตตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (สำนักนายกรัฐมนตรี, ออนไลน์, 2547,2548) นโยบายเหล่านี้ได้นำสู่การเปลี่ยนแปลงในชนบทอย่างกว้างขวางทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขณะเดียวกันในทางปฏิบัติการของนโยบายก็มีการดำเนินการอย่างเข้มแข็งและเอาจริงเอาจัง ด้วยถ้อยคำและแนวปฏิบัติที่เรียกว่า "การลงทะเบียนคนยากจน"

"ในเรื่องนี้ต้องสำเร็จแน่ ด้วยการรวมพลังของพวกเราบวกกับ modern technology เชื่อว่าจะทำได้ ที่บอกจะทำให้คนจนหมดจากแผ่นดินไทยภายใน 6 ปี หลายคนไม่เชื่อ ผมพูดด้วยสมอง ด้วยหัวใจ ไม่ได้พูดด้วยลมปาก พูดอะไรต้องคิด ข้อมูลต้องมี ตัดสินใจแล้วต้องทำให้ได้…
ต้องประชาสัมพันธ์โดยใช้ขบวนการประชาสังคม ปัญหาทุกปัญหาเอาเข้าคอมพิวเตอร์แยกกลุ่ม จัดระบบ แน่นอนไม่ใช่วันเดียวเสร็จ แบบฟอร์มที่ออกมามีความละเอียดพอสมควร... มีหน้าที่ทำให้ครบให้เสร็จต้องประชาสัมพันธ์ระหว่างทาง ทำไมไม่มาลงทะเบียนมีใครห้ามไว้ ต้องประชาสัมพันธ์ให้คนมาลงทะเบียน... ให้เขามากรอกข้อมูลให้สมบูรณ์มากที่สุด เจ้าหน้าที่ต้องสัมภาษณ์ให้กรอกให้ถูก สำคัญข้อมูลที่กรอกอย่าโกหก ถ้าโกหกโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือจะน้อยลง" (กรมการปกครอง, ออนไลน์, 2546)

เป็นคำกล่าวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ในงานมอบนโยบายแนวทางการดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ เมื่อวันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2546 ที่ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี

การเปิดให้คนยากจนมาลงทะเบียนเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2546 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2547 คนยากจนที่มาลงทะเบียนประสบปัญหาจำแนกได้ 6 ประเภท อันดับหนึ่งได้แก่ปัญหาหนี้สิน, รองลงมาคือ ปัญหาที่ดินทำกิน, ปัญหาที่อยู่อาศัย, ปัญหาอาชีพ,และการมีงานทำของนักเรียนนักศึกษา, ปัญหาผู้ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย

การขยายขอบเขตความหมายของคนยากจน
การเปิดให้มีการลงทะเบียนคนยากจนนี้ ได้ขยายขอบเขตความหมายของคนยากจนที่ไม่ใช่เพียงบุคคลที่ขัดสน มีรายได้ไม่เพียงพอ และขาดคุณลักษณะของบุคคลทันสมัยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งผู้ที่ถูกหลอกลวง ผู้ที่ประกอบอาชีพผิดกฎหมายและต้องการจะเปลี่ยนอาชีพ นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการมีงานทำระหว่างเรียน รวมไปถึงผู้ที่ต้องการจะมีบ้านเป็นของตัวเองด้วย คนยากจนจึงไม่ใช่คนยากจนในความหมายเดิมอีกต่อไปแต่หมายถึงคนในลักษณะที่รัฐบาลนี้เรียกว่า "คนรากหญ้า" ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น ว่าเป็นคนยากจนที่รัฐบาลให้ความสำคัญที่จะดูแลเป็นพิเศษ

การลงทะเบียนคนยากจนเสมือนเป็นการเรียกแถว ตรวจสอบรายชื่อ ที่อยู่ สถานะการงานอาชีพ ความต้องการ เป็นการจัดระเบียบคนยากจนให้เข้ามาสังกัดในการดูแลคุ้มครองของรัฐบาล เพราะไม่เพียงการลงทะเบียนในทางข้อมูลเท่านั้น หากแต่ได้มีการตรวจสอบสภาพความมีตัวตนและสถานะตามที่แจ้งไว้ด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ

"เรื่องที่เราได้จดทะเบียนคนจน ทางกระทรวงมหาดไทยจะนำทะเบียนที่รับจดมาไปไล่เอกซเรย์ทีละครอบครัว ครอบครัวที่ไม่ได้ลงทะเบียนคนจน เราต้องสมมติว่าเขาไม่จน ต้องเชื่อไว้ก่อนว่าเขาไม่จน เราจะไปดูรายครอบครัว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน (2547) เราจะเริ่มออกไปดูรายครอบครัวของบ้านที่จดทะเบียนคนจน โดยเข้าไปดูว่าแต่ละครอบครัวนั้นมีคนอยู่ในวัยทำงานเท่าไหร่ และได้ทำงานหรือไม่ แล้วทำอะไรได้อีก เพื่อจะให้เขาเพิ่มรายได้ เขามีรายจ่ายอะไรที่ไม่จำเป็น ลด ละ เลิก อบายมุขได้ไหม ... ถ้าเราทำได้ทุกหลังคาเรือน ผมบอกได้เลยว่าหายจน 4 ปีนี้สบายมาก (สำนักนายกรัฐมนตรี, ออนไลน์, 2547ก.)

การแปรรูปความหมายความยากจน
ผลจากการกำหนดนิยามลักษณะความจำเป็นขั้นพื้นฐาน และตัวแบบทรัพยากรมนุษย์ที่พึงประสงค์ ได้เข้าไปทำลายคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่เดิมในกลุ่มคนยากจน ที่ต้องละทิ้งและขจัดวัฒนธรรมความยากจนเหล่านั้นให้หมดไป คนยากจนที่จะเป็นทรัพยากรที่มนุษย์ที่พัฒนาแล้วได้ ต้องมีการศึกษาที่จะนำไปสู่ทักษะและมาตรฐานของการทำงานในระบบธุรกิจทุนนิยม มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงเพื่อการประกอบอาชีพ เป็นกำลังการผลิต นอกจากนั้นยังต้องมีส่วนร่วมกับรัฐในการทำงานพัฒนา ซึ่งหมายถึงว่าต้องเชื่อฟังรัฐ มีการพัฒนาด้านจิตใจคือเข้าวัดทำบุญบ้าง และมีจิตสำนึกต่อการร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สิ่งเหล่านี้คือตัวชี้วัดคุณลักษณะคนที่มีคุณภาพ เกณฑ์เหล่านี้ถูกบรรจุอยู่ใน จปฐ. และมาตรวัดอื่นๆ อีกหลากหลายที่แข่งขันกันกำหนดขึ้นทั้งองค์กรภายในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนคล้ายคลึงกัน ที่แตกต่างและเริ่มพูดถึงในปัจจุบันก็คือการวัดความสุข และความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องจิตใจ แต่ทั้งหมดมีฐานทางความคิดว่า เมื่อมีลักษณะของมนุษย์ที่มีคุณภาพแล้ว ก็จะสามารถสร้างสรรค์การผลิตเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนา อันจะนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่การมีรายได้เพิ่มขึ้นอันเป็นผลโดยตรงต่อรายได้เพิ่มขึ้นของประเทศด้วย

ในขณะเดียวกันการมีรายได้ต่ำก็เชื่อว่านำมาซึ่งข้อจำกัดในโอกาสของการพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ ดังนั้นหากทำให้คนมีคุณภาพได้ ก็จะทำให้เกิดรายได้ตามมา การแก้ปัญหาความยากจนจึงกระทำใน 2 ลักษณะคือ

- จัดสวัสดิการและบริการสังคมแก่คนยากจน เพื่อให้พัฒนาไปสู่ทรัพยากรที่มีคุณภาพ และ
- ส่งเสริมให้คนยากจนผลิตเพื่อสร้างรายได้

การดำเนินการในลักษณะแรกคือ ให้บริการสาธารณะสุข และการศึกษาที่จำเป็นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และการดำเนินการในลักษณะที่สองคือ การส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการผลิต โดยการกระจายทุนในรูปของเงินกู้ลงไปให้คนยากจน

แต่การแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้เป็นเส้นตรงที่ส่งผ่านสิ่งใดๆ มายังตัวบุคคลให้รับเอาได้โดยตรง และเกิดผลในการเปลี่ยนแปลงดังการสวมเสื้อผ้าให้ใหม่ เพราะการส่งผ่านผลประโยชน์ลงสู่คนยากจนนั้นยังคงใช้กลไกเดิม ภายใต้บรรทัดฐาน วัฒนธรรม (3) การเชื่อมต่อเกี่ยวพันธ์ทางอำนาจ ที่ร้อยรัดห่อหุ้มคนยากจนไว้ เพื่อให้คนยากจนยังคงอยู่ภายใต้การกำกับควบคุม

(3) วัฒนธรรมที่เก็บกั้น และอุปสรรคสำคัญที่กักคนยากจนไว้คือ วัฒนธรรมแห่งความร่ำรวย ซึ่งได้แก่ การมีชีวิตที่สุขสบายหรูหราจากการบริโภคในสังคมทุนนิยม โดยมีตะวันตกเป็นแบบอย่าง ซึ่งดำรงอยู่ในบุคคลชั้นสูงและแพร่กระจายคุณค่าความงดงาม และเกรียติภูมิมายังคนระดับล่างลงมา พร้อมกับอำนาจ สิทธิพิเศษและวิญญาณของทุนนิยม (spirit of capitalism) ที่คนเหล่านี้ครอบครอง และแบ่งปันจัดสรรให้กับพรรคพวกใกล้ชิดในลำดับรองๆ ลงมาที่เป็นบริวารรับเอาวัฒนธรรมเหล่านี้ไว้ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์กีดกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ขณะเดียวกันส่วนที่ตกมาสู่คนยากจนก็เป็นเพียงส่วนที่ไหลหยดลง (trickle down) ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้จะเสนอในวิทยานิพนธ์ของผู้เขียน

การแก้ปัญหาความยากจนที่ผ่านมา ซึ่งกล่าวอ้างถึงความพยายามจะปรับเปลี่ยนโครงสร้าง (restructure) และปรับเปลี่ยนรูปแบบการกระจายผลประโยชน์ (redistribution) ให้คนยากจนใหม่ จึงเป็นเพียงการจัดระเบียบคนยากจน ประเทศยากจนเสียใหม่ (reorganization) จากการที่เริ่มมีการต่อต้านเห็นแย้งและอยู่ตรงข้ามกับรัฐมากขึ้น ทั้งในระดับรัฐข้ามชาติ และรัฐไทย ดังนั้นเพื่อให้คนยากจนเข้าแถวให้อยู่ในระเบียบ จึงต้องจัดวางให้ยืนอยู่ ณ จุดที่ควบคุมได้ง่าย โดยจ่ายผลประโยชน์ผ่านมาตามช่องทางที่จัดให้ยืนรอรับ

ผลของการดำเนินการลงทะเบีบยคนจน
ผลการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ทำให้คนยากจนยอมรับความหมายของความยากจนอันเป็นผลมาจากที่ตนมีรายได้ต่ำ (ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้น) และยินยอมเข้าโครงการฟื้นฟูในรูปแบบต่างๆ โดยหวังว่าจะพ้นจากความยากจนได้ด้วยความสามารถของหน่วยงาน ตัวบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดทั้งในประเทศ (นายกรัฐมนตรี) และในระดับโลก (ธนาคารโลก). เมื่อเปิดให้มีการลงทะเบียนคนยากจน มีคนยากจนมาลงทะเบียน 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนคือมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 1,000 บาท 2.9 ล้านคน ส่วนที่เหลือ 5.1 ล้านคนนั้นเป็นผู้ที่ไม่ยากจนตามเกณฑ์ที่วัดจาก "เส้นความยากจน" (ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, น.1-8) แสดงให้เห็นถึงการยอมรับต่อรัฐผู้มาให้ความช่วยเหลือว่า ตนเองเป็นคนยากจนได้อย่างเต็มใจ

แต่ในอีกบริบทคนยากจนเหล่านี้ต้องการไปให้พ้นจากความยากจน โดยเฉพาะในสายตาของเพื่อนบ้าน ชุมชน สังคม และสมาชิกในกลุ่มผู้ถูกนิยามว่ายากจนด้วยกันเอง คนเหล่านี้แข่งขันกันเพื่อแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตนได้พ้นไปจากความยากจน แต่ภาวะที่พ้นไปจากความยากจนนั้นไม่อาจแสดงให้เพื่อนบ้านและกลุ่มผู้ถูกนิยามว่ายากจนด้วยกันเองรับรู้ได้ ดังข้อมูลเชิงประจักษ์ที่หน่วยงาน สถาบัน แสดงให้ประชาชนเห็น หากแต่สามารถแสดงให้เห็นได้ด้วยลักษณะเชิงสัญญะ (sign) หรือการส่งผ่านความหมายบางอย่างผ่านสัญญะให้บุคคลรอบตัวรับรู้ว่าตนเองนั้นกำลังจะพ้น หรือพ้นจากความยากจนแล้ว

การแสดงให้เพื่อนบ้านเห็นในทางสัญญะนั้น สำคัญกว่าการพ้นหรือไม่พ้นจากความยากจนในความหมายทางรายได้ เพราะนอกเหนือจากหน่วยงานราชการที่ได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ตามแบบ จปฐ. แล้ว ก็ไม่มีใครสามารถรับรู้รายได้ที่แท้จริงของคนยากจน การประเมินความยากจนในกลุ่มเพื่อนบ้านและผู้ยากจนด้วยกัน จึงไม่อาจประเมินกันด้วยรายได้ แต่ประเมินผ่านสิ่งของเครื่องใช้เชิงสัญญะ ขณะที่การยอมรับต่อหน่วยงานต่างๆ ว่าตนมีรายได้ต่ำนอกจากจะเป็นผลดีต่อการได้รับผลประโยชน์และสิทธิพิเศษแล้ว ก็เป็นการรับรู้กันโดยทั่วไปในกลุ่มประชาชนว่า ไม่อาจสะท้อนได้ว่า คนยากจนเหล่านั้นยากจนในความหมายของทางการ คือการมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจริงหรือไม่ การยอมรับต่อทางราชการว่ายากจน จึงเป็นเพียงการยอมรับในทางลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ได้มีการยอมรับทางสังคม

แต่การที่ถูกบุคคลแวดล้อมเฝ้ามอง จับจ้อง ติดตาม และถูกลงโทษทางสังคมต่อบุคคลที่ "ไม่ทันสมัย" ล้าหลัง ขาดคุณลักษณะของทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่านั้น ทุกข์ยากคับแค้นมากกว่าการไม่มีรายได้ ซึ่งเป็นความยากจนทางสังคม (social poverty) คนยากจนจึงหาทางออกจากสภาวะที่ประสบด้วยการแสดงให้เห็นถึง การเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นไปตามตัวแบบของมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว ที่สามารถจับจ่ายใช้สอยซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคมาอำนวยความสะดวก และทำงานเพื่อหาเงินจับจ่ายซื้อสิ่งของ เพื่อเปลี่ยนแปลง ฟื้นฟูชีวิตเสียใหม่ ด้วยเหตุที่วิถีชีวิตแบบเดิมเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์อีกต่อไป

ความยากจนด้านรายได้ จึงมีมิติที่ซ้อนทับขึ้นมาอีกมิติหนึ่งคือ ความยากจนทางสังคม อันได้แก่ลักษณะซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับ เป็นความอ่อนแอ ล้าหลัง ที่ต้องถูกขจัดให้หมดไป โดยยอมรับเอาวัฒนธรรมที่เป็นมาตรฐานสากลเข้ามาแทนที่

 

โดย: Darksingha 12 ตุลาคม 2550 16:17:18 น.  

 

วัฒนธรรมบริโภค สัญลักษณ์จานด่วนความไม่ยากจน
วัฒนธรรมที่ยอมรับกันทั่วโลก และสามารถปรับเปลี่ยนสถานะจากคนยากจนเป็นคนที่ไม่ยากจนได้ในทันทีที่ยอมรับเข้าไว้ในตัวก็คือ วัฒนธรรมการบริโภคที่เป็นแบบเดียวกันทั้งโลก (global consumption homogenization) ได้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก กินอาหาร ฟังเพลง แฟชั่นการแต่งกาย ภาพยนตร์ เป็นวัฒนธรรมเดี่ยวภายใต้เครื่องหมายการค้าเดียวกัน (global brand) อาหารจานด่วน (fast foods) แม็คโดนัลด์ รองเท้าไนกี้ อาดิดาส เครื่องดื่มโคคาโคล่า ซึ่งได้รับการส่งเสริมการบริโภคด้วยการโฆษณา (Marieke, 2004 ,pp. 3-4)

การบริโภคเป็นเสมือนศาสนจักรที่ยิ่งใหญ่ ที่มีโบสถ์กระจายอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง เป็นโบสถ์ที่เต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์ เวทย์มนต์ สร้างความลุ่มหลงและความต้องการได้ไม่มีขีดจำกัด ทั้งในรูปของร้านค้าสะดวกซื้อ (convenience store) ซูเปอร์มาร์เกต ห้างสรรพสินค้า ที่รวมโรงภาพยนตร์ศูนย์อาหารเข้าไว้ด้วยกัน ซูเปอร์สโตร์ (ห้างสรรพสินค้าประเภทขายสินค้าจำนวนมากในราคาถูกกว่า) แมคโคร โลตัส บิ๊กซี ที่กระจายไปทั่วประเทศ ออฟฟิต และ โฮม ดีโป้ (ห้างสรรพสินค้าที่ขายเฉพาะอุปกรณ์สำนักงาน และของตกแต่งบ้าน) ร้านอาหารประเภทเฟนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นเอแอนด์ดับบลิว แดรี่ควีน เคเอฟซี พิซซ่าฮัท เรื่อยไปถึงศูนย์รวมความบันเทิงที่เรียกว่าเอนเตอร์เทนเม้นคอมเพล็ค (entertainment complex) สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในทุกหนทุกแห่งทั่วโลก โบสถ์เหล่านี้ไม่เพียงเปิดสถานที่แล้วรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาหา หากแต่มีการตกแต่งสถานที่ด้วยไฟ แสง สี กระจก ที่น่าตื่นตาตื่นใจ มีการจัดรายการลดราคา รายการชิงโชค ที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล เทคโนโลยีสมัยใหม่อำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้า จากเครื่องเบิกเงินอัตโนมัติ (ATM : Automatic Teller Machine) บัตรเครดิต การสั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ทและทางไปรษณีย์ ซึ่งกระตุ้นความต้องการได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด (Ritzer, 2005, pp.6-26, 94 a.)

ปัจจุบันแบบแผนการเข้าถึงการบริโภคเปลี่ยนไป ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ทุกประเภทในสถานที่จำหน่ายแห่งเดียว และแบบแผนอาจไม่ใช่การเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายอีกต่อไป ประชากรภูมิภาคและท้องถิ่นเป็นแหล่งบริโภคสินค้าขนาดใหญ่ในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ภายใต้แบบแผนการบริโภคที่เป็นรูปแบบเดียวกัน และผู้ขายที่มีอยู่เพียงไม่กี่ราย ตลาดจึงเป็นตลาดที่ครอบครองด้วยเจ้าของทุนทั้งในระดับสากลและระดับชาติ ความสะดวกสบายของการซื้อ ความตื่นตาตื่นใจ และรวมผู้บริโภคมาไว้ในสถานที่เดียวกัน จึงกลายเป็นการผูกขาดตัดตอน และทำลายผู้ค้ารายย่อย จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุนนิยมจะสร้างปัญหาการกระจายรายได้

การสร้างมาตรฐาน (standardization) การดำเนินชีวิตด้วยการบริโภคสินค้าที่เป็นสากล จากถ้อยคำและภาพในโฆษณา ภาพยนตร์ เพลง หนังสือ ได้ลดทอนวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนลง ปฏิเสธทุกสิ่งที่แตกต่างและไม่สอดคล้อง ทำให้คนมีลักษณะอ่อนน้อมเชื่อฟังและยอมตาม จากการถูกจำกัดทางเลือก เสมือนตอนจบของภาพยนตร์ที่ให้ภาพชัดเจนว่าตอนจบใครจะเป็นอย่างไรระหว่างการได้รับรางวัลหรือถูกลงโทษ หรือไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรื่องราวที่สร้างขึ้นเป็นเรื่องที่ตื้นเขินไม่มีรากเหง้า เป็นไปเพื่อการค้าและหวังผลกำไรสูงสุด และทำให้วัฒนธรรมที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานชุดที่สร้างขึ้นกลายเป็นความล้าหลัง ไม่ประสบผลสำเร็จ (Andorno,1971 Cited by Negus, Ed.by Gay, 1997, pp. 74)

ดังที่บัวร์ดิเออ (Bourdieu , 1984) เสนอในงานวิจัยของเขาว่า การบริโภค คือการแลกเปลี่ยนสัญลักษณ์ โดยใช้สัญลักษณ์ทดแทนคุณค่า ซึ่งสร้างให้เกิดความแตกต่างทางชนชั้น จากสินค้าที่แตกต่าง เราไม่ได้ซื้อสินค้าเพียงเพื่อตัวสินค้านั้นตอบสนองต่อเราโดยตัวของมันเอง เช่น ไม่ได้ซื้อรถยนต์เพียงเพื่อเป็นยานพาหนะ แต่เราซื้อคุณค่าที่แฝงอยู่ในตัวสินค้านั้น ซึ่งเป็นเรื่องของสัญญะ (signs) ที่เรารับรู้ความหมาย บัวร์ดิเออแบ่งทุนนออกเป็น 2 ประเภท คือ ทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางวัฒนธรรม สินค้าที่ผลิตออกมาแฝงไว้ด้วยทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางเศรษฐกิจคือสิ่งที่เรารับรู้กันทั่วไป เช่น เงิน และรวมถึงเวลาด้วย ขณะที่ทุนทางวัฒนธรรมคือสิ่งที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต การปฏิบัติ แบบแผนประเพณี ค่านิยม ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มทางสังคม

การผสมผสานของทุนทั้งสองชนิดในสินค้าที่มีปริมาณมากน้อยต่างกัน ได้สร้างความแตกต่างในตำแหน่งทางสังคม (social position) เช่น ในสังคมฝรั่งเศส ไม่ง่ายนักที่คนจะเปลี่ยนจากการดื่มไวน์แดง, ไปดื่มเบียร์, สปาคกิ้งไวน์, น้ำแร่, และท้ายสุดท้ายที่คอกเทล ซึ่งแสดงถึงความแตกต่างในลักษณะการใช้ชิวิตและสังคมที่คบหาสมาคมด้วย ยิ่งบุคคลบริโภคสินค้าที่ประกอบด้วยทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรมที่สูงเท่าใด ก็ยิ่งแสดงถึงความสูงของตำแหน่งทางสังคมมากเท่านั้น สินค้าต่างๆ จึงแฝงไว้ด้วยนัยของความหมาย ไม่ว่าจะเป็นประเภทของหนังสือพิมพ์ เพลง เสื้อผ้า อาหาร (Bourdieu, 1984, pp. 114-125, 374-396)

สินค้าจึงมีฐานะเป็นสิ่งทดแทนความหมายที่มีอยู่เดิมในวัฒนธรรมของคนจนที่ถูกทำลายลงไป คนยากจนจึงหาสิ่งทดแทนความหมายที่ตนสูญเสียไป โดยแข่งขันเพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนมีวิถีชีวิตที่หลุดพ้นไปจากความยากจน ด้วยการหาซื้อสินค้ามาใส่ในร่างกาย และเลียนแบบวิถีชีวิตแบบคนเมือง ซึ่งได้แก่การแบ่งงานกัน โดยงานที่แบ่งให้ผู้อื่นทำนั้นจำเป็นต้องซื้อหาทดแทน และทำงานหนักเพื่อนำไปใช้จ่ายอุปโภคบริโภค สินค้าจึงเป็นวัตถุเสมือนจริง (simulation object) หรือที่ บูริยาร์ด เรียกว่า "simulacra" (Baudrillard, 1998, pp.89-91)

ในสังคมทุนนิยมที่มุ่งสร้างความต้องการให้เกิดการบริโภค สินค้ารูปแบบต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ของความสุข ซึ่งไม่เพียงสนองตอบต่อความต้องการได้เพียงประโยชน์ของการใช้ และมูลค่าของตัวสินค้าซึ่งเกิดจากการแลกเปลี่ยนเท่านั้น หากแต่สินค้าได้สร้างสัญญะที่เป็นสัญลักษณ์สะท้อนเกียรติภูมิ สถานภาพทางสังคม และสนองตอบต่อทางเลือกแบบจัดชั้นสูงต่ำด้วยคุณค่าเชิงสัญญะของสินค้า บุคคลในสังคมบริโภคหากสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผลจากรูปร่างหน้าตา หรือความสามารถ เขาสามารถฟื้นฟู (restore) กลับมาใหม่ได้ด้วยการบริโภคสินค้าเชิงสัญญะ ที่มีมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถฟื้นฟูบุคลิกภาพให้เกิดความแตกต่างในหลากหลายช่วงชั้น หลายสถานะ ตามลำดับชั้นของราคา

แต่แม้ว่าสินค้าจะมีมากมายให้เลือก แต่การยอมรับสินค้าเชิงสัญญะนั้น ไม่ได้สร้างความแตกต่างดังความหลากหลายของสินค้า ทุกคนตกอยู่ภายใต้รหัส (code) ชุดเดียวกัน เป็นรหัสการให้คุณค่าเชิงสัญญะที่สร้างสิ่งเทียมขึ้นทดแทน โดยอ้างความเป็นธรรมชาติ เป็นการสร้างการหน้าที่เทียม (functionalization) เป็นแบบจำลอง ซึ่งไม่ใช่คุณค่าของการใช้งาน (use value) หากแต่เป็นคุณค่าเชิงสัญญะ (sign value) ดังเช่น บ้านจัดสรรที่ปลูกท่ามกลางธรรมชาติ จำลองความเป็นสวนป่าเข้ามาในบริเวณที่พักอาศัย จัดสภาพแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติ ในระดับของสัญญะไม่มีสิ่งตรงข้ามกันแบบสัมบูรณ์ ไม่แบ่งแยกสัญญะสำหรับความยากจน หรือร่ำรวย ไม่มีสัญญะของคนจนและคนรวย กล่าวคือเราถูกทำให้สามารถรับรู้สัญญะได้โดยไม่แยกสถานภาพความแตกต่าง แต่สัญญะถูกใส่ลงในตัวสินค้าที่สร้างชั้นความแตกต่างทางสถานภาพ

ภายใต้รหัสของสัญญะ การบริโภคสินค้าถูกทำให้มีการหน้าที่ในอีกแบบที่ต่างไปจากอดีต สินค้าได้สร้างเกียรติภูมิ สถานะทางสังคม เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน ภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนทางสัญญะ ที่ถ่ายทอดถึงกันผ่านภาษา ทำให้คนได้รับการขัดเกลาทางสังคม(socialization) รับรู้ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่ยึดโยงกับเกียรติภูมิ เป็นอุดมการณ์ และวัฒนธรรมที่ใช้ควบคุมทางสังคม สร้างระบบที่ทำให้เราซึมซับและมีผลกระทบต่อเราโดยไม่รู้สึกตัว แม้จะเกิดบูรณาการ (integration) ภายใต้รหัสเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยจะเท่าเทียมกันในชั้นสูงต่ำของการบริโภค. บูริยาร์ด กล่าวว่า วัฒนธรรม ภาษา ในรูปแบบของการบริโภคนี้ เป็นการครอบงำในระดับลึกที่สุด (Baudrillard, 1998, pp.92-96)

การสร้างรหัสเชิงสัญญะที่บรรจุอยู่ในสินค้า เป็นการให้ความหมาย (signified) ใส่ลงไปในตัวสัญญะ (signifier) ทำตัวสัญญะให้มีการหน้าที่เทียมขึ้นมา เป็นการหน้าที่ซึ่งเทียบได้กับความจริง ในรูปแบบของการเป็นตัวแทน (representative equivalence) ในกรณีนี้จึงการแลกเปลี่ยนเชิงสัญญะที่มีมากกว่าความเป็นจริง หากแต่อยู่เหนือความเป็นจริง เป็นความเหนือที่สร้างขึ้นจากสิ่งเทียมเลียนแบบ เป็นความจริงเสมือน (simulation) (Baudrillard, 1995, pp.55-60) ความจริงเสมือนเป็นการผลิตซ้ำ (reproductions) ของวัตถุ เหตุการณ์ ที่มีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เป็นจริง กับความจริงเสมือน เป็นการจัดระเบียบโดยสร้างช่วงชั้น (hierarchy) ของสัญญะ ลำดับและตำแหน่งทางสังคม โดยใช้ความจริงเสมือนเป็นสิ่งแทนความจริง จากการสร้างสิ่งเทียมเลียนแบบ

ในขั้นตอนแรก (first order) ความจริงเสมือนถูกสร้างขึ้นในฐานะเป็นตัวแทน เป็นตัวแทนของธรรมชาติ ดังเช่น ระบบการเลือกตั้งผู้นำ ซึ่งนำไปสู่การก่อรูปขึ้นของกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ ต่างๆ จากระบบตัวแทน ดังนั้นความจริงเสมือนจึงไม่เพียงเป็นระบบสัญญะแต่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วย สัญญะเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันการดำรงอยู่ของอำนาจ เป็นการเมือง และวัฒนธรรม ในลักษณะอำนาจนำ (hegemony)

ในขั้นที่สอง ความจริงเสมือนปรากฏขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความจริงเสมือนถูกผลิตในลักษณะสินค้ามวลชน (mass product) เป็นรูปร่างที่จับต้องได้ เป็นผลิตภัณฑ์ปลอมแปลง เช่น หุ่นยนต์ เครื่องจักร ที่เข้ามาแทนที่คน และผลิตสินค้าสนองตอบต่อการบริโภค เป็นตัวแทนในเชิงสัญญะที่กระจายไปสู่สังคม

ในขั้นตอนที่สาม สำหรับความจริงเสมือนในปัจจุบันคือขั้นตอนที่สาม ที่ความจริงเสมือนได้กลืนกินความจริง และกลายเป็นตัวแทนได้อย่างสมบูรณ์แบบ เสมือนการฝังลึกลงไปในยีน (gene) การฝังลึกลงไปในยีนนี้ คือการดำรงอยู่ในรูปของภาษาที่ถ่ายทอดถึงกัน ภาษา (รวมถึงสัญลักษณ์) ถูกบรรจุรหัส ที่รับรู้ร่วมกัน แต่เป็นรหัสที่ปลอมแปลง หลอกลวง รหัสที่บรรจุอยู่นี้ถ่ายทอดไปยังโครงสร้างและชีวิตมนุษย์ ในสถาปัตยกรรม ในระบบขนส่ง หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ล้วนให้ภาพความจริงเสมือนที่บ่งชี้พฤติกรรมคน ภายใต้วัตถุและปรากฏการณ์ที่จับต้องได้ (simulation) การบรรจุรหัสเข้าไปในยีนนี้ ได้คุมขัง เหนี่ยวรั้ง พฤติกรรมของปัจเจกบุคคลผ่านสื่อต่างๆ ในรูปแบบของแฟชั่น สินค้า รายการโทรทัศน์ คำโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

ยิ่งไปกว่านั้นในบางกรณีความจริงเสมือน ยังทำหน้าที่ได้เหนือความจริงเป็น "hyperreality" ซึ่งไม่ใช่ความจริง หากแต่เป็นได้มากกว่าความจริง ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ ดีสนีย์แลนด์ (Disneyland) ที่สร้างโลกที่สมบูรณ์แบบของจินตนาการความบันเทิง ความฟุ้งเฟ้อ ทะยานอยากของมนุษย์ได้ เหนือกว่าที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ความจริงเสมือนในกรณีนี้จึงผลิตซ้ำสิ่งที่มีอยู่เดิมได้อย่างสมบูรณ์และเหนือกว่า ทุกชีวิตในทุนนิยมถูกห่อหุ้มด้วย ความจริงเสมือนที่เหนือความจริง ทั้งทรงผม ฟัน เล็บ เครื่องแต่งกาย

การศึกษาความจริงเสมือนคือการค้นหา รหัสและรูปแบบ ที่ถูกผลิตซ้ำ ในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction) โดยสะท้อนให้เห็นจากอัตลักษณ์ที่ดำรงอยู่ในชีวิตประจำวัน (kellner, 1991, pp.76-84) วันนี้คนยากจนที่หมายรวมถึงคนรากหญ้าได้รับเอาสินค้าในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์เข้ามาไว้ในตัว สินค้าเหล่านี้ผลิตความจริงเหนือจริง เป็นความจริงที่สังคมยอมรับว่าเขาได้พ้นจากความยากจน เพราะสังคมมอบคุณค่าให้กับสินค้าในฐานะที่เป็นสิ่งแทนการมีรายได้ ยิ่งสินค้าดูดีมีราคาก็ยิ่งแสดงถึงสถานะทางเศรษฐกิจ และสะท้อนวิถีชีวิตของคนที่มีคุณค่า มีความสามารถ มีรสนิยม มีความทันสมัย สลัดตัวตนความยากจนในอดีตออกไป ทั้งยังให้พ้นไปจากการถูกกีดกันจัดประเภท สินค้าจึงช่วยสร้างคุณค่าให้กับผู้ครอบครอง

การมีบ้านที่ก่อด้วยอิฐในรูปทรงสมัยใหม่แบบคนเมือง รถ"ปิคอัพ" จักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ และการบริโภคที่เลียนแบบวิถีชีวิตของคนเมือง ทำให้พ้นสภาวะความยากจนทางสังคม และความยากจนทางเศรษฐกิจในการรับรู้ของสังคมได้อย่างรวดเร็ว เห็นผลทันทีที่ซื้อสินค้ามาใช้ ความยากจนจึงผันแปรความหมายไปสู่การบริโภค จับจ่ายใช้สอย และมีทรัพย์สินเครื่องอำนวยความสะดวกในครอบครอง ซึ่งทดแทนได้ทั้งมิติของรายได้ ลักษณะของบุคคลที่พึงประสงค์ และความยากจนทางสังคม รวมทั้งสามารถผลิตซ้ำและสืบทอดไปสู่ลูกหลานได้ไม่ต่างไปจากการสืบทอดวัฒนธรรมแห่งความยากจน

มายาคติในความหมายของความยากจน
ในยุคปัจจุบันความยากจนสามารถอยู่ร่วมกับความร่ำรวยได้ มีการประสานประโยชน์เศรษฐกิจเบื้องบนกับเศรษฐกิจรากหญ้า เป็นยุคของการบูรณาการความคิด ที่ให้ความสำคัญกับคนในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา กระบวนการทำงานพัฒนาพยายามสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างคนยากจนในชนบทกับนักพัฒนา รัฐกับชาวบ้านที่ประสานผลประโยชน์กันได้อย่างลงตัว ระหว่างงบประมาณแก้ปัญหาความยากจนกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการยอมตามเงื่อนไขที่ผู้นำงบประมาณไปให้กำหนด ในฐานะที่เป็นกฎเกณฑ์ของโครงการพัฒนา

ความหมายของความยากจน จึงไม่ใช่ความหมายที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาที่จำกัดอยู่แต่เรื่องรายได้อีกต่อไป หากแต่ได้ถูกบิดพลิ้วความหมายเดิมไป และคนยากจนไม่ใช่ผู้ที่จะถูกกีดกันออกไปจากระบบเศรษฐกิจในสายตาของรัฐ หากแต่ถูกเหมารวมเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ เป็นตลาดและแหล่งบริโภคที่มีพลัง เป็นพลังที่สร้างสรรค์ให้เกิดกระบวนการผลิตที่เศรษฐกิจเบื้องบนจะผลิตสินค้าส่งมาจำหน่าย พลังการบริโภคเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการปรับโครงสร้างการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็นการส่งผ่านเม็ดเงินลงไปสู่โครงสร้างเดิม ในรูปแบบของเงินกู้ และการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือเรื่องการปลดเปลื้องภาวะหนี้สิน

ในระหว่างปี 2536 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน (2550) ได้เกิดกองทุนให้กู้ยืมเงินแก่คนยากจน และคนรากหญ้าจำนวนมาก อาทิเช่น (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2545, 3-49 - 3-64)

- กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษา ก่อตั้งเมื่อ 16 มกราคม 2539 มีผลบังคับใช้เมื่อ 25 มีนาคม 2541 เป็นทุนให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพจนถึงระดับปริญญาตรี กู้ยืมเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา

- กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 กองทุนนี้เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ขาดปัจจัยในการประกอบอาชีพรวมตัวกันเป็นองค์กรเกษตรกร เพื่อจัดทำแผน โครงการขอการสนับสนุนจากกองทุน

- กองทุนหมุนเวียนส่งเสริมอาชีพสตรี จัดตั้งขึ้นในปีงบประมาณ 2539 เพื่อสนับสนุนสตรีผู้ผ่านการฝึกอบรมอาชีพจากกรมประชาสงเคราะห์ รวมกลุ่มประกอบอาชีพในท้องถิ่น โดยกู้ให้กู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยรายละไม่เกิน 15,000 บาท ผ่อนชำระคืนภายใน 2 ปี

- กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นกองทุนที่รัฐบาลจัดสรรเงินทุนให้หมู่บ้านทุกหมู่บ้านกู้ยืมหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ และลดรายจ่าย ในปี 2545 มีการเบิกจ่ายเงินกู้ไปแล้ว 48,319 ล้านบาท

- เงินโครงการแก้ปัญหาความยากจน (กข.คจ.) เกิดขึ้นตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2536 และดำเนินการต่อเนื่องมานับแต่ปี 2536-2540 กรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เน้นจัดสรรเงินให้ให้ครัวเรือนในหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 1 เพื่อยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ด้วยการสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพให้หมู่บ้านละ 280,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย ต่อมาได้ขยายเวลาดำเนินโครงการในระยะที่ 2 พ.ศ.2541-2544 โดยดำเนินการในหมู่บ้านที่มีครัวเรือนยากจนมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 15,000 บาท/คน/ปี

ตามข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน จากเอกสารงบประมาณประจำปี 2551 (จัดทำขึ้นในปี 2550) ระบุว่าในปีงบประมาณ 2550 มีกองทุนและเงินทุนหมุนเวียนอยู่ทั้งสิ้น 24 กองทุน ในจำนวนนี้มีเงินกองทุนที่ให้กู้ยืมเงินที่มีผลต่อคนคนรากหญ้า อยู่ 6 กองทุน ที่รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณไว้ ได้แก่

- กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 1.3 หมื่นล้าน
- กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 3.1 หมื่นล้าน
- กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต 4.4 พันล้าน (ไม่มีการตั้งงบประมาณในงบประมาณ 2551)
- กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 2.5 พันล้าน
- กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
- กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 3 พันล้าน

การแก้ปัญหาความยากจนในปัจจุบัน มุ่งไปที่การเปิดโอกาสในทางโครงสร้างให้คนยากจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่จะนำไปสร้างงานเพิ่มรายได้ ซึ่งเรียกว่า โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (social safety net) อันประกอบไปด้วย การกระจายเงินลงไปสู่คนยากจนโดยตรง (direct cash transfer) การเปิดโอกาสให้เข้าถึงบริการทางสังคมโดยเฉพาะด้านบริการสาธารณสุข และการศึกษา รวมทั้งการทำให้คนยากจนเข้าถึงทรัพยากรด้านการเงินในรูปของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จากสถาบันการเงินขนาดเล็กที่กู้ง่ายและมีเงื่อนไขเหมาะสมกับคนยากจน (micro finance) สิ่งที่เรียกว่าโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม ที่ธนาคารโลกระบุว่า เป็นแนวทางแก้ปัญหาความยากจนนี้ ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางจนกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าผลการดำเนินงานกองทุนให้กู้ยืมต่างๆ จะปรากฏว่า เม็ดเงินที่กระจายลงไปในรูปของเงินกู้ได้ถูกนำมาจับจ่ายใช้สอยเครื่องอำนวยความสะดวก

จากรายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้าและหลักประกันสังคม ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ในปี 2545 เงินกองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่ร้อยละ 60.4 ใช้ในการลงทุนในอาชีพเดิม แต่การลงทุนในอาชีพเดิมดังกล่าวก็มิได้นำไปลงทุนจริงแต่อย่างใด หากแต่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนถึงร้อยละ 65.3 (ไม่น่าจะถือว่าเป็นเงินลงทุนในการประกอบอาชีพได้). ในปี 2546 ก็เช่นกันสมาชิกกองทุนหมู่บ้านนำเงินไปใช้ลงทุนในการประกอบอาชีพเดิม 56.4 โดยเป็นเงินทุนหมุนเวียนถึง 83.1 การใช้จ่ายในลำดับรองลงมา คือการนำเงินไปใช้บริโภคในครัวเรือน ในปี 2545 ร้อยละ 17.1 ปี 2546 ร้อยละ 20

การนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยนี้ เป็นผลโดยตรงที่ก่อให้เกิดการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการกู้ยืมโดยมิได้เกิดจากงานอาชีพ เงินที่รัฐบาลกระจายลงไปสู่รากหญ้าช่วยสร้างแหล่งเงินกู้ใหม่เป็นทางเลือกที่หลากหลายเพิ่มขึ้น มากกว่าจะเป็นเงินลงทุนในการประกอบอาชีพ กล่าวคือ เงินทุนที่ได้จากกองทุนหมู่บ้านได้ถูกนำไปใช้ในการใช้หนี้สินอื่นๆ ร้อยละ 11.2 ในปี 2545 และร้อยละ 13.1 ในปี 2546 สำหรับเหตุผลที่สมาชิกกองทุนหมู่บ้านนำเงินไปใช้ประกอบชีพใหม่ในสัดส่วนที่ต่ำ มีเหตุผลเนื่องจากไม่มั่นใจว่า จะสามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นและจะมีตลาดรองรับการประกอบอาชีพใหม่ เพราะข้อจำกัดในเรื่องวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 20,000 บาท นอกจากนั้นระยะเวลาการชำระหนี้เงินกู้ที่ต้องชำระคืนภายใน 1 ปี ทำให้ไม่สามารถนำไปลงทุนสร้างรายได้เพิ่มได้ทันกับการครบงวดการชำระหนี้ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2547 น.2-17, 3-12)

ตัวเลขที่ช่วยยืนยันถึงการนำเงินลงไปสู่ระดับรากหญ้าช่วยกระตุ้นการบริโภค มากกว่าจะสร้างรายได้ให้แก่คนจนก็คือ การบริโภคของครัวเรือนทั่วประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 พร้อมไปกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ในปี 2547 เมื่อเทียบกับปี 2545 โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงร้อยละ 16.3 คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะ และการสื่อสาร (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2548, น. 2-3)

 

โดย: Darksingha 12 ตุลาคม 2550 16:18:43 น.  

 

ผลการสำรวจการบริโภคของชาวชนบท
ผลการสำรวจการบริโภคของชาวชนบทโดยบริษัทโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณาเอกชนที่มีชื่อเสียงทำการสำรวจ "ผู้บริโภคชาวไทยในชนบท" ในปี 2546 จากการศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบทในหมู่บ้านที่ห่างจากตัวจังหวัด 60 - 100 กิโลเมตร เป็นจำนวน 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือที่จังหวัดน่าน, ภาคกลางที่จังหวัดสุพรรณบุรี, ภาคอีสานที่สกลนคร, และภาคใต้ที่พัทลุง รวม 60 หมู่บ้าน โดยได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 420 ราย สัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ในระหว่างวันที่ 5-28 กุมภาพันธ์ 2546 จากผลวิจัยพบว่า ปัจจุบันครอบครัวในชนบทมีขนาดเล็กลง แต่ส่วนใหญ่มีกำลังการซื้อเพิ่มมากขึ้น มีความเป็นอยู่ทันสมัยและสบายขึ้น ชาวชนบทใช้อุปกรณ์พื้นฐานในชีวิตประจำวันโดยมีการครอบครองโทรทัศน์มากที่สุดถึง 99 % ตู้เย็น 91 % หม้อหุงข้าวไฟฟ้า 88 % เตาแก๊ส 86 % รถจักรยาน 72 % นอกจากนี้ยังพบอีกว่าบ้านที่มีรายได้ครอบครัวสูงกว่า 10,000 บาทจะมีอุปกรณ์ประเภทเครื่องเล่นวีซีดี 73% เครื่องซักผ้า 59% ชุดร้องคาราโอเกะ 43% เครื่องเล่นวีดีโอ 44% โดยส่วนใหญ่มาจากการผ่อนชำระจากกลยุทธ์ดอกเบี้ย 0%

นอกจากนั้นยังระบุด้วยว่า เกือบทุกครอบครัวมีปัญหาหนี้สิ้นถึงร้อยละ 75 ของครัวเรือนที่สำรวจ และมีแนวโน้มที่จะพอกพูนตลอดเวลา เนื่องจากการขาดเงินหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ และปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งชาวชนบทส่วนมากเป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรถึง 47 % ตามด้วยกองทุนหมู่บ้าน 35% และสหกรณ์หมู่บ้าน 23% ทั้งนี้จากผลสำรวจพบว่า แต่ละครัวเรือนจะมีหนี้สินโดยเฉลี่ย 77,862 บาท ซึ่งสัดส่วนของการเป็นหนี้สินจะสัมพันธ์กับรายได้ กล่าวคือ ผู้มีรายได้น้อยจะมีจำนวนหนี้สินน้อยกว่าผู้มีรายได้สูง

ขณะที่ด้านการการติดต่อสื่อสารพบว่าในปัจจุบันมีเพียงส่วนน้อยของบ้านในชนบทที่มีโทรศัพท์พื้นฐานใช้คือมีเพียง 15 % ส่วนใหญ่จะนิยมใช้โทรศัพท์มือถือถึง 49 % โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่าง มีโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง 67 % 2 เครื่อง 25 % ในขณะที่ภาคกลางบางครอบครัวมีการใช้โทรศัพท์มือถือถึง 6 เครื่องต่อครัวเรือน ส่วนอีก 3 ภาคเฉลี่ยประมาณ 3 เครื่องต่อครัวเรือน ในจำนวนนี้ 55 % เป็นผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์พื้นฐานใช้ในปัจจุบัน

สำหรับเหตุผลที่คนชนบทนิยมใช้มีโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าการมีโทรศัพท์บ้าน ขณะที่ระบบที่ใช้มากที่สุดคือจีเอสเอ็ม 82% ตามด้วยดีแทค16% และออเรนจ์ 1% กิจกรรมยามว่างที่ชาวชนบทส่วนใหญ่ทำคือการดูโทรทัศน์และนั่งคุยกับเพื่อน ซึ่งพฤติกรรมการนั่งคุยกับเพื่อนนั้นธุรกิจขายตรงสามารถใช้เป็นช่องทางการดำเนินธุรกิจได้ โดยพบว่า แอม์เวย์ ได้ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวประสบความสำเร็จมาแล้ว

นอกจากนี้ผู้บริโภคในชนบทหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้ส่วนตัว และผลิตภัณฑ์ที่เคยมองว่าเป็นของใช้ฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าเป็นโลชั่นทาผิวกาย 70% ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย 61% ครีมบำรุงผิวหน้า 55% น้ำยาปรับผ้านุ่ม 62% และน้ำยารีดผ้าเรียบ 40% ส่วนใหญ่กลุ่มผู้บริโภคสินค้าเหล่านี้จะมีรายได้ครอบครัวสูงเกินกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และในอนาคตมีแนวโน้มว่าการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีมากขึ้น

ร้านขายของชำ (โชห่วย) ยังเป็นแหล่งซื้อสินค้ายอดนิยม สำหรับแหล่งที่จับจ่ายซื้อสินค้าที่คนชนบทของทุกภาคส่วนใหญ่ระบุว่าไปใช้บริการในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา คือร้านขายของชำใกล้บ้านมากที่สุด รองลงมาคือตลาดนัดและตลาดสด และรถขายของในหมู่บ้าน และซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าในเมือง ตามลำดับ ขณะที่ชนบทจำนวนไม่มากนักที่ไปซื้อของจากไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ แม็คโคร เพียง 14 % ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรายได้สูง ขณะที่การไปไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของครอบครัวมากกว่าที่จะไปซื้อสินค้า กิจกรรมส่งเสริมการขายที่ชาวชนบทของทุกภาคชอบซื้อคือสินค้าที่ลดราคามากที่สุดถึง 60 % ตามด้วยการซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง 48 % โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่และยาสีฟัน รายการซื้อ 3 ชิ้นในราคา 2 ชิ้น มี 31 % ส่วนประเภทที่ไม่ได้รับความสนใจคือ การสะสมชิ้นส่วนรางวัล

สำหรับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนชนบทดูโทรทัศน์เป็นหลัก 84% ฟังวิทยุน้อยลง โดยดูโทรทัศน์ช่อง 3 มากสุด 90% นอกจากนี้คนชนบทส่วนใหญ่ไม่อ่านนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ในกลุ่มที่อ่านหนังสือพิมพ์บ้างจะอ่านจากหมู่บ้านหรือร้านค้าไม่ได้ซื้อเอง โดยหนังสือพิมพ์ที่อ่านมากสุดคือ ไทยรัฐ 30% ตามด้วยเดลินิวส์ 16% (บริษัทโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ อ้างใน Marketeer, พ.ย. 2546, น.179-184)

การขยายตัวของการบริโภคและการเกิดขึ้นของหนี้สิน
การขยายตัวของการบริโภคและการเกิดขึ้นของหนี้สินเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงผลอันเกิดจากนโยบายแก้ปัญหาความยากจน ที่มุ่งกระจายทุนเพื่อสร้างรายได้ แต่เกิดผลในทางที่เพิ่มรายจ่ายและหนี้สินแทน สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจ (2550) พบว่าในปี 2549 ครัวเรือนไทยที่เป็นหนี้มีอยู่ร้อยละ 64.4 จากครัวเรือนที่มีทั้งหมดของประเทศ โดยมีหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 116,585 บาท ขณะที่มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 17,787 บาท เงินที่ได้มาจากการเป็นหนี้ส่วนใหญ่ใช้ในการซื้อบ้านและที่ดินร้อยละ 33.7 รองลงมาคือใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคร้อยละ 27.6 การใช้จ่ายยังพบแนวโน้มการถือครองทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ได้แก่รถยนต์ รถปิคอัพ รถจักรยานยนต์ ในกลุ่มครัวเรือนที่เป็นหนี้ อย่างไรก็ตามจำนวนเงินที่เป็นหนี้นั้นขึ้นอยู่กับรายได้ กล่าวคือรายได้สูงยิ่งเป็นหนี้มาก และรายได้ต่ำเป็นหนี้ในวงเงินที่ต่ำลงตามรายได้

หนี้สินเกษตรกรก็เช่นเดียวกัน จากการทำสัมมโนประชากรเกษตร ในปี 2546 พบว่า หนี้สินทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นในทุกภาค ในจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดมีร้อยละ 60.4 ของครัวเรือนเกษตรที่ตกอยู่ในภาวะเป็นหนี้ เทียบกับปี 2541 ที่มีอยู่ร้อยละ 54.9 ขณะที่วงเงินที่เป็นหนี้เฉลี่ย 68,767 บาท, ต่างจากปี 2536 ที่มีวงเงินเป็นหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 34,859 บาท โดยแหล่งเงินกู้ที่สำคัญคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์, กองทุนหมู่บ้าน, และกู้เงินนอกระบบ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, ออนไลน์, 2546)

หนี้สินไม่ได้ถูกนำมากำหนดนิยามความยากจน
เหล่านี้คือข้อมูลที่สะท้อนภาพมายาคติความยากจน แม้ว่าการวัดตัวเลขคนยากจนด้วยรายได้ที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่หนี้สินไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาคำนวณหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนิยามความยากจนในสายตาของรัฐ ในทางตรงข้ามหนี้และการบริโภคกลับแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยวิเคราะห์การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้เป็นหนี้ว่า เป็นเพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2550, ออนไลน์)

แม้ว่าในการเปิดให้มาลงทะเบียนคนยากจน จะมีคนยากจนที่มีปัญหาหนี้สินอยู่ถึง 5 ล้านคน มีมูลค่าหนี้ 6.9 แสนล้านบาท แต่การแก้ไขปัญหาหนี้สินไม่ได้เป็นไปเพื่อยับยั้งหรือปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อไม่ก่อให้เกิดหนี้ใหม่ หากแต่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ และปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้นำเงินไปชำระหนี้เก่า ภายหลังการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินจากการลงทะเบียนคนยากจนที่ประเมินโดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2549) พบว่า ในจำนวนผู้ที่มาลงทะเบียนยากจนและเข้าโครงการแก้ปัญหาหนี้สินมีเพียงร้อยละ 17.4 เท่านั้นที่มีจำนวนหนี้สินลดลง ที่เหลือยังคงมีหนี้เท่าเดิมและมีบางส่วนมีหนี้เพิ่มขึ้น หนี้จึงเป็นเครื่องร้อยรัดพันธนาการในรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับการหยิบยื่นความปรารถนาดี ช่วยเหลือและฟื้นฟู แต่การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับคนยากจน กลับกลายเป็นการช่วยเหลือสถาบันการเงินให้สามารถบริหารหนี้ที่กำลังจะกลายเป็นหนี้เสียให้กลับมาเป็นรายได้อีกครั้ง

การกระจายเงินลงสู่รากหญ้าทำให้สถาบันการเงินมีลูกค้าเพิ่มขึ้น และปล่อยกู้ได้สะดวกใจมากกว่าใช้เงินของตนเองมาปล่อยกู้ ขณะเดียวกันก็ทำให้คนยากจนตกอยู่ในฐานะลูกหนี้อยู่ต่อไป โดยเป็นหนี้สถาบันการเงิน และหนี้ทางสังคมที่มีต่อรัฐบาลผู้เมตตาช่วยเหลือ หนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนพ้นจากความยากจน

เมื่อเงินที่เป็นหนี้เหล่านี้ถูกนำมาใช้บริโภคสัญญะ ขณะที่รัฐบาลเรียกหนี้สินที่ส่งผ่านไปยังประชาชนว่าเป็นการกระจายทุนไปสู่รากหญ้าเพื่อสร้างรายได้ ขจัดความยากจน มายาคติความยากจนไม่เพียงทำให้คนยอมเป็นคนยากจนได้ แต่ยังสร้างเครื่องมือกำกับควบคุม จัดระเบียบ และเฝ้าติดตามในทุกย่างก้าวของการดำเนินชีวิต ภายใต้นโยบายประกาศสงคราม, แก้ปัญหา, ขจัด, ความยากจน

หนี้สินของคนยากจนเป็นทั้งปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาได้ในเวลาเดียวกัน เป็นสิ่งที่สร้างความพึงพอใจให้ทั้งในระดับรัฐ และระดับครัวเรือน เพราะการเป็นหนี้คือวิธีการที่ทำให้พ้นจากความยากจนได้เร็วที่สุด เพราะหนี้สนองตอบต่อความหมายของความยากจนในมิติของรายรับ ที่สามารถนำมาจับจ่ายใช้สอยให้พ้นจากความยากจนได้ในทันที โดยไม่ต้องรอผลผลิต ขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการบริโภค อันเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลทุนนิยมปรารถนา ทั้งยังเป็นหลักประกันว่าคนยากจนเหล่านี้ต้องแสวงหารายได้เพื่อมาชดใช้หนี้ การนำเงินรายรับจากการเป็นหนี้มาจับจ่ายซื้อสินค้ายังช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อันเป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศด้วย

ผลิตผลที่มายาคติของความยากจนผลิตขึ้น ที่มีนัยของความหมายสามประการคือ

ประการแรก การบริโภคแสดงว่าผู้บริโภคมีเงิน ซึ่งยิ่งบริโภคมากในด้านปริมาณและมูลค่า ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะที่พ้นไปจากความยากจนเพราะมีรายรับพอเพียง

ประการที่สอง คือไม่จนทางสังคม เพราะสามารถหลุดพ้นจากลักษณะไม่พึงประสงค์ในวัฒนธรรมความยากจนอันน่ารังเกียจได้ กล่าวคือเป็นมนุษย์ที่สามารถผลิตสร้างรายได้และหาเงินมาบริโภคได้ และ

ประการที่สาม ขยายขอบเขตคนยากจนออกไปให้กว้างขวางครอบคลุมยิ่งขึ้น ภายใต้การถูกจัดระเบียบ กำกับควบคุมให้อยู่ในการดูแลและสังกัดของรัฐ ในฐานะลูกหนี้ของรัฐ ที่รัฐอาจเมตตาช่วยเหลือปลดเปลื้อง ปรับโครงสร้าง ผ่อนปรนให้ ภายใต้นโยบายขจัดความยากจนทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่จะมีขึ้น

อีกทั้งในระยะยาว คนยากจนเหล่านี้ยังตกอยู่ในพันธนาการแห่งหนี้ที่เป็นหลักประกันได้ว่า เขาเหล่านี้จะต้องทำงานหนักและไม่ยอมปล่อยให้มีเวลาว่าง เพื่อหารายได้มาทดแทนและหมุนเวียนใช้หนี้เก่าและกู้หนี้ใหม่ อันเป็นคุณลักษณะของคนที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าในระบบทุนนิยม

สรุป

1. เมื่อรัฐบาลพูดถึงคนยากจนและการแก้ปัญหาความยากจน ความหมายที่แฝงอยู่ก็คือการพูดถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่เน้นการขยับขับเคลื่อนในกลุ่มคนยากจนนั่นเอง

2. เมื่อเข้าสู่กระบวนการนิยามแล้ว คนยากจนจะถูกโครงสร้างการผลิตห่อหุ้มร้อยรัดไว้ เขาจะเป็นแรงงานที่เชื่อง ซื่อ และถูกควบคุมพฤติกรรมให้เป็นแบบสินค้าบนสายพานการผลิต เป็นพฤติกรรมทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนชรา โดยทำงานเพื่อชดใช้หนี้ และนำเงินมาแสวงหาสัญญะมาใส่ในตัวเพื่อพ้นจากความยากจน

3. ความยากจนจะไม่หมดไป เพราะความยากจนคือ วิถีชีวิตที่ความแตกต่างไปจากตัวแบบของสังคมทันสมัย ยิ่งสังคมเปลี่ยนไปโดยอีกสังคมตามไม่ทันมากเท่าใด ความยากจนจะเพิ่มสูงขึ้น เสมือนเป็นการเกมส์วิ่งไล่ตามจับความผันแปรไปของโลก โดยมีตะวันตกเป็นตัวแบบ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายไม่เคยตามทันตลอดเวลา


เอกสารอ้างอิง

ภาษาอังกฤษ
Barthes, Roland. "Myth Today". In Semiotics IV. Pp. 3-36. Edited by Gottdiener, Mark;
Boklund-Lagopoulou, Karin; Lagopoulos, Alexandros Ph. London: SAGE Publication Inc, 2003.

Baudrillard, Jean, Symbolic Exchange and Death. translated by Iain Hamilton London: Sage
Publications, 1995.

Baudrillard, Jean. The Consumer Society Myths and Structures. London: SAGE Publication, 1998.

Boltvinik, Julio. Poverty Measurement Methods-An Overview. , 2000.

Bourdieu, Pierre. Distinction A Social Critique of the Judgement of Taste. Translated by
Nice, Richard. London : Routledge & Kegan Paul, 1984.

Deleuze, Gilles and Guattari, Felix. A thousand plateaus capitalism and schizophrenia.
Seventh Printing. Translated by Massumi, Brian. Minneapolis: University of Minnesota Press, 1998.

Dollar, David and Kraay, Aart . Growth is Good for the Poor.
, 2001.

Dollar, David and Kraay, Aart. Trade, Growth, and Poverty.
, 2001.

Hazlitt, Henry. The Conquest of Poverty. NewYork: New Rochell NY, 1973.

Feagin and Feagin. Social Problem: a critical power-conflict perspective. 5th ed., Prentice Hall, 1997.

Haralambos,M. and Hoiborn, M. Sociology : Themes and Perspective. London: Unwin Hyman Limited, 1990.

Kellner, Douglas, Jean Baudrillard from Marism to Postmodernism and Beyond, Oxford:
Blackwell Publishers Ltd, 1991.

Kerbo, R. Harold. Social Stratification and Inequality Class Conflict in Histiorical
Comparative and Global Perspective. Boston: Mc Graw-Hill Company, Inc., 2000.

Marieke, De Mooij. Consumer Behavior and Culture. California: Sage Publication, Inc., 2004.

Mooney, Gerry; Ferguson, Iain and Lavalette, Michael. Rethinking welfare : a critical perspective
London : Sage, 2002.

Negus, Keith. "The Production of Culture" In Production of Culture/ Cultures of Production Edited by
Gay, Du Paul. Pp. 67-118. London: SAGE Publication, 1997.

Ritzer, George. Enchanting a Disenchanted World. 2nd ed. California: A Sage Publications Company, 2005.

Saussure, Ferdinand de. Course in general linguistics edited by Charles Bally
and Albert Reidlinger. New York : McGraw-Hill, 1959.

Sen, Amartya. "Equality of What ?" Edited by Goodin, E. Robert and Pettit, Philip
Contemporary Political Philosophy. Oxford: Blackwell Published. 1997.

Storey, Andy. "The World Bank, neo-liberalism, and power: discourse analysis and implications of
campaigners". In Development in Practice, Volume10, Numbers3 & 4, August 2000.

The World Bank, Poverty: World Development Report, Washington, D.C., 1990.

The World Bank. Globalization Growth, and Poverty. New York: Oxford University Press., 2002.

The World bank. World Development Report 2004 2004.

The World bank. World Development Indicator 2005
2005.

The World bank. Social Safety Net 2007

United Nation Development Progrmme. Human Development Report 1990. < //www.hdr.undp.org/>
United Nations Development Programme. Human Development Report 2005
New York: Hoechstetter Printing Co. 2005

ภาษาไทย
กรมการปกครอง. สรุปประเด็นมอบนโยบายแนวทางดำเนินการแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 2546

โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์. นโยบายการเกษตรกับความเป็นประเทศอุตสาหกรรม. กรุงเทพ: สถาบันนโยบายศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2534.

ทัศนัย มุขวิชิต และอัจฉรา ภาติกะวัยวัฒน์ "อิทธิพลของโทรทัศน์ที่มีต่อหมู่บ้านยากจน" หน้า.145-154 ใน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 10 ปีชนบทไทย, 2530

ธนาคารโลก ยุทธศาสตร์เพื่อฟื้นฟูการพัฒนาชนบทของประเทศไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ อำไพ หรคุณารักษ์ แปล, 2543.

บริษัทโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์. "ผู้บริโภคชาวไทยในชนบท" ใน Marketteer, ปีที่ 4 ฉบับที่ 15 พฤศิจกายน 2546

บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ. โครงการเงินกู้ต่างประเทศกับวิกฤติแรงงานไทย. กรุงเทพ: บัวหลวงการพิมพ์, 2544.

ปาริชาติ ลอตระกูล. "แผนพัฒนาชนบทในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6."
ใน 10 ปีชนบทไทย หน้า 52-61. จัดพิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรุงเทพ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2530

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ "คำให้สัมภาษณ์ของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต่อผู้แทนสื่อมวลชน" ใน 10 ปีชนบทไทย หน้า 1-11. จัดพิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรุงเทพ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2530

เมธี ครองแก้ว และคณะ. โครงการสร้างงานในชนบทของรัฐบาล กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2524.

ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาชนบท กรมการพัฒนาชุมชน. ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานปี 2550. < //202.8.85.199/bmn/> 2550.

ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาชนบท กรมการพัฒนาชุมชน. ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้านปี 2550. < //202.8.85.199/bmn/> 2550.ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รายงานสรุปโครงการติดตามประเมินผลการแก้ปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ, 2549

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. นโยบายลดความยากจนของรัฐ: อดีตและปัจจุบัน,
2550

สมชาย กรุสวนสมบัติ และจินตนา ศรีตงกุล, "กชช. : องค์กรเพื่อการพัฒนาชนบท" ใน 10 ปีชนบทไทย หน้า 31-41. จัดพิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรุงเทพ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2530

สมภพ มานะรังสรรค์. พัฒนาการของภาคเกษตรและผลกระทบต่อชาวไร่ชาวนาไทยในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่2-พ.ศ.2536. กรุงเทพ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545

สำนักงบประมาณ. งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551, 2550

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน, 2545

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้าและหลักประกันสังคม ปี 2546, 2547

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2510-2514)


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2515-2519)


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520-2524)


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529)


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-2534)


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539)


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544)


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549)


สำนักงานสถิติแห่งชาติ. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ พ.ศ. 2547, 2547

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. "สำนักงานสถิติแห่งชาติแถลงผลการสำรวจรายได้ ค่าใช้จ่ายและหนี้สินของครัวเรือน พ.ศ.2549." ในข่าวประชาสัมพันธ์สำนักงานสถิติแห่งชาติ, เมษายน 2550

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. หนี้ครัวเรือน,

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. รายงานผลเบื้องต้น สำมะโนเกษตร พ.ศ. 2546, 2546

สำนักนายกรัฐมนตรี. คำแถลงนโยบาย ของคณะรัฐมนตรีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547, 2547.

สำนักนายกรัฐมนตรี. คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อ รัฐสภา วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2548, , 2548.


สำนักนายกรัฐมนตรี. คำกล่าวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดอบรมหลักสูตรนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี อันเนื่องมาจากการริเริ่มนโยบายสาธารณะที่สำคัญของรัฐบาล" 2547ก.

สำนักนายกรัฐมนตรี. มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่อง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด
, 2550.



 

โดย: Darksingha 12 ตุลาคม 2550 16:19:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.