happy memories
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2558
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
13 กุมภาพันธ์ 2558
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๑๘๘





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










สานสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น



เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมมายุ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมาคมไทย-ญี่ปุ่น ได้จัดทำศูนย์แสดงนิทรรศการและมัลติมีเดีย “ยามาดะ นางามาซะ ออกญาเสนาภิมุข และท้าวทองกีบม้า” ซึ่งเป็นนิทรรศการถาวรพร้อมสื่อมัลติมิเดียที่ทันสมัย ที่อาคารนิทรรศการริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหมู่บ้านเดิมของชนชาติญี่ปุ่น ในกรุงศรีอยุธยา โอกาสนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน โดยมี กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, อภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ เฝ้าฯ รับเสด็จ เมื่อวันก่อน






กลินทร์ สารสิน นายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หมู่บ้านญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาว่า หมู่บ้านญี่ปุ่นเกิดจากความร่วมมือระหว่างนักวิชาการไทยและญี่ปุ่น สมาคมไทย-ญี่ปุ่น จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงความร่วมมือระดับรัฐบาล โดยในปี ๒๕๓o รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนงบประมาณ ๙๙๙ ล้านเยนหรือประมาณ ๑๗o ล้านบาทในขณะนั้น เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖o พรรษา และเป็นที่ระลึกในโอกาสครบ ๑oo ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น


"ต่อมาในปี ๒๕๕o ซึ่งเป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘o พรรษา และความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ครบ ๑๒o ปี สมาคมไทย-ญี่ปุ่นได้ทำการปรับปรุงอาคารและภูมิทัศน์ของหมู่บ้านญี่ปุ่นให้สวยงามเป็นที่ผ่อนคลายสำหรับนักท่องเที่ยว และได้ริเริ่มโครงการปรับปรุงอาคารริมน้ำเดิมของหมู่บ้านญี่ปุ่น เพื่อจัดทำศูนย์แสดงนิทรรศการถาวรพร้อมสื่อมัลติมีเดียที่ทันสมัย ในนิทรรศการ “ยามาดะ นางามาซะ ออกญาเสนาภิมุข และท้าวทองกีบม้า” เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ ทั้งยังเป็นการพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ เป็นประโยชน์ต่อแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำหมู่บ้านนานาชาติ ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา" กลินทร์ กล่าว






ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการแสดงชุดพิธีเปิดโดยช้างจากวังช้างอยุธยาแลเพนียดช้างหลวง หลังจากทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการ ทอดพระเนตรนิทรรศการและมัลติมีเดียภายในอาคารริมน้ำอย่างสนพระราชหฤทัย จากนั้นทรงลงพระนามาภิไธยบนแผ่นศิลาและเสด็จฯ ทอดพระเนตรตลาดย้อนยุค โดยมีการสาธิตการการทำขนมไทยเชื้อสายโปรตุเกส อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองพลุ ทองเอก ทองโปร่ง และการทำปลาตะเพียนใบลาน ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














เปิดแนวรุก 'ปฏิรูปสังคมวัฒนธรรม' ฉบับกมธ.-ก.วัฒนธรรมและภาคประชาชน



ในระหว่างทางจัดกระบวนทัพทุกภาคส่วนเข้าสู่การปฏิรูปประเทศ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เข้าพบหารือกับ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ถึงแนวทางปฏิรูปประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้


เนาวรัตน์ ได้เสนอจัดทำแผนแม่บทระดับชาติว่าด้วยศิลปะ วัฒนธรรม พร้อมตั้งกองทุนภาคประชาสังคมเสริมสร้างศิลปะ วัฒนธรรมและดุลยภาพการจัดการด้านศิลปะและวัฒนธรรมในที่ประชุม สปช. เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำสรุปความหรือข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประจำสภา ๑๘ คณะ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ จำนวน ๑๒ ข้อ ได้แก่ ๑. ภาครัฐต้องใช้ศาสนาสร้างการปกครองที่เป็นธรรม ขจัดความทุจริต สนับสนุนส่งเสริมประชาชนในชาติมีค่านิยมที่พึงประสงค์ ๒. จัดตั้งองค์การสมัชชาศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ ภายใต้การมีส่วนร่วมและการจัดการของภาคประชาชน ๓. รัฐต้องจัดให้มีแผนแม่บทระดับชาติว่าด้วยศิลปะและวัฒนธรรม


๔. จัดตั้งกองทุนเสริมสร้างศิลปะ วัฒนธรรม เป็นกองทุนภาคประชาสังคม ๕. ขอให้รัฐสนับสนุนการเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน ๖. สร้างดุลยภาพ ด้านความรู้ ความคิด ความเข้าใจด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนา ๗. รัฐต้องสร้างองค์กรศิลปะ วัฒนธรรมและสร้างดุลยภาพอำนาจแห่งการจัดการด้านวัฒนธรรมและศาสนา ๘. จัดทำแผนแม่บทเรื่องพหุวัฒนธรรม ๙. สร้างพื้นที่สำหรับงานศิลปวัฒนธรรมและศาสนาให้เพิ่มขึ้น ๑o. รัฐต้องให้การสนับสนุนด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ๑๑. ส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรมในประเทศไทยทุกชาติ และศาสนา ๑๒. การรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ


ในส่วนของ “หน่วยงานภาครัฐ” นายวีระ กล่าวว่า วธ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและวัฒนธรรม จัดทำข้อมูลเสนอการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและวัฒนธรรม เสนอไปบรรจุในรัฐธรรมนูญจำนวน ๖ ข้อ ดังนี้ ๑. นโยบายว่าด้วยการฟื้นฟูบูรณะและสร้างลักษณะที่พึงประสงค์ร่วมกันของคนไทย (ปฏิรูปคนไทย) ๒. การเสริมสร้างโอกาสให้แก่เจ้าของวัฒนธรรมในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าบริการทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ๓. การบริหารจัดการให้วัฒนธรรมเกิดประโยชน์ต่อคนไทยในภาพรวม ๔. การจัดตั้งกองทุนวัฒนธรรมภาคประชาชน ๕. การเพิ่มกฎหมายอนุรักษ์ย่านเก่าภูมิทัศน์วัฒนธรรมให้ครอบคลุมด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ๖. การส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรเครือข่ายประชาชน


อย่างไรก็ตาม “ภาคประชาชน” ที่ขับเคลื่อนโดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และเครือข่ายอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนวคิดให้ คสช.และรัฐบาล พิจารณาบรรจุให้วิสัยทัศน์ทางด้านการบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การปฏิรูปประเทศ เช่นเดียวกัน พิไลพรรณ สมบัติศิริ นายกสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ขอให้แก้ไขกฎหมายให้เอื้ออำนวยต่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม


อาทิ ให้ปรับปรุงงานด้านผังเมือง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการรักษามรดกวัฒนธรรม และให้ปรับปรุง พ.ร.บ.มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการตั้งกองทุนดูแลมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติ การพัฒนาศักยภาพขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นให้มีความสามารถที่จะบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นเอง การออกมาตรการที่สร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพื่อรักษาคุณค่าและมูลค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน รวมไปถึงพัฒนาระบบการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ในทุกระดับให้มีความน่าสนใจมากขึ้น


ที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยมีการกำหนดเพียงสิทธิ์และหน้าที่ของประชาชนเกี่ยวกับการรักษาศิลปวัฒนธรรมเอาไว้กว้างๆ แต่ยังไม่เคยมีกฎหมายลูกรองรับอย่างเป็นรูปธรรม แต่จากนี้ไปข้อเสนอด้านการปฏิรูปสังคมวัฒนธรรมของทั้ง ๓ ภาคส่วน ซึ่งส่วนหนึ่งมีการเสนอเข้าไปในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีการผลักดันมีการออกกฎหมายลูกหรือไม่ หากทำได้สำเร็จก็จะถือเป็นครั้งแรก ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแตกต่างจากที่ผ่านมา รัฐบาลใหม่เข้ามาก็ทำงานตามที่กฎหมายลูกกำหนดได้ทันที







ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














อาจินต์ ปัญจพรรค์ 'นักเขียนอมตะ' คนที่ ๘



วันนี้ขอเขียนถึงรางวัลสำคัญในแวดวงวรรณกรรมหน่อยนะคะ...

ขอแสดงความยินดีกับ "นักเขียนอมตะ" คนที่ ๘ คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ เจ้าของผลงาน "โอเลี้ยง ๕ แก้ว" และมหา'ลัยเหมือนแร่อันลือลั่น

มูลนิธิอมตะ โดยคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ในฐานะเจ้าภาพ ได้มีการประกาศและเชิดชูเกียรติคุณอาจินต์ เมื่อวันศุกร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ควรค่าแล้ว กับการประกาศให้ได้รับรางวัลประจำปีนี้

“อาจินต์ ปัญจพรรค์” คือนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่รังสรรค์ผลงานจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่าเป็นผู้แปรเปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นพลัง “เขียนชีวิตด้วยชีวิต” จุดประกายทางปัญญา มีคุณูปการและให้โอกาสแก่นักเขียนรุ่นหลัง

ผลงานของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ถือเป็นรากลึกแห่งผลรวมทางความคิด อันเนื่องมาจากประสบการณ์แห่งการใช้ชีวิต ทั้งในฐานะนักเขียนและบรรณาธิการที่ได้รับความเคารพและการยอมรับนับถืออย่างยิ่งมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ท่านยังได้เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการนิตยสารที่รับใช้และยกย่องชีวิตอย่าง ฟ้าเมืองไทย ฟ้าเมืองทอง ฟ้านารี และฟ้าอาชีพอีกด้วย

หันมาดูผลงาน ท่านได้รังสรรค์วรรณกรรมชิ้นเอกที่สร้างชื่อเสียงไว้มากมาย เช่น รวมเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ปรัชยาไส้ นวนิยายเรื่อง เจ้าพ่อ เจ้าเมือง ล้วนสะท้อนสังคมและชีวิตของคนทุกชนชั้น ก่อให้เกิดความคิด ความหวังและแรงบันดาลใจต่อการหยัดยืนดำรงตนให้สมคุณค่าของความเป็นมนุษย์

คุณอาจินต์ เคยกล่าวไว้ว่า

“ยิ่งกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความหมายอันเป็นต้นรากของสาเหตุต่างๆ ชีวิตก็ยิ่งจะค้นพบทางสว่างแห่งการยึดถือของตัวตนเพิ่มมากขึ้น"

คมคายทั้งความคิด และฝีไม้ลายมือเหลือเกิน...

กล่าวสำหรับรางวัลแห่งเกียรติยศ “นักเขียนอมตะ” เป็นรางวัลที่มูลนิธิอมตะริเริ่มขึ้นจากแนวความคิดของ คุณประภัสสร เสวิกุล อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ที่ได้นำเสนอต่อคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ ในปี ๒๕๔๖ ซึ่งในขณะนั้นคุณประภัสสร ได้ทำงานร่วมกันในการจัดทำหนังสือชีวประวัติเชิงนวนิยาย “ผมจะเป็นคนดี”

การจัดตั้งรางวัลนี้ ก็เพื่อยกย่องนักเขียนไทยที่มีความสามารถให้ปรากฏ และเป็นกำลังใจแก่นักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า อันควรแก่การนำเสนอเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงสู่สังคมไทยและสากล

นอกเหนือจากการประกาศยกย่องแล้ว ยังจะได้รับเงินสนับสนุนอีกหนึ่งล้านบาท พร้อมโล่รางวัล และใบประกาศเกียรติคุณ

รางวัลนี้นอกจากความภาคภูมิใจแล้ว ยังเสมือนต่อยอดให้คนทำงานได้มีพลังในการทำงานมากยิ่งขึ้น

บรรยากาศอย่างนี้ จึงทั้งดีใจกับผู้ได้รับรางวัล ทั้งรู้สึกชื่นชมคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้จัดตั้งรางวัล ซึ่งเป็นทั้งนักธุรกิจชื่อดัง และขึ้แท่นมาเป็นนักเขียนเบสเซลเลอร์ด้วย

ชื่นใจที่องค์กรอื่น ๆ เห็นความสำคัญของการอ่านการเขียน เพราะส่วนตัวเชื่อว่า ถ้าเราช่วยกันส่งเสริมให้คนได้เปิดหูเปิดตาผ่านหนังสือมากขึ้น มันจะขยายขอบเขตทางความคิดให้กว้างขึ้น โดยไม่รู้ตัวค่ะ

ขอแสดงความยินดีกับลุงอาจินต์อีกครั้งนะคะ



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














ป๊ะไปแป้ แห่ระเบิด ๒o๑๔…แห๋มรอบน๋าจ้าว



การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว และผู้สนใจร่วมกิจกรรม “ป๊ะไปแป้ แห่ระเบิด...แห๋มรอบน๋าจ้าว” ในระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ และสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่


นางสาว ผู้อำนวยการท่อภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่งเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ซึ่งรับผิดชอบการส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับจังหวัดแพร่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแพร่ และสมาคมกีฬาจังหวัดแพร่ จัดโครงการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ กล่าวว่า วิถีชีวิตศิลปวัฒนธรรมไทยล้านนา ภายใต้แนวคิด “ป๊ะไปแป้ แห่ระเบิด...แห๋มรอบน๋าจ้าว” ในระหว่างวันที่ ๑๒–๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ และสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่


กิจกรรม “ป๊ะไปแป้ แห่ระเบิด...แห๋มรอบน๋าจ้าว” ประกอบด้วย ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ นิทรรศการปศุสัตว์ นิทรรศการด้านเกษตร การประกวดโคเนื้อ โคพื้นเมือง โคขุน การประกวดไก่พระลอ ไก่ชน ไก่ต่อ ไก่ตั้ง ไก่สวยงาม ตลาดนัดไก่ชน การแข่งขันจับสุกร สาธิตการชนโค ล้มโค การประกวดวาดภาพสัตว์เลี้ยง การประกวดเลียนเสียงสารพัดสัตว์ การประกวดมิสเลดี้แมนคาวบอย การแสดงขี่ม้า และโชว์คาวบอย / ในวันที่ ๑๓ – ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ นิทรรศการศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี การประกวดดนตรีไทยสากล การประกวดหนังสั้น “แพร่นิยม ส่งเสริมคุณธรรมไทย ๑๒ ประการ สู่หนังสั้น ๑๒ เรื่อง” การประกวดภาพถ่ายพลังความรักครอบครัว การประกวดเพลงรัก “คู่รักคาราโอเกะ” การแข่งขันอาหารพื้นเมืองแพร่ การแสดงดนตรีออเครสต้าแพร่ การแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปิน นิว – จิ๋ว, วงวัชราวลี, วงเจ็ทเซ็ตเตอร์


ททท.สำนักงานแพร่ จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว และผู้สนใจ มาร่วมชมกิจกรรม “ป๊ะไปแป้ แห่ระเบิด...แห๋มรอบน๋าจ้าว” ในระหว่างวันที่ ๑๒ –๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ และสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการท่องเที่ยวกีฬาจังหวัดแพร่ โทรศัพท์ o-๕๔๖๔ ๖๒o๕ หรือสอบถามข้อมูลการเดินทางและการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่ โทรศัพท์ o-๕๔๕๒-๑๑๒



ภาพและข้อมูลจาก
camerartmagazine.com














ตลาดเก่านครชุม ย้อนรอยวิถีคนกำแพงฯ



กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประเดิมเปิดตัวโครงการถนนสายวัฒนธรรม “ย้อนรอยวิถีชุมชน ตลาดเก่านครชุม” เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา เผยแพร่เสน่ห์ความเรียบง่ายของวิถีชีวิต อาหารการกิน ความเชื่อ และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้ร่วมกันสืบทอดรุ่นสู่รุ่น เพื่อมุ่งพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาสร้างรายได้ให้ชุมชน พร้อมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ






“นครชุม” ปัจจุบันคือ ตำบลนครชุม ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ นับเป็นชุมทางการค้าและการคมนาคมสำคัญ ทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นเมืองที่มีการตั้งรกรากของผู้คนหลากหลายชนเผ่า ได้แก่ ลาว จีน ล้านนา กะเหรี่ยง มอญ และชาวนครชุม ปัจจุบันแม้นครชุมจะมีบทบาทน้อยลง แต่สิ่งที่คงเหลือคือเสน่ห์ของวิถีชีวิตที่น่าสนใจ จนได้รับเลือกให้เป็นถนนสายวัฒนธรรม อันประกอบด้วยกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน ได้แก่ การแสดง การสาธิต รวมไปถึงการจำหน่ายของดีบ้านฉัน และสินค้า CPOT (Cultural Product of Thai)






วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานในพิธีเปิดงานถนนสายวัฒนธรรม ได้กล่าวว่า กระทรวงได้ดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยผลักดันยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้สังคมตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญา พร้อมดำเนินการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานศิลปวัฒนธรรม จึงได้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการถนนสายวัฒนธรรมขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้แก่ชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาลด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ






“โดยโครงการถนนสายวัฒนธรรม “ย้อนรอยวิถีชีวิตชุมชน” ได้สำรวจความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก โดยนำวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนมาจัดกิจกรรมเผยแพร่และจัดจำหน่ายของดีบ้านฉัน และผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (CPOT) สำหรับสินค้านครชุม อาทิเช่น กระยาสารท กระทงข้าวโพด ผ้าทอ การแกะสลักนกคุ้ม อาหารพื้นเมืองของชาวนครชุม เป็นต้น ทั้งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ สร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้ประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดไว้" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าว






รูปแบบการจัดงาน เนรมิตให้ชุมชนกลายเป็นตลาดย้อนยุค มีการตกแต่งร้านค้า รวมไปถึงการแต่งกายของพ่อค้าแม่ค้าเป็นแบบโบราณ นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีเวทีการแสดงทางวัฒนธรรม ให้ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมนำงบประมาณปี ๒๕๕๘ เพื่อพัฒนาพื้นที่ถนนสายวัฒนธรรมครั้งนี้ทั้ง ๑๑ จังหวัด เพื่อให้เป็นต้นแบบและแนวทางการจัดกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรมในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป






รองนายกเทศมนตรีตำบลนครชุม ธนาเดช บุญนพฉัตร เผยที่มาของการเกิดถนนสายวัฒนธรรม ตลาดเก่านครชุม ว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำโครงการถนนคนเดิน แต่ได้ผลตอบรับไม่ดีนัก จึงเกิดแนวคิดริเริ่มอยากฟื้นฟูประเพณีเก่าของชาวนนครชุม ได้รวบรวมคนเก่าแก่ในชุมชนที่มีความรู้ด้านการทำอาหารคาว-หวานโบราณ จัดเป็นตลาดย้อนยุคขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการมา ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ และประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพื่อให้คนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงมีรายได้โดยไม่ต้องไปทำงานที่อื่น และประหยัดรายจ่ายในครัวเรือน โดยหวังว่าโครงการครั้งนี้จะทำให้ผู้คนทั่วประเทศรู้จักตลาดเก่านครชุมมากขึ้น






“ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่และคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดแห่งนี้มีชื่อเสียงและจุดเด่นในด้านการทำอาหารพื้นเมืองรสชาติอร่อย อาทิ แกงขี้เหล็ก ที่รสชาติที่แตกต่างจากที่อื่น ๆ เนื่องด้วยชุมชนมีคนหลายชนเผ่ามาอาศัยอยู่รวมกัน รสชาติจึงถูกดัดแปลงไปตามวิถีจนกลายเป็นแกงขี้เหล็กที่รสชาติเป็นเอกลักษณ์ จนเกิดเทศกาลกินแกงขี้เหล็กวันเพ็ญเดือน ๑๒ แห่งเดียวของประเทศ ขนมข้าวตอกตัด ขนมโบราณหนึ่งเดียวของเมืองกำแพงฯ อีกทั้งพ่อค้าแม่ค้าของตลาดย้อนยุคแห่งนี้เป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งกำหนดจะขายทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์แรกของต้นเดือน” รองนายกเทศมนตรีตำบลนครชุมจุดแข็งของตลาดเก่านครชุม จังหวัดกำแพงเพชร






ทิ้งท้ายด้วยความเห็นของคนในชุมชน บริบูรณ์ ปัญจศิริ เผยว่า ถนนสายวัฒนธรรมช่วยให้สร้างรายได้ให้คนในชุมชนพอสมควร สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นมาต่อจากโครงการนี้คือ การท่องเที่ยวในชุมชน เมื่อมีคนมาเที่ยวมาพักผ่อน ก็จะมีการอุดหนุนสินค้า มีรายได้เข้าสู่ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากนครชุมมีต้นทุนทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว เช่น ประวัติศาสตร์อันยาวนานของชุมทางการค้า สถาปัตยกรรมบ้านไม้เก่าที่ยังคงความสมบูรณ์ โบราณสถานที่เป็นมรดกโลก และที่ผู้มาเยือนจะไม่ควรพลาดคือ อาหารพื้นบ้านรสชาติเป็นเอกลักษณ์ อาทิ แกงหยวก แกงขี้เหล็ก แกงหอยขม แกงบอนหวาน เป็นต้น






สำหรับเส้นทางถนนสายวัฒนธรรม จัดขึ้นใน ๑๑ จังหวัด ได้แก่ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ตลาดนครชุม ต.นครชุมอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร, ๑๔ กุมภาพันธ์ ตลาดร้อยปีเมืองย่า ถ.มุขมนตรี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา, ๒o กุมภาพันธ์ ข่วงเมืองน่าน อ.เมือง จ.น่าน, ๒๘ กุมภาพันธ์ เส้นทาง อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย, ๑ มีนาคม เซราะกราว วอล์กกิ้งสตรีท บริเวณถนนพิทักษ์ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์, ๖ มีนาคม เส้นทาง หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.สงขลา, ๑๔ มีนาคม เส้นทาง กำแพงประวัติศาสตร์เมืองกระบี่ จ.กระบี่, ๒๑ มีนาคม ตลาดต้าน้ำบ้านต้นตาล (วัฒนธรรมไทยวน) อ.เสาไห้ จ.สระบุรี, ๒๘ มีนาคม ตลาดร้อยสิบเก้าปี เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี, ๒ เมษายน เส้นทาง ถนนอัฏฐารส หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จ.ลำพูน และ ๔ เมษายน เส้นทาง ตรอกโรงยา อ.เมือง จ.อุทัยธานี.



ภาพและข้อมูลจาก
thaipost.net
travel.thaiza.com














บันทึกความเป็นมาวัฒนธรรมชนชาติไทย 'หอไทยนิทัศน์' แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน



ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เชื้อเชิญคนไทยเที่ยวชมหอไทยนิทัศน์ ซึ่งที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ย่านรัชดาภิเษก ด้วยเหตุผลที่ว่า การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันนอกจากในห้องเรียนหรือตำราแล้ว ยังมีอีกหลากหลายสถานที่น่าสนใจ ดังเช่น หอไทยนิทัศน์ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนจัดแสดงเรื่องราวของอารยธรรมไทย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน เสริมความรู้ตามหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณคดี โดยใช้สื่อทันสมัยและสื่อปฏิสัมพันธ์หลายชนิดได้อย่างน่าสนใจ เช่น หุ่นจำลอง วัตถุจำลอง แผงวงจรไฟฟ้า สไลด์มัลติวิชั่น วีดีทัศน์ คอมพิวเตอร์ ภาพโปร่งแสง ฯลฯ พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรม






หอไทยนิทัศน์ตั้งอยู่บริเวณชั้น ๒ อาคารนิทรรศการและการศึกษา ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บนพื้นที่ ๑,๒oo ตารางเมตรแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๕ เรื่อง คือ ความเป็นมาของชนชาติไทย,ข้าวกับวิถีชีวิตไทย, ภาษาและวรรณคดีไทย, ประเทศไทยกับโลก, วีรกรรมชนชาติไทยและเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โดยแบ่งเป็น ๕ ห้องคือ






ห้องที่ ๑ จัดแสดงเรื่องความเป็นมาของชนชาติไทย ตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานในยุคก่อนประวัติศาสตร์จนกระทั่งเป็นอาณาจักรไทยสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยเทคโนโลยีและสื่อปฏิสัมพันธ์ที่ทันสมัย เช่น Video well คอมพิวเตอร์ มัลติมีเดีย วีดิทัศน์ หุ่นจำลองเคลื่อนไหว ฯลฯ


ห้องที่ ๒ นำเสนอนิทรรศการเรื่องข้าวกับวิถีชีวิตไทย เพื่อแสดงให้เห็นลักษณะการดำรงชีวิต ซึ่งพึ่งพิงและปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติของคนไทย อาทิ ข้าวในประเทศไทย, กระบวนการผลิตข้าวในประเทศไทย, วัฒนธรรมข้าวในสังคมไทยจุดที่น่าสนใจ คือ สาธิตขั้นตอนการทำนา อาทิ การเตรียมดินเพาะปลูก บำรุงรักษา และการเก็บเกี่ยวและนวด รวมทั้งจำลองพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีเริ่มแรกทำนาประจำปี ซึ่งทางราชการเป็นผู้กำหนดเวลาแก่ชาวนาให้เริ่มทำการ






ห้องที่ ๓ ภาษาและวรรณคดีไทย จัดแสดงเรื่องราววิวัฒนาการของอักษรไทย, ภาพจากวรรณคดีเรื่องดัง เช่นพระอภัยมณี, สังข์ทอง เป็นต้น พร้อมเสียงทำนองเสนาะ, เพลงกล่อมเด็ก, ห้องขับร้องทำนองเสนาะ ฯลฯ ทั้งนี้ภาษาไทยและวรรณคดีไทยยังเป็นสิ่งแสดงความรุ่งเรืองของชาติและวัฒนธรรมไทยอย่างยิ่งยงและยาวนาน






ห้องที่ ๔ ประเทศไทยกับโลก จัดแสดงเนื้อหาระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ในโลกนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ อาทิสมัยก่อนประวัติศาสตร์, สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์, โลกตะวันตกกับประเทศไทยสมัยอยุธยา, ประเทศไทยในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ฯลฯ






ห้องที่ ๕ วีรกรรมชนชาติไทยและเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย นำเสนอให้เห็นการกระทำและความกล้าหาญของวีรชนชาติไทยในยุคสมัยต่าง ๆ ไม่ว่าชายหรือหญิง พระมหากษัตริย์หรือสามัญชน ซึ่งสร้างจิตสำนึก รับผิดชอบ เสียสละในการรักษาชุมชนและชนชาติไทยไว้เพื่อประโยชน์สุขของคนในชาติ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา ๙.๓o-๑๖.๓o น.(หยุดวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์) สำรองการเข้าชมเป็นหมู่คณะได้ที่ หอไทยนิทัศน์ส่วนไทยนิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมถ.เทียมร่วมมิตร เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ



ภาพและข้อมูลจาก
sac.or.th
naewna.com













ครอบครัวช้างในหัวใจฉัน



ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายแอร์โรว์(ARROW) ได้จัดตั้งโครงการ “แอร์โรว์ ช่วยช้างกลับบ้าน” เพื่อร่วมนำช้างเมืองปล่อยกลับคืนสู่ป่า กับมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ในปี ๒๕๕o ซึ่งมูลนิธิฯมีวัตถุประสงค์ที่จะปล่อยช้างคืนสู่ป่าจำนวน ๘๑ ตัว เพื่อถวาย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และทูลเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘o พรรษา โดยแอร์โรว์เริ่มช่วยช้างตัวแรกกลับบ้าน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕o ตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ “แอร์โรว์ ช่วยช้างกลับบ้าน” ได้ทำการปล่อยช้างเมืองกลับคืนสู่ป่า รวมทั้งสิ้น ๑๓ ตัว ใน ๒ พื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง โดยล่าสุด ช้างเลี้ยงที่คืนสภาพเป็นช้างป่าในโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ ได้ตกลูกช้างแล้ว รวมทั้งสิ้น ๗ ตัว นับเป็นลูกช้างที่เกิดในป่าจากแม่ช้างที่ปล่อยจากโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและนับเป็นความสำเร็จประการหนึ่งของโครงการ






เนื่องในวโรกาสปีมหามงคล ๒๕๕๘ ที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖o พรรษา ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ จึงจัด “โครงการคืนช้างสู่ป่าเฉลิมพระเกียรติ ๖o พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” โดยมูลนิธิฯกำหนดปล่อยช้าง ๖ เชือก ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จังหวัดลพบุรี ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงปล่อยช้างในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๘






ด้วยเจตนารมณ์ของผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายแอร์โรว์(ARROW) ที่จะทำให้ “ช้างป่าไม่มีวันหมดไปจากป่าเมืองไทย” แอร์โรว์จึงได้เข้าร่วมโครงการนี้ โดยจัดโครงการประกวดวาดภาพ ในหัวข้อ “ครอบครัวช้างในหัวใจฉัน” เพื่อเชิญชวนผู้ที่สนใจ ร่วมส่งผลงานเข้าประกวด และนำภาพวาดที่ได้รับรางวัลมาประมูลหารายได้สมทบทุน “โครงการคืนช้างสู่ป่าเฉลิมพระเกียรติ ๖o พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ในเดือนเมษายน ๒๕๕๘ นี้


รายละเอียดการประกวดวาดภาพ

คุณสมบัติของผู้ส่งงานเข้าประกวด

ประชาชนทั่วไปที่มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป มีสิทธิส่งผลงานที่ทำขึ้นด้วยฝีมือและความคิดของตนเข้าประกวด

ผู้ส่งงานเข้าประกวด เป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย


เงื่อนไขการส่งผลงานเข้าประกวด

๑. ส่งผลงานได้ไม่เกินคนละ ๓ ชิ้น โดยมีขนาดกว้างและยาว แต่ละด้านไม่เกิน 2 เมตร
และไม่น้อยกว่า ๓o ซม. โดยประมาณในอัตราส่วน ๑:๑.๕ ไม่รวมกรอบ

๒. ผลงานนั้นไม่เคยได้รับรางวัล ณ ที่ไดมาก่อน

๓. ผู้ส่งผลงานต้องกรอกแบบฟอร์มกำกับผลงาน พร้อมอธิบายแนวคิดการสร้างสรรค์โดย
สังเขป (แบบฟอร์มการสมัคร สามารถรับได้ที่เคาน์เตอร์ ARROW ทั่วประเทศ)

๔. ผู้ส่งผลงานต้องรับผิดชอบ หากผลงานนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิ์อื่นใดของบุคคลอื่น

๕. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดทุกชิ้น บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
มีสิทธิ์ในการนำไปเผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อสารสนเทศสมัยใหม่ได้ทุกรูปแบบ

๖. ผลงานที่ได้รับรางวัลจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
(มหาชน) และสามารถนำไปใช้เพื่อการเผยแร่ต่อไปได้

๗. ผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สุด จะอุทธรณ์ไม่ได้

๘. บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จะระวังรักษาผลงานที่เข้าประกวด
อย่างดีที่สุด แต่จะไม่รับผิดชอบในกรณีที่เกิดความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย


ระยะเวลาในการส่งผลงาน
วันนี้-๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ประกาศผล ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘


รางวัลการประกวดวาดภาพ
รางวัลชนะเลิศ : ๓oo,ooo บาท ๑ รางวัล
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง : ๑๕o,ooo บาท ๑ รางวัล
รางวัลชมเชย : ๕o,ooo บาท ๓ รางวัล


คณะกรรมการตัดสิน
๑. อาจารย์ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ
๒. อาจารย์วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ
๓. อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ
๔. คุณช่อทิพ ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บจก.สุขทรรศน์
๕. คุณสมพล ชัยสิริโรจน์ ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์แอร์ไรว์ บมจ.ไอ.ซี. ซี . อินเตอร์เนชั่นแนล


สถานที่ส่งผลงานเข้าประกวด
บมจ.ไอ.ซี. ซี . อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงเทพฯ โทร o๒-๒๙๓-๙ooo ต่อ ๓๖๗
ที่อยู่ : ๕๓o ซอยสาธุประดิษฐ์ ๕๘ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ๑o๑๒o



ภาพและข้อมูลจาก
beautybkkfocus.blogspot.com














วัดหัวลำโพง แหล่งเรียนรู้วิถีไทยวิถีธรรม



วัดหัวลำโพง วัดใจกลางเมือง ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ไหว้พระ ทำบุญยอดนิยม หรือสถานที่ที่ผู้คนส่วนใหญ่ชักชวนกันมาทำบุญโลงศพ ไถ่ชีวิตโค-กระบือ แต่ยังเป็นที่เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมไทย ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวชาดก และเป็นศูนย์กลางบ่มเพาะปลูกจิตสำนึกคนในชุมชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปให้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา​


และหากใครมาเที่ยววัดหัวลำโพงวันอาทิตย์ก็อย่าลืมแวะ ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดหัวลำโพง และเที่ยวชมตลาดนัดชุมชนคุณธรรม ซึ่งเปิดขึ้นปีนี้เป็นปีแรก บริเวณด้านในวัดจะมีร้านค้าที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของผู้ปกครอง ชุมชน นำสินค้าทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ตลอดจนอาหารคาว-หวานหลากเมนูเรียงรายให้เลือกซื้ออย่างไม่ผิดหวัง แถมยังช่วยกระจายรายได้ให้คนในชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


เมื่อเร็ว ๆ นี้ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในพิธีเปิดศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดหัวลำโพง ขับเคลื่อนพลังชุมชน "บวร" ในเขตกรุงเทพมหานครว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งฟื้นฟู “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ขับเคลื่อนคุณธรรมในสังคมไทยนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคม กรมการศาสนา (ศน.) ได้ร่วมกับพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยาวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันบริหารการศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งประเทศไทย ส่งเสริมให้วัดทั่วประเทศเปิดศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (ศพอ.) เพิ่มขึ้น หวังให้คนได้ใกล้พระพุทธศาสนามากขึ้น น้อมนำหลักธรรมมาสู่การปฏิบัติใช้ในชีวิต


"วัดหัวลำโพงเป็นวัดตัวอย่างกลาง กทม. ไม่ได้มีแค่กิจกรรมทางสงฆ์ ยังมีกิจกรรมดึงดูดให้เด็กเยาวชนเข้าวัด ชุมชนโดยรอบ ก็เป็นชุมชนตัวอย่างช่วยสืบทอดพุทธศาสนา ปัจจุบันพบว่าทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือผลักดันให้มีศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เพิ่มขึ้นแล้วถึง ๔,๑๓o ศูนย์ทั่วประเทศ จะมีการขยายผลให้เกิดชุมชนคุณธรรมในทุกศาสนาทั่วประเทศ" วีระกล่าว


ด้าน กฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าว่า วัดหัวลำโพงมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ก่อนเปิดศูนย์ศึกษาฯ ทุกวันหยุด เด็กและเยาวชนบริเวณรอบวัดและชุมชนได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ความเข้าใจตามคำสอนทางพุทธศาสนา ดังนั้น กรมศาสนาได้หารือกับคณะสงฆ์วัดหัวลำโพงจัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดหัวลำโพงเป็นสถานที่เพาะบ่มปัญญา ศีลธรรม มารยาทไทย ตลอดจนวิถีวัฒนธรรมให้เด็กและประชาชนที่สนใจนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าเรียนในศูนย์จะรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพนำมาขายในตลาดนัดชุมชนคุณธรรม เสริมรายได้


"แม้หัวใจสำคัญของศูนย์แห่งนี้ คือ เรื่องธรรมศึกษา นำเอาบ้าน วัด โรงเรียน "บวร" มาพัฒนาเยาวชน ชุมชน ขณะเดียวกันก็ยังเป็นศูนย์สอนเสริมวิชาวิสามัญ และวิชาเลือกพิเศษตามความสนใจ เปิดสอนเสริม เช่น วิชาศิลปะการแสดง วิชาคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึงใช้เป็นที่ฝึกอาชีพ นี่เป็นการช่วยเหลือเด็ก ๆ ไม่ต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษเพิ่ม เด็กที่เข้าเรียนยังเป็นพลังสำคัญทำกิจกรรมในสำคัญทางพระพุทธศาสนา" อธิบดีกรมการศาสนาย้ำศูนย์ให้โอกาสและเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างดี


โรงเรียนเป็นอีกกลไกสำคัญสร้างสังคมที่มีคุณภาพ นฤชา สุรปกรณ์กุล ครูวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนวัดสวนพลู เขตบางรัก เผยในงานเปิดศูนย์ด้วยความดีใจว่า โรงเรียนในเขตบางรักต้องการแหล่งเรียนรู้ด้านคุณธรรมและวัฒนธรรมเพิ่มเติม การเปิดวัดหัวลำโพงเป็นศูนย์จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้านศีลธรรม การอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมไทย ทำให้เด็กเป็นคนดี


"ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นโครงการที่จำเป็นสำหรับสังคมยุคโซเชียล เด็กเยาวชนเข้าถึงสื่อที่ลามกอนาจารได้ง่าย การส่งเสริมคุณธรรมในใจเด็กเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนจะได้ไม่มอมเมา ตั้งมั่นทำความดี" แม่พิมพ์หัวใจคุณธรรมกล่าวในท้าย พร้อมชักชวนให้พาเด็กเยาวชนมาเข้าเรียนวันอาทิตย์ที่วัดหัวลำโพง และเที่ยวตลาดนัดชุมชนคุณธรรม ช่วยอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากผู้ปกครองชุมชนที่นำสินค้าไปขายตลาดใหม่แห่งนี้ย่านสามย่าน เดินทางสะดวกขึ้นรถไฟฟ้ามหานคร MRT สถานีสามย่าน.



ภาพและข้อมูลจาก
thaipost.net
พวงหรีดธรรมะ.com/














ละครสถาปัตย์ ลาดกระบัง เจริญสุด เสียงหลุดสุดเจริญ



หากพูดถึงการแสดงละครเวที นอกจาก ละครสถาปัตย์ จุฬาฯ ที่จัดเป็นประเพณีปฏิบัติมายาวนานกว่า ๔o ปีแล้ว ก็ยังมีละครเวทีของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักด้วยเช่นกัน โดยในปี ๒๕๕๘ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๑ มีชื่อเรื่องว่า "เจริญสุด เสียงหลุดสุดเจริญ" เปิดการแสดงตั้งแต่วันที่ ๑๖-๒๒ กุมภาพันธ์นี้ เวลา ๑๘.oo น. ณ หอประชุมใหญ่ สจล.


เนื้อเรื่องละครสอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน นั่นคือ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ละครเดินเรื่องด้วยข่าวคราวการเปิดโลกการค้าเสรีแพร่กระจายออกไป ทำให้ทุกคนตื่นเต้นและเตรียมความพร้อมในการฝึกภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับนานาประเทศ ไม่เว้นแม้แต่กระทั่ง


"หมู่บ้านเจริญสุด" ที่แสนจะห่างไกลจากเมืองหลวง ก็กระตือรือร้นที่จะพูดภาษาอังกฤษให้ได้เช่นกัน แต่ชาวบ้านก็ยังไม่สามารถพูดได้สักที


จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนแปลกหน้าเข้ามาขายอุปกรณ์ที่ทำให้พูดภาษาอื่น ๆ ได้ทันที ชาวบ้านเฮกันไปซื้อมาใช้ และทุกคนก็พูดภาษาอื่นได้จริง ๆ แต่ในวันถัดมา เมื่อทุกคนตื่นขึ้นกลับพบว่าเสียงของตัวเองหายไปหมด ไม่มีใครในหมู่บ้านพูดได้เลย ยกเว้น "ปื๊ด" ลูกบุญธรรมขี้ขโมยของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นคนเดียวที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์นี้ ปื๊ดจึงถูกส่งเข้าไปในเมืองหลวงเพื่อตามหาเสียงของหมู่บ้าน "เจริญสุด" กลับมาให้ได้ ในที่สุดก็พบว่า "เจ้าสัวเรืองฤทธิ์" นักธุรกิจใหญ่ผู้ทรงอิทธิพลเป็นคนเอาเสียงของชาวบ้านไป


สำหรับรายละเอียดการจองบัตร สอบถามได้ที่ โทร. o๙-๔o๔๗-๕๘๘๒ หรือ //www.showbee11.com และสามารถเข้ามาซื้อบัตรเองได้ที่ U-store คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ราคาบัตร ๑๘o บาททุกที่นั่ง พิเศษสำหรับผู้ซื้อบัตร ๕ ที่นั่ง รับฟรีเพิ่มอีก ๑ ที่นั่ง.



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
เฟซบุคคณะละคร














Cynical Bear



เจ้าหมีนักเยาะเย้ย (Cynical Bear) มันเยาะหยันโลกที่เราอาศัยอยู่ มันถากถางโลกที่เราต้องจำนนอยู่กับมัน บางทีการเย้ยหยันเพื่อกลบความอ่อนแอในตัวฉัน ทำให้กล้ายืนยันว่าตัวเองเข้มแข็งและกล้าหาญ ไม่ต้องทำตัวเงียบหงิม


เจ้าหมีนักเยาะเย้ยเป็นเสมือนตัวฉัน ฉันเอาท่าทางบุคคลิกของมันมาเป็นชื่อเล่น เลือกใช้เสื้อยืดกางเกงยีนส์ตามสมัยนิยม และใบหน้าที่สำแดงออกถึงการถากถางเยาะหยันก็คือความรู้สึกของฉันที่มีต่อสังคมนี้


เจ้าหมีนักเยาะเย้ยถือกำเนิดมา ในยุค ๗o คนที่เกิดปลาย ๖o ถึง ๗o ต่างรู้จัก คนรุ่นเอ็กซ์( Generation X) นั่นคือคนที่เกิดมามีความคิดเป็นของตัวเองที่แตกต่างไปจากคนยุคก่อน ที่โลกเรากำลังพัฒนายกระดับสู่ความเป็นมนุษย์มากขึ้น


คนที่เกิดยุค ๗o ล้วนมีประสบการณ์ร่วมถึงวิกฤติการณ์ IMF การเติบโตของความคิดปัจเจกนิยม และเห็นบรรดาอำนาจยิ่งใหญ่ที่เกิดจากการรัฐประหารโดยกองทัพ อีกความคิดหลังอุดมการณ์มาจนถึงรัฐบาลพลเรือน และปัญหาต่างๆของเด็ก ๆ ภาวะการตกงานของผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ การบริโภคล้นเกินล้างผลาญโลกธรรมชาติ ด้านวัฒนธรรม พวกเขาเรียนรู้จากอุตสากรรมสื่อที่พัฒนาเร็วยิ่ง ความคลั่งไคล้สิ่งของ อยากได้ครอบครองสินค้าฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น พร้อมกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่เบ่งบานรวดเร็ว นักศึกษาเยาวชนต่างมีความสุขสนุกสนานกับความสัมพันธ์ของชีวิตเสรีในรั้วมหา’ลัย พร้อมกับการเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน


ดังนั้น คนรุ่นเอ็กซ์ เกิดมาและเติบโตในยุคที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่าน พร้อม ๆ กับความเกียจคร้านเฉื่อยชาจากการตกงาน พวกเขาต้องพากันดิ้นรนในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็วซึ่งคนรุ่นเก่าก็ไม่มีประสบการณ์มาก่อน!


ต้องการก้าวออกไปให้พ้นจากปูมหลังนี้ เจ้าหมีนักเย้ยหยัน ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ เด็กเลว ที่เอาแต่ถากถาง เสียดสี เยาะหยัน ไปทั่ว ขี้ขลาดไปจนกระทั่งโน้มเอียงไปทางร้องคร่ำครวญ!


“เจ้าหมีนักเยาะเย้ย” ได้พยายามเชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบัน โดยผ่านการเปรียบเทียบความคิดจินตนาการที่รับจากสื่อและชีวิตตัวมันเอง ดังนี้งานเจ้าหมีนักเยาะเย้ยทั้งหลายที่ฉันนำมาแสดงนั้น ในชุด”ทหารเด็ก”,ชุด “วีรชน”และ “ระเบิดสุข” เพื่อค้นหาทางเอาศิลปเป็นเครื่องมือสื่อสารไปเปลี่ยนแปลงสังคมบ้างไม่มากก็น้อย!


ขอเชิญท่านที่สนใจร่วมเปิดงาน วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เวลา ๕ โมงเย็นเป็นต้นไป ณ อาร์ตเทอรี่ โพสโมเดิร์น แกลลอรี่ (สีลม ๑๙)


นิทรรศการ : เจ้าหมีนักเยาะเย้ย (Cynical Bear)
ศิลปิน : คู เยิน โม (Koo YeonMo)
วันที่ : ๑๙ กุมภาพันธ์ – ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๘
สถานที่ : อาร์ตเทอรี่ โพสโมเดิร์น แกลลอรี่ (สีลม ๑๙)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : o๒-๖๓๕-๓๑๓๓, o๘๕-๙๑๗-๘๘๙๑
อีเมล : Arterynews@hotmail.com











ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














HOPE IN THE DARKNESS



ไวสเปซ แกลเลอรี่ ขอเชิญทุกท่านร่วมชมงานนิทรรศการ HOPE IN THE DARKNESS โดยสองศิลปินรุ่นใหม่ อภิพล เตชะมังคลานนท์ และ ปรีชา นวลนิ่ม


ข้าพเจ้าเปรียบเทียบระหว่างความเจริญทางด้านวัตถุและจิตใจ เพื่อสะท้อนถึงความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและจิตใจของผู้คนที่ตกต่ำลง และอาจเลวร้ายลง หากไม่มีสิ่งดีงามจากอดีตคอยฉุดรั้งเอาไว้ และสถาปัตยกรรมไทยอันวิจิตรงดงามก็เปรียบได้กับตัวแทนแห่งความดีงามของวัฒนธรรม เป็นความเจริญทางจิตใจที่ยังส่องแสงสว่าง ท่ามกลางสังคมอันหม่นหมอง และมืดมัว


ข้าพเจ้าต้องการสะท้อนให้เห็นถึงรูปลักษณ์ของชีวิตที่ต้องต่อสู้แข่งขัน จากกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองและชนบท โดยสร้างสรรค์ผลงานผ่านรูปทรงของคนใส่สูทที่ดูดีมีอำนาจ แต่ไร้ชีวิตกับโครงสร้างของบ้านสลัมที่ดูแออดั เสื่อมโทรมและผุพัง สะท้อนมุมมืดของสังคม ผสมผสานก่อเกิดเป็นรูปทรงใหม่ที่แฝงนัยยะ ต้งั คำถามทางความคิดในใจคน เปรียบเสมือนเปลือกภายนอกที่ห่อหุ้มซากชีวิต ที่ไร้ลมหายใจ สะท้อนถึงความเป็นไปของวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยที่หมุนวน


นิทรรศการ : HOPE IN THE DARKNESS
ศิลปิน : อภิพล เตชะมังคลานนท์ และ ปรีชา นวลนิ่ม
วันที่ : ๓o มกราคม – ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๘
สถานที่ : ไวสเปซ แกลเลอรี่ (ศาลาแดง ซอย ๑)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : o๘๑-๖๙๙-๕๒๙๘
เว็บไซต์ : //www.whitesp-cegallery.com
อีเมล : info@whitesp-cegallery.com






ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














Trace of life



รอยชีวิต นิทรรศการเดียว แสดงผลงานจิตรกรรม โดย ศิลปิน พระนาย เกษมถาวรศิลป์ ภาพผลงานนำเสนอใบหน้าของเด็กสาววัยแรกแย้มดูราวไร้มารยา ปรากฎร่องรอยการเปื้อนแป้ง “กระแจะ” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ทานาคา” ภาพดังกล่าวศิลปินได้สื่อสารเนื่อหาอย่างมีพลังตรงไป ตรงมาสัญลักษณ์วิถีชีวิต การดำเนินผ่านช่วงวัยไปในครรลองอย่างเรียบง่าย เปรียบหญิงสาว หรือเด็กหญิงคือผ้าขาวบริสุทธ์ไร้รอยแปดเปื้อนใด ๆ กับ รอยแป้งทานาคา สีเหลืองนวลที่ข้างแก้ม และกลางหน้าผากหรือหากจะคิดอีกแง่มุมมองของผู้ไม่ทราบและไม่รู้จักแป้งทานาคา อาจคิดว่าเป็นคราบสิ่งสกปรกแปลกปลอมก็เป็นได้


ทว่านัยยะที่แฝงนั้นคือสิ่งที่อยู่คั่นกลางระหว่างความงามและความสกปรก เหตุจากความไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ที่มาของความหมายโดยยึดถือความเห็นแก่ส่วนตนเป็นหลักก็เป็นเหตุนำมาซึ่งการทำลายความงดงามในธรรชาติของท้องถิ่น


ชิ้นผลงานศิลปินได้สร้างพื้นผิวที่เติมไปด้วยรายละเอียดรอยแตกหยาบกร้านของการเกิดจากการทับของสี ดูแล้วขัดแยงชวนให้นึกถึงภาวะของวิถีชีวิตอันสวยงามกำลังถูกบดบังแปลเปลี่ยนไปตามสมัยและการเวลา


พระนาย เกษมถาวรศิลป์ จบการศึกษาปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบูรพา และปริญาโทจากมหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากนั้นเขาร่วมแสดงผลงานต่างๆและได้รับรางวัลดีเด่น จากศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” และรางวัลที่ ๒ ในศิลปกรรมกรุงไทย ในปี ๒๕๕๗ เช่นกัน


* แป้งทานาคา คือ แป้งสมุนไพรจากเปลือกต้นทานาคามีชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า LICODIA ACIDISSIMA พบในภาคกลางของพม่าแถบพุกาม และมัณฑะเลย์ เท่านั้น พบว่าพม่ารู้จักใช้ทานาคา มานานมากกว่า ๒oo ปี ทุกบ้านจะมีท่อน ทานาคา วางคู่กระจกเสมอ โดยใช้ทาทั่วร่างกายเน้นบริเวณใบหน้า *


ขอเชิญทุกท่านร่วมพิธีเปิดในวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เวลา ๑๘.oo น. ร่วมพบปะพุดคุยกับศิลปินและรับสูจิบัตร


นิทรรศการ : รอยชีวิต
ศิลปิน : พระนาย เกษมถาวรศิลป์
วันที่ : ๒๖ กุมภาพันธ์ – ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๘
สถานที่ : นัมเบอร์วันแกลอรี่ อาคาร เดอะสีลมแกลเลอเรีย ชั้น ๔ กรุงเทพฯ
รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับนิทรรศการกรุณาติดต่อ : o๒-๖๓o-๒๕๒๓















ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














สนามตรึก – Imply Reply



นิทรรศการจัดแสดงร่วมระหว่าง หวงหย่งผิง ศิลปินชั้นนำชาวจีนจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งผลงานแสดงถึงการบรรจบกันระหว่างแนวคิดสมัยใหม่แบบตะวันตก และมุมมองรากฐานความคิดของจีนสร้างสรรค์ตัวตนทางวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ให้กับประเทศจีน และ สาครินทร์ เครืออ่อน ศิลปินไทยที่ผลงานมีรูปแบบเฉพาะตัวแบบร่วมสมัย สะท้อนถึงพื้นฐานความสนใจศิลปะไทยแบบดั้งเดิมโดยผสมผสานเรื่องราวตามตำนานเก่าแก่ของไทยเข้ากับความเข้าใจที่เคลื่อนตัวไปตามยุคสมัย นิทรรศการครั้งนี้เสนอความหลากหลายของมุมมอง อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ในบริบทของกระแสโลกาภิวัฒน์ เล่นกับแนวคิดที่ย้อนแย้งกันในมิติทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ และประเด็นทางสังคมที่มีผลกระทบต่อยุคสมัยปัจจุบันผ่านผลงานของศิลปินต่างรุ่นต่างวัฒนธรรมทั้งสองท่าน โดยชื่อนิทรรศการสะท้อนถึงการตีความและการโต้ตอบทางความคิดระหว่างของศิลปินและผู้ชมท้าทาย และปลุกเร้าให้ผู้ชมได้ไตร่ตรองแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังผลงาน


นิทรรศการ : สนามตรึก – Imply Reply
ศิลปิน : หวง หย่ง ผิง และ สาครินทร์ เครืออ่อน
วันที่ : ๑๒ กุมภาพันธ์ – ๒๖ เมษายน ๒๕๕๘
สถานที่ : ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น ๘ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สอบถามเพิ่มเติม ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โทร : o๒-๒๑๔-๖๖๓o – ๘ ต่อ ๕๑๗, ๕๒o
จัดโดย : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ถัง คอนเทมโพรารี อาร์ต
สนับสนุนโดย : สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร



ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














“ความสุขของสุริยจักรวาล” สมุดบันทึกนิทานเล่มล่าสุด ของ มูลนิธิเด็ก



จากแนวคิดที่ถ่ายทอดและส่งต่อมาหลายปี....ในปี ๒๕๕๘ ”สมุดบันทึกนิทาน” ซึ่งจัดทำขึ้นทุกปีในนาม “มูลนิธิเด็ก" ได้หยิบยกเอาประเด็นการอยู่ร่วมกันโดยมุ่งทำเพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว มาเล่าเป็นนิทาน “ความสุขของสุริยจักรวาล”


เรื่องราวของสังคมดวงดาว เมื่อดวงอาทิตย์แสดงอำนาจส่องแสงในเวลากลางคืน สร้างความเดือดร้อนให้ดวงจันทร์และระบบสุริยจักรวาลจนปั่นป่วน โดยผู้รับหน้าที่แต่งเรื่องคือ ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ คนล่าสุด และวาดภาพประกอบโดย ทรัพย์มณี ชัยแสนสุข สถาปนิกและศิลปินวาดภาพสีน้ำรุ่นใหม่


ชมัยภร เล่าว่า กว่าผลงานจะออกมาเป็นที่น่าพอใจเช่นนี้ต้องใช้เวลาตกผลึกพักใหญ่ และได้แรงบันดาลใจจากหลักธรรมของ ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยม” เพราะเป็นหลักที่ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันโดยคิดถึงคนหมู่มาก ความเสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งถือเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมาก เพราะต้นตอของปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยมาจากความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคม เนื้อเรื่องจึงเลือกใช้สังคมจักรวาลเป็นสัญลักษณ์แทนสังคมมนุษย์


ในส่วนของภาพประกอบ ทรัพย์มณี ใช้เทคนิคสีน้ำที่เน้นความฉูดฉาดแปลกตาเข้ามาช่วยสร้างชิ้นงาน ทำให้ภาพของสุริยจักรวาลมีความสดใส แต่ก็ไม่ทิ้งความรู้สึกลึกลับและมีเสน่ห์น่าค้นหา ด้วยเหตุนี้ “ความสุขของสุริยจักรวาล” จึงเป็นสมุดบันทึกนิทานที่ไม่ว่าใครได้อ่านหรือนำไปใช้เขียนบันทึก ย่อมได้รับทั้งข้อคิดและสัมผัสกับความสุข


ผู้ที่สนใจสั่งซื้อสมุดบันทึกนิทาน “ความสุขของสุริยจักรวาล” ในราคาเล่มละ ๖o บาท หรือสนใจซื้อบริจาคเพื่อมอบเป็นของขวัญแก่เด็กด้อยโอกาส ในราคาเล่มละ ๕o บาท โปรดติดต่อที่สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก โทร. o-๒๘๘๑-๑๗๓๔ หรือสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์www.shareforchild.com



















ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














อย่ากรีดคัทเตอร์บนโต๊ะภาพพิมพ์



ในหมู่งานศิลปะแขนงต่าง ๆ ศิลปะภาพพิมพ์เป็นแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะอีกหลายแขนง แต่ในสังคมไทย ผู้คนที่รู้จักและเห็นคุณค่าของศิลปะภาพพิมพ์นั้นมีอยู่ไม่มากนัก ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาโดยตรงก็จะไม่เข้าใจถึงคุณค่าของผลงาน เพราะสิ่งที่สำคัญในศิลปะภาพพิมพ์คือกระบวนการระหว่างการพิมพ์


นิทรรศการศิลปะเทคนิคภาพพิมพ์ “อย่ากรีดคัทเตอร์บนโต๊ะภาพพิมพ์” จึงจัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าชมได้ทำความรู้จักกับศิลปะภาพพิมพ์ ได้สัมผัสบรรยากาศและกระบวนการในการทำภาพพิมพ์ และได้เห็นผลงานที่หลากหลาย


วลีที่ว่า “อย่ากรีดคัทเตอร์บนโต๊ะภาพพิมพ์” ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่นึกย้อนไปถึงช่วงเวลาระหว่างการทำภาพพิมพ์ ในชั่วโมงเรียนศิลปะภาพพิมพ์ กระบวนการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นสิ่งที่ทำให้งานภาพพิมพ์มีคุณค่า งานภาพพิมพ์แต่ละชิ้นจะออกมาดีได้นั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการและรายละเอียดเล็ก ๆ ที่อาจารย์ได้คอยให้คำแนะนำ วลีดังกล่าวเป็นคำพูดของอาจารย์ผู้สอนที่เราได้ยินจนติดหู เป็นสิ่งที่คอยเตือนใจเราให้ ระลึกเสมอว่า แม้รายละเอียดเล็กๆในกระบวนการการทำงาน ก็มีความสำคัญและมีผลต่อผลงานที่ออกมา และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ประทับใจและคอยเตือนใจพวกเราตลอดมาตลอดมา


นอกจากนี้การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ยังเป็นการแสดงศักยภาพที่ผ่านการฝึกฝนและพัฒนาของนิสิตสาขาวิชาศิลปศึกษาฝึกให้นิสิตผู้จัดโครงการมีทักษะในการจัดแสดงงาน ได้ชื่นชมผลงานและมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ตลอดจนได้แบ่งปันความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการการพิมพ์แก่ผู้เข้าชมงาน เพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าและประทับในในศิลปะภาพพิมพ์


นิทรรศการ อย่ากรีดคัตเตอร์บนโต๊ะภาพพิมพ์ (OOPS!! ) โดย นิสิตสาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดแสดงระหว่างวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ - ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ (จันทร์ - ศุกร์ เวลา ๑o.oo - ๑๙.oo น. และ เสาร์,อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เวลา ๑๒.oo - ๑๘.oo น.) ณ ห้องนิทรรศการชั้น ๒ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



เชิญร่วมงานเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 เวลา 18.00 น.


นอกจากนี้ระหว่างนิทรรศการการจัดนิทรรศการ ยังมีกิจกรรม workshop ภาพพิมพ์เบื้องต้น ในทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ รวมถึงการจัดจำหน่ายโปสการ์ดที่ระลึก















ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th
เฟซบุค Chulalongkorn Universiti














หัตถกรรมพื้นเมืองอันวิจิตรงดงามแห่งภูมิภาคโทโฮขุ จากประเทศญี่ปุ่น



สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมจุฬาฯ ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่ ขอเชิญชมนิทรรศการ “หัตถกรรมพื้นเมืองอันวิจิตรงดงามแห่งภูมิภาคโทโฮขุ จากประเทศญี่ปุ่น” ตั้งแต่วันนี้ – ๒๗ ก.พ. ๒๕๕๘ เวลา ๙.oo - ๑๗.oo น. (หยุดวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ ห้องนิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ







ภาพและข้อมูลจาก
chula.ac.th
เฟซบุค Chulalongkorn Universiti














นิทรรศการศิลปกรรมครั้งที่ ๑๑๕ "สายใยศิลป์"



นิทรรศการศิลปกรรมครั้งที่ ๑๑๕ "สายใยศิลป์" ของ สุชาติ ยุติธรรม, เฉลิมศรี ชัยมงคล, นิตยา ตามวงศ์, พิสิษฐ์ ไชยล้อม, ธัญพิสิษฐ์ แสนจันทร์, ธีระพล ดำเรือง, ภาสูร ศรีสำอาง, เกษม ขาวละออ, ศรันยู ชมพู


นิทรรศการจัดโดย คุณศุภชัย สิทธิเลิศ ภัณฑรักษ์พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน จะมีพิธีเปิด ในวันพฤหัสบดี ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เวลา ๑๙.oo น. ณ 9 Art Gallery / Architect Studio จ. เชียงราย (เลยห้าแยกพ่อขุนเม็งรายไปทางแม่จันประมาณ ๑oo ม.)
เวลาเปิดปิดทำการ ๙.oo - ๑๙.oo น. (เว้นวันจันทร์) โทร o๘๓-๑๕๒-๖o๒๑


นิทรรศการจะเปิดให้ชมถึงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๘















ภาพและข้อมูลจาก
portfolios.net













ต้มยำศิลปะ : The mixed matail arts



นิทรรศการ "ต้มยำศิลปะ : The mixed matail arts" ผลงานโดยนักศึกษาสาขาวิชาจิตรกรรม ชั้นปีที่ ๔ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีอาจารย์คงฤทธ์ หลางทอง เป็นศิลปินรับเชิญ จัดแสดงระหว่างวันที่ ๑๑-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ และจะมีพิธีเปิดในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เวลา ๑๘.oo น. ณ หอศิลป์ต้นตาล : TonTann ArtSpace and Gallery



ภาพและข้อมูลจาก
wikalenda.com














ภาพพิมพ์บูรพา ครั้งที่ ๑๖


จัดแสดงวันที่ : ๑o กุมภาพันธ์ - ๒o กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

สถานที่: ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โดย สาขากราฟิกอาร์ตและกราฟิกมีเดีย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา



ภาพและข้อมูลจาก
wikalenda.com




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2558 22:13:12 น. 0 comments
Counter : 2900 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.