อมตรสในปัจจุบันขณะ -- พระมหากัจจานะเถระ


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖

มัชฌิมนิกายอุปริปัณณาสก์

๓.มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร (๑๓๓)

[๕๔๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารตโปทาราม เขตพระนครราชคฤห์ครั้งนั้นแล ท่านพระสมิทธิลุกขึ้นในราตรีตอนใกล้รุ่ง เข้าไปยังสระตโปทะเพื่อสรงสนานร่างกายครั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงกลับขึ้นมานุ่งสบงผืนเดียวยืนผึ่งตัวให้แห้งอยู่ ขณะนั้นล่วงปฐมยามไปแล้ว มีเทวดาตนหนึ่ง มีรัศมีงามส่องสระตโปทะให้สว่างทั่ว เข้าไปหาท่านพระสมิทธิยังที่ที่ยืนอยู่นั้นแล้วได้ยืน ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๕๔๙] เทวดานั้น พอยืนเรียบร้อยแล้วจึงกล่าวกะท่านพระสมิทธิ ดังนี้ว่าดูกรภิกษุ ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ฯ ท่านพระสมิทธิกล่าวว่าดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ ฯ

เท. ดูกรภิกษุแม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้ไหมฯ

ส. ดูกรท่านผู้มีอายุเราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ ฯ

เท. ดูกรภิกษุแม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ ขอท่านจงเรียนร่ำ และทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิดเพราะอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ฯ เทวดานั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไปณ ที่นั้นเอง ฯ

[๕๕๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระสมิทธิพอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งพอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเมื่อคืนนี้ตอนใกล้รุ่ง ข้าพระองค์ลุกขึ้นเข้าไปยังสระตโปทะ เพื่อสรงสนานร่างกายครั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงกลับมานุ่งแต่สบงผืนเดียว ยืนผึ่งตัวให้แห้งอยู่ขณะนั้นล่วงปฐมยามไปแล้ว มีเทวดาตนหนึ่ง มีรัศมีงามส่องสระตโปทะให้สว่างทั่วเข้าไปหาข้าพระองค์ยังที่ที่ยืนอยู่นั้น แล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งพอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะข้าพระองค์ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ไหมข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเมื่อเทวดานั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะเทวดานั้นดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุเราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวดานั้นกล่าวว่า ดูกรภิกษุแม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ข้าพระองค์ตอบว่าดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวดานั้นกล่าวว่าดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ ขอท่านจงเรียนร่ำ และทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิดเพราะอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เทวดานั้นกล่าวดังนี้แล้วจึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไปท่านพระสมิทธิทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ

[๕๕๑]พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้วสิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึงก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลายพระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ ครั้นแล้วพระสุคตจึงทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยังพระวิหาร ฯ


[๕๕๒]ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นจึงได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่าดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า 

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้วสิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึงก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

ดังนี้แลมิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกออกจากอาสนะเสด็จเข้า

ไปยังพระวิหารใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรง

แสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า

ท่านพระมหากัจจานะนี้แลอันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์

ผู้เป็นวิญญูชนยกย่องสรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะ พอจะจำแนกเนื้อ

ความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ถ้ากระไร พวก

เราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กะท่าน

พระมหากัจจานะเถิดฯ

[๕๕๓] ต่อนั้นแลภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่แล้วได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระมหากัจจานะ ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่าดูกรท่านกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกกระผมว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคล ... นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

ดังนี้แลมิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยังพระวิหารดูกรท่านกัจจานะ ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พวก

กระผมนั้นได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่าดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค

ทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า 

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคล ...นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

ดังนี้แลมิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยัง

พระวิหารใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

โดยย่อนี้ให้พิสดารได้ดูกรท่านกัจจานะ พวกกระผมนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า

ท่านพระมหากัจจานะนี้แลอันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์

ผู้เป็นวิญญูชนยกย่องสรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะ พอจะจำแนกเนื้อ

ความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ถ้ากระไร พวก

เราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กะท่าน

พระมหากัจจานะเถิดขอท่านพระมหากัจจานะโปรดจำแนกเนื้อความเถิด ฯ

[๕๕๔] ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่าดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบ

เหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้ พึงสำคัญ

แก่นของต้นไม้ใหญ่ที่มีแก่นตั้งอยู่ว่าควรหาได้ที่กิ่งและใบ ละเลยรากและลำต้น

เสีย ฉันใดข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่พร้อมหน้าท่านผู้มี

อายุทั้งหลายพวกท่านพากันสำคัญเนื้อความนั้นว่า พึงสอบถามเราได้ ล่วงเลย

พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสียดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค

พระองค์นั้นทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ทรงมีจักษุ มีญาณ

มีธรรมมีความประเสริฐ ตรัส บอก นำออกซึ่งประโยชน์ ประทานอมตธรรม

ทรงเป็นเจ้าของธรรมทรงดำเนินตามนั้น และก็เป็นกาลสมควรแก่พระองค์แล้วที่

ท่านทั้งหลายจะพึงสอบถามเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาคพระผู้มีพระภาคทรง

พยากรณ์แก่เราอย่างใดพวกท่านพึงทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด ฯ

ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่าดูกรท่านกัจจานะ แท้จริง พระผู้มีพระภาคย่อม

ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ทรงมีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีความ

ประเสริฐ ตรัสบอก นำออกซึ่งประโยชน์ ประทานอมตธรรม ทรงเป็น

เจ้าของธรรมทรงดำเนินตามนั้น และก็เป็นกาลสมควรแก่พระองค์แล้วที่พวก

กระผมจะพึงสอบถามเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาคพระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์

แก่พวกกระผมอย่างใดพวกกระผมพึงทรงจำได้อย่างนั้น แต่ว่าท่านพระมหากัจจานะอันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชน

ยกย่องสรรเสริญแล้ว และท่านพอจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มี

พระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ขอท่านพระมหากัจจานะอย่าทำความ

หนักใจโปรดจำแนกเนื้อความเถิด ฯ

ก. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดีข้าพเจ้าจักกล่าวต่อไปภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหากัจจานะว่า ชอบแล้วท่านผู้มีอายุฯ

[๕๕๕]ท่านพระมหากัจจานะจึงได้กล่าวดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคล...นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้

มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยังพระวิหาร นี้แลข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้ ฯ

[๕๕๖] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ

มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปว่า จักษุของเราได้เป็นดังนี้รูปได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะจึงเพลิดเพลินจักษุและรูปนั้นเมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว

มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียงว่า โสตของเราได้เป็นดังนี้เสียงได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว...

มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่นว่า ฆานะของเราได้เป็นดังนี้กลิ่นได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว...

มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรสว่า ชิวหาของเราได้เป็นดังนี้รสได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว...

มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะว่า กายของเราได้เป็นดังนี้โผฏฐัพพะได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว...

มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ว่า มโนของเราได้เป็นดังนี้ธรรมารมณ์ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะจึงเพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ

[๕๕๗] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ

มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปว่า จักษุของเราได้เป็นดังนี้รูปได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะจึงไม่เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้นเมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว

มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียงว่า โสตของเราได้เป็นดังนี้เสียงได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว...

มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่นว่า ฆานะของเราได้เป็นดังนี้กลิ่นได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว...

มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรสว่า ชิวหาของเราได้เป็นดังนี้รสได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว...

มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะว่า กายของเราได้เป็นดังนี้โผฏฐัพพะได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว...

มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ว่า มโนของเราได้เป็นดังนี้ธรรมารมณ์ได้เป็นดังนี้ ในกาลที่ล่วงแล้ว เพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะจึงไม่เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วฯ

[๕๕๘] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ

บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอจักษุของเราพึงเป็นดังนี้ ขอรูปพึงเป็นดังนี้ในกาลอนาคต เพราะความตั้งใจเป็นปัจจัย จึงเพลิดเพลินจักษุและรูปนั้นเมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอโสตของเราพึงเป็นดังนี้ ขอเสียงพึงเป็นดังนี้ในกาลอนาคต...

บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอฆานะของเราพึงเป็นดังนี้ ขอกลิ่นพึงเป็นดังนี้ในกาลอนาคต...

บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอชิวหาของเราพึงเป็นดังนี้ ขอรสพึงเป็นดังนี้ในกาลอนาคต...

บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอกายของเราพึงเป็นดังนี้ ขอโผฏฐัพพะพึงเป็นดังนี้ในกาลอนาคต...

บุคคลตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอมโนของเราพึงเป็นดังนี้ ขอธรรมารมณ์พึงเป็นดังนี้ในกาลอนาคต เพราะความตั้งใจเป็นปัจจัย จึงเพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์เมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายอย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ

[๕๕๙] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง อย่างไร คือ

บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอจักษุของเราพึงเป็นดังนี้ขอรูปพึงเป็นดังนี้ ในกาลอนาคต เพราะความไม่ตั้งใจเป็นปัจจัย จึงไม่เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้นเมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอโสตของเราพึงเป็นดังนี้ ขอเสียงพึงเป็นดังนี้ในกาลอนาคต...

บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอฆานะของเราพึงเป็นดังนี้ ขอกลิ่นพึงเป็นดังนี้ในกาลอนาคต...

บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่าขอชิวหาของเราพึงเป็นดังนี้ ขอรสพึงเป็นดังนี้ในกาลอนาคต...

บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอกายของเราพึงเป็นดังนี้ ขอโผฏฐัพพะพึงเป็นดังนี้ในกาลอนาคต ...

บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้ว่า ขอมโนของเราพึงเป็นดังนี้ ขอธรรมารมณ์พึงเป็นดังนี้ในกาลอนาคต เพราะความไม่ตั้งใจเป็นปัจจัย จึงไม่เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้นเมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ฯ

[๕๖๐] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ

มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปทั้ง ๒ อย่างที่เป็นปัจจุบันด้วยกันนั้นแลเพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินจักษุและรูปนั้นเมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน

มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียง...

มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่น...

มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรส...

มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะ...

มีความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ทั้ง ๒ อย่างที่เป็นปัจจุบันด้วยกันแลเพราะความรู้สึกเนื่องด้วยฉันทราคะ จึงเพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้นเมื่อเพลิดเพลิน จึงชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายอย่างนี้แลชื่อว่า ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ

[๕๖๑] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรม

ปัจจุบันอย่างไรคือ

มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในจักษุและรูปทั้ง ๒ อย่างที่เป็นปัจจุบันด้วยกันนั้นแลเพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้นเมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน

มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในโสตและเสียง ...

มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในฆานะและกลิ่น...

มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในชิวหาและรส...

มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในกายและโผฏฐัพพะ...

มีความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะในมโนและธรรมารมณ์ ทั้ง ๒ อย่างที่เป็นปัจจุบันด้วยกันนั้นแลเพราะความรู้สึกไม่เนื่องด้วยฉันทราคะ จึงไม่เพลิดเพลินมโนและธรรมารมณ์นั้นเมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ

[๕๖๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคล...นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้ 

มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังพระวิหารนี้แล ข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้ ก็แหละท่านทั้งหลายหวังอยู่พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลสอบถามเนื้อความนั้นเถิด พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายอย่างใดพวกท่านพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้น ฯ

[๕๖๓] ครั้งนั้นแลภิกษุเหล่านั้นยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระมหากัจจานะแล้วลุกจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกข้าพระองค์ว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคล...นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ดังนี้

มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังพระวิหารพอพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พวกข้าพระองค์นั้น ได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่าดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่พวกเราว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้วสิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึงก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญดังนี้แล

มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร ก็ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังพระวิหารใครหนอแลจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่าท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาและพวกภิกษุร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนยกย่องสรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจานะนี้พอจะจำแนกเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ถ้ากระไรพวกเราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนี้กะท่านพระมหากัจจานะเถิดต่อนั้นแล พวกข้าพระองค์จึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่แล้วสอบถามเนื้อความนั้นกะท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญท่านพระมหากัจจานะจำแนกเนื้อความแก่พวกข้าพระองค์นั้นแล้วโดยอาการดังนี้ โดยบทดังนี้โดยพยัญชนะดังนี้ ฯ

[๕๖๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย มหากัจจานะเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก แม้หากพวกเธอสอบถามเนื้อความนั้นกะเรา เราก็จะพยากรณ์เนื้อความนั้นอย่างเดียวกับที่มหากัจจานะพยากรณ์แล้วเหมือนกันก็แหละ เนื้อความของอุเทศนั้นเป็นดังนี้แลพวกเธอจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้นเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแลฯ

จบมหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร ที่ ๓

-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๗๒๒๓ - ๗๔๙๓. หน้าที่ ๓๐๖ - ๓๑๖.

//84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=14&A=7223&Z=7493&pagebreak=0

             อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ:-

//84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=14&siri=33

             ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่:-

//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=548

             ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :-

[548-564] //84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=14&item=548&items=17

[548-564] //84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali.php?B=14&A=548&Z=564

             สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่๑๔

//84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๑๔

//84000.org/tipitaka/read/?index_14

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง.

หากพบข้อผิดพลาดกรุณาแจ้งได้ที่ DhammaPerfect@yahoo.com




Create Date : 01 กันยายน 2560
Last Update : 4 กันยายน 2560 12:09:53 น.
Counter : 648 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฆราวาสมุนี
Location :
นครปฐม  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments
กันยายน 2560

 
 
 
 
 
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
All Blog