กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
29 กรกฏาคม 2553

รีคอร์เดอร์ ยอดขลุ่ยจากแดนยุโรป

ตอนเป็นเด็กเครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตที่ผมเล่นเป็นคือ "ฮาร์โมนิกา" หรือ "เมาท์ออร์แกน" หรือที่คนไทยเรียกกันว่า "หีบเพลงปาก" ตอนนั้นก็เล่นแบบเด็กๆ พอเป่าเป็นก็ดีใจแม้ว่าจะไม่เก่งมากแต่ก็เป็นจุดเริ่มของความสนใจเรื่องดนตรี แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปมีสิ่งอื่นๆ เข้ามาในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน เรื่องงาน ทำให้ลืมไปเลยว่าครั้งหนึ่งผมเคยเล่นเครื่องดนตรีเป็นกับเขาเหมือนกัน

พออายุมากขึ้นรสนิยมการฟังดนตรีก็เริ่มเปลี่ยนแบบถอยหลังลงคลองจากเพลงป๊อบเพลงสตริงก็ย้อนกลับไปสมัยซิกตี้ สมัยบีทเทิล พอเริ่มเบื่อก็ถอยกลับไปฟังดนตรีคลาสสิคแล้วก็พบว่าดนตรีคลาสสิคมีมิติทางดนตรีมากกว่าเพลงในยุคปัจจุบันและสามารถถ่ายทอดอารมณ์ของดนตรีได้ดีกว่า ทำให้ฟังกี่ครั้งก็ยังไพเราะสมกับชื่อที่เรียกว่าดนตรีคลาสสิคเพราะความอมตะเหนือกาลเวลา

พอฟังเพลงคลาสสิคมากๆ ความรูสึกอยากเล่นดนตรีเริ่มเกิดขึ้นอีก เลยนึกถึงหีบเพลงปากอันเก่าที่ทิ้งร้างไว้เป็นสิบปี แต่พอลองเอาหีบเพลงปากมาเป่าเพลงคลาสสิคที่ชื่นชอบปรากฎว่าเกิดปัญหาคือเสียงบางเสียงเป่าไม่ได้ พอลองไปค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็พบว่าหีบเพลงปากที่ผมเป่าเป็นแบบ " tremolo harmonica" ซึ่งมีเฉพาะเสียงเดี่ยวๆ คีย์หลักๆ แต่เสียง sharp/flat เล่นไม่ได้ ถ้าจะเล่นให้ได้เสียง sharp/flat ต้องไปซื้อแบบ "chromatic harmonica" มาเล่นแทนอันนึงก็แพงโขอยู่เหมือนกันแต่ทำยังไงได้กิเลสมันรุมเร้าอีกแล้ว

ในขณะที่หาข้อมูลเกี่ยวกับหีบเพลงปากแบบที่ต้องการอยู่นั้นก็ไปค้นคลิปวีดิโอจากยูปทูปเจอคุณลุง 2 คนเล่นเพลง Salut d'amour ที่ผมชื่นชอบ คนหนึ่งเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ อีกคนเล่นกีต้าร์ โอ้แม่เจ้า... มันเพราะมากๆ เลยครับ โครงการหีบเพลงปากเลยพับไป ขอลองขลุ่ยรีคอร์เดอร์ก่อนก็แล้วกัน




ขลุ่ยรีคอเดอร์ก็คือขลุ่ยพลาสติคที่เด็กนักเรียนใช้เรียนดนตรีระดับมัธยมหรือประถมศึกษานั่นเอง หาซื้อก็ไม่ยาก ผมไปซื้อที่ร้านศึกษาภัณฑ์สาขาสนามศุภฯ มีให้เลือกแค่ 2 ยี่ห้อคือ YAMAHA ของญี่ปุ่นกับ KING ของจีนราคาต่างกันสิบกว่าบาทผมเลือก YAMAHA เพราะดูจากมาตรฐานการผลิตโดยหยิบมาเทียบรายละเอียดทั้ง 2 อันปรากฎว่า YAMAHA เหนือกว่าเรื่องความปราณีต รุ่นที่ผมซื้อมาคือ YRS-23 ระดับเสียง Soprano พอลองเป่าดูก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมเสียงแหลมจัง ไม่เห็นเหมือนลุงเหน่งในคลิปวีดิโอที่เป่าได้เสียงทุ้มนุ่มลึกมาก กว่าจะถึงบางอ้อก็ค้นอยู่นานถึงรู้ว่ารุ่นที่ลุงเหน่งเป่าเป็นขลุ่ยรีคอเดอร์รุ่นเสียง Alto ที่ระดับคีย์ F มิน่าล่ะถึงได้เสียงทุ้มนัก ก็คนไม่มีความรู้ดนตรี ค่อยๆ ค้นคว้าไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็พอจะรู้อะไรมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะแล้ว



เมื่อซื้อมาแล้วก็ต้องหัดเป่าไปก่อนแล้วค่อยหาซื้อรุ่น Alto ทีหลัง ตอนนี้ก็พัฒนาขึ้นเยอะแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่จบเพราะผมไม่มีความรู้เรื่องโน๊ตดนตรีทำให้เล่นเพลงคลาสสิคได้กระท่อนกระแท่นมากที่มักตกม้าตายก็คือถ้าเจอระดับเสียงพวก sharp/flat แล้วสะดุดทุกทีเพลง Salut d'amour เลยเป่าได้แค่่ท่อนแรกเท่านั้น พอเจอท่อนหลังก็ไปไม่เป็นแล้ว แต่กับเพลงไทยเพลงจีนนี่สบายมาก เล่นได้พริ้วใช้ได้เลย ตอนนี้เล่นได้หลายเพลงแล้วไม่ว่าจะเป็น ค้างคาวกินกล้วย เขมรไล่ควาย ลาวดวงเดือน แขกมอญบางขุนพรหม ลาวแพน ลาวจ้อย ลาวเสี่ยงเทียน ฯลฯ เพลงจีนก็ได้ เช่น Mo Li Hua, Tao Hua Jiang แถมเพลงประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนก็เล่นได้ อย่าง Begawan Solo ของอินโดนีเซีย Dahil Saiyo ของฟิลิปปินส์

เมื่อความสนใจหันเหมาทางขลุ่ยรีคอร์เดอร์แล้วผมจึงไปค้นหาประวัติความเป็นมาปรากฎว่าน่าสนใจทีเดียวเพราะกำเนิดมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 14 ได้รับความนิยมในยุคกลางและบาโรค แต่เริ่มเสื่อมความนิยมในศตวรรษที่ 18 เพราะมีเครื่องลมไม้ที่ให้เสียงที่ไพเราะกว่ามาแทนที่เช่น Flute, Oboe, Clarinet เป็นต้น เพิ่งจะมาฟื้นฟูอีกครั้งในศตวรรษที่ 20 นี้เอง โดยถูกบรรจุให้อยู่ในหลักสูตรของโรงเรียนต่างๆ ในยุโรปและเอเซียบางประเทศ

จากการสันนิษฐาน (ของผมเอง) ขลุ่ยรีคอร์เดอร์น่าจะเป็นต้นแบบของขลุ่ยไทยเพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มมีการนำขลุ่ยเข้ามาในมหรสพดนตรีไทยสมัยอยุธยาซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชาวยุโรปเป็นครั้งแรกในขณะที่ไม่พบหลักฐานว่ามีขลุ่ยในสมัยสุโขทัย พี่น้องชาวไทยอย่าเพิ่งเคืองผมนะครับ ผมแค่สันนิษฐานเพราะรูปร่างและกลไกของขลุ่ยรีคอร์เดอร์คล้ายขลุ่ยไทยมาก เช่น มี 8 รูปเหมือนกัน มีการเจาะรูเพื่อวางนิ้วโป้งด้านหลังอีก 1 รูเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็มีหลายจุด เช่น ขลุ่ยไทยทำด้วยไม้ไผ ขณะที่ขลุ่ยรีคอร์เดอร์ทำจากไม้เนื้อแข็งนำมากลึงเข้ารูปแล้วเจาะรู ดังน้นเสียงจึงแตกต่างกันพอสมควร


คนที่เคยเป่าขลุ่ยทั้งสองชนิดคงรู้ว่าขลุ่ยไทยจะกินลมหรือใช้พลังลมในการเป่ามากกว่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ อาจจะเนื่องมาจากข้อจำกัดจากไม้ไผ่ที่รูปทรงตายตัวทำให้การวางปากนกแก้ว (Labium) ทำได้ไม่ดีนัก ในขณะที่ขลุ่ยรีคอร์เดอร์ทั้งปากนกแก้วและทางลม(Windway) ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ที่สำคัญคือการขึ้น Octave สูงๆ ขลุ่ยรีคอร์เดอร์ทำได้สบายมาก ขณะที่ขลุ่ยไทยต้องใช้วิธีหลบเสียงไปใช้ Octave ต่ำกว่าแทนเพราะเสียงขึ้นไม่ถึง อย่างไรก็ตามขลุ่ยไทยก็มีเสียงและเทคนิคการเล่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะทีไม่เหมือนใคร



เอาไว้ผมหาซื้อขลุ่ยรีคอร์เดอร์ระดับเสียง Alto ได้เมื่อไหร่จะอัพโหลดคลิปวีดิโอบนยูทูปโชว์ให้มิตรรักแฟนเพลงฟังเล่นนะครับ อิอิ..

คลิปเพลง Salut d'amour ที่บรรเลงด้วยขลุ่ยรีคอร์เดอร์




Create Date : 29 กรกฎาคม 2553
Last Update : 24 ธันวาคม 2554 10:01:30 น. 1 comments
Counter : 8469 Pageviews.  

 
เคยเรียนตอนอยู่ม.ต้นค่ะ แต่ลืมไปแล้วล่ะ


โดย: woosung วันที่: 29 กรกฎาคม 2553 เวลา:21:29:38 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

HonLin
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีครับ
ยินดีที่ได้รู้จักเพื่อนๆ ทุกคน
ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ
[Add HonLin's blog to your web]