คุ้มสมุนไพร "ภูมิปัญญาไทย เพื่อสุขภาพและความงามคุณ" บริการ อยู่ไฟ หลังคลอด ถึงบ้าน และจำหน่ายชุด อยู่ไฟ ด้วยตนเอง
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
11 กุมภาพันธ์ 2551
 
 
เหตุเกิด...หลังคลอด




นับจากวินาทีที่ทารกน้อยคลอดออกมาคุณแม่ก็ต้องพบกับ "ภาระใหม่" ในการดูแลทารกน้อยและการเปลี่ยนแปลงสภาพของร่างกายตนเอง อาทิเช่น รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป เต้านมขยายโตขึ้น หน้าท้องใหญ่ เจ็บปวดแผล เป็นต้น


เริ่มตั้งแต่หลังคลอด แพทย์จะเย็บแผลบริเวณช่องคลอดและฝีเย็บซึ่งเกิดจากการคลอดปกติ กล่าวคือ ในระหว่างการคลอดขณะที่ทารกโผล่ศีรษะออกมาภายนอก แพทย์จะช่วยตัดฝีเย็บ เพื่อขยายปากช่องคลอดให้กว้างออก เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อรอบๆ ปากช่องคลอดยืดขยายจนอักเสบ เมื่อคลอดเสร็จแล้ว แพทย์จะเย็บฝีเย็บนี้กลับเข้าที่เดิม ดังนั้นในวันแรกหลังคลอด แผลนี้อาจจะมีอาการบวมอักเสบและเจ็บปวด แพทย์จึงมักจะให้รับประทานยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะ เพื่อลดอาการอักเสบบวมดังกล่าว


อีกทางหนึ่งที่ท่านสามารถจะบรรเทาอาการเจ็บแผลและลดอาการบวมได้ คือ การใช้น้ำแข็งประคบในวันแรกและต่อไปใช้วิธีอบแผลด้วยความร้อน ส่วนการรับประทานยาแก้ปวดควรเลือกเป็นพาราเซตามอลครั้งละ 2 เม็ดทุก 4-6 ชั่วโมง และยาแก้อักเสบห้ามใช้ยากลุ่มเตตร้าซัยคลิน เพราะจะมีผลต่อทารกที่รับนมแม่ ส่วนใหญ่แพทย์มักจะใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนนิซิลิน


ถ้าดูแลอย่างถูกต้องอาการเจ็บปวดแผล ควรจะหายได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ และแผลจะหายสนิทภายใน 3 สัปดาห์หลังคลอด กรณีที่แผลมีแนวโน้มจะอักเสบ ท่านควรเช็ดทำความสะอาดแผลด้วยสำลีสะอาดชุบน้ำอุ่น โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังวันละ 2 ครั้งหลังอาบน้ำ ยิ่งในรายที่มีน้ำคาวปลาออกมากควรใช้ผ้าอนามัยรองรับและเปลี่ยนบ่อยๆ อย่าให้แผลอับชื้น เพราะจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้


เมื่อกล่าวถึงน้ำคาวปลา คุณแม่ท้องแรกอาจจะงงๆ ว่าคือ อะไรกันแน่ น้ำคาวปลาก็คือ เลือดที่คล้ายๆ ประจำเดือนไหลออกมาทางช่องคลอดจากตำแหน่งผนังมดลูกที่รกเคยเกาะตัวอยู่ เมื่อรกหลุดลอกตัวออกมาเลือดก็จะซึมมาจากรอยนี้ เรียกว่า "น้ำคาวปลา" แต่จะมีสีจางลงเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่ผ่านไปและจะหยุดไหลเองภายในเวลา 2 สัปดาห์


อวัยวะอีกอย่างที่ได้รับความกระทบกระเทือนในระหว่างคลอดก็คือ "กระเพาะปัสสาวะ" ซึ่งจะมีอาการบวมช้ำ ผนังกระเพาะปัสสาวะบวมแดงกว่าปกติ ท่านจะไม่ค่อยปวดปัสสาวะหลังคลอด ปัสสาวะยาก ปัสสาวะไม่ออกหรือออกไม่หมด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย เนื่องจากระหว่างที่ท่านเบ่งคลอด กระบังลมจะหย่อนลงมากกระเพาะปัสสาวะทำให้เก็บปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ บางคนขณะจามออกมาจะมีอาการปัสสาวะเล็ดก็ได้ การปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ ไม่ควรอั้นปัสสาวะเพราะจะยิ่งทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรหมั่นบริหารร่างกาย บริหารช่องคลอดและกระบังลมให้ถูกต้อง อาการเหล่านี้จะดีขึ้น เมื่อช่องคลอดและกระบังลมเข้าที่แล้วคือประมาณ 3 เดือนหลังคลอด


นอกจากนี้ร่างกายของคุณแม่หลังคลอด จะมีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง นอกเหนือจาก "ความอ้วน" "หน้าท้องหนา" ที่หลายๆ ท่าน "รับไม่ได้" นั่นเป็นผลมากจาก "มดลูก" ของคุณแม่ซึ่งเป็นที่อยู่ของทารกระหว่างที่อยู่ในครรภ์หลังคลอดจะมีขนาดเล็กลง แต่ยังไม่เล็กลงจนเท่ากับก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งหากลองคลำดูท่านจะรู้สึกว่าเป็นก้อนแข็งๆ กลมๆ ที่บริเวณหน้าท้องโดยส่วนยอดบนสุดของมดลูก จะอยู่ในระดับสะดือของท่านและจะค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ จนสามารถกลับเข้ามาอยู่ในอุ้งเชิงกรานได้ ท่านจะไม่สามารถคลำพบได้อีก


โดยทั่วไปมดลูกจะลดขนาดจนเท่าปกติใช้เวลาประมาณ 1 เดือน สำหรับท่านที่เคยมีประสบการณ์ จะสงสัยว่าเหตุใด จึงมีอาการปวดท้องน้อยคล้ายๆ กับที่ปวดประจำเดือน และมักจะปวดมากเมื่อลูกดูดนมของท่าน คำตอบง่ายๆ กรณีนี้ก็คือ อาการปวดเกิดจากมดลูกบีบเกร็งตัว เพื่อห้ามเลือดไม่ให้ไหลออกมาอีกในระยะหลังคลอด มีกลไกที่ทำให้ร่างกายไม่เสียเลือดมาก และที่ท่านปวดมากขึ้น เมื่อลูกดูดนมก็เนื่องมาจากการที่ลูกดูดนมแม่ จะกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่งออกมากระตุ้นให้มดลูกบีบรัดตัวมากขึ้น จึงปวดท้องน้อยมากขึ้น แต่การหดรัดตัวของมดลูกนี้กลับมีประโยชน์ ในด้านที่ทำให้มดลูกลดขนาดจนเข้ามาอยู่ในอุ้งเชิงกรานได้เร็วขึ้น ที่เรียกว่ามดลูกเข้าอู่ได้เร็วกว่านั่นเอง และหน้าท้องของคุณแม่ก็จะยุบลงไปเร็วขึ้นด้วย


ถัดจากมดลูกจะเป็นอวัยวะที่อยู่ต่อเนื่องกันต่ำลงมาที่เรียกว่า "ช่องคลอด" ซึ่งโดยปกติก่อนที่จะตั้งครรภ์ ผนังช่องคลอดจะมีรอยย่น แต่ระหว่างตั้งครรภ์ ผนังช่องคลอดจะเรียบไม่มีรอยหยัก เมื่อคลอดแล้วก็จะกลับมาเป็นรอยหยักเช่นเดิม แต่ขนาดช่องคลอดจะเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากช่องคลอดจะต้องขยายตัวอย่างมาก ระหว่างที่ศีรษะของทารกโผล่ออกมาออกมาขยายกว่าเดิม 5-8 เท่าเลยก็ว่าได้ ส่งผลให้เนื้อเยื่อต่างๆ บริเวณนี้ยืดขยายออกคล้ายหนังสติ๊ก เช่น กล้ามเนื้อต่างๆ ภายในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น


แต่ถึงแม้ว่าช่องคลอดจะยืดขยายออกไปได้ เราก็สามารถทำให้มันหดตัวกลับคืนมาได้ ด้วยการออกกำลังกาย "ขมิบก้นและขมิบช่องคลอด" วันละประมาณ 30 ครั้ง ทำทุกวันช่องคลอดจะกระชับขึ้นและจะแข็งแรงเป็นปกติภายในระยะเวลา 3 เดือน


ในกรณีที่คุณแม่รักสวยรักงาม มักจะยอมไม่ได้ถ้าหน้าท้องมีสีคล้ำดำขึ้นจากเดิมอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ทำให้ไปเสียเงินเสียทองด้วยการอบผิว ขัดผิว หรือหาซื้อยาต่างๆ มาทา แต่ผลสุดท้ายก็หายพร้อมๆ กับคุณแม่ที่ไม่ได้สนใจทำอะไรเช่นนั้น เพราะสีคล้ำนั้นจะค่อยๆ หลุดลอกออกมาเป็นขี้ไคลจนหมดภายใน 4-5 เดือน พร้อมๆ กับร่างกายผิวหนังชุดใหม่ขึ้นมาทดแทนที่มีสีธรรมชาติ


อีกอวัยวะหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ "เต้านม" โดยที่ในช่องน้ำนมเริ่มไหล เต้านมจะคัดตึงขยายโตขึ้นจนเห็นได้ชัด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่จะไม่ปกติเมื่อนมคัดตึงจนเกิดอาการไข้ขึ้น เมื่อท่านไม่ดูแลให้ถูกวิธี การดูแลที่ถูกก็คือ เมื่อท่านมีอาการ "นมคัด" ให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบรอบๆ เต้านม พร้อมๆ กับบีบนวดเบาๆ ทั่วทั้งเต้า แล้วบีบเอาน้ำนมออกมาบ้าง จนเมื่อน้ำนมออกมาจนเกลี้ยงเต้า แล้วท่านจึงใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นมาประคบเต้านมทั้งสองข้าง นอกจากนี้ยังต้องใส่เสื้อยกทรงไว้เสมอ เพื่อประคองทรงป้องกันไม่ให้เต้านมหย่อนยาน เนื่องจากการขยายใหญ่โตกว่าปกติของเต้านมหลังคลอด ในกรณีที่ปวดเต้านมมาก ให้ท่านรับประทานยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 เม็ด ทุกๆ 6 ชั่วโมงจนกว่าจะหายปวด แต่ถ้ามีอากรบวมแดงกดแล้วเจ็บหรือไข้สูงมากควรไปพบแพทย์


และเมื่อลูกเริ่มดูดนม แม่ไม่ทราบวิธีให้นมที่ถูกต้อง เช่น ให้ลูกคาบหัวนมตื้นๆ เหงือกของลูกจะกดตรงบริเวณหัวนมทำให้ไม่มีน้ำนมไหล ลูกก็จะออกแรงดูดมากจนทำให้หัวนมของท่านแตกและเป็นแผล วิธีแก้ไขก็คือ ให้นมลูกให้ถูกวิธี โดยให้ลูกดูดนมให้ลึกจนริมฝีปากและเหงือกกดบนลานนม ทำให้แรงกดของเหงือกรีดน้ำนมออกมาได้ง่าย ท่านก็จะไม่รู้สึกเจ็บด้วย


ส่วนแผลที่หัวนม หากไม่มากให้ท่านเช็ดทำความสะอาดด้วยสำลีชุบน้ำอุ่นหลังให้นมลูก แล้วทาด้วยวาสลินครีม หรือลาโนลินครีม เพื่อให้ผิวบริเวณที่เป็นอ่อนนุ่มลง และหายแตกโดยเร็วก่อนที่จะให้นมลูกครั้งถัดไป ก็ให้เช็ดทำความสะอาดเอาครีมออกให้หมดก่อน พอลูกดูดนมเสร็จก็ทำเช่นเดิมจนกว่าจะหาย


ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดเป็นเพียง "เหตุ" ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอดที่มักพบอยู่เสมอๆ เท่านั้น อาจมีอาการผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น ท่านควรใช้วิจารณญาณในการพิจารณา หากอาการนั้นมีผลกระทบต่อตัวท่านและลูกน้อยของท่าน เช่น เลือดออกมาทางช่องคลอด เป็นต้น ท่านควรรีบไปพบแพทย์อย่านิ่งนอนใจ


นอกจากนี้สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งผ่านการคลอดครั้งแรก ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านนอนหลับพักผ่อนหลังการคลอด 6 ชั่วโมง เมื่อตื่นขึ้นมาท่านจะแข็งแรง ไม่มีอาการหน้ามืดเป็นลมเพราะความอ่อนเพลีย แต่ถ้าหากท่านเสียเลือดมากในระหว่างคลอด ต้องการการพักผ่อนที่มากกว่านั้น และควรมีคนเฝ้าไข้ ในระหว่างที่ท่านยังอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลไม่ควรจะเอาแต่นอน ควรฝึกหัดเลี้ยงลูกหัดเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก เรียนรู้ถึงวิธีการให้นมที่ถูกต้อง การทำความสะอาด-อาบน้ำให้ลูก การอุ้มที่ถูกต้อง ฯลฯ จากพยาบาล เมื่อท่านกลับถึงบ้านจะได้ทำได้เองด้วยความคล่องตัว พึ่งระลึกเสมอว่า ถ้าท่านยังเลี้ยงลูกหรือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองจะยิ่งทำให้ท่านฟื้นตัวกลับสู่สภาพเหมือนก่อนตั้งครรภ์ได้เร็วขึ้น


ขอแถมท้ายด้วยเรื่องอาหารการกินและยาสำหรับท่านในช่วงหลังคลอด ท่านควรรับประทานยาแก้อักเสบที่แพทย์จัดให้จนหมดอย่างเคร่งครัดรับประทานยาบำรุง พวกวิตามินผสมธาตุเหล็ก คล้ายๆ กับที่ท่านรับประทานระหว่างตั้งครรภ์ต่อไปอีก 4 สัปดาห์ เพื่อช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดที่ต้องเสียไปในระหว่างการคลอด และช่วยบำรุงร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง แคลเซียมเสริมหรือรับโดยการดื่มนมสดวันละ 2 แก้ว แต่ถ้าท่านมีอาการท้องผูก ไม่ควรรับประทานยาระบายให้ดื่มน้ำมาก ๆ และรับประทาน อาหารที่มีกาก เช่น ผักและผลไม้ปริมาณมากขึ้นแทน การรับประทานยาในระหว่างให้นมลูก ต้องระลึกอยู่เสมอว่าลูกของท่านจะได้รับยาผ่านทางน้ำนมด้วย ดังนั้นปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยานะคะ


ที่มา...นิตยสารแม่และเด็ก



Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2551 16:45:15 น. 0 comments
Counter : 1363 Pageviews.
 

Healthy Service
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คุ้มสมุนไพรบริการอยู่ไฟ คุณแม่หลังคลอด
จำหน่าย ชุดอยู่ไฟ และสมุนไพร
สายด่วน 08-5426-7578 (24 ชม. ทุกวัน)http://www.KUMsamunpai.com/


จำนวนผู้เข้าเว็บ Best Free Hit Counters
Maternity Wear
Maternity Wear 234x60 70% off on over 3,000 designer fragrances SkinStore Special Offers Free Shipping
[Add Healthy Service's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com pantip.com pantipmarket.com pantown.com