ที่ใดมีธรรมะ...ที่นั่นจะพบกับทางออกของชีวิต ^_^
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2560
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
7 กุมภาพันธ์ 2560
 
All Blogs
 

5. ผลแห่งกรรมดี (บทอวสาน)



 

“คนทำดี

 

ย่อมร่าเริงในโลกนี้

 

คนทำดี

 

ย่อมร่าเริงในโลกหน้า

 

คนทำดี

 

ย่อมร่าเริงในโลกทั้งสอง

 

คนทำดี

 

ย่อมร่าเริง  เบิกบานใจยิ่งนัก

 

เมื่อมองเห็นแต่กรรมบริสุทธิ์

 

ของตน”

 

“อย่าประพฤติสิ่งเลวทราม

 

อย่าอยู่ด้วยความประมาท

 

อย่ายึดถือความเห็นผิด

 

อย่าทำตนเป็นคนรกโลก

 

ลุกขึ้นเถิด

 

จงประพฤติสุจริตธรรม

 

เพราะผู้ประพฤติธรรม

 

ย่อมอยู่เป็นสุข

 

ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”

 

                เมื่อได้จัดการศพมหาทุตตะเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

พระปันถกะก็ออกเดินทางไปสู่กรุงโกสัมพี  พอถึงวิหารของพันทุ

 

ก็เข้าไปกราบเท้าพระนารทเถระผู้เป็นอาจารย์  สนทนากันอยู่

 

ครู่หนึ่งแล้วก็ตรงไปบ้านพันทุ  และเล่าเหตุการณ์ที่ประสบมา

 

ให้พันทุฟังโดยละเอียด

 

                เมื่อพันทุได้ทราบข่าวนี้ก็รู้สึกดีใจในการที่ตนจักได้ทรัพย์

 

มาทำประโยชน์ต่อไป  เขาเคยนึกอยู่เสมอว่าทรัพย์เหล่านี้

 

เป็นของสูญไปแล้ว  ไม่เคยคิดฝันว่าจักได้กลับคืนมาอีก

 

แต่ก็ได้คืนมาเหมือนฝัน  เขาคิดว่านี่คือผลแห่งความดีที่เขาได้

 

กระทำตลอดมา  เพราะคิดถึงความดี  คิดถึงการทำสิ่งที่เป็น

 

กุศลสาธารณประโยชน์  เช่น  การสละทรัพย์สร้างถนน  สะพาน

 

บ่อน้ำ  โรงพยาบาลคนอนาถา  ที่อาศัยคนชราและพิการ

 

เหล่านี้ทำให้เขาอิ่มเอิบใจมีความสุข  เมื่อได้ทราบว่าทรัพย์ที่ถูก

 

ปล้นไปจักได้คืนมา  เพื่อสร้างสิ่งอันเป็นประโยชน์ต่อไปอีก

 

เขาจึงดีใจ

 

                พระปันถกะเป็นผู้นำทาง  พาพันทุไปยังสถานที่ลับที่

 

มหาทุตตะบอกไว้  เป็นขุมทรัพย์ที่ไม่มีใครรู้แหล่ง  นอกจาก

 

พระปันถกะผู้เดียว  เพราะพวกโจรที่รู้ที่ซ่อนสมบัติถูกฆ่าตายหมด

 

และพวกโจรได้แตกคณะออกเป็นหลายเหล่า  ฆ่ากันตายบ้าง

 

ถูกเจ้าหน้าที่จับตัวได้บ้าง  โจรภัยในป่านั้นจึงไม่มี

 

การเดินทางของพันทุครั้งนี้เป็นไปโดยราบรื่นตลอด

 

                เมื่อพากันเดินทางไปถึงหลุมฝังศพมหาทุตตะ

 

กองเกวียนก็ต้องหยุดพัก  และคนทั้งหมดก็พากันเดินทางด้วยเท้า

 

ไปสู่ถ้ำบนผาสูงและได้พบทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก  พันทุจึง

 

ให้คนทำบัญชีของเหล่านั้นไว้  เพื่อจักได้นำของที่มิใช่ของตน

 

ไปมอบให้เจ้าหน้าที่สืบหาเจ้าของต่อไป  เพียงวันเดียว  ก็จัดการ

 

ขนสมบัติทั้งหมดได้เสร็จสิ้น

 

                เมื่อกลับมาพักนอนใกล้หลุมฝังศพมหาทุตตะ  พันทุ

 

ก็นึกถึงมหาทุตตะ

 

                เขาคิดว่า  มหาทุตตะนี้เคยเป็นคนใช้เก่าแก่  การที่ได้

 

กระทำผิดไปนั้นก็คงเป็นเพราะกรรมบางอย่างบันดาลให้คิดเห็นผิด

 

เป็นชอบ  จนต้องสิ้นชีวิตด้วยความทุกข์ยาก  แต่อย่างไร

 

ก็ตาม  ก่อนตายเขาได้สำนึกตนและสารภาพผิดแล้ว  นับว่า

 

เขาเป็นคนบริสุทธิ์ได้  ควรจักจารึกเรื่องนี้ไว้เป็นตัวอย่างสืบไป

 

                ดังนั้น  พันทุจึงได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ไว้ตรงนั้น

 

และเขียนประวัติของมหาทุตตะไว้

 

                ตอนจบประวัติ  ได้เขียนพุทธภาษิตว่า

 

                “ทำบาปด้วยตน  ย่อมเศร้าหมองแก่ตน

 

                ทำบุญด้วยตน  ย่อมหมดจดแก่ตน

 

                ความเศร้าหมองและความหมดจดเกิดจากการกระทำ

 

ของตน  ใครจักทำให้ใครเศร้าหมองหรือหมดจดหาได้ไม่

 

                ครูอาจารย์เป็นเพียงผู้บอกทางให้เท่านั้น  การเดินทาง

 

เป็นหน้าที่ของตนเอง”

 

                เมื่อทำทุกสิ่งเรียบร้อยแล้ว  ทั้งหมดได้กล่าวคำไว้อาลัย

 

มหาทุตตะ  และพระปันถกะได้กล่าวแก่ที่ประชุมว่า

 

                “ท่านทั้งหลาย  คนเราเกิดมาย่อมมีความตายเป็น

 

ธรรมดา  เวลาเกิดมาเรามิได้เอาอะไรมา  เวลาตายเราก็มิได้เอา

 

อะไรไป  บุญกับบาปเท่านั้นเป็นสมบัติประจำชีพ  บุญนำไปสู่

 

สุคติ  บาปนำไปสู่ทุคติ  คนผู้รักตนจึงพยายามทำความดี

 

อันจักเป็นที่พึ่งของตนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

 

                คนเราจักมีอยู่แต่เพียงกายนั้นไม่ได้  ต้องมีใจด้วย

 

ใจนั้นเป็นสภาพกลางอาจดีก็ได้  อาจชั่วก็ได้  สุดแล้วแต่การอบรม

 

ถ้าอบรมด้านใดมากก็เป็นไปในด้านนั้น  คนที่ทำชั่วนั้นเพราะ

 

ตนหัดทำชั่วทีละน้อย  นานๆ  เข้าก็เต็มไปด้วยความชั่ว

 

                ถ้ารู้สึกว่าความชั่วเป็นสิ่งไม่ดี  นำทุกข์มาให้ตน

 

และเกิดขึ้นเพราะเราไปฝึกมัน  ก็จงเริ่มฝึกใหม่  คือฝึกเอาความชั่ว

 

ออกจากตน  แล้วฝึกหาความดีมาใส่ตนต่อไป

 

                อย่าได้คิดว่า  ไหนๆ  ก็ชั่วไปแล้ว  ชั่วให้ตลอดไปเถิด

 

จงคิดว่า  ก่อนนี้เรามืด  เดี๋ยวนี้เราจะหาแสงสว่างกันละ  ก่อนนี้

 

เราเขลา  เดี๋ยวนี้เราจักหาปัญญากันละ

 

                ฉะนั้น  ท่านทั้งหลายจงตื่นเถิด  อย่ามัวเมาในความ

 

ชั่วร้ายเลย  จงทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตน  ด้วยการปฏิบัติตาม

 

พุทธธรรมเถิด”

 

                ในกาลต่อมา  ใครๆ  ที่ผ่านป่านั้น  ก็มักหยุดที่หลุม

 

ฝังศพของมหาทุตตะ  แล้วอ่านชีวประวัติของเขา  ถือเป็นเยี่ยงอย่าง

 

ในการปฏิบัติฝึกหัดตนให้เป็นคนดีต่อไป  อนุสาวรีย์นั้น

 

จึงเป็นประโยชน์แก่คนเดินทางเป็นอันมาก

 

                เมื่อพันทุกลับถึงที่อยู่ของตนแล้ว  ก็นำความเรื่องนี้ไป

 

แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตามระเบียบ  และมอบทรัพย์ส่วนที่ไม่ใช่ของตน

 

ให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อสืบหาเจ้าของต่อไป  เจ้าหน้าที่ก็ได้ป่าวประกาศ

 

หาเจ้าของตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้  สมบัติส่วนใด

 

ที่ไม่มีผู้อ้างเป็นเจ้าของเกินกำหนดเวลา  ทางราชการก็จัดมอบให้

 

พันทุทั้งหมด

 

                พันทุจึงจำต้องรับไว้โดยคิดว่า  ทรัพย์นี้มิใช่เป็นของตน

 

ควรที่จักนำออกใช้มันในทางที่เป็นประโยชน์  เขาจึงได้ทำสิ่งที่

 

เป็นสาธารณประโยชน์มากขึ้นอีก  เป็นเหตุให้คนยากจนทั้งหลาย

 

พลอยได้รับผลประโยชน์นั้นๆ  พันทุจึงเป็นปูชนียบุคคล

 

ของคนจน  ใครๆ  ในนครโกสัมพี  พาราณสีและที่อื่นๆ

 

ย่อมรู้จักนายพันทุผู้ยิ่งด้วยกรุณาทั้งหลาย

 

                ชีวิตในบั้นปลายของเขาเป็นชีวิตแห่งความสงบ

 

เขาได้ทำตนเป็นคนดีตามหลักพุทธธรรมจริงๆ  นอกจากทำดี

 

ด้วยตนเองแล้ว  เขายังพยายามชักจูงคนอื่นให้มาทำความดี

 

เช่นเขา  ผู้ใดได้ทำดีอยู่แล้ว  เขาก็ให้กำลังใจ  ด้วยการกล่าว

 

คำชมเชยยกย่องให้ปรากฏแก่ชุมนุมชน

 

                บ้านของเขาเป็นที่เลี้ยงดูพวกนักบวชทั้งหลาย  แม้ว่า

 

เขาจักเป็นศิษย์ของพระพุทธองค์  แต่เขาก็มิได้รังเกียจนักบวช

 

ศาสนาอื่น  เขาถือว่านักบวชเป็นผู้สงบทั้งนั้น  ควรเป็น

 

ผู้ที่ได้รับความอุปการะและเคารพจากสามัญชน  พันทุมิได้ถือ

 

ศาสนาอย่างมัวเมาลุ่มหลง  เขาถือว่าทุกศาสนาสอนคนให้

 

เป็นคนดี  จะมีแตกต่างกันบ้างก็ที่อุดมคติและหลักการประพฤติ

 

ปฏิบัติ  แต่เรื่องความแตกต่างกันหรือความสูงต่ำกว่ากันของ

 

คำสอน  หาใช่เรื่องที่ควรโต้เถียงดูหมิ่นกันไม่

 

                พันทุมีภรรยาคนเดียว  แต่งงานกันมาตั้งแต่สมัยหนุ่มสาว

 

เขารักภรรยาของเขามาก  เขาทำหน้าที่ของพ่อบ้านที่ดี

 

จริงๆ  ทุกอย่าง  เรื่องการอาชีพเป็นหน้าที่ของเขา

 

แต่เรื่องการเก็บทรัพย์ที่หามาได้เป็นหน้าที่ของภรรยา  เขาไม่เคยดุด่า

 

ภรรยา  ไม่เคยคิดนอกใจ  ไม่เคยเห็นหญิงอื่นสวยกว่าเมีย

 

ของตน  อยู่ด้วยกันด้วยความเห็นอกเห็นใจกันจริงๆ  เวลาสุข

 

ก็สุขด้วยกัน  ถึงคราวทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน  เขาทั้งสองมีลูกชาย

 

ด้วยกันถึงสามคน  ลูกหญิงสี่คน  ทุกคนมีความประพฤติดีตาม

 

พ่อแม่  ทุกคนโตแล้ว  พ้นวัยของการศึกษาได้ช่วยพ่อแม่ทำงาน

 

ต่อไป  เงินที่หาได้ทุกคนเอามาไว้เป็นกองกลาง  ใครต้องการก็

 

นำไปใช้ได้  แต่พวกเขารู้จักใช้  ไม่จ่ายเติบ  ไม่จ่ายในทางที่ไม่

 

จำเป็น  ทุกคนรู้จักค่าของแรงงานและเงิน  จึงรู้จักเก็บรู้จักใช้

 

                ลูกชายทั้งสามคนเป็นคนขยันซื่อตรง  รู้จักประพฤติ

 

ตนในทางที่เหมาะที่ควร  ไม่ประพฤติในทางอบายมุข  ทุกคน

 

งดของเมาทุกชนิด  ใช้เวลาว่างในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเสมอ

 

ส่วนลูกหญิงทั้งสี่ก็ได้รับการศึกษาตามที่ผู้หญิงจักต้องเรียน

 

วิชาของแม่บ้านอันเป็นสมบัติประจำตัวของหญิง

 

เขาทุกคนมีความชำนาญ  และเป็นคนสงบเสงี่ยมเจียมตัวแบบผู้หญิง

 

มิใช่เป็นหญิงครึ่งชายครึ่งไม่น่าดู  พ่อแม่เบาใจมาก

 

เพราะลูกของตนเป็นคนดี

 

                การที่เป็นเช่นนี้เป็นผลเนื่องมาจากความดีของพ่อแม่

 

เป็นใหญ่  เพราะพ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก  พ่อแม่ดีลูกก็ดีด้วย

 

พ่อแม่เลวลูกก็เลอะเทอะไปหมด  พันทุกับครอบครัว

 

ของเขาจึงได้แต่ความสงบใจ  เพราะในครอบครัวของเขามี

 

พระคุ้มครองอยู่เสมอ  พระย่อมอยู่กับบุคคลผู้กระทำความดี

 

ส่วนผีนั้นย่อมอยู่กับบุคลผู้กระทำความชั่ว

 

                ชีวิตของคนเราเริ่มต้นด้วยการเกิด  เมื่อเกิดแล้วก็  แก่

 

เจ็บ  และถึงจุดหมายปลายทางคือ  ความตาย  ความตายเป็น

 

ที่สุดของชีวิต  เป็นสิ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้น  ไม่ว่าเขาจักมีฐานะเป็น

 

อย่างไร  สำหรับพันทุก็เช่นเดียวกัน  เวลานี้เขาแก่มากแล้ว

 

ร่างกายของเขาทรุดโทรมมาก  แต่ใจของเขายังคงแข็งแกร่งอยู่

 

ด้วยความดีเสมอ  ในที่สุดเขาก็ป่วยมาก  จนหมดความสามารถ

 

ของแพทย์จะเยียวยาได้  แต่พันทุหาได้เป็นทุกข์ในอาการป่วย

 

ของเขาไม่  เพราะเขาเคยคิดอยู่เสมอว่า  “ชีวิตจักหนีความตาย

 

หาพ้นไม่”  เมื่ออาการป่วยหนักลงเขาจึงเรียกลูกๆ  มาสั่งว่า

 

                “ลูกเอ๋ย...ร่างกายของพ่อ  ทนต่อความป่วยไม่ได้แล้ว

 

อีกไม่นานพ่อก็จักต้องตาย  พ่อไม่มีอะไรห่วงหรอก 

 

เพราะพ่อทำหน้าที่ของพ่อสมบูรณ์แล้ว  พ่ออุ่นใจเสมอว่า  พ่อมี

 

ลูกที่ดีเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อ  แม้พ่อจักตายไป  ก็ตายด้วย

 

ความสงบ

 

                พ่อไปแล้ว  เจ้าทุกคนต้องอยู่ด้วยความสามัคคีจริงๆ

 

พี่ต้องเป็นคนปกครองน้องๆ  ให้มีความสุข  อุปการะน้องให้

 

ตั้งตัวได้  จงเคารพแม่ของเจ้าให้มาก  จงรักญาติและรัก

 

เพื่อนบ้านเหมือนกับรักตัวเองทุกคน  จงจำคำของพ่อให้ดีว่า

 

ถ้าเจ้าเกลียดผู้อื่น  ผู้อื่นเขาจักเกลียดเจ้า  ถ้าเจ้ารักผู้อื่น

 

ผู้อื่นเขาจักรักเจ้า  ถ้าเจ้าช่วยเขา  เขาก็จักช่วยเจ้า  ถ้าเจ้า

 

ทำลายเขา  เขาก็จักทำลายเจ้า

 

                จงเดินตามทางที่พ่อเดินมาแล้ว  ถ้าเจ้าสามัคคีกัน...เจ้าอยู่

 

ถ้าแยกกัน..เจ้าจักตาย

 

                อย่าอยู่ในโลกด้วยความหลง  แต่จงอยู่ด้วยความเข้าใจมัน

 

ตามที่เป็นจริง

 

                นี่คือ  มรดกของพ่อ  ที่มอบให้เจ้าทุกคน

 

                ขอพระจงอยู่กับเจ้าเสมอเถิด”

 

                สั่งความเสร็จแล้วเขาก็นอนนิ่ง  หายใจแผ่วๆ  สักครู่

 

ก็หยุดหายใจ

 

                เปลวไฟแห่งชีวิตดับแล้ว

 

                ทุกคนในที่นั้นสงบเงียบ

 

                ไม่มีใครร้องไห้เลย  เพราะทุกคนได้รับการอบรมให้ทราบ

 

ความจริงของสภาพธรรมดาอยู่แล้วว่า

 

                “...ทุกอย่างย่อมมีจุดจบของมัน

 

                จะห้ามความตายหาได้ไม่...”

 

สิ่งที่ควรพิจารณาเนืองๆ

 

1.  ควรพิจารณาเนืองๆ  ว่า  เรามีความแก่เป็นธรรมดา

 

ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

 

2.  ควรพิจารณาเนืองๆ  ว่า  เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา

 

ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้

 

3.  ควรพิจารณาเนืองๆ  ว่า  เรามีความตายเป็นธรรมดา

 

ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

 

4.  ควรพิจารณาเนืองๆ  ว่า  เราจะต้องพลัดพรากจาก

 

ของรักของชอบใจทั้งสิ้น

 

5.  ควรพิจารณาเนืองๆ  ว่า  เรามีกรรมเป็นของตัว

 

เราทำดีจักได้ดี  ทำชั่วจักได้ชั่ว

 

“วันคืนล่วงไปๆ

 

บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่”

 

“อย่าดูถูกบุญเล็กน้อยว่าจักไม่สนองผล

 

น้ำตกจากเวหาทีละหยาดๆ  ยังเต็มตุ่มได้  ฉันใด

 

นักปราชญ์สะสมบุญทีละเล็กละน้อย

 

ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น”

 

“อย่าเห็นเป็นความดีเล็กน้อยจึงไม่ทำ

 

อย่าเห็นเป็นความชั่วเล็กน้อยแล้วจึงทำ”

 

“อย่าดูถูกความชั่วเล็กน้อยว่าจักไม่สนองผล

 

น้ำตกจากเวหาทีละหยาดๆ  ยังเต็มตุ่มได้  ฉันใด

 

คนพาลทำความชั่วทีละเล็กละน้อย

 

ย่อมเต็มด้วยความชั่วได้ฉันนั้น”

-พุทธวจนะ-

 

จากหนังสือกรรมสนองกรรม

 

ผู้แต่ง  พระธรรมโกศาจารย์  (ปัญญานันทภิกขุ)

 

เรียบเรียง  :  พ.ศ. 2499

 

จัดพิมพ์โดย  กองทุนปัญญานันทธรรม  ศูนย์สืบอายุพระพุทธศาสนา

 

                     วัดชลประทานรังสฤษฏ์

*************************************************************

 




 

Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2560
0 comments
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2560 18:47:26 น.
Counter : 602 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


นาคสีส้ม
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




วัตถุประสงค์ของ blog นี้ :

เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนชอบได้หนังสือธรรมะมาจาก
ที่ต่างๆ และมักชอบซื้อมาอ่านเป็นประจำเสมอ
เลยทำให้หนังสือกองเต็มบ้านมากมาย
เวลาจะนำไปบริจาค ก็มักจะเสียดาย เพราะ
บางครั้ง บางที ก็หยิบเล่มเก่าๆมาอ่านอีกรอบ
เวลาใครมาขอรับบริจาคอะไรต่างๆ
มักจะหวงไว้ ไม่ค่อยส่งต่อหนังสือให้ใคร

จนมาคิดว่า ไม่ควรจะหวงไว้
เพราะเนื้อหาค่อนข้างมีประโยชน์
นำมาปรับใช้ในชีวิตได้เป็นอย่างดี
เลยอยากจะแบ่งปันความสุขให้คนอื่นๆ

เลยจัดทำ blog นี้ขึ้นมาค่ะ
ไว้เก็บรวบรวมเนื้อหาที่ได้อ่านแล้ว
มาเก็บไว้ที่นี่ ส่วนหนังสือก็จะนำไปบริจาค
ให้คนอื่น ได้ใช้ประโยชน์ต่อไปค่ะ

สำหรับเล่มไหนที่เพื่อนๆคิดว่าสนุก
ก็สามารถแนะนำได้นะคะ ^__^
Friends' blogs
[Add นาคสีส้ม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.