ภิกขุนีสูตร คู่มือละกาม เวอร์ชั่นของพระอานนทะเเถระพุทธอนุชา
ภิกขุนีสูตร ที่ ๙
อินทรียวรรค อังคุตตรนิกาย พระสุตตันตปิฎก
 
[๑๕๙] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้นแล ภิกษุณีรูปหนึ่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาว่า บุรุษผู้เจริญ พ่อจงมาพ่อจงเข้าไปหาพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ จงไหว้เท้าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้าตามคำของเราว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ภิกษุณีชื่อนี้กำลังอาพาธ ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก นางย่อมไหว้เท้าของพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และพ่อจงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปหาภิกษุณีนั้น ยังสำนักของภิกษุณีนั้นด้วยเถิด

บุรุษนั้นรับคำภิกษุณีนั้นแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบเรียนท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุณีชื่อนี้กำลังอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก นางไหว้เท้าของพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปหาภิกษุณีนั้น ยังสำนักของนางภิกษุณีด้วยเถิด ท่านพระอานนท์รับคำด้วยดุษณีภาพ

ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ครองผ้าในเวลาเช้า ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังสำนักของนางภิกษุณี ภิกษุณีนั้นได้เห็นท่านพระอานนท์ มาแต่ไกลแล้ว จึงนอนคลุมผ้า ตลอดศีรษะ อยู่บนเตียง ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปหาภิกษุณีนั้น แล้วนั่งบนอาสนะที่แต่งตั้งไว้ ครั้นแล้วได้กล่าวกะภิกษุณีนั้นว่า
ดูกรน้องหญิง

๐ กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย
๐ กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหา อาศัยตัณหา แล้วพึงละตัณหาเสีย
๐ กายนี้เกิดขึ้นด้วยมานะ อาศัยมานะแล้วพึงละมานะเสีย
๐ กายนี้เกิดขึ้นด้วยเมถุน ควรละเมถุนเสีย การละเมถุน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เสตุฆาต (การฆ่ากิเลสด้วยอริยมรรค)
 
๐ ดูกรน้องหญิง ก็คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูกรน้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว บริโภคอาหาร ไม่บริโภคเพื่อเล่น ไม่บริโภคเพื่อมัวเมา ไม่บริโภคเพื่อประเทืองผิว ไม่บริโภคเพื่อประดับ บริโภคเพียงเพื่อความตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อระงับความหิวกระหาย เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า ด้วยการบริโภคนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าได้ด้วย และจักไม่ยังเวทนาใหม่ให้เกิด ความดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษ และความผาสุก จักมีแก่เรา สมัยต่อมา ภิกษุนั้นอาศัยอาหาร แล้วละอาหารเสียได้ดูกรน้องหญิง คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหารอาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าว

๐ ดูกรน้องหญิงก็คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหา อาศัยตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสียดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าว ดูกรน้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้ยินว่า ภิกษุชื่อนี้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดังนี้ เธอคิดอย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ แม้เราจักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดังนี้ สมัยต่อมา เธออาศัยตัณหาแล้วละตัณหาเสียได้ ดูกรน้องหญิง คำที่กล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหา อาศัยตัณหาแล้วพึงละเสีย ดังนี้เราอาศัยข้อนี้กล่าว

๐ ดูกรน้องหญิง ก็คำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยมานะอาศัยมานะ แล้วพึงละมานะเสีย ดังนี้ เราอาศัยอะไรกล่าว ดูกรน้องหญิงภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ได้ยินว่า ภิกษุชื่อนี้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดังนี้ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ก็ท่านผู้มีอายุชื่อนั้น กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้   เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดังนี้ ไฉนเราจักกระทำไม่ได้ สมัยต่อมา เธออาศัยมานะแล้วย่อมละมานะเสียเอง ดูกรน้องหญิงคำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยมานะ อาศัยมานะแล้วพึงละมานะเสีย ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าว

๐ ดูกรน้องหญิง กายนี้เกิดขึ้นด้วยเมถุน ควรละเมถุนเสีย การละเมถุนพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เสตุฆาต ดังนี้
ครั้งนั้นแล ภิกษุณีนั้นลุกขึ้นจากเตียง กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบเท้าของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า แล้วกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ดิฉันเป็นคนพาล เป็นคนหลงไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินไปแล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าอานนท์จงยกโทษแก่ดิฉันซึ่งได้กระทำอย่างนี้ เพื่อสำรวมต่อไป ท่านพระอานนท์กล่าวว่า เอาเถอะน้องหญิงเธอเป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินไปแล้ว เมื่อเธอซึ่งได้ทำอย่างนี้ เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม เราย่อมยกโทษให้เธอ

ดูกรน้องหญิง การเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญ ในวินัยของพระอริยะ ฯ
จากอังคุตตรนิกาย
จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์
อินทรียวรรคที่ ๑ ข้อ ๑๕๙
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
อรรถกถาภิกขุนีสูตรที่ ๙
พึงทราบวินิจฉัยในภิกขุนีสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า เอหิ ตฺวํ ได้แก่ ภิกษุณีมีจิตปฏิพันธ์ในพระเถระ จึงกล่าวอย่างนีเพื่อส่งบุรุษนั้นไป. บทว่า สสีสํ ปารุปิตฺวา ได้แก่ คลุมกายตลอดศีรษะ. บทว่า มญฺจเก นิปชฺชิ ได้แก่ ภิกษุณีรีบลาดเตียงแล้วนอนบนเตียงนั้น. บทว่า เอตทโวจ ความว่า พระอานนท์สังเกตอาการของภิกษุณีนั้น จึงได้กล่าวกะภิกษุณีนั้น เพื่อแสดงอสุภกถาโดยนิ่มนวล เพื่อให้ภิกษุณีละความโลภ.

บทว่า อาหารสมฺภูโต ได้แก่ ร่างกายนี้เกิดเป็นมาเพราะอาหาร คือเจริญขึ้นเพราะอาศัยอาหาร. บทว่า อาหารํ นิสฺสาย อาหารํ ปชหติ ความว่า บุคคลอาศัยกวฬีการาหารอันเป็นปัจจุบัน เสพอาหารนั้นโดยแยบคายอย่างนี้ ย่อมละอาหารกล่าวคือกรรมเก่า พึงละตัณหา อันเป็นความใคร่ในกวฬีการาหารแม้อันเป็นปัจจุบัน. บทว่า ตณฺหํ ปชหติ ความว่า บุคคลอาศัยตัณหาอันเป็นปัจจุบันที่เป็นไปแล้วอย่างนี้ ในบัดนี้ ย่อมละบุพตัณหาอันมีวัฏฏะเป็นมูล.

ถามว่า ก็ตัณหาอันเป็นปัจจุบันนี้เป็นกุศลหรืออกุศล.
ตอบว่า เป็นอกุศล.
ถามว่า ควรเสพหรือไม่ควรเสพ.
ตอบว่า ควรเสพ.
ถามว่า จะชักปฏิสนธิมาหรือไม่ชักมา.
ตอบว่า ไม่ชักมา. แต่ควรละความใคร่ในตัณหาที่ควรเสพ อันเป็นปัจจุบันแม้นี้เสียทีเดียว.

บทว่า กิมงฺคํ ปน ในบทว่า โส หิ นาม อายสฺมา อาสวานํ ขยา ฯเปฯ อุปสมฺปชฺช วิหริสฺสติ กิมงฺคํ ปนาหํ นี้ นั่นเป็นความปริวิตกถึงเหตุ. ท่านอธิบายข้อนี้ไว้ว่า ภิกษุนั้นจักทำอรหัตผลให้แจ้งอยู่ ด้วยเหตุไรเราจึงจักไม่ทำให้แจ้งอยู่เล่า แม้ภิกษุนั้นก็เป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เราก็เป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน อรหัตผลนั้นจักเกิดแก่เราบ้าง.

บทว่า มานํ นิสฺสาย ได้แก่ อาศัยมานะที่ควรเสพอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้. บทว่า มานํ ปชหติ ได้แก่ บุคคลละบุพมานะอันมีวัฏฏะเป็นมูล. อธิบายว่า ก็บุคคลนั้นอาศัยมานะใดละมานะนั้นได้ แม้มานะนั้นก็เป็นอกุศล ควรเสพและไม่ชักปฏิสนธิมาดุจตัณหา แต่ควรละความใคร่แม้ในมานะนั้นเสีย.

บทว่า เสตุฆาโต วุตฺโต ภควตา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพุทธะตรัสสอนให้ทำลายทาง คือทำลายปัจจัยเสีย. เมื่อพระเถระยักเยื้องเทศนาด้วยองค์ ๔ เหล่านี้แล้ว ฉันทราคะอันปรารภพระเถระเกิดขึ้นแก่ภิกษุณีนั้นได้หมดไปแล้ว. แม้ภิกษุณีนั้นก็ขอโทษที่ล่วงเกิน เพื่อให้พระเถระยกโทษให้. แม้พระเถระก็รับโทษที่ล่วงเกินของภิกษุณีนั้น. เพื่อแสดงถึงข้อนั้น ท่านจึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า อถโข สา ภิกฺขุนี ดังนี้.
จบอรรถกถาภิกขุนีสูตรที่ ๙
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 



Create Date : 15 ธันวาคม 2562
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2563 11:54:41 น.
Counter : 886 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฆราวาสมุนี
Location :
นครปฐม  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments
ธันวาคม 2562

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog