ธรรมะในที่ทำงาน (๑)
ธรรมะในที่ทำงาน (๑)

ภ. ม. ภาคิโน

เมื่อสัปดาห์ก่อน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสสนทนากับพระครูนิวิฐวิริยคุณสั้น ๆ เกี่ยวกับหน้าที่การงานและปัญหาเกี่ยวกับสายงานบริหารในบริษัท เมื่อเล่าจบแล้ว ท่านถามขึ้นว่า
“ท่านปลงหรือยัง ? .. อะไรปลงได้ก็ปลงไป”
ข้าพเจ้าได้ยินตอนแรกถึงกับสะดุ้ง เมื่อท่านปล่อยข้าพเจ้าอยู่ตามลำพัง จึงตั้งสติสำรวมจิต หยุดที่ตัวเองเพื่อปลงอย่างที่ท่านว่า การปลงหมายถึง วางทุกสิ่งทุกอย่างลง ถ้ามองเพียงว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องไม่แน่นอน เราเรียกว่า ปลงอนิจจัง คือ วางว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง
สิ่งนั้น คืออะไร
สิ่งนั้น คือ อำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ อันที่จริงโครงสร้างการบริหารจำเป็นสำหรับการทำงานภายในองค์กร ใครเป็นผู้รับผิดชอบจุดไหน มีหน้าที่อะไร ตำแหน่งนั้นเรียกชื่อว่าอย่างไร มีลูกน้องใต้บังคับบัญชากี่คน มีหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชากี่คน ฯลฯ มีเรื่องหรือปัญหาสารพัดพิษให้คิดแก้ไขกันอยู่ทุกวัน ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารภายในองค์กร ด้วยเหตุเพราะว่าเรายึดติดกับอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญมากจนเกินไป พระพุทธเจ้าทรงเรียกพฤติกรรมที่มนุษย์เรายินดียินร้ายต่อสิ่งเหล่านี้ว่า อุปาทาน แปลว่า ความยึดถือ หมายถึง การที่เราเกาะเกี่ยวหรือยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นจริงเป็นจัง ทำนองว่า นี่เป็นของเรา นั่นก็เป็นของเรา โน่นเป็นของเขา ส่วน สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กล่าวไว้นั้น ล้วนเป็น สิ่งสมมติ ขึ้นมาทั้งสิ้น สิ่งสมมติ แปลว่า สิ่งที่มนุษย์กำหนดกันขึ้นมาเอง หมายถึง มนุษย์เราตั้งชื่อให้กับสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้ ได้แก่ ต้นไม้ ใบหญ้า หญิง ชาย พระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นสิ่งสมมติทั้งหมด แม้แต่ตัวเราเองก็มาจากธาตุต่าง ๆ รวมกัน เราก็สมมติให้ตัวเราถูกเรียกว่า มนุษย์ ฉะนั้น การที่เรายึดติดกับสิ่งต่าง ๆ ถือเป็นการมีอุปาทานในสิ่งสมมติ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัด ดังนี้
สุรางค์นำจานข้าวใบหนึ่ง เป็นจานข้าวที่ใช้ใส่อาหารทานอยู่เป็นประจำไปใส่อาหารให้สุนัข เธอนั่งมองมันใช้จมูกดุนข้าว และเอาลิ้นเลียแผล็บ ๆ บนจานนั้น เมื่อมันจัดการเรียบร้อยแล้ว ก็นำจานใบนั้นมาล้างให้สะอาดเก็บไว้บนชั้นวาง วันต่อมา สุรางค์ซื้อข้าวราดกะเพราหมูกรอบไข่ดาวน่าอร่อย หยิบจานบนชั้นมาใส่ ขณะเทนั้น บังเอิญนึกขึ้นได้ว่า เป็นจานที่ได้ใส่อาหารให้สุนัขกินแล้ว (ภาพลิ้นเลียแผล็บ ๆ ยังติดตา) สุรางค์ทนไม่ได้ถึงกับโยนข้าวจานนั้นทิ้งทันที (ทั้งที่ล้างสะอาดแล้ว) และเปลี่ยนไปใช้จานใบใหม่แทน ส่วนจานใบนั้นก็ตกอันดับไปเป็นภาชนะสำหรับสุนัขแทน
คำถามจากเรื่องตัวอย่างนี้ มีอยู่ว่า จาน ตั้งแต่ต้นเรื่อง จนถึง จาน ในตอนท้ายเป็นจานใบเดียวกันหรือไม่ ? คำตอบคือ.. เป็นจานใบเดียวกัน คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมสุรางค์ถึงต้องเอาข้าวไปทิ้ง ?
คำตอบอยู่ตรงที่ว่า สุรางค์ มีอุปาทานในสิ่งสมมติมากเกินไปเกินไป อุปาทานของสุรางค์ในที่นี้ คือ ไปยึดติดว่า จานนั้นได้ใส่ข้าวให้สุนัขกินแล้ว ฉะนั้นสมมติในใจไปแล้วว่า ต้องเป็นของสุนัข จะเอาปะปนกับของใช้ของคนไม่ได้ ต้องแยกออกจากกัน ทั้งที่สุรางค์ก็ล้างจานจนสะอาดแล้วก็ยังใช้ใส่อาหารสำหรับที่เธอจะรับประทานไม่ได้ ต่อให้เอาน้ำร้อนลวกหรือน้ำยาทำความสะอาดชะล้างกี่รอบก็ตาม ไม่อาจเป็นจานใบเดิมได้ ตราบใดที่สุรางค์ยังไม่ยอมล้างอุปาทานในสิ่งสมมติดังกล่าวออกจากจิตใจของตน
บุคคลที่ทำงานภายในองค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ ยังเป็นปุถุชนธรรมดาอันเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา เกิดความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ที่สำคัญคือ แต่ละคนยังมีอุปาทานในสิ่งสมมติอยู่เป็นอันมาก อาทิเช่น งานตรงนี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของเรา ไม่ควรให้ใครมายุ่ง งานส่วนนั้นเป็นความรับผิดชอบของเขา.. ทำไมจึงโยนมาให้เรา ? เวลาสั่งงานต้องบอกผ่านตามลำดับขั้นไม่ใช่ข้ามหัวกันไปมา ? จริงอยู่ว่า ถ้าไม่ทำตามดังประโยคที่ยกตัวอย่างมานี้ ก็อาจจะทำให้งานนั้นไม่มีประสิทธิผล อุปาทานว่าใครรับผิดชอบอะไร เมื่อสมมติให้ทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำตามนั้น ? กลายเป็นการนำพาไปสู่ความพินาศของบริษัท ทางแก้ไขก็คือ ในฐานะที่ยังเป็นปุถุชนธรรมดาจึงควรพัฒนาจิตใจ โดยการลดอุปาทานในสิ่งสมมตินั้นลงบ้างจนเกิดความพอดี ดังนี้
ไม่มีอุปาทานในสิ่งสมมติมากจนเกินไป อย่ายึดติดกับตำแหน่ง ยศ กำไร คำชมเชย รางวัล ขอบข่ายงาน ลักษณะงาน (Job description) ฯลฯ มากจนเกินไป พึงระลึกอยู่เสมอว่า สิ่งเหล่านี้ได้มาต้องมีวันหมดไปเป็นของธรรมดา ให้ยินดียินร้ายแต่พอดี เช่น เมื่อเขาเปิดโอกาสให้สอบเลื่อนตำแหน่ง เรามีความมั่นใจสูงมากว่า เราต้องชนะ เมื่อประกาศผล ปรากฏว่า ผู้ชนะ ได้แก่ เพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่ง เราจึงรู้สึกเสียใจและน้อยใจที่บริษัทไม่เห็นความสำคัญของตน จึงฟูมฟาย ตีหน้าเศร้า ไม่ยอมทานอาหาร ใครพูดด้วยก็ตอบด้วยเสียงอันเครือ กล่าวคือ พยายามแสดงออกให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนเสียใจมากแค่ไหนที่พลาดตำแหน่งนั้น การปฏิบัติตัวแบบนี้ถือเป็นการมีอุปาทานในสิ่งสมมติมากจนเกินไป ควรจะแก้ไขด้วยการทำงานในตำแหน่งเดิมอย่างเต็มประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบดี พัฒนาตัวเองและสายงานให้มีความก้าวหน้า และเตรียมพร้อมที่จะสอบแข่งขันในโอกาสต่อไป ผู้ที่ปฏิบัติแบบนี้ได้ยังถือได้ว่า เป็นการตั้งตนให้อยู่ในความไม่ประมาท อีกด้วย ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ได้รับตำแหน่งใหม่ก็เลี้ยงฉลองเจ็ดวันเจ็ดคืนติดกัน ราวกับจัดงานเทศกาลโปรยทาน อย่างนี้ก็ไม่สมควร ผู้ที่ได้รับตำแหน่งใหม่ก็ควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเช่นกัน คือ ยินดีแต่พอดี วางแผนงานรับผิดชอบให้ครอบคลุมขอบข่ายงาน และปรับปรุงงานที่ไม่สำเร็จให้มีประสิทธิผล ตลอดจนเตรียมพร้อมที่จะเผชิญปัญหาในการทำงานและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที การปฏิบัติตนแบบนี้ ถึงจะเป็นการสมควรต่อความไว้วางใจของผู้บริหารที่ให้เรารับตำแหน่งใหม่
ไม่ปล่อยอุปาทานในสิ่งสมมติจนหย่อนเกินไป ได้แก่ ปล่อยงานทุกสิ่งทุกอย่างในความรับผิดชอบของตนลงหมด แล้วอ้างว่า นี่คือการไม่ยึดติด ความจริงแล้ว ผู้ที่คิดแบบนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานของตนเลย เพราะเข้าใจความหมายของการปล่อยวางผิดไป ในขณะที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่นั้น ควรสร้างความพอดีในการปล่อยวางอุปาทานในที่ทำงาน โดยการรักษาความรับผิดชอบในขอบข่ายงานของเราให้ดีอยู่เสมอ ทำงานแบบเต็มความสามารถ มีร้อยทำร้อย หรือมีร้อยทำร้อยยี่สิบยิ่งดีใหญ่ (ถ้างานสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อบริษัท) ไม่ก้าวก่ายหน้าที่การงานของผู้อื่น กล่าวอีกโดยนัยหนึ่งว่า ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เช่น ยุวเรศทำงานอยู่แผนกควบคุมคุณภาพ มีหน้าที่ตรวจสอบวัตถุดิบที่นำเข้าบริษัท ปรากฏว่า วันหนึ่ง แผนกผลิตทำการรับและตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบนำเข้าโดยไม่แจ้งให้ ยุวเรศ หรือลูกน้องในสายงานตรวจสอบคุณภาพทราบ ยุวเรศจึงทำเฉยเสียเพราะไม่อยากมีปัญหาขัดขวางกระบนการผลิตทั้งที่ตนมีอำนาจในการสั่งระงับวัตถุดิบชุดนั้น เมื่อผลิตภัณฑ์สำเร็จจากวัตถุดิบชุดนั้นเอง พบปัญหา มีตำหนิรุนแรงจนไม่สามารถส่งออกได้ ยุวเรศได้แจ้งแก่ผู้บริหารว่า ไม่ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบเนื่องจากแผนกผลิตทำกันเอง ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นควรให้ฝ่ายผลิตรับผิดชอบ การกระทำของ ยุวเรศ ถือเป็นการปล่อยวางอุปาทานจนหย่อนเกินไป กล่าวคือ ควรจัดการปัญหาในขอบข่ายงานรับผิดชอบของตนให้เรียบร้อย แม้ว่าจะเกิดปัญหาความซ้ำซ้อนหรือไปขัดขวางการทำงานของผู้ใด ควรใช้อำนาจที่บริษัทสมมติให้ ยุวเรศ นั้น จัดการระงับวัตถุดิบชุดนั้น จึงจะเป็นการกระทำที่เหมาะสมที่สุด การป้องกันปัญหานี้ อาจใช้วิธีประกาศหนังสือเวียนถึงความรับผิดชอบในขอบข่ายงานแผนกควบคุมคุณภาพ หรือจัดประชุมชี้แจงถึงสาเหตุในการระงับการผลิตและขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพที่ถูกต้อง
การมีอุปาทานในสิ่งสมมติแต่พอดีจำเป็นต่อการทำงานในองค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ เพราะถ้ายึดติดมากหรือปล่อยจนหย่อนเกินไป อาจส่งผลเสียหายต่อบริษัทได้ ฉะนั้น ทุกคนในฐานะบุคลากรขององค์กรหรือบริษัทควรศึกษาหน้าที่และลักษณะงานของตนให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้ปฏิบัติงานสมกับความรับผิดชอบนั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้เกิดผลดีทั้งต่อตนเองและความเจริญเติบโตของบริษัท

วัดศรีบุญยืน
ธันวาคม ๒๕๔๘







Create Date : 03 กันยายน 2551
Last Update : 3 กันยายน 2551 19:26:39 น.
Counter : 554 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PeeEm
Location :
ลำพูน  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีครับ ผมชื่อ ภาคิน มณีกุล ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตวาซาบิรายใหญ่ของประเทศ งานอดิเรกของผม นอกจากส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา คือ ปั่นจักรยานและเล่นแบดมินตัน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์และชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปหรือพักผ่อนแล้ว ผมยังชอบเขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายอีกด้วยครับ

เพื่อน ๆ คนไหนเข้ามาอ่านก็สามารถติชมได้นะครับ ขอบคุณครับ
New Comments
กันยายน 2551

 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30