ตุลาคม 2558

 
 
 
 
1
2
3
4
5
8
9
10
11
15
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
All Blog
'ฟังแต่ไม่อุดหนุน' ผ่าวงการเพลงไทย! ยุคนี้ 'ผลงาน' มีค่าน้อยกว่ากาแฟแก้วเดียว
เป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยใจไม่น้อยกับวงการเพลงไทยในยุคปัจจุบัน เรามาถึงยุคที่วงการเพลงเฟื่องฟูด้วยเพลงดัง เพลงใหม่ เพลงฮิต แต่ศิลปินกลับอยู่รอดยาก อาทิตย์วันซันเดย์อากาศดีๆ บันเทิงไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ พวกเขาที่เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์เพลงไทย กับวงดนตรีในยุค เบเกอร์รี่ เฟื่องฟู

นภ พรชำนิ นักร้องนำ P.O.P, ก้อ ณฐพล ศรีจอมขวัญ มือเบสกีตาร์, คีย์บอร์ด วง P.O.P, groove riders และ บอยก้อ, บอย ตรัย ภูมิรัตน์ นักร้องนำวง 2 Days Ago Kid และ Friday, ดุลย์ อดุลย์ รัชดาอภิสิทธิ์ กีต้าร์และนักร้องนำ 2 Days Ago และ Friday, หนึ่ง เกรียงไกร วงษ์วานิช กีตาร์วง Friday มุมมองหลายๆ อย่างของพวกเขาสะท้อนวงการเพลงไทยได้ "จุก" ไม่น้อย 

พวกเขาคือ 1 ในตำนานวงการเพลงไทย

เปิดฉากเริ่มต้นการสนทนา เราถามพวกเขาถึงวงการเพลงไทยในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากในอดีตถึงปัจจุบัน

ก้อ วง P.O.P และ groove riders : "เปลี่ยนไปมากครับมันเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ไม่ใช่เฉพาะฝั่งคนฟังเพลงนะ ฝั่งคนทำเพลงเทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปมาก จนทำให้การทำเพลงในปัจจุบันมีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็สามารถทำเพลงได้แล้ว เป็นสิ่งที่ง่ายขึ้นเยอะ แต่ถามว่าฉาบฉวยมั้ยผมว่ามันเป็นเรื่องของคนทำเพลงแต่ละคนนะผมว่า เทคโนโลยีมันเอื้อให้เราทำประโยชน์อะไรได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันขึ้นอยู่กับคนฟังและคนทำเพลงนั่นละว่าเราจะเอาเทคโนโลยีไปทำในรูปแบบไหน ถ้าไปทำในรูปแบบที่ทำให้เพลงมันง่าย แล้วไปทำอะไรส่งเดช ก็แน่นอนมันก็จะทำร้ายวงการดนตรีด้วยตัวของมันเอง แต่ถ้าเราใช้เทคโนโลยี ไปในทางที่สร้างอะไรใหม่ๆ ได้เต็มไปหมด มันก็มีประโยชน์กับคนฟังเพลงและวงการเพลงครับ"

ก้อ ณฐพล ศรีจอมขวัญ
นพ พรชำนิ

ดุลย์ กีตาร์และนักร้องนำ 2 Days Ago และ Friday กล่าวต่อว่า “ผมคิดว่ามันเหมือนทุกธุรกิจ เพลงก็คือธุรกิจอันหนึ่ง ธุรกิจต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว คนที่อยู่ในธุรกิจเองต้องปรับตัว

แต่ถ้าถามว่าตอนนี้มันเป็นยังไง ผมไม่รู้นะ ทุกวันนี้ผมว่าคนไม่ได้เล่นดนตรีน้อยลง แต่วิธี ช่องทางที่จะอยู่รอดได้มันเปลี่ยนไป มันไม่ใช่การขายเทปขายซีดีได้แล้ว แต่คือการต้องหารับงานโชว์แทน

ถ้าถามว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องมั้ย ก็คิดว่ามันไม่ค่อยถูก อาร์ติสต์ที่สร้างผลงานขึ้นมาเองแต่ดันไปเล่นโชว์ตามผับ ตามบาร์ ซึ่งมันไปทับซ้อนกับคนที่เล่นอยู่ในเฮาส์แบนด์ไปแชร์อยู่ในที่เดียวกัน ในต่างประเทศศิลปินที่มีผลงานออกมาแล้ว คุณต้องขายบัตร มีการโชว์เป็นสเตเดียมสเกล เท่านั้น เขาจะไม่ไปอยู่ในผับจะไม่มีการข้ามไปข้ามมาอย่างนี้เลย เพราะไม่งั้นคนที่เขาเป็นนักดนตรีตามผับเล่นคืนละพัน เขาไม่มีทางอยู่ได้ เพราะอาร์ติสต์ลงไปเล่นตามผับหมดแล้ว”

นพ-ก้อ P.O.P

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือศิลปินไทยไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถขึ้นโชว์สเกลใหญ่เพื่อขายบัตรได้ทุกวง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเพลงติดหูคนฟัง เราย้อนถามในเรื่องจริงที่ใครๆ ก็รู้

อดุลย์ "ใช่ เพราะว่าโครงสร้างมันล่ม มันผิดมาหมด จะบอกอย่างนี้นักดนตรีเฮาส์แบนด์ที่เขาเล่นตามผับในอเมริกานอกจากเพลงที่เขาคัฟเวอร์แล้วเขายังเล่นเพลงที่เขาสร้างกันมาเองด้วยนะ เพราะเขาไต่มาจากตรงนั้น แต่ของบ้านเราในผับเนี่ยถ้าเพลงไม่ฮิตมันไม่ได้ ต้องเล่นเพลงที่คนรู้จัก เล่นเพลงไม่ฮิต คนเบื่อ เจ้าของร้านไม่จ้าง ก็จบ"

บอย ตรัย นักร้องนำ 2 Days Ago และ Friday เสริมขึ้นว่า “ขนาดศิลปินเองที่ลงไปเล่นตามผับ ยังยากเลยที่จะเล่นเพลงใหม่ๆ เพราะคนไม่เปิดใจฟัง วงออสเครต้าโชว์เดี๋ยวนี้ต้องเล่นเพลงป๊อปเพลงแมสนะคนถึงจะชอบ เล่นเพลงคลาสสิกก็ตาย” นพ พรชำนิ หรือ นพ P.O.P พยักหน้าเห็นด้วย “อันนี้เป็นปัญหาทั่วโลก ทั่วโลกโดนกันหมด”

“พฤติกรรมคนฟังคือถ้าเพลงไม่คุ้นหูนี่ไม่ได้เลย แต่ก็โทษไม่ได้นะเพราะผมเองก็ชอบเพลงฮิตเหมือนกัน เพียงแต่ความเป็นนักดนตรี เราก็อาจจะชอบฟังเพลงที่มันยากๆ บ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญนะ คนทำเพลงจะมาทำเพลงฮิตกันอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่าเพลงที่ให้จินตนาการ เพลงที่ให้ความรู้สึก มันมีเรื่องราวของมันเหมือนกัน เราจะต้องฟังหลายๆ อย่าง จะได้เจริญหูเจริญตาในหลายๆ แบบ"

สมาชิกวง Friday และ 2 days ago kid

ถึงตรงนี้ หนึ่ง เกรียงไกร วงษ์วานิช มือกีตาร์วง Friday ก็เอ่ยขึ้นว่า “พูดยากมาก ผมว่ามันเป็นธรรมชาติของคนฟังในประเทศเรา รวมทั้งผมด้วยนะที่เป็นหนึ่งในผู้บริโภค ง่ายๆ เลยเราถามตัวเราเองเลยว่าพฤติกรรมการซื้อเพลงฟังของเราเปลี่ยนไป เราไม่เดินไปซื้อซีดีเป็นตระกร้าไปฟังอีกแล้ว พฤติกรรมเหล่านี้ของเราหายไปไหน มันไม่ใช่เพราะเพลงที่เราชอบมันไม่มีแล้วหรือว่าเราไม่มีตังค์ แต่มันง่ายไง แทนที่เราจะจ่ายเงินเพื่อฟังเพลง เราคิดง่ายๆ ว่าเออมันโหลดได้นี่หว่า มันมีช่องทางให้เห็นง่ายๆ เลย ของถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายมันอยู่ในมือเราด้วยกันนะ เราเลือกได้เลยว่าจะเอาแบบไหน

ต้องอยู่ที่ผู้บริโภคด้วย เมืองไทยไม่เหมือนญี่ปุ่น ทำไมญี่ปุ่นวงการเพลงเขายังอยู่ได้ เขาสามารถออกซิงเกิล ทำแพ็กเกจจิ้งที่มันดีได้ โดยที่เขายังขายในราคานี้ คือญี่ปุ่นเขาจะมีคนที่ศรัทธาในผลงาน เขาไม่ได้มองแค่งาน แต่เขามองที่เบื้องลึกของมันว่าศิลปินคนนี้มีรากฐานต่างๆ อย่างไร แต่ของเราฟังแค่ให้เอาไปคุยกับเพื่อนได้ พอไม่เกินเดือนเพลงนี้เราก็ลืมไปเลย เพราะเราฟังจนเบื่อแล้วในยูทูบ มันจะไม่เหมือนเราเปิดเทปแล้วเรามีเพลงที่สิบที่ซ่อนอยู่ พอฟังแล้วมันเพราะแล้วเราจึงเอามาคุยกับเพื่อนแม้จะผ่านไปเป็นเดือนแล้วก็ตาม”

บอย ตรัย ภูมิรัตน์

อดุลย์ ตั้งใจเพื่อนร่วมวงพูดก่อนจะกล่าวต่อว่า “พวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้เราโชคดีที่เราได้ผ่านช่วงเวลาที่ได้ทำอัลบั้มเต็มมาในระดับหนึ่ง เราได้ทำเพลงที่ติดหูและเราก็ได้มีโอกาสในการทำเพลงที่เราอยากทำ ผมไม่ได้ปฏิเสธนะว่าการทำเพลงดีๆ เพลงป๊อปๆ เราจะไม่ชอบ เราก็ชอบ แต่เราก็ยังมีโอกาสได้บริหารแทร็กที่เราอยากทำเป็นแทร็กเพลงหน้าบี ซึ่งทุกวันนี้ยากจริงๆ ที่ศิลปินคนไหนจะได้ทำอัลบั้มเต็ม ทุกวันนี้ทำได้กันเป็นแค่เพลงๆ ไป แล้วแทร็กประเภทเพลงหน้าบีนี้เลิกคิดไปเลยดีกว่า เพราะว่าไม่มีคนฟัง สมัยนี้ทำเพลงเดียวแล้วจบเลย"

เหมือนจะมีคำหนึ่งในวงการเพลงที่บอกว่า สมัยนี้จะทำเพลงแบบตีหัวเข้าบ้าน ดังเพลงเดียวแล้วจบเลย เราหันไปถาม นพ พรชำนิ "ใช่ทุกเพลงเป็นแบบนี้ คิดกันแค่นี้เลย ทุกวงต้องเพลย์เซฟตัวเอง"

อดุลย์ “ซึ่งตรงนี้จะยิ่งสปอยด์พฤติกรรมของคนฟัง ว่าเพลงทุกเพลงจะต้องเพราะฮิต จะต้องเพราะ จะต้องโดน แต่มันก็สูญเสียความเป็นอาร์ติสต์ไป (หนึ่ง Friday เสริม " คำต้องห๊ะ! คือฟังแล้วแปลก กระแทกหู ยังไม่รู้เนื้อเพลงข้างในหรอก แต่ได้ยินแล้วต้องสะดุดก่อน”)

หนึ่ง เกรียงไกร วงษ์วานิช

แล้วถ้าศิลปินยุคนี้เขาถามกลับมาล่ะว่าจะให้เขาเลือกอะไร ระหว่าง “ศิลปะ” กับ “ความอยู่รอด”

บอย ตรัย เป็นคนแรกที่ตอบคำถามนี้ของเรา “มันกลับไปที่สิ่งที่ผมคิดว่า ศิลปะมันอยู่ทุกที่รอบตัวเราน้อยเกินไป ศิลปะอยู่ไม่ใกล้ชิดกับเรา เราให้ราคาของศิลปะน้อยไปหน่อย มันก็เลยเกิดเรื่องพวกนี้ขึ้น

เหมือนกับพอเรียนจบทำงานแล้วเราเลิกสนใจแล้วว่าศิลปินที่เราเคยชอบเขาทำอะไรอยู่ เขายังมีผลงานอยู่ แต่เราบอกตัวเองว่าเราแก่ไปแล้วที่จะฟังเพลง ซึ่งจริงๆ เพลงมันคือเพลง ดนตรีคือดนตรี มันไม่น่าจะเกี่ยวกับวัย มันคือศิลปะที่อยู่ใกล้ชิดเราได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่"

“มันส่งผลทุกอย่างนะเรื่องนี้ เวลาเราไปต่างประเทศเราเห็นศิลปะของเขา เช่นงานปั้นที่อยู่ตามสวนสาธารณะ มันให้ความรู้สึก หล่อหลอม เป็นแรงเคลื่อนเป็นคลื่นที่ส่งต่อไปยังเรื่องอื่น ทั้งเรื่องดนตรี เรื่องกีฬา เรื่องอาหาร แต่บ้านเราไม่มี ทุกอย่างต้องได้รับการย่อยสลายมาเป็นอย่างดี ต้องพอดีคำเสพได้เลย" อดุลย์แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

ดุลย์ อดุลย์ รัชดาอภิสิทธิ์

ณ ปัจจุบัน ศิลปินสักคน จะออกอัลบั้มเต็มสักอัลบั้ม มันอยู่ยากหรือจริงๆ แล้วอยู่ไม่ได้เลย

นภ ตอบทันทีว่า “ไม่ได้เลยครับ ไม่มีทางขายได้เลย อาชีพนักร้องออกอัลบั้ม แล้วรอรายได้ ยอดขายจะการขายอัลบั้ม ไม่สามารถทำให้เรามีเงินส่งลูกเรียนได้ ไม่มีทางเลย แม้กระทั่งอัลบั้มพี่บอย โกสิยพงษ์ เรายังต้องมานั่งคิดกันเลยว่าจะขายได้ถึง 10,000 หรือเปล่า อัลบั้มชุดใหม่ล่าสุดของ พี่บอย เรายังคิดไม่ออกเลยว่าจะทำยังไงให้มันถึง 10,000 แผ่น สมัยก่อนนะเอาแบบไม่ต้องคิดอะไรมากขายได้เป็นหลักแสน ศิลปินดังๆ มีฝีมือ มีชื่อเสียง ขายได้เป็นล้าน เดี๋ยวนี้หลักหมื่นยังไม่มีใครกล้าปั๊มซีดีออกมาเลย P.O.P ชุดใหม่ ออกอัลบั้มปั๊มมา 3,000-4,000 แผ่น คิดดูสิ”

แล้วอย่างนี้เราจะอยู่รอดกันได้อย่างไร ด้วยคอนเสิร์ตหรือเปล่า ยิงคำถามนี้ไปที่ บอย "ผมคิดว่าคนที่เขาจะเข้าในวงการนี้ เขาก็อาจจะพร้อมรับด้วยความคุ้นชิน เพราะเขาอาจะไม่ได้เคยมีคืนวันหอมหวานเหมือนที่พวกเราเคยเจอ ตรงนี้ที่เขาต้องเจอมันก็คงอาจไม่ใช่เรื่องแปลก หรือยากเกินที่เขาจะรับได้ เพราะก่อนเขาเข้ามาเขาก็เห็นแบบนี้แล้ว"

อดุลย์ "ซึ่งก็เหมือนกับเราในศิลปินรุ่นก่อนเจเนอเรชั่นเรา เขาก็อาจจะคิดว่าของเขาเวิร์กกว่าที่เราเคยเป็น ในขณะที่เราเป็นศิลปินรุ่นใหม่ในยุคนั้นเราก็มองว่าเราเวิร์กแล้ว เจนก่อนเราเขาแตะได้กัน 3 ล้านก๊อบปี้ 10 ล้านก็ยังมี เขาก็ว่าเขาโอเค มาเจนเรา 1 ล้านก๊อบปี้เราว่าเราโอเค เพราะฉะนั้นเจนนี้สิ่งที่เป็นอยู่เขาก็ว่าของเขาโอเค

ยังขอทำเพลงต่อไป

หนึ่ง Friday แสดงทรรศนะที่น่าสนใจว่า "ศิลปินรุ่นใหม่ความพอใจของเขาอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข อยู่ที่ความพึงพอใจมากกว่า เอาเข้าจริงผมว่าเด็กไทยรุ่นใหม่ ผมว่าเขาไม่เข้าใจว่าเพลงเป็นศิลปะนะ เขามองเพลงเป็นเรื่องความบันเทิงอย่างเดียว ผมมีหลานมาจากอเมริกา เขาถามผมว่าทำไมคนไทยต้องเปิดฟังจากยูทูบ ถ้าชอบทำไมไม่ซื้อ ตัวเขาชอบเขาก็ซื้อมาฟัง"

"มันมีข้อมูลยูทูบว่าเมืองไทยติดอันดับต้นๆ ของยอดวิว เพราะเพลงไม่ได้ขายเลยไง คนไทยเข้าไปฟังจากอันนั้น มันถึงติดอันดับต้นๆ มากกว่าศิลปินระดับโลกอีก" อดุลย์ เล่าให้เราฟัง

ถ้าอย่างนี้ศิลปินหน้าใหม่จะดังกันได้อย่างไร เราถาม ซึ่ง ก็เป็น อดุลย์ 2 Days Ago และ Friday คนเดิมเอ่ยตอบ "เขาก็มีวิธีของเขานะ สมัยนี้มันเป็นสมัยที่ใครก็เป็นซูเปอร์สตาร์ในหน้าจอได้ มันมีคนที่เขาไปแตะตรงนั้นได้เหมือนกัน มันเป็นช่องทางที่คนรุ่นเราก็นึกไม่ออกว่าจะเราจะไปถึงตรงนั้นได้ยังไง มันเป็นเส้นทางที่เราไม่รู้นะ เพราะเราทำในสิ่งเดิมๆ มา เราทำมาในระดับที่เราทำได้ แต่พอมาถึงยุคนี้เราก็สงสัยนะว่าเขาทำกันยังไงร้องเพลงกับเล่นกีตาร์เฉยๆ ยอดวิว 10 ล้าน"

บอย "สมัยนี้ตัดขั้นตอนของการเอาเดโมไปเสนอค่ายเทป แต่ว่ามาเริ่มจากการทำให้คนสนใจตัวเองมากๆ ก่อน"

จะทำให้ศิลปินคุณภาพบ้านเราน้อยลงหรือไม่ "ไม่หรอก คนที่ดังมาจากยูทูบก็มีการคัดกรองมาอยู่แล้ว ว่าเขาต้องมีของอะไรบางอย่าง เขาต้องเก่งอะไรในบางอย่างถึงโดนใจทุกคน หรือถ้าดังจากรายการเขาก็ต้องสร้างปรากฏการณ์อะไรบ้างอย่างขึ้นมา" หนึ่งกล่าว

พูดคุยกันตรงๆ เรื่องวงการเพลงไทย

สรุปศิลปินที่เคยโด่งดัง รายได้ก้อนใหญ่ตอนนี้มาจากคอนเสิร์ตเท่านั้นใช่หรือไม่

นภ "ถ้าพูดถึงยุคเก่าเลยต้องบอกเลยนะว่าไม่มีเลย ไม่มีโอกาสที่จะมีคอนเสิร์ตได้เลย หลายคนที่เคยโด่งดังมากๆ ในอดีตย้อนไป 30-40 ปีเขาจะมีโอกาสได้มาเจอแฟนเพลงยังไง ต้องไปเจอโปรโมเตอร์ที่ชอบผลงานของพวกเขาก่อน ในเมื่อฐานแฟนเพลงของเขาอาจจะไม่รู้ว่าจะส่งสารทางไหนว่าเขาอยากดูศิลปินที่เขาชื่นชอบ ไม่มีฐานแฟนคลับมาบอกตรงนี้ โปรโมเตอร์เขาก็ไม่จัดหรอก เพราะไม่แน่ใจว่าคนอยากดูหรือเปล่า พวกเรายังโชคดีว่าเราอยู่ในยุคก้ำกึ้งเก่าและใหม่ ที่สารของแฟนคลับกับเรายังส่งถึงกันได้ โปรโมเตอร์เขาก็พร้อมจัด

ในขณะที่เด็กยุคใหม่เขาไม่มีคำว่าพลาด ถ้าดังก็ดังไม่ดังก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเมื่อดังแล้วจะคงอยู่ต่อไปไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะเนื่องจากว่ามันจะมาแล้วไป มาแล้วไป สมัยนี้จะดังยืนยาวก็ต้องไปเป็นพรีเซนเตอร์ เพราะมันคือยุคที่เปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้มันเป็นอะไรที่เหนือไปกว่าแค่เพลงแล้ว มันคือการเอนเตอร์เทน มิติต้องกว้าง แค่ร้องเพลงอย่างเดี๋ยวไม่รอด

พวกเราเอง ณ ตอนนี้คงได้แค่วางตัวอยู่ในส่วนที่สนับสนุน เราเป็นส่วนของโปรดิวเซอร์ อยากบอกให้รู้ว่าเราทำงานหนักเหมือนเดิม เรายังยินดีทำเพลง อยากให้คนฟังหันมาฟังเพลง ทุกวันนี้ถามว่าทำไมเราถึงไม่มีเพลงใหม่เลย เพราะเราไม่มั่นใจว่าเราทำออกไปแล้วว่าจะมีคนฟังหรือเปล่า แต่ถ้ามันมีแฟนๆ บอกเราว่าทำเลยพี่หนูจะฟัง เราพร้อม แต่ทุกวันนี้ทำไปแล้วเราไม่เจอคนฟัง เดี๋ยวนี้ความผูกพันระหว่างศิลปินกับแฟนเพลงน้อยลง ใกล้ชิดกันอาจจะมากได้แต่ไม่ผูกพัน เพราะอยากจะเห็นศิลปินทำไรก็กดแค่คลิกเดียว"

เราถามพวกเขาว่า คนไทยชอบฟังเพลงแบบไหน คำตอบที่ได้ทุกคนตอบ ตรงกันว่าเป็นคำที่ยากมาก ที่พวกเขาตอบไม่ได้ พวกเขาเองยังออกแบบสิ่งนั้นไม่ได้เลย แต่คิดว่าต้องเป็นเพลงที่ทำให้คนฟังทุกคนคิดสิ่งนี้เหมือนกัน "เราทำงาน อย่าใช้คำว่าคาดหวังให้คนฟังนะ เอาแค่เราอยากให้คนรู้ว่าเราทำเพลงออกมา แต่ทุกวันนี้ยังยากมาก" น4 พรชำนิ สรุปความรู้สึก

ศิลปินต้องเป็นนักเอนเตอร์เทน

เราตั้งข้อสงสัยว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะคลื่นวิทยุทุกวันนี้ส่วนใหญ่เปิดเพลงไม่หลากหลายหรือเปล่า เปิดแต่เพลงฮิต เพลงแมส

นภ อาสาตอบ "ผมว่าไลฟ์สไตล์ของคนมากกว่า อย่าไปโทษคนอื่นเลยมันอาจจะเป็นเพราะพวกเราทำเพลงไม่ดีพอก็ได้ วิทยุเขาก็ต้องเปิดเพลงที่คนฟังชอบ เพลงฮิต ต้องดึงคนฟังไว้เหมือนกัน"

บอย "ผมไม่รู้นะ แต่ผมเชื่อเรื่องวัฏจักร วันหนึ่งอะไรที่มันเยอะเดี๋ยวคนก็เบื่อแล้วเดี๋ยวก็จะพลิก พอมันล้นก็จะเริ่มไหลไปอีกด้านหนึ่ง เหมือนกับ อินดี้ ที่แต่ก่อนเคยโดนเมินเฉย ตอนนี้กลับมาเป็นสิ่งที่แมสที่คนให้ความสนใจ

อยากรู้จริงๆ ว่าอนาคตวงการเพลงไทยจะเป็นอย่างไรต่อ

นภ "วงการในแง่ของธุรกิจนี่ตอบไม่ได้นะพวกผมไม่รู้ งงเลย พวกผมยังยึดมั่นกับการแต่เพลงทำอัลบั้ม อาลัยอาวรณ์เทปซีดี เราไม่ได้เป็นผู้นำในการเอาภาพลักษณ์นำแล้วเอาเสียงตาม เรายังทำแบบนั้นไม่เป็น"

งานเพลงแม้ราคาอัลบั้มละ 120 บาทแต่ก็ไม่มีคนซื้อ

ถ้ายังงั้นถามในแง่ของศิลปิน ไล่เรียงขอคำตอบทุกคน

หนึ่ง "ถ้าคนที่ทำแล้วสำเร็จ ต้องทำหลากหลาย ทุกวันนี้ต้องมีหลายมุม เพื่อหล่อเลี้ยงให้ตัวเองมีพื้นที่ อีกหน่อยศิลปิน อาจไม่ใช่คนที่มีเพลงเพราะเพลงเดียวหรอก แต่มันจะเป็นเพราะว่า พอเพลงหนึ่งของเขาเพราะคนก็จะหันมาจับตามมอง ฟังผลงานเขามากขึ้นว่าจะเป็นยังไง ที่เหลือจะเป็นอย่างไรไม่รู้แต่จะมีคนตามเขา มันต้องเป็นศิลปินที่มีลักษณะแบบนี้ ถ้าจะร้องแต่เพลงอย่างเดียวคงยาก"

อดุลย์ "ปัญหาที่น่ากลัวนะ ในภาพรวมของคนฟัง ที่เราคุยกันวันนี้ อะไรเหล่านี้คนฟังเขาไม่ได้รู้สึกไงว่ามันเป็นปัญหา ทุกอย่างดูดีเจ๋งมาก ฉันยังมีเพลงเพราะ เพลงเจ๋งๆ ฟังกันอยู่เลย เข้าถึงง่ายกว่าเดิม ฟรีอีกต่างหาก คนฟังในยูทูบตั้ง 50 ล้านวิว คนไทยชอบฟังเพลงจะตาย นี่ละอันนี้ที่เป็นปัญหา เพราะมันไม่ได้ถูกมองให้เป็นปัญหา ไม่มีใครรู้ว่าศิลปินนักร้องอยู่ไม่ได้ คนฟังรู้สึกว่าไม่มีอะไรเสียหาย เขายังฟังเพลงมากอยู่นะ"

ยิ้มสู้ แม้จะเหน่ือย

นภ "เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามทำให้เขาเห็นว่าการทำอย่างนี้ทำให้ศิลปิน อยู่ไม่ได้ นี่คือที่มาของการทำคอนเสิร์ต เพื่อให้เขารู้ว่านี่ละเขาซัพพอร์ตเรา เป็นการทำให้เขาได้แสดงออกว่าเขาสนับสนุนนักร้อง นักดนตรีคนนี้นะ ถ้าไม่มีคนฟังซัพพอร์ตอยู่ไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ที่สปอนเซอร์ต้องอยู่ที่คนฟังเป็นคนลิขิตว่าใครจะอยู่ได้"

สุดท้ายก่อนจบการสนทนา ฝากอะไรถึงคนฟังเพลงคนไทย
บอย "อยากให้กลับไปนึกถึงความรู้สึกของตัวเอง ในวันที่ชอบฟังเพลงและเพลงมันอยู่ใกล้ชิดกับเรามากๆ ว่าเรามีความสุขกับมันขนาดไหน แล้วพอเราโตขึ้นมาแล้วทำไมเราจึงเหินห่างกับมัน อยากให้ดนตรีอยู่ใกล้ชิดกับเราไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม"

บอย หันไปส่งต่อให้ อดุลย์ ตอบซึ่งเจ้าตัวนิ่งคิดอยู่สักครู่ "การบอกสิ่งนี้ต่อคนฟัง ผมรู้สึกว่ามันเป็นการร้องขอมากเกินไป พูดยากนะ มันเหมือนแบบอ้าวคุณพูดเพื่อตัวเองเหรอ แต่ให้ลองนึกเวลาที่เราออกจากบ้านไปห้างสรรพสินค้า เรามีกาแฟแก้วละ 70 ถึงเกือบ 200 บาท แต่ในขณะที่ผลงานเพลงที่ตอนนี้หมดไปแล้วนะอย่างซีดี ชุดเต็ม สร้างมาด้วยราคาครึ่งล้าน วงดังหน่อยสร้างมาในราคา 1 ล้านบาท ห้องอัดระดับ 60 ล้านบาท แต่ราคาขายจบด้วยกันที่ราคาเดียวทุกศิลปินคือ 120 บาท ทำไมสิ่งที่ผลิตด้วยใจถึงได้มีราคาเดียว ในขณะที่ของรอบตัวเรามันมีตั้งหลายราคา แต่โปรดักซ์นี้มันมีราคาเดียว แล้วถูกกว่ากาแฟบางแบรนด์อีก แต่คนก็ยังไม่ซื้อกิน แต่กินกาแฟแก้วละร้อยสองร้อยคุณพร้อมซื้อกิน ราคาข้าวของทุกอย่างคุณสามารถจับจ่ายได้ตามเงินในกระเป๋าเลย แต่ซีดีขึ้นมากกว่านั้นไม่ได้ แถมยังไม่มีคนซื้ออีก มันกลายเป็นของฟรีไปแล้ว"

ศิลปะคือเรื่องที่คนมองข้ามมากเกิน

หนึ่ง "ผมขอพูดแทนคนฟังแล้วกัน สุดท้ายถ้าชอบจริงๆ ก็อุดหนุนนะครับ คนฟังเป็นปลายทางสุดท้ายแล้วล่ะ บางคนยังชอบนะ แต่ลืมที่จะอุดหนุนศิลปินคนที่ชอบ ดนตรีก็คือศิลปะ ศิลปะทุกอย่างศิลปินใช้ใจทำ การอุดหนุนเขาก็คือการต่อยอดนะ"

สุดท้าย เป็นหน้าที่ของ นภ พรชำนิ ที่อยากฝาก "ฝากถึงแฟนเพลง ว่าพวกเรายังเป็นกลุ่มที่ทำเพลงเหมือนเดิม เราเชื่อว่ายังมีคนฟังเพลงแนวเราอยู่ เราจะพยายามทำเพลงแพวนี้ออกมาเรื่อยๆ ให้ดีขึ้นไปอีกเพื่อวันหนึ่งถ้ามันมีโอกาสที่จะเปลี่ยนใจเขาได้ ว่าเขาสามารถกินกาแฟแก้วละเกือบ 200 บาทแก้วเดียว ในขณะที่อัลบั้มเราแค่ 150 บาท แต่มันคือชีวิตจิตใจที่เรามอบให้เขาด้วยนะ มันสามารถทำให้เขาได้รับสิ่งดีๆ จากเราในช่วงเวลานั้น 3 ปีเจอกันครั้งเดียวเหมือนซื้อกาแฟแค่แก้วเดียวเอง ก็ยังไม่มีโอกาสได้เจอกันเลย เพราะโลกที่เปลี่ยนไป มันเศร้านะ"

วันนี้เรามาคุยกันเรื่องเพลง แต่บทสรุปสุดท้าย วังเวง จนพวกเราทุกคนนิ่งเงียบกันไปเหมือนบทสนทนาจบลง นึกย้อนถามตัวเองวันนี้เราฟังเพลงไทย แต่เราอุดหนุนศิลปินไทยมากพอหรือยัง?.

เส้นทางสายดนตรีแม้จะขรุขระแต่ก็พร้อมทำงานต่อไป

ขอขอบคุณบทความดีๆจาก //www.thairath.co.th/



Create Date : 12 ตุลาคม 2558
Last Update : 12 ตุลาคม 2558 13:30:49 น.
Counter : 1783 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

replay
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





free website hit counter
New Comments
  •  Bloggang.com