ศีล ๕ สำหรับคนรักร่วมเพศที่คนทั่วไปก็ควรศึกษา




กลุ่มคนที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ ในสังคมยุคปัจจุบันที่รู้จักกันในนามว่า“ยุคหลังนวยุค (Post – Modern Society)” เริ่มมีการยอมรับกันมากและกว้างขวางขึ้น ในขณะที่บางสังคมก็คัดค้านอย่างจริงจัง คำสอนทางศาสนาส่วนมากก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เช่นในพระไตรปิฎกได้บัญญัติศัพท์สำหรับรสนิยมนี้และในแนวนี้ว่า “อธรรมราคะ”หมายความว่า กามารมณ์ของผู้ที่ยังมีครอบครัวอยู่ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้แต่ราคะของคนรักร่วมเพศและการตกเป็นทาสของธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ชอบ ตามพุทธนิยม โดยเฉพาะสภาพสังคมแบบนี้จะอุบัติขึ้นในสมัยที่ศาสนาของพระศากยมุนีเริ่มเสื่อมจนกว่าศาสนาของพระองค์จะค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด และเมื่อมีอุบัติการณ์ของศาสนาของพระศรีอารย์ รสนิยมทางเพศนี้ก็จะหายไปจนสิ้นกัปป์นี้

อันที่จริงตามทัศนะหนึ่ง เรื่องแบบนี้น่าจะมีทางเยียวยาให้ดีขึ้นได้ จากผิดมากเป็นผิดน้อย หรือแม้กระทั่งจากผิดน้อยเป็นไม่ผิดเลย นั่นคือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า

“สุขา วิราคตา โลเก กามานํสม ติกฺกโม”

แปลเป็นใจความว่าการสำรวมในความใคร่ คือ การถ่ายถอนราคะออกเสียได้ คือ การสำรวมในกาม เป็นความสุขในโลกอีกอย่างหนึ่งหลักธรรมที่เรียกว่า “ธรรมานุธรรมปฏิบัติ” แปลว่าการปฏิบัติธรรมเล็กน้อย ให้คล้อยตามสอดคล้องกับธรรมที่เป็นหลักการใหญ่น่าจะเป็นทางออกอย่างกลาง ๆ สำหรับเรื่องนี้ ที่จะไม่ตึง หรือไม่หย่อนจนเกินความสามารถ จนไม่อาจดำรงตนในธรรมอย่างปกติสุขตามสถานะของตนที่ดำเนินอยู่

คำว่า “ศีล” นี้ ทางหนึ่ง แปลว่า “ปกติ” เพราะในยามปกติยังไม่มีการละเมิดความใคร่ความโกรธ และ ความหลงผิดจากธรรม คนเราจะไม่ล้ำเส้นของศีลนี้ ออกไปเด็ดขาด เวลาเช่นนั้น สภาวะจิตใจมีสติสัมปชัญญะคุ้มครองอยู่จึงสามารถธำรงรักษาความปกติสุขของทุกฝ่ายในสังคมและของตนไว้ได้ แม้ในครอบครัวก็จะร่มเย็นเป็นสุขเมื่อมีสมาชิกใส่ใจรักษาศีลอย่างน้อย ก็ศีล ๕

ศีลทั้ง ๕ เมื่อกล่าวโดยรวบรัดที่สุด ได้แก่เจตนาไม่ล่วงเกินกันและกันในชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งที่ผู้นั้นหวงแหนเป็นเจ้าของอยู่ ใน ๕ ด้าน คือ ชีวิต ๑ ทรัพย์สมบัติข้าวของที่เป็นวัตถุทั้งที่จับต้องมองเห็นได้และไม่ได้๑ คนที่เขารักและรักเขา อันได้แก่ บุตร ธิดา และคู่ครอง ๑ ข่าวสารสาระข้อมูลต่าง ๆที่เป็นคำพูดและที่อยู่ในรูปสื่ออื่น ๆ ๑ และเสพสุรายาดองของมึนเมาทั้งหลายที่ทำร้ายสติสัมปชัญญะของผู้เสพ ๑

ที่สำคัญ อย่าเข้าใจผิดและท้อแท้ว่ารักษาศีลยากและเกินกำลัง ในทางธรรมมีหลักเฉพาะสำหรับการรักษาศีล ที่เรียกว่า“อธิสีลสิกขา” อธิ – ค่อยเป็นค่อยไปทีละเล็กละน้อย ครบบ้างไม่ครบบ้าง แม้จะกระทอนกระแท่นขาดทะลุไปก็ดี ก็ขอให้ใส่ใจตั้งใจสนใจไว้ให้มั่นคงจนสามารถรักษาได้ครบถ้วน ทั้งนี้ก็ด้วยสิกขา – การฝึกการหัดศึกษาอย่างต่อเนื่องเรื่อยไปไม่หยุด เพราะได้เห็นแล้วว่า ณที่ปลายทางมีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า และคุ้มค่า คือ มรรค ผล นิพพาน คอยอยู่ข้างหน้า

สุดท้ายศีลที่สมาทานต้อง เป็น “สัมมา” ในที่อย่างน้อย ๒ สถาน คือ ๑ รักษาด้วยความไม่ประมาทไม่เบียดเบียนใครทั้งตนเองและผู้อื่นให้เป็นทุกข์เดือดร้อนกายใจ หรือ เครียด และ ๒รักษาแล้วนำมาซึ่ง “สัมมาสมาธิ” อันเป็นบาทฐานที่ยืนของ “สัมมาญาณะ” และ“สัมมาวิมุติ” ตามลำดับสืบต่อไป

หลักธรรมสำคัญอีกประการที่เกี่ยวข้องโดยตรง กับศีลข้อนี้ จะละไว้ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คือ“สทารสันโดษ” ความยินดีพอใจซื่อสัตย์ ไม่คิดนอกใจคู่ครองของตน และไม่มักมากในกาม ไม่ทำให้คนที่ตนรักและคนที่รักตนเสียใจ

ในภาคปฏิบัติ ให้เริ่มต้นที่การมีสติสัมปชัญญะกำหนดกายสุจริต และต่อจากนั้นวจีสุจริตและมโนสุจริตก็จะตามมา โดยเลื่อนไปตามลำดับเมื่อสุจริต ๓ บริบูรณ์ดีแล้ว อธิสีลสิกขาก็เป็นอันสมบูรณ์ตาม โดยนัยนี้ สุจริต ๓หมายถึง การทำความเพียรมีสติมีสัมปชัญญะเพ่งกาย วาจา ใจ ให้อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดขึ้นมีขึ้นและส่งผลให้กุศลธรรมต่าง ๆ เจริญขึ้น อาทิ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และ ปัญญา ฯลฯ นำมาซึ่งความสงบขึ้นภายในใจอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ การปฏิบัติในเรื่องนี้อีกนัยหนึ่งคือกายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา เป็นลำดับไปตามนัยแรกโดยการรักษาศีลสังวรทั้ง ๒ แนวนี้ จะสังเกตได้ว่าเริ่มกำหนดหรือเพ่งหรือมีสติกำหนดที่กายก่อนอื่นทั้งสิ้น จนมีธรรมอันเอก คือความสงบ เกิดผุดขึ้น ฝึกจนชำนาญ

ดั่งที่เน้นมาบ้างในย่อหน้าที่แล้วมานั้น การฝึกอบรมในอธิสีลสิกขาที่ถูกต้องนั้น สามารถตรวจสอบได้โดยว่ามีความสงบในจิตใจเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ และความหลงผิดจากธรรมลดลงบ้างหรือไม่ หากเกิดผลเช่นนี้และสามารถประคับประครองไปได้นับว่า รักษาศีลได้ถูกต้อง ไม่ว่า จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘หรือ ที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และที่สำคัญไม่ทนงตนยกตนข่มผู้อื่น ว่า เรารักษาศีลได้ดี ยากที่ใครจะเทียมถึง จนเป็นการยึดติดความดี ซึ่งในที่นี้ก็คือศีล เรียกว่า “สีลพตปฺรามาส” แปลว่าการลูบคล่ำศีล และ วัตร นั่นเอง อันเป็นเครื่องร้อยลัดใจไว้ในความเวียนเกิด – ตายประการหนึ่ง

อานิสสงค์ศีลดังคำพระที่ท่านให้ไว้ต่อท้ายการให้ศีลว่า “ศีลให้ได้สุขสมบัติ ให้ได้โภคะสมบัติ และให้ได้นิพพานสมบัติ คือ ความดับทุกข์ดับโศกได้จริง”โดยปริยายอย่างสูง “สุข” ในที่นี้หมายถึง สุขอันกิดมาจากความสงัดจากกามสงัดในอกุศล“โภคะ” ได้แก่ ความร่ำรวยมิตรสหายด้วยไมตรีจิตในพรหมวิหาร ๔ “ความดับ” ได้แก่ความสงบเย็นอันเกิดจากความดับไฟกิเลส และ ความดับไฟแห่งสังขารทุกข์โดยสิ้นเชิง

ข้อสังเกตุเพิ่มเติมบ้างประการ:

  1. แท้จริงแล้วพฤติกรรมรักร่วมเพศมิใช่เรื่องใหม่ในวงการภิกษุสงฆ์แม้ในการบัญญัติสิกขาบทในภิกษุปาติโมกข์ โดยเฉพาะปฐมปราชิกที่ว่าด้วย การเสพเมถุน (การร่วมเพศของคนสองคนทั้งที่เป็นเพศเดียวกันหรือ ต่างเพศกัน)ก็มีกรณีหรือคดีความที่เป็นต้นบัญญัติของสิกขาบทนี้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าหลายสิบกรณีอยู่แล้ว

  2. ส่วนเรื่อง “อธรรมราคะ” ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น ก็แสดงรวมไว้กับอกุศลธรรมควรละและกุศลธรรมควรเจริญอีกหลายประการ ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายศาสนาของพระศาสดาองค์ปัจจุบันกับพระศาสดาองค์ใหม่และการบัญญัติศัพท์นี้ ก็บัญญัติไว้กว้างๆ ไม่เจาะจง และจากคาถาบาลีที่ยกมา พร้อมด้วยหลัก “ธรรมานุธรรมปฏิบัติ” และ“สทารสันโดย” ที่ยกมานั้น น่าจะเห็นได้กว้างๆ ว่าแม้กามารมณ์โดยทางหนึ่งเป็นบาปควรละ แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ยังผ่อนปลนบ้างตามความสามารถและภูมิธรรมว่าเป็นพระ หรือ เป็นคฤหัสถ์ เพียงแต่ว่าไม่ออกนอกกรอบของศีลและอริยมรรค ทางสายกลาง ไม่สบายเกินไปจนประมาท ทำให้ห่างจากพระสัทธรรม หรือ ตึงเกินไป จนตนเองและผู้ที่แวดล้อมอยู่เป็นทุกข์เดือดร้อน

  3. อีกประการหนึ่งการอุบัติของความเสื่อมทางศีลธรรม ในที่นี้คือ “อธรรมราคะ” แม้ว่าในพุทธพจน์ได้แสดงอย่างกว้างดังกล่าวแล้ว แต่พระสูตรที่อ้างถึงอกุศลประการนี้ แสดงไว้อย่างมีเงื่อนไขว่า จะแพร่หลายในเวลาที่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเริ่มเสื่อมอย่างวิกฤต จนพระศาสนานี้สาบสูญไปเมื่อกาลจะอุบัติมาใหม่ของพระศาสดาพระองค์ใหม่ซึ่งนับประมาณไม่ได้ว่า กี่หมื่น กี่แสนปีและอุศลธรรมทั้งชุดที่มาด้วยกันหายไปเมื่อพระพุทธศาสนาของพระตถาคตพระองค์ใหม่ เกิดขึ้นในโลกตอนท้ายกัปป์อย่างเต็มที่

  4. ดูเพิ่มเติม: ศีลพรตปรามาส(สังโยชน์๑๐), ศีลพรตุปปาทาน(อุปาทาน ๔), อริยกันตศีล(อริยทัพย์ ๔) และเคารพในสิกขา(คารวะธรรม ๖,๗)

  5. ศีล ๕ นี้เป็น “ปกติ” ทางกายวาจาใจอย่างหนึ่ง จะเรียกว่า เป็น “ปัญจะเวระวิรัติ”(การละเว้นซึ่งเวรทั้ง ห้า) ได้อีกอย่างหนึ่ง

บทสรุป: เมื่อกล่าวโดยย่อ ราคะไม่ว่าจะได้มาโดยชอบ หรือ ไม่ก็ตาม ก็เป็นอกุศลธรรม ควรละ (ปหาตพฺพธมฺโม) ทั้งสิ้น เมื่อละได้อย่างหมดจดสิ้นเชิงดีแล้ว ย่อมประสบสุขอันเที่ยงแท้หยั่งยืนไม่มีสุขอื่นจะยิ่งไปกว่า ดั่งนี้แล




Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2560
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2560 13:00:48 น.
Counter : 1178 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฆราวาสมุนี
Location :
นครปฐม  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments
กุมภาพันธ์ 2560

 
 
 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
27
28
 
 
All Blog