เมื่อเท้ามันคัน อะไรมันๆ จะเกิดขึ้น
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
5 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 
Egypt Reloaded ไม่ถึงปีผ่านไป อะไรมันช่างเปลี่ยน (ตอน 2)

ห่างหายไปจากวงการบล็อกนาน เพราะมัวแต่ไปทำแพล็งกิ้งระหว่างเดินทางไปพักร้อนที่เมืองไทย กลับมาอีกทีเมื่อมีแฟนๆ เรียกร้อง (มีจริงๆ นะครับ ทั้งทางเฟซบุก อีเมล์ ทวิตเตอร์ จุดธูปบอกก็มีบ้าง) จึงหันมาสำรวจภาพถ่ายและเรื่องราวที่ยังไม่ได้นำมาลง มีอยู่อีกพอสมควร อย่างน้อยอียิปต์ก็อีกสักสองตอน ยูกันดา รวันดาและดูไบ เหมือนเดิมครับ จะทยอยลงตอนมีเวลาว่างหรือขี้เกียจทำงาน (ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก) ปกติเป็นคนขยันทำงานจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว

ครั้งก่อนพาไปล่องแม่น้ำไนล์ทานอาหารค่ำและพาออกไปเที่ยวนอกกรุงไคโรมาแล้ว คราวนี้ก็คงวนๆ เวียนๆ อยู่ในไคโรและเมืองใกล้เคียงนะครับ เมืองที่ต้องขับรถออกไปอีกเป็นร้อยๆ กิโล ไม่เอาแล้ว


สิ่งหนึ่งที่หากเดินทางไปท่องเที่ยวอียิปต์แล้วไม่ควรพลาด คือ การเดินทางไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของอียิปต์ ซึ่งทราบมาว่าระหว่างที่มีการประท้วงเมื่อต้นปี ได้มีคนบุกเข้าไปรื้อทำลายข้าวของ รวมทั้งขโมยทรัพย์สมบัติอันโบราณล้ำค่าไปจำนวนหนึ่ง ไม่รู้จริงเท็จประการใด แต่หากเป็นจริง ก็น่าเสียใจแทนคนอียิปต์นะที่ทุบหม้อข้าวตัวเอง สิ่งของหลายอย่างมีอายุหลายพันปีและหาไม่ได้อีกแล้ว


สิ่งแรกที่สังเกตเห็น คือ อาคาร ซึ่งเมื่อปีกลายที่ผมมามีสีแดงมอๆ เพราะความเก่าและพายุฝุ่นที่พัดเข้ามาในเมืองเดือนละหลายครั้ง ปัจจุบันเป็นอาคารสีแดงส้มสดใส คงเพิ่งทาสีใหม่เป็นแน่แท้และยังห้ามนักท่องเที่ยวเอากล้องถ่ายรูปเข้าไปถ่ายด้านในเหมือนเดิม ได้แต่ถ่ายรูปเอาจากข้างนอก


นักท่องเที่ยวน้อยลงไปถนัดตา ภายในก็ไม่ได้เดินชนกันเหมือนปีกลาย เดินสบายกำลังดี ส่วนของหรือก็เยอะแยะตาแป๊ะไก่เหมือนเดิม เลยไม่รู้จริงๆ ว่ามีสิ่งของใดสูญหายไปบ้าง เอาเป็นว่ายังเดินดูได้เป็นวันๆ เหมือนเดิม


เหลือบไปเห็นวัตถุสีดำขนาดใหญ่ข้างๆ พิพิธภัณฑ์ เป็นที่ฉงนยิ่งนัก สอบถามผู้รู้ทราบว่าเป็นอดีตอาคารที่ทำการของพรรคการเมืองของนายมูบารัก ที่ถูกเผาทำลายระหว่างการประท้วงขับไล่ ต้องใช้คำว่าอดีต เพราะซากที่เหลืออยู่เป็นเหมือนก้อนคอนกรีตสีดำมหึมา เหมือนโดนระเบิดปรมาณูถล่มยังไงยังงั้น


นอกจากสีภายนอกพิพิธภัณฑ์ที่ดูใหม่ขึ้น ซากตึกสีดำนี้คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่มีเมื่อปีกลาย


ป้อมปราการบนเนินเขาในกรุงไคโร ก็ยังตั้งตระหง่านเหมือนเดิม แน่นอนว่านักท่องเที่ยวน้อยลง แต่ผมมีความสุขในการท่องเที่ยวมากขึ้นนะ ไม่ต้องเร่งรีบ เบียดเสียดหรือแย่งที่กินที่เที่ยวกับคนอื่นมากนัก


แต่เจ้าของธุรกิจและร้านค้าต่างๆ คงมีรายได้น้อยลงไปตามๆ กัน น่าเศร้าใจแทน ทำให้นึกถึงพ่อค้าแม่ขายในบ้านเราในช่วงเผาบ้านเผาเมือง


อิสระที่คนอียิปต์และพวกเราได้เอนจอยมากขึ้นหลังการขับไล่นายมูบารัก อย่างที่ป้อมปราการแห่งนี้ เชือกที่แต่ก่อนเคยกั้นไม่ให้คนเข้าไปถ่ายรูปใกล้จนเกินไป บัดนี้ ได้ถูกปลดออกและใครจะเข้าไปถ่ายรูปตรงไหนก็ได้ ใกล้แค่ไหนก็ได้


ผมเลยได้รูปวิวทิวทัศน์และเส้นขอบฟ้าของกรุงไคโรที่แจ่มกว่าคราวที่แล้ว แต่จะแจ่มยังไงก็ยังไม่เคลียร์ใส เพราะเมืองในทะเลทรายก็ต้องมีฝุ่นทะเลทรายเป็นธรรมดาเนาะ


นาฬิกาหน้าโง่กำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซม (ไปอ่านในบล็อกอียิปต์ของเก่าเอาเองว่าหน้าโง่ยังไง)


ปีที่แล้วไปตลาดข่าน ซึ่งเป็นตลาดขายของที่ระทึกและไม่ระทึกขนาดมหึมาตอนกลางวัน จำได้ว่าร้อนกายมากๆ เดินก็ไม่ค่อยสนุก ปีนี้ได้เปลี่ยนบรรยากาศไปเดินกลางคืนบ้าง


เออดีกว่าแฮะ ไม่ร้อน เดินสนุก ซื้อสนุก ต่อสนุก และคนอาหรับเขาก็เริ่มใช้ชีวิตหลังบ่ายคล้อยไปแล้วด้วย


ทำให้ดูมีชีวิตชีวากว่ากลางวันอย่างกะหนังคนละม้วน


คนไทยท่านใดได้ไปตลาดนี้แล้วเบื่อกับการต้องต่อรองราคาและการถูกฉุดกระชากลากถูโดยคนขายชาวอาหรับและอยากซื้อของกะจุ๊กกะจิ๊กไปฝากเพื่อนฝูง ขอให้เดินตามหาร้านขายของที่ระลึกชื่อ Jordi


อยู่บนชั้นสองของตลาด หาไม่ยากนัก ของราคาถูกดีแทบไม่ต้องต่อและซื้อเยอะมีแถมอีกต่างหาก น่าจะรักชอบคนไทยอยู่พอสมควร เพราะมีลูกค้าคนไทยเยอะอยู่


คราวที่แล้วไม่มีเวลามากพอ เลยไม่ได้เดินเที่ยวในตัวเมืองไคโร คราวนี้ตั้งใจมาเดินมาก Downtown เขาใหญ่โตมโหฬารนะ บ้านเราน่าจะไม่ใหญ่เท่า


ตึกเก่าๆ สวยๆ ยังถูกรักษาไว้อย่างดี เดินไปมาหลายรอบ ใช้เวลาไปประมาณสี่ชั่วโมงได้ เอาเป็นว่าเดินกันจนขาลากไปเลยทีเดียว


แต่อย่างน้อยก็เดินจนครบทุกมุมเมืองแล้วล่ะ เจอข้อความแรงๆ ตามตึก ควันหลงจากการประท้วง ก็ถ่ายเอามาให้ดูกัน


จตุรัสประวัติศาสตร์ Tahrir Square ที่เคยเป็นจุดรวมของเพื่อนพี่น้องกู้ชาติและขับไล่ทรราชและเป็นที่ๆ ชาวอียิปต์เคยหลั่งหยดเลือด หยาดเหงื่อและน้ำลาย (ผสมเสลด) ร่วมกัน


ปัจจุบันได้กลายเป็นที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไปเสียแล้ว ใครมาก็ต้องหยุดถ่ายรูปและหาซื้อเสื้อยืดรักชาติลายต่างๆ เก็บไว้เป็นที่ระลึก


ไอ้การที่จะเอาเสื้อผ้าสิ่งของมาวางขายตามฟุตบาทหรือตามรั้วริมถนนนี้ เมื่อก่อนทำไม่ได้นะครับ เมื่อไม่มีรัฐบาล ใครใคร่ค้าก็ค้า อิสรเสรีเต็มที่ ประมาณว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก


ประสบการณ์แปลกใหม่ที่แตกต่างไปอีกอย่างหนึ่ง คือ การได้ลองใช้บริการรถไฟใต้ดินของอียิปต์ ซึ่งสร้างเพื่อประชาชนทุกชนชั้นสังคมจริงๆ ราคาประหยัด เดินทางสั้นยาวแค่ไหนก็ปอนด์เดียว (ประมาณ 6 บาท) ไม่มาเก็บตามระยะทางให้ปวดหัวเหมือนบางประเทศ


และเส้นทางที่ให้บริการก็ครอบคลุมทั่วถึง ประมาณจากมหาชัยไปรังสิตหรือนครปฐมไปชลบุรีก็ว่าได้ ไม่ได้มีแค่ในใจกลางเมืองเหมือนบางประเทศ


ชาวบ้านชาวเมืองก็ใช้บริการกันแน่นขนัด โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน เหม็นบ้างหอมบ้างแล้วแต่จะเลือกทำเลยืน อันนี้เหมือนบางประเทศข้างต้น

สรุปว่าสิ่งดีที่เกิดขึ้นกับชาวอียิปต์ทันทีหลังการขับไล่นายมูบารัก คือ อิสรภาพในการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพที่มีความเสรีและไร้ขอบเขตมากยิ่งขึ้น เช่น การขายของตามท้องถนน การได้ไปหรือทำในสิ่งที่ถูกห้ามโดยไร้เหตุผลมาก่อน การจู๋จี๋กันในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยมากขึ้น ไม่ต้องไปแอบทำตามมุมมืดอีกแล้ว

แต่สิ่งเหล่านั้น ผมบอกไม่ได้ว่ามันคืออิสระที่แท้จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงความไร้ระเบียบชั่วคราวเท่านั้น นี่ขับไล่อดีตประธานาธิบดีไปตั้งกี่เดือนแล้ว มีอะไรคืบหน้าไปบ้างหรือยังล่ะ ประเทศได้พัฒนาหรือย่ำอยู่กับที่ บางทีการสักแต่ประท้วงขับไล่คนที่ไม่ชอบ แต่ไม่มีทางออกหรือแผนสำรองก็ไม่ได้ดีเสมอไปหรือเปล่า

ทิ้งท้ายบล็อกนี้ไว้ด้วยข้อคิดแบบงงๆ และขอแสดงความยินดีกับการได้มาของนายกหญิงคนแรกและคนใหม่ของไทยแบบงงๆ









Create Date : 05 กรกฎาคม 2554
Last Update : 7 กรกฎาคม 2554 16:01:31 น. 2 comments
Counter : 1578 Pageviews.

 
ก็งงต่อไป เมืองไทยยังมีอะไรดีๆ รอต้อนรับกลับบ้านอยู่น่ะท่านทูต


โดย: นพ IP: 58.9.66.97 วันที่: 7 กรกฎาคม 2554 เวลา:19:09:14 น.  

 
ผลจากการขับไล่คนที่ตัวไม่ชอบ

จึงทำให้อิยิปต์ทีนักฉกชิงวิ่งราวเกิดขึ้นไง


โดย: ตนไกล IP: 41.155.222.145 วันที่: 12 ตุลาคม 2554 เวลา:0:33:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Thaisoloclub
Location :
Rome Italy

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 32 คน [?]




Friends' blogs
[Add Thaisoloclub's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.