ธรรมะในที่ทำงาน (๒)
ธรรมะในที่ทำงาน (๒)

ภ. ม. ภาคิโน

หัวหน้างานหรือผู้บริหารระดับกลางถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรหรือบริษัท เพราะเป็น ผู้วางแผนงานและจัดการระบบในสายงานของตน จึงต้องอาศัยผู้ที่มีความสามารถ มีภาวะผู้นำ เปรียบเสมือนแม่ทัพที่ได้รับคำสั่งจากจอมทัพ ให้นำทหารหลายกรมกองไปรบ ถ้าแม่ทัพขาดวิจารณญาณหรือไม่มีภาวะผู้นำ ก็ไม่สามารถตัดสินใจบัญชาการกองทัพว่าจะให้เข้าตีจุดไหนของข้าศึกด้วยกลยุทธ์ใด ถึงจะได้รับชัยชนะ ฉันใดก็ฉันนั้น หากองค์กรหรือบริษัทใดปราศจากหัวหน้างานหรือผู้บริหารระดับกลางที่ดีแล้ว ก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
องค์กรหรือบริษัทย่อมมีกฎเกณฑ์ในการรับหัวหน้างานเข้าทำงานหรือพิจารณาเลื่อนให้ตามคุณสมบัติเฉพาะที่เห็นว่าเหมาะสม ส่วนใหญ่ที่ติดประกาศรับสมัคร ลงหนังสือพิมพ์บ้าง ทาง Internet บ้าง ก็จะประกอบด้วยคุณสมบัติพื้นฐานไม่กี่ข้อ เช่น อายุเท่าไหร่ สำเร็จการศึกษาระดับใด สาขาไหน จากที่ใด มีทักษะภาษาอังกฤษ ใช้ระบบปฏิบัติงานบนคอมพิวเตอร์ได้ ผ่านการตรวจสุขภาพโดยมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน เป็นต้น บางแห่งอาจเสริมเข้าไปว่า ต้องกล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ มีความมั่นใจสูง สิ่งเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามเมื่อตอนสัมภาษณ์รับเข้าทำงาน หรือจะพูดให้เข้าใจตรง ๆ ก็คือ คนไหนถูกใจ ดูแล้วพอจะเข้าข่ายเงื่อนไขคุณสมบัติดังกล่าวได้ ก็ให้เข้ามาทำงานได้ ดังนั้น จะให้ผู้ที่ผ่านเข้ามาเป็นหัวหน้างานใหม่นั้นมีความสามารถครบถ้วนตามคุณสมบัติดังกล่าวนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากคณะกรรมการสัมภาษณ์ไม่มีโอกาสเห็นการทำงานของเขา พิจารณาเพียงแต่คำพูดและหลักฐานตรงหน้าเท่านั้น แม้ว่าเราจะมีช่วงเวลาทดลองงานนานประมาณ ๓ – ๔ เดือน ก็ไม่แน่ว่า จะทันเห็นเขาปรับตัวเขากับการทำงานและสภาวะแวดล้อมภายในบริษัทได้ไหม จุดสำคัญอยู่ที่ ตัวหัวหน้างาน เอง ต้องปรับตัวให้เข้าหาการทำงานและสภาวะแวดล้อมให้ได้อย่างรวดเร็ว การปรับตัวนี้อาศัยคติข้อเดียว นั่นคือ ความมั่นใจ ถ้าเรามีความมั่นใจ เราก็จะสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมันคงแน่วแน่และถูกต้อง ธรรมะสำหรับทำให้คนเป็นคนกล้าหาญและมีความมั่นใจนั้น เรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม ๕ ประการ ดังนี้
๑. สัทธ หรือศรัทธา หมายถึง ความเชื่อ ตรงกับภาษาอังกฤษที่ว่า Believe เชื่อสิ่งไร ? เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ไม่เชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ ธรรมะข้อนี้ สอนให้เรารู้จักพิจารณาในเหตุและผลก่อนจะตัดสินใจลงมือกระทำอย่างในอย่างหนึ่งต่อไป หรือกลั่นกรองปัจจัยต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนจะจัดการอะไร คนที่เชื่อในสิ่งที่ ไม่ควรเชื่อ เรียกได้หลายอย่าง ได้แก่ คนหูเบา คนมิจฉาทิฐิ คือไม่มีความเห็นชอบ คนขี้ขลาด คนโง่เขลา เบาปัญญา ก็ตามแต่จะเรียก บุคคลทั้งหลายนี้ล้วนยังผลให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น (ซึ่งในที่นี้ คือองค์กรหรือบริษัท) อันที่จริง ศรัทธา มี ๔ ประเภท หากจะขออ้างถึงศรัทธาเฉพาะประเภทสุดท้าย ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสำคัญสำหรับหัวหน้างาน นั่นคือ กัมมสกตาสัทธา หมายถึง การเชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน ทำสิ่งไรย่อมได้สิ่งนั้น ทำให้ผู้อื่นอย่างไร ก็ย่อมได้รับผลตอบแทนฉันนั้น การเชื่อว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง เป็นการลดอคติของเราลง ดำรงอยู่ในความยุติธรรมและใช้ความยุติธรรมต่อผู้อื่นด้วย ดังพระพุทธวจนะที่ว่า
นาทิฏฐา ปรโต โทสํ อณุถูลานิ สพฺพโส
อิสฺสโร ปณเย ทณฺฑํ สามํ อปฺปเวกขิยา
ผู้หลักผู้ใหญ่เพียงสงสัยว่าผู้อื่นทำผิด จะมากหรือน้อยก็ตาม
ถ้ายังไม่ได้สอบสวนให้แน่ชัด ก็ไม่ควรลงโทษ
๒. ศีล หมายถึง การละเว้นจากการกระทำผิดทั้งกายและวาจา หลายคนสงสัยว่า ต้องห้ามกระทำผิดทางใจด้วยหรือไม่ ถ้าพิจารณาถึงการทำงานในองค์กรหรือบริษัทที่มีการแข่งขันเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจสูงนั้น ย่อมละเว้นมโนทุจริตได้ยากบ้าง แต่ควรลดลงให้เบาบางที่สุด ผลของการละเว้นจากการกระทำผิดทั้งกายและวาจานั้น ส่งผลให้ผู้นั้นได้รับการยกย่อง สรรเสริญ ไม่มีใครติเตียนหรือประทุษร้ายได้ และผู้นั้นย่อมมีความมั่นใจในตนเอง มีความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีประกาศให้หยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน ๑๑.๓๐ - ๑๒.๓๐ น. เทพปกรณ์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการแผนกผลิตก็ปฏิบัติตามกฎระเบียบนั้นด้วยดีเรื่อยมา จนวันหนึ่งไปพบลูกน้องในแผนกของตนพักเกินเวลาที่กำหนด ๑๐ นาที จึงเรียกมาตักเตือนและอบรมถึงผลเสียของการไม่ตรงต่อเวลา ภายหลังลูกน้องคนนี้มีโทสจริต คิดให้ร้ายเขา จึงพยายามแอบดูพฤติกรรมการพักกลางวันของเทพปกรณ์ตลอดเวลา เพื่อสังเกตว่า หากเทพปกรณ์พักเกินเวลาแล้วจะไปฟ้องแผนกบุคคลทันที ปรากฏว่า ไม่สามารถเอาผิดได้ เหตุผลคือความเสมอต้นเสมอปลายของเทพปกรณ์ ดังความแจ้งอยู่ในต้นเรื่องที่กล่าวมา ฉะนั้นคำว่า ศีล ต้องควบคู่ไปกับความเสมอต้นเสมอปลายด้วย (ศีล แปลว่า ปกติ) หากไม่สามารถรักษาระดับไว้ได้ก็จะเกิดข้อบกพร่องขึ้น และจะนำไปสู่ทางเสื่อมในที่สุด
๓. พาหุสัจจะ ตรงกับคำว่า พหูสูต (ผู้สดับตรับฟังมาก) หมายถึง เป็นผู้ศึกษามาก ในสาขาวิชาที่ตนจบมาก็ดี หรือในสาขาอื่นที่ตนสนใจก็ดี จะช่วยให้การทำงานมีความราบรื่นเพราะพื้นฐานทั้งหมดมีอยู่ในสมองอยู่แล้ว การจะเป็นพหูสูตได้นั้น ต้องรู้แจ้งจริง ๆ ไม่ใช่มีความรู้อย่างฉาบฉวย คำว่า รู้แจ้ง เข้าทำนองที่ว่า รู้จนสามารถสั่งสอนหรือถ่ายทอดให้คนอื่นเข้าใจได้ เช่น หน่วยงานที่มีหน้าที่เป็นฝ่ายฝึกอบรมในบริษัท ต้องมีการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่เป็นการภายในเสียก่อน เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงจะสามารถถ่ายทอดให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ การพัฒนาความรู้ความสามารถสำหรับบุคลากรในบริษัท ถือเป็นการนำไปสู่การเป็นพหูสูตได้ โดยอาศัยเทคนิคการพัฒนาหลายประเภท ได้แก่ การอบรมภายใน (In – house training) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Seminar training) การเรียนหลักสูตร (Course training) การระดมความคิด (Brain storming) การทัศนศึกษาหรือดูงาน และการทำกิจกรรมสัมพันธ์ (Relative Activity) เป็นต้น บางบริษัทเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของบุคลากร จึงอนุมัติให้จัดทำแผนการอบรมประจำปี ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งตัวบุคลากรและบริษัท
๔. วิริยารัมภะ หมายถึง ปรารภความเพียร กล่าวคือ มีความพยายามที่จะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ตามหลัก ceo strategic plan นั้น มักมีเป้าหมาย (Goal) ในแต่ละกลยุทธ์ พร้อมทั้งมีดัชนี ชี้วัดความสำเร็จ (KPI) เพื่อสามารถวัดได้ว่า ขณะที่เราพยายามทำตามกลยุทธ์การบริหารนั้นในระยะเวลาที่กำหนดนั้น เรากำลังเดินทางไปสู่เป้าหมายแล้วมากน้อยเพียงใด เช่น เป้าหมายของแผนกโรงงานอาหารแช่แข็ง กำหนดให้เด็ดขั้วพริกชี้ฟ้าแดงที่ ๑๐ กิโลกรัม ต่อคน ต่อชั่วโมง เครือวัลย์เป็นหัวหน้างานในแผนกนั้นต้องคุมลูกน้องให้ทำงานได้เป้าหมายที่กำหนด จึงต้องอดทนและพยายามเร่งงานจนแล้วเสร็จทันกำหนดด้วยความเรียบร้อย เมื่อเสร็จแล้วก็รู้สึกดีใจ จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ธรรมะที่ประกอบเป็น วิริยารัมภะ นั้น มีหลายประการ ได้แก่ ความพยายาม ๑ ความอดทน ๑ ความขยัน ๑ จึงจะได้ผลสุดท้ายคือ ความปีติในผลสำเร็จนั้น เมื่อขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะไม่เกิด วิริยารัมภะ ได้เลย สมมติว่าเครือวัลย์พยายามให้งานเด็ดขั้วพริกให้เสร็จทันกำหนด แต่ไม่มีความอดทนเลย ทำไปได้ครึ่งชั่วโมงก็รู้สึกเมื่อย จึงผ่อนแรงลง ทำให้งานไม่เสร็จตามเป้าหมาย ดังนั้น ถ้าสังเกตผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มักมีคุณธรรมทั้ง ๓ ข้อ คือ ความพยายาม ความอดทน และความขยัน ควบคู่กันไป
๕. ปัญญา หมายถึง รอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ต้องรู้และฉลาดในเรื่องที่ถูกที่ควรด้วย หัวหน้างานที่ดีต้องรู้จักหน้าที่และขอบข่ายงานของตน รู้จักศึกษานิสัยใจคอของลูกน้องทุกคนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางคน ในการทำงาน รู้จักศึกษาข้อมูลวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องจักรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสายงานผลิตของตนเพื่อประโยชน์ในการจัดแผนงานและติดตามผลได้ รวมถึงรู้จักวิธีอบรมและสอนลูกน้องในอยู่ในระเบียบวิธีปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ฯลฯ เปรียบหัวหน้างานเป็นดั่งแม่บ้านไปจ่ายตลาด ย่อมต้องอ่านตำราอาหารก่อนจึงจะเข้าใจว่า ต้องซื้ออะไรบ้าง มีวิธีการเลือกผักหรือเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค ฉันใดก็ฉันนั้น การอ่านตำราอาหารเปรียบเหมือนการรู้จักขอบข่ายงานของตน ต้องรู้จักชิ้นส่วน เครื่องมือต่าง ๆ วิธีการเลือกผักหรือเนื้อสัตว์เปรียบเหมือนการวางคนให้เข้ากับงาน อาหารจึงจะออกมารสอร่อย ถูกปากผู้บริโภคได้ บุคคลใดที่มีปัญญาย่อมช่วยให้สามารถตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำยิ่งนัก ด้วยเหตุว่าเป็นคนที่มีความรู้มากจึงเกิดความมั่นใจและกล้าตัดสินใจ หัวหน้างานที่ขาดปัญญาย่อมไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
สัทธ ศีล พาหุสัจจะ วิริยารัมภะ และปัญญา อันรวมเป็น เวสารัชชกรณธรรม ๕ นี้ คือ หลักธรรมอันผู้นำทั้งหลายพึงปฏิบัติและสังวรไว้ว่า หากปราศจาก เวสารัชชกรณธรรม ๕ นี้แล้วไซร้ การปกครองก็ดี การนำพาหมู่ชนมากมายก็ดี จะไร้หนทางซึ่งจะมุ่งไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้ อย่างไรก็ดี หลักธรรมสำคัญที่สุดของบุคลากรภายในองค์กรหรือบริษัท คือ ความสามัคคี อันเป็นธรรมะพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น ยังจำเป็นต่อสังคมการทำงานภายในองค์กรหรือบริษัทอีกด้วย เพราะถ้าชนที่แตกความสามัคคี แต่ได้ผู้นำที่ดี ก็จะพบกับความลำบากในการเดินทางไปสู่ความสำเร็จได้ ฉะนั้น หัวหน้างานหรือผู้นำในที่นี้ จึงควรส่งเสริมความสามัคคีของลูกน้อง สร้างแรงจูงใจในการทำงานร่วมกัน ข้าพเจ้าเชื่อว่า ผู้นำท่านใดที่มีจิตใฝ่ปฏิบัติตาม เวสารัชชกรณธรรม ๕ เป็นนิจแล้วนั้น การจะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความสามัคคีคงไม่ใช่เรื่องเกินกำลัง

วัดศรีบุญยืน
ธันวาคม ๒๕๔๘





Create Date : 03 กันยายน 2551
Last Update : 3 กันยายน 2551 19:28:07 น.
Counter : 582 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PeeEm
Location :
ลำพูน  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีครับ ผมชื่อ ภาคิน มณีกุล ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตวาซาบิรายใหญ่ของประเทศ งานอดิเรกของผม นอกจากส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา คือ ปั่นจักรยานและเล่นแบดมินตัน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์และชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปหรือพักผ่อนแล้ว ผมยังชอบเขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายอีกด้วยครับ

เพื่อน ๆ คนไหนเข้ามาอ่านก็สามารถติชมได้นะครับ ขอบคุณครับ
New Comments
กันยายน 2551

 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30