Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
3 กันยายน 2550
 
All Blogs
 

รู้จักตักกินแกงจืดด้วยมีด : ยุทธศาสตร์สงครามแบบใหม่ในภาคใต้



ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

//www.deepsouthwatch.org






“ประสบการณ์กับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้เป็นสิ่งที่ท้าทายความคิดและภูมิปัญญาของผู้คนในสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน”



ความรุนแรงครั้งนี้นับเป็นวิกฤติใหญ่ที่สุดของสังคมไทยในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการต่อสู้ ความขัดแย้งและท้าทายรัฐไทยอย่างรุนแรงที่สุด แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายครั้ง แต่วิกฤติก็ยังไม่ลึกเท่าในปัจจุบัน และดูท่าว่าปัญหาก็ยังอยู่กับเราอีกนาน ดังจะเห็นได้จากในรอบ 43 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547-กรกฎาคม 2550 ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่รวมทั้งการฆ่ารายวัน การวางระเบิด การวางเพลิงและการก่อเหตุก่อกวนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบสูงถึง 7,244 ครั้ง ในเหตุการณ์ทางการเมืองดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บประมาณ 6,544 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิต 2,493 คนและผู้บาดเจ็บ 4,051 คน เฉลี่ยแล้วในรอบ 3 ปี 7 เดือนมีเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งการฆ่า การระเบิด และการเผาเกิดขึ้นวันละ 5 เหตุการณ์



สรุปแล้วความรุนแรงภาคใต้ทำให้มีคนเสียชีวิตวันละประมาณ 2 คน และมีผู้เสียชีวิตรวมกับบาดเจ็บประมาณวันละ 5 คน



ความสูญเสียดังกล่าว ทำให้เราต้องมาทบทวนความคิดเรื่องความรุนแรงและปัญหาความมั่นคงอย่างเป็นระบบมากขึ้นกว่าเดิม แนวคิดเรื่องความมั่นคงโดยทั่วไปนั้น เป็นแนวทางที่เน้นในด้านความมั่นคงแห่งชาติอย่างเดียว ซึ่งมักจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการทหารและผลประโยชน์ของชาติ



แนวทางดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา แต่เมื่อผ่านยุคสงครามเย็นโดยเฉพาะในระหว่าง 2-3 ทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา เกิดความเปลี่ยนแปลงในการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองภายในประเทศหลายแห่งซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อแนวคิดและยุทธศาสตร์ความมั่นคงประเทศในปัจจุบัน



ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจก็คือ เกิดความรุนแรงแบบใหม่ที่มีการจัดตั้งเป็นอย่างดีในประเทศหลายแห่งของทวีปเอเชีย อาฟริกาและในยุโรปตะวันออก ลักษณะความรุนแรงดังกล่าวเรียกกันว่า “สงครามแบบใหม่ (new war)” ซึ่งเป็นความรุนแรงที่มีจุดเน้นที่ธรรมชาติทางการเมืองในแบบใหม่ ลักษณะพิเศษของสงครามชนิดนี้ทำให้เราหาเส้นขีดแบ่งได้ยากระหว่างสงครามแบบเก่าที่รัฐกระทำต่อรัฐ หรือระหว่างรัฐกับกลุ่มปฏิวัติติดอาวุธ รวมทั้งไม่สามารถแยกความรุนแรงทางการเมืองกับการก่อความรุนแรงแบบอาชญากรรมอย่างมีการจัดตั้ง



นอกจากนี้ ความรุนแรงแบบดังกล่าวยังก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง มิติที่น่าสนใจก็คือ สงครามแบบใหม่ไม่เพียงแค่เปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีหรือเทคโนโลยีทางการทหารเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของคนในสังคมอย่างลึกซึ้งด้วย



ในสงครามแบบนี้รัฐไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดความรุนแรงแต่ความรุนแรงสามารถจะสร้างให้เกิดขึ้นได้ในทุกระดับตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล กลุ่ม ชุมชน ไปจนถึงระดับกลุ่มเครือข่ายในการก่อการร้ายกับรัฐ คำถามที่น่าคิดก็คือว่า ในท่ามกลางสถานการณ์ใหม่แบบนี้แนวคิดทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงจะเป็นอย่างไร



มองในแง่วิชาการ สงครามแบบใหม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสงครามกลางเมือง สงครามภายในประเทศ หรือสถานการณ์ “ความขัดแย้งซึ่งมีความเข้มข้นในระดับต่ำ” (low-intensity conflicts) แม้จะถูกเรียกได้หลายอย่าง แต่คำว่าความขัดแย้งที่มีความเข้มข้นในระดับต่ำเป็นคำที่น่าจะเหมาะสมที่สุด ชื่อนี้ถูกสร้างขึ้นมาในยุคสงครามเย็นซึ่งแม้จะเป็นสงครามในระดับท้องถิ่น แต่ก็เกี่ยวข้องกับตัวแปรความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำนวนมากมายหลากหลายชนิด มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยง ทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่ซับซ้อนย้อนแย้งทำให้ในสภาพ “สงครามขนาดเล็ก” ดังกล่าวเป็นเรื่องยากที่จะจำแนกแยกแยะระหว่างปัจจัยภายในและปัจจัยระหว่างประเทศ ระหว่างการรุกรานและการปราบปราม หรือแม้แต่จะแยกตัวแปรในระดับท้องถิ่น ระดับชาติกับระดับโลก ในเงื่อนไขที่เกิดความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างปัจจัยในประเทศกับต่างประเทศ



อำนาจอธิปไตยอันมีขอบเขตจำกัดในดินแดนเฉพาะของรัฐเริ่มถูกบ่อนทำลายลงโดยกระบวนการโลกาภิวัฒน์และการปฏิวัติของเทคโนโลยีสื่อสาร ประกอบกับความอ่อนแอของรัฐเองที่เกิดจากความไร้ประสิทธิภาพและคอรัปชั่นก็ทำให้เกิดช่องว่างแห่งอำนาจในพื้นที่ชายขอบซึ่งกลายเป็นเนื้อดินอันอุดมสำหรับการเกิดภาวะสงครามแบบใหม่ในรูปแบบความรุนแรงที่ไม่เคยมีมาก่อน



ลักษณะสำคัญที่ทำให้สงครามแบบใหม่เป็นสิ่งใหม่ก็คือ เป้าหมาย วิธีการ และการแสวงหาทรัพยากรมาสนับสนุนการก่อสงคราม เป้าหมายสำคัญที่สุดของสงครามแบบใหม่ชนิดนี้ก็คือ การเมืองว่าด้วยอัตลักษณ์ (identity politics) *1 ซึ่งจะแตกต่างไปจากเป้าหมายการต่อสู้เพื่อดินแดนและอุดมการณ์แบบสงครามในอดีต ในบริบทของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ความแตกแยกทางอุดมการณ์และดินแดนแบบเก่าถูกแทนที่ด้วยความแตกแยกทางการเมืองที่เกิดจากการแบ่งกลุ่มตามลักษณะอัตลักษณ์เฉพาะของตนเองกับการเปิดตัวสู่โลกแห่งความเป็นสากล ความแตกแยกระหว่างค่านิยมความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับความเชื่อในอัตลักษณ์ที่คับแคบของกลุ่ม



แบบอย่างที่เห็นได้ชัดในสังคมชายแดนภาคใต้ก็คือ สงครามขนาดเล็กได้กลายเป็นการก่อความรุนแรงที่เป้าหมายการต่อสู้ชัดเจนเพื่อประกาศตัวตนทางชาติพันธ์ ประวัติศาสตร์ และศาสนา การเมืองแห่งอัตลักษณ์ในที่นี้จึงหมายความถึงการอ้างสิทธิอำนาจบนพื้นฐานของอัตลักษณ์เฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็นความเป็นเชื้อชาติ (มลายูปัตตานี) ศาสนา (อิสลาม) หรือภาษาพูด (มลายูท้องถิ่น)



ในที่นี้ อาจมีข้อโต้แย้งว่า ในอดีตสงครามทุกประเภทก็เกี่ยวกับอัตลักษณ์เช่นกัน แต่อัตลักษณ์ดังกล่าวมักจะเกี่ยวโยงกับเรื่องของรัฐหรือการต่อสู้เพื่อรัฐ การเมืองแห่งอัตลักษณ์ในแบบใหม่เป็นการอ้างถึงอำนาจในการใช้ป้ายชื่อสัญลักษณ์เพื่อแสดงตัวตนอัตลักษณ์ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางการเมืองและสังคม เช่นการประกาศอิสรภาพ การสร้างรัฐอิสลามปัตตานี แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อัตลักษณ์เหล่านี้ “... จะเชื่อมโยงกับความเป็นตัวแทนความใฝ่ฝันสู่อุดมคติในอดีตกาล ….” จึงอาจจะกล่าวได้ว่ากระแสคลื่นของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ยุคใหม่ เป็นการย้อนยุคไปสู่อดีต เป็นการฟื้นความรู้สึกเกลียดชังในสมัยโบราณที่ถูกเก็บกดและควบคุมเอาไว้ในยุคอาณานิคมและสงครามเย็น



เมื่อมองให้ลึกลงไปอีก ประเด็นทางการเมืองที่น่าสนใจในที่นี้ก็คือ คำบอกเล่าเรื่องราวของการเมืองแห่งอัตลักษณ์นอกจากจะขึ้นอยู่กับความทรงจำและการสืบทอดประเพณีของสังคม เช่น เรื่องเล่า (ตอนแพ้สงคราม เป็นเชลยถูกเกณฑ์ไปกรุงเทพถูกเจาะผูกเอ็นร้อยหวาย) ประวัติศาสตร์แบบตำนาน (เช่น Hijayat Patani เล่าถึงความรุ่งเรืองของรัฐปัตตานีในอดีตที่ถูกสยามจ้องจะทำลายด้วยสงครามรุกราน) และเพลงกล่อมเด็ก (เลือดของมลายูแดงฉานด้วยกองทัพสยาม)



อีกด้านหนึ่ง อัตลักษณ์ยังจะต้องถูก “สร้างขึ้นมาใหม่” ภายใต้บริบทแห่งความล้มเหลวของแหล่งที่มาของอำนาจที่มีความชอบธรรมในทางการเมือง เช่น ความไม่น่าเชื่อถือของการเมืองแบบเผด็จการทหาร (นโยบายชาตินิยมของจอมพล ป พิบูลสงคราม ความผิดพลาดของเผด็จการทหารสฤษดิ์) ความล้มเหลวของกระบวนการประชาธิปไตย (นักการเมืองมุสลิมกลุ่มวาดะห์และนักการเมืองท้องถิ่นล้มเหลวและคอรัปชั่น) ความผิดพลาดของผู้นำศาสนา (การแย่งชิงผลประโยชน์ในการเลือกตั้งกรรมการอิสลาม) หรือความไร้น้ำยาของวาทกรรมแห่งการสร้างชาติหรือการสร้างภาวะความเจริญทันสมัยของรัฐบาล (ความยากจน อ่อนแอ ด้อยพัฒนา ปัญหายาเสพติดของชุมชนมุสลิม) ความล้มเหลวของของการสร้างรัฐชาติที่ผสมกลมกลืน (นโยบายกีดกันระบบการศึกษาระบบโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในทุกระดับ การมีอคติกีดกันเรื่องภาษายาวี)



บนพื้นฐานความล้มเหลวเป็นชุดๆ ดังกล่าว ทำให้ลักษณะโครงการทางการเมืองแบบ “มองย้อนกลับไปข้างหลัง” ก่อกำเนิดขึ้นในที่ว่างสุญญากาศที่เกิดจากการไร้ซึ่งความสำเร็จของโครงการทางการเมือง “แบบแลไปข้างหน้า” เพราะเหตุดังกล่าวการเมืองแห่งอัตลักษณ์จึงไม่เหมือนการเมืองแห่งอุดมการณ์แบบเก่า ที่มีโครงการและนโยบายเปิดเผยแก่คนทั่วไป และมีบูรณาการความคิด เช่น นโยบายพรรคการเมืองหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย



การเมืองอัตลักษณ์ชุดใหม่นี้มีลักษณะพิเศษที่ปิดตัวแคบเฉพาะกลุ่ม และในตัวของมันเอง มีแนวโน้มที่จะแยกย่อยเป็นชิ้นเป็นส่วน แต่ร้อยผูกอยู่ด้วยกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะความจริงในอดีตจะเป็นข้อเท็จจริงหรือมีเหตุผลหรือไม่อย่างไร ก็ไม่สำคัญเท่าการทำให้คนมีความเชื่อว่ามันจริง เพราะมันเป็นความเป็นจริงเสมือนของภาพในอดีตที่ถูกสร้างขึ้นในปัจจุบัน เพื่อรับใช้ปัจจุบัน และสงครามในปัจจุบันคือการทำให้ประวัติศาสตร์มาต่อสู้กันในปัจจุบันนั่นเอง





นอกจากนี้ ยังมีลักษณะพิเศษของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับกระบวนการโลกาภิวัฒน์ ลักษณะประการแรกก็คือ คลื่นลูกใหม่ของการเมืองแห่งอัตลักษณ์จะเกิดขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ทั้งในระดับชาติและข้ามชาติ ในหลายๆ กรณีจะเกิดชุมชนผู้พลัดถิ่น (diaspora communities) ซึ่งมีอิทธิพลอันเกิดจากความก้าวหน้าของการเดินทางและเทคโนโลยี่การสื่อสาร ผู้อพยพพลัดถิ่นในต่างประเทศที่ก้าวหน้าในทางอุตสาหกรรมหรือประเทศที่ร่ำรวยในการค้าน้ำมันจะเป็นแหล่งของแนวคิด ทุนและเทคนิคในการต่อสู้การเมืองแห่งอัตลักษณ์และจะผลักดันความคิดที่แปลกแยกหรือจินตนาการฝันเฟื่องของตนเองมาสู่ภายในประเทศซึ่งมีสถานการณ์ที่แตกต่าง มีผู้พลัดถิ่นชาวปัตตานีและสามจังหวัดจำนวนไม่น้อยที่เกาะกลุ่มกันในต่างประเทศทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและในยุโรป ในประเทศตะวันออกกลางที่ยังสื่อกลับมายังบ้านเกิดของตนเองและเป็นฐานกำลังหนุนที่เข้มแข็งของสงครามอัตลักษณ์ในประเทศ



ลักษณะประการที่สองก็คือ การใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ การระดมทางการเมืองจะมีอัตราความเร็วสูงขึ้นมากเพราะการใช้สื่อทางอิเลคโทรนิกส์ อิทธิพลของโทรทัศน์ วิทยุ วิดีโอและอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่สำคัญมากในกระบวนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ สัญลักษณ์ของวัฒนธรรมมวลชนแบบโลกาภิวัตน์เป็นสื่อแสดงอัตลักษณ์ที่สำคัญ เช่น รถยนต์เมอซิเดส เบนซ์ แว่นตาเรย์แบนด์ เสื้อยืด ผ้ามือสองจากประเทศตะวันตกและทีมฟุตบอลระดับโลกซึ่งถูกนำมาผนวกกับตราอัตลักษณ์พิเศษของตนเอง



ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ก็คือการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำสงคราม หรือวิธีการที่ใช้ในการทำสงครามแบบใหม่ ยุทธศาสตร์ของสงครามแบบใหม่เป็นการถอดประสบการณ์ทั้งจากสงครามกองโจร (guerrilla warfare) และการต่อต้านการก่อความไม่สงบ (counter-insurgency) ในยุคสงครามเย็น ซึ่งการผสมผสานดังกล่าวทำให้สงครามแบบใหม่มีลักษณะพิเศษ



สงครามในแบบแผนหรือสงครามโดยทั่วไปมีเป้าหมายที่จะยึดดินแดนโดยวิธีทางการทหาร การเผชิญหน้าทางการยุทธ์ในสนามรบเป็นตัวแปรชี้ขาดของสงคราม ส่วนสงครามกองโจรนั้นถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อหลีกหนีการระดมกำลังพลจำนวนมากที่จุดเดียว ในสงครามกองโจรนั้นดินแดนจะถูกยึดครองได้ด้วยการควบคุมทางการเมืองต่อประชากรด้วยงานมวลชนมากกว่าจะใช้วิธีการรุกทางทหาร การปะทะอย่างเปิดเผยจะถูกหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในทฤษฎีสงครามของเหมาเจ๋อตงนั้น นักรบกองโจรมุ่งที่จะเอาชนะจิตใจของมวลชน แต่ในสงครามแบบใหม่ กองกำลังกลับใช้เทคนิควิธีการสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ คือ สร้างความไร้เสถียรภาพ ดังนั้น วิธีการทำสงครามจะเปลี่ยนไปเป็นการใช้วิธี “สร้างความหวาดกลัวและความเกลียดชัง” ให้เกิดขึ้น เป้าหมายก็คือควบคุมประชากรด้วยการขจัดใครก็ตามที่มีอัตลักษณ์ต่างจากตน (พวกกาเฟร์ซียัม) และจัดการคนที่มีความคิดต่างเป็นอื่น (ถึงแม้จะมีอัตลักษณ์แบบเดียวกับพวกตน เช่น พวกผู้ทรยศ หรือ มูนาฟิก) และสร้างความรู้สึกหวาดกลัว (เตือนกับตาย !)



ดังนั้น เป้าหมายทางยุทธศาสตร์สงครามแบบใหม่ก็คือ ปลุกระดมให้เกิดการเมืองแห่งความคิดที่รุนแรงบนพื้นฐานของความกลัวและเกลียดชัง พวกเขาจะใช้วิธีขับไล่ประชากรให้หนีจากพื้นที่ด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น การฆ่าย่างสด ยิงรายวัน และใช้เทคนิคจิตวิทยาการเมืองและทางเศรษฐกิจด้วยการข่มขู่คุกคาม เช่นทำลายทรัพย์สิน ตัดต้นยางทิ้ง ห้ามไม่ให้คนท้องถิ่นซื้อที่ดินทรัพย์สินของคนพุทธที่อพยพหนีตาย ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ที่เป็นเหยื่อความรุนแรงส่วนมากก็คือประชาชนหรือพลเรือนทั่วไป สถิติการตายในเหตุการณ์ความไม่สงบภาคใต้ คนส่วนมากที่สุดที่เป็นเหยื่อคือประชาชน มากกว่าเจ้าหน้าที่



นอกจากนั้น เพื่อสร้างความหวาดกลัวและความขัดแย้งในวงกว้างสงครามแบบใหม่จะใช้วิธีการโจมตีที่สร้างภาพปฏิบัติการที่โดดเด่นและโหดเหี้ยมอำมหิต เช่น บางครั้งจะใช้การฆ่าด้วยวิธีการตัดคอ เผาร่างกายไร้วิญญาณของเหยื่อผู้ถูกกระทำ ฆ่าทหาร หรือพลเรือนเป็นกลุ่มในการซุ่มโจมตีและไล่ยิงใส่หัวผู้บาดเจ็บทีละคน เป็นต้น



การวิเคราะห์ลักษณะของสงครามแบบใหม่ที่เป็นการเมืองแห่งอัตลักษณ์จะมีนัยสำคัญต่อการค้นหาวิถีทางจัดการความขัดแย้งและสร้างยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ยังไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาการเมืองแห่งอัตลักษณ์ในระยะยาวได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ประเด็นหนึ่งที่เราค้นพบก็คือ การที่ความขัดแย้งแบบนี้ก่อให้เกิดปัญหาที่บานปลายขยายตัวออกไปทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคม แนวทางการแก้ปัญหาแบบใช้การตัดสินใจจากบนสู่ล่างมีแนวโน้มที่จะประสบความล้มเหลว หัวใจของการแก้ปัญหาจึงอยู่ที่การฟื้นคืนอำนาจอันชอบธรรม (legitimacy) หรือฟื้นคืนอำนาจการควบคุมความขัดแย้งด้วยอำนาจสาธารณะไม่ว่าจะเป็นในระดับชุมชน ระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ และจะต้องเป็นทั้งกระบวนการทางการเมือง (สร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่และชนชั้นนำ) และกระบวนการทางกฎหมาย (กฎแห่งนิติธรรมที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างน่าเชื่อถือ) *2 ประสบการณ์หลายประเทศบอกว่าการใช้วิธีรุนแรงตอบโต้ความรุนแรงมักจะไม่ประสบผลสำเร็จ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือความล้มเหลวทางการทหารของสหรัฐอเมริกาในสงครามอิรัก



ข้อเสนอแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการ 5 ข้อในสงครามการต่อต้านการก่อความไม่สงบในมลายาของ Robert Thompson หลักการดังกล่าวคือ



- รัฐบาลจะต้องมีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนเพื่อสถาปนาและรักษาไว้ซึ่งประเทศ

ที่มีเสรีภาพ อิสรภาพและเป็นเอกภาพโดยมีความมั่นคงและความอยู่รอด

- รัฐบาลจะต้องปฏิบัติหน้าที่ภารกิจให้เป็นไปตามหลักการแห่งกฎหมาย

- รัฐบาลจะต้องมีแผนการรวมแบบบูรณาการ

- รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกต่อการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบใน

ทางการเมือง มิใช่จะเอาชนะกลุ่มกองโจรเท่านั้น



ในขั้นตอนของการก่อความไม่สงบในสงครามแบบกองโจร รัฐบาลจะต้องทำให้พื้นที่ที่เป็นฐานของตนเองมีความมั่นคงก่อน



หลักการของ Thompson ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กองทัพที่ทำหน้าที่ต่อต้านการก่อความไม่สงบจะต้องใช้กำลัง “เพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลเพื่อสถาปนาความชอบธรรม” เพื่อเอาชนะอำนาจฝ่ายก่อการร้าย ดังนั้น ปฏิบัติการทางการทหารที่ไม่พยายามใช้กำลังในขอบเขตต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะทำให้รัฐบาลสูญเสียความน่าเชื่อถือและการสนับสนุนจากประชาชน ประชาชนต้องรู้สึกว่าทหารมาปกป้องคุ้มครองตนเองมิใช้เป็นผู้ทำลาย *3



T.E. Lawrence ผู้มีประสบการณ์ในสงครามกองโจรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 มีคำอธิบายเปรียบเทียบอย่างน่าคิดว่า การทำสงครามกับผู้ก่อความไม่สงบในการก่อการร้ายนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสับสนและเชื่องช้า เหมือนกับการจะซดกินแกงจืดด้วยมีด โดยไม่มีช้อนตักกิน แต่ปัญหาในภาคปฏิบัติยิ่งยุ่งยากซับซ้อนไปกว่านั้น เพราะการจะเข้าใจว่าการต่อสู้กับการก่อความไม่สงบเป็นเรื่องยุ่งยากและเชื่องช้า ยังง่ายกว่าการรู้วิธีเอาชนะในสงครามแบบนี้ ที่หนักที่สุดก็คือ การรู้ว่าจะเอาชนะได้อย่างไร ก็ยังง่ายกว่าจากการรู้จักวิธีการหรือมาตรการในการดำเนินการเพื่อให้เอาชนะจริงๆ ได้ โจทย์ใหญ่ข้อนี้ทำให้ทุกฝ่ายต้องทำการบ้านกันมาก



การกล่าวถึงประเด็นปัญหาสงครามแบบใหม่ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าปัญหาภาคใต้ของประเทศไทยทำให้เราต้องคิดและให้ความสนใจในเรื่อง “องค์ความรู้” และความเป็นจริงของ “ข้อมูล” ให้มากขึ้น รวมทั้งยังต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนทัศน์เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงและนโยบายการจัดการความขัดแย้งอีกมากมายหลายอย่าง รวมทั้งต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี แนวทาง ตลอดจนวิธีการปฏิบัติไปพร้อมๆกันด้วย *4



การจะได้มาซึ่งแนวคิด แนวทาง ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีนั้นต้องอาศัยความเข้าใจและกระบวนการเรียนรู้หลายอย่าง การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ขององค์กรภาครัฐ (โดยเฉพาะฝ่ายทหาร) จึงเป็นเรื่องสำคัญด้วย การเรียนรู้นี้จะได้มาทั้งจากตนเองและจากผู้อื่น ทั้งจากรัฐ เอกชน ภาคประชาชน และประสบการณ์ในต่างประเทศ การพยายามเรียนรู้จากผู้อื่นนอกเหนือจากประสบการณ์ของตนเองก็เป็นปัจจัยสำคัญของพัฒนาการยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาความมั่นคงและการต่อสู้กับการก่อความไม่สงบ Otto von Bismark ผู้นำนักการทหารของเยอรมันในอดีตกล่าวว่า คนโง่เรียนรู้จากประสบการณ์ของตน แต่คนฉลาดเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น



นี่เป็นสิ่งที่จะต้องทำเป็นลำดับแรกในการแก้ปัญหายุทธศาสตร์ความมั่นคงและการจัดการความขัดแย้ง ในที่นี้การเรียนรู้ประสบการณ์และความรู้สึกของคนในพื้นที่และจากแหล่งความรู้อื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อการสร้างสันติสุขในสถานการณ์แห่งสงครามแบบใหม่ที่ท้าทายรัฐไทยอยู่ในขณะนี้








เชิงอรรถ



*1. แนวคิดเรื่องสงครามแบบใหม่และการเมืองแห่งอัตลักษณ์ในที่นี้ประมวลมาจากแนวคิดของ Mary Kaldor, New&Old Wars: Organized Violence in Global Era, (Standford, California: Standford University Press, 2007)



*2. Kaldor, ibid, p. 11



*3. John A. Nagl, Learning to Eat Soup with a Knife Counterinsurgency Lessons from Malaya and Vietnam, (Chicago & London: The University of Chicago Press, 2005), pp. 28-30



*4. รศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข, วิกฤตใต้ ! สู้ด้วยยุทธศาสตร์และปัญญา, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, 2550)


ที่มา : ประชาไท วันที่ : 2/9/2550




 

Create Date : 03 กันยายน 2550
1 comments
Last Update : 3 กันยายน 2550 18:52:21 น.
Counter : 1419 Pageviews.

 

บทความนี้ก็ดี
แต่คนเขียนใช้ภาษาแอบยาก เลยงงเล็กน้อย แง่ม
รู้สึกว่าเคยอ่านเจอใน The Economist

 

โดย: PPpIRCU 26 พฤศจิกายน 2550 5:36:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.