happy memories
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2557
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
14 ตุลาคม 2557
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๑๕๑





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










นิทรรศการศิลปกรรมชุด เมืองไทยไดอารี


PaiNaiDii.Com ชวนคุณไปชมเรื่องราวผ่านงานศิลป์ ใน นิทรรศการศิลปกรรม ชุด เมืองไทยไดอารี่ ระหว่างวันที่ ๑ - ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ โซน ลีฟวิ่ง เทรล และ โซนดีไซน์ อัลเลย์ ชั้น ๒ ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้


ความพิเศษของนิทรรศการชุดนี้ อยู่ที่รูปแบบการบอกเล่าเรื่องราวในอดีตจนถึงปัจจุบันของสังคมไทย โดยเน้นการถ่ายทอดผ่านมุมมองของศิลปินด้วยการวาดเป็นสื่อกลาง ในการบอกเล่าเรื่องราวอย่างเรียบง่าย อาทิ ผลงานสะท้อนภาพวิถีชีวิตของผู้คนด้วยเทคนิคสีน้ำของ อาจารย์มานิตย์ นิเวศน์ศิลป์ และผลงานชุดพระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่มีต่อปวงประชาราษฎร์ ด้วยเทคนิคสีน้ำมัน ของอาจารย์สุวิทย์ หลีดุล เป็นต้น


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อบริษัท พีอาร์ โฟกัส จำกัด ประภาส จรสรัมย์ โทร: o๘๓-๗o๑-๒๘๓๘, o๒-๖๕๔-๗๕๕๑-๒



ภาพและข้อมูลจากเวบ
painaidii.com













พรสวรรค์ชาวนาไร่สู่ผลงานศิลป์แผ่นดินไทย


"จับมือที่แข็งกร้าน มาลองงานละเอียดเนียน เส้นสายทุกลายเขียน จนอ่อนโค้งกว่าเส้นเคียว กี่เดือนและกี่ปี กว่าแท่งเหล็กจะบางเรียว ใยไหมจะยึดเกลียว เป็นกลุ่มแพรที่แพรวพราว งานนั้นในวันนี้ สำเร็จมีออกมากมาย กี่หมื่นชีวิตหมาย จะไกลจากความยากจน...."


ใจความหนึ่งในกาพย์ยานี ๑๑ บริเวณทางเข้าชมพระที่นั่งอนันตสมาคม สู่นิทรรศการ "ศิลป์แผ่นดิน" ครั้งที่ ๖ บอกเล่าความเป็นมาเมื่อย้อนไปในปี ๒๕๒๑ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา หรือสถาบันสิริกิติ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมศิลปาชีพแก่นักเรียนศิลปาชีพที่ทรงรับมาจากครอบครัวชาวนา ชาวไร่ ผู้ยากจน ไม่มีที่ทำกิน ได้มีโอกาสเรียนรู้งานช่างฝีมือไทยชั้นสูง ภายในโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา จนปัจจุนบันฝีมือของกลุ่มช่างศิลป์เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสานศิลปะของแผ่นดินให้คงอยู่เป็นที่ประจักษ์สายตาชาวไทยและชาวต่างชาติ แวะเวียนเข้ามาชื่นชมศิลป์ไทยแท้ไม่ต่ำกว่า ๖,ooo คนต่อวัน






เพื่อให้เข้าถึงงานศิลป์สำคัญเหล่านี้มากขึ้น ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จึงจัดกิจกรรม THE WISDOM Heritage “Arts of the Kingdom Exhibition &AnantaSamakhom Throne Hall” ให้แก่ลูกค้าคนพิเศษพาเข้าไปศึกษางานศิลป์ชิ้นเอกกว่า ๑o ชิ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันกษัตริย์ไทยและในโอกาสที่พระที่นั่งอนันตสมาคมจะมีอายุครบ ๑oo ปีบริบูรณ์ ในปี ๒๕๕๘ โดยงานนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และ อ.เผ่าทอง ทองเจือ เป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์สำหรับกิจกรรมครั้งนี้อีกด้วย


ยกตัวอย่างงานศิลป์แผ่นดินที่จัดแสดงในปีนี้เป็นครั้งแรกเริ่มจาก "วานเรศบวรอาสน์" พระที่นั่ง ใช้ประทับเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ตกแต่งด้วยเทคนิคการคร่ำทองเป็นเทคนิคโบราณใช้การฝังเส้นทองจริง ๆ ลงไปในเนื้อเหล็กที่เจาะด้วยสิ่วจนเป็นลวดลาย วิธีนี้เกือบจะสูบหายไปแล้วเมื่อ ๓o ปีก่อนเหลือช่างอยู่เพียงคนเดียว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงเรียกช่างท่านนี้มาให้ช่วยถ่ายทอดความรู้ จนปัจจุบันเรามีคนต่อยอดงานคร่ำทองแล้วสิบกว่าคน ต่อมาคือ "สัปคับพระคชาธาร" ที่ประทับบนหลังช้างในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่าง ๆ ปูพื้นด้วยเสื่อทองคำสาน ใช้ทองคำแกะสลักดุนให้โปร่งรองทับด้วยปีกแมลงทับเป็นงานประยุกต์มาจากงานไม้เพื่อความโดดเด่น






นอกจากเรือสุพรรณหงส์ที่คนไทยคุ้นตายังมี "เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรจำลอง" หัวเรือรูปพญาครุฑยุดนาค และ "เรือพระที่นั่งประภัศรไชย" โครงและคานเรือทำด้วยเงินทาทอง กลางลำเรือทอดพระมหาสุวรรณบุษบกบัลลังก์จำหลักทองคำลงยา แต่ละลำใช้จำนวนช่างทำมากกว่า ๘o คน อีกหนึ่งผลงานที่สะดุดสายตาคือ "ฉากถมทองเรื่องรามเกียรติ์" เป็นงานถมทองร่วมกับงานสลักทองมีมิติ แบบเป็น ๓ ฉาก ที่โดดเด่นที่สุดเป็นฉากลงสวน ด้วยการวางขบวนพยุหยาตราของทศกัณฑ์ พร้อมหมู่สุรางคนิกร พลอสุรยักษ์ เป็นภาพกองทัพและมหาปราสาทอันวิจิตร สำหรับงานไม้ที่น่าสนใจมี "เรือนไม้แกะสลักบุษบก ๕ ยอด" ประดิษฐานพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ๑-๙ ให้ผู้ชมได้ศึกษา และยังมี "ฉากจำหลักไม้ เรื่องหิมพานต์" ผูกแบบตามเค้าภาพเรื่องสังข์ทองจากฉากด้านหน้าในฉากเมืองและวิมานเป็น ๒ เรื่องในแผ่นเดียวกัน สังเกตความงดงามที่มิติไม้ ลายละเอียดเล็กน้อยอย่างเส้นเถาวัลย์ที่ทำได้เหมือนจริงชวนจดจ้อง ทุกอณูภาพ ปิดท้ายที่ "ฉากปักไหมน้อยเรื่องอิเหนา" ยาง ๙.๖๑ เมตร สูง ๔.๒๙ เมตร ใช้การวาดสีบนผ้าและเอาเส้นไหมมาย้อมเทียบสีทีละตารางนิ้ว ถึงจะลงมือปักจริงเป็นงานวิจิตรไล่สีเสมือนจริง






นอกจากนี้หลังชมนิทรรศการ ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ ชี้ชวนให้ดูทางด้านข้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ทางทิศตะวันออก ปี ๒๕๕๙ จะเห็นการก่อสร้างเรือนยอดถวาย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้ ฯ พระราชทานชื่อว่า "เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์" ความหมายคือ เรือนยอดที่สร้างเป็นที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งใหญ่ ลายละเอียดลวดลายวิจิตรต่าง ๆ จะจัดทำโดยนักเรียนลูกหลานชาวนาชาวไร่ในสถาบันสิริกิติ์ทั้งหมด โดยเป็นสถาปัตยกรรมโบราณทรงโปร่งวางคู่กับสถาปัตยกรรมมตะวันตกเรเนซองส์อย่างลงตัว






"สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งเสมอว่า ไม่มีใครหรอกที่อยากลักเล็กขโมยน้อย ติดฝิ่น ติดกัญชา มีชีวิตที่ไม่ดี ถ้าเขามีการศึกษา มีวิชาช่างติดตัวก็มีทางหาเลี้ยงชีพ มีฝรั่งเคยถามพระองค์ว่างานพวกนี้พระองค์ท่านได้ช่างฝีมือดีมาอย่างไร จบการศึกษาศิลปะชั้นสูงมาจากไหน วิทยาลัยอะไร พระองค์ท่านรับสั่งกลับว่า ท่านเลือกจากความจนอย่างเดียว ไม่ได้ดูเรื่องการศึกษาอะไรเลย" ท่านผู้หญิงกล่าวทิ้งท้าย



ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net














ศาสตร์แห่งพระราชา : โรงงานหลวงฯ เพื่อปวงชน


งานจัดแสดงภาพถ่าย ‘ศาสตร์แห่งพระราชา : โรงงานหลวงฯ เพื่อปวงชน’ เป็นการจัดแสดงภาพถ่ายของอาจารย์และนักศึกษาเครือข่ายนิเทศศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ อ.เต่างอย จ.สกลนคร โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และเครือข่ายนิเทศศาสตร์


การจัดแสดงภาพในครั้งนี้ จะมีการจัดเสวนา ดังต่อไปนี้
วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ น. – ๑๕.๐๐ น.
หัวข้อ “แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพและถ่ายภาพอย่างไรให้ได้รางวัล”
โดย อาจารย์วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) พุทธศักราช ๒๕๕๒


วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ น. – ๑๕.๐๐ น.
หัวข้อ “แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพและจุดอ่อนที่หลายคนมองไม่เห็นในการถ่ายภาพ”
โดย อาจารย์วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) พุทธศักราช ๒๕๕๒


วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ น. – ๑๕.๐๐ น.
หัวข้อ “เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างสร้างสรรค์”
โดย อาจารย์เกรียงไกร ไวยกิจ
ช่างภาพผู้ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ


วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ น. – ๑๕.๐๐ น.
หัวข้อ “สีสัน แสงเงา เพื่อสื่อความหมาย”
โดย อาจารย์เกรียงไกร ไวยกิจ
ช่างภาพผู้ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ


ขอเชิญชม งานจัดแสดงภาพถ่าย ‘ศาสตร์แห่งพระราชา : โรงงานหลวงฯ เพื่อปวงชน’วันที่ ๑๕ – ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๐๐ น.– ๑๙.๐๐ น. เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน (หยุดวันจันทร์) ณ โถงเอนกประสงค์ ๑ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : ๐๒-๗๘๗-๗๒๓๔-๖



ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com














นิทรรศการศิลปกรรมของคณาจารย์ศิลปากร ครั้งที่ ๓๑


คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ร่วมกับ บมจ. ธนาคารกสิกรไทยมีความยินดีขอเรียนเชิญท่านเข้าร่วมเป็นเกียรติในโอกาสที่ ฯพณฯ ชวน หลีกภัย เป็นประธานในพิธีเปิด
นิทรรศการศิลปกรรมของคณาจารย์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้งที่ ๓๑


"เส้นทางสายอาเซียน : กรุณาแสดงบัตรและเซ็นชื่อที่นี่ !"


วันจันทร์ที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๗ (วันศิลป์ พีระศรี) เวลา ๙.oo น.
ณ PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร


นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ ๑๕ กันยายน – ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๗
เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ – เสาร์ ตั้งแต่ เวลา ๑o.oo – ๑๘.oo น. เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์






ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากศตวรรษที่แล้วมาสู่ศตวรรษที่ ๒๑ นักวิชาการได้คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไว้หลายประการ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่ถูกกล่าวถึง และถูกนำมาถกเถียงอย่างกว้างขวาง มีความเชื่อที่ว่าการรับรู้ปัญหาระดับมหภาค และการติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วทั่วถึงด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ จะช่วยสร้างจิตสำนึกแห่งยุคสมัย (Zeitgeist) ขึ้น และจะค่อยๆ หลอมรวมประชาคมโลกเข้าด้วยกัน ประเทศจะกลายเป็นชุมชนย่อยของหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “หมู่บ้านโลก” (Global Village) ดังจะเห็นได้จาก ความร่วมมือระดับนานาชาติเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งโดยมากเป็นความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจระหว่างกันในหมู่ประเทศสมาชิก ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค อาทิ ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) และเขตเศรษฐกิจเสรีเอเชียใต้ (SAFTA) รวมไปถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๕๘






ในขณะที่สังคมไทยตกอยู่ในบรรยากาศของการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ แต่ข้อตกลงเข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงแล้วนั้น เป็นวาระแห่งชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ไม่ว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมหรือไม่ก็ตาม การมุ่งเป้าหมายในการเข้าร่วมประชาคมอาเซียนให้ได้อย่างสง่างามจึงเป็นพันธกิจของทุกองค์กรทุกภาคส่วน การเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ประชาคม ASEAN ภายใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานตามปฏิญญา ASEAN ด้านการศึกษา อาทิ การเผยแพร่ความรู้ข้อมูลข่าวสาร และการสร้างเจตคติที่ดีเกี่ยวกับ ASEAN การจัดนิทรรศการศิลปะสัญจรเป็นวิถีทางหนึ่งในกรอบเป้าหมายนี้ในอันที่จะสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คนในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีวัฒนธรรม พื้นฐานสังคม ระบอบการปกครอง และการเมืองที่แตกต่างกัน ในโอกาสที่การแสดงศิลปกรรมประจำปีของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เวียนมาอีกครั้ง ในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๗ คณะจิตรกรรมฯ ใคร่ใช้การจัดนิทรรศการครั้งนี้ เป็นขั้นตอนทบทวน และปรับทิศทาง เพื่อแสดงอัตลักษณ์ขององค์กร และเป็นการเตรียมตัวก่อนที่จะนำนิทรรศการนี้ ไปเผยแพร่ในประเทศสมาชิกอาเซียนในลำดับถัดไป






โครงการนิทรรศการศิลปกรรมของคณาจารย์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เป็นโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชน และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวาระวันศิลป์ พีระศรี (๑๕ ก.ย.) เพื่อแสดงกตัญญุตาแด่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานด้านศิลปะสมัยใหม่ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ นี้ นิทรรศการศิลปกรรมของคณาจารย์ คณะจิตรกรรมฯ ได้ดำเนินมาจนถึงครั้งที่ 31 โดยนิทรรศการจะจัดแสดงและเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ ๑๕ กันยายน – ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑o.oo น. – ๑๘.oo น. ทุกวันจันทร์ – เสาร์ เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ กำหนดพิธีเปิดนิทรรศการในวันจันทร์ที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๗ (วันศิลป์ พีระศรี) เวลา ๙.oo น. ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ชวน หลีกภัย เป็นประธานในพิธี ณ PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร






ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุค














ประกวดศิลปกรรมกรุงไทยครั้งที่ ๑


ธนาคารกรุงไทยเปิดกว้างให้ศิลปิน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เข้าร่วมประกวดในโครงการศิลปกรรมกรุงไทย ครั้งที่ ๑ ชิงโล่พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัลรวมมูลค่าเกือบ ๓ ล้านบาท โดยสื่อถึงความเป็น “กรุงไทย” ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยงานสร้างสรรค์ เรื่องราวของความเป็นไทย ก่อให้เกิดความสุข ความดีงาม นำพาสังคมสู่ความเจริญรุ่งเรือง






นายนนทิกร กาญจนะจิตรา กรรมการธนาคารกรุงไทย และ ประธานโครงการประกวด Krungthai Art Awards เปิดเผยว่า ธนาคารได้สานต่อเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการสร้างสรรค์งานศิลปะ และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของศิลปินไทย โดยจัดโครงการประกวด ศิลปกรรมกรุงไทย (Krungthai Art Awards) ครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๕๗ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมที่แสดงออกถึงเรื่องราวของความเป็นไทย ในมิติศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม หัตถกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ภายใต้แนวคิด “กรุงไทย” ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยงานสร้างสรรค์อันทรงคุณค่าและสุนทรียะ ก่อให้เกิดความสุข ความดีงาม นำพาสังคมสู่ความเจริญรุ่งเรือง โดยธนาคารได้รับเกียรติจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในวงการศิลปะของประเทศ และ ศิลปินแห่งชาติรวม ๑๑ ท่าน ร่วมเป็นคณะกรรมการ ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี ดร.ชำเรือง วิเชียรเขตต์ ดร.ทวี รัชนีกร อาจารย์อินสนธ์ วงศ์สาม อาจารย์พิชัย นิรันต์ ศาสตราจารย์เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ ศาสตราจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง และ อาจารย์ธงชัย รักปทุม






โครงการประกวด ศิลปกรรมกรุงไทย กำหนดให้ผู้ที่สนใจ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานประเภทจิตรกรรม ประเภทภาพพิมพ์ และประเภทประติมากรรม เข้าร่วมประกวดได้คนละไม่เกิน ๓ ชิ้น โดยประเภทจิตรกรรม และ ประเภทภาพพิมพ์ มีขนาดไม่เกิน ๒.๒ เมตร (รวมกรอบ) ผลงานประเภทประติมากรรม มีขนาดไม่เกิน ๒.๒ เมตร (รวมแท่น) ซึ่งเกณฑ์การตัดสินจะไม่แยกประเภทของผลงานศิลปกรรม แต่จะถือเอาคุณภาพของผลงานเป็นเกณฑ์ สามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ในเวลา ๙.oo – ๑๖.oo น. ณ หอศิลป์กรุงไทย อาคารธนาคารกรุงไทย สาขาเยาวราช หรือสอบถามรายละเอียดที่ โทร. o๒-๒๒๒-o๑๓๗






สำหรับรางวัลประกอบด้วย รางวัลที่ ๑ จำนวน ๓ รางวัล ได้รับโล่พระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เงินรางวัล ๆ ละ ๓oo,ooo บาท รางวัลที่ ๒ จำนวน ๕ รางวัล เงินรางวัลๆ ละ ๒oo,ooo บาท พร้อมเกียรติบัตร รางวัลที่ ๓ จำนวน ๑o รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๑oo,ooo บาท พร้อมเกียรติบัตร โดยธนาคารจะประกาศผลการตัดสินทางเว็บไซต์ ktb.co.th ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๗



ภาพและข้อมูลจากเวบ
bamboohillrose.wordpress.com














เริ่มแล้ว ศิลปินดาวเด่นบัวหลวง ๑o๑ ปีที่ ๗


เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง สำหรับเวทีสำคัญในการประชันฝีไม้ลายมือทางด้านศิลปะระดับเยาวชน กับโครงการประกวดศิลปิน “ดาวเด่นบัวหลวง ๑o๑” จัดโดยมูลนิธิบัวหลวง (มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ) ร่วมกับ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีนับแต่ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นมา โดยสานต่อโครงการนี้เป็นปีที่ ๗ แล้ว และในปีนี้ ได้เวลาอีกครั้งที่ตัวแทนนักศึกษาสาขาศิลปะจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศทั้งสิ้น ๕๒ คน จาก ๒๔ สถาบัน จะมาอยู่รวมกัน เพื่อแข่งขันวาดภาพสด ๆ ในรูปแบบเรียลลิตี้โชว์ เป็นเวลา ๙ วัน ระหว่างวันที่ ๑-๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และตัดสินผลงานในวันที่ ๑o พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗






ทั้งนี้ได้มีการจัดงานแถลงข่าวโครงการประกวดอย่างเป็นทางการ โดยมีคุณหญิง ชดช้อย โสภณพนิช กรรมการมูลนิธิบัวหลวง และประธานโครงการฯ พร้อมด้วยศิลปินแห่งชาติ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง, ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี, อาจารย์ธงชัย รักปทุม และคณะกรรมการโครงการฯ อาทิ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร และ อาจารย์วีรเดช พนมวัน ณ อยุธยา ร่วมพูดคุย ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันจันทร์ที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗






คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช กรรมการมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ และประธานโครงการฯ กล่าวว่า “การจัดโครงการศิลปินดาวเด่นบัวหลวง ๑o๑ ตลอด ๖ ปีที่ผ่านมาได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากศิลปิน คณาจารย์ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ตลอดจนการสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ทั้งยังได้สร้างศิลปินรุ่นใหม่ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น ที่สำคัญในปีนี้ เป็นปีแรกที่มีการกำหนดหัวข้อ เพื่อเป็นกรอบความคิดให้แก่นักศึกษาในการสร้างสรรค์งาน คือ “บางกอก : ในความจริงหรือความฝัน” ทางโครงการจึงจัดให้มีกิจกรรมเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกรุงเทพฯ โดยจัดให้นักศึกษาได้สเก็ตช์ภาพคนกรุงเทพฯ ในกิจกรรม “portrait ณ บางกอก” วาดภาพบุคคลต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยผู้ที่เป็นแบบให้วาด จะได้รับภาพวาดของตัวเองนำไปขึ้นเป็นภาพโปรไฟล์ในสังคมออนไลน์ เช่น facebook เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์โครงการฯ ด้วย” ประธานโครงการฯ กล่าว






สำหรับโครงการดาวเด่นบัวหลวง ๑o๑ ครั้งที่ ๗ จะคัดเลือกนักศึกษาที่กำลังศึกษาแขนงศิลปะในระดับปริญญาตรี ๒ ปีสุดท้ายเข้าร่วมแข่งขันคณะละ ๒ คน โดยตลอดระยะเวลา ๙ วันในการแข่งขันผู้ร่วมประกวดจะได้รับความรู้จากหัวข้อการบรรยายและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหล่าวิทยากรจะมาให้ความรู้ ตั้งแต่การปฐมนิเทศในวันที่ ๔-๖ ตุลาคม เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษา โดยมีการบรรยายจากศิลปินแห่งชาติ อาทิ เรื่อง “บางกอก: ในความจริงหรือความฝัน” โดย อาจารย์ธงชัย รักปทุม, “กระบวนการในการสร้างสรรค์งานศิลปะ” โดยศาสตราจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก, “การเตรียมตัวสร้างสรรค์งานศิลปะ” โดย ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง และ “การวางแผนชีวิตและการทำงาน เพื่อสู่ความเป็นศิลปินอาชีพ” โดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นต้น






ส่วนในช่วงการแข่งขัน วันที่ ๑-๑o พฤศจิกายน นอกจากบริษัท นานมี จำกัด ผู้สนับสนุน จะมาแนะนำสีและอุปกรณ์ศิลปะให้แก่นักศึกษาแล้ว ยังมีวิทยากรชื่อดังมาร่วมบรรยายหัวข้อพิเศษอีกมากมาย อาทิ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร และชัยประนิน วิสุทธิผล จากทีบีดับบลิวเอ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งไฮไลท์ของกิจกรรมในปีนี้ คือ การสเก็ตช์ภาพกรุงเทพฯ ในจินตนาการของเด็ก ๆ ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ โดยนักศึกษาจะนำภาพดังกล่าวไปพัฒนาต่อให้สมบูรณ์และนำมาจำหน่าย ทางเว็บไซต์ //www.bualuang101.kapook.com ในช่วงระหว่างการแข่งขัน วันที่ ๑-๑o พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เพื่อนำรายได้สนับสนุนให้กับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ต่อไป






ตลอดการแข่งขัน ๙ วัน มีกติกาสำคัญคือ นักศึกษาจะต้องสร้างสรรค์ผลงานและใช้ชีวิตอยู่ในหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์เท่านั้น โดยจะมีการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ //www.kapook.com ซึ่งผู้ชมทั่วไปสามารถมีส่วนในการร่วมโหวตผลงานที่ชื่นชมได้ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว พร้อมสิทธิลุ้นรางวัลจากโครงการฯ






ผู้ชนะรางวัลศิลปินดาวเด่นบัวหลวง แบ่งออกเป็นรางวัลยอดเยี่ยม จะได้รับเงินทุนการศึกษา ๑oo,ooo บาท พร้อมโล่เกียรติยศ, รางวัลความคิดสร้างสรรค์ จะได้รับเงินทุนการศึกษา ๗o,ooo บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และรางวัลรางวัลดีเด่น จะได้รับเงินทุนการศึกษา ๓o,ooo บาท พร้อมโล่เกียรติยศ ทั้งนี้ที่สุดของผลงานที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นรางวัลยอดเยี่ยมในปีนี้จะได้รับการคัดสรรผ่านสายตาจากคณะกรรมการ ซึ่งมีทั้งศิลปินแห่งชาติผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ตัดสินพิจารณารางวัล ประกอบด้วย อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ประธานกรรมการ, คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช, ศาสตราจารย์กำจร สุนพงษ์ศรี, ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์, ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง, อาจารย์ธงชัย รักปทุม, อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี, อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร และอภิชาต รมยะรูป






ติดตามชมฝีไม้ลายมือในการสะบัดฝีแปรงของศิลปินรุ่นใหม่ทั้ง ๕๒ คน แบบเรียลลิตี้ที่คนรักศิลปะไม่ควรพลาด โดยจะมีการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ //www.kapook.com พร้อมโหวตศิลปินที่ชื่นชอบกันได้ตั้งแต่วันที่ ๑-๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ หรือตามติดทุกความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ ดาวเด่นบัวหลวง101 โดยจะประกาศผลการตัดสินผลงานในวันที่ ๑o พฤศจิกายนนี้ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ



ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com














งานศิลป์จากทั่วโลกชมเพลินกลางกรุง


นับเป็นงานล่อตาเหล่าศิลปินและคนรักงานศิลป์ทั่วฟ้าเมืองไทยให้มาพบปะกันได้อย่างคับคั่ง สำหรับการจัดนิทรรศการนานาชาติ "เดอะ เพอซิวท์ ออฟ เอ็กซิบิชั่น : อัน อินเตอร์เนชั่นเนล อาร์ต เอ็กซิบิชั่น" รวบรวมผลงานมาสเตอร์พีซของ ๙ ศิลปินละตินอเมริกา และ ๑ ผลงานจะศิลปินไทยมากฝีมือ มาไว้ในพื้นที่ชั้นจี ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ให้กลายเป็นอาณาจักรศิลปะ โดยพิธีเปิดได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ๗ ประเทศมาร่วมชมผลงาน พร้อมด้วยเหล่าอาร์ตเลิฟเวอร์ที่ร่วมพบปะกับเหล่าศิลปินดังอย่างใกล้ชิด


นำทีมต้อนรับแขกผู้มีเกียรติด้วยเจ้าบ้านและแม่งานใหญ่ทั้ง สุทธิธรรม-ทศ จิราธิวัฒน์, ฯพณฯ แอนเดลโฟ การ์เซีย เอกอัครราชทูตโคลอมเบีย มาดามแอสทริด อมายา และลูกชาย ฮเลฮานโดร กาเชียร์ อมายา โดยได้รับเกียรติจากคณะท่านทูตแต่ละประเทศของผลงาน ได้แก่ ฯพณฯ อานา มาเรีย ลามิเรส เอกอัครราชทูตอาร์เจนตินา, ฯพณฯ วิคเตอร์ รามิเรซ เอกอัครราชทูตคิวบา, ฯพณฯ ฮาเวียร์ เบกเกอร์ เอกอัครราชทูตชิลี, ฯพณฯ เฟลิกซ์ เดเนกรี เอกอัครราชทูตเปรู, ฯพณฯ จอร์จ เอดูอาร์โด เซ็น เอกอัครราชทูตเม็กซิโก และ ฯพณฯ จิลแบร์โต กีมาไรส์ เอกอัครราชทูตบราซิล พร้อมด้วยเหล่าอาร์ตเลิฟเวอร์ อาทิ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช, จินดาภา บุณยากร, "ดวง" วรรณพร โปษยานนท์, ศุภโชค-จงสุวัฒน์-อังคสุวรรณศิริ, เพชร โอสถานุเคราะห์, โสภาวดี บุญยรักษ์ เป็นต้น






นิทรรศการครั้งนี้เป็นการรวบรวมผลงานของ AOTA หรือ อาร์ติส ออฟ เดอะ อเมริกา ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะชื่อดัง โดยนำผลงนไฮไลท์มาจัดแสดง อาทิ ภาพวาดสีน้ำมัน ชุด "Chamging Tides " ของ Dr.Ernesto Morales นักวาดภาพชั้นครูจากอาร์เจนตินา ด้านความคิดสร้างสรรค์กับผลงานของศิลปินชาวคิวบา Yunayka Martin ที่หยิบเสน่ห์แวววาวของอะลูมิเนียมมาใส่ในภาพวาด ดูร่วมสมัยสร้างจินตนาการ ส่วนของประเทศโคลอมเบียศิลปินดาวรุ่งอย่าง Leonado Salazar ก็นำผลงานภาพวาดชิ้นเอกมาร่วมแสดงด้วย โดยศิลปินไทยเพียงหนึ่งเดียว ชัยยศ จินดากุล ผู้รังสรรค์ลายเส้นโดดเด่นมีมนต์ขลัง ก็หยิบผลงาน "Respect" มาร่วมแสดงด้วย






ชัยยศ เล่าถึงผลงานกว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นละครในอิริยาบถต่าง ๆ แต่ละตัวก็มีคาแรกเตอร์ท่าทางแตกต่างกันไป ส่วนตัวใช่การสังเกตจากหุ่นจริง ๆ จ้องมอง และเก็บภาพในมุมมองของตัวเองเอาไว้ ก่อนนำมาวาดใหม่ในความรู้สึกของตัวเอง ให้มีเรื่องราวน่าสนใจดูแล้วมีความเป็นไทยอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเชื่อว่าปัจจุบันศิลปินสมัยใหม่นั้นมีเยอะขึ้น ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความสร้างสรรค์ ความเป็นเอกลักษณ์ ถ้าผลงานโดดเด่นไม่เหมือนใครและมีความหมายไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะมีพื้นที่แสดงผลงานแน่นอน


นิทรรศการเปิดให้ผู้รักในศิลปะเข้าชม ต้องมนต์สะกดจากผลงานจากศิลปินชั้นนำได้ฟรี ตั้งแต่วันที่ ๗-๒๖ ตุลาคมนี้



ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net














ศิลปกรรม ไท นัย asean


ก่อนก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปีพ.ศ. ๒๕๕๘ ทุกภาคส่วนต่างเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆอย่างเต็มที่ นอกเหนือจากการเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน การเข้าใจในความเป็นตัวตนของเราทั้งในด้านประวัติความเป็นมา จุดเด่นที่เข้มแข็งฯลฯ สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปปรับให้เข้ากับประชาคมอาเซียนได้โดยไม่เสียความเป็นอัตลักษณ์


“ไท นัย asean” ศิลปกรรมร่วมสมัยสื่อความเป็นไทยถ่ายทอดผ่านหลากผลงานศิลปะที่กำลังแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดแสดงต่อเนื่องถึง ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในอัตลักษณ์ของความเป็นไทยให้เข้มแข็งและดำรงอยู่






นิทรรศการดังกล่าวเปิดให้ผู้ชมร่วมค้นหาและตีความนัยความเป็นไทของคนไทย ก่อนก้าวสู่ประชาคมอาเซียนผ่านผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ นักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโท คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ๒o คนรวมกว่า ๔o ผลงาน ถ่ายทอดเรื่องราวสังคมไทยในมุมมองที่แตกต่างและเทคนิคการสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ทั้งผลงาน จิตรกรรม ประติมา


กรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย สื่อผสม ภาพเคลื่อนไหว (animation) วิดีโออาร์ต (video art) และการสร้างแสง สี เสียงสังเคราะห์ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สัมผัสความเป็น “ไท” ได้อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่ความเข้าใจและความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของไทย






อาจารย์ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท ภัณฑารักษ์เล่าถึงการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ว่า ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีความใกล้เคียงกันทางวัฒนธรรม นิทรรศการครั้งนี้เป็นเหมือนการสำรวจ ชวนมองชวนเรียนรู้ในเรื่องราวของตัวตนของเราเป็นเหมือนการตั้งคำถามชวนหันกลับมาทบทวน ทั้งนี้ศิลปะเป็นเหมือนกระจกทั้งยังจุดประกายการสร้างสรรค์ การคิดต่อยอดต่อเนื่องไปและจากผลงานสร้างสรรค์ศิลปะส่วนบุคคลในครั้งนี้ที่จัดแสดงมีความหลากหลายทั้งในแนวคิด เทคนิคการนำเสนอ มีมุมมองในเรื่องราวทางสังคม ธรรมชาติฯลฯชวนเรียนรู้ อีกทั้งมีมิติความงามของศิลปะแต่ละเทคนิค






หลากผลงานทั้งสื่อผสม จิตรกรรม ประติมากรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นสะดุดตา ประติมากรรม ลืมเขาไปเถอะ เทคนิคปั้น หล่อไฟเบอร์กลาสของ วริศนันท์ จิตสุขปลื้มผลงานถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกและสภาพจิตใจเป็นตัวแทนความทรงจำ ความสัมพันธ์จากอดีตฯลฯ ขณะที่ ภาพพิมพ์แกะไม้ ผลงานสุรศักดิ์ สอนเสมาศิลปินนำเสนอภาพใต้เร่มเงาของไม้ใหญ่ ชวนคนเมืองได้กลับมาเห็นคุณค่าของสิ่งที่ให้ลมหายใจอันบริสุทธิ์เห็นถึงความงามของร่มเงาไม้ ฯลฯ






นอกจากการแสดงผลงานศิลปกรรม ไท นัย asean ยังจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการงานศิลปะพร้อมให้ศึกษาสัมผัส โดยที่เพิ่งผ่านไปชวนเรียนรู้การทำภาพพิมพ์ การแกะยางลบ นำมาประทับบนพื้นวัสดุเพื่อสร้างสรรค์ศิลปะ ส่วนอีกกิจกรรมที่เตรียมมีขึ้นในวันที่ ๑ พฤศจิกายนได้แก่ จิตรกรรมลายปรุ การร่างแบบภาพและปรุตามแบบ ลงสีฝุ่นให้เกิดเป็นผลงานศิลปะซึ่งเข้าร่วมในกิจกรรมได้โดยลงทะเบียนผ่านเฟซบุคพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะชวนร่วมเรียนรู้ ทบทวน ค้นหาและตีความความนัยพร้อมไปกับนิทรรศการ.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
dailynews.co.th














สู่แดนสุขาวดี


นิทรรศการ "สู่แดนสุขาวดี : Go to Sukhawadee" ผลงานโดย มานพ สุวรรณปินฑะ (Manop Suwanpinta) จัดแสดงระหว่างวันที่ ๗ ตุลาคม - ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ และจะมีพิธีเปิดในวันจันทร์ที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.๓o น. ณ ARDEL Gallery of Modern Art : หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล


นิทรรศการ สู่แดนสุขาวดี นำเสนอผลงานประติมากรรมภายใต้แนวความคิดเกี่ยวกับกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม และการบูชาเงินตราที่ครอบคลุมจิตสำนึกของประชากรเกือบทั้งโลก ความอยากได้อยากมีอันไม่สิ้นสุดนำมาซึ่งการกอบโกยแสวงหาผลประโยชน์โดยมีเป้า ประสงค์เดียวคือ การเพิ่มพูนทรัพย์สินเงินตราในครอบครองของตนเองอย่างไม่สนใจศีลธรรมความถูก ผิด ผลงานประติมากรรมอันงดงาม พร้อมด้วยแนวความคิดที่เข้มแข็งผสมผสานกับรูปทรงที่เต็มเปี่ยมไปด้วย จินตนาการสร้างสรรค์โดยประติมากรหนุ่ม มานพ สุวรรณปินฑะ











ภาพและข้อมูลจากเวบ
contestwar.com














ถ้ำอินโดนีเซียเปลี่ยนทฤษฎีต้นกำเนิดศิลป์


นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าศิลปะบนแผ่นหินคือจุดเริ่มเต้นการคิดแบบนามธรรม อันเป็นความสามารถในการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดและเหตุการณ์ความเป็นไปต่าง ๆ และความสามารถในการคิดแบบนามธรรมนี้เอง ที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น เป็นความสามารถที่นำพาเราไปสู่การจุดไฟ พัฒนาล้อ และคิดค้นเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อการดำรงชีวิต


การบังเกิดขึ้นของความสามารถด้านนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการที่เผ่าพันธุ์มนุษย์กลายเป็นมนุษย์ที่แท้จริง และเป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่เชื่อกันว่า ยุโรปเป็นต้นกำเนิดความสามารถด้านนี้ ยืนยันด้วยภาพสีเก่าแก่ที่สุดในถ้ำทางตะวันตกของทวีป


แต่จากนี้ไป องค์ความรู้เดิมที่ว่าเมื่อไหร่และที่ไหน ที่จุดเปลี่ยนสำคัญในวิวัฒนาการของมนุษย์บังเกิดขึ้น จะต้องเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเป็นครั้งแรกที่นักวิจัยได้ใช้เทคนิคสมัยใหม่คำนวณอายุของภาพสีบนกำแพงและเพดานถ้ำ ๗ แห่งใกล้กับเมืองมารอส บนเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย และพบว่าภาพสัตว์และภาพพิมพ์มือซึ่งเกิดจากการพ่นสีโดยใช้มือทาบกำแพงถ้ำ มีอายุตั้งแต่ ๓.๕๔ หมื่นปี จนถึงเกือบ ๔ หมื่นปี อยู่ในช่วงไล่ๆกันหรืออาจจะก่อนอายุภาพสีผนังถ้ำเก่าแก่ที่สุดในยุโรป ที่เชื่อกันนานมาว่าเป็นผลงานศิลปะชิ้นแรกของโลก


ทีมนักวิทยาศาสตร์อินโดนีเซียและออสเตรเลีย เผยผลวิจัยในวารสารเนเจอร์ฉบับล่าสุด ระบุว่า ภาพสเตนซิลรูปมือ หรือภาพพ่นสีรูปมือ ที่ถ้ำสุลาเวสี มีอายุ ๓๙,๙oo ปี เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบ ซึ่งสะท้อนว่ามนุษย์รู้จักสร้างสรรค์ศิลปะบนแผ่นหินเมื่อเกือบ ๔ หมื่นปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาปลายสุดของยุคไพลสโตซีน


ถัดจากรูปมือ เป็นรูปหมูที่มีอายุอย่างต่ำ ๓.๕๔ หมื่นปี ซึ่งก็จัดเป็นศิลปะรูปลักษณ์เก่าแก่ที่สุดในโลกรูปหนึ่ง


นายแอนโธนี ดอสเซโต จากมหาวิทยาลัยวูลลองกองในออสเตรเลีย กล่าวว่า ชาวยุโรปไม่อาจอ้างเป็นต้นกำเนิดพัฒนาความคิดแบบนามธรรมแต่เพียงผู้เดียวได้อีกต่อไป


ภาพสีโบราณรูปมือ ๑๒ รูป และรูปคล้ายสัตว์อีก ๒ รูป ในผนังและเพดานถ้ำ ๗ แห่งบนเกาะสุลาเวสี ทางตะวันออกของเกาะบอร์เนียว ถูกพบเมื่อกว่า ๕o ปีมาแล้ว แต่ไม่มีใครพยายามจะคำนวณอายุ ด้วยเหตุว่าภาพถูกกัดกร่อนจากความชื้นและฝน จนทำให้สรุปกันโดยทั่วไปว่าภาพผนังถ้ำไม่น่าจะอายุเกิน ๘,ooo ปี ประกอบกับนักวิทยาศาสตร์อินโดนีเซียที่สนใจหาคำตอบในเรื่องนี้ ไม่มีทรัพยากรที่จะทำได้


ก่อนการค้นคว้าอายุของภาพสีรูปมือที่กำแพงถ้ำบนเกาะสุลาเวสีนั้น ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำเก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ที่ถ้ำเอล กาสตีโญ ทางเหนือของสเปน ซึ่งรวมถึงภาพรูปมืออายุ ๓.๗ หมื่นปี ส่วนภาพรูปสัตว์เก่าแก่สุดเป็นรูปแรดสีถ่าน ที่ถ้ำโชเวต์ ประเทศฝรั่งเศส อายุ ๓๕,๓oo-๓๘,๘๒๗ ปี และยังพบภาพลายเส้นสีดำ อายุประมาณ ๓.๖-๔.๑ หมื่นปี ที่ถ้ำในเมืองฟูมาเน ประเทศอิตาลี


นักวิจัยกล่าวว่า การค้นพบล่าสุดตอกย้ำถึงความสำคัญของเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งเมื่อเทียบกับยุโรป การศึกษาภาคสนามในเอเชียยังน้อยมาก เชื่อว่า การค้นพบใหม่ ๆ จะท้าทายสิ่งที่เคยรู้เคยเข้าใจกันเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์อยู่เรื่อย ๆ







ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net














Sculpere


โซอิชิโร ชิมิซึ ศิลปินชาวญี่ปุ่นซึ่งพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ จะจัดแสดงผลงานจิตรกรรมนามธรรมขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา และผลงานประติมากรรมอีกหนึ่งชิ้นในงานนิทรรศการเดี่ยวที่ใช้ชื่อว่า Sculpere เอกลักษณ์ของผลงานของชิมิซึอยู่ที่ความเป็นทวิภาวะ ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติไปพร้อม ๆ กับความแปลกปลอม และความอ่อนโยนที่อยู่เคียงข้างความแข็งกระด้าง ความเป็นสองขั้วผสมผสานอยู่บนชั้นสีที่ซ้อนทับกัน และสร้างพลังและความมีชีวิตผ่านรูปทรง เส้น และพื้นผิวที่อาจทำให้นึกถึงเซลล์ที่แบ่งตัวเป็นเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอันเป็นกลไกสำคัญสำหรับชีวิต


ชื่อนิทรรศการ Sculpere ซึ่งเป็นรากศัพท์ภาษาลาตินของคำว่า “sculpt” สะท้อนถึงเทคนิคการเขียนรูปอันเป็นเอกลักษณ์ของชิมิซึซึ่งเล่นกับแนวคิดที่ขัดแย้งกัน ศิลปินกล่าวว่า “เทคนิคที่ผมใช้คือการซ้อนทับและการขูดออก สิ่งที่เผยออกมาให้เห็นคือสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่เดิม เหมือนกับที่เราส์เชนเบิร์กนำเสนอการทำลายล้างในช่วงแรกของการสร้างสรรค์ ผมเองให้ความสำคัญในรายละเอียดเหมือนกับศิลปินที่วาดรูปสไตล์เดอ คูนนิ่ง ซึ่งใช้เวลาเป็นเดือนในการขูดสีบนพื้นผิวทิ้ง” ทั้งนี้ งานจิตรกรรมล้วนเกิดจากการนำสีแต้มลงไปบนผืนผ้าใบ แต่ศิลปินได้ทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่มีอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกรอบรูป อันเปรียบเหมือนความท้าทายของชีวิต ฉะนั้น เมื่อสิ่งที่ถูกเขียนไว้ได้ถูกลบออก ความเป็นไปได้ก็ขยายวงกว้างออกไป


นอกจากนี้ Sculpere ยังเป็นนิทรรศการแรกที่ชิมิซึได้สร้างผลงานประติมากรรมเพื่อร่วมแสดงด้วย ผลงานสามมิติชิ้นใหญ่ยังคงอาศัยวิธีคิดและหลักการทำงานเดียวกับผลงานจิตรกรรม ทั้งในเรื่องความเป็นทวิภาวะ และการปิดคลุมและการเปิดเผย นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับหนทางการทำงานศิลปินที่กำลังสำรวจว่ากระบวนการที่เป็นทั้งการซ้อนทับและการแกะออกจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใดบ้างสำหรับตน


นิทรรศการ : Sculpere
ศิลปิน : Soichiro Shimizu
วันที่ : ๒๒ ตุลาคม – ๔ ธันวาคม ๒๕๕๗
สถานที่ : หอศิลปวิทยนิทรรศน์ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เบอร์โทรศัพท์ : o๒-๒๑๘-๒๙๖๕
อีเมล : info.artcenterchula@gmail.com
เว็บไซต์ : chula.ac.th
Facebook : The Art Center – Chula



ภาพและข้อมูลจากเวบ
artbangkok.com




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor




Create Date : 14 ตุลาคม 2557
Last Update : 1 พฤศจิกายน 2557 9:20:18 น. 0 comments
Counter : 3720 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.