ตอนที่ ๒ จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
กรมรบพิเศษที่ ๕ ได้รับธงชัยเฉลิมพล (ในส่วนของกองพันรบพิเศษที่ ๑) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐
ธงชัยเฉลิมพลเป็นธงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะจอมทัพพระราชทานแก่กองทัพ
เพื่อเป็นเกียรติยศและเป็นขวัญกำลังใจแก่ทหารในกองทัพนั้น
เพราะธงชัยเฉลิมพลจะบรรจุเส้นพระเกศาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระสยามเทวาธิราชไว้ตรงยอด
เมื่อกองทัพออกศึกที่ใดจะทำพิธีเชิญธงชัยเฉลิมพลไปด้วยทุกครั้ง เสมือนหนึ่งองค์จอมทัพเสด็จไปด้วยทุกหนแห่ง

(๒) จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
(๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๔)

พุทธศักราช ๒๕๔๔ เป็นปีที่แปลกประหลาดมาก ด้วยว่ามีเหตุการณ์สำคัญ ๒ เรื่องเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน เรื่องแรกคือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ประมาณวันที่ ๑๔ ถึง ๑๘ สิงหาคม หลังจากที่พายุดีเปรสชั่นเข้าประเทศไทยแล้วสลายตัวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณจังหวัดลำปาง ทำให้ฝนตกหนักมากตั้งแต่วันที่ ๑๑ ถึง ๑๒ สิงหาคม ที่จำได้แม่นเพราะเป็นวันที่ นั่งฟังการถ่ายทอดพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถเนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาทางโทรทัศน์ (ตรงกับค่ำวันที่ ๑๑ ธันวาคม ของทุกปี) โชคดีที่น้ำท่วมเฉพาะรอบตัวบ้าน ระดับน้ำลึกประมาณหัวเข่า ถึงกระนั้น เล่นเอาชีวิตหดหู่ลงหลายขุม ต้องอยู่แต่บนบ้าน อ่านหนังสือ (อย่างที่บอก แฮร์รี่ พอตเตอร์ช่วยได้เยอะ) ฟังวิทยุ และดูโทรทัศน์ เรื่อยเปื่อย ชาวนิคมอุตสาหกรรมซึ่งพักหอพักแถวบ้านพากันย้ายไปอยู่ฝั่งสันป่าฝ้ายซึ่งไม่โดนน้ำท่วมเป็นการชั่วคราว น้ำท่วมผ่านไปได้สักสองวันก้อมีถุงยังชีพพระราชทานส่งตรงถึงประตูบ้านด้วย ระยะนั้นติดตามข่าวน้ำท่วมได้ยินว่า เชียงใหม่ก้อโดนหนักหลายจุดเหมือนกัน แต่ที่คาดไม่ถึง คือ มีเหตุการณ์ชาวบ้านย่านโรงเรียนจักรคำทะเลาะกับละแวกใกล้เคียง เนื่องจากต้องการสูบน้ำออก ชาวบ้านที่อยู่รายรอบไม่ยอมเพราะกลัวน้ำจะไปทำลายเทือกสวนไร่นาของตน เป็นข่าวใหญ่ตามสื่อต่าง ๆ เลยทีเดียว หมู่บ้านของผมแม้จะโดนน้ำท่วมเกือบหมด ยังดีที่ตลาดประจำหมู่บ้านไม่ได้โดนด้วย เลยซื้อหาของกินได้สะดวก มีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของมากมาย ไม่อัตคัดเท่าไร
ส่วนเหตุการณ์ที่สองนั้น คือ คุณแม่ของผมต้องเข้าโรงพยาบาลช่วงต้นเดือนตุลาคม และพักรักษาอาการอยู่ประมาณ ๑ สัปดาห์ ในฐานะลูกชายคนเดียวเลยต้องหอบหนังสือและหมอนไปนอนด้วย เผอิญกับข้าวโรงพยาบาลอร่อย คนเจริญอาหารเลยกลายเป็นคนเฝ้าไม่ใช่คนป่วย ตอนคุณแม่ออกจากโรงพยาบาลมาอยู่ที่บ้านก้อยังไม่หายดีเท่าไร ผมและครอบครัวต้องช่วยกันพยาบาลต่อจนอาการดีขึ้นตามลำดับ ช่วงเวลาที่ผมเฝ้าคุณแม่อยู่ที่โรงพยาบาลนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่ง ทำให้ได้ใกล้ชิดคุณแม่มากขึ้นอีกด้วย
ปกติวันลอยกระทง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน สิบสองนั้น มักจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ทว่าในปีนั้น วันลอยกระทงตรงกับวันที่ ๓๑ ตุลาคมพอดี ทำให้ผมได้สนุกสนานกับการประดับดวงประทีบรอบบ้านและแหงนดูท้องฟ้า คืนพระจันทร์เต็มดวง อันคลาคล่ำไปด้วนโคมไฟนับร้อยนับพันแทนดวงดาว นับเป็นการส่งท้ายชีวิตพลเรือน ก่อนจะเข้ารับราชการทหารในเช้าวันรุ่งขึ้นได้เป็นอย่างดี
ก่อนหน้านี้ประมาณ ๑ อาทิตย์ (ถ้าจำไม่ผิด ประมาณ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๔) ผมได้ไปรวมตัวกับเพื่อนใหม่ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผู้ชายทั้งหมด ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองลำพูน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมและรับฟังเรื่องการเตรียมพร้อมก่อนเข้าค่าย จัดโดยสัสดีอำเภอ ชายหนุ่ม (ทั้งนั้น) ประมาณ ๘๐ คนที่ผ่านการคัดเลือก แบ่งเป็นทหารอากาศอีก ๑๐ กว่าคน มารวมตัวกันเพื่อตรวจเอกสารขั้นสุดท้ายและทำทะเบียนประวัติ สัสดีชี้แจงถึงการปฏิบัติตัวในค่ายสำหรับช่วงการฝึก ๒ เดือนแรก ท่านได้กรุณาให้คำแนะนำอันเป็นประโยชน์หลายอย่าง เช่น ควรสวมใส่ชุดธรรมดาไปรายงานตัว เพราะชุดพลเรือนต้องถอดเก็บไว้ต้องใช้ชุดของทางการเท่านั้น ควรเตรียมกางเกงในไปด้วย ๒ - ๓ ตัว เอาไว้ไปเปลี่ยน เอกสารอื่นๆ ไม่ต้องเอาไปเพราะหน่วยมีพร้อมอยู่แล้ว กระเป๋าเงินไม่ต้องนำติดตัวไป (ให้ไปตัวเปล่าว่างั้นเถอะ) เป็นต้น ซึ่งผมก้อรับฟังด้วยความตั้งใจ บรรยากาศเป็นไปด้วยความสงบและอบอุ่น นอกจากนี้ผมยังได้พบความจริงที่ว่า ยังมีชายหนุ่มอีก ๒ คน เป็นบุคคลจบปริญญาตรีเช่นเดียวกันกับผมที่สมัครทหารพร้อมกันในปีนี้
ผมลงทุนซื้อสายรัดแว่นคาดศีรษะ ๑ เส้น พร้อมทั้งไปแวะร้านเจริญศิลป์ ถนนท่าแพ ร้านแว่นตาประจำตัวเพื่อดัดขาแว่นให้กระชับกับใบหูมากขึ้น เป็นการป้องกันไม่ให้แว่นตาหล่นแตกขณะฝึก ซื้อกางเกงใน ‘สีดำ’ ใหม่ ๓ ตัวเอาไปค่ายด้วย (ที่ต้องเป็นสีดำเพราะมัน’ทึบ’) ผมตัดสินใจที่จะสวมเสื้อยืดเก่า ๆ กางเกงเก่า ๆ และรองเท้าฟองน้ำธรรมดาในวันไปค่าย (เห็นไหมล่ะ ผมปฏิบัติตามคำแนะนำของสัสดีอย่างเคร่งครัด)
ในที่สุดเช้าวันที่รอคอยก้อมาถึง..
วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ๐๗๐๐ น. ผมตื่นนอนทำกิจวัตรประจำวันเสร็จแล้วก้อรองท้องเบา ๆ ด้วยไมโลเพียง หนึ่งแก้วกับขนมปังคู่หนึ่งเท่านั้น สวมเสื้อยืดสำล้วน กางเกงขาสั้นผ้ายืดตัวเก่า กับรองเท้าแตะแบบสวม (ไม่ใช่แบบ’เกือกคีบ’)คู่เก่าด้วยเช่นกัน ใบนัดหมายที่กองทัพบกแจกให้แจ้งว่า พลทหารใหม่ทุกคนต้องไปรวมตัวกันที่โรงยิมนีเซียมจังหวัดลำพูน (สถานที่เดียวกันกับวันเกณฑ์ทหารเมื่อ ๗ เดือนก่อน) พลทหารชุดนี้เป็นรุ่นผลัด ๒/๔๔ ส่วนรายละเอียดว่าใครจะได้ไปประจำที่ไหน จะแจ้งให้ทราบที่โรงยิมนั่นแหละ ผมพับใบนัดใส่ถุงกระดาษใบเล็กที่ในนั้นมีกางเกงใน ๓ ตัว บรรจุอยู่ก่อนที่จะเข้าไปร่ำลา คุณแม่ คุณน้า และคุณยาย ตามลำดับ ผมปลื้มใจเล็ก ๆ ที่แอบสังเกตเห็นหยดน้ำหล่อริ้นเต็มสองดวงตาของผู้เป็นแม่ น้ำตาแห่งความปิติยินดีที่ผมไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นบ่อยครั้ง (อีกครั้งหนึ่งที่จำได้ คือ ตอนที่ผมสอบเทียบได้ ผมออกไปเที่ยวเชียงใหม่แล้วกลับมาบ้านมีซองจดหมายผลการสอบรออยู่แล้ว คุณแม่กับคุณน้าไม่ยอมเปิด จะรอลุ้นพร้อมกัน พออ่านผลให้ฟังเท่านั้นแหละ ทั้งคู่กระโดดตัวลอยพร้อมทำน้ำตาซึม)
ผมไหว้พระและสวดมนต์ พร้อมทั้งกำชับครอบครัวเกี่ยวกับเอกสารฉบับหนึ่งที่เขียนทิ้งไว้ เอกสารฉบับนั้นบันทึกรายละเอียดตำแหน่งแห่งที่ของเอกสารส่วนตัวของผม เช่น บัตรประชาชน เอกสารทางราชการทหาร จดหมายข่าวงานรับพระราชทานปริญญาบัตร กุญแจตู้หนังสือและตู้พระ เป็นต้น ผมทิ้งเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนสนิททั้งแปดคนไว้เผื่อกรณีติดต่อยามฉุกเฉิน ซึ่งผมมั่นใจว่าพวกเขายินดีทำตามคำขอร้องและช่วยเหลือครอบครัวผมเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเขียนวิธีปฏิบัติสำหรับงานบ้านประจำสัปดาห์ที่ผมรับผิดชอบอยู่ ได้แก่ การทำความสะอาดหิ้งพระและตู้เครื่องสังคโลก การเปลี่ยนน้ำแจกันดอกไม้ การสะสมหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ที่สำคัญและออกจะดูหวานไปสักหน่อย คือ ผมเขียนวิธีจับตุ๊กตาที่อยู่บนเตียงนอน ของผมให้ตื่นและเข้านอนตามกำหนดเวลาปกติ (แต่ละตัวจะมีท่านอนและท่านั่งเฉพาะ)
เมื่อได้เวลา ผมจึงเดินทางมาที่โรงยิมนีเซียมกับคุณน้าเพียงสองคน ซึ่งดูแตกต่างจากพลทหารใหม่จำนวนมากที่ยังคงมีคาราวานญาติพี่น้องหลายลำรถตามมาส่งให้กำลังใจ แอบโล่งใจลึก ๆ เหลียวไปเหลียวมาไม่มีใครขนกลองยาวและฉิ่งฉาบมาตีโครมครามอีก หลังจากที่เชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาแล้ว ผมก้อนัดแนะกับคุณน้าให้ไปรอที่ด้านหลังโรงยิมเพื่อคอยฟังข่าวว่าจะได้ประจำการที่ไหนกันแน่ ผมไปนั่งรวมพลกับบรรดาชายหนุ่มซึ่งตอนนี้พวกเราทั้งหมดมีฐานะเป็นพลทหารใหม่ผลัด ๒/๔๔ แล้ว ขบวนพลทหารจากอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดลำพูนก้อทยอยเข้ามาสมทบเรื่อย ๆ ทำให้ภายในโรงยิมนีเซียมดูคับแคบไปถนัดตา ขณะที่ผมกวาดสายตาสังเกตโดยรอบนั้นเอง ผมก้อประจักษ์ขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า ประโยคที่ว่า.. คนเราทุกคนเกิดมาย่อมแตกต่างกันนั้นแท้จริงเป็นเช่นไร.. ผมได้เห็นชายหนุ่มบางคนหน้าตาดีท่าทางเรียบร้อยคล้ายคงแก่เรียน บางคนโกรกผมแดงดูแสบตาตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าประตูโรงยิม บางคนหน้าตาเหลือร้ายพูดจาเสียงดังกระโชกโฮกฮากชนิดที่ว่าคนอยู่ไกลได้ยินยังสะดุ้ง และบางคนสักยันต์เต็มตัวเดินส่ายอาด ๆ เข้ามาประมาณว่า ข้าไม่กลัวใคร เอ็งต่างหากที่ต้องหลบไป.. ทว่าทุกคนที่เกิดมาเหล่านี้มีหน้าที่ อย่างเดียวกัน หน้าที่นั้น คือ การรับผิดชอบสังคมร่วมกันเพราะเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สังคมจะดีงานหรือเลวร้ายขึ้นอยู่กับเราทั้งสิ้น และตอนนี้พวกเราทุกคนก้อมีสังคมใหม่ให้รับผิดชอบแล้ว นั่นคือ สังคมทหารที่พวกเรากำลังจะไปดำเนินชีวิตสู่หนทางข้างหน้าต่อไป
พวกเรานั่งรอได้สักพัก เจ้าหน้าที่สัสดีของแต่ละอำเภอก้อเดินมาข้างหน้ากลุ่มทหารของตนเองเพื่อประกาศว่าใครจะได้ไปอยู่ที่ไหน เจ้าหน้าที่ประกาศเรียงตามรหัสประจำตัวพลทหารซึ่งรหัสประจำตัวของผมคือ ๑๔๔๕๒๐๐๒๓๖ (รหัสประจำตัว พลทหารจะเป็นเลข ๑๐ หลัก หลักแรกบอกประเภทกองทัพ เลข ๑ หมายถึงกองทัพบก ถัดมา ๒ หลักติดกันหมายถึงปีที่เข้าประจำการ ของผมในที่นี้คือ ๔๔ ถัดมาอีก ๒ หลัก เป็นรหัสจังหวัดภูมิลำเนาทหาร ๕๒ หมายถึงลำพูน และ ๕ หลักสุดท้ายคือลำดับประจำตัวที่ขึ้นทะเบียนทหารในปีนั้น ของผมในที่นี้ ขึ้นทะเบียนลำดับที่ ๒๓๖) สถานที่ที่ผมจะไปประจำการคือ รพศ.๕ พัน.๒
ผมทวนคำว่า รพศ.๕ พัน.๒ อยู่ในใจ ตอนแรกไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าได้ยินถูกต้องหรือเปล่า แถมไม่เข้าใจเลยว่า รพศ.๕ พัน.๒ ย่อมาจากอะไร แต่ไม่ต้องยกมือถามให้เมื่อยตุ้ม เจ้าหน้าที่กรุณาอธิบายว่า คำว่า รพศ. ๕ ย่อมาจากกรมรบพิเศษที่ ๕ ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่เก่งการรบแบบพิเศษ เช่น โดดร่ม จู่โจม และซุ่มยิง เป็นต้น กรมรบพิเศษที่ ๕ มีสองกองพัน คือ กองพัน ที่ ๑ และ ๒ ตอนฝึกทหารใหม่จะฝึกรวมกันที่เดียวแล้วค่อยแยกไปทำงานประจำแต่ละกองพันที่หลัง เจ้าหน้าที่ยังถือโอกาส ขยายความให้ดูโหดขึ้นอีกหน่อยว่า รบพิเศษเป็นพลร่มหมวกแดง ฝึกหนักมากจนมีคนฝึกไม่ผ่านค่อนข้างเยอะ (ประโยคหลังไม่อยากเชื่อเท่าไหร่) ค่ายรบพิเศษตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่ - ฝางอยู่ติดกองพันสัตว์ต่าง ผมค่อยนึกภาพออกว่าผมจะได้ไปประจำการที่ไหน ผมรู้จักกองพันสัตว์ต่างว่าตั้งอยู่บริเวณทางไปอำเภอแม่ริม จึงคะเนได้ว่า ค่ายของผมคงอยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอแม่ริมมากนักผมรีบนำข่าวไปแจ้งคุณน้าทันที หลังจากประมาณ ๑๐๐๐ น. ผมก้อขึ้นรถโดยสารเคลื่อนขบวนออกจากโรงยิมนีเซียมจังหวัดลำพูนไปยังสนามม้าหนองฮ่อจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งใช้เป็นสถานที่รวมพลทหารใหม่เพื่อส่งต่อไปยังค่ายต่างๆ ต่อไป
สำหรับผมแล้ว ถึงเวลาที่คงต้องอำลาคุณน้าจริง ๆ จนกว่าจะพบกันใหม่อีก ๒ - ๓ อาทิตย์ข้างหน้าที่ทางค่ายจะเปิดให้เยี่ยมพลทหารใหม่ได้ เช่นเดียวกับใครอีกหลายคนที่ต้องออกเดินทางจากจุดนี้เพียงลำพัง แต่สำหรับใครอีกหลายคน ญาติพี่น้องยังอุตส่าห์ขับรถตามไปส่งชนิดที่ว่าให้ถึงเตียงบนโรงนอนในค่ายเลยทีเดียว บรรยากาศเลยดูอึมครึมหม่นหมองไปทั่ว
ผมเดินทางมาถึงสนามม้าหนองฮ่อเวลาประมาณ ๑๑๓๐ น. เพียงแค่เท้าสัมผัสกับพื้นดินตรงนั้น ใจผมหวิวขึ้นมาทันที คงเป็นเพราะอารามตื่นเต้นหรือกลัวอะไรบางอย่าง ไม่แน่ใจตัวเองเหมือนกัน.. พลทหารใหม่ลงจากรถเข้าแถวเรียงหนึ่งเข้าไปยังเต็นท์ตรวจรายชื่อซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังตึกสองชั้น ผมพยายามเดินให้แมนที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เพื่อนที่สนิทกัน มักจะบอกว่า ถ้ามึงจะแก๊กแมนอะน่ะ ยืนเฉย ๆ ไม่ต้องพูดจะดูแมนที่สุด เมื่อใดที่มึงเอ่ยปากกับออกเดิน มึงจะออกลายทันที) มีเจ้าหน้าที่ทหาร นั่งโต๊ะยาวทำงานกันอย่างวุ่นวาย ตรงหน้า คือ พลทหารใหม่กลุ่มใหญ่ที่กำลังนั่งรอการตรวจเอกสารอยู่ ผมมองไปที่มุมหนึ่งของเต็นท์ ก้อสะดุดตาเข้ากับทหารสวมชุดพราง ๒ คน สวมหมวกทรงอ่อนสีเลือดหมู ซึ่งยืนเยื้องกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารไปทาง ด้านหลัง กำลังจ้องผมอย่างเอาเป็นเอาตาย ผมหลบตาพลางนึกในใจว่าอีตาทหารสองคนนี้ คือ พลร่มหมวกแดงอย่างที่สัสดีเคยบอกไว้เป็นแน่ ว่าแต่.. ทำไมต้องจ้องตูขนาดนั้นด้วย (หรือว่าจะรู้ว่าฉันออก’แหวว’) ผมขานรับเมื่อโดนเรียกชื่อ (ครับ! เน้นหนักเข้มเข้าไว้ให้ดูมาดแมนสมจริง) กรรมของเวร! เมื่อเจ้าหน้าที่ถามหาบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง ผมบอกว่าไม่ได้พกมาด้วย (ก้อสัสดีบอกว่าไม่ต้องเอาก้อได้) เอกสารทุกอย่างเจ้าหน้าที่ที่นี่มีสำเนาหมดแล้ว สักพักเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจเอกสารชี้ให้ผมเดินตามพลร่มหมวกแดง ๒ คนนี้ไป
พลทหารกรมรบพิเศษที่ ๕ ที่คุยกับผมเป็นคนแรกในชีวิต คือ พลทหารสมคิดซึ่งเป็นหนึ่งใน ๒ คนนี้แหละ อีกคนเป็นใครจำไม่ได้แล้ว สารภาพว่าคิดไม่ออกจริง ๆ (หากเพื่อนพลทหารอ่านแล้วคิดออกว่าเป็นใครก้อติดต่อกลับมาหาผมด้วยนะครับ) ทั้งสองถือเป็นพลทหารรุ่นพี่หนึ่งปี คือ ผลัด ๒/๔๓ มีฐานะเป็นผู้ช่วยครูฝึกทหารใหม่ หน้าที่หลัก คือ บังคับและดูแลหมู่พลทหารใหม่ในหน่วยฝึกทหารใหม่ รวมถึงคอยชี้แนะการปฏิบัติตัวและการดำเนินชีวิตทหารที่ดีว่าควรทำอย่างไร
ขอให้เกียรติแนะนำพลทหารสมคิด หรือ ครูคิด ของพวกเราซะก่อน ครูคิดเป็นหนุ่มหน้าทะเล้น คิ้วเข้มตาโต มักทำตาหวานใส่ชาวบ้าน ที่จริงครูคิดจะประจำหมู่ที่สองในบรรดาหมู่พลทหารทั้งแปดของหน่วยฝึกทหารใหม่ปีนั้น เผอิญผมอยู่หมู่ที่หนึ่งพอดีเวลาฝึกบางครั้งเลยได้ฝึกร่วมกับหมู่ที่สอง แน่นอนว่าต้องเจอครูคิดด้วย เลยมีโอกาสได้เห็นลีลาขยักหน้าผากก่อนจะออกคำสั่งใด ๆ หรือบ่งบอกถึงความไม่เข้าใจ และอาการขี้บ่น เช่นเดียวกับครั้งแรกที่เราพบกัน ครูคิดบ่นเสียงดังว่า ‘หิวข้าว! เรามาช้าที่สุดเลย รู้ป่าว เนี่ย! รออยู่คนเดียวเลย..’ คำบ่นนี้ช่างคล้องจองกับหุ่นอันท้วมของครูเสียจริง
ผู้ช่วยครูทั้งสองพาผมเดินเข้าใปในอาคารคล้ายโรงอาหารขนาดใหญ่ ที่บัดนี้คลาคล่ำไปด้วยพลทหารใหม่สวมเสื้อยืด คอกลมสีเขียวขี้ม้า ทางซ้ายมือซึ่งติดกำแพงมีโต๊ะเล็ก ๆ เรียงรายจนสุดสายตาแปะป้ายชื่อหน่วยทหารไว้ประจำแต่ละโต๊ะ ทั้งสองพาผมเดินแหวกฝูงชน (ท่ามกลางสายตานับร้อยคู่) มาจนถึงเกือบจะกึ่งกลางของอาคารและหยุดตรงโต๊ะเล็ก ๆ ตัวหนึ่งมีป้ายแปะว่า ‘รพศ. ๕ พัน. ๒‘ ทหารสองท่านที่นั่งรออยู่สวมหมวกแดงกำลังง่วนกับเอกสารตรงหน้า ผมต้องเปลี่ยนเสื้อโดยถอดเสื้อยืดที่ใส่มาจากบ้านออกแล้วสวมเสื้อยืดสีเขียวขี้ม้าที่แกะห่อใหม่ เพื่อให้กลมกลืนกับพลทหารใหม่คนอื่น ๆ ทหารหนึ่งในสองคนนั้น เริ่มต้นการสัมภาษณ์ด้วยประโยคธรรมดา ๆ เช่น ชื่ออะไร เกิดที่ไหน อยู่จังหวัดอะไร อายุเท่าไหร่แล้ว และจบอะไรมา.. ขณะที่ตอบคำถามเหล่านี้ ผมก้อตวัดสายตาแอบอ่านป้ายและยศจึงทราบว่าท่าทั้งสองคือ จ่าสิบเอกบัณฑิต หรือ จ่าดิด และสิบเอก สมส่วน หรือ หมู่ส่วน (ยศในขณะนั้น) ท่านทั้งสองถือเป็นนายสิบพลร่มที่ผมเจอเป็นครั้งแรกในชีวิตเช่นกัน
‘จบปริญญาตรีสาขาอะไร….แว่น ‘ จ่าดิดเรียกผมว่า’แว่น’
‘ฟู้ดไซน์ครับ’ จริงๆ ไม่ได้จบสาขานี้หรอกแต่ใกล้เคียง ที่ต้องบอกฟู้ดไซน์เพราะทุกคนดูจะคุ้นหู้และเข้าใจได้ง่ายกว่า ‘เทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์’
‘จบมอปลายที่ไหน’
‘ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่ครับ’
จ่าดิดพลิกดูสมุดบันทึกครู่หนึ่ง (เมื่อผมจบการฝึกและขึ้นทำงานประจำ บ.ก. ของ ร้อย.บก. รพศ.๕ พัน.๒ แล้ว ได้มีโอกาสอ่านสมุดบันทึกฉบับนี้ พบว่า จ่าสิบเอกบัณฑิต ตำแหน่งจ่ากองร้อยในขณะนั้น บันทึกประวัติพลทหารใหม่ที่สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่รุ่นผลัดปี ๔๑ ค่อนข้างละเอียดเลยทีเดียว) จึงถามผมว่า ‘มีพลทหารใหม่ สังกัดเดียวกันนี่แหละ จบปรินส์มาเหมือนกัน ชื่อ พลทหารณัฐพล ศรีบุญเรือง รู้จักไหม?’
ผมอึ้งไปเล็กน้อย ไม่คิดว่าโลกจะกลมขนาดนี้..
ผมกับณัฐพล เป็นเพื่อนสมัยเรียนมอต้นที่โรงเรียนปรินส์ ฯ เคยอยู่ร่วมห้องเรียนด้วยกันตอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จนกระทั่งแยกย้ายไปศึกษาต่อหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ผมเองติดโควต้าสำหรับศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ขออวดสักนิดนึง ผมติดโควตาเป็นลำดับที่ ๒๑ จากจำนวนร้อยกว่าคน แต่ในกลุ่มเพื่อนสนิท ทวิช ติดอันดับสูงกว่าผมเล็กน้อย และที่สำคัญ ผมเคยได้ผลการเรียน ๔.๐๐ ตอนอยู่เทอม ๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ด้วย เป็นช่วงดาวรุ่งจริง ๆ) ถึงแม้ไม่ได้เจอกันนานมาก ผมก้อสามารถจำชื่อและค่าหน้าค่าตาได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นเมื่อจ่าดิดถาม ผมจึงผวาเล็กน้อยเมื่อคิดถึงภาพที่ณัฐพลตะโกนทักผมต่อหน้าทหารในค่ายทั้งหลายว่า ‘นายเป็นกระเทยนี่! มาเป็นทหารได้ไงฟะ’
ทว่าเหตุการณ์นั้นเป็นแค่ห้วงคำนึง เพราะผมยังต้องรอรถโดยสารมารับไปยังค่ายกรมรบพิเศษที่ ๕ ผมทำความรู้จักกับเพื่อนพลทหารใหม่สามนาย คือ พลทหารอภิวัฒน์ พลทหารทวีศิลป์ และพลทหารวิทยา โดยเฉพาะรายหลังนี้สักขอบตามาเชียว พวกเราคุยอะไรกันไม่ได้มากนักเพียงแต่รับทราบเลา ๆ ว่า พวกเราสังกัด รพศ.๕ พัน.๒ เหมือนกัน ดังนั้นคงต้องได้ร่วมหัวจมท้ายต่อไปในอนาคต ทักทายกันพอเป็นพิธีก้อนั่งเงียบเพราะหิวข้าวและเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางเต็มที่ ยังดีผู้ช่วยครูคนหนึ่งเมตตา แก่น้อง ๆ ผู้หิวโหยซื้อน้ำอัดลมเลี้ยงถุงหนึ่ง ในที่สุดครูคิดก้อมาเรียกพวกเราไปขึ้นรถ ซึ่งทีแรกคิดว่าเป็น ‘ยีเอ็มซี’ แต่ไหง กลายเป็นรถบรรทุก ๖ ล้อสีฟ้าคันใหญ่ มีคนนั่งรออยู่บนกระบะหลังแล้วจำนวนหนึ่ง ผมปีนขึ้นอย่างอุ้ยอ้ายเต็มทน (ก้อรองเท้าแตะกับน้ำหนักเจ็ดสิบกว่ากิโลนี่นา) พลทหารใหม่ราว ๒๐ คน หน้าตาพร้อมรบ (ม้าก…มาก - ประชดอะน่ะ) บางคนยังไม่ตัดผมเลย ที่นั่งตรงข้ามกัน หน้าขาว ๆ มารู้ทีหลังว่า ชื่อ พลทหารเอกพงษ์ รินปัน ถัดไป เป็นพลทหารฤทธิรงค์ เสือบาง หรือเสือบางของเพื่อน ๆ นอกนั้นนั่งคละกันไป ใครเป็นใคร ยังไงก้อเลือนรางเต็มที เหมือนกันอยู่อย่างเดียวคือ นั่งเงียบบนม้านั่งทั้ง ๒ ฟาก พวกผู้ช่วยครูนั่งปิดท้าย รถแล่นออกจากสนามม้าหนองฮ่อไปตามถนนสายเชียงใหม่ – ฝางอย่างช้า ๆ ผมเลือกที่นั่งค่อนมา ทางท้ายพอมองเห็นการสัญจรบนถนนได้หน่อย พลางอมยิ้มที่เห็นบรรดาขบวนรถญาติโกโหติกาทั้งหลายขับตามเป็นแถว พวกผู้ช่วยครูพยายามรื่นเริงพลทหารใหม่เต็มที่ ทั้งร้องเพลงของโลโซเอย เพลงลูกทุ่งเอย สารพัดจะบรรเลง แต่จิตใจของพวกเราไม่ได้ครองอยู่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายเลย มันเหมือนหลุดลอยหายไปกับสายลม มัวแต่คิดและคาดถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป
ผมมองทิวทัศน์รอบข้างซึ่งดูคุ้นตาเนื่องจากสมัยเรียน ผมมีโอกาสเดินทางตามถนนสายนี้บ่อย ๆ (เป็นทางไปบ้านวันชัย มอร์ และทุย) แต่ไม่ได้ไปไกลกว่ากองพันสัตว์ต่างหรอก ดังนั้นพอครูคิดตะโกนขึ้นมาว่า ‘ถัดจากกองพันสัตว์ต่างก้อจะถึง ค่ายรบพิเศษที่ ๕ แล้ว‘ พวกเราทุกคนก้อลุกขึ้นชะเง้อมองกัน ผมจำภาพนั้นได้ติดตา
เมื่อสิ้นสุดรั้วสีขาวโปร่งของกองพันสัตว์ต่างแล้ว จะปรากฏพื้นที่สนามกว้างขวางขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตา ปราศจากรั้วหรือสิ่งกีดขวางใด ๆ ยกเว้นต้นไม้ขนาดย่อมรอบสนามโดดร่ม มีคลองชลประทานกั้นเป็นแนวรั้วด้านหน้า ตรงกลางลึกเข้าไปเป็นป่าสักและกลุ่มอาคารกองบังคับการทาสีเหลืองนวลสว่างตา ลานรวมพลหน้ากองบังคับการมีธงชาติผืนใหญ่โบกสะบัดลิ่วตามแรงลมเหนือสิ่งปลูกสร้างทั้งมวล ตรงทางเข้าด้านหน้ามีสะพานทอดข้ามเชื่อมกับถนนรอบสนามโดดร่ม ด้านซ้ายมือเป็นที่ตั้งของอาคารกองรักษาการณ์ ส่วนทางขวามือเป็นที่ตั้งของหอโดดสูง ๓๐ ฟุต (ปัจจุบัน กรมรบพิเศษที่ ๕ ได้รื้อหอโดดร่มนี้แล้ว) ทำจากโครงเหล็กยึดด้วยลวดสลิง ป้ายก่อปูนทาสีขาวซ้ายขวามีตัวอักษรติดไว้ว่า ‘กรมรบพิเศษที่ ๕’ และ ‘จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา’ ตามลำดับ
รถจอดสนิทตรงบริเวณสะพานทางเข้า ทหารร่างสูงใหญ่คนหนึ่ง คะเนว่าเป็นนายสิบกระโดดลงจากที่นั่งข้างคนขับ เรียกพวกเราให้เขาแถวหน้าป้าย ‘จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา’ แกอธิบายสถานที่ต่าง ๆ โดยคร่าว และให้เราทุกคนสาบานก่อนจะเข้าไปในกรมรบพิเศษที่ ๕ ว่า ..จะทิ้งความชั่ว ยาเสพติด นิสัยอันพาล หยาบช้าต่าง ๆ ไว้ที่นอกค่ายนี้ ..จะนำแต่ความดีและการประพฤติดีติดตัวเข้าไปในค่ายเท่านั้น.. พวกเราทุกคนกล่าวตามอย่างแข็งขัน ก่อนจะขึ้นรถเข้าไปข้างใน
ทันที่ที่ผ่านกองรักษาการณ์ ผมเกิดความรู้สึกหลาย ๆ อย่างประดังเข้ามาทุกทิศทาง แต่ความรู้สึกหนึ่งที่รุนแรงมากเหลือเกิน คือ อาการโหยหาคิดถึงบ้านและครอบครัวของผม วินาทีหนึ่งผมบอกกับตัวเองว่า เราคิดดีแล้วหรือที่ตัดสินใจทำสิ่งนี้ขึ้นมา.. ทำไมเราถึงกล้าบ้าบิ่นได้ถึงขนาดนี้.. หากเมื่อมองออกไปโดยรอบบริเวณกรมรบพิเศษที่ ๕ ขณะที่รถพาผมแล่นผ่านถนนรอบสนามกลางแดดเปรี้ยงของวันนั้น กลับมีความรู้สึกตรงกันข้ามเกิดขึ้น ความรู้สึกที่ว่า..แท้จริงแล้วผมไม่จำเป็นต้องอาลัยอาวรณ์ถึงบ้านของผมอีก จากนี้ไป สถานที่แห่งนี้ก้อนับเป็นบ้านของผมอีกหลังหนึ่ง บ้านที่จะสอนการดำเนินชีวิตอีกรูปหนึ่งให้กับผม และบ้านหลังนี้จะไม่ทำให้ผมผิดหวังในสิ่งที่ผมตัดสินใจลงมือกระทำแล้วอย่างแน่นอน


P M
พิมพ์ครั้งแรก พ.ค. ๒๕๔๗
แก้ไขครั้งที่ ๒ ๑๗ เม.ย. ๒๕๔๘ ๒๒๓๔ น.
สงวนลิขสิทธิ์

หมายเหตุ การระบุเวลาในเรื่องใช้ระบบตัวเลขบอกเวลาของกองทัพบก กล่าวคือ นับเวลา ๒๔ ชั่วโมง และไม่มีเครื่องหมายจุดระหว่างชั่วโมงและนาที – ผู้เขียน



Create Date : 04 กันยายน 2551
Last Update : 4 กันยายน 2551 7:53:29 น.
Counter : 726 Pageviews.

1 comments
  

สุขสันต์วันเกิด ขอให้พบกับสิ่งดีๆ ในชีวิตนะค่ะ



โดย: brackleyvee วันที่: 22 ตุลาคม 2552 เวลา:1:39:25 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PeeEm
Location :
ลำพูน  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีครับ ผมชื่อ ภาคิน มณีกุล ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตวาซาบิรายใหญ่ของประเทศ งานอดิเรกของผม นอกจากส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา คือ ปั่นจักรยานและเล่นแบดมินตัน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์และชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปหรือพักผ่อนแล้ว ผมยังชอบเขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายอีกด้วยครับ

เพื่อน ๆ คนไหนเข้ามาอ่านก็สามารถติชมได้นะครับ ขอบคุณครับ
New Comments
กันยายน 2551

 
1
2
3
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30