มิตตันดร ตอนที่ ๓
มิตตันดร

ตอนที่ ๓


หนทางจากทางแยกก่อนเข้าเมืองเชียงตุง ตรงมายังไชยพระเกตุนี้ จะมีบางช่วงที่ทุลักทุเลและสมบุกสมบันยิ่งกว่าเส้นทางท่าขี้เหล็กถึงเมืองเชียงตุงเสียอีก เนื่องจากทางการพม่าปฏิเสธที่จะซ่อมแซมถนนซึ่งเป็นทางเข้าเดียวของไชยพระเกตุให้ โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณ ทางไชยพระเกตุเองก็กำลังอยู่ในระหว่างเจรจากับพม่า แต่ถ้าจะให้ทางไชยพระเกตุออกงบประมาณด้วยนั้น คงจะลำบากเช่นกัน เพราะนครรัฐแห่งนี้ปิดตัวมานาน การค้าขายภายหลังการเปิดการติดต่อก็ยังไม่ได้มีมูลค่าสูงมากนัก ชาวบ้านอยู่แบบพึ่งพาเกษตรกรรมและอาศัยตนเอง หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยเพิ่งลงข่าว กษัตริย์ผู้ครองนครรัฐแห่งนี้ปฏิเสธเงินกู้จากรัฐบาลประเทศอื่น ๆ และทางการไทยก็เสนอไมตรีด้วยการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือการซ่อมถนนครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งเรื่องก็กำลังรออยู่

หมู่บ้านนาฟาน คือหมู่บ้านของชาวเชียงตุงแห่งสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่เขตแดนไชยพระเกตุ ทั้งสามคนจอดรถแวะพักและเข้าห้องน้ำอีกครั้ง ขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายโมงกว่าแล้ว ถัดจากจุดจอดรถเป็นร้านค้าเล็ก ๆ เรียงติดกัน ขายจำพวกของกินของใช้ประจำวัน ลึกเข้าไปในซอยข้างร้านค้าหมู่นั้น มีวัดแห่งหนึ่งซึ่งมีซุ้มประตูอันวิจิตรงดงาม ฝีมือช่างชาวเชียงตุง บริเวณวัดร่มรื่น วิหารหลังน้อยยังมีผู้คนประปราย ธงทิวหลากสีปลิวไสวประดับประดา

“เขาทำบุญเสร็จตั้งแต่เช้าแล้ว พอพระฉันเพล ชาวบ้านกินข้าวเขาก็กลับกันแล้ว ไม่ทันแล้ว” คัมภีระ เล่าเสียงอ่อน เพราะงานบุญที่เจ้าตัวเจอเมื่อวาน และตั้งใจโฆษณาให้ชินนุตฟังเมื่อเช้า กลับเลิกราไปเสียนี่

“ไม่เป็นไร ไหน ๆ ก็แวะแล้ว ขอเข้าไปหน่อยก็แล้วกัน”

ชินนุต สะพายกล้องคอมแพคตัวเล็กซึ่งเป็นกล้องตัวโปรดที่หิ้วไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ตามที่ต่าง ๆ พร้อมสมุดจดบันทึกอีกเล่ม คัมภีระ ขอเตร่รออยู่ภายนอกวัด เณรน้อยสองสามองค์กำลังตากถาดสังกะสีอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ตัวยาว เขายกกล้องขึ้นกดชัตเตอร์ เณรเหล่านั้นกลับหลบลี้วิ่งหัวเราะหนีหายเข้าไปในโรงครัว

ชายหนุ่มขึ้นไปบนวิหาร ชาวบ้านที่กำลังจับกลุ่มกันทำอะไรสักอย่าง หยุดพูดคุยแล้วหันมายิ้มแย้มแจ่มใสให้กับคนแปลกหน้า นิสัยอันน่ารักอย่างหนึ่งของคนเชียงตุงและไชยพระเกตุเหมือนกันตรงที่ความมีน้ำใจ และความเอื้อเฟื้อต่อผู้คน แม้ว่าจะเป็นคนต่างถิ่นก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากยิ่งในสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ที่บริโภควัตถุนิยมและเต็มไปด้วยการแข่งขันเร่งร้อน น้ำใจและความเอื้อเฟื้อเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชาวเชียงตุงและไชยพระเกตุให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ แม้ในท่ามกลางความแตกต่าง เขาหวนนึกถึงบทพระราชนิพนธ์เวณิสวาณิช ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ท่องได้อย่างขึ้นใจว่า...

อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน...


ชินนุต เดินลงจากวิหารเพื่อมุ่งตรงไปทางประตูหน้าสู่ถนนใหญ่ ทันใดนั้นเอง สายตาของเขาก็เหลือบไปเห็นอาคารเก่าชั้นเดียวที่ซุกตัวอยู่ด้านหลังศาลาและโรงเก็บของ ต้นพิกุลขึ้นเป็นพุ่มให้ความร่มรื่นแก่ทางเดินที่ทอดไป ความสวยงามของหลังคากระเบื้องดินเผาแบบโบราณและตัวตึกที่เก่าคร่ำคร่า ดึงดูดให้ชายหนุ่มเดินเข้าไปใกล้ ๆ ขณะที่กำลังยกกล้องถ่ายรูปขึ้น ประตูไม้บานเก่าแก่ก็เปิดออก พระสงฆ์รูปหนึ่งยืนสงบนิ่งอยู่ตรงประตูนั้น

ชายหนุ่มพนมมือขึ้นค้อมศีรษะลง พระสงฆ์รูปนั้นผิวคล้ำ ดวงหน้ากลมมน แววตาที่มองตรงมากำลังครุ่นคิดอะไรบางอย่าง ในที่สุดท่านก็กวักมือเรียกชายหนุ่มให้เข้าไปหา

“ครับผม” ชินนุตเดินเข้าไปทรุดตัวลงนั่งกับพื้นตรงขั้นบันไดขึ้นอาคารในระยะที่พอพูดกันได้ พระคุณเจ้าเคลื่อนกายเข้ามาใกล้ ประสานมือไว้ด้านหน้า ปราศจากความครุ่นคิดในแววตาแต่เต็มไปด้วยความอ่อนโยน

“โยมเป็นคนไทยหรือ?” สำเนียงนั้นเกือบชัดเท่าเจ้าของภาษา

“ใช่แล้วครับ”

“มาจากเชียงใหม่หรือ?” พระคุณเจ้าซักต่อ

“เปล่าครับ ผมมาจากกรุงเทพฯ ครับ”

“แล้วโยมจะไปไหนล่ะ?”

“ไชยพระเกตุครับ” เขาพนมมือระหว่างสนทนา

“โยมนับถือศาสนาพุทธหรือเปล่า?”

“ผมนับถือศาสนาพุทธครับ เคยบวชอยู่ครั้งหนึ่งครับ”

“ดี ๆ ๆ ...” พระคุณเจ้าเอ่ยชม “มาเที่ยวหรอกหรือ?”

“ทำงานครับ... ผมจะไปทำงานที่ไชยพระเกตุ” ชินนุตยังคงพนมมือ สายตาของผู้ทรงศีลอ่อนโยนเมตตา

“ไปทำงานรึ...” ท่านทวนคำ “ขอให้ทำงานโดยใช้ปัญญาไต่ตรอง เหมือนดังภาษิตที่ว่า ...ศีลเป็นสิ่งเลิศในโลกนี้ แต่ผู้มีปัญญานับเป็นผู้สูงสุด บุคคลย่อมชนะทั้งในมนุษย์และในเทพทั้งหลายเพราะศีลและปัญญา... งานของโยมก็จะสำเร็จลงด้วยดี”

“สาธุ!” ชายหนุ่มยกมือขึ้นพนมเหนือศีรษะ

แต่แล้ว... ทันใดนั้นเอง พระคุณเจ้ากลับพยักหน้าแล้วหลับตาลง ก่อนจะเปล่งวาจาออกมาโดยไม่ได้มองอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด

“ของใดที่เคยอยู่ที่ทางใดแต่เดิม จะหวนคืนสู่ทางนั้น”

ชายหนุ่มงุนงง “ท่านว่าอย่างไรนะครับ?”

“โยมได้ยินแล้วนี่ อาตมาหมายความอย่างที่พูดนั่นแหละ” พระคุณเจ้าซึ่งบัดนี้ลืมตาแล้ว ยิ้มให้

“ผมไม่เข้าใจ เออ... มันเป็นคำทำนายหรือครับ?”

พระคุณเจ้าเดินกลับเข้าไปในกุฏิแล้วปิดประตูตามหลัง ละทิ้งความพิศวงไว้ให้กับชายหนุ่ม ณ ที่ตรงนั้น!




ไกด์หนุ่มน้อยเอนตัวลงกับเบาะหลับไปนานแล้ว ส่วนคนขับรถก็เอาแต่มองหนทางข้างหน้าโดยไม่สนใจผู้โดยสารที่อยู่ด้านหลัง ชินนุต จึงมีเวลาทบทวนคำพูดของพระที่วัดบ้านนาฟานมาครุ่นคิดตลอดการเดินทาง ปกติ เขามักไม่เชื่อเรื่องคำทำนายหรือดวงชะตา กลับเชื่อมั่นในการกระทำของตนเองเสมอ แตกต่างจากผู้เป็นพ่อยิ่งนัก ซึ่งขัดกับหน้าที่การงานของท่านอย่างมาก ...พลโท สิงหราช วงศารุทธ์ นายทหารระดับสูงของกระทรวงกลาโหม

“ชื่อลูก... พ่อเขาตั้งให้เอง ไปค้นจากตำราอะไรสักอย่าง ตั้งไว้ตั้งแต่แม่ยังไม่คลอดเลยนะ” ผู้เป็นแม่ของเขา ม.ล.วราจรรยา แห่งราชสกุลใหญ่ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ ๕ พูดติดตลก “คุณหญิงยายของลูก บ่นใหญ่เลยว่าชื่อฟังประหลาด ๆ ห้วน ๆ ไม่ไพเราะ”

“คุณพ่อตั้งชื่อไว้ก่อนที่ผมจะเกิดเลยหรือครับ?” ชินนุต นึกฉงน “คุณพ่อไม่คิดเผื่อเลยหรือครับว่า... พอคลอดออกมาอาจเป็นลูกสาวได้”

“พ่อเขามีลางสังหรณ์... แม่ว่านะ” คนพูดหัวเราะ “อันที่จริง อาจเป็นเพราะ... เพราะแม่ก็รู้สึกได้ตอนตั้งท้องลูก ว่าต้องเป็นลูกชาย... คนเป็นแม่หลายคนก็คงมีความรู้สึกนี้เหมือนกันนะ”

เนื่องจากเขาเป็นลูกชายคนเดียวของบ้าน เช่นเดียวกับผู้เป็นพ่อ ดังนั้น เขาจึงต้องดำเนินรอยตามแนวทางที่ครอบครัวได้วางเอาไว้ หนึ่งในนั้นคือการสอบเข้าเตรียมทหาร เพื่อก้าวเข้าสู่นักเรียนนายร้อย แม้ว่าเขาจะรักการเดินทางและงานเขียน แต่ก็ยินดีที่จะสร้างความหวังซึ่งผู้เป็นพ่อตั้งเอาไว้ให้เป็นจริง อย่างไรก็ดี พอสอบเข้ามาได้แล้ว เขากลับชอบแนวทางนี้ และเก็บสิ่งที่รักไว้เป็นเรื่องรอง ซึ่งทั้งพ่อและแม่ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แม้ว่าทุกอย่างฟังดูราบรื่น อุปสรรคใหญ่หลวงกลับไม่ใช่ที่ตัวของเขา หากเป็นการพิสูจน์ฝีมือทั้งการเรียน และการทำงานภายใต้เงาของผู้เป็นพ่อ ที่แผ่ปีกกว้างไปไกลในกองทัพ และนามสกุลเดิมของผู้เป็นแม่ หลายคนดูถูกว่าเขาได้เป็นทหารเพราะบารมีของครอบครัว เขาจึงไม่ยอมแพ้ที่จะอดทนเรียนให้ได้คะแนนสูงสุด และอดทนทำงานอย่างขะมักเขม้น จนผลงานหลายอย่างเกินเป้าหมาย เป็นที่ชื่นชอบของผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเชื่อว่า ทุกการกระทำของเขาที่ผ่านมาต่างหาก ย่อมส่งผลให้มีตัวเองในวันนี้ ไม่ใช่เพราะโชคชะตาฟ้าบันดาลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ

...หากครั้งนี้ อะไรบางอย่างรบกวนเขาเสียจนรู้สึกหว้าวุ่นใจ

“ของใดที่เคยอยู่ที่ทางใดแต่เดิม จะหวนคืนสู่ทางนั้น”

...ท่านจะหมายถึงอะไรกันแน่? จะเกี่ยวกับภารกิจที่เราต้องทำหรือไม่? ...



ระยะทางจากเมืองท่าขี้เหล็ก ณ บริเวณชายแดนไทย – พม่า จนถึงเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ยาวทั้งสิ้น ๑๖๒ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว ๓ – ๔ ชั่วโมง ส่วนระยะทางจากเมืองเชียงตุง ไปจนถึงชายแดนระหว่างประเทศพม่า และนครรัฐไชยพระเกตุ ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว ๑ ชั่วโมง และระยะทางจากชายแดนไปจนถึงเมืองหลวง คือ เมืองไชยพระเกตุ ชื่อเดียวกันกับนครรัฐ ระยะทางอีกประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว ๑ ชั่วโมงเช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ช่วงของถนนระหว่างเชียงตุงถึงชายแดนไชยพระเกตุมีสภาพขรุขระเป็นบางตอน สูงชันตามไหล่เขาไต่ขึ้นลงตลอดเวลา ทั้งยังแคบเสียจนรถที่วิ่งสวนทางกันอาจต้องหยุดรอให้อีกเลนขับสวนมาก่อน


เวลาช่วงบ่ายผ่านไปอย่างรวดเร็ว ชินนุตรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับทิวทัศน์สองข้างทาง ซึ่งแม้จะคดเคี้ยวราวกับเส้นทางเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทย แต่สภาพภูมิประเทศนั้น ต้องใช้คำว่า แผ่นน้ำม่อนดิน หินผาลูกกว้างใหญ่ ทิวเขาลูกมหึมาที่สลับซับซ้อนสีเขียวเข้มและอ่อนดูนุ่มนวลอยู่ท่ามกลางแสงแดดอันจัดจ้า คัมภีระ ดูสดชื่นขึ้นหลังจากนอนหลับเต็มตื่นตลอดทาง ทันพอดีกับพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ณ ที่ทำการด่านตรวจคนเข้าเมือง ชายแดนเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า กับนครรัฐไชยพระเกตุ ซึ่งตั้งอยู่ตรงหุบเขาเล็ก ๆ สองข้างทางเป็นป่าทึบ อาคารสองชั้นหลังเล็ก ริมถนนลาดยางอย่างดี เป็นของใหม่เพียงอย่างเดียวสำหรับสถานที่แห่งนี้ แนวกำแพงก่ออิฐขนาดใหญ่สูงเกือบสี่เมตรที่มีร่องรอยการปรักหักพังเป็น ช่วง ๆ และต้นไม้ใบหญ้าขึ้นเป็นหย่อมนั้น ทอดตัวยาวทั้งสองฝั่งกั้นเขตแดนไปจรดภูเขาแต่ละด้าน หอคอยสูงที่สร้างบนเชิงเทินยังอยู่ในสภาพดีราวกับได้รับการบูรณะซ่อมแซมอย่างสม่ำเสมอ กองทหารหนึ่งกองร้อยตั้งค่ายอยู่ตรงข้ามกับที่ทำการด่านตรวจคนเข้าเมือง ทหารหลายนายถือปืนปลดเซฟ เตรียมพร้อมเต็มที่

เด็กหนุ่มเป็นธุระคอยช่วยเหลือให้พิธีการตรวจคนเข้าเมืองผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เมื่อประทับตราขาเข้าและรับการตรวจค้นสิ่งของสัมภาระแล้ว ทั้งสามคนก็ออกเดินทางสู่เมืองหลวง บนถนนที่อยู่ในสภาพดีกว่าตลอดทางที่ผ่านมาเพียงเล็กน้อย

ถนนอันคดเคี้ยวไต่ขึ้นลงภูเขาสูงชันหลายรอบอีกครั้ง นาน ๆ จะปรากฏหมู่บ้านสักครั้ง ถนนลูกรังเส้นเล็ก ๆ หลายเส้นแยกตัวออกจากถนนสายหลักหายลับเข้าไปในหมู่บ้านเหล่านั้น มีป้ายชี้บอกจุดหมายปลายทางบ้างบางแห่งเป็นภาษาไทเกด และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่สองของไชยพระเกตุ แม้ว่าจะขมขื่นจากการที่อังกฤษเคยมีอิทธิพลเหนือไชยพระเกตุ แต่คณะรัฐบาลและประชาชน กลับเสพติดรสนิยม และขนบธรรมเนียมบางอย่างชองชาวอังกฤษมาอย่างยินดี

รถยนต์ผ่านทุ่งนานอกเมือง แล้วเริ่มไต่ระดับบนเนินเขาลูกใหญ่ลูกหนึ่งอย่างช้า ๆ จนกระทั่งสุดปลายเนินนั้นเอง ความสง่างามแห่งเมืองก็ปรากฏสู่สายตา

“ยินดีต้อนรับสู่ไชยพระเกตุ” เสียงของคัมภีระดังขึ้น พร้อมกับเสียงบรรยายทัศนียภาพแห่งสวรรค์ที่เขาพานพบอยู่ตรงหน้านี้...

แม่น้ำแสงไหลเอื่อยผ่านที่ราบกลางหุบเขาอันกว้างขวางไปจรดดอยทุงฟ้าทางทิศตะวันตก บ้านเรือนผู้คนซึ่งต่างมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินขอสีคล้ำเพราะผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน สูงต่ำสลับกันราวกับแผ่นหินที่เติบโตขึ้นมาจากพื้นดินบนเนินเขาลูกนี้ไล่ระดับลงไปจนทั่วทั้งอาณาบริเวณของที่ราบแอ่งกระทะตรงหน้า ด้วยการออกแบบผังเมืองเป็นอย่างดีทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูเป็นระเบียบ ถนนหนทางลาดด้วยยางอย่างดีและสะอาดสะอ้าน แสงแดดยามเย็นส่องกระทบยอดฉัตรสีทองของเจดีย์ตามวัดวามอารามต่าง ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป จนดูคล้ายประกายดาวในเวลากลางวัน ต้นไม้ใบหญ้าสองข้างทางชุ่มฉ่ำเขียวขจี รถราอันมีเพียงน้อยนิดก็สัญจรไปมาอย่างไม่เร่งร้อน อากาศกำลังเย็นสบาย ความเงียบสงบแผ่ซ่านกำจายครอบคลุมอยู่ทั่วทุกพื้นที่

นี่คือ... สวรรค์บนดินหรือไรกัน?

ตอนแรก ที่ชินนุตได้เห็นนครรัฐไชยพระเกตุนี้ เขาอดจินตนาการถึงสวรรค์ไม่ได้ ต่อให้เป็นสวรรค์ชั้นที่หนึ่ง อันมีนามว่า จาตุมหาราชิกา ก็เถอะ... เขาก็ยินดีที่จะอยู่ !

คัมภีระเล่าขานตำนานสร้างบ้านแปลงเมืองอย่างภาคภูมิใจ

“ตามประวัติศาสตร์การสร้างเมืองแห่งนี้ ราวปีพุทธศักราช ๑๘๐๐ เศษ ชาวทมิละ หรือชาวลัวะเป็นพวกแรกที่สร้างหมู่บ้านขึ้นที่นี่ โดยเรียกชื่อเมืองว่า ทุงฟ้า ตามชื่อภูเขาลูกหนึ่งที่อยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง มีเจ้าเมืองผลัดเปลี่ยนกันปกครองเรื่อยมา ต่อมากษัตริย์เชียงใหม่ได้ยกทัพเข้ายึดเมือง และตั้งขุนนางปกครองแทน ทำให้ชาวเมืองต้องส่งบรรณาการแก่เชียงใหม่เป็นประจำ บ้านเมืองก็เริ่มถดถอย จนกระทั่งในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เจ้าเมืองผู้หนุ่มแน่นผู้หนึ่งชื่อว่า อานันทะ ได้รวบรวมไพร่พลขึ้นประกาศแยกตัวออกจากเมืองเชียงใหม่อย่างสันติ พร้อมทั้งทำการฟื้นฟูเมืองขึ้นมาใหม่ รวมถึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรก ทรงพระนามว่า พระเจ้าอานันทะฤาไชย สถาปนาเมืองขึ้นเป็นนครรัฐ ชื่อว่า ไชยพระเกตุ ตามชื่อ พระเกตุ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์สำคัญที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยชาวทมิละปกครองเมือง”




ตึกสีส้มอิฐสองชั้นหลังย่อมตั้งอยู่ในกำแพงสูงมิดชิดระหว่างถนนสายหนึ่งกับแม่น้ำแสง ต้นไม้ดารดาษทั่วไปให้ความร่มรื่นและเขียวขจี ด้านหลังตัวตึกซึ่งก่ออิฐเป็นลานปูนกว้างตั้งเสาไม้ระแนงรองรับพุ่มบานบุรีซึ่งกำลังออกดอกสีเหลืองสดใส เจ้าของตึกจัดชุดเก้าอี้สนามพร้อมหมอนอิงผ้าไหมสีสดสำหรับนั่งเล่นรับลมจากแม่น้ำวางอยู่ใต้พุ่มนั้น บนเก้าอี้ตัวหนึ่งปรากฎร่างของหญิงสาวร่างผอมบาง กำลังกึ่งนั่งกึ่งนอนอ่านหนังสือเล่มเล็กในมือ เสียงกระแอมจากหญิงสาววัยกลางคนอีกคนหนึ่งขัดความเงียบสงบนั้นขึ้น

“อ้าว! พี่คันธา มีเรื่องอะไรหรือจ๊ะ?”

“เจ้าย่าให้พี่นำของสิ่งนี้มามอบให้เจ้าอินคะ”

“พี่คันธา!” หล่อนเอ็ดเบา ๆ มีผลทำให้คนถูกเอ็ดชะงักมือที่ถือสิ่งของไว้ “บอกกี่ครั้งกี่หนแล้ว ไม่ให้เรียกอินว่าเจ้า เรียกว่า อิน เฉย ๆ ก็ได้”

“ก็... เจ้าอินเป็นเจ้าจริง ๆ นี่คะ” หัวหน้าแม่บ้าน ชื่อ คันธา ไม่ยอมลดรา “เจ้าอินสืบเชื้อทางบิดามาแต่สามนางฟ้าของชุมเงิน ไยจะไม่ใช่เจ้าได้อย่างไรละคะ!”

ในเมื่อเรื่องที่อีกฝ่ายพูดเป็นความจริง เจ้าหล่อนจึงขี้คร้านจะเถียงอีกต่อไป สู้เปลี่ยนเรื่องยังดีกว่า “แล้วพี่ถืออะไรมาหรือจ๊ะ?”

“บัตรหมายจากสำนักพระราชวังค่ะ” คันธา วางซองกระดาษแข็งสีขาวนวลลงบนโต๊ะสนาม ตราประจำราชสำนักไชยพระเกตุซึ่งเป็นรูปพระเกตุ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองประทับอยู่ใต้บุษบกซ้อนลดหลั่นกัน พิมพ์ทองดุนนูนหรา “วังของเจ้าฟ้าอุปราช ส่งบัตรหมายให้เจ้าเข้าเฝ้า คะ”

“เข้าเฝ้า...” หล่อนทวนคำ “เข้าเฝ้าใครกัน?”

“อุแม่เจ้า!” คันธาเอามือตบอก “ก็เข้าเฝ้าเจ้าฟ้าอุปราชแห่งไชยพระเกตุนะสิค่ะ ท่านทรงเป็นหัวหน้าโครงการที่เจ้ามาทำงานด้วย คงจะอยากทรงสนทนาเกี่ยวกับการดำเนินงานแน่ ๆ แล้วอีกเรื่องก็คือ เจ้าย่าให้มาบอกคุณด้วยว่า คืนนี้ก่อนเข้านอนจะสอนคุณเกี่ยวกับธรรมเนียมการเข้าเฝ้าต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เสียเกียรติชาวชุมเงินอย่างพวกเรานะคะ”

หล่อนมองแววตาอันมุ่งมั่นของอีกฝ่ายแล้วถอนหายใจ “อินชินกับการทำงานแบบบริษัท มีเจ้านาย มีลูกน้อง อยากได้อะไรบอกมา ฉันก็ทำตามหน้าที่ไป ประชุมปรึกษาหารือ หาข้อสรุป ทำงานแล้วนำเสนอผลงาน มีเป้าหมายให้ดำเนินตาม ไอ้เรื่องที่จะให้ไปเข้าเฝ้าอะไรนี่... มันนอกเหนือความคาดหมายของอินจริง ๆ ถ้าต้องเจอพิธีรีตองอะไรแบบนี้อยู่ตลอดเวลา อินเซ็งแน่ ๆ พี่คันธา”

“เจ้าก็อดทนเอาหน่อยนะคะ งานนี้เป็นงานใหญ่ของในวังเขา อะไรที่เกี่ยวข้องกับในรั้วในวังก็ต้องย่อมมีพิธีรีตรองแหละคะ เดี๋ยวเจ้าก็ชินไปเอง อย่าเพิ่งเบื่อหรือเซ็งไปเสียก่อน”

“ความอดทนของอินจะหมดลงซะก่อนนะสิจ๊ะ”

เจ้าตัวบ่นเสร็จก็พลันผุดลุกขึ้นจนคันธาตกใจ

“เจ้าจะไปไหนคะ?”

“ไปหาอะไรทำแก้เซ็งดีกว่า” ว่าแล้ว คนพูดก็วิ่งหน้าตั้งออกไปทิ้งให้อีกฝ่ายร้องเสียงหลง

“เจ้าอินทุชารี!”




คัมภีระกดวางโทรศัพท์มือถือในมือ แล้วเดินตรงมายังที่ชายหนุ่มยืนอยู่
“เดี๋ยวผมจะพาไปแวะดูวิวสวย ๆ ก่อนเข้าไปพบกับท่านราชเลขานุการนะครับ ท่านรออยู่ที่สำนักงาน หลังจากนั้นค่อยพาพี่เกิงเข้าที่พัก”
เขาเหลือบดูชุดที่ตัวเองสวมใส่ “พี่แต่งตัวไม่ค่อยสุภาพ... จะเป็นอะไรไหม?”
เด็กหนุ่มโบกมือขัดขึ้น “ไม่ได้เป็นพิธีอะไรมากหรอกครับ ไปทักทายสวัสดีเฉย ๆ คุณพ่อผมก็อยู่ที่นั่นด้วย วันมะรืนถึงจะมีประชุมโครงการ ตอนนั้นคงเป็นทางการมากกว่าครับ”

บนเนินเขาที่จอดรถยนต์ข้างทางไว้นั่นเอง มีวัดสวยงามเก่าแก่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม คัมภีระอธิบายเพิ่มเติมว่า วัดแห่งนี้มีชื่อว่า สิงขร สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุวรรณมังคละ กษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งไชยพระเกตุ ความสวยงามของวัดไม่ได้อยู่ตรงที่วิหาร หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ หากแต่เป็นศาลาชมทิวทัศน์ตรงมุมหนึ่งของวัดไม่ไกลจากถนนใหญ่ ไกด์หนุ่มพาชายหนุ่มข้ามถนนที่นาน ๆ ถึงจะมีรถผ่านมาสักครั้ง เดินตัดไปยังทางเดินเท้าเลียบพงต้นไม้ทึบ เส้นทางนี้จะเลียบไปตามแนวกำแพงวัดแต่ต่ำลงมาเล็กน้อย ระยะทางประมาณสองร้อยเมตร เมื่อเดินอ้อมโค้งสุดทางเดิน ก็จะพบกับศาลาไม้หลังเก่า ชินนุตก้าวเท้าตามคัมภีระเข้าไปในนั้น

จากจุดนี้เอง ทำให้เขาเห็นไชยพระเกตุได้ชัดเจนมากขึ้น เมืองอันกว้างใหญ่แต่งแต้มไปด้วยสีสันของหลังคาบ้านกระเบื้องดินขอ บ้านและตึกรูปทรงทันสมัยมีน้อยมาก จึงทำให้แลดูกลมกลืนกันไปอย่างไม่ขัดตา แม่น้ำแสง แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวไชยพระเกตุมาหลายชั่วอายุคน ต้องประกายแดดยามเย็นจนเหมือนทางช้างเผือก ถนนเส้นที่ทอดขึ้นไปทางเหนือ เชื่อมต่อเมืองอื่น ๆ ในเขตนครรัฐแห่งนี้อีกหลายเมือง และทะลุไปจนถึงพรมแดนระหว่างไชยพระเกตุกับจีน

“สวยไหมครับ?”

“สวยมาก” ชินนุตพึมพำ เขารู้สึกว่าตนเองกำลังลอยล่องอยู่ในอากาศ แล้วภาพที่เห็นตรงหน้าคือเมืองสวรรค์

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้ง เขาได้ยินเสียงพูดคุยเป็นภาษาไทเกด

“เดี๋ยวผมมานะครับ ขอคุยโทรศัพท์หน่อย... ยังไงถ้าเสร็จแล้วตามไปรอผมที่รถได้เลย” คัมภีระร้องบอกพลางเดินกลับไปตามทางที่เข้ามา ทิ้งให้อาคันตุกะปล่อยอารมณ์ชื่นชมอยู่อย่างนั้น

แสงอาทิตย์ยามบ่ายแก่ ๆ เริ่มทอแสงอ่อน และคลายความร้อนลงบ้าง ถึงกระนั้น เสียงหนึ่งที่ดังขึ้นด้านหลังกลับทำให้เขารู้สึกเย็นสดชื่นอย่างประหลาด

“ถ้าให้เดา คุณน่าจะเป็นคนไทย?”

ชายหนุ่มชะงักเพียงเล็กน้อย แต่การแสดงออกถึงอาการตกใจนี้เป็นผลมาจากการฝึกจิตวิทยาในหลักสูตรที่เข้มข้นซึ่งเขาได้ผ่านมาอย่างหนักหน่วงระหว่างการเป็นทหาร อันที่จริง เขารู้ตัวตั้งแต่เสียงฝีเท้าเบา ๆ กระทบโสตประสาทเมื่อหลายวินาทีก่อนหน้านี้ แถมรู้ด้วยซ้ำว่าเจ้าของฝีเท้านี้เป็นผู้หญิง !

ชินนุต หันไปยิ้มให้ สิ่งที่อยู่เหนือการคาดเดาก็คือ ผู้หญิงคนนี้ สวยเสียด้วย !

หญิงสาวคนหนึ่งในชุดเสื้อยืดกางเกงทะมัดทะแมงสีทึม สวมหมวกแคปทับผมที่รวบไว้ด้านในอย่างเรียบร้อย ยืนกอดอกยิ้มพรายตรงมา ผิวขาวละมุน ดวงตาอันสดใสชวนมองบนใบหน้าอันกลมมนได้รูปนั้นสะกดให้เขาตะลึงอยู่กับที่

“คุณยังไม่ได้ตอบคำถามฉันเลย... ตกลง คุณเป็นคนไทยหรือเปล่าคะ?”

“ใช่แล้วครับ” เขาอดถามไม่ได้ เพราะสำเนียงที่คุ้นหูของอีกฝ่าย “แล้วคุณละ... เป็นคนไทยด้วยหรือเปล่าครับ?”

เจ้าหล่อนยกมือขึ้นปิดปากหัวเราะร่วน “โอย... ไม่ใช่คนไทยหรอกค่ะ... ดิฉันเป็นชาวไชยพระเกตุเนี่ยแหละ แต่มีคนทักผิดเสมอ ๆ น่าจะเพราะสำเนียงภาษาไทยของดิฉันมากกว่า”

สำเนียงของหล่อนดูคุ้นหูราวกับเป็นคนไทยแท้ ๆ

“ไชยพระเกตุนี้ ถึงแม้จะมีอาณาเขตไม่ใหญ่โตมากนัก แต่ก็สร้างขึ้นในลักษณะของมหาราชธานีตามคัมภีร์การสร้างเมืองในสมัยโบราณ ซึ่งอ้างอิงตามแบบเขาพระสุเมรุ” ภาษาไทยฉะฉานยังคงเจื้อยแจ้วต่อไป “คือ ประกอบด้วย ตรีบุร นคร คาม นิคม ชนบท และรัฐ”

“ตรีบุร คืออะไรหรือครับ?” ชายหนุ่มสนใจ ถึงแม้จะค้นคว้าข้อมูลของไชยพระเกตุมาบ้าง แต่ก็ยินดีที่จะรับเรื่องแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา

“ตรีบุร หรือตรีบุรี หมายถึง เมืองสามเมืองแห่งเขตพระราชฐานของกษัตริย์ เปรียบได้กับยอดเขาพระสุเมรุ ลดหลั่นกันลงมา คือ เขตพระราชฐานชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ของพระราชวังหลวง” เธอชี้ไปที่พระราชวังของกษัตริย์แห่งไชยพระเกตุ ริมแม่น้ำแสง ซึ่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเกือบกึ่งกลางของเมือง แต่ค่อนไปทางดอยทุงฟ้าเล็กน้อย

เมื่อเห็นชายหนุ่มนิ่งฟังอย่างสงบ หล่อนก็อธิบายต่อ “ส่วนนคร ประกอบด้วยบ้านเรือนของประชาชน มีตลาด คูน้ำ และกำแพงเมือง ไชยพระเกตุสร้างกำแพงเมืองไว้ด้านนอกเพียงสองด้าน คือ ด้านทิศเหนือที่เข้าสู่เชียงรุ่ง สิบสองปันนาในจีน และด้านทิศใต้ ที่มุ่งสู่เมืองเชียงตุง ปัจจุบัน กำแพงเมืองได้พังทลายลงเหลือแค่ซากเพียงไม่กี่แห่ง ส่วนอีกสองด้าน ใช้แม่น้ำแสงเป็นกำแพงธรรมชาติกั้นเมืองด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งมีดอยทุงฟ้ากั้นไว้”

“คาม ก็คือเขตเมืองรอบนอก เช่น บริเวณเนินที่เรายืนอยู่นี้ ประกอบด้วยบ้านเรือน และตลาด ไกลออกไปเป็นนิคม คือ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ กระจัดกระจายรอบนอก ส่วน ชนบท ก็คือเมืองที่อยู่ชายชอบ กษัตริย์ทรงแต่งตั้งขุนนางให้ดูแลปกครองกันเอง และสุดท้ายคือ รัฐ เมืองในอารักขาของกษัตริย์ ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ เนื่องจากไชยพระเกตุไม่มีรัฐในปกครองที่อื่นอีก ในที่นี้ พระเจ้าอานันทะฤาไชย จึงทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาให้มีประมุข คือ พระสังฆราช เป็นผู้กำกับ อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์แห่งไชยพระเกตุตลอดไป นี่เป็นแนวความคิดในการสร้างนครรัฐไชยพระเกตุมาตั้งแต่ครั้งกษัตริย์พระองค์แรกของเรา”

ชินนุต ยืนฟังอย่างตั้งใจ ดังนั้น เมื่อหญิงสาวตรงหน้าจบลง เขาจึงพูดขึ้นจากใจจริง “คุณเก่งจังเลยครับ”

“ขอบคุณค่ะ” รอยยิ้มพิมพ์ใจปรากฏบนใบหน้านั้นอีกครั้ง

เขากำลังจะอ้าปากถามชื่อ ว่าเธอเป็นใครมาจากไหน... ก็พอดีเจ้าตัวกลับเอ่ยขอตัว “ขออนุญาตนะคะ ดิฉันอยู่ที่นี่นานแล้ว ต้องกลับเสียที... เที่ยวไชยพระเกตุให้สนุกนะคะ”

ว่าแล้ว หญิงสาวก็หุนหันจากไป ทิ้งให้ชายหนุ่มยืนงุนงงอยู่ลำพัง

“เธอเป็นใครกัน?” เขาพึมพำ
........................................................



Create Date : 27 มกราคม 2557
Last Update : 27 มกราคม 2557 7:29:38 น.
Counter : 405 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PeeEm
Location :
ลำพูน  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีครับ ผมชื่อ ภาคิน มณีกุล ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตวาซาบิรายใหญ่ของประเทศ งานอดิเรกของผม นอกจากส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา คือ ปั่นจักรยานและเล่นแบดมินตัน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์และชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปหรือพักผ่อนแล้ว ผมยังชอบเขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายอีกด้วยครับ

เพื่อน ๆ คนไหนเข้ามาอ่านก็สามารถติชมได้นะครับ ขอบคุณครับ
New Comments
มกราคม 2557

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
14
15
16
17
18
19
21
22
23
24
25
26
28
29
30
31