happy memories
Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
9 กันยายน 2553
 
All Blogs
 

Annibale Rigotti






Volare
- Dean Martin








Annibale Rigotti (1870 - 1968)
อันนิบาเล ริก็อตตี (พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๘๑)


อันนิบาเล ริก็อตตี เป็นศิลปินชาวเมืองปิเอมองต์อีกผู้หนึ่งที่ได้ฝากฝีมือไว้ในประเทศสยาม เขาเริ่มต้นศึกษาด้านศิลปะที่สถาบันอัลแบร์ตินาตั้งแต่อายุได้ ๑๒ ปี หลังจากนั้นได้เรียนด้านสถาปัตยกรรมที่สถาบันเดียวกัน ขณะดียวกันก็ได้เข้าฟังรายวิชาทางประติมากรรมและการตกแต่งภายในด้วย ความสามารถเชิงศิลปะของเขาเป็นที่ปรากฏแต่สมัยยังหนุ่ม ริก็ิอตตีได้รับรางวัลเหรียญทอง ประกาศนียบัตรคะแนนสูงสุด ได้รับทุนการศึกษา และเงินเดือนปีละ ๔00 ลีร์เป็นระยะเวลา ๓ ปี และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป




ริก็อตตีมีความรักใคร่ผูกพันในถิ่นกำเนิดแถบเนินเขาซูแปร์กาในแคว้นปิเอมองต์เป็นอย่างยิ่ง เขาเขียนเล่าว่าได้ไปแถบนั้นทุกปีในเดือนกันยายนจนสิ้นฤดูเก็บองุ่น และภาพโบสถ์ของซูแปร์กาที่สร้างภาพแบบคลาสสิก มีโคมใหญ่เด่นเป็นสง่า ได้จุดจินตนาการและเป็นแรงบันดาลใจให้นำมาเป็นแบบโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคมในวันหนึ่งต่อมาภายหลัง




โบสถ์ Superga ในแคว้นปิเอมองต์
ภาพจากเวบ wondermondo.com


แต่ในขณะเดียวกัน ริก็อตตีก็ยังกระหายที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมประเทศอื่นด้วย เห็นได้จากบันทึกที่เขาเขียนไว้ว่า เขาใช้เงินน้อยนิดที่เก็บงำไว้เป็นสมาชิกนิตยสารต่างประเทศ เช่น Academy Architecture และ Der Architech




สถาบัน Royal Albertina ที่ตูริน


ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ริก็อตตีก็ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศเป็นครั้งแรก เมื่อไรมอนโด ดารองโก เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ได้รับเชิญจาก สุลต่าน อับดุล อามิด ให้ไปออกแบบนิทรรศการออตโตมาน ซึ่งเป็นนิทรรศการนานาชาติได้ชวนให้เขาไปร่วมงานด้วย






ภาพวาดพระที่นั่งอนันตสมาคมบนธนบัตรเก่าและใหม่


ริก็อตตีอยู่ที่ตุรกีเป็นเวลาปีเศษ เป็นช่วงเวลาที่ไม่สู้ราบรื่นนัก เขาต้องผจญกับแผ่นดินไหว อหิวาตกโรค และการก่อการกบฏของชาวเคิร์ดและชาวอาร์มาเนียน แต่โครงการนิทรรศการนั้นไม่ได้ทำ เขาได้แต่ร่วมบูรณะพระราชวังจิลดิช และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งเทียบเท่ากับชั้นอัศวินจากสุลต่าน








ภาพสเก็ตช์ภายในบ้านนสิงห์ ฝีมือของริก็อตติและทีมงาน


งานชิ้นต่อมาคือการคุมงานก่อสร้างสถานีรถไฟเมืองคอนยา ซึ่งอยู่ในเส้นทางคอนสแตนติโนเปิล - แบกแดด ทว่าเมื่อเขากลับไปตุรินเพื่อฉลองคริสต์มาสนั้้น มีการประกวดการวาดเส้นและศิลปะรูปทรง แม้ว่าจะยังอยากกลับไปทำงานที่ตุรกีอยู ริก็อตตีได้เข้าประกวดด้วยเนื่องจากขัดบิดาไม่ได้ และชนะผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด ๘๓ ราย






ภาพสเก็ตช์ภายนอกบ้านนรสิงห์


ริก็อตตีแต่งงานกับมาเรีย คัลวีเพื่อนร่วมรุ่นน้องร่่วมสถาบันเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ช่วงเวลาหลังจากนั้นเป็นระยะริก็อตตีที่มีกิจกรรมหลากหลาย เขาร่วมสอนพิเศษช่วงเย็นให้แก่ช่างก่อสร้างในชั้นเรียน ที่เขาร่วมจัดขึ้นกับเอ็ดมอนโด เด อมิซิส เขาเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมส่งเสริมวิจิตรศิลป์ สมาคมสหายศิลปะ และชมรมศิลปินใน พ.ศ. ๒๔๔๔ ร่วมแสดงผลงานศิลปะในนิทรรศการสหายศิลปะ ปีต่อมาได้ก่อตั้งสมาคมสถาปนิกแห่งปิเอมองต์ขึ้น เขาได้รับเลือกเป็นผู้บูรณะ Mole antonelliana และออกแบบนิทรรศการต่าง ๆ ที่ตุรินมักจัดขึ้นในระยะนั้น




ด้านหน้าของบ้านนรสิงห์


การมาประเทศสยามของริก็อตตีนั้น จะว่าไปก็เกิดจากการเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่แบบการเล่นต่อคำนั่นเอง ถ้าพันเอกเจรินีไม่ได้อยู่ที่สยามก่อน อัลเลกรีคงจะไม่ได้มาทำงานที่ประเทศนี้ ส่วนการมาออกแบบพระราชวังและพระที่นั่งอนันตสมาคมใน พ.ศ. ๒๔๔๓ ของตามัญโญ ก็เป็นการวางรากฐานให้แก่กลุ่ม "ปัญญาชน" จากแคว้นปิเอมองต์ ซึ่งมีทายาทสำคัญ คือ เซซาโร แฟร์โร และอันนิบาเล ริก็อตตี และก็ถึงคราวของริก็อตตีที่จะชักพาให้ศิลปินหนุ่ม ๆ จากตุรินเดินตามรอยเขาบ้าง




การตกแต่งภายในสไตล์เวเนเชียนในบ้านนรสิงห์


ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยามกับอิตาลีในขณะนั้นแน่นแฟ้นขึ้น อันเป็นผลจากการทำสนธิสัญญาสันถวไมตรีต่อกัน และจากการเสด็จประพาสอิตาลีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. ๒๔๔o แต่ที่ลึกซึ้งกว่าการลงนามอย่างเป็นทางการต่าง ๆ คือ พระราชไมตรีระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระราชินีเอเลนาแห่งซาวอย ทรงมีความสนพระทัยร่วมกัน คือ การสะสมแสตมป์ ทรงมีพระราชสาส์นถึงกันและทรงแลกเปลี่ยนแสตมป์กัน แสตมป์บางดวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ พระราชินีเอเลนานั้น ออกแบบโดยแฟร์โรและตามัญโญ




โครงสร้างแบบประตูโค้งและหลังคาโค้งครึ่งวงกลมของบ้านนรสิงห์


กรุงเทพฯ ๑ กันยายน ๑๘๙๙
ทูลเจ้าฟ้าหญิงแห่งเนเปิลส์

หม่อมฉันขอส่งแสตมป์สยามซึ่งเพิ่งออกใหม่มาถวาย เพราะจำได้ว่าฝ่าบาทโปรดการสะสมแสตมป์ หม่อมฉันยังจำช่วงเวลาแห่งความสุขขณะอยู่ในอิตาลีได้เสมอ หวังว่าจะได้มีโอกาสเฝ้าฝ่าบาทอีกในไม่ช้า

๑๖ ธันวาคม ๑๙o๓
ทูลฝ่าพระบาท

หม่อมฉันไม่ลืมสัญญาที่ให้ไว้กับฝ่าบาทระหว่างเยือนอิตาลีว่า จะส่งแสตมป์ชุดล่าสุดมาถวาย ที่ส่งมานี้เป็นแสตมป์ชุดใหม่สำหรับติดจดหมายและโปสการ์ด เพื่อให้ฝ่าบาททรงเก็บสะสม






สถาปัตยกรรมสไตล์ neo-gothic ของบ้านนรสิงห์


พระราชินีเอเลนสทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบดังนี้

ทูลฝ่าบาท

หม่อมฉันขอบพระทัยที่ทรงมีพระราชสาส์นลงวันที่ ๑๖ ธันวาคม ถึงหม่อมฉัน และที่ฝ่าบาททรงจดจำการพบกันของเราที่กรุงโรม ในปี ๑๘๙๗ ได้เป็นอย่างดี แสตมป์ที่ทรงพระกรุณาส่งมาให้หม่อมฉันนั้นสวยมาก จัดได้ว่าเป็นชุดที่งามที่สุดชุดหนึ่งที่หม่อมฉันมี และจะเป็นเครื่องเตือนใจให้หม่อมฉันระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อหม่อมฉันตลอดไป




บันไดหลักในบ้านนรสิงห์


ริก็อตตีเดินทางมาสยามโดยใช้เวลาพอ ๆ กับคาร์โล อัลเลกรี แต่ความรู้สึกที่ริก็อตตีมีต่อการเดินทางนั้นต่างไปจากอัลเลกรี ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ริก็อตตีมีครอบครัวแล้ว ระหว่างการเดินทางจึงไม่สนใจสิ่งใด นอกจากเฝ้าคิดถึงแต่มารีอาผู้ภรรยา และบางครั้งก็อาศัยปลายพู่กันเป็นเครื่องบรรยายความรู้สึก เขามักสเก็ตช์ภาพกระแสน้ำที่แตกกระจายเป็นฟองคลื่นยามเรือวิ่ง และพัดพากลุ่มผมของมาริอาให้ปลิวสยาย จนดูราวกลายเป็นเงือกปรากฎแทนในบางครั้่ง




ทางเดินมีหลังคาโค้งและรูปปั้นบรอนซ์ที่ตกแต่งภายในบ้านนรสิงห์


ยามอยู่กรุงเทพฯ ริก็อตตีก็จะสเก็ตช์ภาพที่เห็นอย่างรวดเร็วลงบนแผ่นกระดาษ บันทึกความประทับใจในลักษณะทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมอันน่าดูน่าชม ซึ่งมีอยู่เป็นอเนกอนันต์ที่กรุงเทพฯ ไว้ บางครั้งเป็นการวาดภาพโบสถ์ที่งดงามด้วยประกายแดด เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยใช้สีน้ำ เป็นต้น

บางครั้งสิ่งที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่เขาเป็นภาพที่ผู้อื่นวาด "ผมแปลกใจมากที่เห็นเด็ก ๆ ชาวจีนนั่งวาดรูปบนชั้นบนไดหน้าบ้าน ใช้พู่กันไม้ไผ่กับหมึกดำวาดอย่างมั่นอกมั่นใจ"






ภาพวาดสีน้ำวัดพระแก้วฝีมือรีก็อตตี


ริก็อตตีทำงานที่กรุงเทพฯ ในช่วงแรกเป็นเวลาเกือบสองปีคือ ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. ๒๔๕o จนถึงฤดูร้อน พ.ศ. ๒๔๕๒ เขามีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งมีเทคนิคการก่อสร้างที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่มิได้เกินกำลังของริก็อตตี ผู้คุ้นเคยกับรูปแบบของสถาปัตยกรรมเช่นนี้เป็นอย่างดี นั่นคือผังพื้นรูปกางเขนแบบละติน และยอดโดมซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เป็นตามแบบยุคคลาสสิกและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลี อันเป็นลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโบสถ์ที่ซูแปร์กาอันคุ้นตาในยามเด็กนั่นเอง




Court Theatre ในบ้านนรสิงห์


ในหนังสือนำชมพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ข้อมูลไว้ดังนี้ "พระที่นั่งอนันตสมาคมสร้างตามแบบโบสถ์โรมันโบราณ ใช้หินอ่อนจากคาร์ราราที่ตัดในอิตาลี และนำมาประกอบที่กรุงเทพฯ รูปทรงขององค์พระที่นั่งทำให้นึกถึงวิหารเซ็นต์ปีเตอร์ที่กรุงโรม วิหารเซ็นต์ปอลที่กรุงลอนดอน และอนุสาวรีย์พระนางเจ้าวิกตอเรียที่กัลกัตตา ในการก่อสร้างมีการใช้เทคนิคแบบใหม่ โดยเฉพาะในการวางฐานรากบนพื้นโคลน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทอดพระเนตรการก่อสร้างทุกวัน การที่ด่วนเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.​๒๔๕๓ ทำให้ไม่ทันได้ทอดพระเนตรพระที่นั่งอนันตสมาคมที่สร้างเสร็จสมบูรณ์




ทัศนียภาพภายในบ้านนรสิงห์


ในฐานะผู้ออกแบบ ริก็อตตีบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ไว้อย่างละเอียด ซึ่งทำให้เอกสารเกี่ยวกับการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อัลเลกรี กอลโล ตามัญโญ และตัวเขาเองต่างร่วมกันสั่งวัสดุก่อสร้างจากบริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุโรป เช่น หินอ่อนสั่งจากบริษัทมาร์มิแฟรา ลิกูเร บริษัทตริคอร์เนียแห่งคาร์รารา และบริษัทคาเตลลาแห่งตูริน หินแกรนิตสั่งจากบริษัท ชิร์ลา ในมิลาน กระเบื้องจากบริษัท วิเนอร์ แวร์กซตัตแห่งเวียนนา และผ้าต่าง ๆ จากโรงงานในอังกฤษ ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันในการคัดเลือกวัสดุที่มุ่งถึงคุณภาพมากกว่าที่จะลำเอียงใช้วัสดุจากประเทศบ้านเกิดเท่านั้น






แนวเสาระเบียงในบ้านนรสิงห์


ในการทำงาน ริก็อตติเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความเห็นของตัวเอง และในหลายวาระทีเดียวที่ความเห็นของเขา และการตัดสินใจของเขาถือเป็นข้อยุติ

แบบพระที่นั่งอนันตสมาคมเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ โดยครอบคลุมบริเวณใกล้เคียงด้วย คือ สวนดุสิต ลานด้านหน้าและคูคลองโดยรอบ สิ่งก่อสร้างทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับปรัชญาทางสถาปัตยกรรมของริก็อตตี ซึ่งให้อรรถาธิบายไว้ว่า




ห้องโถงบริเวณทางเข้าบ้านพิษณุโลก


"สถาปัตยกรรมทุกยุคสมัย คือการแสดงความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ ออกมาอย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ สถาปนิกมีหน้าที่สร้างรูปแบบและกำหนดสีสันทั้งภายนอก และภายในให้แก่สิ่งที่เขาออกแบบ ลักษณะภายนอกของส่ิงนั้น จะต้องสอดคล้องและแสดงให้เห็นถึงลักษณะภายใน เช่นเดียวกับร่างกายมนุษย์ และเพื่อปกปิดสิ่งก่อสร้างที่เปลือยเปล่า สถาปนิกจึงต้องเหน็ดเหนื่อยกับการค้นหาสัดส่วนที่เหมาะเจาะ หาแสงและเงา หาลวดลายประดับหน้าต่าง หรือหารูปทรงของระเบียงทั้งหลาย"




โดมและมุขหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม


รีก็อตตีย้ำถึงบทบาทของสถาปนิก ในฐานะผู้สร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมจากสิ่งที่เป็นนามธรรม ผู้คิด จินตนาการ และออกแบบ ตลอดจนควบคุมการทำงานของบรรดาศิลปิน ช่างฝีมือ และคนงาน

ดังนั้น สถาปนิกในสายตาของรีก็อตตีจึงเป็นศิลปินอย่างสมบูรณ์ ผู้สามารถถ่ายทอดความหมายของสไตล์ต่าง ๆ ออกมาได้ จึงต้องรู้จักสถาปัตยกรรมในอดีตในด้านมนุษยนิยมเป็นอย่างดี และต้องออกแบบสำหรับปัจจุบันและอนาคต ที่สำคัญคือต้องรู้เรื่องของสังคมอย่างลึกซึ้ง แนวคิดเรื่องสถาปัตยกรรม ซึ่งแสดงกระแสสังคมของรีก็อตตีนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนจากองค์ประกอบต่าง ๆ ของพระที่นั่งอนันตสมาคม




ประตูเหล็กดัดลวดลายงดงามของพระที่นั่งอนันตสมาคม




ลวดลายตรงกลางประตู


หลังจากนั้นไม่นานก็ครบกำหนด ๒ ปีที่รีก็อตตีขอลาวิทยาลัยเทคนิคแห่งตุรินไว้ เขาออกเดินทางกลับอิตาลีในวันที่ ๑o สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ พร้อมกับความประทับใจและแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมของศิลปะไทย ซึ่งเขานำไปใช้ในงานยุคหลัง ๆ ของเขา โดยเฉพาะในงานสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานศพ เช่น ที่หลุมศพเปเร็ตตีที่ตุริน ริก็อตตีออกแบบโดยอาศัยปรัชญาการสร้างโบสถ์แบบไทย ที่สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ (อุโบสถ เจดีย์ สถูป) แสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับการตกแต่ง




ด้านหน้าของบ้านพิษณุโลก (สร้างเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๕) และรูปปั้น "นารายณ์บรรทมสินธุ์”
ประดิษฐานอยู่บนแท่นศิลาในอ่างน้ำพุ สร้างโดย Rudolfo Nolli


หลังจากกลับจากอิตาลีได้ไม่นานริก็อตตีก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "สถาปนิกที่ปรึกษา" จนกว่าการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมจะแล้วเสร็จ เขาทำหน้าที่เซ็นสัญญา คัดเลือกวัสดุ ฯลฯ และส่งของจากอิตาลีมากรุงเทพฯ โดยทางเรือ




เพดานสไตล์ผสมผสานระหว่างไทยและเวเนเชียน ภาพเขียนวาดด้วยสีฝุ่น
ตรงกลางมี Chandelier ทำด้วยพวงแก้วผลึกสีต่าง ๆ


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปรอรับของที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ด้วยพระองค์เอง และหลังจากที่เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับพระราชภาระนี้

ริก็อตตีปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยมิได้คิดฉกฉวยผลประโยชน์เพื่อให้ตัวเองร่ำรวยขึ้นแต่อย่างใด แม้ว่าโดยสภาพทางเศรษฐกิจแล้ว เขายังอยู่ในฐานะฝืดเคืองก็ตาม






Venetian cloverleaf style




ลวดลายแบบกอธิค


ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ ประเทศสยามเข้าร่วมงานนิทรรศการอุตสาหกรรม และแรงงานานานชาติที่ตุริน ริก็อตตี มันเฟรดีและตามัญโญ รับผิดชอบในการสร้างศาลานิทรรศการของประเทศสยาม ผลงานชิ้นนี้ทำให้เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซานเมาริซิโอ และลัซซาโร ขั้นอัศวิน หลังจากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งเป็น ราชบัณฑิตของวิทยาลัยศิลปะอัลแบร์ตินา เป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์ของราชวิทยาลัยแห่งคาร์รารา และได้รับรางวัลจากการออกแบบก่อสร้างจตุรัสดาร์มิ ที่ตุริน




ภาพศาลาไทยในงานนานาชาติแห่งตูริน ฝีมือรีก็อตตีและทีมงานชาวอิตาเลียน


ระหว่างนี้เป็นระยะที่ริก็อตตีได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับบรรดา "ปัญญาชน" ที่ตุริน ซึ่งมาพบปะชุมนุมถกเถียงเรื่องราวต่าง ๆ อย่างออกรสชาติ ที่บ้านของเขาทุกเย็นวันพฤหัสบดี นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงเวลาที่เขาได้มีโอกาสศึกษาแนวคิดของสถาปัตยกรรมโบราณและสมัยใหม่ โดยเน้นความสมดุลระหว่างแบบคลาสสิกกับแบบใหม่ สำหรับริก็อตตีหลักการที่เป็นหลักการสมัยใหม่ เช่น ของปัลลาดิโอและแบร์นินี




บันไดในบ้านพิษณุโลก


ริก็อตตีกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง ตามคำชวนของตามัญโญซึ่งเป็นหัวหน้ากองโยธาธิการในขณะนั้น พ.ศ. ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้เขาออกแบบบ้านนรสิงห์ ตามแบบวังคาโดโรที่เวนิส ริก็อตตีรับผิดชอบต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่เคยทำในการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีเซซาเร แฟร์โร เป็นผู้เขียนภาพตกแต่ง




ห้องทรงครึ่งวงกลมในบ้านพิษณุโลก


ริก็อตตีได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสถาปนิก เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ และอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา ๑ ปี มีหน้าที่ปรับปรุงอาคาร หน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย และวางผังเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงยิ่งขึ้นทุกที




ห้องโถงบริเวณทางเข้าบ้านพิษณุโลก


ผลงานของริก็อตตีปรากฎอยู่ทั่วไป เช่น ลวดลายแบบกอธิคตอนปลายที่บ้านนรสิงห์ (ปัจจุบันคือทำเนียบรัฐบาล) และสวนในพระราชวังสราญรมย์ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกระทรวงการต่างประเทศ) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับแบบอาคารของริก็อตตีเป็นอย่างดี

ริต็อตตีออกเดินทางกลับอิตาลีเป็นการถาวรในวันที่ ๓o กันยายนในปีต่อมา และใช้ชีวิตในอิตาลีจนถึงวาระสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๕๑๑




พระราชวังสราญรมย์




สวนในพระราชวังสราญรมย์






ภาพและข้อมูลจากหนังสือ "ชาวอิตาเลียนในราชสำนักไทย"


บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





 

Create Date : 09 กันยายน 2553
27 comments
Last Update : 18 กันยายน 2556 8:42:55 น.
Counter : 11512 Pageviews.

 

ช่วงนี้งานเข้า ขออนุญาตลากิจสักพัก ต้องหายหน้าไปหลายวันเลยหาเรื่องยาว ๆ มาให้อ่านกัน อัพเรื่องราวของชาวอิตาเลียนที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยเป็นคนที่สี่แล้ว ท่านนี้เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ร่วมกับตามัญโญและแฟร์โร อ่านประวัติของท่านแล้วรู้สึกศรัทธาและชื่นชมมาก ท่านเป็นคนเก่งและซื่อสัตย์ อย่างในตอนท้ายสุดที่ผู้แต่งหนังสือนี้สรุปไว้ว่า

"ริก็อตตีปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยมิได้คิดฉกฉวยผลประโยชน์เพื่อให้ตัวเองร่ำรวยขึ้นแต่อย่างใด แม้ว่าโดยสภาพทางเศรษฐกิจแล้ว เขายังอยู่ในฐานะฝืดเคืองก็ตาม"

นี่ถ้าเป็นยุคนี้ คนรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่แบบนี้คงรวยเละ เพราะกินค่าหัวคิวและชักเปอร์เซ็นต์กันแบบมโหฬาร

บ่นเสร็จก็ขอบ๊ายบายก่อน ฝากบ้านหน่อยน้า แล้วจะพยายามกลับมาโดยไวเลยค่า

 

โดย: haiku 9 กันยายน 2553 16:47:53 น.  

 




รับฝากบ้านในช่วงนี้ก่อนค้า แล้วก็ต้องแอบลาตามคุณไฮกุเหมือนกันค่ะ
ทำอะไร อยู่ที่ไหนก็ขอให้มีความสุข ราบรื่นทุกอย่างนะคะคุณไฮกุ
Rigotti ผสมผสานงานทั้งสองฝั่งฝากโลกออกมาได้สวยงามมากค่ะ
ดูแล้วสวยงามมากๆไม่ขัดเขินแต่อย่างไร อัฉริยะมากๆ ค่ะ





 

โดย: Sweety-around-the-world 9 กันยายน 2553 17:45:10 น.  

 

แวะมาทักทายค่ะ ความรู้เพียบเหมือนเดิม

 

โดย: namfaseefoon 9 กันยายน 2553 21:18:47 น.  

 

สวัสดีค่ะ ...

โอ้โห .. บ้านเมืองเราตอนนั้นชาวต่างชาติได้เข้ามา
ทำสิ่งดี สิ่งสวยงามให้กับบ้านเมืองเราเยอะเหมือนกันนะค่ะ
เรียกว่าตอนนั้นคงมีแต่สิ่งแปลกตา แปลกใจอะไร
ใหม่ๆ ให้ดูอยู่ตลอดเลย .. ถือเป็นยุคทองของการพัฒนา
ของใหม่จากเมืองนอกเยอะพอควรเหมือนกันนะค่ะ ..

สวยงามจริงๆ กับสิ่งปลูกสร้างค่ะ

ช่วงนี้หลายคนหายๆ ไป งานเข้าพร้อมกันหรือว่าไม่ก็
เริ่มเบื่อพร้อมกันไป ตัวเองก็ชักเบื่อๆ เหมือนกันค่ะ
อัพบล็อกแบบอยากแต่ว่าก็เขียนค้างไว้หลายบล็อก
แต่ว่าก็ไม่ได้เอาลงแปะสักที แย่เลยค่ะ เพราะคิดว่ากำลังอยาก
จะเปลี่ยนเรื่องแรวการเขียนแต่ก็ยังนึกไม่ออก
เหมือนกันว่ายังไงดี ... เอาว่าดูกันต่อไปค่ะ


มีความสุขมากๆ นะค่ะ

 

โดย: JewNid 10 กันยายน 2553 8:01:58 น.  

 

ถึงว่าสินะคะ
พระที่นั่งอนันตสมาคมถึงมีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมโรมัน ที่แท้ก็ไม่ใช่ฝีมือออกแบบคนในชาติเรานั่นเอง อิอิ
สิ่งปลูกสร้างที่ริก็อตตี ออกแบบมักจะมีหลังคาเป็นโดมนะคะ แต่สวยงามและมีสไตล์เป็นเอกลักษณ์มากๆ ค่ะ

คุณไฮกุสบายดีนะคะ

 

โดย: ณ ปลายฉัตร 10 กันยายน 2553 11:24:45 น.  

 

ตอนเราเห็นพระที่นั่งอนันตสมาคมครั้งแรก ยังเด็กมาก เราตื่นเต้นมากเลยค่ะ เพราะมันขรึมขลังอลังการจริงๆ

คุณไฮกุเขียนบล็อกด้วยข้อมูลแน่นปึ้ก มีประโยชน์กับคนอ่านจริงๆ

ขอบคุณมากๆค่ะ

ชีวประวัติของริกอตติ มีรายละเอียดน่าสนใจไม่แพ้อิฐหินดินปูนที่เขารังสรรค์ขึ้นมาเลย

 

โดย: Love At First Click 10 กันยายน 2553 14:56:20 น.  

 

เห็นภาพแรกๆ ผมนึกถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมก่อนเลยครับ

คุณไฮกุสบายดีมั้ยเอ่ย

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 10 กันยายน 2553 21:20:44 น.  

 

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

 

โดย: nathanon 11 กันยายน 2553 6:40:35 น.  

 



หวัดดีวันเสาร์ค่ะคุณไฮ
วาว..มาบล๊อคนี้ทีไร ได้ความรู้
แบบที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย กลับไปด้วยทุกทีเลยค่ะ
ขอบคุณ ๆ ๆ ๆ มาก ๆ เลยค่ะ

งานเข้าหรือหนังเข้าคะ ฮ่า ๆ ๆ
ตอนนี้ มินกำลังดูเรื่อง อาไรน๊า จำชื่อเรื่องไม่ได้ซะแล้วจิเนี่ย
อ้อ king of baking มั๊งคะ ตอนแรกที่ดูนะ รับไม่ได้เลยอ่ะ
เพราะหน้าตา พระเอก พระรอง นางรอง เนี่ย ดูไม่จืดค่ะ รู้จักยูจีน นางเอกคนเดียวเอง
แต่พอดู ๆ ไปแล้ว ติดเนื้อเรื่องอ่ะ ออกแนวดราม่าแบบเข้มข้นเลยค่ะ






ดูหน้าคนแสดงแล้ว ไม่อยากหยิบมาดูเลยเน๊อะ ฮ่า ๆ ๆ
จะคอยมาเฝ้าบ้านและอาจมีการแอบจิ๊กของนะคะ
ถ้าเจ้าของบ้านทิ้งบ้านไว้นาน ๆ อ่ะนะ ฮ่า ๆ ๆ
ปล. สดชื่นกับวันหยุดพักผ่อน เสาร์ อาทิตย์ นะคะ

ขอขอบคุณภาพจาก เว๊บบ้านไร่ popcornfor 2 ค่ะ

 

โดย: มินทิวา 11 กันยายน 2553 8:59:54 น.  

 

สาระมากล้นจริงครับ

 

โดย: ri (norimishi ) 11 กันยายน 2553 16:25:03 น.  

 

แวะมาดูแลบล็อกให้ค่ะ ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ ของบุคคลที่น่าชื่นชม ไม่เคยรู้มาก่อนเลย อ่านแล้วทึ่งมากๆเลยค่ะ

 

โดย: sawkitty 11 กันยายน 2553 17:38:12 น.  

 

สถาปัตยกรรมงดงามมาก ศิลปินชาวอิตาเลียนผู้นี้
ได้สร้างไว้อย่างสมบูรณ์แบบ น่าประทับใจมากๆครับ
สวนสราญรมณ์นั่งเล่นบ่อยครั้ง ไม่เคยทราบประวัติความเป็นมาแบบนี้เลยครับ ขอบคุณที่นำเสนออดีตที่น่าประทับใจแบบนี้ครับ

 

โดย: pragoong 12 กันยายน 2553 7:38:25 น.  

 

มาช่วยคุณไฮกุเฝ้าบล็อกค่ะ

ภายในทั้งบ้านนรสิงห์ และบ้านพิษณุโลกสวยงามวิจิตรมากๆ เลยค่ะ

 

โดย: yzai 13 กันยายน 2553 0:00:08 น.  

 

สวัสดียามเช้าค่ะคุณไฮกุ

 

โดย: Love At First Click 13 กันยายน 2553 10:27:42 น.  

 



ความงามที่ถูกคิดในวันนั้น ยังงามมาถึงวันนี้เลยนะคะ

 

โดย: d__d (มัชชาร ) 13 กันยายน 2553 14:36:08 น.  

 

บล็อกน่าสนใจอีกแล้วค่ะ

บล็อคคนเก่งและคนดี มีคนมาเฝ้าให้เพี้ยบเลย
ข้าพเจ้าขอรับหน้าที่กวาดใบไม้หน้าบ้านให้ก็แล้วกันนะคะ ไปไหนไม่บอก แต่ต้องถ่ายรูปมาฝากพวกเรานะไฮกุ

คิดถึงๆๆ

 

โดย: Noshka 14 กันยายน 2553 10:53:53 น.  

 


มาเยี่ยมชม มาทักทายครับ

มาอ่านเรื่องราวในบล็อกนี้แล้วได้ความรู้มากมายเลยครับ ภาพประกอบก็สวยมาก ๆ เลยครับ แล้วก็ได้ทราบรายละเอียดของพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยครับ

ชอบครับ

อิอิ

 

โดย: อาคุงกล่อง 15 กันยายน 2553 1:45:38 น.  

 

วันนี้พาน้องๆมารดน้ำต้นไม้ให้ที่บ้าน อิ อิ

 

โดย: Noshka 15 กันยายน 2553 7:55:31 น.  

 

แวะมาทักทายคุณไฮกุค่ะ

 

โดย: Love At First Click 16 กันยายน 2553 12:43:42 น.  

 

ชอบตึกศิลปะแบบยุโรปมาก
ถ้าวันนี้จะสร้างอะไรให้เทียบเท่ากับพระที่นั่งอนันต์ฯ
คงทำได้ยากมาก
เสียดายตึกสวยๆของราชการในสมัยก่อน
ถูกปล่อยให้เก่าผุพังจนต้องทุบทิ้งไปหลายตึก
บางตึกเป็นวังเก่าของเจ้าฟ้าเจ้านายชั้นสูงก็มี
พอตกมาถึงมือคนรุ่นหลังก็ขายทิ้งแบบไม่สนใจอะไรเลย

 

โดย: zoomzero 16 กันยายน 2553 23:48:15 น.  

 

สวัสดียามเช้าครับคุณไฮกุ

เข้ามาดูลาดเลาครับว่าคุณไฮกุกลับมาหรือยัง อิอิิอิ







 

โดย: กะว่าก๋า 17 กันยายน 2553 6:54:31 น.  

 

เป็น blog ที่เพียบไปด้วยเนื้อหาสาระความรู้
ทางด้านศิลปะและวรรณกรรมมากจริงๆ
ชื่นชม blog แห่งสาระความรู้ของคุณ haiku ค่ะ

 

โดย: nature-delight 17 กันยายน 2553 11:29:14 น.  

 

สวัสดีเพือนๆชาวบล็อกที่กระผมหายไปนาน
เริ่มกลับมาเขียนบล็อกอีกครั้ง...บล็อกนี้นำเรื่องราวและภาพท้องทุ่งนาในอำเภอแม่แฝกจังหวัดเชียงใหม่มาฝากครับ
ขอให้มีความสูขเสมอไป...ภาพสวยครับ

 

โดย: ปฐพีหอม 17 กันยายน 2553 16:51:57 น.  

 

แวะมาทักทายคุณไฮกุกับเย็นย่ำค่ำคืนวันศุกร์ ที่แสนสุขค่ะ... ชอบภาพวาดสีน้ำวัดพระแก้วจังค่ะ เกือบจะเหมือนภาพถ่ายอยู่แล้ว

 

โดย: namfaseefoon 17 กันยายน 2553 20:24:05 น.  

 

สวัสดียามเช้าวันหยุดค่ะ แวะมาชวนไปหาของอร่อยทานกับกาแฟยามเช้าค่ะพี่

 

โดย: sawkitty 18 กันยายน 2553 6:49:15 น.  

 

เข้ามาแล้วตกใจ นึกว่าเข้ามาผิดคน ตกใจเลยครับ แปลกตามากๆ พี่สบายดีไหมคับ? แล้วข้อมือหล่ะ?
ผมก็สบายดีอยู่นะ ช่วงนี้ไม่ยุ่งเท่าไหร่ แต่เดือนหน้าก็คงยุ่งมากๆอีกแล้ว ขอบคุณในความห่วงใยนะครับผม

 

โดย: นางาเสะ ไลท์ 18 กันยายน 2553 18:01:22 น.  

 





หวัดดีค่ะคุณไฮที่แสนคิดถึงอ่ะ
งานออกไปหรือยังคะ ฮ่า ๆ ๆ
มินยังไม่ได้ดูต่อเลยค่ะ king of baking kim tak koo อ่ะ
ไม่มีเวลาเลยเหมือนกันค่ะ
ตอนนี้มินได้ iswk เวอร์ชั่นเกาหลีมาแผ่นนึงแล้วค่ะ
ยังไม่มีเวลาดูอีกเหมือนกัน และรอให้หนังมาครบก่อนดีกว่ามั๊ง
กลัวเดี๋ยวเหมือนเรื่องที่กำลังดูค้างอยู่ค่ะ
คือ พอกำลังติด ๆ เค้าดันทำซับกันไม่ทันออกมาขายซะอีกอ่ะ ฮ่า ๆ ๆ

รักษาสุขภาพมั่งนะคะ ฝนตกทุกวันเลย
ระวังเป็นหวัดนะ หวัดเดี๋ยวนี้น่ากลัวนะมินว่า

 

โดย: มินทิวา 19 กันยายน 2553 7:59:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.