ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Blog ของอินทรายุธค่ะ
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
3 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
ภาคผนวก ๑ : เจ้าหลวงเสือข่านฟ้า ๑



ภาคผนวก ๑ : เจ้าเสือข่านฟ้า (๑)


หากเพื่อนๆ ยังคงจำกันได้ ครั้งแรกที่อินเริ่มลงมือเขียนนิยายเรื่องแรก “สายรุ้ง...เวียงภูแก้ว” นั้น อินเคยเกริ่นนำว่า ฉากหลังของนวนิยายเรื่องนี้ อินใช้อาณาจักรล้านนาโบราณผสมกับอาณาจักรหมอกขาวมาวหลวงของไทใหญ่ ช่วงรัชสมัยของเจ้าเสือข่านฟ้าเป็นหลักนะคะ

ต้นกำเนิดของแรงบันดาลใจสำหรับการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ สืบเนื่องมาจากอินได้อ่านหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทใหญ่” ของ รศ. ดร.สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์ โดยบังเอิญ ขอสารภาพตามตรงว่า แรกเริ่มเดิมทีอินไม่ได้ตั้งใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทใหญ่หรอกค่ะ เพราะตอนนั้นอินตั้งใจว่าจะลงมือเขียนนิยายเรื่องแรกโดยใช้ช่วงเวลาเสียกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องตั้งกรุงธนบุรีเป็นฉากหลังของเรื่อง จึงค้นหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ช่วงเวลาที่กล่าวถึงอย่างหนักทีเดียว และเป็นเอามากชนิดที่ลงมากรุงเทพทีไร อินต้องไปฝังตัวเองอยู่กับเอกสารโบราณบนชั้น ๔ ของหอสมุดแห่งชาติทุกครั้ง ต้องใช้คำว่า “ฝังตัวเอง” จริงๆ นะคะ เพราะทันทีที่อินได้เอกสารพวกนั้นมาอยู่ในมือ อินก็ดิ่งลึกลงไปกับตัวอักษรทันที ชนิดที่ไม่สนใจใครเลยด้วย

ช่วงนั้นอินไปหอสมุดแห่งชาติจนกระทั่งว่าเจอคุณยายคนหนึ่งตอนขึ้นลิฟท์ ท่านถามอินว่าจะไปชั้นไหน พออินตอบว่าชั้น ๔ คุณยายก็งง ถามว่าชั้น ๔ มีอะไร เมื่ออินตอบว่ามีเอกสารโบราณ มีจารึก เท่านั้นแหละ คุณยายตอบมาเลยว่า “หนูนี่แปลกเนอะ เป็นคนรุ่นใหม่แท้ๆ ทำไมถึงชอบของอย่างนี้ได้ ท่าจะเกิดผิดยุคแล้วเนี่ย เอาล่ะ ถ้าเริ่มเบื่อก็ลงมาหายายที่ชั้น ๒ ได้นะลูก มาฟังเพลงของหลวงวิจิตรวาทการเป็นเพื่อนยายนะ คนที่ชอบของเก่าๆ อย่างหนูคงชอบฟัง”

เป็นงั้นไป พอคุณยายเดินออกจากลิฟท์ไปแล้ว อินก็ได้แต่ขำอยู่คนเดียว และคิดว่า ท่าจะจริงอย่างที่คุณยายว่าเสียแล้วสิ

กระทั่งวันหนึ่งที่อินเข้าห้องสมุดแถวบ้านและเก็บข้อมูลที่ว่าเสียจนแทบไม่เหลือหนังสือให้ยืมอีกแล้ว เจ้าหนังสือเล่มนี้ก็โผล่มาจากซอกตู้หนังสือ ครั้งแรกที่อินเห็น อินก็อดยิ้มไม่ได้ เพราะว่า ดร.สมพงศ์ ท่านเป็นอาจารย์สอนวิชาอักษรและอักรขรวิธีไทของอินเอง ความรู้สึกตอนนั้นของอินคือ นี่ฉันเรียนจบมาสิบเอ็ดปีแล้ว ชื่ออาจารย์ยังตามมาหลอกหลอนอีกหรือนี่ แต่ถึงจะคิดอย่างนั้นก็ตามที อินก็ยืมหนังสือเล่มนี้มาจนได้

หนังสือเล่มนี้ในส่วนของเนื้อหาทั้งหมด มีความยาว ๔๙๒ หน้า อินตะลุยอ่านรอบแรกจบภายในเวลาสองชั่วโมง เป็นการอ่านแบบคร่าวๆ นะคะ อินจะเป็นอย่างนี้ล่ะค่ะ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือแบบไหนก็ตามแต่ การอ่านรอบแรกนี้จะเป็นการอ่านโครงใหญ่ ไม่วิเคราะห์เจาะลึก ไม่ลงรายละเอียดอะไรเลย พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการอ่านแบบจับใจความสำคัญ ถ้าเนื้อหาถูกใจอิน การอ่านรอบที่สอง และรอบต่อๆ ไป ถึงจะตามมาค่ะ แต่ถ้าไม่ ก็จบที่รอบแรกเท่านั้นเอง และไม่สนใจไยดีอีกเลย ต่อให้มันวางอยู่ตรงหน้าอินด้วย อินก็ไม่คิดจะเปิดอ่านอีกเป็นรอบที่สอง

เมื่อตะลุยอ่านรอบแรกแล้ว รอบสองตามมาติดๆ ค่ะ รอบสองนี้ใช้เวลาสามวันเต็มๆ แล้วก็เจอจุดที่น่าสนใจและถูกใจเข้าอย่างจัง คืออินจะเป็นประเภทที่ว่า เวลาอ่านหนังสือ อินจะชอบอ่านให้มันเป็นนิยายน่ะค่ะ (แม้แต่ประมวลกฎหมาย อินยังอ่านให้เป็นนิยายเลย ตรงนี้จะช่วยให้การจดจำของเราดีขึ้นค่ะ) พาออกทะเลอีกแล้ว รีบว่ายกลับเข้าฝั่งโดยด่วนค่ะ

ประวัติศาสตร์ไทใหญ่เล่มนี้ก็เหมือนกัน อินโดนใจเข้าอย่างจังตรงช่วงรัชสมัยของเจ้าหลวงเสือข่านฟ้า (พ.ศ. ๑๘๕๔ – ๑๙๐๗) ข้อความในส่วนนั้น อินขอสรุปความโดยย่อดังต่อไปนี้ค่ะ


เจ้าหลวงเสือข่านฟ้า


เจ้าหลวงเสือข่านฟ้า เป็นเจ้าฟ้าเมืองมาวที่มีประวัติความเป็นมาเหมือนกับนิยายเรื่องหนึ่ง นับแต่กำเนิดของพระองค์ที่พูดได้ว่า ไม่ต่างจากละครเลย
คือ เจ้าหลวงขุนผางคำไม่มีโอรส จึงให้พระมเหสีและนางสนมทั้งหลายบวงสรวงเทวดาเพื่อขอโอรส ภายหลังจากพิธีบวงสรวงนั้น ก็มีรุกขเทวดาตนหนึ่งมาปรากฏกายขึ้นในห้องนอนของนางสนมนางหนึ่ง เจ้าหลวงขุนผางคำเข้าพระทัยผิดคิดว่านางนั้นมีชู้ จึงขับไล่นางออกจากคุ้ม ให้นางไปเป็นขอทาน ห้ามผู้ใดช่วยเหลือนางเด็ดขาด นางนั้นได้ตระเวนขอทานจนกระทั่งท้องแก่ และขอทานไปจนถึงบ้านก่ายบ่อ เชิงเขาดอยดาว (แต่ข้อเท็จจริงจุดนี้ ยังมีแตกออกไปอีกว่า นางออกไปทำไร่ทำนาอยู่ที่หมู่บ้านนี้)

ที่บ้านก่ายบ่อนี้เอง นางสนมนั้นได้คลอดลูกชายแฝดสามคน คือ ขุนอ้ายงำเมือง ขุนยี่ข่างคำ (พระนามขุนยี่ข่างคำนี้ ตามเอกสารหลักฐานบางฉบับก็เรียกว่า ขุนยี่กางคำ [กาง หมายถึง กวาง] บางฉบับก็เรียก ขุนยี่คายคำ [คาย หมายถึง ควาย]) และขุนสามหลวง แต่ขุนอ้ายงำเมืองนั้นตายเสียแต่ยังเล็ก คงเหลือเพียงพี่น้องสองแฝดเท่านั้นที่ช่วยแม่ทำนาอยู่


จำเนียรกาลผ่านมาราว ๑๕-๑๖ ปี คืนหนึ่ง เสื้อเมืองได้มาเข้าฝันขุนยี่ข่างคำ บอกให้ไปเอาจุ้ม (ตราแผ่นดิน) ที่ฝังดินมาไว้กับตนเสีย

“ขุนข่างคำเอ๋ย ถ้าว่าสองเขือพี่น้องใคร่ดีใคร่เป็น ใคร่กัดใคร่เย็น ใคร่มีบุญใหญ่ให้เป็นที่ผีอิงคงพึ่ง เจ้าพี่น้องทั้งสองต้องไปเอาจุ้มอันผีเฮ็ดไว้ปันโพ้น รอท่าสองเขืออยู่ใต้หมากหินทางหัวไร่สองเขือนั้นเถอ อย่าลืมคำกูล่ะ”

ครั้นรุ่งเช้า ขุนยี่ข่างคำจึงชวนน้องชายฝาแฝดไปขุดหาจุ้มที่หัวไร่ตามที่เสื้อเมืองเข้าฝันบอก เมื่อพบจุ้มตรงตามที่ฝัน จึงนำมาเก็บรักษาไว้ที่เรือนเป็นอย่างดี นับแต่ได้จุ้มมา ครอบครัวของขุนยี่ข่างคำก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ บรรดาชาวบ้านผู้คนต่างก็ให้ความเคารพนบนอบ

ต่อมาไม่นาน เจ้านางอี่คำแดง พระราชธิดาที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากเจ้าหลวงขุนผางคำนั้น ได้สวรรคตโดยมิได้มีรัชทายาทใดๆ อำมาตย์ขุนสึ่งและขุนกวางพรองเมืองจึงปรึกษาหารือเพื่อหาเชื้อเจ้าสืบทอดนั่งเมืองต่อไป เมื่อได้ยินข่าวนางสนมและสองโอรสฝาแฝด จึงเดินทางไปยังบ้านก่ายบ่อ เพื่อเชิญแม่ลูกทั้งสามมาครองเมือง


ขุนยี่ข่างคำได้รับการยกขึ้นเป็นเจ้าเมืองมาว มีพระนามว่า เจ้าหลวงเสือข่านฟ้า ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๕๔ ขณะมีชันษาได้ ๒๑ ปี และทรงสร้างเวียงหลวงใหม่ ให้ชื่อว่า “เวียงแจ้ไฮ่”

ส่วนพระนาม “เสือข่านฟ้า” นั้น ได้มาเนื่องจากครั้งหนึ่ง เคยถูกเสือข่วนเข้าที่กลางหลัง จึงได้นามเสือข่านฟ้านับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งคำว่า “ข่าน” ในภาษาไทใหญ่ หมมายถึง ข่วน นั่นเอง


ถัดมาสองปี คือในปี พ.ศ. ๑๘๕๖ เจ้าหลวงเสือข่านฟ้าทรงย้ายเวียงใหม่ไปยังเวียงแจ้ล้าน ซึ่งมีชัยภูมิเหมาะสมทางยุทธศาสตร์มากกว่า ตลอดระยะเวลา ๕๓ ปีของการครองราชย์นั้น อาณาเขตของเมืองมาวได้แผ่ขยายไปกว้างใหญ่ไพศาล ทั้งยังถือเป็นอาณาจักรไทใหญ่อาณาจักรแรกที่สามารถยึดครองดินแดนอาณาจักรของต่างชาติได้ นั่นคือดินแดนบางส่วนของอาณาจักรจีน อาณาจักรพม่า อาณาจักรน่านเจ้า และรัฐอัสสัมของอินเดียซึ่งเป็นเขตที่มีชาวไทอาหมอาศัยอยู่


การขยายอาณาเขตของอาณาจักรเมืองมาวหลวง


การขยายอาณาเขตอาณาจักรเมืองมาวหลวง ในรัชสมัยของเจ้าหลวงเสือข่านฟ้านั้น มีการขยายที่สำคัญอยู่ ๖ ครั้ง โดยเริ่มจาก “หลังดินหน้าฟ้าเมืองไท” คือเริ่มจากเมืองสำคัญก่อน และขยายออกไปยังดินแดนโดยรอบ ดังจะกล่าวต่อไปนี้


ครั้งที่ ๑ ยึดเมืองหลวงอาณาจักรแสนหวีเวียงแสนแจ้ และเวียงหนั้นเมืองเย็น


ปีพุทธศักราช ๑๘๕๗ เจ้าหลวงเสือข่านฟ้าโปรดให้ราชทูตสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งถือลิ่กจุ้มลายแดง (หนังสือ/ พระราชสาสน์) ไปยังเวียงแสนแจ้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรแสนหวี ในขณะนั้นเจ้าท้าวน้อยแข่เป็นกษัตริย์ครองเมืองอยู่ และอีกกลุ่มหนึ่งไปยังเมืองเย็นซึ่งมีขุนไทป่อเป็นเจ้าเมือง ใจความในลิ่กจุ้มนั้น มีความว่า


“ค่าเป็นเมืองทังหลวง ขุนยี่ข่างคำใช้ผู้ดีคนซื่อมาต้ำ (ถึง) สูเจ้าขุนไทป่อ ท้าวน้อยแข่ ท้าวน้อยแมน ถึงสูเจ้า ให้มาเวียงแจ้ล้านนี้ มาปรึกษาหารือกัน”


ข้อความดังนี้ ทำให้เจ้าขุนไทป่อ ท้าวน้อยแข่ และท้าวน้อยแมนเจ้าฟ้าผู้ครองเมืองใหม่เมืองหลวงไม่พอใจ และไม่ยอมปฏิบัติตามด้วยเหตุผลต่างๆ นานา อาทิ เมืองมาวแท้แล้วเป็นแต่เพียงหัวเมืองเท่านั้น หรือ ขุนยี่ข่างคำเป็นเพียงลูกชายคนขอทานที่อำมาตย์ยกมาเป็นเจ้าเมือง โดยศักดิ์ก็มีฐานะเป็นเพียงน้องเพียงหลานเท่านั้น เป็นต้น

เมื่อส่งลิ่กจุ้มลายแดงไปเชิญหลายครั้ง แต่ไม่มีเจ้าฟ้าองค์ใดยินยอมทำตาม เจ้าหลวงเสือข่านฟ้า พร้อมด้วยพระอนุชา คือเจ้าสามหลวงฟ้า จึงยาตราทัพเข้าโจมตีเวียงแสนแจ้และเวียงหนั้นเมืองเย็นทันที ทั้งยังทำลายและเผาเวียง จนเจ้าขุนไทป่อต้องทรงยอมแพ้ และส่งลูกสาวคือนางคำไอ่ให้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมืองหลวงของอาณาจักรแสนหวีเวียงแสนแจ้จึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรเมืองมาวหลวง


ครั้งที่ ๒ ยึดเวียงจุนโกเมืองมีดเมืองเชียงดาว


ปีพุทธศักราช ๑๘๕๘ เจ้าหลวงเสือข่านฟ้า ส่งลิ่กจุ้มลายแดงไปยังเชียงดาวเมืองมีด หรือเวียงจุนโก เพื่อเชิญพี่น้องทั้ง ๕ คือ เจ้าไทขึน เจ้าไทไก่ เจ้าไทเต่า เจ้าไทแตง และขุนสามอ่อน มายังเวียงแจ้ล้าน

เจ้าไทขึนนั้น เมื่อได้รับลิ่กจุ้มลายแดง ไม่เพียงจะไม่ยอมทำตามเท่านั้น แต่ยังจับราชทูตของเจ้าหลวงเสือข่านฟ้าประหารถึง ๗ คน เหลือรอดมาเพียง ๓ คน เพื่อให้ถือหนังสือกลับมาแจ้งเจ้าหลวงเสือข่านฟ้า มิหนำซ้ำยังส่งทหารไปเผาบ้านเรือนทางตอนใต้ของเมืองมาวอีกด้วย เป็นเหตุให้เจ้าหลวงเสือข่านฟ้าพิโรธจัด ส่งกองทัพออกไปโจมตีเวียงจุนโกครบสิ้นทั้งทัพม้า ทัพช้าง การศึกคราวนี้ก่อความเสียหายและความสูญเสียให้ทางเวียงจุนโกอย่างใหญ่หลวง ทั้งทหาร ราษฎรที่ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก บ้านเมืองเสียหายหนัก ในที่สุดชาวเมืองต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อเมืองมาว และขอให้เจ้าไทขึนยอมแพ้ บรรดาแม่ทัพหัวหาญนายกองทั้งปวงล้วนยอมพ่ายแพ้แต่โดยดี และจับตัวเจ้าไทขึนมาให้เจ้าหลวงเสือข่านฟ้าทรงตัดสินโทษ แต่เจ้าหลวงเสือข่านฟ้ากลับโปรดให้แม่ทัพหัวหาญพิจารณาแลประหารเจ้าไทขึนกันเอง ส่วนพระองค์นั้นขอยึด “ครัวเรือนผืนหว่าน เครื่องห้างเครื่องหอเจ้าไทขึน ทั้งจ๊อยนางมันเจ้า” ทั้งหมด

ในปีถัดมา เจ้าหลวงเสือข่นฟ้าทรงยึดหัวเมืองไทใหญ่ทางตอนใต้ได้อีก เช่น เมืองยองห้วย เมืองจามกา เมืองปาย ฯลฯ


ครั้งที่ ๓ โจมตียึดหัวเมืองแข่ (จีน)


ปีพุทธศักราช ๑๘๖๐ เจ้าหลวงเสือข่านฟ้าทรงยาตราทัพใหญ่เดินทางขึ้นไปทางทิศเหนือ มุ่งตรงไปยังเมืองแข่ เวลานั้น เจ้าเมืองแสหอตู้ครองยูนนานอยู่ ได้ทราบข่าวก็ตกใจ เร่งออกมาต้อนรับเจ้าหลวงเสือข่านฟ้าเพื่อขอเจรจาความเมือง เจ้าหลวงเสือข่านฟ้าจึงรับสั่งว่า


“อันเกา (กู) ยกทัพมา เกาใคร่ได้น้ำดินหินผา ใคร่ได้ข้าใคร่ได้คนนี่แหละจึงมา”

เจ้าเมืองแสหอตู้มิต้องการสู้รบ จึงขอทำไมตรีหย่าศึกด้วยการยอมยกอาณาเขตเมืองแข่ ๔ เมืองให้เจ้าหลวงเสือข่านฟ้า คือ เมืองแส หย่งชาง หมูอาน ปูขว้าง เจ้าหลวงเสือข่านฟ้าจึงทรงยอมยกทัพกลับ

ในปีเดียวกันนี้เอง เจ้าท้าวหุบเมือง เจ้าฟ้าเมืองกึ๋งม้าได้ยกทัพลอบเข้ามาโจมตีเมืองมาว ในขณะที่เจ้าหลวงเสือข่านฟ้ายกทัพไปตีเมืองแข่ ขุนกวานพรองเมืองที่รักษาเมืองมาวอยู่ได้ทำการสู้รบแทน และสามารถจับตัวเจ้าท้าวหุบเมืองตัดคอประหารชีวิตได้สำเร็จ




อินทรายุธ


ข้อมูลจาก "ประวัติศาสตร์ไทใหญ่ โดย สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์" ค่ะ








Create Date : 03 พฤษภาคม 2553
Last Update : 6 พฤษภาคม 2553 13:23:20 น. 8 comments
Counter : 1208 Pageviews.

 
มาเยี่ยมครับ
ยังไม่ได้มีเวลาอ่านเลย รอๆๆ


โดย: Psycho man วันที่: 7 พฤษภาคม 2553 เวลา:20:39:44 น.  

 
โย้ววววว์ พี่ชายมาเยี่ยมอินแล้ว ดีใจมากค่ะพี่ชาย อินนึกว่าพี่ชายจะลืมน้องสาวคนนี้เสียแล้ว


โดย: อินทรายุธ วันที่: 8 พฤษภาคม 2553 เวลา:17:36:35 น.  

 
Tö:knun In
So great to follow your journey ka. Looking forwards to read more naka. Have a pleasant day and take good care ka.

:-)
Your fan from Sweden.


โดย: outsider IP: 81.236.18.21 วันที่: 10 พฤษภาคม 2553 เวลา:2:13:37 น.  

 
อโรคยา ปรมา ลาภา (อะโรคะยา ปะระมา ลาพา)
ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ

ขอขอบคุณในทุกความห่วงใยและกำลังใจที่มอบให้ปอป้า
และขอให้เพื่อนบล็อกทุกท่าน มีความสุขกายสุขใจ ตลอดไป..นะคะ




โดย: พรหมญาณี วันที่: 12 พฤษภาคม 2553 เวลา:11:22:46 น.  

 
ปจฺเจกจิตตา ปุถู สพฺพสตฺตา
นานาทิฏฐิเก นานยิสสสิ เต
กาตุ มนุสเสน ตถา มนุสสา

คนทุกคน ต่างคนก็ต่างจิตต่างใจ
จะให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมด ไม่ได้
จะทำให้คนเหมือนกันหมดทุกคน ไม่ได้

มีความสุขกับทุกสิ่งที่เป็นตัวตนของตน..นะคะ




โดย: พรหมญาณี วันที่: 13 พฤษภาคม 2553 เวลา:10:14:59 น.  

 
ตเถเวกสฺส กลฺยาณํ ตเถเวกสฺส ปาปกํ สพฺพํ น กลยาณํ วาปิ ปาปกํ

สิ่ง ๆ หนึ่งอาจดีสำหรับคน ๆ หนึ่ง.. สิ่ง ๆ หนึ่งอาจเสียสำหรับอีกคนหนึ่ง
ไม่มีสิ่งใดดีไปทั้งหมด..หรือ..เสียไปทั้งหมด

มีความสุขกับความพอใจในสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่กับเราตลอดไป..นะคะ




โดย: พรหมญาณี วันที่: 14 พฤษภาคม 2553 เวลา:10:48:35 น.  

 
อุปสนฺโต สุขํ เสติ
ผู้สงบใจได้ ย่อมนอนเป็นสุข

มีความสุข สวัสดี ทั้งยามหลับและยามตื่น..นะคะ
ฝันดี ราตรีสวัสดิ์..ค่ะ




โดย: พรหมญาณี วันที่: 15 พฤษภาคม 2553 เวลา:20:31:53 น.  

 
ว้าว ได้ความรู้มากเลยครับ ดีมาก และขอบคุณมานะครับ


โดย: สามเครือ IP: 122.155.38.99 วันที่: 6 เมษายน 2559 เวลา:10:48:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อินทรายุธ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]





งานเขียนทั้งหมดในบลอคนี้สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. พ.ศ. 2537 ห้ามคัดลอก ทำซ้ำ ส่วนหนึ่งส่วนใด โดยมิได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
Friends' blogs
[Add อินทรายุธ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.