ที่ใดมีธรรมะ...ที่นั่นจะพบกับทางออกของชีวิต ^_^
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2560
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
7 กุมภาพันธ์ 2560
 
All Blogs
 
3. ถุงเงินของพันทุ



 

“สัตว์โลก

 

ย่อมเป็นไปตามกรรม

 

กรรมจำแนกสัตว์

 

ให้เลวหรือดี

 

ให้ทรามหรือประณีต

 

หว่านพืชเช่นไร

 

ได้ผลเช่นนั้น

 

ทำดีได้ดี

 

ทำชั่วได้ชั่ว”

 

“คนทำดี

 

ย่อมสุขใจในโลกนี้

 

คนทำดี

 

ย่อมสุขใจในโลกหน้า

 

คนทำดี

 

ย่อมสุขใจในโลกทั้งสอง

 

เมื่อคิดได้ว่า

 

ตนได้ทำแต่บุญกุศล

 

ย่อมสุขใจ

 

ตายไปเกิดในสุคติ

 

ยิ่งสุขใจยิ่งขึ้น”

 

“ความชั่ว

 

ไม่ทำเสียเลยเป็นดี

 

ทำแล้ว

 

ย่อมเดือดร้อนภายหลัง

 

มาทำความดีกันดีกว่า

 

ทำแล้วไม่เดือดร้อน

 

พึงรีบเร่งกระทำความดี

 

และป้องกันจิตจากความชั่ว

 

เพราะเมื่อกระทำความดีช้าไป

 

ใจจะกลับยินดีในความชั่ว”

 

                พระนารทะนึกในใจว่า  “โลกหนอโลก  สภาพของเจ้า

 

ช่างน่าอเนจอนาถอะไรเช่นนี้  ดูเต็มไปด้วยการแข่งขันชิงดี

 

เอารัดเอาเปรียบกันทุกอย่าง  ใครมีกำลังมาก  มีพวกพ้องมาก

 

มีอำนาจมาก  ก็ทำการข่มเหงแย่งชิงริบทรัพย์ของผู้ที่ด้อยกว่าตน

 

ชาวโลกกำลังหลงเพลินปล่อยตนไปตามอำนาจของ

 

ความอยาก  จึงเป็นเหตุให้เดือดร้อนด้วยประการต่างๆ

 

ตามปกติสภาพของโลก  ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงนี้  ก็เป็นทุกข์

 

พออยู่แล้ว  ชาวโลกยังหาทุกข์ไปเพิ่มให้หนักขึ้นไปอีก 

 

ชีวิตความเป็นอยู่ของหมู่ชนช่างยุ่งเหยิงเหมือนด้ายยุ่งที่สางไม่ออก

 

สัจธรรมอันเป็นประดุจแสงสว่างที่จักช่วยให้จิตใจหายขุ่นมัวได้

 

ก็มีอยู่  แต่น้อย  คนที่จักหันหน้าหาแสงสว่างนั้น

 

เหมือนนกที่ติดข่ายของนายพราน  แล้วน้อยตัวนักที่จักรอดไปได้

 

ชีวิตของหมู่สัตว์โลกจึงเป็นเช่นกับการว่ายอยู่ในทะเลวน

 

แลไม่เห็นฝั่ง”

 

                “พระพุทธองค์เป็นบุคคลแรกที่หาทางออกจากวังวน

 

และไปถึงท่าอันเกษมสำราญ  แล้วยังทรงสงสารเพื่อนร่วมเกิด

 

แก่  เจ็บ  ตาย  ด้วยกัน  จึงทรงประกาศแก่ชาวโลกว่า  ทางที่จัก

 

ไปให้พ้นทุกข์นี้มีอยู่  พระองค์ได้พบ  และเดินตามทางนั้น

 

พ้นทุกข์ไปแล้ว  ชาวโลกจะมัวหัวเราะ  มัวร่าเริงด้วยความหลง

 

อยู่ทำไม  ประทีปนำทางมีอยู่  ไฉนจึงไม่หันมาหาดวงประทีปเล่า

 

แต่ก็มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ตามรอยพระองค์ไปถูก”

 

                เมื่อคิดมาถึงเพียงนี้  พระเถระก็เกิดความสงสารชาวโลก

 

เป็นกำลัง  จึงได้ตั้งปฏิญาณว่า  “เราจักใช้ชีวิตของเรา

 

ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นต่อไป  ร่างกายของเรานี้จักเป็น

 

สะพานให้สัตว์โลกได้ข้ามไปสู่ความสงบสุข”

 

                พระนารทะคิดพลางเดินพลาง  จนมาถึงทางเกวียน

 

ของเทวละ  จึงได้ปราศรัยเป็นเชิงถามขึ้นว่า  “พอทนได้อยู่หรือท่าน?”

 

                เทวละกำลังสาละวนอยู่กับการซ่อมเกวียน  พอได้ยินเสียง

 

อันนุ่มนวลหู  แสดงถึงความเป็นมิตรเช่นนั้น  เขาก็เงยหน้า

 

ขึ้นดูเห็นว่าเป็นผู้ทรงศีลก็ดีใจ  จึงทำการคารวะแล้วตอบว่า

 

“เหลือทนหน่อยพระคุณเจ้า  แต่ถึงกระนั้นก็ต้องทน”

 

                พระนารทเถระจึงกล่าวปลอบว่า  “อย่าเป็นทุกข์ไปเลย

 

มันเสียหายแต่เพียงเล็กน้อย  และถึงอย่างไรมันก็เสียไปแล้ว

 

อาตมภาพจักช่วยจัดการให้เรียบร้อยโดยเร็ว”

 

                ว่าแล้วพระนารทะก็ปล่อยย่าม  วางบาตร  เข้าช่วยเหลือ

 

นายเทวละทันที

 

                เทวละมองดูการกระทำของพระเถระด้วยความ

 

ประหลาดใจ  เพราะเขาไม่เคยคิดว่า  นักบวชจักบำเพ็ญตนช่วยเหลือ

 

ผู้อื่นถึงเพียงนี้  เขาเคยเห็นแต่นักบวชที่ถือวรรณะ  เหยียดหยาม

 

ชนชั้นเขา  เขาเคยเห็นแต่นักบวชที่เห็นแก่ตัว  คอยแต่จะ

 

ให้ผู้อื่นช่วยเหลืออุปการะ  ราวกับว่าการเป็นนักบวชทำให้

 

มือและเท้าต้องพิการไป  ในชั่วชีวิตของเขา  เขาเคยพบแต่นักบวช

 

ที่ดีแต่สอนให้คนทั้งหลายทำความดีเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน

 

ส่วนตนเองหาคิดที่จักทำตัวอย่างความดีที่ตนสอนไปไม่

 

                เมื่อเทวละเห็นการกระทำของพระนารทะ  เขาจึง

 

ประหลาดใจมาก  เป็นเวลาชั่วครู่หนึ่งที่เทวละนิ่งอึ้งและดู

 

พระนารทะ  ครั้นแล้วเขาก็ยิ้มออกมาและลงมือทำงานต่อไปอย่าง

 

เบิกบานใจ

 

                การซ่อมเกวียนดำเนินไปด้วยดี  จนเกือบจะสำเร็จ

 

และระหว่างนั้นการสนทนาระหว่างพระนารทะกับเทวละ  ก็ได้

 

ดำเนินไปเป็นที่ซาบซึ้งชุ่มชื่นใจเทวละมาก  มีปัญหาอะไรที่เคย

 

ข้องใจสงสัยเขาก็พยายามคิดทบทวน  และไต่ถามพระนารทะ

 

ตลอดเวลา  ซึ่งทุกๆ  คำถามของเขาก็ได้รับคำตอบที่เต็มไปด้วย

 

เหตุผล  ทำให้เข้าใจแจ่มแจ้ง  และในที่สุดก็มาถึงคำถามว่า

 

“พระคุณเจ้า  จักบอกกับข้าพเจ้าได้ไหมว่า  ทำไมข้าพเจ้าจึงต้อง

 

ได้รับความอยุติธรรมจากบุคคลที่ข้าพเจ้าไม่เคยได้ประพฤติ

 

ล่วงเกินเขาเลย”

 

                “เทวละ..เธอจงอย่าได้คิดว่าเธอได้รับความอยุติธรรม

 

จากใคร  เพราะนั่นมันเป็นเพียงการเอาคืน  สิ่งที่เธอได้ให้เขาไว้

 

เท่านั้น  “ผู้ใดกระทำกรรมอันใดไว้  ผู้นั้นจักต้องรับกรรมนั้น

 

ในที่สุด”  เธอแน่ใจแล้วหรือว่าเธอไม่เคยได้ทำร้ายเขาเลย

 

แม้ในอดีตชาติอันรู้ไม่ได้  จำไม่ได้  เมื่ออดีตกรรมเป็นเรื่องที่

 

จำไม่ได้  ระลึกไม่ได้แล้ว  เธอจงใช้เหตุผลคิดดูเถิดว่า  “เราหว่านพืช

 

ชนิดใด  ย่อมได้รับผลชนิดนั้น  ทำความดีย่อมได้รับผลดี

 

ทำความชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่ว”  ความเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นผล

 

ของการกระทำในอดีต  เธอก็ควรจะสรุปได้ว่า  เหตุการณ์ที่

 

เกิดขึ้นทั้งหมดนี้  เป็นผลการกระทำของเธอเองทุกประการ”

 

                เทวละแย้งขึ้นว่า  “ถ้าเช่นนั้น  การที่นายพาณิชย์ทำ

 

ความเดือดร้อนให้ข้าพเจ้านี้  เขาคงจักไม่ต้องรับผลกรรมนะซิ

 

พระคุณเจ้า?  เพราะว่ามันเป็นการส่งคืนกรรมชั่วของข้าพเจ้า

 

ดังที่พระคุณเจ้ากล่าว  กรรมชั่วของข้าพเจ้าจักมีผลชั่วอย่างไร

 

จะมิเป็นการขัดกับข้อที่ว่า  “ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว”  หรือ?”

 

                “เธอถามดีมากเทวละ  แต่เธอยังมิได้คิดให้สุขุมพอ

 

ที่ว่ากรรมนั้นหมายถึงการกระทำด้วยความจงใจ  เมื่อจงใจแล้ว

 

ย่อมยึดติดในการกระทำนั้น  ใจที่คิดดีและกระทำดีย่อมได้รับ

 

ผลดีในทันทีทันใดที่คิดและกระทำ  ใจที่คิดชั่วแม้เพียงคิด

 

ไม่ได้กระทำก็ได้รับผลชั่วร้ายเป็นทุกข์ก่อนแล้ว  อันกรรมที่

 

นายพาณิชย์กระทำต่อเธอนั้น  แม้จะเป็นการส่งคืนกรรมชั่ว

 

แต่อดีตชาติของเธอก็ตามที  แต่นายพาณิชย์จงใจกระทำ  การจงใจ

 

กระทำเป็นอุบัติเหตุแห่งกรรมใหม่ของเขา  ใจของเขาย่อม

 

ยึดติดในการกระทำนั้น  และเขาจักต้องรับผลกรรมนั้นเป็น

 

ธรรมดาไม่ทางกายก็ทางใจ”

 

                “สาธุ”  เทวละอุทานออกมาอย่างปลื้มปีติ  “จริงอย่าง

 

พระคุณเจ้าว่า  เพราะข้าพเจ้ารู้สึกอยู่เสมอมานานแล้วว่า

 

คราวใดที่ข้าพเจ้าได้ทำอะไรให้ผู้อื่นเดือดร้อนแล้ว

 

ความร้อนใจว่าเขาจักมาทำตอบแทนเอาบ้าง  ก็เกิดขึ้นมาทรมานใจเสมอ

 

นี่กระมังที่ว่าผลกรรม?”

 

                “ถูกแล้ว...เธอเข้าใจถูกแล้ว  นี่แน่ะเทวละ  จงฟังให้ดี

 

อาตมภาพจักถามเธอบ้างว่า  เธอรู้ไหม  อะไรเป็นเหตุให้

 

นายพาณิชย์จงใจกระทำกรรมอันนั้นต่อเธอ?”

 

                เทวละนิ่ง  ใช้ความคิดอยู่เป็นนาน  พระนารทะจึงกล่าว

 

ต่ออีกว่า  “เทวละจงคิดให้ดีเถิด  ถ้าหากเธอมีฐานะอย่างเจ้าของรถ

 

คันนั้น  ถ้าเธอมีเงินมีอำนาจ  และได้นั่งรถไปพบใคร

 

คนหนึ่งที่มีฐานะอย่างเธอนี้ทำเกวียนขวางทางอยู่  เธอจัก

 

ปฏิบัติต่อเขาเหมือนอย่างที่นายพาณิชย์ปฏิบัติต่อเธอเมื่อสักครู่นี้

 

หรือเปล่า?”

 

                เทวละยิ้มแห้งๆ  ตอบว่า  “อาจจะเป็นได้”

 

                “ไม่อาจจะละ  เป็นได้ทีเดียว  แล้วเธอรู้ไหมเล่าว่าทำไม

 

จึงเป็นเช่นนั้น  ข้อนี้เธอคงจักไม่เคยคิด  เพราะฉะนั้นจงฟัง

 

อาตมภาพให้ดี  และจำไว้ว่า  กรรมชั่วทุกอย่างเกิดขึ้นจากการ

 

หลงตัวเอง-รักตัวเอง  มีความเห็นแก่ตัวมากกว่าจะนึกถึงใจ

 

คนอื่น  ความเห็นแก่ตัวนี้เป็นต้นเหตุ  ลาภ,  ยศ,  สรรเสริญ,

 

โลภ,  โกรธ,  หลง  เป็นตัวเร่งที่คอยสนับสนุนให้กรรมชั่วปรากฏ

 

                ฉะนั้น  เมื่อเธอคิดถูก  รู้ว่าผลกรรมที่ทำไปนั้นจะตก

 

เป็นของตนเองแล้ว  จงระวังอย่าได้ทำอะไรลงไปด้วยอำนาจ

 

ความหลงตัวเองเป็นอันขาด  จงถามตนเองก่อนว่า  ถ้าเขาทำ

 

กับเราอย่างที่เราทำกับเขา  เราจักพอใจไหม?  เมื่อมีสติคิดได้

 

อย่างนี้  ก็ย่อมไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ใคร  กรรมอัน

 

ชั่วร้ายก็ไม่บังเกิด  และเมื่อมีใครก่อความเดือดร้อนให้ก็จงคิดว่า

 

เป็นกรรมของเราเอง  อย่าไปโกรธเคืองเขาเลย  เพราะการโกรธ

 

ทำให้เกิดคิดแก้แค้น  ผูกกรรมให้เกิดขึ้นอีก  เป็นการเพิ่มบาป

 

เพิ่มทุกข์แก่ตัวเอง  การยอมให้อภัยเป็นการตัดกรรม

 

ให้หมดสิ้น  จงพยายามเอาชนะความชั่วด้วยความดี  เอาชนะ

 

ความโกรธด้วยความรัก  และขอให้จำไว้ว่า  คนที่แสดงความ

 

ชั่วร้ายต่อเรานั้นเป็นคนเลวอยู่แล้ว  ถ้าเราแสดงความโกรธตอบ

 

กระทำตอบแทน  เราก็เป็นคนเลวยิ่งไปกว่าเขา  เท่ากับช่วยกัน

 

เพิ่มคนเลวขึ้นในโลก  โลกจะเต็มไปด้วยการจองเวรกันกลับไป

 

กลับมาไม่รู้จักจบ”

 

                เทวละมีความซาบซึ้งและพอใจในคำสอนของพระนารทะมาก

 

เขามีความรู้สึกเหมือนกับว่า  ได้เกิดใหม่ในโลกอันบริสุทธิ์

 

ผุดผ่องปราศจากความชั่วร้าย  เพราะความชั่วร้ายนั้นเป็นเรื่อง

 

ที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกผิดๆ  และไปยึดถือเข้าเอง

 

                เมื่อซ่อมเกวียนเสร็จ  พระเถระก็ช่วยยกกระสอบข้าว

 

บรรทุกเกวียนไปโดยเรียบร้อย  เทวละเอาวัวมาเทียมเกวียน

 

เตรียมออกเดินทางต่อไป  เขากล่าวคำอำลาและแสดงคารวะ

 

สมณะผู้มีบุญคุณต่อตน  แล้วก็หันไปบังคับวัวให้ออกเดินไปได้

 

สักสองสามก้าว  มันก็หยุดชะงักทำกิริยาตกใจ  รวนเร 

 

และทำท่าจะถอยหลัง  พระนารทะจึงรีบเดินไปที่วัวนั้น  และก็ได้

 

เห็นว่า  วัตถุที่ทำให้วัวตกใจนั้น  คือ  ถุงผ้าสีแดง

 

                ท่านก้มลงหยิบถุงนั้นขึ้นมาพิจารณา  แม้จะมิได้เปิดถุง

 

ออกดูก็รู้ได้จากน้ำหนัก  และเสียงดังภายในถุงว่า  วัตถุที่บรรจุ

 

อยู่ในถุงนั้น  คือ  ทองคำ  ท่านจึงกล่าวกับเทวละว่า

 

                “บัดนี้ถึงเวลาของเธอแล้วที่จักได้ให้บทเรียนกับ

 

นายพาณิชย์ผู้เย่อหยิ่งนั้น  และมันจักเป็นความดีแก่เธอทั้งในเวลานี้

 

และในกาลข้างหน้า  พระท่านย่อมว่า  “ไม่มีการกระทำอะไร

 

ที่จักเลิศกว่าการทำความดีตอบแทนคนที่มาทำร้ายต่อตน”

 

                “อาตมภาพจักมอบถุงเงินนี้ให้แก่เธอ  เมื่อเธอไปถึง

 

เมืองพาราณสีแล้ว  จงขับเกวียนไปที่บ้านพักเศรษฐีพันทุแห่ง

 

โกสัมพี  เมื่อพบตัวเขาแล้วจงมอบถุงทองคำให้แก่เขาเถิด

 

เขาจักได้สำนึกในความผิดที่เขาปฏิบัติต่อตัวเธอ  เขาจักแสดงความ

 

เสียใจและขอโทษเธอ

 

                และเธอจงบอกแก่เขาว่า  “อย่าคิดถึงความหลังเลย

 

ลืมมันเสียเถิด  มันไม่ใช่ความผิดของท่านหรือของใครหรอก

 

ข้าพเจ้าก็ไม่ถือโทษโกรธตอบ  ขออวยพรให้ท่านประสบความ

 

สำเร็จในกิจการค้าทุกด้านเถิด”

 

                ถ้าเธอทำได้ดังกล่าวนี้แล้ว  แม้ว่านายพันทุจะมีความ

 

มั่งคั่งสักเท่าไร  เธอก็จักมั่งคั่งมากกว่าเขาเสมอไป  และถ้าหาก

 

นายพันทุมีความสงสัยในการกระทำของเธอ  จงบอกความจริง

 

แก่เขา  บอกให้เขาไปสู่วิหารที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  ทางด้านเหนือ

 

ของเมือง  เขาจักพบอาตมภาพที่นั่น  อาตมภาพพร้อม

 

ที่จักให้คำตอบในเรื่องที่เขามีความสงสัย”

 

                เมื่อพระนารทะสั่งนายเทวละแล้ว  ก็แยกทาง  เดินมุ่งไป

 

สู่ด้านเหนือของเมือง  ส่วนนายเทวละก็บังคับวัวให้ออกเดิน

 

พร้อมกับนึกในใจว่า  “วันนี้  เรามีโชคดีมาก  เป็นลาภอัน

 

ประเสริฐซึ่งไม่น่าจะพบในชีวิตนี้”

 

                ในเมืองพาราณสีมีการค้าคับคั่ง  และเป็นธรรมดาของ

 

การค้าย่อมต้องมีการแข่งขันต่อสู้กันในเชิงชิงไหวพริบกันอยู่เสมอ

 

ทำให้พ่อค้าบางรายถึงกับพินาศล่มจมไปก็มี

 

มติลาลเป็นคนหนึ่งในพ่อค้าทั้งหลาย  แต่เขาเป็นพ่อค้าที่มีความซื่อสัตย์

 

เป็นคนใจดีที่มีความโอบเอื้ออารีต่อเพื่อนฝูง  จึงมีชื่อเสียงมาก

 

ในทางดี  แต่ความดีนี่แหละมักจะเป็นภัยแก่เจ้าของ

 

ถ้าไม่รู้จักรักษาไว้ให้ดี  เหมือนทรัพย์ถ้าเอาออกอวดมากๆ

 

ก็ต้องเดือดร้อนจนได้  ความดีนั้นทำแล้วย่อมเป็นที่รักก็จริงอยู่

 

แต่เป็นธรรมดา  มีคนรักก็ต้องมีคนชัง  และคนที่เกลียดชัง

 

การกระทำความดีของคนอื่นนั้นก็มีอยู่มาก  คนโบราณจึงว่า

 

“คนรักเท่าผืนหนัง  คนชังเท่าผืนเสื่อ”  ผืนเสื่อย่อมใหญ่กว่า

 

ผืนหนัง  และมีคนจำนวนมาก  คนชั่วย่อมไม่ชอบเห็นการ

 

ทำความดีของใคร  ดังนั้น  การทำดีควรระวังว่าจะไปกระทบ

 

กระเทือนใจคนชั่วเข้าบ้างหรือไม่  ถ้าคนชั่วนั้นเป็นคนชั่วชั้นสามัญ

 

ก็ไม่เป็นไร  ถ้าเป็นคนชั่วชั้นพิเศษมีอิทธิพลมากแล้ว

 

ก็อันตราย  แต่คนดีที่มีใจหนักแน่นเขาย่อมไม่วิตก  เพราะความดี

 

ชนะความชั่วเสมอ  ไม่เร็วก็ช้า

 

                มติลาลเป็นพ่อค้าข้าว  และมักติดต่อการค้านี้กับทาง

 

ราชการอยู่เสมอ  เช่น  ส่งข้าวแก่โรงครัวหลวงบ้าง  แก่กองทหารบ้าง

 

และเรือนจำบ้าง  ความซื่อสัตย์ของเขาเป็นที่ถูกใจลูกค้า

 

ทั่วไป  จึงมีพ่อค้าข้าวบางคนเกลียดชังเขา  มดิลาลรู้ตัวดี

 

และเขารู้อยู่ด้วยว่าในระยะเริ่มต้นเก็บเกี่ยว  พ่อค้าข้าวทั้งหลาย

 

ต่างก็รีบกว้านซื้อข้าวจากชาวนาในราคาต่ำ  ด้วยวิธีการและ

 

เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ  เพื่อกักตุนข้าวเอาไว้ให้ขาดตลาด  จนราคา

 

ขึ้นสูงจึงจักขาย  มดิลาลไม่ยอมทำเช่นนั้น  เพราะเขาเห็นใจ

 

คนยากจนและชาวนาทั้งหลาย  ดังนั้น  การค้าของเขาจึงไม่สู้

 

ปลอดภัยนัก

 

                เขาได้ประมูลส่งข้าวอย่างดีแก่โรงครัววังหลวง

 

และกำหนดจักต้องส่งในวันรุ่งขึ้นเป็นจำนวนมาก  แต่มดิลาล

 

คาดการณ์ผิดพลาด  เขาไม่สามารถจะหาข้าวให้ครบจำนวนได้

 

แม้จะยังขาดอีกเพียงเล็กน้อย  ในวันนั้นไม่มีการขายข้าวในตลาดเลย

 

พ่อค้าผู้หนึ่งกว้านซื้อไปหมดสิ้นทั้งเมือง  และไม่ยอมขาย

 

ให้แก่มดิลาล  ทั้งนี้เพื่อจะให้มดิลาลถูกปรับและล้มเลิก

 

กิจการไป

 

                มดิลาลเป็นทุกข์มาก  นั่งกลุ้มใจคนเดียว  พอดีเพลาเย็น

 

วันนั้น  พันทุเดินทางไปเยี่ยมเยียน  เขาได้เห็นมดิลาลมี

 

ท่าทางไม่สบายใจจึงได้ไต่ถามขึ้น  มดิลาลจึงรีบพรรณนา

 

ความทุกข์ให้ฟังทันทีว่า  “เพื่อนเอ๋ย  คราวนี้ข้าพเจ้าเห็นจักหมดตัวแน่

 

เพราะได้รับส่งข้าวให้กับโรงครัวหลวงไว้  วันพรุ่งนี้

 

ก็ถึงกำหนดส่งแล้ว  ยังหาข้าวไม่ครบ”

 

                พันทุมีความสงสัยว่า  เหตุไรพ่อค้าใหญ่อย่างมดิลาลจึง

 

ไม่มีข้าวเก็บไว้ในฉาง  และเหตุไรจึงหาซื้อข้าวไม่ได้  มดิลาล

 

ก็เล่าความจริงให้ฟังว่า  ถูกพ่อค้าคู่แข่งแกล้งกักกันข้าว

 

แล้วมดิลาลก็บ่นรำพันต่อไปว่า  “เงินทองไม่มีประโยชน์อะไรเลย

 

จะทำอย่างไรกันดีเล่าเพื่อน?”

 

                พันทุกำลังตำหนิความไม่รอบคอบของมดิลาลอยู่ในใจ

 

และคิดหาวิธีจะช่วยเหลือ  ทันใดนั้นเขาก็นึกถึงเกวียนข้าวของ

 

ชายชาวนาที่พบเมื่อบ่ายนั้นได้  พอจะเอ่ยปากบอกมดิลาล

 

ก็ได้ยินมดิลาลรำพันถึงเรื่องเงินๆ  พลันเขาก็หวนนึกถึงถุงเงิน

 

ของเขา  ซึ่งเขาวางไว้ในรถ  ความที่เป็นห่วงของตนมากกว่า

 

เลยลืมที่จะบอกมดิลาลเรื่องเกวียนข้าวเสียสนิท

 

จึงเรียกมหาทุตตะคนใช้มาถามถึงถุงเงินในรถ  มหาทุตตะก็ว่า

 

ตนไม่เห็น  และเมื่อไปค้นหาดูในรถแล้ว  ก็กลับมาบอกว่า

 

ไม่มี  พันทุบังเกิดความเสียหายเงินเป็นอันมาก  ความบันดาลโทสะ

 

ทำให้คิดว่ามหาทุตตะคงจะคิดฉ้อโกงตน  จึงให้คนไปตามเจ้าหน้าที่มา

 

และมอบตัวมหาทุตตะไป  ในข้อหาว่าลักทรัพย์

 

                เทวละ  เจ้าของเกวียนขับเกวียนเข้ามาถึงในเมืองเป็น

 

เวลาใกล้ค่ำแล้ว  เขารีบไปหาพันทุก่อนอื่น  เมื่อมาถึงที่พักของ

 

พันทุก็ได้ทราบว่าพันทุไม่อยู่  เขาก็รออยู่จนมืด

 

                พันทุกลับมาพร้อมด้วยมดิลาลตามมาส่ง  เมื่อมาถึงที่พัก

 

ก็พบเทวละถือเงินคอยอยู่  เทวละส่งเงินให้  พร้อมกับกล่าวว่า

 

“ข้าพเจ้าคิดว่าเจ้าวัตถุนี้คงเป็นที่รักและหวงแหนมากของท่าน

 

ขอท่านจงรับคืนไปเถิด”

 

                พันทุตกตะลึงในเหตุการณ์อันนั้น  เมื่อได้ซักถามดูแล้ว

 

เขาก็ทราบว่า  ถุงเงินนี้ได้ตกจากรถ  เทวละเป็นผู้เก็บได้

 

และพระนารทะแนะนำให้เทวละเอามาคืนแก่เขา

 

                ทันใดนั้นพันทุก็รู้สึกละอายแก่ใจ  เขาได้สำนึกว่า

 

เขาทำความผิดมากในการที่ได้ทารุณต่อเจ้าของเกวียนผู้นี้

 

ซึ่งแม้จะถูกกระทำเช่นนั้นแล้ว  ก็ยังมิได้โกรธตอบ  อุตส่าห์

 

นำทรัพย์มาคืนอีก  ควรนับว่าเป็นคนที่น่าเคารพนับถือ

 

                พันทุรู้ว่า  เหตุการณ์ประหลาดอันนี้เกิดขึ้นได้

 

เพราะความสามารถในการแสดงธรรมจูงใจของพระนารทะ  เขารับ

 

ถุงเงินจากนายเทวละด้วยใจปีติจนขนลุก  แล้วเขาก็กล่าวคำ

 

ขอบใจอย่างอ่อนหวาน

 

                มดิลาลยืนดูเหตุการณ์นั้นอย่างชื่นชม  ครั้นแล้วเขาก็ถาม

 

เทวละว่า  ข้าวที่บรรทุกมานั้นเป็นข้าวชนิดใด  เมื่อได้ทราบว่า

 

เป็นข้าวชั้นที่  1  อันตรงกับความต้องการของเขา  มดิลาลจึง

 

ตกลงซื้อข้าวนั้นทั้งหมด  ให้ราคาสามเท่าของราคาธรรมดา

 

                เมื่อได้จัดการชำระเงิน  และขนข้าวถ่ายเกวียนเรียบร้อยแล้ว

 

เทวละก็กระซิบบอกพันทุ  ราวกับจะรู้ใจว่า

 

“พระคุณเจ้าที่ท่านกำลังใคร่จะพบ  ขณะนี้พำนักอยู่ที่วิหาร 

 

ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  ขอเชิญไปนมัสการท่านเถิด”

 

                ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจหลวง  เมื่อนำตัวมหาทุตตะไปแล้ว

 

ก็กระทำการทรมานด้วยประการต่างๆ  เพื่อจะให้บอก

 

ความจริง  มหาทุตตะก็ยังยืนกรานปฏิเสธว่า  ตนไม่รู้ไม่เห็น

 

และแม้จักวิงวอนขอร้องอย่างไร  เจ้าหน้าที่ก็หาฟังไม่  คงทำ

 

การทรมานต่อไปเพื่อจะให้ยอมรับผิด  มหาทุตตะได้รับความเจ็บปวด

 

หนักเข้าก็คิดว่า  “ทำไมหนอ  เราจึงถูกทรมานอย่างนี้

 

ในเมื่อเราก็มิได้กระทำผิด”  เขาคิดอยู่แค่นี้  เช่นนี้  กลับไป

 

กลับมาและคิดอาฆาตนายของเขาสลับกันไป  จนกระทั่งสลบ

 

เพราะพิษความเจ็บปวด

 

                เมื่อได้ทราบว่า  มหาทุตตะเป็นผู้บริสุทธิ์  ในเรื่องนี้

 

พันทุก็รีบร้อนไปที่ที่คุมขังด้วยความเป็นห่วง  และขอร้องให้

 

เจ้าหน้าที่ปลดปล่อยมหาทุตตะเป็นอิสระ  แล้วเขาก็ได้ขอโทษ

 

มหาทุตตะในการกระทำด้วยความเข้าใจผิดของเขา

 

                แต่มหาทุตตะเป็นคนใจต่ำ  เขายังผูกใจเจ็บแค้นใน

 

การกระทำของพันทุอยู่  จึงไม่ยอมให้อภัย  คืนนั้นในเวลา

 

กลางดึกเขาก็ลอบหนีออกจากบ้านนายไป  และเข้าไปอาศัยเป็น

 

ลูกสมุนโจรคณะหนึ่ง  ด้วยความตั้งใจว่า  “เราจักอาศัยการ

 

เป็นโจรนี้ทำการแก้แค้นพันทุให้ได้”

 

                ตลอดคืนนั้น  พันทุมิได้หลับแม้แต่น้อย  ใจของเขามี

 

ความตื่นเต้นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนกลางวัน

 

                เขาหลับตาเห็นภาพสมณะที่พบกลางทาง  หูก็แว่วได้ยินเสียง

 

การสนทนาเกี่ยวด้วยข้อธรรมะต่างๆ  บางคราวเขาก็

 

นึกถึงนายเทวละที่ได้รับการทารุณจากคนใช้ของเขา

 

แล้วก็ไม่สบายใจ  ยิ่งนึกถึงมหาทุตตะที่เขาส่งไปให้เจ้าหน้าที่ลงโทษ

 

ก็ยิ่งทำให้ไม่สบายใจมากขึ้น  เพราะมหาทุตตะแสดงอาการ

 

โกรธแค้นมาก

 

                แต่เมื่อนึกถึงมดิลาลสหายของตน  ซึ่งเผอิญได้ข้าวส่ง

 

ตามสัญญา  ทั้งตนเองก็ได้เงินคืน  นายเทวละก็ได้ขายข้าวใน

 

ราคาสูงถึงสามเท่า  และมหาทุตตะก็พ้นผิด  เขาก็รู้สึกปลาบปลื้มใจ

 

รำพึงว่า

 

                “นี่เป็นเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นโดยฝีมือใครหนอ?

 

ของพระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์หรือ?  ถ้าพระผู้เป็นเจ้ามีจริง

 

ไฉนจักต้องทำให้ตนต้องรังแกเทวละ  ไฉนจักต้องทำให้ตน

 

ต้องใส่ร้ายมหาทุตตะให้ต้องโทษเล่า?”  เขาคิดปัญหานี้แล้วก็

 

จนปัญญา  ความคิดสับสนอลหม่านเป็นเหตุให้นอนไม่หลับ

 

ตลอดคืน

 

                พอรุ่งสาง  พันทุก็ออกจากที่พักไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

 

โดยมิบอกให้ใครรู้  เมื่อไปถึงก็พอดีพบพระนารทเถระ

 

กำลังเดินจงกรมอยู่  เขาก็ตรงเข้าไปหาแล้วหมอบกราบ

 

ด้วยความเคารพ  เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทราบทุกประการ

 

                พระนารทะได้ทราบถึงเรื่องราวตลอดก่อนแล้ว

 

โดยการคาดการณ์ล่วงหน้าด้วยเหตุผล  เมื่อได้ฟังคำเล่าของพันทุ

 

ก็นึกยิ้มอยู่ในใจ  พอพันทุเล่าจบลง  ท่านก็กล่าวข้อธรรมะสู่เขา

 

เป็นใจความดังนี้  “พันทุ  จงฟังให้ดีเถิด  อาตมภาพหยั่งรู้ถึง

 

ความคิดนึกอันสับสนอลหม่าน  เต็มไปด้วยความสงสัยแคลงใจ

 

ของท่านแล้ว  บัดนี้  ท่านจงรับฟังข้อธรรมะอันอาตมภาพ

 

จักแสดงสู่ท่าน  แล้วจงนำเอาไปขบคิดดูเถิดว่า

 

                1.  สังสารวัฏฏ์  คือการเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยใหญ่นี้

 

เป็นสิ่งที่ยืดยาวจนหาเบื้องต้นและที่สุดไม่พบ  อวิชชา

 

ความไม่รู้จริง  ตัณหา  ความทะยานอยาก  อุปาทาน

 

การยึดถือในความมีตัวตนสำคัญว่าเป็นสิ่งถาวรไม่เปลี่ยนแปลง

 

กรรม  คือการกระทำที่ถึงพร้อมด้วยความตั้งใจ  เหล่านี้เป็น

 

ชนวนที่ทำให้สัตว์แล่นไปสู่การเกิดแล้วเกิดอีก

 

                2.  สิ่งที่เรียกว่า  “ตัวตน”  นี้  ความจริงมันไม่มี  มันเกิด

 

ความเข้าใจผิดเพราะอำนาจอวิชชาเท่านั้น  ตัวตนที่เราเห็นนี้

 

มันเป็นส่วนผสมของสรรพสิ่งต่างๆ  จึงปรากฏเป็นรูปร่างอยู่ได้

 

ถ้าส่วนที่ผสมกันนั้นแยกออกจากกันเมื่อไร  คำว่า  “ตัวตน”  นี้

 

ก็แตกออกไปทันที  แต่เพราะยังมีความต้องการอยู่จึงต้องไป

 

เกิดอีกในรูปใหม่

 

                3.  อันการเกิดอีกนั้น  จักเป็นไปในทางดีหรือชั่ว

 

เป็นผลเนื่องจากการกระทำของผู้เกิดนั้นเอง  ถ้าขณะที่มีชีวิตอยู่

 

ประกอบแต่กรรมดีไว้  ความดีก็จักเป็นแรงดันไปสู่สถานที่ดี

 

ถ้าประกอบกรรมชั่วไว้  ความชั่วก็จักส่งไปสู่สถานที่ชั่วเหมือนกัน

 

                4.  ถ้ารู้ว่าความทุกข์ไม่เป็นที่พอใจของเรา  เราก็อย่า

 

ให้ทุกข์นั้นแก่ใครเป็นอันขาด  เพราะชีวิตของเรากับของคนอื่นๆ  นั้น

 

มีส่วนสัมพันธ์กันอยู่ประดุจลูกโซ่  ทำทุกข์แก่เขาก็คือ

 

การทำทุกข์แก่ตนเอง  ถ้าเราทำสุขแก่เขา  สุขนั้นก็จักกลับมา

 

สู่เราอีก  เหมือนเช่นเราเอาวัตถุบางอย่างปาไปที่ฝาผนัง

 

เมื่อถูกฝาผนังแล้วก็ยอ่มกระดอนกลับมาหาเราเป็นธรรมดา

 

                5.  ไม่เฉพาะแต่มนุษย์เท่านั้นที่ต้องการความรัก

 

ความเมตตาต่อกัน  แม้สัตว์เดียรัจฉานทุกชนิดก็ต้องการความสุข

 

ความสบาย  ฉะนั้น  เมื่อมนุษย์มีความรักความเมตตาต่อกัน

 

ในหมู่มนุษย์แล้ว  จงแผ่ความรักความเมตตานั้นไปถึงสัตว์เดียรัจฉานด้วย

 

ทุกชีวิตในโลกย่อมให้ประโยชน์แก่กันไม่ทางใด

 

ก็ทางหนึ่ง  และประโยชน์นั้นๆ  ย่อมตกมาถึงผู้ให้ด้วย  ฉะนั้น

 

การทำลายผลประโยชน์ของคนอื่นก็คือการทำลาย

 

ผลประโยชน์ของตนเอง  จึงควรรักและสงสารสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง

 

ให้เหมือนรักตัวเอง

 

                6.  ความเห็นแก่ตน  มุ่งเอาให้ได้เพื่อตนฝ่ายเดียว

 

โดยมิคำนึงถึงความเสียหายของคนอื่นนั้น  เป็นความคิดและ

 

การกระทำที่ชั่วช้ามาก  จงคอยระวังอย่าให้เกิดขึ้นในใจเป็น

 

อันขาด  จงหาความสุขให้แก่ตนในทางที่จักทำให้เพื่อนร่วมโลก

 

พลอยเป็นสุขด้วยเถิด

 

                7.  ขณะใดมีความคิดว่า  “เราใหญ่กว่าเขา  ฉลาด

 

กว่าเขา,  มีอิทธิพลสูงกว่าเขา,  จักไปกลัวเกรงอะไร  ใครมา

 

ขัดขวาง  ก็ทำลายมันเสีย  เอาชนะมันให้ได้ด้วยกำลังอำนาจ”

 

จงรู้เถิดว่าในขณะนั้นผีร้ายเข้ามาอยู่ในใจของท่านแล้ว

 

                แต่ในขณะใดคิดว่า  “เราใหญ่กว่าเขา,  ฉลาดกว่าเขา,

 

มีอิทธิพลสูงกว่าเขา,  เราเป็นพี่ชายของเขา”  แล้ว  เป็นธรรมดา

 

ที่จักต้องให้ความคุ้มครอง  และเมตตาแก่น้องๆ  ช่วยให้เขามี

 

ความสุขตามสมควร  ขณะนั้นเสมือนเทพแห่งความเมตตาเข้า

 

สิงใจแล้ว

 

                8.  อันคนดีนั้น  เกิดในที่ใดย่อมทำที่นั้นให้เป็นสุขและ

 

เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของผู้อื่นได้เสมอ  โลกนี้ยังมีคนดีน้อยจึง

 

มีการเบียดเบียนกันอยู่เสมอๆ  เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่

 

ทุกคนจักช่วยกัน  “ทำดีด้วยตน  ช่วยผู้อื่นให้เป็นคนดี  และช่วย

 

สนับสนุนคนที่กำลังทำดีให้ทำดียิ่งๆ  ขึ้นไป”

 

                9.  หลักที่จักทำคนให้ดีนั้น  คือศาสนา  อันเป็นแนวทาง

 

ของใจ  ทุกคนที่รักดีต้องมีศาสนาประจำใจ  ศาสนาจักช่วย

 

ยกมาตรฐานทางจิตใจให้สูงขึ้น  เหมือนไม้ที่คอยค้ำต้นไม้

 

ศาสนาเป็นเหมือนแพที่จักนำเราข้ามฟาก  ฉะนั้น  จงใช้ศาสนา

 

เป็นยานเพื่อข้ามฟากเถิด  อย่าได้ใช้เป็นเรื่องสำหรับถกเถียง

 

กันเล่นเลย

 

                10.  ถ้าพูดกันในหลักศีลธรรม  อันเป็นส่วนโลกีย์แล้ว

 

ศาสนาในโลกทุกศาสนาดีทั้งนั้น  เพราะเป็นคำสอนให้คนทำ

 

ความดีอันเป็นประโยชน์ต่อทุกชีวิตในโลก

 

                แต่ถ้าพูดกันในด้านความหลุดพ้นทุกข์  เป็นอิสระแล้ว

 

พระพุทธศาสนามีอุดมคติเช่นนี้  พระพุทธศาสนาสอนว่า

 

คนเราถ้ายังมีความคิดว่า  มีตัวตนของตนอยู่แล้ว  ความเห็น

 

แกตนและทำบาปเพื่อตนก็ย่อมจะมีขึ้นได้เสมอ  เมื่อใดถอน

 

ความยึดมั่นถือมั่นในตนออกเสียได้  เมื่อนั้นก็หมดมูลรากของ

 

ความชั่วทันที

 

                11.  ความยึดถือ  ไม่ว่าในสิ่งใดๆ  เป็นไปเพื่อกิเลสทั้งนั้น

 

ยึดถือในสิ่งใดย่อมเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น  ยึดถือมาก

 

ก็เป็นทาสของสิ่งนั้นมากขึ้น  ศาสนาที่สอนให้ยึดถือจนวางไม่ลงนั้น

 

ถ้าพูดกันตามความเป็นจริงแล้ว  ย่อมเป็นอิสระไม่ได้

 

                พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของการปล่อยวางทีละน้อย

 

จนกระทั่งปล่อยได้หมด  ไม่มีอะไรที่ยึดถือต่อไป  เป็นอิสระและ

 

บริสุทธิ์อย่างสุดยอด  ธรรมในพระพุทธศาสนาจึงเป็นยอด

 

ของบรรดาธรรมทั้งปวง

 

                12.  ทุกสิ่งทุกอย่างมิได้เกิดขึ้นแก่เราด้วยการอ้อนวอน

 

เซ่นสรวง  แต่จักเกิดขึ้นด้วยการกระทำของเราเอง

 

                ฉะนั้น  การไปกราบไหว้ต้นไม้,  ภูเขา,  เสาเขื่อน

 

พระภูมิเจ้าที่  และ  อะไรต่ออะไรที่เราคิดว่าจักช่วยเราได้นั้นเป็น

 

ความเข้าใจผิด  อันเราควรละเสีย  การถือของขลัง,  โชคลาง,

 

ยามดียามร้ายอะไรต่างๆ  นั้นก็เนื่องมาจากความเขลาทั้งนั้น

 

                ชาวพุทธต้องเป็นคนฉลาดให้สมชื่อ  อย่าเป็นชาวพุทธ

 

แต่ปฏิบัติตนเยี่ยงชาวไสยเป็นอันขาด  เพราะ  “พุทธะ”

 

หมายถึงคนฉลาดมีเหตุผล  ไสยศาสตร์เป็นเรื่องของคนหลง

 

ที่ไม่รู้จักเหตุผลเท่านั้น

 

                13.  ท่านจงลืมตาของท่านให้กว้าง  รับความจริงของ

 

พุทธศาสนาเถิด  เพราะความจริงจักทำให้ท่านเป็นอิสระพ้น

 

ความเป็นทาสโลกีย์  ถ้าท่านเริ่มรู้สึกตัวว่าชีวิตท่านมืดมนก็

 

จงรีบออกจากที่มืดนั้นเสีย  ถ้าท่านรู้ตัวว่ากายและใจของท่าน

 

ไม่สะอาด  จงชำระล้างมลทินอันแปดเปื้อนออกเสีย

 

เหมือนกับถ้าท่านรู้ตัวว่ากำลังมีโรค  ก็รีบไปหาหมอหายาบำบัด

 

ท่านจักพบแสงสว่าง,  สะอาด,  และอนามัย  (ความไม่มีโรค)

 

                14.  จงปฏิบัติตนอย่างง่ายๆ  ดังนี้คือ

 

                (1)  เมตตาต่อทุกชีวิต

 

                (2)  เคารพกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์ของผู้อื่น

 

                (3)  พอใจในคู่ครองของตน  หรือถ้าไม่มีคู่ครองก็ทำใจ

 

ให้บริสุทธิ์จากกาม

 

                (4)  จงมีวาจาสัตย์,  อ่อนหวาน,  พูดแต่สิ่งที่มีประโยชน์

 

                (5)  ทำตนให้มีสติสมบูรณ์  ด้วยการงดเว้นสิ่งเสพติด

 

มึนเมาทุกชนิด

 

                ตลอดเวลาที่พระเถระแสดงธรรม  พันทุก็ตั้งใจฟังด้วยดี

 

ได้รับความรู้ความเข้าใจกว้างขวางขึ้น  เขาพอใจในโอวาทนี้มาก

 

จึงได้ลุกขึ้นและก้มลงกราบแทบเท้าของพระเถระ

 

แล้วปฏิญาณแสดงตนเป็นพุทธสาวกต่อไป

 

                เขาได้นิมนต์พระนารทะไปสู่บ้านของเขา 

 

เมืองโกสัมพี  เหนือแม่น้ำยมนา  และเขาจักสร้างวิหารเป็นที่ประกาศ

 

ธรรมขึ้น    ที่นั้นสักแห่งหนึ่ง  เขาจักชักชวนเพื่อนฝูงและ

 

พี่น้องให้หันมาครองชีพในทางที่ชอบธรรมต่อไป

 

                เมื่อได้ประกาศความเลื่อมใสแล้ว  พันทุก็ลาพระนารทะ

 

กลับที่พักแห่งตน

 

จากหนังสือกรรมสนองกรรม

 

ผู้แต่ง  พระธรรมโกศาจารย์  (ปัญญานันทภิกขุ)

 

เรียบเรียง  :  พ.ศ. 2499

 

จัดพิมพ์โดย  กองทุนปัญญานันทธรรม  ศูนย์สืบอายุพระพุทธศาสนา

 

                     วัดชลประทานรังสฤษฏ์

 




Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2560
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2560 17:07:03 น. 0 comments
Counter : 261 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นาคสีส้ม
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




วัตถุประสงค์ของ blog นี้ :

เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนชอบได้หนังสือธรรมะมาจาก
ที่ต่างๆ และมักชอบซื้อมาอ่านเป็นประจำเสมอ
เลยทำให้หนังสือกองเต็มบ้านมากมาย
เวลาจะนำไปบริจาค ก็มักจะเสียดาย เพราะ
บางครั้ง บางที ก็หยิบเล่มเก่าๆมาอ่านอีกรอบ
เวลาใครมาขอรับบริจาคอะไรต่างๆ
มักจะหวงไว้ ไม่ค่อยส่งต่อหนังสือให้ใคร

จนมาคิดว่า ไม่ควรจะหวงไว้
เพราะเนื้อหาค่อนข้างมีประโยชน์
นำมาปรับใช้ในชีวิตได้เป็นอย่างดี
เลยอยากจะแบ่งปันความสุขให้คนอื่นๆ

เลยจัดทำ blog นี้ขึ้นมาค่ะ
ไว้เก็บรวบรวมเนื้อหาที่ได้อ่านแล้ว
มาเก็บไว้ที่นี่ ส่วนหนังสือก็จะนำไปบริจาค
ให้คนอื่น ได้ใช้ประโยชน์ต่อไปค่ะ

สำหรับเล่มไหนที่เพื่อนๆคิดว่าสนุก
ก็สามารถแนะนำได้นะคะ ^__^
Friends' blogs
[Add นาคสีส้ม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.