HR Management and Self Leadership
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
1 มิถุนายน 2553

เงินเดือน กับผลงานของพนักงาน



วันนี้มีคำถามมาถามความคิดเห็นของท่าน ผู้อ่านว่า เงินเดือนกับผลงานของพนักงานนั้นไปด้วยกันหรือไม่ กล่าวคือ ถ้าพนักงานได้รับเงินเดือนที่สูง จะยิ่งทำให้พนักงานสร้างผลงานให้องค์กรที่สูงไปด้วย จริงหรือไม่ ส่วนพนักงานที่ได้เงินเดือนน้อยกว่า ก็จะสร้างผลงานที่ด้อยกว่าพนักงานที่ได้รับเงินเดือนสูงกว่า จริงหรือไม่

จากประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ผมสามารถตอบได้เลยว่า “เงินเดือนกับผลงานของพนักงานนั้นไม่ได้แปรผันตามกัน 100% ครับ” เคยสังเกตมั้ยครับ พนักงานบางคนเงินเดือนสูงมาก แต่ผลงานกลับไม่ออกมาให้เห็นเลย ตรงกันข้าม พนักงานบางคนเงินเดือนน้อยกว่าพนักงานคนแรกมาก แต่พยายามสร้างผลงานให้เห็นเด่นชัด

คำถามถัดมาก็คือ ถ้าเงินเดือนไม่มีส่วนในการจูงใจพนักงานให้สร้างผลงาน แล้วอะไรจะสามารถจูงใจพนักงานให้สร้างผลงานให้กับองค์กรได้

จริงๆ แล้ว เงินเดือนนั้นมีส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการกระตุ้นผลงานของพนักงานให้ดี ขึ้น ย้ำว่าผลงานที่ดีขึ้น และดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมานะครับ ยกตัวอย่างที่ผมเคยสอบถามความเห็นของพนักงานในเรื่องของเงินเดือน ผมถามว่า ถ้าวันนี้เราขี้เกียจทำงาน ทำงานผิดพลาดมากมาย เงินเดือนในเดือนนี้จะถูกลดหรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่” ในทางตรงกันข้าม ถ้าวันนี้เราขยันขันแข็ง ทำงานจนดึกดื่นเพื่อปั่นงานให้เสร็จทันกำหนดส่งลูกค้า ถามว่า ในเดือนนี้เราจะได้เงินเดือนมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่” อีกเช่นกัน

แล้วอะไรที่จูงใจให้พนักงานสร้างผลงาน คำตอบก็คือ ความรับผิดชอบในตนเองของพนักงานที่ต้องการจะได้รับความภาคภูมิใจในความ สำเร็จของงานที่ทำ ต้องการให้นายเห็น และยอมรับในผลงานของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือรางวัลที่จับต้องไม่ได้นั่นเอง

ส่วนรางวัลที่จับต้องได้ เพื่อกระตุ้นจูงใจให้พนักงานสร้างผลงานที่ดีขึ้นนั้น ก็จะเป็นเรื่องของ Pay for performance ก็คือการจ่ายเพื่อตอบแทนผลงานที่พนักงานทำได้ ถ้าผลงานดี ก็จะได้รับค่าตอบแทนที่สูงว่าคนที่ผลงานไม่ดี

บริษัทต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศทางตะวันตก เริ่มที่จะนำระบบ Pay for performance มาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งก็คือทำการลดความสำคัญของเงินเดือนพนักงานลง บางบริษัทถึงกับไม่มีการขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน แต่เปลี่ยนเป็นว่าถ้าพนักงานสร้างผลงานได้ดีในปีนั้นๆ ก็จะมีเงินรางวัลตามผลงานให้กับพนักงาน ใครทำได้มาก ได้ดีกว่า ก็จะได้รับเงินรางวัลมากกว่า บริษัทเหล่านี้พยายามจะเปลี่ยนตนเองให้เป็นบริษัทที่มีวัฒนธรรมที่เน้นผลงาน มากขึ้น ซึ่งระบบทุกอย่างก็จะไปผูกกับผลงานของพนักงานที่ออกมาด้วย

แต่ถ้าเรานำระบบที่ว่ามาใช้ในเมืองไทยบ้าง (ไม่มีการขึ้นเงินเดือนประจำปี) ผมว่าปัญหาคงเกิดขึ้นมากมายเลยทีเดียว พนักงานในบ้านเราคงไม่ยอมอย่างแน่นอน หรืออาจจะลาออกกันทั้งบริษัทเลยก็เป็นได้ ดังนั้นสิ่งที่บริษัทไทยๆ พอจะทำได้ในเรื่องของการ pay for performance ก็คือ ยังคงต้องมีการขึ้นเงินเดือนประจำปี แต่อาจจะลดเปอร์เซ็นต์ในการขึ้นเงินเดือนลง หรือขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกันระหว่างพนักงานแต่ละคน (ซึ่งแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนในตลาดก็แทบจะไม่แตกต่างกันในแต่ละปีอยู่แล้ว ในปัจจุบัน) และหันไปเพิ่มรางวัลผลงานให้กับพนักงาน โดยต้องสร้างวิธีการชี้วัดผลงานที่ชัดเจน และเป็นตัวชี้วัดผลงานที่มีผลต่อการทำธุรกิจของบริษัทด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้พนักงานสร้างผลงาน เมื่อพนักงานทำผลงานได้เป้า หรือมากกว่าเป้า บริษัทก็จะมีเงินรางวัลผลงานให้กับพนักงานตามที่ได้ตกลงกันไว้

ด้วยวิธีนี้ก็น่าจะพอที่จะสร้าง performance based culture ขึ้นมาได้บ้าง แม้ว่าจะไม่รุนแรงเท่าทางตะวันตกก็ตาม แต่ก็ต้องอย่าลืมเรื่องของ Intangible reward ด้วยนะครับ เพราะไม่ใช่แค่เงินอย่างเดียวนะครับที่มนุษย์เราต้องการ สิ่งที่มนุษย์เราต้องการมากไปกว่าเงินก็คือ การได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน หรือนาย และการได้เป็นบุคคลสำคัญในองค์กร

เพื่อให้ผลงานพนักงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ สิ่งที่ต้องทำก็คือ การสร้างความสมดุลระหว่างรางวัลที่เป็นตัวเงิน และรางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงินครับ




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2553
1 comments
Last Update : 1 มิถุนายน 2553 6:38:02 น.
Counter : 1328 Pageviews.

 

 

โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว 1 มิถุนายน 2553 9:17:03 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]