Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
5 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 

Revolutionary Wealth การนับทรัพย์สินแบบปฏิวัติ

โดย ดร.ไสว บุญมา



หลังจากเขียนหนังสือเรื่อง Future Shock ออกมาเมื่อปี 2513 Alvin Toffler กลายเป็นนักอนาคตศาสตร์ที่มีผู้คอยเงี่ยหูฟังเสมอ เขาและภรรยาชื่อ Heidi ร่วมกันเขียนหนังน่าสนใจออกมาอีกหลายเล่ม โดยเฉพาะเรื่อง The Third Wave (2523) และ Powershift : Knowledge, Wealth, and Power at the Edge of the 21st Century (2533) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เขาทั้งสองเพิ่งพิมพ์หนังสือเล่มล่าสุดชื่อ Revolutionary Wealth ออกมาเมื่อเดือนเมษายน 2549 เฉกเช่นเล่มก่อนๆ Revolutionary Wealth ซึ่งหนาเกือบ 500 หน้าและใช้เวลาเขียนถึง 12 ปีมีข้อคิดและมุมมองใหม่ๆ หลากหลายอย่างรวมทั้งการสร้าง และการนับทรัพย์สินในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิวัติข่าวสารข้อมูลด้วย ผู้เขียนกล่าวว่าเท่าที่ผ่านมา เรานับทรัพย์สินกันผิดๆ เพราะมักคิดว่าทรัพย์สินต้องเกี่ยวกับเงิน แต่มันไม่ใช่ ความหมายของทรัพย์สินคือทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มีประโยชน์ต่อเรา รวมทั้งสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่น สุขภาพที่ดีหรือการมีกัลยาณมิตรรอบด้าน ฉะนั้นทรัพย์สินจึงมี 2 ส่วน ได้แก่ส่วนที่เป็นตัวเงินหรือเปลี่ยนเป็นเงินได้และส่วนที่ไม่เกี่ยวกับเงิน

ผู้เขียนกล่าวว่าในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเกิดการปฏิวัติจริงๆ เพียง 3 ครั้งเท่านั้น และทุกครั้งที่เกิดขึ้นมันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง และความเปลี่ยนแปลงชนิดถึงรากเหง้าของสังคมมนุษย์ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการเมือง ระบบเศรษฐกิจ การดำเนินชีวิต มาตรฐานทางคุณธรรม ความเชื่อ วรรณคดี ดนตรี รูปแบบของศิลปะ โครงสร้างทางครอบครัวหรือความสัมพันธ์ระหว่างต่างเพศ นอกจากนั้นการปฏิวัติแต่ละครั้ง ยังนำไปสู่การสร้างอารยธรรมและระบบทรัพย์สินขึ้นมาใหม่ด้วยแต่ไม่ค่อยมีใครเข้าใจ คงเพราะเหตุนี้ที่ผู้เขียนตั้งชื่อหนังสือของเขาว่า Revolutionary Wealth ซึ่งอาจแปลว่า "การนับทรัพย์สินแบบปฏิวัติ" หรืออะไรทำนองนั้น

การปฏิวัติครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ค้นพบการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แทนการเก็บของป่าและล่าสัตว์ราว 10,000 ปีมาแล้ว การค้นพบนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อมนุษย์ไม่จำเป็นต้องโยกย้ายไปตามฤดูกาลของพืชและสัตว์ป่า การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนถาวรนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอีกสารพัดอย่างและเป็นฐานของการสร้างอารยธรรมตามส่วนต่างๆ ของโลก เช่น ในย่านตะวันออกกลางและในจีน การเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากเหง้าครั้งนั้นเรียกกันว่า การปฏิวัติเกษตรกรรม และต่อมานิยมเรียกกันว่า "คลื่นลูกที่ 1" ความสามารถในการทำเกษตรกรรมนำไปสู่การสร้างระบบทรัพย์สินขึ้นมา เพราะมนุษย์สามารถผลิตสิ่งต่างๆ จนเหลือกินเหลือใช้ได้อย่างสม่ำเสมอเป็นครั้งแรก

การปฏิวัติครั้งที่สองเกิดขึ้นหลังจากมนุษย์สามารถประดิษฐ์เครื่องจักรกลเมื่อราว 300 ปีที่แล้ว เครื่องจักรนำไปสู่การตั้งโรงงาน และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างทั่วถึงจนได้สมญาว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมและ "คลื่นลูกที่ 2" ความสามารถในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทำให้เกิดความทั้งมั่งคั่ง อารยธรรมและมหาอำนาจตามส่วนต่างๆ ของโลกโดยเฉพาะในประเทศที่มีสมญาว่า "พัฒนาแล้ว" ในยุโรปและอเมริกา พร้อมๆ กันนั้นก็มีการสร้างระบบทรัพย์สินขึ้นมาใหม่ ซึ่งประกอบด้วยทรัพย์สินมากมายกว่าระบบเก่า อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติอุตสาหกรรมนำมาซึ่งผลกระทบใหญ่หลวงสารพัด ไม่ว่าจะเป็นมลพิษในสิ่งแวดล้อม การล่าอาณานิคม แหล่งเสื่อมโทรมตามเมืองขนาดยักษ์และสงครามระหว่างประเทศ

การปฏิวัติครั้งที่สามเริ่มขึ้นเมื่อไม่นานมานี้โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัล และคอมพิวเตอร์เป็นหัวจักรขับเคลื่อน และกำลังแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว การปฏิวัติครั้งล่าสุดนี้ยังไม่มีชื่อแน่นอนนัก บางคนเรียกมันว่าการปฏิวัติสารสนเทศ หรือการปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีใหม่ท้าทายสิ่งที่มีอยู่แล้วเกือบทุกอย่างเมื่อข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ หรือภูมิปัญญา เข้ามาแทนที่ปัจจัยในการผลิตมากขึ้นๆ พร้อมกันนั้นการสร้างระบบทรัพย์สินใหม่ก็เกิดขึ้นด้วย ระบบใหม่นี้ มีทรัพย์สินมากกว่าระบบเก่าๆ ราวฟ้ากับดินทีเดียว ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ตามมานิยมเรียกกันว่า "คลื่นลูกที่ 3" และกำลังนำไปสู่การสร้างอารยธรรมใหม่เช่นเดียวกับในการปฏิวัติครั้งก่อนๆ ผู้นำในการสร้างอารยธรรมล่าสุดนี้ ได้แก่สหรัฐอเมริกา

แม้จะมีพลังสูงกว่า แต่การถาโถมเข้ามาของคลื่นลูกใหม่มิได้ทำให้คลื่นลูกเก่าจางหายไปทันที ตรงกันข้ามคลื่นทั้งสามกำลังโหมกระหน่ำอยู่ทั่วไป ทำให้เกิดการปะทะกันในด้านต่างๆ อย่างทั่วถึงไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ในประเทศใหญ่ๆ เช่น จีน อินเดียและบราซิล กระแสคลื่นทั้งสามลูกมีพลังสูงมาก เพราะการเกษตรแบบเดิม ยังดำเนินต่อไปในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรม และการออกแบบเพื่อทำของใหม่โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลก็เกิดขึ้นด้วย ผู้ที่ตกอยู่ในอิทธิพลของคลื่นคนละลูกจะมีวิถีชีวิตต่างกันเสมือนกับว่าอยู่คนละโลกทีเดียว เพราะคลื่นแต่ละลูกต้องการปัจจัยไม่เหมือนกัน สร้างทรัพย์สินได้ไม่เท่ากันและมีผลกระทบต่างกัน อย่างไรก็ตามผู้เขียนกล่าวว่าลึกลงไปในแก่นของคลื่นเหล่ามีนี้ปัจจัยเบื้องต้นรวมกันอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญยิ่งสำหรับการศึกษาให้เข้าใจว่าคลื่นเหล่านี้จะพาโลกเราไปไหน เช่น พลังงาน สิ่งแวดล้อมและโครงสร้างทางครอบครัว แต่ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนนำปัจจัยเบื้องต้นมาพิจารณาเพียง 3 อย่างเพราะอ้างว่ามันจะเป็นตัวแปรหลักในการสร้างทรัพย์สินในยุคต่อไป นั่นคือ เวลา (time) สถานที่ (space) และความรู้ หรือภูมิปัญญา (knowledge)

ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เวลา (time) นับวันจะมีความสำคัญยิ่งขึ้น ผู้เขียนฟันธงลงไปเลยว่า ความเป็นไปในโลกขณะนี้กำลังพาประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป ไปสู่วิกฤตเพราะความไม่สอดคล้องต้องกันของการใช้เวลา นั่นคือ อัตราความก้าวหน้า และการปรับตัวของส่วนต่างๆ ของสังคมต่างกันมาก วิกฤตนี้จะจำกัดการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ในปัจจุบันมีผู้นำในด้านธุรกิจ การเมืองและสังคมเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าใจความจริงเบื้องต้นที่ว่า เศรษฐกิจที่ก้าวหน้าต้องการสถาบันที่ก้าวหน้าด้วย แต่ความก้าวหน้าต่างๆ กำลังถูกรั้งไว้ด้วยความล้าหลังของสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา กระทรวงการคลังในญี่ปุ่น รัฐวิสาหกิจในจีน หรือมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส ผู้เขียนมองว่าปัญหาเกิดจากสถาบัน 9 กลุ่ม ซึ่งปรับเปลี่ยนตัวให้ทันกับความต้องการของโลกยุคใหม่ในอัตราที่ต่างกันมาก หากเปรียบกับความเร็วของรถยนต์บนถนนก็อาจจะได้ดังนี้

-บริษัทห้างร้าน หรือสถาบันทางธุรกิจ - 100 ไมล์ต่อชั่วโมง

-องค์กรเอกชน - 90 ไมล์ต่อชั่วโมง

-สถาบันครอบครัว - 60 ไมล์ต่อชั่วโมง

-สถาบันของรัฐ เช่น กระทรวงและองค์กรอิสระ - 25 ไมล์ต่อชั่วโมง

-ระบบการศึกษา - 10 ไมล์ต่อชั่วโมง

-องค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ - 5 ไมล์ต่อชั่วโมง

-สถาบันทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง - 3 ไมล์ต่อชั่วโมง

-ตัวบทกฎหมาย - 1 ไมล์ต่อชั่วโมง

ผู้เขียนกล่าวด้วยว่าความไม่สอดคล้องต้องกันของการปรับตัวของสถาบันต่างๆ นี้เป็นของธรรมดา ภายในสถาบันเดียวกัน หรือบริษัทเดียวกัน ส่วนต่างๆ ก็ยังมักปรับเปลี่ยนตัวได้ไม่พร้อมกัน และเมื่อส่วนหนึ่งปรับตัว หรือเร่งความเร็วขึ้นก็จะส่งผลพวงไปถึงส่วนอื่นซึ่งจะดูช้าลงในเชิงเปรียบเทียบ หากความไม่สอดคล้องต้องกันนี้ มีไม่มากถึงขนาดทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักลง วิกฤตก็ไม่เกิด แน่ละ ในสภาพเช่นนี้ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในด้านออกแบบและสร้างระบบให้ส่วนต่างๆ ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี นั่นหมายความว่าผู้มีความรู้เหล่านี้จะมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งและทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับในด้านสถานที่ (space) ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีทำให้เกือบทุกอย่างเคลื่อนย้ายไปยังส่วนต่างๆ ของโลกได้อย่างรวดเร็วจนดูเสมือนว่าโลกใบนี้เล็กลงและไร้พรมแดน จำนวนคนเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นตลอดเวลา สินค้าและบริการย้ายสถานที่ผลิตไปอยู่เมืองจีนและอินเดียมากขึ้น และเงินทุนจำนวนมหาศาลถูกโยกย้ายไปตามแหล่งต่างๆ อย่างฉับพลัน กิจการเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของโลกาภิวัตน์และก่อให้เกิดทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ในสถานที่ซึ่งไม่เคยมีทรัพย์สินจำนวนมากมาก่อน ในขณะที่สถานที่ซึ่งเคยมีความมั่งคั่งกลับทรุดโทรมลง ในอดีตแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติและค่าแรงต่ำมักเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน แต่ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล สิ่งเหล่านั้นมีความสำคัญน้อยลงมาก มิฉะนั้นการลงทุนข้ามชาติขนานใหญ่คงเกิดขึ้นในแอฟริกา แทนที่จะเกิดขึ้นในเมืองจีนและอินเดีย ปัจจัยสำคัญของการดึงดูดเงินทุนในยุคใหม่ ได้แก่สิ่งที่ทำให้การทำงาน และการอยู่อาศัยสะดวกสบาย เช่น มีปัจจัยพื้นฐานทุกด้านทันสมัย มีมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่สามารถผลิตคนงาน ด้านเทคโนโลยีได้จำนวนมาก มีความฉ้อฉลต่ำ มีอาชญากรรมน้อย ไม่ค่อยมีโรคติดต่อ และมีเสถียรภาพทางการเมือง แอฟริกา ส่วนใหญ่ไม่มีปัจจัยเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม กิจการดังกล่าวสร้างผลกระทบในด้านลบด้วย ฉะนั้นจึงเกิดการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ขึ้น ผู้เขียนมองว่าในการปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านโลกาภิวัตน์นั้น ทั้งสองฝ่าย มักไม่ค่อยให้ความกระจ่าง อย่างหมดเปลือก ว่าโลกาภิวัตน์ดีอย่างไรและชั่วอย่างไร แต่เขาเห็นว่าผู้ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์จะทำอย่างไรนั้น ไม่มีความสำคัญนัก เพราะโลกาภิวัตน์จะหยุดชะงักหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยใหญ่ๆ 4 ด้าน คือ (1) การขาดระบบควบคุม การโยกย้ายเงินทุนจำนวนมหาศาลอย่างฉับพลัน การโยกย้ายแบบนี้ เคยจุดชนวนวิกฤตมาหลายครั้ง รวมทั้งครั้งที่เริ่มในเมืองไทยเมื่อปี 2540 ด้วย (2) ทั่วโลกพึ่งตลาดส่งออกมากเกินไป จนทำให้ต้องผูกชะตากรรมไว้ กับเศรษฐกิจของผู้อื่น ฉะนั้นการถดถอยของเศรษฐกิจอเมริกันจะทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซาทันที (3) การค้นพบเทคโนโลยีใหม่อาจยังผลให้ของเก่าบางอย่างหมดประโยชน์ ในขณะเดียวกันสงคราม และการก่อการร้ายอาจทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก และ (4) สิ่งที่ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคติดต่อร้ายแรง หรือลูกอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลก

เกี่ยวกับเรื่องสถานที่ผู้เขียนมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ผิวโลกซึ่งเล็กลงเท่านั้น หากยังมองออกไปไกลถึงนอกโลกอีกด้วย ความสามารถในการท่องอวกาศกำลังนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ การใช้อวกาศเป็นส่วนประกอบ ของกิจการต่างๆ กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การใช้ระบบดาวเทียมที่ชี้ตำแหน่งบนผืนโลก (global positioning system) ฉะนั้นในยุคต่อไปอวกาศจะเป็นดินแดนแห่งใหม่ที่จะเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างทรัพย์สินเพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจัยเบื้องต้นที่สาม ซึ่งได้แก่ความรู้ หรือภูมิปัญญา (knowledge) นั้นรวมทั้งข้อมูล (data) และข่าวสาร (information) เบื้องต้นก่อนที่มันจะถูกควบรวมกันในบริบทต่างๆ และสังเคราะห์ออกมาเป็นองค์ความรู้ ผู้เขียนมองว่า เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ จึงจะเข้าใจโลกแห่งอนาคตโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการสร้างทรัพย์สิน ทั้งนี้เพราะความรู้เป็นปัจจัยในการผลิตที่แตกต่างจากปัจจัยอื่นๆ และนับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ในการเกษตรเมื่อชาวนาคนหนึ่งใช้ที่ดินปลูกข้าว ชาวนาอีกคนหนึ่งจะมาใช้ที่ดินนั้นทำอย่างอื่นมิได้ หรือในโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อคนงานกลุ่มหนึ่งใช้เครื่องมือบางอย่างในการสร้างผลิตภัณฑ์ คนงานกลุ่มอื่นจะใช้เครื่องมือชุดนั้นไม่ได้ แต่ความรู้เป็นปัจจัยในการผลิตที่ต่างจากที่ดินและเครื่องมือเพราะเราสามารถใช้ความรู้พร้อมๆ กันได้และจะใช้เท่าไรก็ไม่รู้จักหมด

นอกจากนั้นความรู้นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น ฉะนั้นหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าทุกอย่างมีอยู่อย่างจำกัด (scarcity) นั้นนำมาใช้กับความรู้ไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นความรู้เป็นสิ่งที่วัดไม่ได้ เช่นเดียวกับปัจจัยในการผลิตอื่นๆ เช่น ที่ดินและเครื่องมือในโรงงาน ทำให้การตีค่าของความรู้เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ผู้เขียนเห็นว่าในปัจจุบันเราตีค่าของความรู้ต่ำเกินไป ในขณะที่เรามีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับองค์ความรู้ที่มีอยู่ในโลก ธรรมชาติของความรู้ บทบาทของความรู้ และความสัมพันธ์ของความรู้กับสิ่งอื่น ผู้เขียนแบ่งความรู้ซึ่งมีอยู่มากมายเหลือคณานับออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่มีอยู่ในสมองของทุกคนและส่วนที่มีอยู่นอกมันสมอง ส่วนที่อยู่นอกมันสมองนี้อาจเขียนไว้ตามผนังถ้ำ หรือบันทึกไว้ในรูปของรหัสดิจิทัลในคอมพิวเตอร์ก็ได้ ส่วนนี้มีมากที่สุดและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนยากแก่การจินตนาการ เช่น เมื่อปี 2545 นักวิจัยคำนวณว่าข้อมูลข่าวสารและความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นภายในปีเดียวมีขนาดราว 5 แสนเท่าของข้อมูล และความรู้มีอยู่ในห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน ซึ่งเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อความรู้มีมากขึ้นและมีบทบาทมากขึ้นพร้อมกับทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น โลกก็ยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากเป็นเงาตามตัวขึ้นไป จนเกินกว่ามันสมองของเราจะตามทัน ความสลับซับซ้อน เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทำนายวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจกันผิดหมด เพราะพวกเขายังใช้เครื่องมือเก่าๆ และความรู้ในยุคคลื่นลูกที่ 2 ซึ่งล้าสมัยไปแล้ว โดยสรุปวิชาเศรษฐศาสตร์มีปัญหา เพราะถูกท้าทาย ด้วยความเปลี่ยนแปลงเบื้องต้น 4 อย่างคือ (1) การเกิดระบบเครือข่ายซึ่งยิ่งมีผู้ร่วมใช้มากขึ้นยิ่งมีค่ามากขึ้น เช่น ระบบโทรศัพท์และระบบอินเทอร์เน็ต (2) ความรู้มีบทบาทมากขึ้นแต่เป็นปัจจัยที่ใช้ไม่รู้จักหมด (3) ความสามารถในการแยกผลิตสิ่งต่างๆ ตามใจผู้ใช้แต่ละคนได้อย่างรวดเร็ว (customization) แทนการผลิตของชนิดเดียวกันจำนวนมาก (mass production) และ (4) การเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนได้อย่างฉับพลัน บทบาทของสิ่งเหล่านี้นักเศรษฐศาสตร์ยังไม่สามารถวิเคราะห์ให้เกิดความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้

เกี่ยวกับความล้าสมัยของความรู้ ผู้เขียนคิดคำขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้อธิบายแนวคิดของเขา โดยการสนธิกันของคำ 2 คำคือ obsolete knowledge ให้เป็น "obsoledge" ความรู้ที่ล้าสมัยนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นเงาตามตัวของความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น นั่นนำปัญหาใหญ่ๆ มาให้เราอีก เช่น ข้อมูลและความรู้ที่เรามีอยู่ในสมองหรือในห้องสมุดนั้น อาจล้าสมัย และไม่ใช่ความจริงเสมอไป ตามธรรมดาเรามักจะใช้กฎเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 6 อย่างเพื่อชั่งดูว่าข้อมูลข่าวสาร หรือความรู้ต่างๆ เป็นความจริงหรือไม่ ได้แก่ (1) ทุกคนเห็นด้วย (2) มีความเสมอต้นเสมอปลาย (3) ออกมาจากปากของผู้มีความรู้ในด้านนั้น (4) มีผู้ยืนยันว่าได้มาจากเบื้องบน เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (5) มีมานานแล้ว และ (6) พิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

ในจำนวนกฎเกณฑ์ทั้ง 6 นี้ผู้เขียนฟันธงว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่เชื่อถือได้ และควรนำมาใช้ในการพิจารณา ว่าอะไรเป็นความจริง ยิ่งกว่านั้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ การขาดแคลนพลังงาน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและความปลอดภัย ฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์จะต้องมีอิสระเต็มที่ในการค้นคว้าหาความจริง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในปัจจุบัน กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ถูกโจมตีอย่างหนักจากหลายฝ่าย จนทำให้เกิดความไขว้เขว และพวกเขาทำงานยากยิ่งขึ้น การโจมตีมาจากทั้งทางด้านศาสนา ซึ่งต้องการยึดสิ่งที่เกิดจากศรัทธาว่าเป็นความจริง จากทางด้านการแข่งขันทางธุรกิจซึ่งต้องการบิดเบือนความจริงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และจากทางด้านการเมือง ซึ่งต้องการเอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งยึดความเชื่อบางอย่างแบบตกขอบ การโจมตีแบบไร้จรรยานี้ นอกจากจะทำให้ศักยภาพในการสร้างทรัพย์สินในอนาคตลดลง และการแก้ปัญหาความยากจนยากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้มนุษย์ย้อนไปสู่ยุคมืดอีกด้วย




 

Create Date : 05 ตุลาคม 2550
3 comments
Last Update : 5 ตุลาคม 2550 12:28:18 น.
Counter : 3643 Pageviews.

 

(ต่อ)
ตามความเห็นของผู้เขียนทรัพย์สินซึ่งรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่มีประโยชน์ประกอบด้วยส่วนที่เกี่ยวกับตัวเงินและส่วนที่ไม่เกี่ยวกับตัวเงิน แต่คนทั่วไปมักให้ความสนใจเฉพาะส่วนที่เป็นตัวเงิน นักเศรษฐศาสตร์ไม่ยอมรวมค่าของส่วนที่ไม่เป็นตัวเงิน หรือแลกเป็นตัวเงินไม่ได้ ไว้ในตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี ผู้เขียนกล่าวว่าสิ่งหนึ่งซึ่งเทคโนโลยีและความรู้ใหม่จะทำให้เกิดขึ้นในอนาคตคือ ทรัพย์สินส่วนที่ไม่เกี่ยวกับตัวเงิน จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด และมีความสำคัญยิ่งต่อส่วนที่เกี่ยวกับตัวเงิน นั่นยิ่งจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสลับซับซ้อนขึ้นและตัวเลขทางเศรษฐกิจสะท้อนความเป็นจริงน้อยลง

ตัวอย่างของทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวกับตัวเงินมีมากมาย เช่น การดูแลเด็กและผู้สูงอายุในบ้าน กิจการนี้ไม่มีใครนำไปรวมไว้ในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ในอนาคตเนื่องจากทุกคนจะมีอายุยืนขึ้น อีกทำให้สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น พวกเขาจะมีสุขภาพดีกว่าผู้สูงอายุในปัจจุบันเพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ พวกเขาจะสามารถทำอะไรๆ ได้อีกมาก ในสหรัฐอเมริกาคนกลุ่มนี้มักอาสาออกไปทำงานให้ชุมชน ฉะนั้นงานอาสาสมัครจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินไว้เมื่อปี 2543 ว่าชาวอเมริกันอาสาทำงานถึง 15,500 ล้านชั่วโมง ซึ่งถ้าคิดเป็นเงินจะได้ประมาณ 239,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2 เท่าของรายได้ของคนไทยทั้งประเทศ ในปีนั้น) เพราะผู้อาสาบางคนตามปกติมีค่าตัวสูงมาก เช่น แพทย์และนักบริหารชั้นนำ ตัวอย่างเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนค้านหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า "ในโลกนี้ไม่มีของเปล่า" แบบหัวชนฝาทีเดียว การที่โลกนี้มี "ของเปล่า" แต่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ยอมนับรวมเข้าไปในผลผลิตของประเทศทำให้ความจริงถูกบิดเบือนจน GDP ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ย่อมาจากตัวชี้วัดค่าของผลผลิตของประเทศ หรือ gross domestic product นั้นควรจะย่อมาจากคำว่า grossly distorted product เสียมากกว่า

อีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการเรียนรู้วิธีใช้และวิธีเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผู้เขียนกล่าวว่าตั้งแต่วันที่มีคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ผู้ใช้ส่วนใหญ่มิได้เรียนการใช้จากในโรงเรียนแต่เรียนจากเพื่อนบ้านที่มีความชำนาญมาก่อน การเรียนนี้ไม่เสียเงิน แต่มีความสำคัญยิ่งต่อการเพิ่มผลผลิตในสำนักงานของผู้เรียน ผู้เขียนกล่าวถึงการใช้โปรแกรมในระบบ Linux ด้วย อาจเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าโปรแกรมในระบบนี้เกิดจากความร่วมมือของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วโลก ซึ่งอาสาเขียนโปรแกรม โดยไม่คิดค่าแรง ผลคือใครก็ใช้โปรแกรมนี้ได้โดยไม่ต้องซื้อลิขสิทธิ์ ทำให้ผลผลิตของผู้ใช้เพิ่มขึ้นมากมาย โดยไม่ต้องลงทุน ผู้เขียนอ้างว่าบริษัทในอเมริการาว 40% ใช้ระบบนี้แทนที่จะใช้ระบบอื่นเช่นของบริษัทยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์ ซึ่งพวกเขาต้องจ่ายเงิน

กิจกรรมเช่นการใส่และถอนเงินจากธนาคารโดยผ่านตู้อัตโนมัติ (ATM) การซ่อมแซมบ้านด้วยตัวเอง และการประกอบเครื่องใช้เอง จากส่วนประกอบที่ซื้อได้จากร้านนับวันจะเพิ่มมากขึ้นเพราะเทคโนโลยีใหม่เอื้อให้เกิดความสะดวก กิจการเหล่านี้ผู้เขียนตั้งชื่อว่า "Prosumer" ซึ่งเขานำ producer และ consumer มาสนธิกัน และเมื่อกิจการของ Prosumer กระตุ้นให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้น เขาตั้งคำใหม่ขึ้นมาว่า "producivity" ซึ่งเกิดจากการสนธิกันของ prosumer และ productivity อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใหม่มิใช่ทำให้ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น ในบางกรณีมันทำลายสิ่งที่มีอยู่แล้วด้วย เช่น กล้องถ่ายรูปดิจิทัล มีผลกระทบทางลบต่อการผลิตฟิล์มของบริษัทโกดัก และฟูจิ นอกจากนั้นมันยังมีผลกระทบต่อกิจการของร้านถ่ายรูปอีกด้วย ฉะนั้นผู้เขียนจึงเสนอว่าเราจะต้องเข้าใจเรื่องทรัพย์สินส่วนที่ไม่เกี่ยวกับตัวเงินให้ถ่องแท้ และเปลี่ยนฐานความคิดทางเศรษฐกิจกระแสหลักของเราด้วย มิฉะนั้นเราจะไม่มีทางแก้ปัญหาต่างๆ หรือสร้างทรัพย์สินใหม่ได้สำเร็จตามที่ควรจะทำได้

เทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้เกิดคลื่นลูกที่ 3 และอำนวยให้สหรัฐอเมริกาเป็นอภิมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ก่อให้เกิดความระแวงสงสัยให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยว่าจะถูกสหรัฐ จะรุกรานทั้งทางด้านทหาร ด้านเศรษฐกิจและด้านวัฒนธรรม เหตุการณ์ต่างๆ เช่น สงครามในอิรัก บทบาทของบริษัทยักษ์ใหญ่ และการแพร่ขยายของรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และเพลงอเมริกันทำให้เกิดความประทับใจว่าการรุกรานนั้นกำลังเกิดขึ้นจริงๆ ผู้เขียนมองว่านั่นเป็นปรากฏการณ์ปกติและไม่สำคัญเท่ากับอีกสิ่งหนึ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นแต่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญนัก นั่นคือ ความเปลี่ยนแปลงซึ่งกำลังคุกคามทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งในสหรัฐเองด้วย

ผู้เขียนเชื่อในเรื่องของอนิจจัง ฉะนั้นสหรัฐอาจมีอำนาจสูงสุดในขณะนี้ แต่ก็เพียงชั่วคราว ทั้งที่ดูจะมีอำนาจครองโลกได้แต่สหรัฐ กำลังเผชิญกับวิกฤตภายในหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ด้านเงินบำนาญ ด้านการศึกษา ด้านการเมือง ด้านตัวบทกฎหมาย ด้านจรรยาบรรณและด้านสถาบันครอบครัว ฉะนั้นอาจมองจากอีกมุมหนึ่งได้ว่า สหรัฐกำลังจะเผชิญกับความเสื่อม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะความเปลี่ยนแปลงของคลื่นลูกที่ 3 กำลังโหมกระหน่ำสถาบัน และทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมอเมริกัน สถาบันเหล่านั้นปรับตัวได้ในอัตราต่างกันดังที่กล่าวถึงในตอนต้น ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในด้านต่างๆ ขึ้น ตัวอย่างเช่นสถาบันครอบครัวซึ่งเริ่มสั่นคลอนมาตั้งแต่สมัยคลื่นลูกที่ 2 ยิ่งสั่นคลอนมากขึ้นเมื่อทุกสิ่งรอบด้านเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ครอบครัวอเมริกันเต็มไปด้วยความแตกแยกและการหย่าร้าง ความเหงาหงอยจึงกำลังระบาดไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ทั้งที่มีรายได้สูงขึ้นทุกวันแต่ชาวอเมริกันกลับมีความสุขน้อยลง

ผู้เขียนนำตัวอย่างการปรับตัวอย่างเชื่องช้าของสถาบันของรัฐมาเล่า เรื่องนี้จะมองว่าน่าเศร้าหรือน่าขบขันก็คงได้ นั่นคือ หกเดือนหลังจากผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำเพื่อใช้เป็นอาวุธถล่มนครนิวยอร์กและกรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 หน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเข้าประเทศของสหรัฐ ออกใบอนุญาตเข้าเมือง ให้แก่ผู้ก่อการร้ายที่ตายในเหตุการณ์นั้น 2 คน !

ผู้เขียนเน้นเรื่องระบบการศึกษาซึ่งเขาจะมองว่าล้าสมัยและเป็นประเด็นใหญ่มากสำหรับอนาคต ระบบการศึกษาในปัจจุบัน สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม และโรงเรียนเองก็มีลักษณะไม่ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งพยายามมุ่งผลิตเยาวชนชนิดเดียวกันออกมาจำนวนมาก

ในยุคที่เศรษฐกิจต้องการคนงานด้านความรู้มากยิ่งขึ้น โรงเรียนต้องเปลี่ยนไปเน้นการสร้างคนที่มีความอยากรู้อยากเห็นสูง มีความคิดเป็นของตนเอง มีลักษณะเด่นเป็นส่วนตัว มีความคิดสร้างสรรค์ มีแรงผลักดันภายในสูง และมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ แต่รัฐบาลของ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กลับต้องการเน้นระบบการศึกษาแบบเดิม โดยการผลักดันให้เกิดการทดสอบมาตรฐาน ซึ่งเน้นการท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองและพฤติแบบซ้ำซาก ฉะนั้นการใช้คำว่า "ปฏิรูป" ของนักการเมืองจึงมักเป็นเพียงการบิดเบือนความสนใจและไม่ตรงกับความต้องการของยุคสมัย

ภาวะวิกฤตของสถาบันอันเกิดจากการปรับตัวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงนี้ กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นในประเทศที่ก้าวหน้า หรือประเทศที่ยังล้าหลัง และยังรวมทั้งในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติด้วย ผู้เขียนเสนอว่าสภาพเช่นนี้ ทำให้เกิดความจำเป็นที่เราจะต้องเปลี่ยนฐานความคิดกันเสียใหม่ นั่นหมายความว่าเราจะต้องตอบคำถาม 3 ข้อให้ได้ คือ (1) ระบบทุนนิยมจะอยู่ได้ไหม ? (2) ความยากจนบนผืนโลกจะหมดไปหรือไม่ ? และ (3) การแพร่กระจายของเศรษฐกิจ ที่มีความรู้เป็นปัจจัยหลักจะมีผลต่อโครงสร้างของอำนาจในโลกอย่างไร ?

 

โดย: Darksingha 5 ตุลาคม 2550 12:29:23 น.  

 

(ต่อ)

คำถามที่ว่าระบบทุนนิยมจะอยู่ได้ไหม นอกจากผู้เขียนจะไม่ตอบตรงๆ แล้วยังอ้างถึงความเป็นอนิจจังว่า ทุกอย่างอยู่ได้เพียงชั่วคราว อย่างไรก็ตามนั่นอาจเป็นเพียงการเล่นคำ เพราะเขาดูจะสรุปว่า แนวคิดเบื้องต้นของระบบทุนนิยมนั้นอยู่ได้ แต่รูปแบบจะเปลี่ยนไปเพราะความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสำคัญ 4 ด้านคือ ด้านทรัพย์สมบัติ (property) ด้านทุน (capital) ด้านตลาด (markets) และ ด้านเงิน (money)

ตามปกติ "ทรัพย์สมบัติ" หมายถึงสิ่งที่แตะต้องได้ เช่น ที่ดิน บ้านและโรงงาน แต่ในระบบเศรษฐกิจยุคปัจจุบันคำนี้รวมทั้งสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ด้วย เช่น ลิขสิทธิ์และสิทธิ์ในการได้ประโยชน์ จากสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งอาจเป็นทั้งสิ่งที่แตะต้องได้และสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ เช่น เพลง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเครื่องหมายประจำยี่ห้อสินค้า สิ่งที่แตะต้องไม่ได้นี้ต่างจากสิ่งที่แตะต้องได้ เช่น ที่ดินและบ้านในนัยสำคัญสองอย่างคือ ลอกเลียนแบบได้ง่ายและใช้เท่าไรก็ไม่หมด ในยุคคลื่นลูกที่ 3 ความรู้มีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น นั่นหมายความว่าทรัพย์สมบัติที่แตะต้องไม่ได้จะมีบทบาทมากขึ้นด้วย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ใช้เท่าไรก็ไม่รู้จักหมด หลักเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมที่ว่าทุกอย่างมีจำกัดจึงถูกละเมิด นั่นอาจนำไปสู่การตีความหมายว่าแนวคิดระบบทุนนิยมใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงทางด้านทุนมีหลายอย่าง เช่น มีจำนวนมากขึ้น มีวิธีการลงทุนหลากหลายขึ้น เปิดโอกาสให้คนทั่วโลก เข้าร่วมได้โดยตรงได้มากขึ้นและเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้อย่างฉับพลันทำให้ยากแก่การควบคุม วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งเริ่มในเมืองไทยเป็นผลของการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างรวดเร็ว และชี้ให้เห็นว่าวิกฤต สามารถแพร่ขยายข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับโรคติดต่อ เท่าที่ผ่านมาทุนเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติให้มีค่าเป็นตัวเงิน ผู้เขียนเห็นว่าในวันหนึ่งข้างหน้าเราอาจคิดวิธีเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้เป็นเงินขึ้นมาได้อีก และเงินก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินชนิดที่เราคุ้นเคย เช่น ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ เมื่อเปลี่ยนเป็นเงินในรูปใดรูปหนึ่งได้แล้วก็นำมาแลกเปลี่ยนกันซึ่งจะยังผลให้ทุกสิ่งทุกอย่างสลับซับซ้อน และต่างไปจากระบบทุนนิยมดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

สำหรับในด้านตลาดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้แก่ การค้าขายทางระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งแพร่ขยายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ตลาดชนิดนี้ไม่ต้องการสถานที่ตั้งและสามารถให้บริการแก่ผู้ซื้อและผู้ขายได้ทั่วโลกโดยฉับพลัน พร้อมๆ กับการหายไปของสถานที่ตั้งของตลาดตัวเงินก็เริ่มหายไปเช่นกัน เช่น บัตรเครดิตถูกประดิษฐ์ขึ้นมาแทนตัวเงิน นอกจากนั้นการแลกเปลี่ยนที่ไม่มีเงินเป็นตัวกลางก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ผู้เขียนเรียกว่า prosumers ซึ่งจะมีบทบาทสูงขึ้นในอนาคต ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ยากที่จะพยากรณ์ว่าจะวิวัฒน์ไปทางไหน แต่ที่แน่นอนคือรูปแบบของทุนนิยมจะไม่คงอยู่ในรูปเดิม

ต่อคำถามที่ว่าความยากจนจะหมดไปหรือไม่ ผู้เขียนแสดงความมั่นใจในศักยภาพของเทคโนโลยีที่จะช่วยลดความยากจน หากประเทศต่างๆ มียุทธศาสตร์ในการพัฒนาเหมาะสม เกี่ยวกับเรื่องนี้เขาชี้ให้เห็นความสำเร็จของจีน และอินเดีย ในการใช้ยุทธศาสตร์แนวทวิลักษณ์ (twin-track development strategy) นั่นคือ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม และบริการเพื่อให้ประชาชนจำนวนมากมีงานทำอย่างทั่วถึง ควบคู่ไปกับการผลักดันให้เกิดการศึกษาพร้อมกับการวิจัย และพัฒนา เพื่อค้นหาและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ฉะนั้นทั้งจีนและอินเดียจึงสามารถผลิต และขายสินค้า และบริการราคาถูก ให้แก่ตลาดโลกได้อย่างกว้างขวางพร้อมๆ กับการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลักด้วย ทั้งจีนและอินเดียประสบความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจนอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของการขจัดความยากจนไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี หากอยู่ที่ปัญหาทางสังคม ทางสถาบัน ทางการเมืองและทางวัฒนธรรม ผู้เขียนย้ำอีกครั้งถึงความสำคัญของการปฏิรูประบบศึกษาเพื่อขจัดความล้าสมัย แม้เขาจะไม่ได้ตอบคำตามโดยตรง แต่ข้อเขียนของเขาดูจะบ่งว่าความยากจนจะไม่มีทางหมดไปจากโลก

สำหรับคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างของอำนาจในโลก ผู้เขียนประเมินอนาคตของยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันอันประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐ จริงอยู่ผู้เขียนดูจะยกย่องจีนที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จากการใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนา แนวทวิลักษณ์ แต่เขามองว่าจีนมีปัญหาใหญ่หลวง เพราะเป็นประเทศใหญ่ที่ยังตกอยู่ในอิทธิพลของคลื่นทั้ง 3 ลูก ประชาชนที่มีชีวิตอยู่ในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมและภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความต้องการ และผลประโยชน์ต่างกัน ฉะนั้นความแตกต่างของกลุ่มเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคของการพัฒนาต่อไป ผู้เขียนมองว่าจีนจะฝ่าอุปสรรคนั้นได้ก็ต่อเมื่อมีผู้นำที่มีความสามารถสูงในระดับเหมา เจ๋อ ตุง แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีวี่แววของผู้นำระดับนั้น

ญี่ปุ่นต่างจากจีนในแง่ที่มีภาคเกษตรเล็กมาก อย่างไรก็ตามโครงสร้างต่างๆ ในสังคมญี่ปุ่นที่มีความยืดหยุ่นน้อยมากนั้น อาจเหมาะสำหรับสังคมอุตสาหกรรมในยุคคลื่นลูกที่ 2 แต่ไม่เหมาะสำหรับยุคคลื่นลูกที่ 3 ซึ่งต้องการความยืดหยุ่นสูง และการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจของญี่ปุ่นประสบปัญหาอยู่เป็นเวลานาน ก็เพราะความไม่สอดคล้องต้องกัน ของสถาบันเก่ากับความต้องการของโลกยุคใหม่ ผู้เขียนไม่ยอมทำนายว่าญี่ปุ่นจะใช้เวลานานเท่าไร ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ ของตนให้เหมาะสม

ผู้เขียนมองว่าการที่สหภาพยุโรปมุ่งขยายขอบเขตของตนออกไปนั้นตรงข้ามกับความต้องการของโลกยุคใหม่ เพราะความใหญ่จะยิ่งเพิ่มความอุ้ยอ้ายแทนที่จะเพิ่มความปราดเปรียวและความยืดหยุ่น ฉะนั้นโอกาสที่ยุโรปจะนำหน้ามหาอำนาจอื่นดูจะมีน้อย

ขณะนี้สหรัฐเป็นผู้นำหน้าในด้านต่างๆ แต่สหรัฐก็กำลังประสบปัญหาหนักหนาสาหัส เพราะการปรับตัวในอัตราที่ต่างกันของสถาบันในสังคม สหรัฐ อาจได้เปรียบมหาอำนาจอื่นอยู่บ้างที่เป็นสังคมเปิดกว้าง และมีความยืดหยุ่นสูงกว่า ผู้เขียนไม่ได้บอกตรงๆ ว่าใครจะออกหน้าใครในระหว่างมหาอำนาจ เพียงแต่บอกว่าผู้ที่อ่านวิวัฒนาการรอบด้านออก และสร้างยุทธศาสตร์ตอบสนองได้รวดเร็ว และเหมาะสมจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จ จากมุมมองของการแข่งขันระหว่างรัฐ อาจสรุปได้ว่าสหรัฐจะครองความเป็นอภิมหาอำนาจต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเน้นว่าในอนาคตอำนาจรัฐจะลดลงในขณะที่บริษัทใหญ่ๆ และองค์เอกชนจะมีอำนาจมากขึ้น องค์กรเอกชนที่สำคัญที่สุดคือ องค์กรทางศาสนาโดยเฉพาะศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม ซึ่งจะท้าทายอำนาจรัฐมากขึ้น

แม้จะพูดถึงวิกฤตต่างๆ มากมาย แต่ในตอนสุดท้ายผู้เขียนสรุปว่าสังคมโลกจะปรับตัวได้และไม่แตกสลายดังบางคนคิด

ข้อสังเกต - ชื่อเสียงอันโด่งดังของ Alvin และ Heidi Toffler คงเป็นแรงจูงใจให้มีผู้อ่านหนังสือเล่มนี้จำนวนมาก สำหรับในประเทศด้อยพัฒนาผู้ที่น่าจะอ่านมากที่สุดได้แก่ชนชั้นผู้บริหารประเทศ นักเศรษฐศาสตร์และนักการศึกษา การอ่านเพียงผ่านๆ ไปอาจให้ความรู้สึกว่าผู้เขียนโจมตีบุคคลในสามสายงานนี้อย่างเผ็ดร้อน อย่างไรก็ตามสิ่งที่เขานำมาเสนอน่าจะให้ข้อคิดมากมายซึ่งอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันที

เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ใช้เวลาเขียนถึง 12 ปี ผู้เขียนจึงไม่ได้กล่าวถึงผลที่จะเกิดตามมา หลังจากการถอดรหัสพันธุกรรมประสบความสำเร็จ และนักอนาคตศาสตร์หลายคนทำนายว่าเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม จะทำให้เกิดการปฏิวัติและคลื่นลูกต่อไป อย่างไรก็ตามข้อคิดใหญ่ๆ ที่มีอยู่ในหนังสือไม่น่าจะล้าสมัย แม้คลื่นลูกใหม่จะถาโถมเข้ามาในเร็วๆ นี้ก็ตาม

ที่มา คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์ โดย ดร.ไสว บุญมา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17-27 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3810(3010)-3813(3813)

 

โดย: Darksingha 5 ตุลาคม 2550 12:32:03 น.  

 

หากเพื่อนๆต้องการมีรายได้เพิ่ม ก็ลองเข้าไปดูใน //websmart.6te.net/cc862.htm
(สามารถคัดลอก URL ข้างต้นไปวางได้)

ตอนนี้ผมทำอยู่ซึ่งได้จริงๆครับ(ไม่ได้โม้) ตัดสินใจเร็วจะมีโอกาสมีรายได้เสริม หากลังเลก็เสียใจด้วยครับ
ด้วยความปรารถนาดี

 

โดย: ปาท๋องโก IP: 125.27.130.210 5 ตุลาคม 2550 15:42:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.