บันทึกการเดินทาง.. สีสันแห่งชีวิตปลายฤดูฝน
บันทึกการเดินทาง.. สีสันแห่งชีวิตปลายฤดูฝน
๑๑ – ๑๔ ตุลาคม ๕๐
๑๑ ตุลาคม ๕๐ เยาวราช : วัดไตรมิตรวิทยาราม, วงเวียนโอเดียน, วัดเทียนฟ้า, วัดมังกรกมลาวาส

ภ.ม. ภาคิโน

ย้อนเหตุแห่งการเดินทาง
ช่วงเดือนมิถุนายน ข้าพเจ้าโทร ฯ หามอร์ เพื่อนสนิทคนหนึ่งในก๊กที่ปัจจุบันทำงานอยู่ที่สระบุรี กะว่าจะลงไปเยี่ยมถึงถิ่นและค้างสักคืน เผื่อจะได้ท่องเที่ยวเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้บ้าง ตามแผนได้ชวนทวิชไว้ล่วงหน้า โดยนัดกันจะขับรถลงไปช่วงปลายเดือนกันยายนพอดี เพราะทวิชมีประชุมช่วงนั้น ไป ๆ มา ๆ ดันติดตรงที่ข้าพเจ้าไม่สามารถหาวันลาที่เหมาะสมได้ จึงต้องเลื่อนออกไปอีก

จนกระทั่ง ปลายเดือนกันยายน ช่วงที่ทวิชลงไปประชุมนั่นแหละ.. ข้าพเจ้าถึงได้มีโอกาสทบทวนแผนนี้และนัดกันกับเพื่อน ๆ ใหม่ โดยกำหนดช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม จะหยุดยาวสักสี่วัน คือ ลาวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ เพียง 2 วัน (สุดสัปดาห์นั้น บริษัทหยุดวันเสาร์อาทิตย์) แล้วนัดเพื่อน ๆ ที่พอว่างมาร่วมทริปด้วยกัน ปรากฏว่า มี มอร์ บอม และพิชิต สองรายแรกมีธุระที่ต้องไปทำงานที่กรุงเทพ ฯ ในช่วงนั้นพอดี ส่วนพิชิตนั้น อุตส่าห์ลางานให้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นหนึ่งสัปดาห์ก็เพิ่งลาไปเกาะเสม็ดมา (สรุปว่าพิชิตได้เที่ยวเยอะสุด สองสัปดาห์ติดกัน) สรุปแล้วจึงมีเพียงสี่คน จากจำนวนเพื่อนร่วมก๊กทั้งหมดแปดคน เลยแซวกันว่า ทำการโหวตประชาธิปไตยไม่ได้ เนื่องจากมีเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่ที่แน่ ๆ คนที่ไม่ได้ไปโดนเม้าท์ชัวร์

วันแรกกับเยาวราช
ช่วงที่เดินทางนั้น ตรงกับเทศกาลกินเจพอดี จึงนึกอยากให้ไปเยาวราช จากคอนโดของพิชิตที่ข้าพเจ้าไปพัก อยู่ตรงถนนสาธรติดกับสถานทูตออสเตรเลีย ต้องโบกรถแท็กซี่ไป ซึ่งไม่ไกลเท่าไหร่นัก เราเดินทางช่วงพลบค่ำพอดี ยังได้ทันไหว้พระพุทธรูปทองคำที่วัดไตรมิตรวิทยาราม ซึ่งปิดทำการตอนห้าโมงเย็น จากนั้น จึงเดินอ้อมมาออกตรงวงเวียนโอเดียน ยังได้ทันเห็นขบวนแห่เนื่องในเทศกาลกินเจตรงซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ เราเดินเลียบไปตามถนนเยาวราชผ่านร้านขายอาหารเจมากมาย เพื่อไปยังวัดมังกรกมลาวาส ซึ่งอยู่ตรงตำแหน่งหัวใจมังกรของย่านเยาวราชพอดี ก่อนจะกลับมาหาร้านอาหารอร่อย ๆ บนถนนเยาวราชทานเป็นมื้อค่ำกัน

(โปรดติดตามตอนต่อไป ๑๒ ตุลาคม ๕๐ เกาะรัตนโกสินทร์ : วัดราชนัดดาราม, วัดสระเกศ, เสาชิงช้า, วัดสุทัศน์เทพวราราม)








บันทึกการเดินทาง.. สีสันแห่งชีวิตปลายฤดูฝน
๑๑ – ๑๔ ตุลาคม ๕๐
๑๒ ตุลาคม ๕๐ เกาะรัตนโกสินทร์ : วัดราชนัดดาราม, วัดสระเกศ, เสาชิงช้า, วัดสุทัศน์เทพวราราม


ภ.ม. ภาคิโน

เกาะรัตนโกสินทร์
ตั้งใจไว้แต่แรกว่า จะไปไหว้ศาลหลักเมืองประจำกรุงเทพมหานคร จึงเป็นจุดหมายแรกของการไปท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์ในวันนี้ ครั้นข้ามถนนจะไปไหว้พระแก้วในวัดพระศรีรัตนศาสดารามต่อ ปรากฏว่า พิชิตแต่งตัวไม่ผ่าน (นุ่งกางเกงขาสามส่วน และรองเท้าแตะ) ข้าพเจ้าเลยต้องฉายเดี่ยวเข้าไปในวัดเพียงลำพัง อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่า ช่วงที่ไปเที่ยวตรงกับเทศกาลถือศีลกินเจพอดี ประชาชนและนักท่องเที่ยวจึงไปสักการะพระแก้วกันมากมายจริง ๆ ข้าพเจ้าเลยได้แต่ไหว้พระอยู่แถวตรงกระถางธูปภายนอกพระอุโบสถ มองไปทางไหนก็เห็นแต่หัวดำ ๆ ของนักท่องเที่ยวเต็มไปหมด แม้กระทั่งปราสาทพระเทพบิดร คนก็ยังเยอะเต็มลานบันได

จากนั้น เราทั้งสองคนโบกรถแท็กซี่เดินทางไปยังวัดราชนัดดาราม ซึ่งใกล้กันนั้นเป็นที่ตั้งของพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทว่าจุดหมายของเราอยู่ภายในวัด และสามารถมองเห็นได้อย่างสง่างามจากภายนอกกำแพง นั่นคือ โลหะปราสาท ซึ่งเป็นแห่งที่สามของโลก คำว่าโลหะปราสาทนี้ พยายามอนุมานกับพิชิตได้ว่า น่าจะหมายถึงเครื่องยอดของปราสาท เป็นโลหะ สังเกตได้จากความคร่ำคร่าของมัน แต่จะเป็นโลหะชนิดใดก็จนปัญญา ต้องกลับไปค้นตำราอีกที เราเข้าไปในตัวปราสาท ซึ่งต้องขึ้นบันไดเวียนผ่านแต่ละชั้น จึงแอบถ่ายรูปเป็นระยะ ๆ พอถึงชั้นบนสุดก็ได้สักการะพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมกับชมทิวทัศน์โดยรอบ

เราเดินข้ามถนนแล้วลัดเลาะไปตามสะพานข้ามคลองรอบกรุงและคลองมหานาค ตรงไปยังถนนบริพัตรเพื่อมุ่งสู่ภูเขาทอง สองข้างทางเป็นชุมชนไม้แกะสลักเก่าแก่ มีบานประตูและเครื่องเรือนต่าง ๆ จำหน่ายมากมาย กว่าจะเดินขึ้นถึงยอดได้ต้องใช้เวลาพอสมควร สองข้างทางของภูเขาทองเป็นฮวงซุ้ย แต่ทางวัดได้เพิ่มบรรยากาศให้ดูร่มรื่นด้วยการจัดน้ำตกเลียนแบบธรรมชาติและประดับประดาด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีเครื่องขยายเสียงซึ่งเปิดเทปธรรมะให้ฟังตลอด เข้าใจว่า เป็นพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปฺเสโน) เจ้าอาวาสวัดสระเกศนั่นเอง เราลองเสี่ยงเซียมซีดู รู้สึกผลที่ได้จะแตกต่างจากที่เสี่ยงไว้ ณ ศาลหลักเมือง อย่างสิ้นเชิง(ตรงที่ศาลหลักเมืองก็เสี่ยงเซียมซีดู ปรากฏว่า ผลที่ได้ไม่ค่อยดี) ขาลงจากภูเขาทองยังชวนให้เราสองคนสนเท่ห์ยิ่งนัก เพราะมันดูจะเป็นคนละทางกับตอนขึ้น แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ตัดกัน ทั้งที่ไปบรรจบตรงข้างบนยอดได้พอดี (วันหลังคงต้องไปอีก เพื่อไขปริศนา)

ต่อจากภูเขาทอง โบกรถแท็กซี่ (อีกแล้ว.. ทัวร์ไฮโซจริง ๆ) มายังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ที่นี่เอง ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักความอร่อยของก๋วยเตี๋ยวแคะ ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นอย่างไร เผอิญแอบฟังชายหนุ่มที่นั่งโต๊ะข้างหลังกำลังสอนลูกอยู่ ว่า ก๋วยเตี๋ยวแคะเป็นของจีนแต้จิ๋ว เครื่องเคราอร่อยจริง ๆ

ข้าพเจ้าหยุดถ่ายรูปตรงเสาชิงช้า อันที่จริงใกล้ ๆ กันจะมีเทวสถานโบสถ์พราหมณ์อยู่ แต่ได้แต่ไหว้พระพรหมจากภายนอกไม่ได้เข้าไป เพราะเริ่มล้าเต็มทน เราข้ามถนนเข้าไปในวัดสุทัศน์เทพวราราม พิชิตถามว่า ทำไมอยากมาที่นี่ ข้าพเจ้าเล่าให้ฟังว่า บานประตูพระอุโบสถวัดสุทัศน์ ฯ นี้เป็นของเดิมที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นผู้ทรงคิดค้นและลงมือแกะด้วยพระองค์เอง เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปมา เพราะจากข้อมูลที่อ่านจากป้ายประชาสัมพันธ์พบว่า บานจริงถูกถอดไปไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (ปีแล้วก็ไปมา คงจะเผลอข้ามไปไม่ได้ดูจนทั่ว) อย่างที่สองคือ วิหารคดที่อยู่รายรอบ มีพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้นสวยงามประดับโดยตลอด อย่างสุดท้ายคือตัวพระอุโบสถนั้น รับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยา ที่มักจะสร้างกำแพงอาคารให้สูงและมีเสาสูงเรียงราย ภายในมีหน้าต่างแคบ ๆ ส่วนองค์พระประธานจะค่อนข้างใหญ่โตเกือบกินพื้นที่ครึ่งหนึ่ง ลักษณะการสร้างแบบนี้จะเลียนแบบแนวความคิดของการที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ในคันธกุฏีสมัยพุทธกาล จิตรกรรมฝาผนังของพระอุโบสถสวยงามมาก จนอดที่จะนั่งชื่นชมอยู่เป็นเวลานานไม่ได้

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของวัดสุทัศน์ ฯ ก็คือ ความสงบเงียบ เป็นวัดที่อยู่กลางกรุงแท้ ๆ แต่มีความสงบเกิดขึ้นโดยรอบ จนเป็นเหตุอัศจรรย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมวัดนี้ ยังตรัสชมว่า วัดนี้สงบเงียบดีจริง หากจะบวชจะขอมาบวชอยู่วัดนี้ ต่อมาเมื่อครั้นสวรรคตแล้ว พระอัฐิบางส่วนถูกนำมาเก็บไว้ที่ฐานชุกชีพระประธานพระอุโบสถ และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๘ เสมอมา

ข้าพเจ้าและพิชิต เที่ยวจนหมดแรงจนต้องกลับไปพักที่คอนโด เพื่อกลับออกมาตอนเย็นอีกครั้งแถวเซ็นทรัลเวิร์ล เนื่องจากนัดมอร์ไว้ที่นั่น

(โปรดติดตามตอนต่อไป ๑๓ ตุลาคม ๕๐ ตลาดร้อยปีสามชุก สุพรรณบุรี)

หมายเหตุ; ใครอยากได้รูปสวย ๆ เพิ่มเติมและนำไปใช้เป็น Wallpaper นั้น ส่งเมลมาขอนะครับ จะได้ส่งรูปอีกแบบไปให้ เนื่องจากรูปที่ลงในเมลนี้จะเป็นแบบ resize แล้ว





















บันทึกการเดินทาง.. สีสันแห่งชีวิตปลายฤดูฝน
๑๑ – ๑๔ ตุลาคม ๕๐
๑๓ ตุลาคม ๕๐ ตลาดร้อยปีสามชุก สุพรรณบุรี

ภ.ม. ภาคิโน

ตลาดโบราณ เมืองสามชุก
ก่อนหน้าที่จะไปกรุงเทพ ฯ สักสองสามวัน ข้าพเจ้ามีโทร ฯ ถามพิชิตว่า วันเสาร์ที่ว่างอยู่หนึ่งวัน ก่อนที่เราจะเดินทางไปบางปะอินกัน จะไปทำอะไรดี พิชิตก็ถามว่าเคยไปเกาะเกร็ดไหม ข้าพเจ้าตอบว่า ไม่เคย เลยสรุปว่าไปเกาะเกร็ดกัน พิชิตเลยบอกต่อว่า คงต้องนั่งเรือไป.. ได้ยินคำว่านั่งเรือแล้ว ใจหล่นวูบเลย เพราะเหตุที่ว่า ไม่ชอบนั่งเรือเลย ถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ ไม่ชอบการนั่งหรือยืนทำอะไรบนอะไรที่มันโคลงเคลงได้ เช่น แพ เรือ เป็นต้น ถ้าหากยืนตรงกลางสะพานข้ามแม่น้ำนี่ จะไม่เป็นอะไร เพราะถึงอย่างไรมันก็เป็นสะพานที่มีตอม่อมั่นคง หรือถ้ายืนบนแพพลาสติก แต่อยู่บนสระว่ายน้ำนี่ ไม่เป็นไรเช่นกัน เพราะสระว่ายน้ำไม่ได้ลึกเท่าไหร่ (ถ้าลึกมาก ๆ อย่างสระกระโดดน้ำอาจจะวูบได้เหมือนกัน) ดังนั้น จึงพยายามหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ประกอบกับมีพี่ที่ทำงานเล่าให้ฟังว่า ถ้ามีโอกาสได้ไปตลาดโบราณสามชุก ให้ไปบ้านโค้กน่ะ เห็นรูปในอินเตอร์เน็ตแล้วสวยดี ข้าพเจ้าเลยค้นหาข้อมูลในห้อง Blue Planet ของ pantip.com เกี่ยวกับการเดินทางไปสามชุก ก็ได้รับคำตอบว่า ต้องไปขึ้นรถตู้ซึ่งมีคิวอยู่ที่แยกคอกวัว แถวถนนราชดำเนิน อยู่หลังร้านขายกาแฟ เมื่อข้าพเจ้าเล่าให้พิชิตฟัง ก็ยังนึกไม่ออกว่า หน้าตาการเดินทางจะเป็นยังไง ด้วยไม่เคยไปทั้งคู่ มอร์ก็ไม่เคยไป สรุปว่า ต้องดุ่มเดินทางดั้นด้นไปให้ถึงให้ได้ เนื่องจากตั้งใจไว้แล้ว

เช้าวันเสาร์ เราทั้งสามคน คือ พิชิต มอร์ และข้าพเจ้า ตื่นแต่เช้า เพื่อโบกรถแท็กซี่ไปแถวถนนราชดำเนิน พิชิตถามคนขับรถว่า รู้จักคิวรถไปสามชุก สุพรรณบุรีไหม คนขับรถก็รู้เพียงแต่จุดจอดแถวนั้น แต่ไม่รู้ว่าอยู่ตรอกซอยไหน เพราะมากมายหลายตรอกซอยเหลือเกิน เราจึงลงเดินไปสักพักเหลือบเห็นรถตู้คันหนึ่ง แล่นออกจากตรอก จึงเดินตรงไปถามคนขายของแถวนั้น ในที่สุดก็เจอ

การเดินทางไปสามชุกโดยรถตู้นี้ สะดวกสบายเป็นที่สุด มีคิวรถออกจากกรุงเทพ ฯ ทุกครึ่งชั่วโมง หากเต็มก่อน ก็จะออกเดินทางเลย วันนั้น คนขึ้นเยอะมาก เป็นทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางกลับบ้าน ค่ารถโดยสาร คนละ ๑๑๐ บาท ต่อเที่ยว ใช้เวลาราวสองชั่วโมงก็จะถึงตลาด เราเลือกที่นั่งท้ายสุดพร้อมกับชมทิวทัศน์ระหว่างทาง อำเภอสามชุกนี้ จะตั้งอยู่ก่อนถึงตัวอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ดังนั้น หากจะนั่งรถไปเที่ยวในเมืองก็ต้องหารถต่อเข้าไป เราออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ราว ๙ โมงครึ่ง ไปถึงตลาดราว ๑๑ โมงกว่า คนขับบอกจุดจอดขากลับ ซึ่งมีรถออกทุกครึ่งชั่วโมงเช่นเดียวกัน

ถ้าจะให้นิยามตลาดสามชุกตามความเห็นของข้าพเจ้า ก็คงต้องบอกว่า ตลาดสามชุกนี้เป็นเสมือนนาฬิกาที่ไม่ไหลไปตามเวลา หากแต่มีชีวิตที่สามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งปวง เป็นของเก่าที่กลับฟื้นคืนชีวิต เป็นแหล่งวัฒนธรรมของชุมชน และเป็นแหล่งขายไอเดียหรือความคิด เช่นเดียวกับถนนคนเดินของเมืองเชียงใหม่ บรรยากาศของตลาดจึงอบอวลด้วยมิตรไมตรี เราทั้งสามคนเห็นพ้องกันว่า ถ้ารับชิมขนมหรืออาหารที่แม่ค้าหรือพ่อค้าใจดีเหล่านั้น หยิบยื่นให้ตั้งแต่ซอยแรกไปจนถึงซอยสุดท้าย คงจะอิ่มมื้อเที่ยงเป็นแน่

ตลาดสามชุกมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง และร้านค้าที่เริ่มมีชื่อเสียงตามสื่อต่าง ๆ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ พิพิธภัณฑ์บ้านโค้ก ร้านถ่ายรูปโบราณศิลป์ธรรมชาติ โรงแรมอุดมโชค ร้านติ่มซำหัวฟูหยอง เป็นต้น ขนมหรืออาหารที่น่าอร่อยจนอดซื้อติดไม้ติดมือไม่ได้ เช่น หมี่กรอบ ที่รสชาติเข้าเคล้าแบบคนภาคกลาง (ไม่ใส่สีแบบคนเหนือ) ขนมสาลี่หลากรส ไอติมโบราณ หมูสามชั้นย่าง ที่ทำเอาพวกเราแทบอดใจไม่ไหว ขนมกล้วย ขนมลืมกลืน เป็นต้น บางเจ้าจะทำกันสด ๆ ให้เห็นตรงนั้นเลย มีนักท่องเที่ยวสนใจยืนชมมากมาย

มีเรื่องตลกอยู่ว่า เราทั้งสามคนหิวข้าว จึงเดินหาร้านอาหารแบบเจ เพราะมอร์ยังทานเจ ส่วนพิชิตต้องทานพวกผัดผักตามโปรแกรมดีท็อกซ์ (ไม่เกี่ยวกับเจอ่ะนะ) ส่วนข้าพเจ้าทานได้ทั้งสองแบบ เหลือบเห็นศูนย์กลางตลาดมีต้นโพธิ์ต้นใหญ่ และอาคารไม้กว้างขวางร่มรื่น มีคนนั่งทานข้าวอยู่เต็ม ที่สำคัญโต๊ะอาหารทั้งสามหม้อนั้น มีธงสีเหลือง (เจ) ปักอยู่ เรารีบเดินเข้าไปหา ขณะที่กำลังเปิดหม้อดูว่ามีกับข้าวอะไรบ้าง ก็ถามขึ้นว่า ขายยังไงครับ แม่ครัวที่ยืนอยู่หัวเราะร่วน .. ไม่ได้ขายหรอก กินฟรี ทำแจกทุกวันเนื่องในเทศกาลกินเจ อิ่มแล้ว จะบริจาคเท่าไหร่ก็ได้ โน่น ตู้บริจาคเงินอยู่นั่นไง.. แต่วววว หน้าแตกซะไม่มี ว่าแล้วเราทั้งสามก็อิ่มฟรีแต่ช่วยทำบุญเป็นปัจจัยต่อไป

การท่องเที่ยวจบลงประมาณชั่วโมงครึ่งเอง เราก็กลับไปที่จุดจอดรถที่อยู่ไม่ไกล จริง ๆ อยากไปเที่ยวต่ออีกแต่ว่าหายานพาหนะรับจ้างในการเดินทางไม่เจอ เลยต้องกลับกรุงเทพ ฯ ถึงราวเกือบบ่ายสามโมง โชคดีที่ว่า อีกชั่วโมงต่อมา คุณบอมก็เลิกอบรมพอดี เลยตามมาสมทบ ไปหาข้าวเย็นกินกันที่เซ็นทรัลพระราม ๓ ก่อนจะกลับมานั่งจั่วไพ่เฟรนด์ จนถึงเที่ยงคืน แล้วจึงหลับบำรุงความงามเพื่อสู้แดดที่บางปะอินในวันรุ่งขึ้น

หมายเหตุ ; สำหรับตอนจากนี้ไป จะเป็นเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าได้ไปท่องเที่ยวในช่วงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๕๐ ทั้งหมด ได้แก่ พระราชวังบางปะอิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ศิลปาชีพบางไทร แต่เนื่องจากจำนวนภาพที่ข้าพเจ้าคัดไว้นั้น ไม่สามารถจัดการให้จบภายใน ๑ ตอนได้ จึงขอขยายออกไปอีก ๓ ตอน ดังนี้
ตุลาคม ๕๐ พระราชวังบางปะอิน ตอนที่ ๑ พระนครศรีอยุธยา
๑๔ ตุลาคม ๕๐ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน ตอนที่ ๒ พระนครศรีอยุธยา
๑๔ ตุลาคม ๕๐ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

(โปรดติดตามตอนต่อไป ๑๔ ตุลาคม ๕๐ พระราชวังบางปะอิน ตอนที่ ๑ พระนครศรีอยุธยา)










บันทึกการเดินทาง.. สีสันแห่งชีวิตปลายฤดูฝน
๑๑ – ๑๔ ตุลาคม ๕๐
๑๔ ตุลาคม ๕๐ พระราชวังบางปะอิน ตอนที่ ๑ พระนครศรีอยุธยา

ภ.ม. ภาคิโน

เราพยายามตื่นแต่เช้าเพื่อที่จะได้มีเวลาเดินทางสู่พระราชวังบางปะอินก่อน ๑๑ โมงให้ได้ เนื่องจากคาดการณ์กันไว้ว่า คงใช้เวลาเดินทางราว ๒ ชั่วโมง พิชิตออกจากคอนโดไปก่อน โดยแวะไปรับรถเก๋งที่เช่าจาก Avis ไว้ กลับมารับเพื่อนที่เหลือ ซึ่งข้าพเจ้า บอม และมอร์ เตรียมกระเป๋าสำหรับเดินทางกลับบ้านตอนเย็นใส่หลังรถไปเลย

เราขับรถเดินทางโดยใช้เส้นทางขึ้นโทลเวย์ มุ่งหน้าสู่บางปะอิน ผ่านรังสิต เห็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตอยู่ขวามือลิบ ๆ ปรากฎว่า ขับมาได้หน่อยนึงก็เห็นป้ายบอกทางบางปะอินแล้ว คำนวณดูเวลาแล้ว จะใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษเท่านั้น ดังนั้น เราจึงมีเวลาเหลือเฟือที่จะเดินชมทิวทัศน์ในพระราชวังบางปะอินได้อย่างจุใจ (แม้ว่าจะหลงบ้างก็ตาม เพราะสมาชิกบนรถไม่มีใครคุ้นเส้นทางสักคน ต้องอาศัยกางแผนที่อย่างเดียว)

เราจอดรถบริเวณด้านข้างพระราชวังบางปะอิน ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดนิเวศธรรมประวัติพอดี โดยมีแม่น้ำกั้นไว้ วางแผนกันไว้ว่าออกจากพระราชวังเสร็จถ้ามีเวลาเหลือ จะนั่งกระเช้าข้ามฟากซึ่งใช้คนลากจูงห้อยบนลวดสลิง ไปเยี่ยมนมัสการวัดนิเวศ ฯ เสียหน่อย มอร์บอกว่า กระเช้านี้ ใช้บรรทุกเฉพาะคนดีมีบุญ ใครไม่ใช่คนดีอาจโดนคนลากจูงเปิดพื้นกระเช้าปล่อยลงกลางน้ำดื้อ ๆ ได้ (ตรงนี้เป็นมุขฮาอ่ะนะ ไม่ใช่เรื่องจริง)

พระราชวังบางปะอินนั้น สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นที่แปรพระราชฐานของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ครั้งสมัยพระเจ้าปราสาททอง ปฐมวงศ์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง เนื่องด้วยชัยภูมิที่อยู่ติดแม่น้ำและมีสภาพเป็นเกาะงดงาม มีหมู่ไม้ร่มรื่น รวมถึงอยู่ไม่ไกลจากตัวพระนครมากนัก ต่อมาถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสและค้นพบว่า บริเวณเกาะบางปะอินเคยเป็นพระราชวังเดิมมาก่อน จึงทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ แและต่อเติมขยับขยายเรื่อยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชวังบางปะอินจึงได้มีรูปร่างอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

พระราชวังบางปะอิน มีสิ่งปลูกสร้างน่าสนใจมากมาย จะขออธิบายรายการตามที่คณะของข้าพเจ้าได้เดินชม ดังนี้
หอเหมมณเฑียรเทวราช ประดิษฐานรูปปั้นพระเจ้าปราสาททอง อยู่บริเวณด้านหน้าพระราชวัง
กระโจมแตร
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เป็นอาคารทรงไทยจตุรมุข หน้าบันทั้งสี่ทิศมีตราแผ่นดินประดับอยู่ และเป็นที่ประดิษฐานพระรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่กลางสระน้ำ
สะพานตุ๊กตา
หอวิฑูรทัศนา เป็นหอคอยสูง สำหรับชมทิวทัศน์โดยรอบเกาะบางปะอิน
พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ เป็นพระที่นั่งที่สร้างแบบเก๋งจีน ภายในตกแต่งเลียนแบบอย่างพระราชวังจีน ประดิษฐานพระป้ายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระป้ายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร เดิมเป็นเรือนสวิสชาเลต์ ปัจจุบันสร้างทดแทนของเดิมที่ถูกไฟไหม้ไป (จะขอกล่าวถึงโดยละเอียดในตอนต่อไป)
เรือนบุปผาประพาส เป็นบ้านตุ๊กตาเล็ก ๆ เป็นที่ประทับพักพระราชอิริยาบถ
สะพานเสาวรส เป็นสะพานที่มีไม้ระแนงกั้นยาว
พระที่นั่งวโรภาสพิมาน เป็นพระที่นั่งที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมภายในได้ เป็นท้องพระโรงที่ใช้เสด็จออกว่าราชการ
สภาคารราชประยูร เป็นที่แสดงนิทรรศการพระราชวังบางปะอิน

ย้อนไปตรงพระที่นั่งวโรภาสพิมาน เนื่องจากพระที่นั่งนี้เป็นที่ประดิษฐานนพปฎลเศวตฉัตร ผู้ที่จะเข้าไปได้ต้องแต่งตัวเรียบร้อย บอมถือโอกาสอนุมานว่าตัวเองเป็นหญิงแล้ว จึงไปยืมผ้าถุง (ผืนสวยมาก ๆ) มานุ่งพันทับกางเกงขายาวอีกรอบ พอก้าวผ่านประตูเข้าไปเท่านั้นแหละ เครื่องปรับอากาศทำงานได้เย็นฉ่ำ และแล้ว.. ข้าพเจ้ากับพิชิตก็พลันต้องทรุดตัวลงกราบกับพื้นหน้าพระราชอาสน์ภายใต้นพปฎลเศวตฉัตรทันที โดยไม่มีการนัดแนะกันล่วงหน้ามาก่อน เป็นความรู้สึกเคารพรักและเทิดทูนอย่างยิ่ง เราทั้งหมดนั่งตรงพื้นนั้นนานเท่าที่จะสามารถซึมซับเอาบรรยากาศย้อนหลังไปเมื่อครั้งพระราชวังแห่งนี้ยังคลาคล่ำไปด้วยชาวังและผู้คนมากมาย ตรงหน้าเรานี่เอง องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่จริง และเรา.. กำลังเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่จริงเช่นกัน (ทำเอาคณะนักท่องเที่ยวฝรั่งที่ตามมาติด ๆ เป็นงงว่าคนกลุ่มนี้ทำอะไรกัน)

ภายในพระที่นั่งวโรภาสพิมาน ห้ามบันทึกภาพใด ๆ ทั้งสิ้น มีป้ายติดไว้ทั่ว แต่ยังมีคนไทยสองคน ที่บังอาจยกกล้องจะถ่ายภาพจึงโดนเจ้าหน้าที่เอ็ดเสียงดัง แถมยังทำหน้าทำตาประมาณไม่รู้จักสำนึกผิดเลย อายคนต่างชาติเอามาก ๆ เขาคงคิดว่าคนไทยบางคนคงอ่านหนังสือไทยไม่ออก

เราเดินทางออกจากพระราชวังบางปะอินด้วยความอิ่มใจ ก่อนจะมุ่งหน้าตรงไปยังในตัวเมืองอยุธยา ซึ่งอยู่ไม่ไกล เพื่อไปหามื้อเที่ยงทานกัน ตกลงวัดนิเวศ ฯ คงไม่ได้ไปแล้ว เอาไว้คราวหน้าถ้ามีโอกาส คงจะแวะมาเยี่ยมอีก


(โปรดติดตามตอนต่อไป ๑๔ ตุลาคม ๕๐ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน ตอนที่ ๒ พระนครศรีอยุธยา)













บันทึกการเดินทาง.. สีสันแห่งชีวิตปลายฤดูฝน
๑๑ – ๑๔ ตุลาคม ๕๐
๑๔ ตุลาคม ๕๐ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน ตอนที่ ๒ พระนครศรีอยุธยา

ภ.ม. ภาคิโน

ข้าพเจ้ามีงานอดิเรกทำอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ การสะสมบทความจากหนังสือพิมพ์ หรือวารสารต่าง ๆ เก็บไว้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสำคัญที่ควรค่าแก่การศึกษา เช่น งานพระราชพิธีพระบรมศพและงานออกพระเมรุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สิงหาคม ๒๕๓๘ - มีนาคม ๒๕๓๙), พระราชพิธีกาญจนาภิเษก (มิถุนายน ๒๕๓๙), การเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธที่ ๒ แห่งอังกฤษ (ตุลาคม ๒๕๓๙) เป็นต้น เหตุการณ์ครั้งหลังสุดนี้เอง ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักกับชื่อ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน ในคอลัมน์หนึ่งของหนังสือพิมพ์ในฐานะสถานที่จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวายสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ เมื่อคราวเสด็จไปทอดพระเนตรแสง สี เสียง ณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

รูปถ่ายพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรในสายตาข้าพเจ้าขณะนั้น ช่างดูงดงาม ชวนฝันยิ่งนัก เนื่องด้วยสถาปัตยกรรมแบบวิคทอเรียนและสีของพระที่นั่งซึ่งทาสีโทนสีม่วง – ขาว จากประวัติที่ลงรายละเอียดไว้ในคอลัมน์ กล่าวว่า พระที่นั่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นแบบใหม่ทั้งสิ้น เพราะของเดิมนั้น สร้างแบบสวิส ชาเล่ต์ มีระเบียงโดยรอบ และทาสีเขียวสลับขาว บังเอิญถูกไฟไหม้หมดในการซ่อมแซมเมื่อคราว พ.ศ. ๒๔๘๑ ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการจัดสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ให้เป็นแบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งเปลี่ยนโทนสีเดิมจากเขียว – ขาว เป็นม่วง – ขาว ตามสีที่สมเด็จ ฯ ทรงโปรด

อีกเหตุผลหนึ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจพระที่นั่งองค์นี้ มีที่มาจากการที่ข้าพเจ้าอยากหารูปเขียนขนาดใหญ่มาประดับห้องรับแขกที่บ้าน คะเนว่าควรมีขนาดกระดาษ ๑๐๐ ปอนด์พิเศษ ตอนนั้นข้าพเจ้ากำลังขึ้นชั้นปีที่ ๔ (เมษายน ๒๕๔๓) มีความรู้ด้านการเขียนแบบวิศวกรรมมาบ้าง เนื่องจากคณะที่เรียน (อุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) จะบังคับให้เรียนหลักสูตร Engineering’s Drawing ๒ คอร์ส ซึ่งสอนโดยอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงตัดสินใจที่จะวาดรูปเอง โดยกะว่าจะวาดแบบอาคารทรงยุโรป แต่จนปัญญาด้วยหาแบบมาจินตนาการไม่ออก สุดท้ายนึกถึงคอลัมน์เกี่ยวกับพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรขึ้นมาได้ เลยเปิดกรุหนังสือแล้วเอาออกมานั่งดูเป็นแบบวาดรูป อันที่จริง ก็ไม่ได้ลอกแบบมาทั้งหมด หากพยายามวาดอาคารในสไตล์ของเราและดูแบบเฉพาะรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ระแนง ชายคา มุข ลายบนผนังตึก เป็นต้น จนสุดท้ายก็สำเร็จได้ด้วยดี เพิ่งจะมาเปลี่ยนรูปนี้ออกเมื่อสองปีก่อน โดยเอากระดาษสาประดับใบไม้ที่ซื้อติดมือมาจากพระตำหนักดอยตุงมาใส่กรอบแทน ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นภาพพิมพ์เกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี และกัณฑ์กุมาร ซึ่งซื้อมาจากพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน เมื่อคราวไปกรุงเทพ ฯ ปีกลาย

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มาเห็นพระที่นั่งองค์นี้อย่างเต็มตาเสียที เฉพาะถ่ายภาพจุดนี้จุดเดียวก็หมดไปโขอยู่เหมือนกัน จึงไม่แปลกที่ข้าพเจ้าบอกกับพิชิต ขณะเดินเที่ยวในพระราชวังบางปะอินว่า ..อยากเห็นพระที่นั่งองค์นี้มากที่สุด

การท่องเที่ยวสีสันชีวิตช่วงปลายฤดูฝนนี้ ต้องขอยกให้พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน เป็นความประทับใจที่สุดของข้าพเจ้า

(โปรดติดตามตอนต่อไป ๑๔ ตุลาคม ๕๐ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา)

บันทึกการเดินทาง.. สีสันแห่งชีวิตปลายฤดูฝน
๑๑ – ๑๔ ตุลาคม ๕๐
๑๔ ตุลาคม ๕๐ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

ภ.ม. ภาคิโน

เที่ยงตรงพอดี เราแวะเข้าวัดพนัญเชิง ซึ่งอยู่ติดกับถนนที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมือง เห็นผู้คนและรถรามากมายน่าดู จึงแวะเข้าไปนมัสการพระประธานองค์ใหญ่สมัยอยุธยา ซึ่งสร้างอยู่ในพระวิหารหลังแคบทว่า สูงใหญ่ เช่นเดียวกับที่วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพ ฯ ดังที่ข้าพเจ้าเคยเล่าให้ฟังว่า เป็นความเชื่อของผู้คนสมัยนั้นที่มักสร้างพระพุทธรูปและพระวิหารหรืออุโบสถให้คล้ายคลึงกับพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า สมัยพุทธกาล

เราเดินทางต่อมาถึงยังทางแยกที่จะขึ้นถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เข้าสู่ตัวเมืองอยุธยา เลี้ยวเลียบเลาะตามแม่น้ำป่าสักเจอร้านอาหารริมน้ำอยู่บนแพ ชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว (ถ้าเพื่อนร่วมทริปจำได้โปรด reply all แจ้งมาด้วย) รู้แต่ว่าอาหารและบริการแย่มาก การทานอาหารบนแพนี่ไม่ดีสำหรับข้าพเจ้าเอาซะเลย เพราะเวลาที่เรือขนทรายลำใหญ่ ๆ แล่นมา คลื่นจะซัดแพจนโยนขึ้นลง ตอนแรกข้าพเจ้านั่งชมวิวติดน้ำเลยแหละ แต่พอเจอเข้าแบบนี้.. ต้องขอเปลี่ยนที่กับมอร์ทันที

เราเดินทางต่อไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างพากันมากราบไหว้พระพุทธรูปตามวัดต่าง ๆ เช่น วิหารวัดมงคลบพิตร วัดธรรมิกราม เป็นต้น ส่วนพวกเราเห็นทีจะเริ่มเดินไม่ออกแล้ว เพราะล้าจากการเที่ยวชมพระราชวังบางปะอินมาครึ่งวัน จึงนั่งรถแล่นวนรอบเมืองโบราณ วัดไหนแวะได้ก็จะเลี้ยวเข้าไปจอดชม เสียดายที่ถ่ายรูปมาให้เยอะกว่านี้ไม่ได้ เนื่องจากข้าพเจ้าดันลืมเอาสาย Data link ไป เครื่องคอมพิวเตอร์ห้องพิชิตก็อ่านการ์ดไม่ได้ โน้ตบุ๊กของมอร์ก็อ่านไม่ได้อีก เลยไม่ได้โอนรูปใส่ Handy drive ไว้ (กลับกลายเป็นว่าโชคดีที่ไม่ได้เอาใส่ Handy drive ไว้ เพราะข้าพเจ้าลืมมันไว้ในรถที่เช่ามา ดีที่พิชิตโทร ฯ ไปศูนย์รถเลยเจอในภายหลัง)

ตอนที่พวกเราเดินเข้าไปในวิหารวัดธรรมิการามนั้น เราเห็นพ้องกันว่า หากอยุธยายังคงยืนหยัดมาถึงทุกวันนี้ได้ จะงดงามโอ่โถงเพียงใด แท่นอาสนะที่บัดนี้เหลือเพียงซาก คงจะมีแต่ภัตตาหารถวายพระสงฆ์เต็มไปหมด ข้าพเจ้าพยายามหามุมถ่ายรูปสวย ๆ มาฝาก แต่มองไปทางใดก็ต้องอดใจหายเสียดายความรุ่งเรืองราชอาณาจักรโบราณแห่งนี้ไม่ได้..

เราออกจากตัวเมืองอยุธยาเกือบบ่ายสามโมง จุดหมายสุดท้ายของวันนี้ คือการไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ข้าพเจ้าเผลอหลับไปเมื่อใดก็ไม่รู้ตัว ตื่นมาได้ยินเสียงน้องมอร์บอกทางเสียงดัง พอเห็นข้าพเจ้าตื่นแล้ว ก็เปลี่ยนหน้าที่กัน มอร์ก็เลยหลับต่อ เราต้องฝ่าพายุฝนฟ้าคะนองหนักมากกว่าจะไปถึงศูนย์ศิลปาชีพเกือบสี่โมงเย็นแล้ว เผอิญวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ อาคารแสดงผลงานเปิดถึงห้าโมงเย็น สินค้าที่นำมาจัดแสดงดูสวยงามมาก โดยเฉพาะพวกงานประณีตศิลป์ชั้นสูง เช่น งานถมทอง งานจักสานลิเภา เป็นต้น มีราคาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักแสนบาท

เราเดินทางกลับมายังกรุงเทพ ฯ ประมาณชั่วโมงหนึ่ง ก็ถึงสถานีหมอชิต แวะไปส่งมอร์กลับสระบุรีก่อน ส่วนข้าพเจ้า บอม และพิชิต ไปหามื้อเย็นทานกัน เนื่องจากข้าพเจ้าตีตั๋วตอนสองทุ่มครึ่ง ร่ำลาพิชิตเสร็จก็นั่งรถโดยสาร หลับสบายจนถึงดอยติโดยสวัสดิภาพ เป็นอันจบบันทึกการเดินทางเพียงครั้งนี้

ภาคผนวก
ภ.ม. ภาคิโน

มีแฟน ๆ ผู้อ่านหลายคน ส่งคำถามใคร่รู้เกี่ยวกับเพื่อน ๆ ของข้าพเจ้าก๊กนี้ว่าเป็นใคร ทำอะไรที่ไหนกัน ทำไมสนิทกันจัง ในบันทึกหมวกแดง เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของข้าพเจ้า เคยเล่าถึงพวกเธอทั้งหลายเหล่านี้ว่า

...และหนุ่ม หนึ่งในกลุ่มเพื่อนสนิทแปดคนของผม (เพื่อนสนิทของผมที่ถือเป็นก๊กกระเทยอันแนบแน่นชิดเชื้อมากที่สุด มีอยู่ ๘ คน ประกอบด้วย ทุย ทวิช บอม หนุ่ม มอร์ แก๊ม วันชัย และผม นอกจากเราจะเป็นแบบเดียวกันแล้ว เรายังรู้จักและผูกพันกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เรียนโรงเรียนเดียวกัน คือ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย บางคนรู้จักกันตั้งแต่เรียนอนุบาล หรือชั้นประถม บางคนเพิ่งรู้จักกันเมื่อชั้นมัธยมศึกษา แต่รู้สึกผูกพันกันตั้งแต่ชาติก่อน ครอบครัวของพวกเรารู้จักซึ่งกันและกัน และที่สำคัญ ..ทั้งรุ่นเรามีกันอยู่แค่เนี่ยแหละ สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมพวกเราให้สนิทสนมเป็นพิเศษ)

พิชิต (หนุ่ม) ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ธนาคารกสิกรไทยสำนักงานใหญ่ ครอบครัวของข้าพเจ้าและพิชิตรู้จักกันตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เคยเรียนอนุบาลด้วยกัน ก่อนจะออกไปเรียนต่อมงฟอร์ต จนถึงชั้นม. ๓ แล้วสมัครเรียนต่อที่ปรินส์ ข้าพเจ้ากับพิชิตสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ต้องเรียนม. ๖ ทำให้เรียนไวกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เหลือ ตอนนี้ พักอยู่ที่คอนโดแถวถนนสาธร ย่านหรูใจกลางกรุงเทพ ฯ เป็นที่พักของข้าพเจ้าตอนไปเที่ยวในครั้งนี้ (ถึงพิชิต.. มีคนชมว่าหน้าตาหล่อดี ควรจะดีใจหรือเสียใจย่ะ)

บอม (พงศ์มหัต) ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ GUSCO นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ครอบครัวบอมสนิทกับครอบครัวข้าพเจ้า และมีน้ำใจต่อข้าพเจ้ามากเหลือเกิน บอมเป็นเพื่อนข้าพเจ้าที่ปรินส์ตั้งแต่ประถม และด้วยการที่เราทั้งสองอยู่ลำพูนเหมือนกัน จึงมีโอกาสพบกันบ่อยกว่าเพื่อนคนอื่นในก๊ก (หลายคนชมว่าบอมถ่ายรูปสวย แต่นมกับแขนไม่สัมพันธ์นะจ๊ะ.. ควรปรับปรุง)

มอร์ (ภานุพงษ์ - ดรีม) ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ปูนนกอินทรีแดง สระบุรี คุณแม่ของน้องมอร์กับคุณน้าของข้าพเจ้าเป็นเพื่อนสมัยเรียนวิทยาลัยครู เราเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยประถมเช่นกัน มอร์ทำงานไกลจากพวกเราที่เหลือทั้งหมด นาน ๆ ครั้งจึงได้เจอกันที นอกนั้นก็โทรศัพท์คุยกัน ครั้งสุดท้ายที่มอร์มาเจอข้าพเจ้าที่ลำพูน คือตอนงานบวชของข้าพเจ้าเมื่อสองปีก่อน ตอนนี้มอร์พักอยู่ที่สระบุรี ที่สามารถมาเจอกันในการเที่ยวครั้งนี้ เพราะมอร์มาอบรมที่กรุงเทพ ฯ ช่วงนั้นพอดี เลยแวะมาค้างด้วยกันได้

สำหรับคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ร่วมทริปนี้ด้วย แต่ก็ถูกกล่าวถึงต่อหน้าและนินทาลับหลัง มีดังนี้
ทุย (จตุรงค์ - แม็ค) ปัจจุบันเป็นสจ๊วตอยู่ที่บางกอกแอร์เวยส์ รู้จักกันช่วงม. ต้น และเริ่มสนิทกันเรื่อย ๆ จริง ๆ เป็นคนเชียงของ เชียงราย ทุยไปเยี่ยมข้าพเจ้าในค่ายทหารหลายครั้งเพราะตอนนั้นบ้านอยู่ใกล้ค่ายมาก (แถวอำเภอแม่ริม) ตอนนี้พักอยู่คอนโดแถวพระราม ๙ กรุงเทพ ฯ (รูปตอนงานบวชที่ถ่ายกันแปดคน รู้สึกว่าทุยจะหล่อที่สุด.. อุ๊บส์)

ทวิช (เค) ปัจจุบันเป็นผู้แทนยาของ MSD จริง ๆ เป็นคนพร้าว เชียงใหม่ เป็นเพื่อนกันตั้งแต่ม. ต้น โดยมีคนแนะนำให้รู้จักกันโดยบังเอิญ เริ่มสนิทกันมากขึ้นเพราะเกิดถัดวันกันเพียงวันเดียว (ไม่น่าจะห่างกัน ๒๔ ชั่วโมง) ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเหมือนกัน ยังไม่ได้สืบว่าหมอทำคลอดคนเดียวกันไหม ดังนั้น จึงมีอะไรที่คล้าย ๆ กัน เช่น ชอบแต่งเรื่องต่าง ๆ ซึ่งข้าพเจ้าจะถนัดเรื่องสั้นหรือบทความ (ถึงตรงนี้ เพื่อนร่วมก๊กอาจจะต่อให้ว่า ..และเวิ่นเว้อ เพ้อเจ้อเหมือนกัน..) ส่วนทวิชจะชอบวาดการ์ตูนมาก เคยตีพิมพ์ด้วย ตอนที่ทวิชเป็นเภสัชกรอยู่ที่เชียงราย ข้าพเจ้าเคยแบกเป้ขึ้นไปเยี่ยมบ่อย ๆ ตอนนี้ย้ายออกมาพักอยู่แถวห้วยแก้ว เชียงใหม่

แก๊ม (เรมีย์) แก๊มเป็นกระเทยที่สวยที่สุดในก๊กเรา เป็นหญิงสมบูรณ์แล้วเรียบร้อย (แต่ชอบแต่งตัวที่ทำให้ผู้คนนึกว่ายังเป็นกระเทยอยู่) แก๊มสนิทกับข้าพเจ้ามากสมัยเรียนประถมและม. ต้น เมื่อครั้งข้าพเจ้าอยู่เชียงใหม่ บ้านเราก็อยู่แถวสันป่าข่อยใกล้กัน แก๊มเป็นนักดนตรีชั้นเลิศ โดยเฉพาะเปียโน ได้รับรางวัลนับไม่ถ้วน ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์สอนดนตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่ และพักอยู่ที่คอนโดแถวห้วยแก้วใกล้กับทวิช (ล่าสุดเป็นนักธุรกิจแอมเวย์)

วันชัย (ฉัตรกนก – ลูกหยี) เมื่อก่อนวันชัยอ้วนที่สุดในกลุ่มด้วยน้ำหนักกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม แต่ภายหลังจากไปผ่าที่โรงพยาบาลที่กรุงเทพ ฯ ตำแหน่งนี้จึงตกเป็นของข้าพเจ้าทันที วันชัยเป็นตัวแทนความสนุกสนานในกลุ่ม มีวันชัยที่ไหนมีเฮที่นั่น เพื่อน ๆ ในก๊กต่างเคยไปนอนบ้านวันชัยซึ่งอยู่แถวป่าตัน – บ้านท่อ เชียงใหม่มาแล้วทั้งนั้น (ไปบ้านวันชัย เหมือนได้ไปเยือนต่างประเทศ เพราะพูดจีนกันทั้งบ้าน) เป็นแหล่งนัดพบกันสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ก่อนจะวางแผนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป (ล่าสุดก็เป็นนักธุรกิจแอมเวย์.. เช่นเดียวกับแก๊ม)

บ้านศรีบุญยืน
๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๐ ๒๑๒๔ น.
สงวนลิขสิทธิ์



Create Date : 03 กันยายน 2551
Last Update : 3 กันยายน 2551 19:22:07 น.
Counter : 740 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PeeEm
Location :
ลำพูน  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีครับ ผมชื่อ ภาคิน มณีกุล ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตวาซาบิรายใหญ่ของประเทศ งานอดิเรกของผม นอกจากส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา คือ ปั่นจักรยานและเล่นแบดมินตัน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์และชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปหรือพักผ่อนแล้ว ผมยังชอบเขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายอีกด้วยครับ

เพื่อน ๆ คนไหนเข้ามาอ่านก็สามารถติชมได้นะครับ ขอบคุณครับ
New Comments
กันยายน 2551

 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30