คนเร่ร่อน..ตะลอนตามใจฉัน
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2552
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
10 สิงหาคม 2552
 
All Blogs
 

แสนแสบ...บทเรียนแห่ง เวนิสตะวันออก

คลองสวยน้ำใส...กับกรุงเทพมาหานคร ความเป็นไปได้ หรือแค่ความฝันอันไร้ซึ่งความเป็นไปได้ ที่ปั้นขึ้นเพื่อเป็นกระแสประชานิยมในวงการการเมืองของกรุงเทพมหานคร ...เท่านั้น



เชื่อว่าทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงคงรู้จักคลองแสนแสบเป็นอย่างดี “แสนแสบ” เป็นชื่อเรียกตามสถานที่ของช่วงลำคลองในบริเวณจากคลองตัน ถึงย่านบางกะปิ ชื่อคือ “ทุ่งแสนแสบ”ที่ชุกชุมไปด้วยยุงที่ดุร้ายจนเป็นที่ เลื่องลือ ส่วนต้นน้ำทางแม่น้ำเจ้าพระยารู้จักในนาม”คลองพระโขนง” ปลายน้ำอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่ง รู้จักกันในชื่อ “คลองบางขนาก” คลองแสนแสบเป็นเสมือนเส้นเลือดสำคัญอีกเส้นหนึ่งทางฝั่งขวาของร่างกายที่ชื่อว่า กรุงเทพมหานคร โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นเลือดใหญ่

หากเรา...นึกถึงสายน้ำในกรุงเทพมหานคร โฟกัสจะไปจับอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาซะส่วนใหญ่ และหลายๆคนคงคิดเหมือนกันกับผู้เขียนว่า อนาคตแม่น้ำเจ้าพระยานั้น จะเป็นเช่นไรในอีกสิบปีหรือร้อยปีข้างหน้า ปัจจัยความเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพที่เลวร้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นอยู่กับอะไร และใช้เวลามากน้อยขนาดไหน หากเราคิดถึงข้อนี้ ตัวอย่างในการมอง และคิดเปรียบเทียบย่อมมีให้เห็น จากภาพของคลองแสนแสบ และลำคลองต่างๆที่ที่เราคุ้นเคยในเมืองหลวง

กรุงเทพมหานคร เคยได้ชื่อสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาว่าเป็น”เวนิสตะวันออก” ผู้เขียนได้ยินคำนี้เมื่อตอนสมัยเรียนมัธยมต้น และสงสัยว่าเวนิสตะวันตกนั้นอยู่ที่ไหน คำว่าเวนิสหมายถึงอะไร และได้รู้คำตอบในตอนนั้นเช่นกันว่า คำว่าเวนิสหมายถึง ชื่อเมืองๆหนึ่งที่ตั้งอยู่ในประเทศอิตาลี ชื่อภาษาอังกฤษเรียกขานว่าเวนิส (Venice) มาจากคำในภาษาอิตาเลี่ยน คือ เวเนเซีย (Venezia) เป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งสายน้ำ (City of Water) เวเนเซียถูกสร้างขึ้นจากการเชื่อมเกาะเล็กๆเข้าด้วยกันด้วยสายน้ำ และสะพาน เวเนเซียจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เมืองแห่งสะพาน (City of Bridges)ผู้คน ประเพณี และวัฒนธรรมของเมืองเวเนเซีย จึงเกี่ยวข้อง ผูกพันกับสายน้ำเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย การคมนาคม สัญจรไปมาหาสู่กันโดยใช้ทางเรือเป็นหลัก การตั้งบ้านเรือนถิ่นฐาน ผสมกลมกลืนไปกับสายน้ำ และเป็นที่แน่นอนว่า เวเนเซีย และผู้คนเป็นหนึ่งเดียวกันกับสายน้ำที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์กันจนไม่อาจแยกออก ทุกวันนี้เวเนเซีย ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆของโลกยังคงรักษาสภาพแบบดั้งเดิมไว้อย่างเหนี่ยวแน่น

...เวนิสตะวันออก... เป็นคำเรียกขานที่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า เริ่มตั้งแต่ยุคสมัยพระเจ้าปราสาททอง กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองศูนย์กลางเกี่ยวกับการทำมาค้าขายกับอารยะประเทศ นักเดินเรือทางการค้าชาวยุโรป พ่อค้าชาวเปอร์เซีย แขกอินเดีย ต่างเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล เข้าสู่ปากน้ำเจ้าพระยา ประตูลำน้ำสู่เมืองหลวงสมัยนั้น ซึ่งภูมิประเทศของอยุธยา ตามแบบจำลองของแผนที่ เป็นเมืองที่มีแม่น้ำ ลำคลอง เป็นตัวเชื่อมระหว่างกัน การเดินทางสัญจร และการใช้ชีวิตประจำวันของชาวอยุธยาอาศัยทางน้ำเป็นหลัก ชื่อเวนิสตะวันออก เปรียบเทียบไปถึงที่มาของชื่อได้ดี และสืบทอดกันจนถึงยุครัตนโกสินท์ หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน


ทว่าเรา...จะเอ่ยอ้างคำใดในความเป็นจริงในปัจจุบันที่พอจะมีความหมาย และความสำคัญหนักแน่นพอที่จะให้เป็นที่กล่าวขานของคนทั่วไป หรือทั่วโลกว่า เราเป็นเช่นเวนิสตะวันตก อาจจะใช่ถ้าคำจำกัดความของคำว่าเวนิสนั้นหมายถึง การเป็นเมืองที่มีสายน้ำ ลำคลองมากมาย เราคงดูเป็นเหมือนเมืองเวนิส แต่เรากล้าพอที่จะเอ่ยอย่างภาคภูมิใจอย่างนั้นหรือ! เรามีคุณภาพเพียงพอ มีความเข้าใจวิถีชิวิต ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับน้ำดีพอที่จะใช้ชื่อ “เวนิสตะวันออก”



ผู้เขียนอาศัยอยู่ในเมืองหลวงทางฝั่งพระนคร ย่านบางกะปิไกล้ๆกับ”คลองแสนแสบ” ลำคลองสายสำคัญ
ทั้งในอดีตยาวนานถึงปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสายน้ำในกรุงเทพฯ ที่สะท้อนให้เห็นได้ว่า เราให้ความสำคัญในการอยู่ร่วมกับสายน้ำเหมือนดังที่ชาวเมืองเวเนเซีย ให้ความสำคัญกับสายน้ำในบ้านเมืองเขาหรือไม่!

ย้อนไปในยุคสมัย พ.ศ 2380 กว่า 150 ปี ที่คลองแสนแสบเกิดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาล ที่ 3) ที่ทรงให้มีการขุดคลองยาวประมาณ 55 ไมล์ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน เพื่อจุดประสงค์เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธ กำลังพล สเบียงอาหาร หรืออื่นๆในราชการสงครามไปยังประเทศเวียดนาม(ญวน) ในสมัยนั้น หรือที่เรียกว่า “สงครามอันนัมสยามยุทธ” ซึ่งต่อมาเกิดลำคลองสาขาแตกแขนงจากคลองแสนแสบมากมายมากกว่า 50 แห่ง เช่น คลองจั่น คลองกุ่ม คลองสามวา คลองหัวหมาก ฯลฯ

หลังสงครามไทย-ญวนที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 14 ปี คลองแสนแสบกลายเป็นสายน้ำแห่งชีวิตของคนเมืองหลวงในสมัยนั้น การจราจรทางน้ำมีเพียง เรือแจว หรือเรือพาย ลำเล็กๆ สองฟากฝั่งคลองไม่มีผนังเขื่อน และทางเดินเท้าลาดด้วยคอนกรีต ผู้คนหลากหลายเชื้อสาย รุ่นปู่รุ่นย่า ยังชีพเชื่อมสายสัมพันธ์กันโดยอาศัยสายน้ำแห่งนี้เป็นสายใยเชื่อมต่อในการดำรงชีพในการเพาะปลูก แลกเปลี่ยนซื้อขาย และคบค้าสมาคมซึ่งกันและกัน แสนแสบเมื่อกาลก่อน เป็นตู้กับข้าวใบใหญ่ ที่ข้างในบรรจุเต็มไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลาฯลฯ ข้างๆตู้กับข้าวเนืองแน่นไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดเวลา ซ้ำยังเป็นแหล่งน้ำที่เหมาะสมในการใช้อุปโภค บริโภคโดยไม่ต้องหวาดกลัวถึงมลพิษเภทภัยใดๆ นับว่าเป็นมรดกตกทอดจากบรรพชน ที่เกื้อกูลผู้คนทั้งสองฟากฝั่งน้ำด้วยดีเสมอมา และเป็นที่แน่นอนว่าลำคลองแห่งนี้จะต้องสืบทอดไปชั่วลูกชั่วหลานต่อไปภายหน้า ไม่ใช่เฉพาะแต่ที่คลองแสนแสบเท่านั้น สายน้ำ ลำคลองอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯก็เป็นมรดกตกทอดเช่นกัน



คลองแสนแสบในปัจจุบันคงเอ่ยได้ว่า ประโยชน์ที่เกิดจากสายน้ำนี้ที่เห็นได้ชัดเจนต่อสังคมคนเมืองหลวงในยุคสมัยปัจจุบันนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นประโยชน์ในด้านการคมนาคมเป็นส่วนใหญ่ เรือโดยสารติดเครื่องยนต์กำลังสูงถูกจับยัดลงไปแล่นรับส่งผู้โดยสารในลำคลองแห่งนี้ เพื่อบรรเทาความหนาแน่นของจำนวนคนเดินทางบนถนน อีกทั้งเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกหนีภาวะการจราจรอัมพาติในชั่วโมงเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี ประโยชน์อีกข้อหนึ่งของแสนแสบคือ เป็นที่ระบายน้ำจากที่ต่างๆไม่ว่าเป็นชุมชน ร้านค้า ร้านสรรพสินค้าต่างๆ จนไปถึงระบายน้ำที่เกิดจากภาวะน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน คำนิยามเกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่มีน้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์นั้น ใช้ไม่ได้กับคลองแสนแสบในปัจจุบัน สายน้ำนี้เป็นได้แค่เพียง “สิ่งรองรับความเติบโตของยุคสมัย”แค่นั้น


หากไม่ใช่คนคนที่มีอายุเกินครึ่งร้อยขึ้นไป หรือเป็นแค่คนต่างถิ่น เป็นนักท่องเที่ยว ที่บังเอิญมาเห็นสายน้ำแห่งนี้ คุณไม่มีทางรู้เลยว่าภาพลักษณ์ของคลองแสนแสบในอดีตกาลจะมีลักษณะหน้าตาอย่างไร ถ้าเพียงแค่คุณไปยืนบนสะพานลอย ชะโงกหน้าลงไปมองในลำน้ำ หรือพยายามทอดสายตาลอดใต้สะพานที่ขวางตัวอยู่เป็นระยะๆ เพราะสิ่งที่คุณเห็นมีเพียงน้ำสีเทาๆเหมือนสีชอคโกแลค ทอดตัวยาวไกล ไร้ความสวยงาม อ่อนช้อยของโค้งคุ้งน้ำ ดั่งที่สายน้ำควรจะเป็น มีเพียงเหลี่ยมมุมสองฟากตลิ่ง ทางเดินที่สร้างด้วยคอนกรีต ขนานคู่ไปกับสองฟากฝั่งน้ำ



คุณไม่สามารถรู้ได้ในทันทีด้วยซ้ำว่าที่จริงแล้วคลองแสนแสบไหลไปทางไหนกันแน่ เพราะในทุกๆห้าหรือสิบนาทีคุณจะเห็นเรือโดยสารที่เร่งเครื่องแข่งขันกัน กระแทก กระทั้น สายน้ำให้แหวกตัวออกไปกระทบกับเขื่อนคอนกรีตเสียงดังสนั่น กลบการไหลของกระแสน้ำตามธรรมชาติเสียสนิท
กลิ่นที่แสบบจมูกจนแทบสำลัก ผสมผสานกันจนแยกไม่ออกว่าเป็นกลิ่นอะไรกันแน่ แต่ที่แน่นอนไม่มีกลิ่นของน้ำที่คุณคุ้นเคย ผสมอยู่ คราบใข และน้ำมันที่จับผิวน้ำสะท้อนอยู่แวววาวยามต้องแสงอาทิตย์
ภาพขยะที่ลอยอยู่ผิวน้ำ บ้างก็ค้างคาอยู่ตามขอบกำแพงคอนกรีตที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำเซาะตลิ่ง บางส่วนโดนความแรงของน้ำที่เกิดจากการกระเพื่อมจากการวิ่งของเรือโดยสาร สาดซัดไปกองรวมอยู่ตามซอกตามหลืบต่างๆ บนถนนหนทางยังมีรถเก็บขยะ และพนักงานกวาด แต่ในลำคลองผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามีเรือเก็บขยะหรือไม่
น้ำท่อระบายน้ำ จากการชำระล้างของชุมชนชุมชนสองฟากฝั่งคลอง ขนาดใหญ่บ้างเล็กไหลริน ตกกระทบเป็นฟองฟูฟ่อง จากนั้นค่อยผสมผสานกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ตลอดทั้งสองฝั่งซ้ายขวา ฯลฯ



ลำคลองสายอื่นๆ ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันกับคลองแสนแสบ อาจแตกต่างกันในเรื่องความสำคัญของการใช้ประโยชน์เท่านั้น ภาพ“มรดกของบรรพชน” ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มรดกที่สร้างสรรค์สังคมแห่งคนริมน้ำในอดีตกาล ทำไม...ถึงได้เปลี่ยนแปลงไปถึงขนาดนี้ ทำไม่ถึงไม่ตกทอดมาถึงลูกหลานรุ่นปัจจุบันในสภาพเดิม ปลาน้ำจืดที่เคยชุกชุม ครั้งหนึ่งเคยแหวกว่ายใน คลองแสนแสบ และลำคลองสายต่างๆในกรุงเทพฯนั้นแทบจะกล่าวได้ว่ามีน้อยมาก จะหลงเหลืออยู่บางประเภทเท่านั้นที่ปรับสภาพให้อาศัยอยู่ได้ เช่น ปลาดุก ปลาสวาย ปลาหมอนา อาจมีชนิดอื่นบ้างในส่วนที่ห่างจากเส้นทางคมนาคมทางน้ำ และห่างไกลจากย่านชุมชนแออัดหรือแถบชานเมืองเท่านั้น แต่ในอนาคตอีกไม่ช้า สัตว์น้ำต่างๆ คงจะมีชื่อเพียงสัตว์ที่เคยอาศัยอยู่เท่านั้น สัตว์ที่วนเวียนอยู่ไกล้ๆริมน้ำ จะมีเพียงแต่ แมลงสาบ หนู ค้างขาวที่บินว่อนใต้สะพาน และสัตว์ที่หากินกับสิ่งปฎิกูล พืชผักที่เคยมีสองฟากฝั่งปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยกำแพงคอนกรีต ในลำน้ำลอยฟ่องไปด้วยผักตบชวา และวัชพืชอื่นๆ ทีแทบหาประโยชน์ไม่ได้ในทางการดำรงชีพ



ความผิดพลาดในการรักษามรดกชิ้นสำคัญชิ้นนี้ มันอยู่ที่ใคร ตรงไหน และเมื่อไหร่?

ผู้เขียนมีโอกาสนั่งคุยกับ”ลุงวันดี” ชาวบางกะปิดั้งเดิม... 73 ปีที่ลุงวันดีอาศัยอยู่ริมคลองแห่งนี้ ตั้งแต่ยุคน้ำในคลองยังใสสะอาด กุ้งปลายังเต็มลำน้ำ ผักหญ้ายังเต็มสองข้างคลอง “โอ้ย...เมื่อก่อนนั้นนะ กุ้งปลาน่ะไม่ต้องไปหาไกล ลุงฟาดมันหน้าบ้านนี่แหล่ะ โดยเฉพาะปลากรายที่นี่น่ะ ตัว 10 กว่าโล ได้ง่ายๆเหมือนหาซื้อปลานิลในตลาดบางกะปิ น้ำในลำคลองเนี่ยนะ...ตักใส่ตุ่มแกว่งสารส้มเสียหน่อย อาบได้สบาย แต่ลุงน่ะชอบกระโดดลงคลองมากกว่าว่ะ...ยิ่งตอนสมัยเด็กๆ เล่นน้ำงมกุ้งจับปลากันทั้งวัน...โดนไม้เรียวกันเป็นประจำ”ลุงวันดีเล่าให้ฟังปนหัวเราะ

“ตอนปี 2493 ตอนนั้นมีโรงเหล้ามาตั้งแถวนี้..มันปล่อยน้ำเสีย ส่าเหล้าลงคลองทุกวัน น้ำเริ่มแย่มาตั้งแต่ตอนนั้น
จากนั้น ถัดมาหลายปี เริ่มมีชุมชน หมู่บ้านแถวๆรามคำแหง คลองตัน พวกหมู่บ้านนี่แล่ะสำคัญ” ลุงวันดีกล่าว
“พวกนี้ปล่อยน้ำลงคลองโดยตรงเลย ไม่มีหรอกการบำบัดในสมัยก่อนน่ะ...น้ำในคลองก็เริ่มไม่ดีตั้งแต่ตอนนั้นแล้วล่ะ”
“จากบางกะปิ ยาวไปถึงคลองตัน ไปถึงหลอแหล แล้วก็ถึงเมืองมิน ยิ่งมีเรือเมล์มาวิ่ง ยิ่งเลวร้ายขึ้น เรือพายนี่นะ อย่าหวังว่าจะได้ใช้เช่นเดิม ทะเร่อทะร่าเดี๋ยวโดนชนตาย” ลุงวันดีเล่าให้ผมฟังด้วยน้ำเสียงขุ่นๆเล็กน้อย

มาถึงตอนนี้คงต้องทำใจยอมรับกับความเป็นจริงเกี่ยวกับสายน้ำ ลำคลองที่ไหลวนเวียนอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ว่า มันยากที่จะเยียวยาได้แล้ว เพราะนับวันมันมีแต่แย่ลงไป หากมานั่งคิดใคร่ครวญ ไตร่ตรองดูให้ดีแล้วการจะทำให้ลำคลองแสนแสบ หรือลำคลองอื่นๆ กลับไปเป็นเหมือนอดีตกาลที่ผ่านมา ดั่งที่มีนโยบายประชานิยมออกมาเอ่ยอ้างถึงการทำให้ลำคลองสวย น้ำใส มันเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน ที่ลืมมองไปถึงภาพความเป็นจริง ที่จำเป็นมากกว่าในปัจจุบัน

และ...โดยลักษณะอุปนิสัยแบบง่ายๆ สบายๆของคนไทยเรา ความไม่เข้มงวด ชัดเจนในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ในการรักษาสิ่งแวดล้อม และการรักษาความสะอาด การปลูกฝังจิตสำนึกจากรุ่นสู่รุ่น ที่ไม่เคยกระทำอย่างจริงจัง และจริงใจ อย่างเวเนเซีย แนวทางปฎิบัติของเมืองที่มีประชากรหลักหลายล้านคนอย่างกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และเห็นผลทันตา เป็นที่เชื่อว่าไม่มีภาคส่วนไหน ไม่ว่าจะเป็นส่วนงานราชการ องค์กรเอกชนฯ กล้าออกมายืนยันการันตีว่าสามารถทำได้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นว่าทำได้จริงๆ หรือมีการกระทำอย่างจริงจัง การออกมาปักป้ายที่ริมคลองจึงไม่น่าจะเป็นทางที่แก้ได้ หากไม่คิดปักป้ายอีกอันไว้ที่จิตใต้สำนึกของผู้คน

มรดกจากธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และกำลังเลวร้ายลงทุกวัน แต่การสืบทอดเผ่าพงค์ในการดำรงชีวิตของคนเมืองหลวง การเพิ่มของประชากรรุ่นไหม่ๆยังคงอยู่ และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ไม่อาจคืนสายน้ำที่ใสสะอาดให้แก่เมืองหลวงได้ แต่เราก็ยังสามารถป้องกันไม่ให้มรดกที่เคยบริสุทธ์ลุกลามไปถึงมรดกชิ้นใหญ่ชิ้นสุดท้าย ที่ยังทอดตัวเป็นสายเลือดใหญ่เลี้ยงคนหลายสิบล้านคนอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ซ้ำยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญสำหรับคนไทยอย่างปฎิเสธไม่ได้

ไม่ใช่หน้าที่ของใคร นักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง องค์กรใดองค์กรหนึ่ง คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเราทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนกรุงเทพฯโดยถือกำเนิดหรือ เป็นเพียงคนอาศัยเพื่อค้นหาทางเดินชีวิตตนเอง เป็นหน้าที่อันชอบธรรมที่จะช่วยกันดูแลสายน้ำในเมืองหลวงแห่งนี้ มรดกจากบรรพบุรุษจะยังคงสืบทอดไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็นภาพของสายน้ำจริงๆ ไม่ใช่แค่ในรูปถ่าย หรือเรื่องเล่าสืบทอดกันมา อย่าให้ลูกหลานเราเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาในอนาคต เหมือนดั่งที่เราเห็นคลองแสนแสบ และลำคลองอื่นๆในปัจจุบันนี้



คงไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนัก ถ้าในอนาคตข้างหน้าเราจะได้ชื่ออีกครั้งว่าเป็น”เวนิสตะวันออก “เป็นเวเนเซียที่มีสายน้ำสกปรกมากที่สุดในโลก





 

Create Date : 10 สิงหาคม 2552
3 comments
Last Update : 10 สิงหาคม 2552 12:46:57 น.
Counter : 6669 Pageviews.

 

สุดยอดๆๆๆ

ขอบคุนค้าบบ

 

โดย: ParkZaaaa IP: 124.122.213.40 29 สิงหาคม 2552 18:50:21 น.  

 

จัย

 

โดย: OK. IP: 125.25.181.48 3 ตุลาคม 2553 17:35:34 น.  

 

Foto

 

โดย: Thank You! IP: 119.46.123.125 20 กุมภาพันธ์ 2554 16:58:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


The Trek
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หากกาย..หยัดยืนอยู่คู่ขุนเขา
มองสองเท้า..ยังก้าวมั่นไม่หวั่นไหว
สองแขนแกร่ง..แรงโหนทะโมนไพร
หนึ่งหัวใจ..ยังเจิดจ้าความท้าทาย

Southernroof
Friends' blogs
[Add The Trek's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.