เด็กราชวิทย์
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
ประวัติโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์



ประวัติโรงเรียนของเรา


" รวมพลังฝังแน่นในอุรา แด่ชาติ ศาสนา มหาราชันย์
สามัคคีกลมเกลียวไม่แปรผัน ขอฝ่าฟันอุปสรรคนานา..."
เนื้อเพลงมาร์ชราชวิทย์ แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีของนักเรียนราชวิทย์ที่มีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ นักเรียนราชวิทย์รำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ ทั้ง 4 รัชกาล อันกอร์ปด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 องค์พระราชทานกำเนิดโรงเรียนราชวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงรับ โรงเรียนราชวิทยาลัย ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ คู่กับ โรงเรียน มหาดเล็กหลวง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้โรงเรียนราชวิทยาลัย กับ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ รวมเป็นโรงเรียนเดียวกัน และพระราชทานนามใหม่ว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ทั้งนี้เพราะสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ไม่เอื้ออำนวย มิได้ เกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของโรงเรียนแต่อย่างใด โรงเรียนราชวิทยาลัยจึงถูกปิดลง นับแต่วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2469 เป็นต้นมา

แต่ด้วยแรงแห่งสามัคคีตาม Esprit de Corps จึงทำให้นักเรียนราชวิทยาลัย ทั้ง 3 สมัย คือ นักเรียนราชวิทยาลัย สมัยบ้านสมเด็จ นักเรียนราชวิทยาลัยสมัยโรงเลี้ยงเด็ก และนักเรียนราชวิทยาลัยสมัยบางขวาง มีความหวังตั้งใจอย่างแรงกล้า ที่จะตั้งโรงเรียน ราชวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ โดยท่านผู้ใหญ่ของชาวราชวิทย์ อาทิเช่น พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่น นราธิปพงศ์ประพันธ์ , พระยาโกมารกุลมนตรี , พระยาคทาธรบดี , พระยามานราชเสวี , พระยาโทณวณิกมนตรี และอีกหลายๆ ท่าน ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมราชวิทยาลัยขึ้น ให้เป็นสถานที่พบปะหารือกัน เพื่อฟื้นฟูโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ เพราะยังเห็นว่า โรงเรียนราชวิทยาลัยควรมีอยู่เพื่อ เป็นพระบรมราชานุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนนี้ต่อไป และด้วยเจตนาอันแรงกล้านี้ โรงเรียนราชวิทยาลัยสมัยที่ 4 จึงถือกำเนิดขึ้น และเป็น พระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม หาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลปัจจุบัน พระราชทาน พระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. นำหน้าชื่อ ราชวิทยาลัย เพื่อเป็นมหาศิริมงคล และทรงโปรดให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ , พระยามานวราชเสวี และนายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา เฝ้ากราบทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2505 เวลา 11.00 น. เพื่อกราบบังคมทูล พระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เกี่ยวกับการจัดตั้ง โรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่

นักเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ ทุกคน ควรได้ตระหนักถึง ความร่วมแรงร่วมใจ ของนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย ทั้ง 3 สมัย ความจงรักภักดี ของนักเรียนราชวิทย์ที่มีต่อพระมหากษัตริย์ และควรได้สืบทอดเจตนารมณ์แห่งความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความรักหมู่คณะของเราตลอดไป

ประวัติศาสตร์ และความเป็นมาโรงเรียนราชวิทยาลัย
ราชวิทยาลัยสมัยบ้านสมเด็จ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน พระบรมราชานุญาต ให้กระทรวงธรรมการ จัดตั้งโรงเรียนสำหรับนักเรียนอยู่ประจำขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2440 ปรากฏตามหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 13 หน้า 269 ลงวันที่ 5 เมษายน ร.ศ. 115 ( พ.ศ. 2439) เพื่อสร้างสรรค์กุลบุตรให้มีการศึกษา ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตลอดจน การศึกษา ตามแบบอย่างในประเทศตะวันตก เป็นการฝึกหัดตน เพื่อจะให้เรียนต่อ ในมหาวิทยาลัย ในยุโรปต่อไป จึงมีพระราชประสงค์ ที่จะจัดตั้งโรงเรียนนี้ที่แขวงเมืองสระบุรี แต่ด้วยเหตุที่ การคมนาคม ไม่สะดวก จึงกำหนดเปิดเรียน เป็นการชั่วคราวก่อน ณ ตำบลสมเด็จเจ้าพระยา จังหวัดธนบุรี จึงเรียกกันว่า “ ราชวิทยาลัยสมัยบ้านสมเด็จ ” เปิดเรียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2440

ในการนี้ได้ มีผู้เข้าใจว่า พระองค์โปรดให้จัดตั้งขึ้นหลังจากเสด็จพระพาสยุโรป เพื่อให้โรงเรียน ราชวิทยาลัย จัดการเรียน การสอน เช่นโรงเรียนพับลิคสกูล ( Public School) ในอังกฤษ แท้ที่จริงแล้ว ช่วงเปิดโรงเรียนราชวิทยาลัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ยังอยู่ในระหว่างเสด็จพระพาสยุโรป หลักฐานคือ พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระราชทานแด่ พระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม ร.ศ. 116 กำลังประทับแรมที่ ปาร์ก เดส โซวีฟ เยนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน จึงเสด็จถึงเมืองตุริน ประเทศอิตาลี เข้าใจว่า พระองค์พอพระราชหฤทัย ในการจัดการศึกษา แบบพับลิกสกูล ตั้งแต่ครั้งเสด็จ ประพาสประเทศสิงคโปร์ เพราะได้โปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกหม่อมเจ้า และ หม่อมราชวงศ์ที่ยังเยาว์วัย ประมาณ 20 องค์ ไปเรียนที่ โรงเรียนแรฟเฟิล หลังจากเสด็จกลับจากสิงคโปร์ และน่าจะเป็นไปได้ว่า จัดการศึกษาเช่นเดียวกับพับลิคสกูล ในประเทศอังกฤษ เพราะขณะนั้นอังกฤษกำลังปกครองสิงคโปร์อยู่ การรับนักเรียน เข้าศึกษาในราชวิทยาลัยสมัยแรกเริ่มนี้ กำหนดอายุ 9 ปีเป็นอย่างต่ำ 18 ปีเป็นอย่างสูง จำนวนนักเรียนทั้งหมดประมาณ 60 คน โดย มิสเตอร์ การ์เตอร์ เป็นอาจารย์ใหญ่ และมีอาจารย์ชาวอังกฤษเป็นผู้ช่วย อาจารย์ไทย มีพระอาจสุนทรการ และอาจารย์อื่นๆ อีก นักเรียนประจำตัวที่ 1 ชื่อนายขำ (พระยาชัยวิชิต) กับมีนักเรียนอื่นอีกราว 60 คน

มิสเตอร์เอซิล การ์เตอร์ อาจารย์ใหญ่ชาวอังกฤษคนแรกของโรงเรียนราชวิทยาลัย

นักเรียนทุกคนต้องอยู่ประจำโนโรงเรียน 9 เดือนต่อปี แบ่งเป็น 2 ภาคเรียน กำหนดให้แต่งกายโดย นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมเสื้อราชปะแตนสีขาว ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จกลับจากยุโรป นักเรียนราชวิทยาลัยจึงมีเครื่องแบบสำหรับออกงาน ประกอบด้วย กางเกงขายาวสีขาว เสื้อชั้นนอกขาวติดกระดุม 5 เม็ด สวมหมวกฟางพับด้วยผ้าสีชมพู อันเป็นสีประจำวันราชสมภพ มีการออกวารสาร ประจำโรงเรียนเรียกว่า "สารเสวตร์" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "สารเศวต" วารสารนี้ ถือเป็น การส่งเสริม สามัคคีธรรม ระหว่างชาวราชวิทยาลัย และคงมีเรื่อยมา จนกระทั่ง พ.ศ. 2446 โรงเรียน ราชวิทยาลัย จำต้องปิดการสอนชั่วคราว เนื่องจากโรคระบาด

ในด้านการศาสนานั้น จัดให้มีพระธรรมเทศนาสัปดาห์ละครั้ง ทุกวันพุธ และเป็นประเพณี ที่มีต่อเนื่องมาถึง สมัยโรงเลี้ยงเด็ก และสมัยบางขวาง โดยมีสมเด็จพระมหาวชิรญาณวโรรส เป็นผู้เทศนาในครั้งแรก

การพลศึกษามีขึ้นที่โรงเรียนราชวิทยาลัยเป็นแห่งแรก ครูฝรั่งเป็นผู้สอนฝึกหัดดัดตน ต่อมาเมื่อ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้า จิระประวัติวรเดช ให้ผู้หัดทหารมาสอน จึงมีการหัดท่าทหาร และกายกรรม มีโรงยิมนาสติกด้วย กีฬาก็มีฟุตบอล เทนนิส และคริกเก็ต แต่ความประสงค์ ที่จะให้นักเรียนรุ่นโตหัดขี่ม้า ขี่จักรยานและเดินทางไกล ยังต้องมีเหตุขัดข้องอยู่

โรงเรียนราชวิทยาลัยเปิดทำการสอนได้ 6 ปี ก็เกิดโรคระบาดที่ตำบลสมเด็จเจ้าพระยา ในปี พ.ศ. 2446 เป็นเหตุให้อาจารย์ชาวอังกฤษเสียชีวิตหลายคน จึงปิดทำการสอนในปีนี้เอง

ครั้นพุทธศักราช 2447 สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นอีกคำรบหนึ่ง ณ สายสวลีสัณฐาคาร ของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ คือ โรงเลี้ยงเด็ก ตำบลโรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมือง จังหวัดพระนคร เรียกกันว่า "สมัยสายสวลี" ตามชื่ออาคารใหญ่ ซึ่งใช้เป็นที่เรียน คือ " ตึกสายสวลีภิรมย์" ในสมัยนี้ รับนักเรียนเป็น 2 ประเภท คือ อยู่ประจำ และไปเช้า เย็นกลับ อาจารย์ใหญ่ยังคงเป็น มิสเตอร์การ์เตอร์ อาจารย์ใหญ่คนเดิม ในสมัยบ้านสมเด็จ มีที่ทำงานของ อาจารย์ใหญ่ และพนักงาน มีโรงอาหารหลังใหญ่ด้านหลังเกือบจรดคลองมหานาค ด้านหน้า เป็นสนามใหญ่ ใช้เป็นฟุตบอล ยาวจรด ถนนบำรุงเมือง มีโรงยิม พื้นเป็นขี้เลื่อย มีเครื่องเล่นพร้อม เช่น ห่วง บาร์คู่ บาร์เดี่ยว บันไดไม้ยาว มีลูกขั้นเป็นไม้กลมราว 40 ชิ้น ใช้สำหรับห้อยโหน เป็นที่สำราญยิ่งของนักเรียนเวลาหยุดพัก

ต่อมา พ.ศ. 2453 อันเป็นปีที่ 1 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า จรูญศักดิ์กฤดากร เสนาบดี กระทรวงยุติธรรม ขอพระราชทานโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงธรรมการ มาอยู่ในการปกครองของ กระทรวงยุติธรรม เพื่อจัดการศึกษา ให้เหมาะสม กับความมุ่งหมายที่จะให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษา ชั้นมัธยมศึกษา เข้าศึกษาวิชากฏหมายในขั้นอุดมศึกษาต่อไป ก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต มีประกาศ พระบรมราชโองการ ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2454 และทรงตราข้อบัญญัติการจัดตั้งโรงเรียน ในรูปใหม่รวม 19 ข้อ ให้เป็น โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยตรง ให้สภากรรมการปกครองโรงเรียนเป็นเจ้าหน้าที่จัดการโรงเรียน และให้โรงเรียนนี้ขึ้นกับ กระทรวงยุติธรรม

วิธีจะจัดการโรงเรียนนั้น ให้แบ่งแยกเป็นบ้านเฉพาะบ้านหนึ่งๆ ซึ่งในบ้านหนึ่ง มีครูกำกับบ้านคนหนึ่ง ให้มีนักเรียนทุกชั้น ตั้งแต่ชั้นต่ำสุดถึงชั้นสูงสุด ครูกำกับบ้านจะเป็นผู้รับผิดชอบ ในการปกครองบ้านที่ตนประจำอยู่นั้น ขึ้นตรงต่อ อาจารย์ใหญ่ การฝึกหัดอัธยาศัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนหนึ่งเพื่อให้นักเรียนมีความรู้สึกเชื่อมั่นในทางที่ชอบที่ควร ปราศจากความเย่อหยิ่ง มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน และ ชาติบ้านเมือง การเล่น และการฝึกหัดกำลังกาย ก็ให้ถือเป็นส่วนสำคัญ ในการเล่าเรียน ด้วยเสมอ ชั้นเรียนสมัยสายสวลีนี้ เมื่อโอนมาอยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม มีชั้นประถม 1 ถึงประถม 3 และมีชั้นประถมพิเศษ ทำนองเตรียมมัธยมอีก 1 ชั้น มัธยมมีชั้น 1 ถึงชั้นมัธยม 5 แล้วขึ้นชั้นรีมูน (เทียบชั้น 6) ชั้น 6 ต่ำ ( Lower Sixth เทียบชั้น 7) และชั้น 6 สูง ( Upper Sixth เทียบชั้น

นักเรียนประจำมีตารางเวลาประจำวันดังนี้

06.30 น. ตื่นนอน อาบน้ำ แต่งตัว
07.00 น. เลี้ยงน้ำชา กาแฟ
07.30 น. หัดแถวและกายบริหาร
08.00 น. เลี้ยงอาหารเช้า (กับข้าวไทย)
09.00 - 11.40 น. เวลาเรียน
11.40 - 12.00 น. หยุดพัก
12.00 - 12.40 น. เวลาเรียน
13.00 น. เลี้ยงอาหารกลางวัน ( กับข้าวไทย)
14.00 - 15.50 น. เวลาเรียน
16.00 น. เลี้ยงน้ำชาเวลาบ่าย
16.00 - 17.30 น. เวลาเล่น
17.30 น. อาบน้ำ
18.00 น. เลี้ยงอาหารเย็น ( กับข้าวไทย)
19.00 - 20.00 น. เตรียมบทเรียนสำหรับวันต่อไป
21.00 น. นอน

มีอาหารว่างเวลา 22.00 น.
กีฬาที่ขึ้นชื่อลือชาของราชวิทยาลัยสมัยสายสวลีคือ ฟุตบอล

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงธรรมการ มาอยู่ในสังกัด กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2454 และยังได้เรียนอยู่ที่โรงเลี้ยงเด็กต่อไป ทางบางขวางก็เริ่มก่อสร้างโรงเรียนใหม่ขึ้น

บริเวณที่ดินหน้าโรงเรียน หรือด้านทิศตะวันตก จรดแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศเหนือของที่ดิน มีคูหรือ คลองคั่น ทิศใต้มีคูคั่นระหว่างบริเวณโรงเรียน กับบริเวณวัดบางขวาง ด้านหลังโรงเรียน ทางทิศตะวันออกก็มีคูน้ำคั่น บริเวณโรงเรียน จึงมีลักษณะคล้ายที่ตั้งเมืองในสมัยเก่า มีแม่น้ำอยู่ด้านหน้า อีก 3 ด้าน มีคูหรือคลองล้อมรอบ ตัวโรงเรียนสร้างในลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า Quadragle คือ ลานสี่เหลี่ยมมีตึกล้อมรอบ ลานคือสนามหญ้า ใช้เป็นสนามฟุตบอล และการกรีฑา อาคารด้านหน้าริมแม่น้ำ บ้าน A อยู่ท้ายซ้ายมือ บ้าน B อยู่ทางขวามือ บ้านอาจารย์ใหญ่อยู่กลาง ด้านหลังโรงเรียนมีบ้าน C อยู่ทางขวามือ บ้าน D อยู่ทางซ้ายมือ ตึกโรงอาหารอยู่ระหว่างกลาง ระหว่างบ้าน A กับบ้าน D มีบ้านครูประจำบ้านอยู่ได้อีก 2 ครอบครัวเช่นกัน บ้านแต่ละบ้านจึงมีลักษณะเป็นตัว L ชั้นบนใช้เป็นห้องนอน แบ่งเป็น 5 ห้อง มีห้องเล็กมุมบ้าน เรียกว่า ห้องเสื้อผ้า ( ที่จริงสำหรับเก็บตู้เหล็ก หรือ กระเป๋า) ชั้นล่างใช้เป็นห้องเรียน 4 ห้อง ห้องปิงปอง 1 ห้อง ส่วนห้องเล็กที่มุม ใช้เป็นที่เก็บ เครื่องกีฬา ฝรั่งเรียกว่า Locker Room ห้องน้ำทั้งชั้นบน และ ชั้นล่างเป็นตึกอยู่มุมบ้าน มีระเบียงติดต่อสะดวก ตัวอาคารทั้งหมดเป็นตึก มีเฉลียงไม้สักกรอบปริมณฑลทุกบ้าน ทั้งมีระเบียงซึ่งเดินติดต่อถึงกันได้ทุกบ้าน โดยไม่โดนแดดหรือฝน เมื่อการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ย้ายนักเรียนราชวิทยาลัย จากโรงเลี้ยงเด็ก มาที่สร้างใหม่ เปิดสอนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2454 (30 กันยายน พ.ศ. 2454 นักเรียนเข้าโรงเรียน) เรียกกันว่า “ ราชวิทยาลัยสมัยบางขวาง ”

ได้จัดระเบียบการศึกษาแบบพับลิคสกูล เช่น King's College ของประเทศอังกฤษ ดังนั้นชื่อภาษาอังกฤษของโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ จึงใช้ว่า King's College เช่นกัน นักเรียนทุกคนต้องอยู่ประจำ ต้องปฏิบัติตามตารางประจำวัน มีครูฝรั่ง ชาวอังกฤษถึง 5 คน ตั้งแต่ชั้น 6 ขึ้นไป ครูฝรั่งสอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชา ตำราเป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น มีวิชาจรรยา 1 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ ซึ่งครูไทยเป็นผู้สอน

การโอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงธรรมการ มาขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม ก็เพื่อจะให้นักเรียนที่เรียนจบหลักสูตรแล้ว เข้าเรียนกฏหมายต่อไป แต่ต่อมานักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียกฏหมายหาได้มีเฉพาะนักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัยไม่ ซึ่งนักเรียนโรงเรียนใด บุคคลสำนักใดจะเข้าเรียนกฏหมายก็ได้ทั้งสิ้น ส่วนนักเรียนราชวิทยาลัยบางคนก็เข้าเรียนกฏมหมาย ส่วนมากจะเข้ารับราชการเลย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนราชวิทยาลัย มาขึ้นกับสภากรรมการโรงเรียน มหาดเล็กหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้ง 2 โรงเรียน ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 33 หน้า 1109 ลงประกาศเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2459

หลังจากที่โรงเรียนราชวิทยาลัยนั้น ขึ้นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ครบ 1 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมเมื่อ วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2460 พระราชทานประกาศนียบัตร และรางวัลประจำปี เสด็จถึงเวลา 19.30 น. เสด็จประทับเสวยพระกระยาหาร ในการนี้นายเอไตรส มาร์ติน ได้กราบบังคมทูลถวายชัยมงคล แสดงความปิติยินดี และรู้สึก เป็นเกียรติยศที่ล้นเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาครั้งนี้ นายมาร์ติน ได้ปวารณาตน ต่อหน้าพระพักตร์ว่า จะปฏิบัติหน้าที่ เต็มสติกำลัง ตามพระบรมราโชบายของพระองค์ ที่มีพระราชประสงค์จะนำแบบ โรงเรียนของประเทศอังกฤษมาสู่กรุงสยาม กล่าวคือ นอกจากจะฝึกสอนกุลบุตรในสิ่งที่ควรรู้พอสมควรแล้ว ต้องฝึกสอนให้รู้ว่าตนเป็นมนุษย์ด้วย เมื่อเสร็จเสวย พระกระยาหารค่ำแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทอดพระเนตรละครพูด ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ละครพูดภาษาอังกฤษเป็นพระราชนิพนธ์ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรื่องว่า The Taming of Uncle Gideon

การกีฬาสมัยบางขวางยังคงเป็นฟุตบอล เหมือนสมัยโรงเลี้ยงเด็ก ช่วงเวลานั้นเป็นกีฬาที่ประชาชนนิยม และเล่นกันอย่าง แพร่หลาย ทั้งตามโรงเรียน สมาคม สโมสรทั่วไป ทีมฟุตบอลราชวิทยาลัยอยู่ในชั้นแถวหน้า เคยชิงถ้วยของกระทรวงศึกษาธิการกับ โรงเรียนต่างๆ ได้ครองถ้วย 2 ปีติดกัน อีกปีเดียวจะได้ถ้วยเป็นกรรมสิทธิ์ บังเอิญมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ซึ่งเวลานั้นชื่อ โรงเรียนแพทย์ แย่งเอาไปได้ และมีการแข่งขันกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง เยือน 1 เหย้า 1 ครั้งละ 2 ทีม ตามแต่จะตกลงกัน ในปี พ.ศ. 2462 และ 2463

อีกครั้งหนึ่งทีมราชวิทยาลัยไปเล่นกับทีมราชกรีฑาสโมสร ซึ่งเป็นฝรั่งรุ่นหนุ่ม ตัวโตกว่าทีมราชวิทยาลัยทั้งชุด ขณะที่ลูกบอล ชุลมุนอยู่ ทางด้านราชวิทยาลัย ฝรั่งผู้รักษาประตูเกิดความประมาท ออกมายืนผึ่งลมห่างประตูสัก 4-5 เมตร มิสเตอร์ โคลบี้ ครูผู้ฝึกหัดฟุตบอลราชวิทยาลัย ยิงประตูราชกรีฑาในระยะค่อนสนาม ลูกบอลเฉียดประตูไปเล็กน้อย ทำให้ผู้รักษาประตูของราชกรีฑา ต้องระมัดระวังไม่กล้าทิ้งประตูตลอดจนการแข่งขัน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งทีมชาติขึ้น นักเรียนราชวิทยาลัยได้เล่นทีมชาติถึง 6 คน คือ ม.จ. สิทธิพร กฤษดากร , หลวงเดช นายเวร (หลวงชาญภูเบศร์) , นายไกร ภาชี และนายโชติ ยูปานนท์ ...

นักฟุตบอลทีมชาติไทย โดยมีนักเรียนราชวิทยาลัยถึง 6 คน

การแข่งขันกรีฑากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นการแข่งขัน “ ประเพณี ” เฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ เมื่อเสร็จการแข่งขันแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยแก่โรงเรียน ที่ชนะคะแนนรวม พระราชทานประกาศนียบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสองโรงเรียน พระราชทานรางวัลเหรียญหมั่นเรียนแก่นักเรียนที่เรียนดี แล้วพระราชทาน พระบรมราโชวาท แต่ละโรงเรียนร้องเพลง ประจำโรงเรียน เพลงสรรเสริญพระบารมี พร้อมกับส่งเสด็จ

ต่อมาได้เสด็จพระราชดำเนินไปโรงเรียนราชวิทยาลัย อีกหลายครั้ง ในการทอดพระเนตรละครที่นักเรียนแสดงถวายบ้าง และในโอกาสอื่นๆ บ้าง ได้เคยทรงบันทึกการเสด็จพระราชดำเนิน ไว้ก็มี เพราะหนทางที่จะไปโรงเรียนในเวลานั้น ไปได้ทางเรือ เพียงอย่างเดียว ได้เคยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงแก้บทละคร ที่นักเรียนแต่งแสดงถวายทอดพระเนตร

อนึ่งเหรียญกระดานชนวนที่เป็นเครื่องหมายของนักเรียนราชวิทยาลัย พระองค์ทรงดำริขึ้น แล้วพระราชทานแก่นักเรียนที่จบหลักสูตร ของโรงเรียน สำหรับครูโรงเรียนราชวิทยาลัย ก็ใช้เครื่องหมายกระดานชนวนแบบเดียวกัน แต่มีอักษร " คุรุ" อยู่เบื้องบน และพระราชทานแก่ครูที่กำลังทำหน้าที่สอนอยู่นั่นทุกท่าน

กีฬาประจำโรงเรียนราชวิทยาลัยสมัยบางขวาง ยังมีอีก 2 ชนิดคือ สคอวช (Squash) และไฟฟ์ส ( Fives) นอกจากนี้ยังมี เทนนิส และแบดมินตัน

การเล่นไฟฟ์ส คล้าย Squash แต่ใช้มือเปล่าแทนไม้

การลูกเสือของโรงเรียนราชวิทยาลัย ในทุกวันอาทิตย์ นักเรียนจะออกซ้อมรบกันตามเรือกสวนไร่นา เป็นการออกกำลังและ ให้ความสนุกสนานไปในตัว พ.ศ. 2456 ได้มีการซ้อมรบระหว่างลูกเสือกองกลางของโรงเรียนราชวิทยาลัยกับกองลูกเสือหลวง ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบังคับบัญชาลูกเสือมหาดเล็กหลวง เจ้าพระยายมราช บังคับบัญชาลูกเสือราชวิทยาลัย ลูกเสือราชวิทยาลัยเล็ดลอดเข้าไปจับพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดปรานมาก โปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงเสือหลวงในปี พ.ศ. 2457 เรียกว่า นักเรียนเสือป่าหลวง และอีกปีหนึ่งต่อมาคือ พ.ศ. 2458 โปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัย จากระทรวงยุติธรรมไปสังกัดมหาดเล็ก ซึ่งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้สังกัดอยู่แล้วตั้งแต่เริ่ม เมื่อปี พ.ศ. 2454

ระเบียบการโรงเรียนราชวิทยาลัย

1. อาจารย์
เอ. ซีสิล. การ์เตอร.์ เอม เอ. ตรีนิตีกอลเล็ช อ๊อกฟอร์ด อาจารย์ใหญ่ ผู้ปกครอง
อาจารย์รอง
(1) เอฟ. ซี. แฮร์. บี. เอ. เซ็นต์ ยอนสกอลเล็ช เคมบริดซ์
(2) เอ. บี. บอยด์กาเปนเตอร์.บี.เอ.เบเลียลกอลเล็ช อ๊อกฟอร์ด
(3) เอ๊ฟ.เย.ฟรานซิลลัน บี.เอ.ไกรสกอลเล็ซ เคมบริดช์
มีครูไทย (ครูประกาศนียบัตร) อีกที่กรมศึกษาส่งมาตามความต้องการ มีแม่เรือน (เมตรัน) คนหนึ่ง คือ มิซิสเตรส แต่ตอนนี้เป็นเมตรันที่เนอร์ซิงโฮม (โรงพยาบาลอังกฤษ) มีหมอมาตรวจเสมอคนหนึ่ง คือ หมอแมลคำ สมิท

2. การเรียน
หลักสูตรสำหรับโรงเรียนนี้ ได้จัดไว้เพื่อจะได้ให้นักเรียนสอบไล่ชั้นประถม (หนังสือไทย) แล้วชั้นสูงๆ กับภาษาอังกฤษถึงขั้นคิงสกอลารชิป ตามหลักสูตรของกรมศึกษาธิการ

3. สถานที่ของโรงเรียน
เดี๋ยวนี้ได้จัดชั่วคราว ในที่โรงเลี้ยงเด็กของพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ มีห้องเรียน ห้องอ่านหนังสือ ห้องนอน (ซึ่งแบ่งเป็นห้องเล็กๆ อีก สำหรับนักเรียนนอน ห้องละ 8 คน) โรงฝึกหัดกายบริหาร โรงครัว โรงเลี้ยงอาหาร ห้องซักเสื้อ ห้องอาบน้ำ และมีสนามสำหรับนักเรียนเล่นต่างๆ มีตึกหลังหนึ่งตากหากเป็นที่พยาบาลนักเรียนป่วย อาจารย์รองกับแม่เรือน มีที่อาศัยในบริเวณโรง ในห้องนอนของนักเรียนมีอาจารย์นอนประจำอยู่เสมอ

4. เวลาของโรงเรียน
นักเรียนต้องมาถึงโรงเรียนก่อนสามโมงเช้าวันจันทร์ กลับจากโรงเรียนไปบ้าน วันเสาร์เวลาบ่ายโมงทุกวัน นักเรียนในชั้นหกที่ได้รับอนุญาตจากอาจารย์รอง ออกจากโรงเรียนได้ ตั้งแต่บ่ายสี่โมงถึงบ่ายห้าโมงครึ่ง นักเรียนในชั้นต่ำๆ จะออกได้เหมือนกัน แต่ต้องรับอนุญาตจากอาจารย์ใหญ่

5. แบ่งวันหนึ่งตามเวลา
เช้า
ย่ำรุ่ง 30 นาที นักเรียนตื่นอาบน้ำ โมง 1 เลี้ยงน้ำชา กาแฟ 1 โมง 30 นาที หัดแถวและกายบริหาร
3 โมงถึง 4 โมง เวลาเรียน
2 โมง เลี้ยงอาหารเช้า (กับข้าวไทย)
4 โมงถึง 5.40 เวลาเรียน
5 โมง 40 ถึงเที่ยง หยุดพัก เที่ยงถึงเที่ยง 50 เวลาเรียน
บ่ายโมง เลี้ยงอาหารกลางวัน ( กับข้าวไทย)
บ่าย 2 โมงถึง 2.50 เวลาเรียน
บ่าย 3 โมงถึง 3.50 เวลาเรียน
4 โมง เลี้ยงน้ำชา เวลาบ่าย
4 โมงถึง 5.30 เวลาเล่น
5 โมง 30 อาบน้ำ
ย่ำค่ำ เลี้ยงอาหารเย็น (กับข้าวไทย)
ทุ่ม 1 ถึง 2 ทุ่ม เวลาเรียน ( เตรียมบทเรียนสำหรับวันหน้า)
ยาม 1 นอน
ตามธรรมดาเด็กที่หิว มักจะนอนไม่หลับ เพราะฉะนั้นเตรียมอาหารว่างไว้ให้เด็กนักเรียนที่หิวได้บริโภคเวลา 2 ทุ่ม
6. การปกครอง
เวลาอยู่ในโรงเรียน นักเรียนต้องอยู่ในอำนาจอาจารย์ มีอาจารย์ประจำอย่างน้อยคนหนึ่ง อยู่ทั้งกลางวันกลางคืน นักเรียนทั้งหลายจะต้องเชื่อฟังคำของอาจารย์ และแสดงความเคารพโดยสุภาพ เวลาเรียนจะต้องหมั่นจริงๆ นอกเวลาเรียนจะต้องประพฤติตัวเป็นผู้ดีด้วย

7. การลงโทษ
อาจารย์รองมีอำนาจที่จะลงโทษ 2 คือ จะว่ากล่าวนักเรียนที่ทำความผิดก็ได้ หรือจะเพิ่มเติมการให้นักเรียนทำอีกนอกเวลาก็ได้ ถ้าอาจารย์รองเห็นว่าการลงโทษเท่านี้ไม่พอ จะตัองแจ้งความให้อาจารย์ใหญ่ทราบ อาจารย์ใหญ่จะลงโทษตามสมควร คือ
(1) ถ้านักเรียนชั้นสูง ห้ามไม่ให้ออกจากโรงเรียนชั่วคราว
(2) ถ้านักเรียนชั้นต่ำ ให้เพิ่มเวลาฝึกหัดแถว
(3) ตีขาด้วยไม่เรียว
(4) คัดชื่อออกจากทะเบียน ไม่ให้อยู่ในโรงเรียนต่อไป

การที่จะให้ออกจากโรงเรียนนั้น เป็นโทษแรงที่สุดสำหรับนักเรียนที่ฝืนคำสั่งครูเสมอ หรือประพฤติชั่วร้าย อาจเป็นตัวอย่างให้นักเรียนอื่นเสียไปด้วย

8. รายงานนักเรียน
สิ้นวิกแล้วทุกวิก (อาทิตย์) อาจารย์ใหญ่ขะได้ส่งรายงานให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองของนักเรียนให้ทราบการเล่าเรียนทุกๆ อย่างว่าเป็นอย่างไร และนักเรียนขาดเวลาเรียนหรือไม่ และหมายเหตุในความประพฤติ และความหมั่นเรียนด้วย ถ้าแม้รายงานนั้นไม่เป็นที่พอใจแก่บิดามารดาหรือผู้ปกครอง หรือมีขัดข้องโดยเหตุอันใดอันหนึ่ง ถ้าจะโปรดมีจดหมายถึงอาจารย์ใหญ่จะเป็นการดี

9. อาหารนักเรียน
อาหารได้เปลี่ยนเสมอ และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะหาได้ในกรุงเทพฯ
ม้วนแม่ครัว ซึ่งแต่ก่อนนี้อยู่โรงเรียนสุนันทาลัย 3 ปี และโรงเรียนราชวิทยาลัย 6 ปี มาเป็นแม่ครัว มีการตรวจครัววันละ 2 เวลา คือ อาจารย์ใหญ่ตรวจเวลาหนึ่ง แม่เรือนตรวจวลาหนึ่ง ในฤดูฝน ใช้แต่น้ำฝนเท่านั้นเป็นน้ำกินของนักเรียน ในฤดูแล้ง ใช้น้ำกลั่น น้ำกลั่นนี้กลั่นด้วยเครื่องสำหรับโรงเรียน การจัดห้องเลี้ยง มีโต๊ะจัดอย่างฝรั่ง มีส้อม ช้อน ผ้าเช็ดมือ จาน พร้อม

10. การซักเสื้อผ้า
เสื้อผ้าของนักเรียน ซักในโรงซักเสื้อผ้าของโรงเรียนเองวิกละสองหน นักเรียนทุกคนมีถุงสำหรับใส่เสื้อผ้าที่จะซัก ถุงนี้มีเลขประจำอย่างเดียวกับตัวเลขที่ติดเสื้อผ้าของนักเรียน แม่เรือนจะได้นับเสื้อผ้าในถุงนั้นๆ ก่อนที่จะส่งไปซัก และตรวจสอบ เมื่อกลับมาเพื่อมิให้เสื้อผ้าหาย

11. ข้อห้าม
มีข้อบังคับห้ามไม่ให้นักเรียนเข้าไปในโรงซักผ้าหรือครัว ถ้านักเรียนทำผิดข้อบังคับนี้ ในครั้งแรกต้องลงโทษตีขา ถ้าแม้ว่าทำผิดอีก อาจารย์ใหญ่มีอำนาจลงโทษแรงกว่านี้ คือ จะให้ออกจากโรงเรียนทีเดียว

12. ปีหนึ่งมีสองเทอม
ปีหนึ่งแบ่งออกเป็นสองเทอม คือ เทอมที่หนึ่งมีเวลาเรียนสี่เดือน ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนกันยายน เทอมที่สองห้าเดือน ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนมีนาคม รวมทั้งสองเทอม มีเวลาเรียน 9 เดือน
วันหยุดสามัญ
โรงเรียนปิด
(1) เข้าพรรษา
(2) การเฉลิมพระชนม์พรรษา ภาคที่ 2
(3) วิกหนึ่งในระหว่างกลางเทอมที่ 2
อาจารย์ใหญ่จะมีประกาศกำหนดวัน ปิด และเปิดโรงเรียนเสมอ

13. การเล่าเรียน
เทอมที่ 1 นักเรียนต้องเสียค่าเล่าเรียน 120 บาท เทอมที่ 2 ต้องเสีย 150 บาท แต่ถ้านักเรียนเข้าล่าไป ไม่ทันต้นเทอมก็ยอมให้หักเอาเดือนต้นๆ ออกเดือนละ 30 บาท และเงินค่าเล่าเรียนนี้จะต้องเสียล่วงหน้าทุกเทอม และให้นำเงินนั้นมามอบให้แก่อาจารย์ใหญ่ๆ จะได้นำใบเสร็จให้ ส่วนของที่นักเรียนจะต้องซื้อเองนั้น คือ ดิกชันนารีต่างๆ และตำราเรียนบางอย่างที่โรงเรียนไม่ได้ให้ กับ อนึ่ง ถ้านักเรียนทำให้เครื่องเรือนที่โรงเรียนจ่ายให้นั้นหาย หรือทำให้ของโรงเรียนนั้นเสีย นักเรียนจะต้องใช้ค่าเสียหาย

14. เครื่องใช้ต่างๆ ของนักเรียน
เวลานักเรียนเข้าโรงเรียน จะต้องเตรียมเคครื่องแต่งตัวมาตามบัญชีต่อไปนี้
(1) เสื้อกางเกงขาว 8 สำรับ
(2) เสื้อในขาว 8 เสื้อ
(3) ผ้านุ่ง 2 ผืน กับเสื้อขาว 2 ตัว
(4) เสื้อนอน 4 สำรับ
(5) แปรงผม หวี แปรงเล็บ สบู่
(6) รองเท้า 2 คู่
(7) ถุงเท้า 6 คู่
(8) ผ้าห่มนอนอย่างหนา 1 ผืน
(9) ผ้าเช็ดหน้า 2 โหล
ผ้าปูที่นอนและผ้าเช็ดตัวสำหรับโรงเรียนเอง รักเรียนทุกคนมีตู้ใบหนึ่งสำหรับโรงเรียน แต่นักเรียนต้องหากุญแจของตนเอง แล้วห้ามมิให้นักเรียนเอาเครื่องแก้วแหวนเงินทองมาโรงเรียน และถ้าหากว่าเอามาและของนั้นๆ หายไป โรงเรียนไม่รับผิดชอบ

15. จดหมายเรื่องการโรงเรียน
ถ้าท่านผู้ใดมีกิจธุระเกี่ยวกับโรงเรียนนี้ ก็ให้มีจดหมายถึงอาจารย์ใหญ่ที่เดียว
เมื่อโรงเรียนราชวิทยาลัย ได้เปิดดำเนอนการสอนมาถึง พ.ศ. 2459 เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้โรงเรียนราชวิทยาลัยยกไปขึ้นอยู่ในความปกครองของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ตามหนังสือกระทรวงยุติธรรมต่อไปนี้

ที่ 16/1570 ที่กระทรวงยุติธรรม
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาอภัยราชา ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท


ด้วยข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาถึงโรงเรียนราชวิทยาลัย มีข้อความพิสดารดังจะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไปนี้


โรงเรียนราชวิทยาลัยนี้เดิมขึ้นอยู่ในกรมศึกษาธิการ สถานที่โรงเรียนตั้งอยู่ที่โรงเลี้ยงเด็ก เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2453 กระทรวงยุติธรรมได้รับพระบรมราชานุญาตโอนโรงเรียนนี้จากกรมศึกษาธิการมาขึ้นอยู่ในความปกครองของกระทรวงยุติธรรม ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2453 กระทรวงยุติธรรมได้จัดการก่อสร้างโรงเรียนขึ้น ที่ตำบลบางขวาง เมืองนนทบุรี การก่อสร้างแล้วเสร็จ เปืดรับนักเรียนได้เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2454 จึงได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งอยู่ที่โรงเรียนใหม่ตลอดจนทุกวันนี้ การก่อสร้างโรงเรียนใหม่นี้ส้นเงินค่าซื้อที่ดิน ค่าก่อสร้างสถานที่ต่างๆ ค่าเครื่องใช้สำหรับโรงเรียนดังแจ้งอยู่ในบัญชีนั้นแล้ว ส่วนการที่จะใช้แรงนักโทษไม่ได้รวมเข้าในจำนวนนี้

นับตั้งแต่โรงเรียนราชวิทยาลัย โอนมาอยู่ในความปกครองของกระทรวงยุติธรรมจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2458 มีเงินรายได้รายจ่ายของโรงเรียนดังแจ้งอยู่ในบัญชีนั้นแล้ว นอกจากนี้มีเงินรายจ่ายค่าเงินเดือนครูต่างๆ และค่าเดินทางครูซึ่งมิได้รวมอยู่ในรายได้รายจ่ายของโรงเรียน เพราะเป็นเงินที่มีอยู่ในงบประมาณของกระทรวงยุติธรรม ส่วนนักเรียนที่ได้เล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 ถึงสิ้นปี พ.ศ. 2458 มีจำนวนแจ้งอยู่ในบัญชีนั้นแล้ว

อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้า สอบสวน ได้ความตามลายพระหัตถ์พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤษดากร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ที่ 931/3368 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2452 กราบบังคมทูลพระกรุณา ถึงการที่จะคิดตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นก็เพื่อที่จะได้นักเรียนที่รู้ภาษาอังกฤษ อันได้เรียนจบหลักสูตรของโรงเรียนแล้วมาเข้าเป็นนักเรียนกฏหมายต่อไป มีข้อความละเอียดแจ้งไว้ในลายพระหัตถ์นั้นแล้ว

ตามข้อบังคับของโรงเรียนกฏหมายกระทรวงยุติธรรม ผู้ที่สมัครเข้าเป็นนักเรียนกฏหมาย เมื่อมีวิชาความรู้สอบไล่ได้ชั้นมัธยมบริบูรณ์ หรือมีประกาศนียบัตรของโรงเรียนอื่น ซึ่งเทียบชั้นมัธยมบริบูรณ์ของกรมศึกษาธิการได้ กระทรวงยุติธรรมก็รับไว้เป็นนักเรียนกฏหมาย หาได้จำกัดว่าเป็นนักเรียนมาแต่โรงเรียนใดไม่

ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าตามความดำริในชั้นเดิม ที่ตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้น เพื่อจะได้นักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัยมาเข้าเป็นนักเรียนกฏหมายนั้นก็ดูไม่สู้จะมีผลอันใดนัก ด้วยเหตุว่าระเบียบการรับนักเรียนกฏหมายตามที่ปฏิบัติมาแต่เดิมจนทุกวันนี้ ก็รับนักเรียนทั่วไปไม่จำกัดโรงเรียน ถ้าจะรับแต่เฉพาะ นักเรียนราชวิทยลัยก็ย่อมจะไม่เพียงพออยู่นั่นเอง เพราะนับตั้งแต่เปิดโรงเรียนมาจนปลายปี พ.ศ. 2458 ได้นักเรียนที่จบหลักสูตรของโรงเรียน คิดเฉลี่ยนเพียงปีละ 12 คนเท่านั้น

รวมข้อความตามที่ได้กราบทูลกระกรุณามาแล้วนั้น ผลที่โรงเรียนกฏหมายจะได้รับจากโรงเรียนราชวิทยาลัยเป็นส่วนน้อย เพราะนักเรียนของโรงเรียนราชวิทยาลัยหรือนักเรียนของโรงเรียนอื่นๆ เมื่อสอบไล่ได้มัธยมบริบูรณ์แล้วก็เข้าเป็นนักเรียนกฏหมายได้เท่ากัน จึงไม่เป็นการจำเป็นที่โรงเรียนราชวิทยาลัยจะต้องอยู่ในความปกครองของกระทรวงยุติธรรม ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าได้ยกไปรวมขึ้นอยู่ในความปกครองของกรมศึกษาธิการหรือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แห่งใดแห่งหนึ่งแล้วจะเป็นการลงระเบียบเรียบร้อยดี

พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ การที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลพระกรุณา ทั้งนี้ใช่ว่าข้าพระพุทธเจ้าจะมีความเกียจคร้านต่อการปกครองโรงเรียนราชวิทยาลัย หรือมีความรังเกียจก็หามิได้ ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์อยู่อย่างเดียวแต่ที่จะให้การเล่าเรียนได้จัดไปตามทางที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและได้ผลเจริญยิ่งขึ้น

ข้อความที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณามาแล้วนั้น จะควรสถานใด ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ เรียนพระราชปฏิบัติ

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานนำบัญชีค่าก่อสร้างโรงเรียน บัญชีเงินผลประโยชน์รายได้แลรายจ่าย บัญชีเงินครูแลค่าเดินทางครู กับบัญชีจำนวนนักเรียนทูลเกล้าฯ ถวายมาพร้อมด้วยจดหมายนี้ 1 ฉบับ

ควรมิควร.......

การสิ้นสุดของโรงเรียนราชวิทยาลัย

สมัยบางขวาง สมัยบ้านสมเด็จสิ้นสุดเพราะโรคระบาด สมัยโรงเลี้ยงเด็กสิ้นสุดเพราะย้ายสถานที่ไปอยู่ตำบลบางขวาง นนทบุรี สมัยบางขวางจำต้องสิ้นสุดลงเพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต และสภาวะการเงินฝืดเคือง ขอนำคำพูดของ พระยาปรีชานุสาสน์ สมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมราชวิทยาลัย ผู้ล่วงลับไปแล้ว ในการพูดหลังอาหารวันบำนาญ ที่โรงแรมรอแยล เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2514 เรื่องโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ดังต่อไปนี้

“... ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นเหตุให้ ต้องปิดโรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียน มหาดเล็กหลวง ข้าพเจ้าจะไม่เอ่ยชื่อผู้ทำบาปคล้ายทำลายวัด โรงเรียนทั้งสองต้องปิดอยู่ปีหนึ่งเต็มๆ ปีที่สองในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ วชิราวุธวิทยาลัยจึงได้ก่อตั้งขึ้น การปิดโรงเรียนทั้งสองโทษกันว่าเป็นเพราะการเงินฝืดเคืองบ้าง สมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงฟุ่มเฟือยเกินไปบ้าง การเงินฝืดเคืองมีความจริงอยู่บ้าง แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์สิน ส่วนพระองค์ จนเรียกว่าหมดเนื้อหมดตัวเช่นพระเวสสันดร ถ้าจะติท่านก็เหมือนกับติศาสนาของเรา สมัยนั้นท่านให้ แต่สมัยนี้ตรงกันข้าม มีพวกที่เอาของคนอื่นมาเป็นของตนจนคำว่า “ คอรัปชั่น ” กลายมาเป็นคำไทยคำหนึ่งไปแล้ว..."

การที่โรงเรียนวชิราวุธก่อกำเนิดขึ้นนั้น ก็เพราะ ท่านที่ภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ 3 ท่านคือ เจ้าพระยา รามราฆพ , พระยาบรมบาทบำรุง (ผู้บังคับการ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง) พระราชธรรมนิเทศ ( ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย) อ้างลายพระหัตถเลขา ถึงเจ้าพระยา พระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีข้อความแน่ชัดว่า วัดในประเทศไทย เรามีอยู่มากแล้ว จะทรงสร้างโรงเรียน แทนการสร้างวัดเป็นต้น เมื่อความทรงทราบ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ถึงกับรับสั่งว่า “ อ้าวไม่เห็นมีใครบอก ” ทั้งยังได้ทรงทราบต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ พระราชทานที่ดิน เพื่อหาผลประโยชน์ บำรุงโรงเรียนไว้มากมาย อยู่ตรงข้ามราชกรีฑาสโมสร เดี๋ยวนี้เรียกว่า ซอยมหาดเล็กหลวง 1-2-3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการโรงเรียน ประกอบด้วย เจ้ากระทรวงบางกระทรวง เช่น กระทรวงธรรมการ กระทรวงการลัง เข้านายหลายพระองค์ ข้าราชการบางท่าน ล้วนแต่เคยอยู่ พับลิคสกูล ในอังกฤษมาแล้วทั้งนั้น
วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ประกาศรวมโรงเรียนราชวิทยาลัย กับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเข้าด้วยกัน และเพื่อนเป็นที่เชิดชู พระเกียรติยศ และทรงไว้ซึ่งความเป็นอนุสาวรีย์ แห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ และโรงเรียนราชวิทยาลัยด้วย จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งถือกำเนิดมาตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 จึงต้องปิดลง ประกาศตาม พระบรมราชโองการนี้

นักเรียนเก่าราชวิทยาลัย สมัยบ้านสมเด็จ โรงเลี้ยงเด็ก และบางขวาง รู้สึกเดือดร้อนที่ชื่อโรงเรียนราชวิทยาลัย หรือ King's College สิ้นลง เพราะชื่อเสียงของโรงเรียนมิใช่จะเป็นที่รู้จักและนับถือภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รู้จักดีในประเทศอังกฤษ และประเทศ สหรัฐอเมริกาด้วย การที่จะก่อตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่จึงเป็นความหวังอย่างแรงกล้า Esprit De Corps ช่วยอีกแรงหนึ่ง เป็นแรงที่ยิ่งใหญ่ ท่านผู้ใหญ่ของชาวราชวิทย์มี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ , พระยาโกมารกุลมนตรี , พระยาคทาธรบดี , พระยามานราชเสวี , พระยาโทณวณิกมนตรี , พระยาจินดารักษ์ และอีกมากมายหลายท่าน จึงร่วมกันก่อตั้งสมาคมราชวิทยาลัยขึ้น จัดการแสดงละครหลายครั้ง เพื่อหารายได้บำรุงสมาคม ด้วยความมุ่งหมาย ที่จะก่อตั้งโรงเรียน ราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ให้ได้



กำเนิดใหม่ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ในที่สุด พ.ศ. 2501 สมาคมราชวิทยาลัย ได้มีมติให้ตั้ง ราชวิทยาลัยมูลินิธิเพื่อการศึกษา ขึ้นเป็นผลสำเร็จ เพื่อดำเนินการ เรื่องก่อตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ ในที่สุดความปรารถนาอันแรงกล้าของบรรดาครู และนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย ก็บรรลุจุดหมายปลายทาง โดยได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงศึกษาธิการ (ม.ล.ปิ่น มาลากุล) และประธานกรรมการ ราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา (พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ได้ร่วมกันวางโครงการจัดตั้ง และดำเนินกิจการ โรงเรียนราชวิทยาลัย และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอให้ทรงรับไว้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และขอพระราชทานนามโรงเรียนราชวิทยาลัยให้ฟื้นคืนสภาพขึ้นนี้ รับเป็นศุภนิมิตมิ่งมงคลอันมหัศจรรย์ โดยที่ได้ถือกำเนิด ด้วพระบุญญาบารมี แห่งสามมหาราชของชาติไทย คือ พระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราชเป็นองค์ก่อตั้ง สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงเป็นองค์เสริมสร้าง และสมเด็จพระภัทรมหาราช ทรงเป็นองค์พระราชทานกำเนิดใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2507 เวลา 16.30 น. วันนี้จึงนับเป็นวันเกิด หรือ วันสถาปนาโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ตำบลท่าตลาด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ตำบลท่าตลาด อ.สามพราน จ.นครปฐม วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2507



โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโรงเรียนประจำชาย มีความมุ่งหมาย ในการที่จะอบรมให้นักเรียนมีความเป็นสุภาพบุรุษ มีศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม รู้จักเคารพตนเองและผู้อื่น ฝึกฝนในทางกีฬา เพื่อช่วยให้มีพลานามัยสมบูรณ์ จิตใจจะได้เป็นสุข ส่งเสริมในด้านศิลปศึกษาและหัตศึกษา และฝึกฝน ให้มีวิธีปกครองกันเองระหว่างนักเรียน ให้มีการเคารพต่อระเบียบวินัย เคารพผู้ใหญ่ มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรู้จักการพึ่งตนเอง มีคณะกรรมการอำนวยการ ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ โดยมีผู้แทน กระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ และผู้แทนราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา เป็นรองประธานกรรมการ ดำเนินการกิจการโรงเรียน และราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเจ้าของโรงเรียน ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497

ต่อมาการดำเนินงาน มีอุปสรรคสำคัญประการหนึ่ง คือไม่อาจจัดหาครูที่เป็นหลัก และครูที่มีความสามารถ และมีความชำนาญ ในการสอนวิชาสำคัญๆ แก่นักเรียนจำนวนมากไม่เพียงพอ ราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โอนโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ สำหรับราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา ยังคงช่วยเหลือโรงเรียนเท่าที่สามารถทำได้

เมื่อมีพระบรมราชานุญาต กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ดำเนินการขออนุญาตต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2517 อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการรับมอบ โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2517 และ ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ (นายเกรียง กีรติกร ) ได้มากระทำพิธิรับมอบโรงเรียน จากประธานราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา (ม.ล.เดช สนิทวงศ์) เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2518 เป็นอันว่า โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มาอยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เหมือนครั้ง ที่โรงเรียนได้กำเนิดเป็นครั้งแรก

โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดรับสมัครนักเรียนเป็นครั้งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2507 ถึง 23 เมษายน พ.ศ. 2507 มีนักเรียนสมัครเข้าเรียน 79 คน ครั้งที่ 2 รับสมัครเพิ่มเติมจนถึงวันเปิดเรียนอีก 38 คน รวมนักเรียนทั้งหมด 117 คน เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ในปัจจุบัน เปิดสอนตั้งแต่ระดับ ประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยแบ่งออกเป็น 2 ภาคเรียน นักเรียนทุกคนต้องอยู่ประจำ

เครื่องแบบ สีประจำโรงเรียน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลือกเครื่องแบบเครื่องแต่งกายให้ใช้เช่นเดียวกับโรงเรียนราชวิทยาลัยเดิม เพียงแต่โปรดให้ใช้แผงคอสีอ่อนลงเพื่อให้เห็นแตกต่างกับของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย พระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. มีพระมหามงกุฏ ติดที่แผงคอนั้นคงเดิม แต่เพชราวุธพระมหามงกุฏซึ่งติดบนหมวกหนีบ เปลี่ยนเป็นพระมหามงกุฏมีอักษร " ราชวิทยาลัย" อยู่เบื้องล่าง เป็นบรรทัดโค้งพองาม แบบของเครื่องหมายดังกล่าวนี้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตรแล้ว มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็น เครื่องแบบเครื่องแต่งกายของนักเรียน ส่วนแผงคอเปลี่ยนเป็นสีฟ้าหม่นตามประราชประสงค์ นอกจากสีของแผงคอซึ่งแตกต่างไปจากสีของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว สีของโลหะเครื่องหมายกระดุม และหัวเข็มขัดเปลี่ยนจากสีเงินเป็นสีทอง เป็นการเปลี่ยนอย่างมีความหมาย เพราะสีฟ้าหม่นเป็นสีเสื้อเครื่องแบบเต็มยศของทหารในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นการใช้สีฟ้าหม่นเป็นสีของแผงคอและถือเป็นสีประจำโรงเรียนต่อมา นั่นย่อมเป็นเครื่องเตือนใจให้ครูและนักเรียนโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีต่อโรงเรียนราชวิทยาลัยในอดีตโดยไม่มีวันลืมเลือน เราจึงถือเอาสีของแผงคอซึ่งเป็นสี "ฟ้า ทอง" เป็นสีประจำของโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สืบมา

นักเรียนทั้งหมดแบ่งออกเป็น 4 บ้าน ได้แก่ บ้าน 1 บ้าน 2 บ้าน 3 และบ้าน 4 แต่ละบ้าน มีสีประจำบ้าน โดยถือเอาวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์ เป็นสำคัญ เรื่องการถือเอาสีวันพระประสูติมาเป็นสีประจำบ้านของนักเรียนทั้งสีบ้านนี้ มีข้อความปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในประวัติการจัดตั้งโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ จากหนังสือของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีถึงนายสนั่น สุมิตร อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2507 มีความดังนี้

สำหรับสีของคณะนั้น
ก. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ ประสูติวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 เป็นวันพฤหัสบดี ( สีแสด) ปีเถอะ กระต่าย
ข. ทูลกระหม่อมชาย ประสูติวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เป็นวันจันทร์ (สีเหลือง) ปีมะโรง งูใหญ่
ค. ทูลกระหม่อมหญิงสิรินทร ประสูติวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 เป็นวันเสาร์ (สีม่วง) ปีมะแม เพะ
ง. ทูลกระหม่อมหญิงจุฬาภรณ์ ประสูติวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 เป็นวันพฤหัสบดี ( สีแสด) ปีระกา ไก่

ด้วยเหตุที่ทูลกระหม่อมหญิง 2 พระองค์ คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ และทูลกระหม่อมหญิงจุฬาภรณ์ ประสูติวันพฤหัสบดีเหมือนกัน จึงเปลี่ยนเป็นสีแดงซึ่งพอจะใกล้เคียงกัน ฉะนั้นสีประจำบ้านของโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ จึงเป็นดังนี้
บ้าน 1 สีแสด
บ้าน 2 สีเหลือง
บ้าน 3 สีม่วง
บ้าน 4 สีแดง

จะเห็นได้ว่า เครื่องแบบเครื่องแต่งกายของนักเรียน การใช้สีประจำโรงเรียน การใช้สีประจำบ้านของแต่ละบ้าน มีที่มาอันภาคภูมิ เพราะล้วนแต่เกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์อันเป็นที่เคารพสักการะของคนไทยทั้งชาติ นับแต่อดีตสมัยที่ยังเป็น โรงเรียนราชวิทยาลัย ตราบจนถึงสมัยโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉะนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ครู และนักเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ ทุกคน ต้องคำนึงถึงการวางตนให้เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดี ประพฤติตนให้เรียบร้อยเหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีของโรงเรียน อันมีองค์พระประมุขของชาติเป็นผู้พระราชทานกำเนิด การกระทำอันใดจะนำความอับเฉาเศร้าหมองมาสู่ชื่อเสียงของโรงเรียนนั้น ชาวราชวิทย์ทุกคนย่อมตระหนักแล้ว เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อรักษาศักดิ์ศรีไว้ให้สมกับเป็นโรงเรียนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ พระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร." เป็นนามโรงเรียน ทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ รับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ดำรงอยู่ชั่วกาลนาน

จากความเป็นมา ตั้งแต่ราชวิทยาลัย จนกระทั่งมาเป็น ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ นั้น หลายสิ่งหลายอย่างล้วนแต่เกี่ยวเนื่องกับ องค์พระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยทั้งชาติ โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงเป็นสถาบันการศึกษาคู่พระบารมีมหาราชแห่งชาติไทยโดยแท้ ฉะนั้น คณะครูและนักเรียนโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ จึงจะต้องคำนึงถึงการวางตนให้เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ประพฤติให้เรียบร้อยเหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีของโรงเรียน

พระราชดำรัสตอบ

พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานไว้
เมื่อครั้งเสด็จพิธีเปิดป้ายอาคารเรียน พ.ศ. 2511

" ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มาเยี่ยมโรงเรียนราชวิทยาลัย และได้เห็นความเจริญของโรงเรียน ซึ่งเจริญขึ้นเป็นอันมาก ทุกๆ ทาง
โรงเรียนนี้มีวัตถุประสงค์อันเลิศ และได้รับความร่วมมือสนับสนุนส่งเสริมจากทางราชการ และเอกชนมาก โดยพร้อมเพรียง ทำให้เริ่มต้นได้ด้วยดี ได้รับความนิยมเชื่อถือ และเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้อง กับงานของราชวิทยาลัย โดยเฉพาะคณะผู้บริหาร และคณะครูผู้สอนควรจะยินดีและพอใจ ทั้งถือเป็นกำลังใจที่จะต้อง ปฏิบัติหน้าที่สร้างเสริมความดี และชื่อเสียงเกียรติคุณของโรงเรียนให้มั่นคง และ กว้างขวางยิ่งขึ้นไป
สำหรับนักเรียนนั้น ทุกคนจะต้องระลึกไว้เสมอว่า ตัวได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาอบรมในสำนักที่ดี แล้วจะต้อง พยายามเล่าเรียน และอบรมคุณสมบัติทุกประการ โดยเต็มกำลังความสามารถ อย่าให้เสียโอกาส เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ และมีประโยชน์ต่อสังคม
ขออวยพรให้โรงเรียนราชวิทยาลัยมีความเจริญรุ่งเรือง ขอให้นักเรียนทุกคนมีพลานามัยสมบูรณ์ มีกำลังใจอันเข้มแข็ง ที่จะศึกษา เล่าเรียนและประกอบความดีให้เป็นคุณแก่ตนเอง แก่โรงเรียนและประเทศชาติสืบไป

ที่มาเวป //www.rajavit20.com/


Create Date : 04 ธันวาคม 2552
Last Update : 6 มกราคม 2553 16:06:42 น. 0 comments
Counter : 14247 Pageviews.

ingjuve
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ชีวิตที่มีความสุข จึงไม่ใช่ชีวิตที่ปราศจากทุกข์
แต่คือ ชีวิตที่รู้จักเกี่ยวข้องกับความทุกข์อย่างถูกต้อง
Friends' blogs
[Add ingjuve's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.