ตอนที่ 6 ศรีบุญยืน (2)
ตอนที่ ๖ ศรีบุญยืน (๒)

ภายหลังจากที่อุ้ยหรือยายทวดของข้าพเจ้าจากไป ความห่างเหินก็เข้าคลืบคลานอย่างช้า ๆ ครอบครัวของข้าพเจ้าไม่ค่อยได้มาบ้านศรีบุญยืนเหมือนก่อนหน้านี้ ยกเว้นธุระจำเป็นจริง ๆ สวนลำไยก็จ้างคนมาใส่น้ำแทน นานครั้งคุณตาจะขี่รถมอเตอร์ไซค์มาดูแลใส่ปุ๋ยหรือติดต่อธุระอื่น ๆ ในที่สุดพี่น้องของคุณยายก็แบ่งมรดกที่ดินกัน โดยสามพี่น้องที่อาศัยและเคยอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ได้แก่ คุณยาย พี่สาวของคุณยาย และน้องชายของคุณยายที่เป็นกะเทยอีกคน ได้ที่ดินมรดกสามแปลงติดกันด้านหน้าติดถนนใหญ่ ทำให้ชาวบ้านศรีบุญยืนมักรู้จักกันในนาม บ้านสามพี่น้องสินธุปัน หากเลี้ยวขวาตรงวงเวียนศรีบุญยืนมาตามถนน พอสุดทางโค้งจะเห็นที่ดินสามแปลงอยู่ติดกันทางขวามือ แปลงแรกเป็นของนายคำมูล หรือกนกอร สินธุปัน (ซึ่งเป็นผู้ดูแลยายทวดจนกระทั่งถึงแก่กรรม) ตรงกลาง เจ้าของคือ นางศรีนวล สินธุปัน แซ่อ่อย และสุดท้ายคือ นางจันทรา สินธุปัน มณีกุล คุณยายของข้าพเจ้านั่นเอง วันแบ่งที่ดินนี้ มีเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าจำได้ดีอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ช่วงเย็น เกิดลมกรรโชกแรง ฟ้ามืดครึ้ม คุณตาคำมูล จึงนำส้มป่อยมาเผา เนื่องจากคนโบราณเชื่อว่า ควันของมันจะช่วยไล่ลมได้ แต่การณ์กลับเป็นว่า ลมยิ่งแรงจนพัดเอากองส้มป่อยที่กำลังส่งควันขาวกระจาย กระจุยไปคนละทิศละทางเสียก่อน เล่นเอาพี่น้องและลูกหลานหัวร่องอหายกันถ้วนหน้า

ถัดมาไม่กี่ปี ถนนลูกรังที่ตัดผ่านหมู่บ้านศรีบุญยืนได้ลาดยางเป็นถนนอย่างดีแล้ว จึงทำให้เดินทางได้สะดวกมากขึ้น จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๓๖ พวกเราก็ปลูกบ้านขึ้นบนที่ดินมรดกซึ่งติดกับสวนลำไยที่คุณตาซื้อไว้ เพื่อย้ายกลับมาอยู่ลำพูนอย่างถาวร ให้คุณยายได้อยู่ท่ามกลางพี่น้องของท่าน บ้านของเราจึงมีบริเวณกว้างขวางพอสมควร เป็นลักษณะบ้านสวนอย่างแท้จริง

ช่วงย้ายมาอยู่บ้านศรีบุญยืนในระยะแรก ครอบครัวของเราต้องเผชิญกับความลำบากอย่างยิ่งในการทำมาหากินต่าง ๆ บ้านคนก็ยังไม่หนาแน่น ตลาดก็เล็กไม่เหมือนตลาดสันป่าข่อยที่เชียงใหม่ ไม่มีร้านข้าวมันไก่ ไม่มีคลินิก ไม่มีร้านขายยา ร้านขายของชำก็ราคาแพง แต่ในเวลาไม่ถึง ๕ ปีถัดมาข้าพเจ้าก็สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย ห้องสมุดประจำหมู่บ้านถูกรื้อไป กลายเป็นวงเวียนเล็ก ๆ อยู่ตรงนั้นแทน ตลาดเช้ามีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนตลาดเย็นหรือกาดแลงก็ปรับปรุงให้มีอาหารการกินจำหน่ายมากขึ้น สวนลำไยสองข้างทางถนนเข้าหมู่บ้าน และตรงข้ามบ้านของข้าพเจ้าถูกแทนที่ด้วยร้านค้า บ้านเดี่ยวทันสมัย ที่สำคัญคือมี หอพัก ทั้งชั้นเดียว และ ๒ – ๓ ชั้นผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด เพื่อรองรับจำนวนพนักงานจากต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งขึ้นบริเวณหนองเป็ด ตำบลมะเขือแจ้ และสันป่าฝ้าย ตำบลบ้านกลาง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นบริเวณที่ต้องข้ามแม่น้ำกวงไปยังอีกฝังหนึ่ง จึงอยู่ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจท้องถิ่นกำลังขยายตัวสูงอย่างเห็นได้ชัด

ข้าพเจ้าลองเปรียบเทียบชุมชนศรีบุญยืน กับชุมชมสันป่าข่อยที่จากมา พบว่า ทั้งสองชุมชนมีความคล้ายคลึงกันหลายประการ ประการแรก คือทำเลที่ตั้ง อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำปิง หรือ แม่น้ำกวง ประการที่สองใกล้กับสถานีรถไฟ (สถานีรถไฟลำพูนอยู่ใกล้บ้านข้าพเจ้าราว ๑ กิโลเมตร ใกล้กว่าระยะทางระหว่างบ้านที่สันป่าข่อยกับสถานีรถไฟเชียงใหม่) ประการที่สาม เป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญ เพราะตั้งอยู่ติดกับถนนใหญ่ คือ ถนนเจริญเมือง หรือถนนศรีบุญยืนซึ่งเป็นถนนทางลัดไปนิคมอุตสาหกรรม ฯ ประการที่สี่ มีสถานที่สำคัญมากมาย ในกรณีชุมชนสันป่าข่อย ได้แก่ โรงเรียนปรินส์ ฯ ดารา ฯ เชียงใหม่คริสเตียน ค่ายกาวิละ มหาวิทยาลัยพายัพ สำหรับชุมชนศรีบุญยืน ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ โรงเรียนจักรคำคณาทร เป็นต้น ประการที่ห้า มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจและมีชื่อเสียงระดับจังหวัด ได้แก่ วัดสันป่าข่อย สมัยท่านเจ้าคุณพระศรีธรรมนิเทศก์เป็นเจ้าอาวาส ก็เปิดวัดเป็นโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมชื่อดัง ท่านเจ้าคุณเองก็เป็นนักเทศน์ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง ส่วนวัดศรีบุญยืนนั้น สมัยท่านเจ้าคุณพระศรีศิลป์สุนทรวาทีเป็นเจ้าอาวาส ท่านดำรงตำแหน่งเป็นถึงเผยแผ่จังหวัดลำพูน เป็นนักปาฐกถาทางสถานีวิทยุที่ได้รับความนิยมมากมายเช่นกัน ประการสุดท้าย มีตลาดขนาดใหญ่ในชุมชน คือ ตลาดสันป่าข่อย และตลาดศรีบุญยืน (ตลาดเช้า – ตลาดเย็น) ทั้งหกประการจึงเป็นความบังเอิญที่มาเหมือนกันระหว่างสองชุมชน ในทัศนคติของข้าพเจ้า

นับตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๖ ที่ข้าพเจ้าพักอาศัย ณ บ้านศรีบุญยืนแห่งนี้ ก็ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นไปในลักษณะที่รวดเร็วดุจพริบตา นอกเหนือจากที่เกริ่นไว้ในตอนต้น ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือสวนลำไยต่างถูกแปรสภาพให้กลายเป็นหอพักและอาคารพาณิชย์แบบต่าง ๆ เช่น ที่ดินตรงหัวมุมวงเวียนศรีบุญยืน ก่อนถึงบ้านของข้าพเจ้า เคยเป็นสวนลำไย และหอศาลเจ้า ต่อมาก็ถูกทำพิธีสูตรถอนรื้อออก สร้างเป็นหอพักและอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ตรอกเล็ก ๆ ที่เชื่อมหมวดท่าเดื่อเข้ากับถนนกลาง ตรงข้ามตลาดเย็นศรีบุญยืน แต่เดิมเป็นป่าไผ่ขนาดยักษ์รกร้าง หนองน้ำเขียวคร่ำด้วยตะไคร่ ทางเดินเท้าก็แสนเปลี่ยวและคับแคบ ไม่ใคร่จะมีผู้คน หรือยานพาหนะสัญจรไปมา ปัจจุบันกลายเป็นถนนลาดคอนกรีตอย่างดี ป่าไผ่ถูกไถทิ้ง ถมดินสร้างเป็นหอพักและอาคารพาณิชย์ ตรอกสายนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยวเฉกเดิม มีการสัญจรคึกคักตลอดเวลา บริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เมื่อก่อนดูขลังและลึกลับ ถูกความเจริญเข้ามากลืนกินจนบั่นทอนอารมณ์เหล่านั้นไป เช่น หอผีปู่ย่าของบรรพบุรุษตระกูลของข้าพเจ้าแต่เดิมอยู่ในสวนค่อนข้างเงียบสงบ ปัจจุบันล้อมรอบด้วยรั้วซีเมนต์สูงโดยมีหอนั้นตั้งอยู่โดด ๆ (ใครอยากเยี่ยมชม สามารถเดินเข้าไปหลังบ้านที่ขายไก่ย่าง - ส้มตำ ก่อนถึงร้าย 7 – 11 สาขาศรีบุญยืนได้) จนแทบไม่เหลือความเงียบสงบใด ๆ ส่วนศาลพ่อบ้านหรือ หอเสื้อบ้าน ซึ่งเดิมอยู่ในทำเลเกือบค่อนไปทางท้ายหมู่บ้านที่ค่อนข้างเปลี่ยว คณะกรรมการหมู่บ้านศรีบุญยืน ก็แบ่งพื้นส่วนหนึ่งก่อสร้างเป็นโรงประปาหมู่บ้านด้วย แม้แต่ตรงฝ่ายวังทอง ของหมู่บ้านวังทองเองที่เคยเป็นลานดินกว้าง ๆ นั้น ก็มีพ่อค้าแม่ขาย ไปตั้งหาบเร่แผลงลอยขายอาหาร จนขยับขยายเป็นร้านอาหารกึ่งถาวรจำนวนมากดังเช่นปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาอาศัยภายหลังปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงไม่อาจเชื่อได้ว่า แต่เดิมหมู่บ้านศรีบุญยืนเคยสงบเงียบเพียงไร ทว่าในท่ามกลางความเจริญศิวิไลซ์ สิ่งหนึ่งที่ตั้งมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ การที่ ‘วัด’ ยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจ และศูนย์กลางการวางแผนพัฒนาชุมชนให้แข็งแกร่ง

ในความทรงจำของข้าพเจ้า วัดศรีบุญยืนมีงานปอยหลวง (งานปอยหลวง คือ งานฉลองสิ่งก่อสร้างของวัด โดยแต่ละบ้านจะจัดทำครัวทาน มีลักษณะเป็นคานหามประดับด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ ช่อตุง และปัจจัยทำบุญ แห่แหนไปยังวัด เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ร่วมกัน ชาวบ้านจากต่างถิ่นก็จะมาทำบุญด้วยโดยเป็นในลักษณะเดินทางไปยังบ้านที่ตนรู้จัก รับประทานอาหารสังสรรค์ร่วมกัน นัยว่า นอกจากจะทำบุญแก่วัดแล้ว ยังเป็นการทำทานแก่ผู้คนทั่วไป ได้ผลานิสงส์ทั้งสองฝ่าย) ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ หมู่บ้านศรีบุญยืนมีงานปอยหลวง ฉลองพระอุโบสถหลังใหม่ ชาวบ้านต่างพากันหลั่งไหลทำบุญเป็นจำนวนมาก พระคูรสิริปุญญากร เจ้าอาวาสวัดศรีบุญยืน และเจ้าคณะตำบลเหมืองง่า เป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาชุมชม นอกจากจะจัดให้มีงานปอยหลวงแล้ว ท่านยังวางแผนปรับปรุงตลาดเย็นของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ของวัดให้กว้างขวาง สะดวกสบายต่อการทำมาค้าขาย สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนศรีบุญยืน – วังทอง เช่น การมอบทุนการศึกษา เป็นต้น จัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลา บริเวณท่าน้ำและสวนสาธารณะหน้าวัด ในชื่อวังมัจฉา สนับสนุนกิจกรรมงานประเพณีลอยกระทงของหมู่บ้าน ซึ่งมีประชาชนในจังหวัดลำพูนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากบริเวณที่จัดงานอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำกวง รวมถึงอยู่ตรงทางผ่านเข้าตัวเมืองลำพูน ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถแวะหรือเดินทางมาร่วมงานได้โดยสะดวก ทั้งนี้งบประมาณต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับบริจาคหรือ ถวายทำบุญจากชาวบ้านด้วยความศรัทธา งานประเพณีที่ยังเป็นที่โจษจานกันจนถึงทุกวันนี้ คือ งานปอยหลวงครั้งต่อมา เพื่อฉลองศาลาบำเพ็ญบุญ วัดศรีบุญยืน ที่ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนต่างร่วมกัน ตกแต่งครัวทานแห่ถวายวัดตั้งแต่สี่โมงเย็น จนเกือบเที่ยงคืน ได้ปัจจัยมากถึงหนึ่งล้านกว่าบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงพอสมควรสำหรับหมู่บ้านขนาดย่อมอย่างศรีบุญยืน

หากท่านใคร่เดินทางมาเยี่ยมเยือนบ้านศรีบุญยืน ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สามารถเลือกใช้รถเมล์ลำพูนหรือรถสี่ล้อสีฟ้ามาลงแยกวัดศรีสองเมือง ต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้ามา รถยนต์ส่วนตัวสามารถใช้ถนนเลียบทางรถไฟ หรือถนนเชียงใหม่ - ลำพูนสายเก่า ผ่านสามแยกเหมืองง่าเลยมาจนถึงแยกวัดศรีสองเมือง หรือป้อมรถไฟศรีบุญยืนเลี้ยวซ้ายเข้าสู่หมู่บ้าน หากโดยสารรถไฟจากเชียงใหม่ให้ลงที่สถานีรถไฟลำพูน ต่อรถเข้าสู่หมู่บ้านเช่นกัน ข้าพเจ้าขอเล่าส่วนตัวเล็กน้อยว่า สมัยข้าพเจ้าย้ายมาอยู่ลำพูนใหม่ ๆ เรมีย์และวันชัย เพื่อนสนิทในกลุ่มแปดคนอยากมาเที่ยวบ้าน จึงเขียนแผนที่ตั้งแต่โรงเรียนปรินส์ ฯ จนถึงบ้านปรากฏว่าพวกเธอทั้งสองคนขี่รถจักรยานยนต์แกะรอยแผนที่มาถึงจนได้ และมาบ่อย ๆ ด้วย เร็ว ๆ นี้ เรมีย์มีโอกาสพาส่งข้าพเจ้าที่บ้าน ยังพูดถึงวงเวียนว่า จำได้เลา ๆ ว่าเมื่อก่อนเป็นห้องสมุดประจำหมู่บ้าน ถือว่ายังจำได้ดีอยู่

มิชเอลถาม มิรา นางเอกนวนิยายเรื่อง รอยอินทร์ ของโรสลาเรน ตอนหนึ่งว่า ‘ประเทศไทยเป็นยังไง’ เธอตอบว่า ‘เอางี้นะ ถ้าเราตัดกิ่งไม้จิ้มไว้ในดิน เผลอ ๆ พอเรากลับไปดูอีกที กิ่งไม้กิ่งนั้นจะเป็นต้นไม้ มีลูกด้วย..’ บ้านศรีบุญยืนในวันนี้.. เต็มไปด้วยร้านค้าต่าง ๆ มากมาย เช่น ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ห้างทอง ร้านเสริมสวย ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ร้านโทรศัพท์มือถือ ร้านอินเตอร์เนท ฯลฯ หอพักสูง ๓ ชั้น ตลาดสดขนาดใหญ่ ๒ แห่ง ร้าน 7 – 11 ตู้ ATM ทุกธนาคาร ..เมื่อสิบกว่าปีก่อน ชาวบ้านต่างพากันหักกิ่งไม้จิ้มลงในดิน ครั้นเวลาผ่านพ้นจนกระทั่งวันนี้ กิ่งไม้เหล่านั้นกลายเป็นต้นไม้ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมจะออกดอกผลให้แก่ชนรุ่นหลังในอนาคตข้างหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

ภ. ม. ภาคิโน
บ้านศรีบุญยืน



Create Date : 14 มีนาคม 2553
Last Update : 14 มีนาคม 2553 19:35:17 น.
Counter : 2094 Pageviews.

4 comments
  
บ้านศรีบุญยืน แต่ก่อน ชื่อว่าบ้านดอนชัย เหตุเพราะน้ำไม่ท่วม วัด สมัยก่อนถ้าน้ำท่วม คนศรีบุญยืนจะเอาของ สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ไปไว้ที่พนัง หน้าวัด บ้านศรียุญยืน ประกอบด้วย บ้านปิงห่าง อยู่หลังวัด บ้านหลิ่งห้าใจ้/เหนือ บ้านใหม่ บ้านท่าเดื่อใต้/เหนือ รู้จักป่ะ แต่ละบ้่านจะมีหมวดส้าข้าว พระ/เณรจะบิณบาตรเป็นหมวด ๆ ตามวัน ๆ ไป ยกเว้นวันพระหรือวันศีล ทุกหมวดจะทำบุญที่วัด แต่เดิม ถ้าลงรถจากหน้าวัดศรีสองเมืองก็จะเดินกันเข้าหมุ่บ้าน เพราะสุดถนนถึงวัดศรีบุญยืน ระยะทาง 1 กิโลเมตร จากหน้าวัดศรีสองเมือง จะผ่านบ้านศรีสองเมืองบางส่วน ข้ามทางรถไฟ ก็จะเข้าบ้านใหม่ สินค้าที่ขึ้นชื่อหมวดนี้คือ การทำขนมเส้น บ้านป้าสม บ้านป้านวล ลุงศรี ปัจจุบันยังทำอยู่บ้าง ต่อมาก็มาเจอแยกหลิ่งห้า ซึ่งจะแยกซ้ายมือเป็นหลิ่งห้าเหนือ ขวามือไปบ้านตระกูลผม เป็นหลิ่งห้าใต้ แยกหลิ่งห้าจะเป็นกาด ทั้งเช้าและเย็น พูดถึงไปหลิ่งห้าใต้บ้านผม เดินไปเรื่อย ๆ ก็จะเจอ ศาลาไทย หรือที่ผมเรียนว่าห้องสมุด แต่ก่อนใช้เป็นที่ประกอบกิจต่าง ๆของหมู่บ้าน เป็นที่รวมใจของหมู่บ้านอยู่หน้าบ้านป้าเพ็ญลุงสนิท ถ้าตรงไปจะเจอโรงเรียนศรีบุญยืน-วังทอง (คนเขียนก็ศึกษา ณ โรงเรียนนี้)ต่อไปจะเป็นบ้านท่าล้อ และบ้านวังทอง และก็ฝายวังทองที่ผมเขียนนั่นแหละ วกมาจากแยกหลิ่งห้า ถ้าตรงไปนับจากหน้าวัดศรีสองเมืองก็จะไปเจอวัดศรีบุญืนซ้านมือและหลังวัดเป็นบ้านปิงห่าง ขวามือเป็นบ้านที่เดื่อ บ้านท่าเดื่อนับเอาถนนสายศาลาไทยเป็นตัวแบ่ง เป็นท่าเดื่อเหนือ และท่าเดื่อใต้ บ้านท่าเดื่อจะไปสุดที่บ้านป้าหนุ่มพี่เหรียญทอง ขายก๊วยเตี๋ยว อยู่ติดกับบ้านญาติของผมที่นามสกุลยะถางัย ส่วยบ้านปิงห่างจะติดผนังและเส้นทางไปสุสานเหมืองง่าและบ้านเหมืองง่า
ในส่วนของบรรพบุรุษที่เคารพของบ้านศรีบุญยืน ขึ้นอยู่ที่ว่าตระกูลไหนจะมีบรรพบุรุษของตนเอง อย่างบ้านของคนเขียนเอง ก็มีเค้าเรียกว่าหม่อน มีหอหม่อนอยู่ที่บ้าน รู้จักป่ะ ส่วนหอปู่บ้าน รู้จักอีกไหม ก็อยู่ที่ผมเขียนนั่นแหละว่าที่เค้าใช้พื้นที่บางส่วนสร้างเป็นประปาหมู่บ้าน หอปู่บ้าน เป็นสิ่งที่คนในหมู่บ้านนับถือ เวลาใครไปไหน มาไหนก็จะมาบอกกล่าว สถานที่นั้น ตั้งอยู่บ้านปิงห่าง ไม่ได้อยู่ท้ายบ้านอย่างเช่นผมเชียน สถานที่นั้นเค้าเรียกกันว่าดง
พัฒนาการของบ้านศรีบุญยืนเริ่มตั้งแต่นิคมเข้ามาตั้ง มีงาน มีเงิน มีธุรกิจเกิดขึ้นมากมาย มีคนนอกพื้นที่เข้ามาอยู่มากมาย จะเยอะกว่าคนพื้นที่เดิม ๆ อีก เมื่อมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ก็ย่อมมีข้อผิดพลาดในการปรับตัวของคนในชุมชนมากน้อยแตกต่างกัน มีทั้งดีและแย่ แต่คนในชุมชนดั้งเดิมก็ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมให้ได้ ไม่สบายใจเลยที่ผู้เขียนบทความเขียนออกมาโดยไม่ได้ศึกษาแก่นแท้ ของบ้านศรีบุญยืน มันไม่เหมือนกับเชียงใหม่นะ อย่างเอามาเปรียบ การดำรงชีวิตก็แตกต่างกัน วัฒนธรรมประเพณีก็แตกต่างกัน ขอติงบทความหน่อยนะ ที่แท้จริง ศึกษาดี ๆ ศรีบุญยืนไม่ได้เป็นอย่างเช่นผู้เขียนบทความแต่อย่างใด แต่นั่นก็ไม่ใช่ว่าไม่ถูกหมดนะ ถ้าเอ่ยถึงอะไรที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้านถูก รู้จริง ก็พอรับฟังได้ แต่นี่ไม่ถูกเอาเสียเลย แก้ไขหน่อยนะ ถ้าจะให้พี่เดินแล้วบอกว่าบ้านนี้ของใคร เค้าทำอะไร ทุกหมวดส้าข้าว พี่สามารถบอกได้เลยอ่ะ เพราะสมัยเด็ก ๆ พี่เดินตามแม่ขายขนมเส้นทั้งหมู่บ้านเลย อาชีพแต่ละหมวดส้าข้าวเค้าทำอะไร "ศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนเน่อน้องรัก" ก่อนที่จะบรรจงเขียนออกสื่อ
โดย: คนศรีบุญยืนที่แท้จริง IP: 223.206.210.239 วันที่: 5 สิงหาคม 2555 เวลา:17:17:35 น.
  
ต้องขอบคุณที่มีคนติดตามนะครับ บทความชุดนี้เป็นบทความชุดแรก ๆ ที่ผมเพิ่งหัดเขียนในขณะนั้น ดังนั้น อาจมีบางส่วนที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ เป็นเหมือนกระจกจากมุมมองของผมเพียงด้านเดียว ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ผมขอน้อมรับผลของความผิดพลาดนั้นไว้แต่เพียงผู้เดียวครับ

ขอบคุณมากนะครับที่ติดตามอ่าน และขออภัยในความผิดพลาด มา ณ โอกาสนี้

ขอบคุณสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมด้วยครับ
โดย: PeeEm วันที่: 24 ตุลาคม 2555 เวลา:16:30:02 น.
  
ไม่น่าจะถูกต้องมากนัก

โดย: -เจริญ ละวันจันทร์ IP: 118.174.216.239 วันที่: 2 มีนาคม 2558 เวลา:11:12:03 น.
  
อยากขอร่วมด้วยช่วยกันค้นหาประวัติการตั้งหมู่บ้าน/ชุมชนและบรรพบุรุษรุ่นแรก ๆ ด้วย
โดย: เจริญ ละวันจันทร์ IP: 118.174.216.239 วันที่: 2 มีนาคม 2558 เวลา:11:15:52 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PeeEm
Location :
ลำพูน  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีครับ ผมชื่อ ภาคิน มณีกุล ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตวาซาบิรายใหญ่ของประเทศ งานอดิเรกของผม นอกจากส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา คือ ปั่นจักรยานและเล่นแบดมินตัน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์และชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปหรือพักผ่อนแล้ว ผมยังชอบเขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายอีกด้วยครับ

เพื่อน ๆ คนไหนเข้ามาอ่านก็สามารถติชมได้นะครับ ขอบคุณครับ
New Comments
มีนาคม 2553

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31