space
space
space
<<
พฤษภาคม 2567
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
space
space
17 พฤษภาคม 2567
space
space
space

ต้อกระจก โรคที่พบมากในหมู่ผู้สูงอายุ การวินิจฉัยอาการเบื้องต้นอย่างไรบ้าง?

ต้อกระจก โรคที่พบมากในหมู่ผู้สูงอายุ การวินิจฉัยอาการเบื้องต้นอย่างไรบ้าง?

ต้อกระจก

หนึ่งในโรคทางสายตายอดฮิตที่มักพบในผู้สูงวัย คงหนีไม่พ้นโรคต้อกระจกที่เกิดจากความผิดปกติของดวงตา จนทำให้ประสาทสัมผัสทางตาเสื่อมสภาพลงหรืออาจถึงขั้นร้ายแรงที่สุดก็คือ สูญเสียการมองเห็นไปเลย บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับโรคนี้ว่า ต้อกระจกคืออะไร เกิดจากอะไร การสังเกตอาการต้อกระจกระยะเริ่มแรก และวิธีการรักษาต้อกระจกทำได้อย่างไรบ้าง 


ต้อกระจก (Cataract) คืออะไร?

โรคต้อกระจกคือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเสื่อมของเลนส์แก้วตา มีลักษณะขุ่นในดวงตาขึ้น ทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน พบได้บ่อยในผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งปกติแล้วนั้นเลนส์ตาจะมีลักษณะใส มีหน้าที่รวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาพอดี ทำให้สามารถมองเห็นภาพที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน เมื่อเกิดภาวะต้อกระจก จะทำให้จอประสาทตารับแสงได้ไม่เต็มที่ หรือแสงไม่สามารถเข้าไปตกกระทบในตาได้เหมือนปกติ จึงเกิดการมองเห็นที่ผิดแปลกไปจากเดิม ยิ่งเลนส์ตาขุ่นมากขึ้น ก็จะทำให้ประสาทสัมผัสทางด้านการมองเห็นลดน้อยลงตามไปด้วย


สาเหตุของโรคต้อกระจกคืออะไร?

สาเหตุของการเกิดโรคต้อกระจกนั้น เกิดจากความผิดปกติหรือการเสื่อมของโปรตีนที่อยู่ภายในดวงตาของเรา จนทำให้แสดงอาการเลนส์นัยน์ตาขุ่นและแข็งขึ้น ส่วนใหญ่มักจะพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากการใช้งานหนักมาโดยตลอดชีวิต หรือเรียกได้ว่าเสื่อมตามช่วงวัยเมื่อมีอายุที่มากขึ้น แต่ใช่ว่าคนอายุน้อยจะไม่เกิดอาการต้อกระจกเลย การเกิดความผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์มารดา ทำให้ลูกเกิดมามีภาวะต้อกระจก หรือการเกิดอุบัติเหตุทางดวงตาก็สามารถทำให้ต้อกระจกตาเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะพบเคสนั้นๆ ได้น้อยกว่าในผู้สูงวัย

สาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิดภาวะต้อกระจกตา

  • การประสบอุบัติเหตุที่ดวงตาหรือดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง

  • เคยผ่าตัดจอประสาทดวงตา ทำให้ดวงตาอ่อนแอง่ายขึ้น

  • การมีโรคประจำตัวที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะต้อกระจกตาขึ้นได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เป็นต้น

  • มีโรคทางดวงตาอื่นๆ เช่น ม่านตาอักเสบ ติดเชื้อ สายตาสั้นมากๆ หรือเคยผ่าตัดดวงตามาก่อน

  • การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์สะสมเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดอาการตาเป็นต้อกระจกได้

  • กรรมพันธุ์หรือความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด การติดเชื้อภายในครรภ์มารดา

  • การได้รับรังสีเข้าร่างกายบ่อยๆ เป็นเวลานานจนเกิดการสะสมภายในร่างกาย


อาการของโรคต้อกระจก

อาการของโรคต้อกระจกอาการเริ่มต้น มีดังนี้ 

  • ตาเริ่มพร่ามัว มองได้ไม่ชัดเจน หรือมองเห็นเหมือนมีหมอกควันมาบดบังไว้ ไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ 

  • ภาพที่มองเห็นมีความชัดเจนลดลง หรือเกิดภาพซ้อนขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่เลนส์แก้วตามีความขุ่นมัวไม่เท่ากัน ทำให้การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตานั้นเกิดความผิดพลาด จะมองเห็นได้ไม่ชัดเท่าแต่ก่อน

  • ตายตาสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือค่าสายตาเปลี่ยนแปลงบ่อย การมองเห็นระยะใกล้นั้นดีกว่า

  • การมองตอนกลางคืนแย่ลง หรือมองเห็นแสงไฟกระจายไปหมด

  • มองเห็นสีต่างๆ เพี้ยนไปจากเดิม หรือภาพที่เห็นจางลงได้

  • ต้องการแสงสว่างเพื่อใช้ในการมองเห็นมากขึ้นหรือการทำกิจกรรมต่างๆ 

  • สายตาไวต่อแสง สู้แสงสว่างไม่ค่อยได้

  • ในกรณีที่ต้อกระจกสุกนั้น ลักษณะจะเห็นเป็นสีขาวแทนที่จากสีดำตรงรูม่านตา ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ขึ้นได้ เช่น โรคต้อหิน ภาวะการอักเสบในดวงตา ซึ่งอาจจะทำให้ปวดตาได้ ตาแดง หรือร้ายแรงที่สุดคือ การสูญเสียการมองเห็นไปเลย


การวินิจฉัยอาการของโรคต้อกระจก

การรักษาต้อกระจก

การวินิจฉัยอาการของโรคต้อกระจกควรได้รับการตรวจสอบกับแพทย์จักษุโดยเฉพาะ มีขั้นตอน ดังนี้

  1. ตรวจระดับการมองเห็น (visual acuity) เบื้องต้น

  2. ตรวจด้วยโดยใช้เครื่องมือ slit lamp ซึ่งจะตรวจดูกระจกตาก่อน เพื่อประเมินอาการเบื้องต้น หลังจากนั้นจะตรววจหามุมดวงตา หากมุมตามีขนาดแคบ จะต้องทำการยิงเซอร์เพื่อขยายรูม่านตาก่อน สุดท้ายคือการตรวจลักษณะขนาดม่านตา

  3. ตรวจต้อกระจกอย่างละเอียด โดยการขยายม่านตา จะทำการหยดยาหยอดตาที่มีประสิทธิในการขยายรูม่านตา ซึ่งจะทำให้คนไข้มองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น แต่ตัวยาจะสามารถออกฤทธิ์ได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนั้นภาพก็จะกลับมามัวเหมือนเดิม 

*ข้อควรระวังในการใช้ยาหยอดตา ในคนไข้ที่มีมุมตาแคบอาจส่งผลให้เกิดภาวะต้อหินเฉียบพลัน เสี่ยงต่อตาบอดได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการรักษาอยู่เสมอ

  1. การตรวจขั้วประสาทตา จอประสาทและจุดรับภาพของม่านตา ต้อกระจกไม่ใช้สาเหตุเดียวที่ทำให้ประสาทการมองเห็นของเราลดลง จึงต้องมีการตรวจขั้วประสาทตา จอประสาทและจุดรับภาพชัดร่วมด้วย หากมีอาการปกติจะได้รักษาควบคู่กันได้เลย 


วิธีรักษาโรคต้อกระจก

วิธีรักษาต้อกระจกในช่วงระยะแรกเริ่มของการเกิดภาวะต้อกระจกนั้น จะเป็นการสวมใส่แว่นตาที่แก้ไขปัญหาสายตาสั้น ที่สามารถทำให้คนไข้มองเห็นได้อย่างชัดเจน ในตอนนี้จะยังไม่มีการให้ยาหยอดตาต้อกระจกหรือการจ่ายยารักษาต้อกระจกเพื่อรับประทาน หากคนไข้มีอาการแย่ลงหรือเป็นหนักขึ้น ถึงขั้นเริ่มมองเห็นไม่เห็น วิธีแก้ไขคือการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งการผ่าตัดเพื่อรักษาต้อกระจกทำได้ 2 วิธีคือ

  1. การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ (Phacoemulsification with Intraocular Lens) 

ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากใช้เวลาไม่นานประมาณ 15 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลให้เสียเวลา โดยแพทย์จะเริ่มหยอดยาชาเฉพาะหรือฉีดยาเฉพาะที่ทำให้เกิดอาการชา เพื่อบล็อคการเคลื่อนไหวของดวงตา จากนั้นแพทย์จะเปิดช่องกระจกตาประมาณ 2.4 - 3 มม. แล้วสอดเครื่องมือสลายต้อกระจกเข้าไป พร้อมใช้พลังงานความถี่สูงระดับอัลตราซาวนด์เข้าสลายต้อกระจกออกจนหมด จากนั้นใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยเลนส์ที่ใช้จะขึ้นอยู่กับ ลักษณะดวงตา ความต้องการและค่าสายตาของคนไข้ เช่น เลนส์ชัดระยะเดียวหรือหลายระยะ แผลที่ได้จากการทำวิธีนี้จะมีขนาดเล็กมาก เนื่องจากไม่ต้องเย็บแผล หลังทำคนไข้จึงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เลย แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าตาเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ และทานยาหรือหยอดยาตาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

  1. การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens)

เป็นวิธีการรักษาต้อกระจกที่ไม่ได้รับความนิยมในสมัยปัจจุบันแล้ว เนื่องจากเป็นวิธีการที่เหมาะกับต้อกระจกสุกที่แข็งมากๆ จนไม่สามารถใช้วิธีการสลายด้วยเครื่องสลายต้อคลื่นอัลตราซาวนด์ได้ โดยแพทย์จะเริ่มเปิดแผลระหว่างกระจกตาดำและผนังตาขาวด้านบนของลูกตา มีความยาวประมาณ 10 มม. จากนั้นนำตัวเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก แล้วจึงใส่เลนส์ตาเทียมใส่เข้าไปแทนที่ ซึ่งจะใช้เลนส์แบบชัดระยะเดียว เนื่องจากมีระยะการมองเห็นไกล สามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต และเริ่มเย็บปิดแผลให้สนิทเป็นอันเสร็จเรียบร้อย


วิธีปฏิบัติตัวหากเป็นโรคต้อกระจก เพื่อไม่ให้อาการแย่ลง

วิธีการดูแลตัวเองหากมีภาวะเป็นต้อกระจก สามารถทำตามได้ ดังนี้

  1. การเปลี่ยนแว่นสายตาให้เหมาะสมกับค่าสายตาจริงของตัวเอง สามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้ และช่วยไม่ให้อาการต้อกระจกเป็นหนักกว่าเดิมอีกด้วย

  2. พยายามอย่าขยี้ตา เพราะจะทำให้ตาระคายเคือง อักเสบ พร่ามัว หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

  3. พยายามสวมแว่นตากันแดดเมื่ออยู่ข้างนอก เพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต

  4. พักสายตาเป็นระยะๆ หากจำเป็นต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน

  5. พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

  6. หลีกเลี่ยงการใช้ยาจำพวกกลุ่มสเตียรอยด์ 
     

ในกรณีที่ทำการผ่าตัดรักษาต้อกระจกมานั้น ควรปฎิบัติตัวตามข้อแนะนำต่อไปนี้

  1. หลังจากการผ่าตัดควรนอนพัก ไม่ควรใช้สายตาทันทีหลังการรักษาต้อกระจก

  2. หลีกเลี่ยงการใช้สายตาทำงานหนัก และกิจกรรมที่ส่งผลให้ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน เช่น การออกกำลังกาย การยกของ การไอหรือจามแรงๆ เป็นต้น

  3. หลังการผ่าตัดต้อกระจก ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและทานยาอย่างสม่ำเสมอไม่ให้ขาด

  4. หลีกเลี่ยงไม่ให้ดวงตาสัมผัสกับการน้ำโดยตรง อาจจะใช้เป็นผ้าสะอาดชุบน้ำแล้วบิดให้แห้ง เช็ดหน้าหรือรอบดวงตาแทน

  5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตาตรงๆ 

  6. สวมแว่นตาทุกครั้งที่ออกไปข้างนอก

  7. ไปพบแพทย์ตามที่นัดไว้ทุกครั้ง เพื่อติดตามอาการจนกว่าแผลจะหายสนิท


คำถามที่พบบ่อย

ตอบคำถามยอดฮิตที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับโรคต้อกระจก

ต้อกระจกทำให้ตาบอดได้ไหม?

ต้อกระจกเกิดจากภาวะเลนส์แก้วตามีความขุ่นมัวเมื่อมีอายุมากขึ้น ในคนไข้บางรายที่มีอาการหนักหรือมีโรคแทรกซ้อน จนเกิดการอักเสบและติดเชื้อ อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็น (ตาบอดสนิท) ได้เลย โดยอาการจะเป็นไปอย่างช้าๆ อาจจะเป็นทั้งสองข้างพร้อมกันหรือเป็นข้างเดียวก็ได้เช่นกัน 

ควรผ่าตัดต้อกระจกเมื่อไหร่?

การผ่าตัดต้อกระจกควรทำเมื่อโรคนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา หรือสามารถรักษาต้อกระจกได้เลยก่อนมีภาวะอื่นๆ แทรกซ้อนตามมา เช่น ต้อหิน หรือเกิดอาการต้อสุกเกินไป 


สรุปเรื่องต้อกระจก

หลายคนคงจะทราบอยู่แล้วว่าภาวะต้อกระจกส่วนใหญ่นั้นเกิดกับคนที่มีอายุมากขึ้น หากคุณไม่อยากเป็นโรคต้อกระจกในอนาคต แนะนำให้ตรวจเช็คสุขภาพดวงตาอย่างสม่ำเสมอในทุกปี เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากๆ ในการรับประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น ถึงแม้ว่าโรคต้อกระจกจะสามารถป้องกันและมีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ โดยมีวิธีการรักษาต้อกระจก 2 วิธี คือ การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ กับการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง ซึ่งมีความแตกต่างกันบ้าง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ แต่ราคาผ่าต้อกระจกนั้นก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงเช่นกัน ดังนั้นควรรักษาดวงตาทั้งสองข้างเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นจะดีกว่า





Create Date : 17 พฤษภาคม 2567
Last Update : 18 พฤษภาคม 2567 1:36:46 น. 0 comments
Counter : 175 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 7660567
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 7660567's blog to your web]
space
space
space
space
space