happy memories
Group Blog
 
<<
มกราคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
21 มกราคม 2558
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๑๘๒





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










“อันมีทิพเนตรส่องไป”


นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ​”​อันมีทิพเนตรส่องไป​”​ โดย สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมนิทรรศการปีนี้แปลกกว่าปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา คือมีภาพที่ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์ (telescope) มีภาพที่ถ่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด (Scanning Electronic Microscope) มีรูปจากยานไร้คนขับหรือโดรน ที่ทำให้เราได้เห็นภาพจากที่สูง เครื่องมือเหล่านี้ทำให้เรามีตาทิพย์ที่ได้เห็นสิ่งที่ไม่น่าเห็นได้ เป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ ซึ่งมาจากบทกลอนเรื่องอิเหนาตอนจรการำกฤชที่ว่า


“ยอกรขึ้นเพียงศิโรเพฐ ไหว้ไทเทเวศน้อยใหญ่
อันมีทิพเนตรส่องไป อย่าได้เข้าด้วยคนร้าย”



มีภาพที่ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับบางประเทศเป็นการเสด็จฯ ไปเป็นครั้งแรก พระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนคนไทยมาหลายครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕o ทรงมีพระมหากรุณา ธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ทรงบันทึกไว้ระหว่างเสด็จฯ เยือนสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาจัดแสดงนิทรรศการอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบันเพื่อเป็นการให้ความรู้แก่นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป


ในปีนี้ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “อันมีทิพเนตรส่องไป” รวมทั้งหมด ๑๕๘ ภาพ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองจากสายพระเนตรที่ทรงประสบพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ทรงสนพระทัยในช่วงปี พ.ศ. ๑๕๕๖-๒๕๕๗ ถ่ายทอดร้อยเรียงเป็นเรื่องราวผ่านภาพ ซึ่งแต่ละภาพที่นำมาจัดแสดงนอกจากเป็นภาพที่สวยงามทรงคุณค่าทางศิลปะการถ่ายภาพแล้ว ยังให้ข้อคิดเตือนใจในแง่มุมต่าง ๆ ด้วย และเมื่อวันพุธที่ ๑o ธ.ค. ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดนิทรรศการ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


ก่อนเสด็จฯ เปิดนิทรรศการซึ่งจัดบริเวณชั้น ๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายถึงที่มาและแรงบันดาลพระราชหฤทัยของชื่อนิทรรศการนี้ว่า เกิดจากการที่ทาง สวทช. มีภาพถ่ายจากกล้อง เอสอีเอ็ม (สแกนนิ่ง อิเล็กทรอนิกส์ ไมโครสโคป) ที่สามารถมองเห็นภาพหรือ สิ่งต่าง ๆ ในระดับนาโนได้ ทำ ให้ภาพที่ปรากฏมีความสวยงาม จึงอยากถ่ายภาพดังกล่าวบ้าง ทำให้ในปีนี้มีภาพแปลก ๆ ที่ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ จุล ทรรศน์ และโดรน (ยานไร้คนขับ) ด้วย ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้เปรียบเสมือนตาทิพย์ที่ทำให้เห็นในสิ่งที่ไม่น่าเห็นได้ ขณะเดียวกันได้นำช่วงหนึ่งของคำกลอนในเรื่องอิเหนา ตอนจรการำกฤช ที่ว่า “ยอกรขึ้นเพียงศิโรเพฐ ไหว้ไทเวศน้อยใหญ่ อันมีทิพเนตรส่องไป อย่าได้เข้าด้วยคนร้าย” มาเป็นชื่อของนิทรรศการ


จากนั้นทรงบรรยายถึงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ไฮไลต์สำคัญกว่า ๔o ภาพ อาทิ ภาพ “ดาวพฤหัส” ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาด ๒.๔ ม. ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่หอดูดาวแห่งชาติดอยอินทนนท์ ภาพ “เนบิวลารูปหงส์” เป็นภาพที่มีการเพิ่มฟิลเตอร์สร้างสีสันให้สวยงามขึ้น ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์ซีทีไอโอ ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศชิลี ถ่ายผ่านอินเทอร์เน็ตที่อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา กว่าจะได้ถ่ายภาพนี้ต้องจองคิวกล้องกันนาน แต่โชคดีที่เวลาของไทยและชิลีสลับกลางวันกลางคืนกัน จึงไม่ต้องอดหลับอดนอน ขณะที่ภาพที่ถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์อย่าง ภาพ “กระเปาะเก็บน้ำมันใบกะเพรา” เป็นพืชที่ทำน้ำมันหอมระเหยได้ ถ่ายด้วยการใช้เทคโนโลยีระดับนาโนกำลังขยายถึง ๗oo เท่า ทำให้ได้เห็นกระเปาะเก็บน้ำมันที่ให้กลิ่นของกะเพราบรรจุอยู่ในแคปซูล ซึ่งไม่เคยทราบมาก่อนว่าในกระเปาะจะมีน้ำมันอยู่ ส่วนภาพ “รูปที่โดรนถ่าย” และ “มุมสูงที่วังสระปทุม” เป็นบรรยากาศที่ใช้โดรน หรือยานไร้คนขับ ถ่ายที่วังสระปทุม ทำให้เห็นว่ารายล้อมไปด้วยต้นไม้นานาชนิด เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินหลงเข้ามาเพราะคิดว่าเป็นสวนลุมพินี


นอกจากนี้ยังมีภาพที่ทรงบันทึกจากกล้องส่วนพระองค์อีก เป็นจำนวนมาก อาทิ ภาพ “ใบตองอ่านแบงค็อกโพสต์” ซึ่งเป็นแมวที่รักมาก จนวันหนึ่งใบตองหายไป รู้ภายหลังว่าไปอยู่ที่วังสวนจิตรลดาจึงให้คน พากลับมา และยังอยู่ถึงทุกวันนี้ อีกทั้งยังเป็นแมวชอบอ่านหนังสือพิมพ์เป็นอย่างมาก ภาพ “พบกันวันสุดท้าย อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี” เป็นภาพถ่ายสุดท้ายที่ได้เจอ อ.ถวัลย์ ที่กำลังวาดรูปโดยลงฝีแปรงอย่างมั่นคง, ภาพ “งานซ้อน 3” ภาพของ ดร.สุเมธ ที่ถ่ายขึ้นหน้าแปลง พริกปู่เมธ พริกชนิดนี้เป็นพริกที่มีคุณภาพดี เผ็ดเป็นพิเศษ ปู่เมธนำมาขยายพันธุ์ที่ จ.เชียงราย แต่เด็ก ๆ ที่ไร่ไม่ทราบชื่อพันธุ์เลยนำรูปปู่เมธมาปักและเรียกกว่า พริกปู่เมธ เลยต้องถ่ายรูปท่านกับรูปถ่ายท่านทุกปีไปเรื่อย ๆ และภาพ “ชัยชนะของเจ้าแม่ นครศรีธรรมราช” เป็นภาพที่ประชาชนนำชุดไทยและของเซ่นมาไหว้ที่ต้นไทรขนาดใหญ่กลางคลองชลประทาน เนื่องจากสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ยัง จ.นครศรีธรรมราช มีชาวบ้านจำนวนมากมาบอกว่ามีเรื่องเดือดร้อนอยากได้คลองชลประทาน จะขุดคลองอย่างไรเมื่อมีต้นไทรขวางอยู่ คนงานอื่น ๆ ก็มีอันเป็นไป พระองค์จึงมีรับสั่งให้ตั้งศาลหลวงขึ้นมา ทำให้การทำคลองชลประทานลุล่วงไปได้ แต่มีข้อสงสัยว่าต้นไทรเป็นที่พำนักของเจ้าพ่อหรือเจ้าแม่ สุดท้ายมีประชาชนนำของมาถวายให้เจ้าแม่มากกว่า


สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “อันมีทิพเนตรส่องไป” เปิดให้เข้าชมระหว่างนี้ถึงวันที่ 8 มี.ค. ๒๕๕๘ (หยุดวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา ๑o.oo-๒๑.oo น. และมีการจัดจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “อันมีทิพเนตรส่องไป” ในราคาเล่มละ ๙oo บาท ที่ห้องนิทรรศการ ชั้น ๙ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (สี่แยกปทุมวัน) และศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรายได้ทั้งหมด นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลตามอัธยาศัย.


นิทรรศการ : ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ​“อันมีทิพเนตรส่องไป​”​
วันที่ : ๑o ธันวาคม – ๘ มีนาคม ๒๕๕๘
สถานที่ : ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น ๙
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : ฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เบอร์โทร : o๒-๒๑๔-๖๖๓o – ๘ ต่อ ๕o๑
//www.facebook.com/baccpage
//www.bacc.or.th







ภาพและข้อมูลจากเวบ
bacc.or.th
artbangkok.com
dailynews.co.th














ม.ราชภัฏบุรีรัมย์จับมือนานาชาติสานงานวัฒนธรรม ฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ สมเด็จพระเทพฯ


รองศาสตราจารย์มาลินี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ เนื่องจากพระองค์ท่านทรงเป็นองค์อุปถัมภ์มรดกทางวัฒนธรรมไทย ทรงเป็นแบบอย่างในการส่งเสริม อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย รวมทั้งเผยแพร่ทั้งในประเทศและในระดับสากล


อธิการบดี ม.ราชภัฏบุรีรัมย์กล่าวว่า งานที่จัดมีขึ้นในบริเวณของมหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ มกราคม ๒๕๕๘ นี้ โดยมีการตอบรับจากนานาประเทศที่จะเข้าร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมครั้งนี้ ในเบื้องต้นตอบรับมาแล้วกว่า ๑o ประเทศ นอกจากนี้ในโอกาสที่เป็นสิริมงคล ในนามมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจที่สำคัญคือ การผลิตบัณฑิตและสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ วิจัยและสร้างองค์ความรู้ให้กับท้องถิ่น บริการถ่ายทอดเทคโนโลยี ยกระดับและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และส่งเสริม สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริม สืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น


“ในบริเวณกว่า ๔oo ไร่ของมหาวิทยาลัย เราจัดให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นโดยการแสดงออกผ่านงานศิลปะต่างแขนงต่าง ๆ และการออกร้านของกลุ่มแม่บ้าน ผลิตผลทางการเกษตรต่าง ๆ ที่สำคัญเรามีการแสดงดนตรีเชิงวัฒนธรรมจากนักร้องที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศหลายท่าน และการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากต่างประเทศซึ่งตอบรับมาแล้วมากกว่า ๑o ประเทศที่เข้าร่วมในงานครั้งนี้ จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและพี่น้องคนไทยทุกคนเข้าร่วมงานครั้งนี้ ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น” อธิการบดี ม.ราชภัฏบุรีรัมย์กล่าว


กิจกรรมในงานประกอบด้วย วันที่ ๑๘ มกราคม งานเลี้ยงต้อนรับคณะนักแสดง กล่าวต้อนรับคณะนักแสดง โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ – แลกเปลี่ยนของที่ระลึก – ชมการแสดงต้อนรับจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์


วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๘ สัมมนาบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาต่อการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตสู่ประชาคมอาเซียน ณ หอประชุมวิชชาอัตศาสตร์ โดยสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน – เทคนิคการเขียนหนังสือและตำราที่มีคุณภาพ ณ ห้องประชุมศูนย์วิทยาศาสตร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ – ลานวัฒนธรรมวิถีคนอีสานใต้ ณ ลาน รปศ. ข้างอาคาร ๖ โดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ – การสัมมนาทางวิชาการและปฏิบัติการศิลปะเครื่องปั้นดินเผาร่วมสมัยนานาชาติ ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา โดยคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม – ขบวนพาเหรด – พิธีเปิด The Celebrations on the Auspicious Occasion of Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn’s 5th Cycle Birthday Anniversary, 2nd April 2015 At Buriram Rajabhat Internation Conference and Cultural Festival (BRICC Festival) ณ เวทีกลางแจ้งมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดย พล.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธาน การแสดงหุ่นละครเล็ก คณะโจหลุยส์ – การแสดงจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา – การแสดงจากประเทศ Cambodia, Russia, Philippines, Kirgizistan, Sri Lanka, Laos, Bangladesh, Indonesia, Turkish


วันที่ ๒o มกราคม ๒๕๕๘ – รวมพลัง สร้างศรัทธา พัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ณ หอประชุมวิชชาอัตศาสตร์ โดยคณะครุศาสตร์ เทคนิคการเขียนหนังสือและตำราที่มีคุณภาพ ณ ห้องประชุมศูนย์วิทยาศาสตร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ – ลานวัฒนธรรมวิถีคนอีสานใต้ ณ ลาน รปศ.ข้างอาคาร ๖ โดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ – การสัมมนาทางวิชาการและปฏิบัติการศิลปะเครื่องปั้นดินเผาร่วมสมัยนานาชาติ ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา โดยคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม – มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์สร้างสรรค์วัฒนธรรมการอ่านเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาไทย ณ ห้องประชุมโกวิทเชื่อมกลาง โดยสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ – รายการม่วง เหลือง ประชันเพลง (รอบคัดเลือก – การแสดงจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา, ประเทศ Sri Lanka, Russia, ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, ประเทศ Laos, Turkish – การแสดงเพลงฉ่อย จำอวดหน้าม่าน โย่ง นง พวง


วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๘ – เยือนถิ่นแผ่นดินปราชญ์ ปีที่ ๓ ณ หอประชุมวิชชาอัตศาสตร์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา – การสัมมนาทางวิชาการและปฏิบัติการศิลปะเครื่องปั้นดินเผาร่วมสมัยนานาชาติ ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา โดยคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม – มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์สร้างสรรค์วัฒนธรรมการอ่านเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาไทย ณ ห้องประชุมโกวิทเชื่อมกลาง โดยสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ – การแสดงจากโรงเรียนโคกเหล็ก, โรงเรียนบัวหลวงวิทยาคม, โรงเรียนเทศบาล ๒ – รายการม่วง เหลือง ประชันเพลง ศิลปิน หนู มิเตอร์ – การแสดงจากประเทศ Kirgizistan, Philippines การแสดงจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา – การแสดงจากประเทศ Bangladesh, Indonesia – การแสดงลิเก กุ้ง-สุธิราช วงศ์เทวัญ วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ Buriram Economic Development : Destination of Football and Motor Sport to ASEAN ณ หอประชุมวิชชาอัตศาสตร์ โดยคณะวิทยาการจัดการ การประกวด ASEAN Drama Contest & ASEAN Exhibition ณ ห้องประชุมโกวิทเชื่อมกลาง โดยสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ – การวิจัยเกษตรจากสถานศึกษาสู่ชุมชน ครั้งที่ ๑ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๕o พรรษา มหาวชิราลงกรณ ชั้น ๙ โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร การแสดงนิทรรศการและงานเครื่องปั้นดินเผานานาชาติ ณ ห้องโถงอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา โดย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม – การแสดงจากโรงเรียนห้วยราชพิทยาคม, โรงเรียนอนุบาลบุรีรัมย์, โรงเรียนภัทรบพิตร – รายการม่วง เหลือง ประชันเพลง ศิลปิน สุนารี ราชสีมา -การแสดงโขนจากโรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย จังหวัดนครปฐมการแสดงจากประเทศ Japan, Sri Lanka, Korea – เพลงฉ่อยคณะแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี


วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๘ – National and international Research Conference 2015 (NIRC 2015) ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๕o พรรษา มหาวชิราลงกรณ ชั้น ๓, ๗, ๘, ๙ โดยบัณฑิตวิทยาลัย, สำนักงานวิเทศสัมพันธ์, สถาบันวิจัยและพัฒนา และสำนักศิลปะและวัฒนธรรม – การแสดงนิทรรศการและงานเครื่องปั้นดินเผานานาชาติ ณ ห้องโถงอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา โดยคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม การแสดงโปงลางวงพนมรุ้ง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางการแสดงจากประเทศ Japan, Russia การแสดงเพลงทรงเครื่อง จากวิทยาลัยนาฏศิลป์อ่างทอง การแสดงจากประเทศ Korea การแสดงหุ่นคน จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ – หมอลำ บานเย็น รากแก่น การแสดงวงโปงลางจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี พิธีปิด สอบถามรายละเอียดได้ที่งานประชาสัมพันธ์ โทร.o-๔๔๖๑-๑๒๒o, o๘-๕๓๑๕-๔๑๔๒







ภาพและข้อมูลจาก
buriramguru.com










































ภาพและข้อมูลจากนสพ.โพสต์ทูเดย์ ๑๔ ม.ค. ๒๕๕๘













การแสดง “สังคีตศาลา”
เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


กรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต จัดการแสดง “สังคีตศาลา” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๖o พรรษา ให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกวันอาทิตย์ตลอดเดือนมกราคม จนถึงวันอาทิตย์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เวลา ๑๗.oo-๑๙.oo น. ณ บริเวณลานหน้าพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้า การจัดแสดงดนตรีสำหรับประชาชน ณ สังคีตศาลา ได้มีการดำเนินงานมานับแต่ปี ๒๔๙๑ สืบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยจัดการแสดงที่หลากหลายจากศิลปินของกรมศิลปากรและศิลปินรับเชิญ สำหรับในการแสดงครั้งนี้ประกอบไปด้วยการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๖o พรรษาในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ รายการแสดงประกอบด้วย วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๘ การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดศึกแสงอาทิตย์, ศึกพรหมาสตร์ วันอาทิตย์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดยกรบ, ถวายลิง, ชูกล่องดวงใจ, พระรามคืนนคร ผู้สนใจสามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร หมายเลขโทรศัพท์ o-๒๒๒๕-๙o๙๗







ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com
banmuang.co.th
finearts.go.th












ชวลิต เสริมปรุงสุ





ปัญญา วิจินธนสาร


ชวลิต เสริมปรุงสุข ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติปี ๕๗ นำวิถีไทยไปสากล



นับเป็นวันแห่งเกียรติยศของชวลิต เสริมปรุงสุข และปัญญา วิจินธนสาร สองจิตรกรผู้มากความสามารถ เมื่อการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๑๙ ม.ค. ๒๕๕๘ พิจารณาคัดเลือกยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ ในสาขาทัศนศิลป์


ซึ่งยังมีศิลปินอีก ๑o คนที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ ๓ สาขา ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง ประกอบด้วย จรูญ อังศวานนท์ บรมครูวงการออกแบบตกแต่งภายในไทย, นิจ หิญชีระนันท์ ปูชนียบุคคลด้านสถาปัตยกรรมไทย, บุญช่วย หิรัญวิทย์ ครูช่างโบราณ, ชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) นักเขียนอาชีพผู้สร้างสรรค์สังคม, ณรงค์ จันทร์พุ่ม นายหนังตะลุงผู้มากปฏิภาณ, ดุษฎี บุญทัศนกุล ผู้เชี่ยวชาญงานดนตรีสากล, พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ผู้แต่งเพลงลูกทุ่งมาแล้ว ๗oo เพลง, ภัทราวดี มีชูธน ครูผู้สร้างของวงการละครเวทีและภาพยนตร์, สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ ผู้กำกับและนักแสดงอาวุโส ผู้คร่ำหวอดในวงการโทรทัศน์ และสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจสืบสานดนตรีไทย


สาขาทัศนศิลป์ เห็นผลงานของสองจิตรกรที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณแล้ว ต้องบอกว่าโดนใจไม่น้อย ชวลิต เสริมปรุงสุข วัย ๗๕ ปี เป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์สนับสนุน โดยได้รับเงินเดือนในระ ดับตำแหน่งศาสตราจารย์ เพื่อเป็นศิลปินอิสระ สร้างสรรค์ศิลปะตามที่ใจรัก


ผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติคนใหม่ผู้นี้เป็นงานศิลปะนามธรรม สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตและจิตวิญญาณแห่งมิติความเชื่อและอุทิศตัวเพื่อศิลปะบริสุทธิ์ รูปแบบผลงานเป็นนามธรรมเฉพาะตัวที่สืบทอดมรดกศิลปะการสร้างสรรค์แบบอุดมคติ มีรากแก้วแห่งวิถีวัฒนธรรมไทยลึกซึ้ง ละเมียดละไมของโลกตะวันออก ให้อัตลักษณ์แห่งการใช้สีสันสดใส สว่างไสว สงบ สะอาด วิจิตรบรรจง สะท้อนวิถีตะวันออกได้ล้ำลึก ชวลิตคว้าศิลปินแห่งชาติ เพราะโดดเด่น สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ รวมทั้งทำหน้าที่เหมือนทูตวัฒนธรรมและสื่อกลางเผยแพร่งานศิลปะร่วมสมัยให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ


ขณะเดียวกันได้นำประสบการณ์ชีวิตและการสร้างงานศิลปะในต่างแดนมาถ่ายทอดและพัฒนาให้ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ นักศึกษา เพื่อเป็นการสร้างความก้าวหน้าวงการศิลปะ ปัจจุบันชวลิตพำนักอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และด้วยความผูกพันกับแผ่นดินเกิด จึงนำความรู้ความสามารถทางศิลปะสร้างงานศิลปะจัดแสดงให้คนไทยได้ชื่นชมอยู่เสมอ ผลงานของศิลปินผู้นี้มีทั้งจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ประติมากรรม ศิลปะจัดวางอยู่ในเนเธอร์แลนด์และไทย


ส่วนปัญญา วิจินธนสาร วัย ๕๘ ปี จิตรกรผู้เผยแพร่ศิลปะไทยซึ่งมีผลงานเป็นที่จับตามองและมีแฟน ๆ ศิลปะลุ้น ปีนี้ก็ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติด้วย สำหรับปัญญา เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ศิลปะในแนวทางศิลปะไทยร่วมสมัย ที่มีฐานความคิด แรงบันดาลใจจากคติความเชื่อในทางปรัชญา การสร้างสัญลักษณ์ รูปแบบ และเทคนิควิธีการจากรูปแบบประเพณีนำมาผสมผสานกับรูปแบบเทคนิคของศิลปะร่วมสมัย เกิดงานเฉพาะตน เป็นศิลปะไทยร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน จุดเด่นสำคัญคือเนื้อหาสาระแฝงความหมายของพุทธปรัชญาไว้สมบูรณ์แบบ มีงานแสดงเดี่ยวและแสดงกลุ่มอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ


ประสบการณ์ทำงานศิลปะของจิตรกรผู้มากความสามารถนี้ ทำให้สามารถถวายงานรับใช้ในการเขียนภาพประกอบในหนังสือพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และล่าสุดเป็นผู้ถวายงานรับใช้ในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ในโครงการพระดำริบูรณะซ่อมแซมพระวิหาร เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และจัดหาทุนเพื่อบูรณะเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองน้ำขุ่น อ.แกลง จ.ระยอง และการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เวียงท่ากาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่


ซึ่งตอนนี้อาจารย์ปัญญายังเป็นผู้วิจัยสร้างองค์ความรู้ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ รวมถึงเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการเป็นที่ปรึกษาตัดสินงานศิลปกรรมให้หน่วยงานต่าง ๆ เสมอมา


อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร เผยความรู้สึกหลังทราบว่า กวช.ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ปี ๕๗ ว่า ดีใจและภูมิใจที่ได้คัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นวันเกียรติยศสูงสุดของชีวิต


"ในการทำงานศิลปะตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ มุ่งหวังสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดเวลาในการถ่ายทอด เผยแพร่ความรู้ให้กับวงการศิลปะ เพื่องานศิลปะจะได้ขยายในวงกว้าง เป็นที่รู้จักมากขึ้น ปัจจุบันมีการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับงานศิลปะในประเทศไทยน้อย อยากเสนอให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ส่งเสริมและผลักดันให้หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาศิลปะเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษามากขึ้น และขอให้ส่งเสริมการจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้จากศิลปินแห่งชาติและผู้มีความรู้ด้านศิลปะสู่กลุ่มเยาวชน นักศึกษาศิลปะ เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงคุณค่าของงานศิลปะ นำไปสู่การพัฒนาสติปัญญาและสังคมต่อไป" ปัญญา ศิลปินแห่งชาติคนใหม่ กล่าว


ปีนี้ ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๕๗ ที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ซึ่งตรงกับวันศิลปินแห่งชาติ ในงานวันนั้นจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ พร้อมกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยด้วย แฟน ๆ ชาวไทยร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมกับติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ //www.culture.go.th หรือทางเฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม //www.facebook.com/DCP.culture



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
matichon.co.th






































ภาพและข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ ๒๑ ม.ค. ๒๕๕๘













ภาพและข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ ๒๑ ม.ค. ๒๕๕๘

























ภาพและข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ ๒๑ ม.ค. ๒๕๕๘













ตระการตานวัตศิลป์ชั้นสูง


จะให้จัดสักกี่ครั้งก็อลังการทำให้ตาลุกวาวได้เสมอเชียวละสำหรับงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ซึ่งปีนี้เดินทางมาเป็นครั้งที่ ๖ แล้วที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. จัดขึ้นด้วยตั้งใจร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมสืบสานอนุรักษ์นวัตศิลป์ไทยอันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศ และภายใต้แนวคิด “สืบสานมรดกไทย ความภูมิใจของแผ่นดิน” ที่นอกจากจะรวมสุดยอดผลงานนวัตศิลป์ไว้อย่างมากมายแล้ว ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การแสดงผลงานนวัตศิลป์ชั้นสูงจาก “ทอง” ที่มีความล้ำเลิศเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ "LUX by SACICT" หัตถกรรมที่ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมผนวกเทคนิคชั้นยอด เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ในวงกว้าง พร้อมผลักดันสู่ตลาดโลก โดยเปิดให้ชื่นชมกันฟรี ๆ ไปแล้วบริเวณแฟชั่น ฮอลล์ ชั้น ๑ และไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น ๒ ศูนย์การค้าสยามพารากอน วันก่อน






“ครูช่างชั้นสูง” ที่นำผลงานออกมาให้ยลพร้อมถ่ายทอดเทคนิคของการผลิตชิ้นงานชั้นสูงจาก “ทอง” จำนวน ๗ ท่าน นำโดย ครูวีรธรรม ตระกูลเงิน ผู้เชี่ยวชาญการทอผ้าไหมยกทอง จ.สุรินทร์ ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า ผ้าแต่ละผืนมีลวดลายเฉพาะตัว ซึ่งในสมัยโบราณลายผ้าบ่งบอกถึงยศ ตำแหน่งของผู้สวมใส่ เช่น ผ้าไหมยกทองที่นำมาแสดงในวันนี้คือ ผ้าสังเวียนลายครุฑยุดนาค ใช้กันเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงจนถึงพระมหากษัตริย์ มีกระบวนการทอที่ค่อนข้างยากและซับซ้อน โดยผ้าหนึ่งผืนต้องใช้คนทอถึง ๔ คน และใช้เวลานานกว่าหนึ่งปีจึงจะเสร็จ เช่นเดียวกับ ครูนิคม นกอักษร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องถม จ.นครศรีธรรมราช ก็ได้นำกระเป๋าถือ “ถมตะทอง” ลายใบเทศ มาอวด สร้างสรรค์โดยกรรมวิธีถมตะทองซึ่งเป็นการถมแบบโบราณ ยากกว่าการถมเงิน และถมทอง จุดเด่นอยู่ที่มีลักษณะ ๓ สีสลับกัน คือ สีดำ สีเงิน และสีทอง นับเป็นศิลปะอันล้ำค่าของชาติที่หาชมยากยิ่ง






ผู้ใดสวมใส่แล้วจะเป็นศิริมงคลเสริมสร้างบารมีแก่ตัวเองต้องยกให้ผลงานชุด “มณีนพรัตน์” ของ ครูปราโมทย์ เขาเหิน ผู้เชี่ยวชาญเครื่องทองสุโขทัย ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ ทั้งทับทิม และมรกต ที่มีความหมายในกลุ่มนพรัตน์ หรือนพเก้า ใช้เทคนิคลวดตัดลายทำให้เครื่องทองมีลวดลายสวยงาม แปลกตา และแตกต่างกัน เกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะผลงาน และที่สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กันคือหัวโขน “พระวิษณุกรรม (โล้น) ” ผลงานของ ครูวัฒนา แก้วดวงใหญ่ เป็นหัวโขนหน้าสี ที่ใช้ทองคำเปลวในการรังสรรค์ทั้งหมด โครงหน้าของหัวโขนนั้นมีการปั้นให้ออกมาหรูหรา และสง่างาม ประกอบกับการตกแต่งและวาดลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตระกูลช่างแก้วดวงใหญ่ ยังมีผลงานของ ครูเมตตา เสลานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเครื่องลงหิน และ ครูธานินทร์ ชื่นใจ ผู้รังสรรค์ตู้พระธรรมลายรดน้ำปิดทอง


งานจะเสร็จสิ้นไปแล้วท่ามกลางผู้สนใจเข้าชมอย่างคับคั่ง เอาเป็นว่าสำหรับใครที่พลาดนับวันรอได้เลย ปีหน้าฟ้าใหม่งานแห่งความภาคภูมิใจนี้เวียนกลับมาให้ยลกันอีกแน่นอน...



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














Akira Kurosaki's Woodcuts


นิทรรศการ Akira Kurosaki’s Woodcuts นำเสนอผลงานภาพพิมพ์ ๓ ชุด ของศิลปินระดับแนวหน้าในวงการศิลปะภาพพิมพ์ร่วมสมัยจากประเทศญี่่ปุ่น อากิระ คุโรซากิ โดยเลือกสรรผลงานชุด Forbidden Zone ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นจากความสะเทือนใจในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ผลงานชุด Eight Views of Ōmi สร้างสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิคภาพพิมพ์บนกระดาษทำมือจากประเทศเกาหลี ด้วยเรื่องราวเนื้อหาเกี่ยวกับความประทับใจในทิวทัศน์ธรรมชาติของผืนแผ่นดินญี่ปุ่นที่ศิลปินเคยคุ้นในวัยเยาว์ และผลงานชุด Man’yō ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นบนกระดาษญี่ปุ่นชนิดสั่งทำพิเศษ ด้วยแรงบันดาลใจที่ศิลปินได้รับมาจากกวีนิพนธ์โบราณของประเทศญี่ปุ่น



















































ภาพและข้อมูลจาก
ardelgallery.com














Barry X Ball : Portraits and Photos


นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศิลปินอเมริกันชื่อดัง Barry X Ball กับการจัดแสดงผลงานประติมากรรมหิน “Matthew Barney Dual Portrait” ชิ้นใหม่ล่าสุด ซึ่งเป็นภาพแกะสลักใบหน้าของ Matthew Barney ศิลปินร่วมสมัยชื่อดังชาวอเมริกัน


รวมไปถึงคอลเลคชั่นภาพถ่ายบันทึกผลงานชิ้นสำคัญต่างๆ ของ Ball ที่จัดแสดงไว้ในปราสาทและวังต่าง ๆ ในอิตาลี เช่น the Ca’ Rezzonico ใน Venice และ the Palazzo Mansi ใน Lucca


Barry X Ball หรือ BXB คือหนึ่งในประติมากรที่มีชื่อเสียงทางด้านฝีมือมากที่สุดของศตวรรษนี้ ด้วยความสามารถเหนือชั้นในการสร้างสรรค์ผลงานที่ผสมผสานความเป็น contemporary และ classic art ในทุกชิ้นงานได้อย่างลงตัว งานประติมากรรมทุกชิ้นของ Ball สะกดผู้ชมงานด้วยความประณีตของพื้นผิว สี และรูปทรง ที่บ่งบอกถึงความซับซ้อนและการใช้ทักษะประติมากรรมชั้นสูงในกระบวนการทำงาน


ผลงานของ Ball ถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ และเทศกาลศิลปะที่สำคัญในระดับโลกมากมาย อาทิ 54th Venice Biennale, MoMA PS1, และ the Lucca National Museums อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของ Museum และ Private Collection สำคัญๆ ทั่วโลก อาทิ SFMOMA (USA), Museo Cantonale d’Arte (Switzerland), และ the Thomas Olbricht Collection (Germany) เป็นต้น


100 ต้นสนแกลเลอรี่ ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมชมงาน “Barry X Ball: Portraits and Photos” ได้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๘ ในวันแรกของงาน (First Preview Day) แกลเลอรี่จะเปิดให้เข้าชมได้จนถึง 9.30 น พร้อมอาหารและเครื่องดื่มตลอดงาน และพบปะพูดคุยศิลปิน Barry X Ball ได้ในงาน Closing Party สุดพิเศษในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ 100 ต้นสนแกลเลอรี่


First Preview Day: ๑๕ มกราคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๑.oo – ๒๑.๓o น.
Closing Party: ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๙.oo น.


นิทรรศการ : Barry X Ball: Portraits and Photos
ศิลปิน : Barry X Ball
วันที่ : ๑๕ มกราคม – ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๘
สถานที่ : 100 ต้นสนแกลเลอรี่
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : o๒-๖๘๔-๑๕๒๗
อีเมล : info@100tonsongallery.com
เว็บไซต์ : //www.100tonsongallery.com


ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














Once upon a time


เยาวชนกลุ่มศิลปินดาวเด่นบัวหลวง รุ่นที่ ๕ และรุ่นที่ ๖ ขอเชิญชมนิทรรศการ “Once upon a time” ซึ่งเป็นการรวมตัวของนิสิต นักศึกษา จำนวน ๔๖ คน ที่เคยเข้าร่วมโครงการดาวเด่นบัวหลวง 101 ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และ พ.ศ. ๒๕๕๖ นิทรรศการ “Once upon a time” เป็นนิทรรศการศิลปะ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และมิตรภาพอันดีงามของเยาวชนกลุ่มศิลปินดาวเด่นบัวหลวงรุ่นที่ 5 และรุ่นที่ ๖ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่งานศิลปะของศิลปินรุ่นใหม่ที่มีรูปแบบ วิธีการ และเนื้อหางานศิลปะที่หลากหลาย จากแนวคิดและเทคนิคที่ศิลปินมีความถนัดเฉพาะตน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและให้ความสุนทรีย์แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจในงานศิลปะ


ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “Once upon a time” เพื่อสนับสนุนให้ศิลปินรุ่นใหม่มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ เพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชนต่อไป นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ – ๓o มีนาคม ๒๕๕๘ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันพุธ) เวลา ๑o.oo น.- ๑๙.oo น.


นิทรรศการ : “Once upon a time”
ศิลปิน : เยาวชนกลุ่มศิลปินดาวเด่นบัวหลวง รุ่นที่ ๕ และรุ่นที่ ๖
วันที่ : ๓ กุมภาพันธ์ – ๓o มีนาคม ๒๕๕๘
สถานที่ : หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เบอร์โทร : o๒-๒๘๑-๕๓๖o-๑































ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com












ว่าว “คินทาโร่กับยามะอุบะ” จากจ.อาโอโมริ



แผ่นดินไหวและสึนามิ ที่..โทโฮขุ


เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นที่โทโฮขุเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ภูมิภาคโทโฮขุที่ขึ้นชื่อด้านความงดงามของทัศนียภาพตามธรรมชาติและอุดมไปด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้คนในท้องถิ่นต่างจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในครั้งนั้น แต่พวกเขาได้ร่วมมือร่วมใจสร้างสรรค์ และมุ่งมั่นสร้างความสงบและความปกติสุขให้กลับคืนมาสู่ชีวิตของพวกเขาโดยเร็วเท่าที่จะทำได้





ไหสาเก จาก คาวาทสึระ ยุซาวะ จ.อากิตะ



สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC ) จ.เชียงใหม่ จัดนิทรรศการ ศิลปหัตถกรรมอันงดงามแห่งโทโฮขุ จากญี่ปุ่น(Beatiful Handicrafts of Tohoku ,Japan)





ตะกร้าสานไม้ไผ่ จากจ.อาโอโมริ



นิทรรศการหมุนเวียนจากประเทศญี่ปุ่นที่จัดเพื่อระลึกถึงโอกาสครบรอบเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นที่โทโฮขุ ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการทั้งหมด ๗o ชิ้น แสดงถึงเทคนิคชั้นสูงทางด้านศิลปหัตถกรรมแบบดั้งเดิมที่ฟูมฟักกันมาในภูมิภาคโทโฮขุของญี่ปุ่น อันประกอบด้วย เครื่องเขิน เครื่องเคลือบดินเผา งานปัก สิ่งทอ เครื่องจักสาน งานดัดไม้ เครื่องโลหะ และงานวาดระบายสี เป็นต้น และล้วนเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวันที่ใช้กันมาในญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตกาล





เครื่องเขินอัปปิ จากจ.อิวาเตะ



ผู้ชมจะได้รับรู้ถึงมรดกทางศิลปะและหัตถกรรมอันเป็นเอกลักษณ์อันดึงดูดของโทโฮขุจากความความงามของ ผลงานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ และจะช่วยให้เข้าใจภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้มาจากการใช้ชีวิตอย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติ รวมถึงทักษะฝีมือ และความชำนาญที่พัฒนาขึ้นจากภูมิปัญญาเหล่านั้นได้มากยิ่งขึ้น





ชิโกะ มุนาคาตะ, “The Cave of Lion”, สี,
ภาพพิมพ์แกะไม้, ๒๔๙๖



นิทรรศการ “ศิลปหัตถกรรมอันงดงามแห่งโทโฮขุ ญี่ปุ่น” วันศุกร์ที่ ๑๖ มกราคม – วันศุกร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๙.oo – ๑๗.oo น. (หยุดวันเสาร์,วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ ห้องนิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


จากนั้นนิทรรศการจะสัญจรไปจัดแสดงที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันเสาร์ที่ ๗ มีนาคม – วันพฤหัสที่ ๓o เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑o.๓o – ๑๘.oo น.(หยุดวันจันทร์ และหยุดสงกรานต์) ณ ห้องนิทรรศการ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC ) จ. เชียงใหม่



ภาพและข้อมูลจาก
jfbkk.or.th
manager.co.th














ศิลปะ : อัตลักษณ์ของอาเซียน


ไม่ว่าจะตื่นตัวตาม หรือไม่เลย แต่เราทุกคนต่างอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของการถูกกระตุ้นด้วยคำว่า เรากำลังจะเข้าสู่ “ประชาคมอาเซียน” อยู่เป็นระยะ ๆ และที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีหลายหน่วยยงาน หลายองค์กร จัดกิจกรรมอันมีเหตุผลและที่มาจากการจะรวมตัวกันของ ๑o ประเทศ ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้






“ศิลปะและศาสนา” อัตลักษณ์ของอาเซียน



ดังเช่นที่ล่าสุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมบรรยาย อาเซียนในมิติวัฒนธรรม ชุด “ศิลปะ: อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในอาเซียน” ด้วยเหตุผลที่ว่า “การจะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการพัฒนาทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังต้องให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจสังคม - วัฒนธรรม ของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคม”


โดยการบรรยายได้จัดให้มีขึ้น ๓ ครั้ง ใน ๓ หัวข้อ ได้แก่ ศิลป์/สิปป์: รากเหง้าและแนวคิด,ทวยเทพ: ศรัทธาและพลังสร้างสรรค์ และปรัชญา: พุทธสิปป์กับความงาม อาจจะเป็นหัวข้อที่ชวนให้เครียดและเป็นวิชาการสำหรับหลายคน ทว่าได้ดึงคนให้สนใจไปร่วมฟังจำนวนไม่น้อย


การบรรยายครั้งนี้มีประโยชน์สำหรับคนไทยที่สนใจมาฟังอย่างไร ? ดร. สุธา ลีนะวัติ อาจารย์ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ทำหน้าที่วิทยากรให้กับการบรรยายทั้ง ๓ ครั้ง ให้คำตอบว่า เพราะอยากให้ทุกคนได้มองเห็นถึงภาพรวมที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีร่วมกัน ซึ่งสิ่งนั้นคือ ศิลปะ และศาสนา


“ใน Southeast Asia เราจะเอาเรื่องคอมพิวเตอร์มาเป็นจุดขาย ไม่ใครมาดูเราหรอก ผลงานศิลปกรรมคือจุดเด่นของ Southeast Asia เราต้องเอาศิลปะเป็นตัวตั้ง เอาศาสนาเป็นตัวรับ อยากให้เข้าใจว่าพุทธศาสนาได้ก่อให้เกิดอะไรใน Southeast Asia บ้าง รวมถึงศาสนาฮินดู หรือเทพ ได้ทำให้เกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหล่ะ เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นภาพรวมของ Southeast Asia เขมรก็นับถือเทพอีกอย่าง เราก็นับถือเทพอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกันหรอก แต่เรามีความคิดเรื่องเทพเป็นจุดร่วมกันอยู่ เทพจะเกี่ยวข้องกับปรัชญาแบบสุขนิยม เพราะเวลาเราเจอเทพ เราจะขอ ขอให้ถูกลอตเตอรี่ ขอให้สอบเข้าได้ ขอให้นั่นให้นี่ เราจะให้เทพประทานในสิ่งที่เราอยากสมหวัง เป็นอีกสิ่ง Southeast Asia มีร่วมกัน อยากมีความสุขสมหวังจึงขอจากเทพ”






ศิลปะรากตะวันตก


โดยเฉพาะเรื่องของ “ศิลปะ” ที่ซึ่งถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นหัวข้อแรก ของการบรรยาย ดร. สุธา ได้ให้ความรู้ว่า ในอดีต คำว่า “ศิลปะ” ในเอเชีย จัดเป็นเรื่องของ “ความชำนาญ” และถูกให้ความสำคัญน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจุบันนี้


“เราให้ความสำคัญกับศิลปะแค่ไหน ไม่มีเลย เราไม่นับว่ามันเป็นสิ่งที่เลิศเลอเพอเฟ็กต์ในสังคมเรา แล้วปัจจุบันเราจะยกให้ศิลปะวัตถุเป็นของสำคัญประจำชาติได้ไง ในเมื่อมันไม่มีอยู่ในวัฒนธรรมของเรา”


และคำว่า “ศิลปะ” ที่เรามักพูดถึงและรับรู้ร่วมกันในปัจจุบัน ก็ไม่เคยมีอยู่ใน “มหาสิปปะ ๑๒ ประการ” (ในพระไตรปิฎก) แต่เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศตะวันตก


“ในปัจจุบัน ในด้านการศึกษา เราใช้มาตรฐานของทางตะวันตก เพราะมาตฐานการศึกษาของเอเชีย ไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากในอดีตสิ่งสูงสุดที่เรานับถือคือ ความรู้อันประเสริฐ เช่น เราไม่เคยบอกว่าพระพุทธเจ้าพูดผิด ใครพูดว่าพระพุทธเจ้าพูดผิด อาจจะตกนรก พระอาจจะโกรธเราตายได้ เราก็หยุดกันตรงนี้ เพราะฉนั้นการศึกษาทั้งหมดในปัจจุบัน เราได้จากตะวันตกทั้งหมดเป็นสิ่งปูพื้น เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี รวมทั้งศิลปะด้วย เราก็รับเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว อันเนื่องมาจากท้ายสนธิสัญญา ที่ระบุว่าเราต้องใช้บุคคลากรทางตะวันตกมาเป็นต้นแบบของระบบการศึกษา ระบบวัฒนธรรม หรือกฎหมายของเรา เมื่อเรามีคนเหล่านี้เข้ามา มันก็เป็นรากตะวันตก และเราก็ใช้รากตะวันตกมาจนถึงทุกวันนี้”


รวมถึงช่วงเวลาที่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้ามาในประเทศไทย และการเขียนรูปที่เริ่มเดินตามทฤษฎีแบบตะวันตก


“เช่นหลัก Perspective เวลาเขียนรูปก็จะไปชนกันที่จุดรวมสายตา ภาพคนก็มีขนาดไม่เท่ากัน เพราะเกิดจากระยะใกล้ ไกล เมื่อใช้มุมมองแบบตะวันตกมาจับ ก็หัวเราะจิตรกรรมไทยโบราณว่ามันไม่ค่อยดีเลย ทำไมคนตัวเท่ากันหมด เขียนตรงไหนก็ตัวเท่ากัน ประหลาด ในบันทึกสาส์นสมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ท่านบันทึกเอาไว้ว่า ได้ยินคนที่จบจากเมืองนอกมาพูดว่า รูปเขียนเก่า ๆ โดยเฉพาะภาพเขียนขรัวอินโข่ง ไม่น่าเอาไว้เลย ลบทิ้งดีกว่า ได้ยินคนนี้พูดแทบตกใจ เสียสติ ไม่ได้เข้าใจความเป็นครูของโลกโบราณเลย คือบรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นเพราะมุมตะวันตกมันครอบงำเรา จนลืมคิดถึงว่าสิ่งที่ทำในอดีต ไม่ว่าจะดีเลว ยังไงก็ตาม มันเป็นคุณค่าในยุคนั้น มุมตะวันตกที่ครอบงำเรา ทำให้เกิดแนวคิดที่ตกทอดถึงปัจจุบัน กลายเป็นวิชาการเขียนภาพแบบนั้นแบบนี้”






เข้าใจซึ่งกันและกันจะดีกว่า



ดร.สุธา หวังว่า เมื่อความคิดที่เป็นเอเชียผ่านการบรรยายของตนถูกเผยแพร่ออกไป อย่างน้อย ๆน่าจะช่วยให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นและกลับมาฉุกคิดว่าสิ่งที่กำลังจะดำเนินต่อไป เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน


“โดยเฉพาะในประชาคมอาเซียน อยากให้รู้ว่าเรามีอะไรที่ร่วมกัน ผ่านศิลปะวัตถุ โบราณสถาน ก่อน แล้วมันอยู่อย่างไร ในแต่ละวัฒนธรรม ไม่ใช่มาศึกษาว่านครวัดดีอย่างไร อย่างนั้นไม่ใช่ อาจจะนครวัดมีค่ายังไง และค่าเหล่านั้นอยู่ที่ไหน หรือว่า วัดพระแก้ว เป็นต้น


เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ความงาม คุณค่า ในรูปแบบที่ใกล้กัน และร่วมกัน แต่ถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบที่ต่างกัน มันเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าศึกษาแต่ละชิ้นว่านครวัดงามยังไง วัดพระแก้วงามยังไง อย่างนั้นใคร ๆ ก็พูด แต่อยากพูดว่า มันมีอะไรที่ร่วม ๆ กันและต่างกันเพราะอะไร ทำไมจึงต่างกัน”


ขณะเดียวกัน ดร.สุธา ได้แสดงทัศนะถึงคำว่า “ศิลปะ” ที่ทุกคนคุ้นเคยร่วมกันท่ามกลางบรรยากาศของการเปิดประตูเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า ศิลปะตามความหมายที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตกยังเป็นกระแสที่แรง


“ในมุมของผม ผมคิดว่ากระแสของตะวันตกมันแรง ความหมายของศิลปะที่หมายถึงการกระทำของมนุษย์ ทำแล้วเกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็น มันเป็นสิ่งที่แรง มุมตะวันตกก็จะครอบงำเราตลอดไป ไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นมาก่อน เขาก็ใช้กระแสนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เรานั่นแหล่ะ ยังมีกระแสแปลก ๆ เพราะฉนั้นกระแสพวกนี้จะแรง แล้วเราก็คงจะใช้ความหมายของศิลปะในเชิงตะวันตก กันต่อไป แล้วเราก็จะมีศิลปินและไม่ค่อยรู้จักคำว่าช่าง คำว่าช่างที่เป็นเอกลักษณ์ของเราก็จะหายไป”


ด้วยเหตุนี้ ดร.สุธา จึงเห็นว่า ในขณะที่แวดวงศิลปะในบ้านเราอาจจะเป็นห่วงว่า เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราจะมีกิจกรรมด้านศิลปะร่วมกันอย่างไร หรือในแง่เศรษฐกิจจะมีผลต่อตลาดศิลปะของไทยอย่างไร สิ่งที่สำคัญมากว่านั้น น่าจะอยู่ที่ แต่ละประเทศในประชาคม เรารู้จัก หรือเข้าใจกันและกันแค่ไหน เพื่อที่เราจะหาหนทางอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


“อยากให้เข้าใจซึ่งกันและกันจะดีกว่า มันจะพัฒนาหรือไม่ ไม่รู้ แต่เราน่าจะเข้าใจกัน อยู่ร่วมกันก่อน โดยมีพื้นฐานตรงกลางร่วมกัน”


อดีตนักศึกษาศิลปะตะวันออก ในโลกตะวันตก



ดร. สุธา ปัจจุบัน นอกจากเป็นอาจารย์สอนทางด้านวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยสอนนักศึกษาทั้งในระดับปริญาตรี โท และเอก ก่อนหน้านี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษของ Southeast Asian Studies Program (โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


“เพิ่งสอนเทอมนี้เป็นเทอมสุดท้าย หลังจากสอนมากว่า ๑o กว่าปี แต่เริ่มไปเป็นอาจารย์สอนที่ธรรมศาสตร์ตั้งแต่ ปี ๒๕๓o แล้ว รวมทั้งหมด ๒๗ ปี”


และยังทำงานให้กับมูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ ช่วยงานมูลนิธิฯในแง่ เป็นผู้นำชมโบราณสถาน รวมถึงรับเชิญไปบรรยายตามที่ต่าง ๆ


“ก่อนหน้านี้ก็เคยสอนที่จุฬาฯ ม.กรุงเทพ ม.รังสิต สอนหลายที่ แต่ตอนนี้งดหมดแล้ว เพราะแก่แล้ว”


ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะยังสงสัยว่า ดร.สุธา ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะตะวันออก และเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก เหตุใดจึงเรียนจบทางด้านนี้จากประเทศตะวันตก โดยเรียนจบจาก Sorbonne University กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดร. สุธา ให้คำตอบว่า


“เพราะสมัยล่าอาณานิคม เราเสียเปรียบเขา ในสัญญาที่เราแลกประเทศ เราส่งลาวส่งเขมรให้เขาไปแล้ว ในท้ายสัญญาฝรั่งเศสจะบังคับเราว่าศาสตร์ทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และกฎหมาย ขอให้อาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางฝรั่งเศส เป็นผู้มาวางรากฐานให้กับเรา เพราะฉะนั้นนักวิชาการในรุ่นรัชกาลที่ ๔, ๕, ๖, ๗ จะเป็นชาวฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ พวกนี้จะเขียนตำรารวบรวมความคิด แต่อย่าลืม ข้อเสียคือ บางทีมันเป็นข้อมูลเก่า นำมาใช้อธิบายในบริบถปัจจุบันมันไม่ได้ แต่ถ้าเราไปเรียนที่จะเข้าใจว่าปัจจุบันเป็นอย่างไรในการศึกษาของอดีตมาแล้ว ถ้าเราไปศึกษาจากประเทศโดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ เราจะได้มุมของ Southeast Asia ชัดขึ้น


เพราะต่อมาเมื่อฝรั่งเศสเข้ามาปกครอง Southeast Asia แล้วเนี่ย เขาก็ศึกษาศิลปะเอเชีย อย่างเช่นศิลปะเขมร มีการแบ่งเป็นยุคสมัยอย่างชัดเจน ลาวเขาก็ศึกษา ส่วนพม่า ทางอังกฤษก็ศึกษา ดังนั้นข้อมูลโบราณจะอยู่ที่ประเทศเหล่านี้เยอะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อพม่าปิดประเทศ หรือเขมรเกิดสงคราม ข้อมูลมันก็เปลี่ยนไป ข้อมูลที่ศึกษาต่ออยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ให้เราได้ศึกษาต่อ และต่อมาตอนนี้ เมื่อเขาเป็นอิสรภาพกันมากขึ้น รูปแบบก็อาจจะเปลี่ยนไป เราอาจจะเป็นเจ้าของการศึกษาแทนก็ได้ นี่เป็นเหตุว่าทำไมผมถึงไปเรียนที่นั่น เพราะตำราเก่า ๆ ครูที่ดี มีความรอบรู้ ตั้งแต่อดีตอยู่ทางนู้น และผมก็สนใจเอเชียโลกโบราณในอดีต การไปเรียนทางนั้นจึงดีครับ”


กิจกรรมการบรรยาย “อาเซียนในมิติวัฒนธรรม” ในชุด “ศิลปะ: อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในอาเซียน” โดย อาจารย์ ดร. สุธา ลีนะวัติ ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากการบรรยายในหัวข้อแรก “ศิลป์/สิปป์: รากเหง้าและแนวคิด” ได้ผ่านไปแล้ว ยังเหลือการบรรยายอีกสองหัวข้อให้ผู้สนใจเข้าฟัง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ ทวยเทพ: ศรัทธาและพลังสร้างสรรค์

วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๘ ปรัชญา: พุทธสิปป์กับความงาม

ระหว่างเวลา ๑๔.oo - ๑๖.oo น. ณ ห้อง ๔o๗ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. o-๒๘๘o-๙๔๒๙, o-๒๘๘o- ๙๔๒๙ ต่อ ๓๘๑o







ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














Tropikos


“การใช้ชีวิตในประเทศเขตร้อนนั้นทำให้ศิลปินมีลักษณะการทำงานที่มีส่วนร่วมกัน หากเราตัดประเด็นบริบทของทางเชื้อชาติออกไปได้ เราจะเห็นรสนิยม แนวทางการสื่อสารที่คล้ายคลึงกันอย่างแยกไม่ออก”


พบกับการแสดงผลงานร่วมกันของ ๖ ศิลปินเขตร้อน

-อังเดร เมนเดส, เฟอร์นันโด ฟรานซิโอซี่ และฮวน พาราดา ๓ ศิลปินซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองกูรีตีบา ทางตอนใต้ของประเทศบราซิล

-ชลิต นาคพะวัน, ต่อลาภ ลาภเจริญสุข และจักกฤษณ์ อนันตกุล ๓ ศิลปินไทยจาก จ.เชียงใหม่และกรุงเทพฯ

นิทรรศการ ทรอปิคอส (Tropikos) ระหว่างวันที่ ๒๔ มกราคม - ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ (เปิดทุกวัน เวลา ๑o.oo-๑๙.oo น.)


พบปะศิลปินในงานเปิดนิทรรศการ วันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑๙.oo น.
ณ ฮอฟ อาร์ต สเปซ W District (ใกล้สถานรถไฟฟ้าพระโขนง) กรุงเทพฯ โทร.0-2178-0095



ภาพและข้อมูลจาก
เฟซบุค Art Eye View














Workshop ดอกไม้กระดาษ


วันที่ ๒๑, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘


Basic1
๒๑ ก.พ. / ๙.oo-๑๗.oo น./ ๔,๕oo บาทต่อท่าน
แพทเทิร์น ๔-๘-๑๒ กลีบ ให้เป็นดอกไม้ได้หลายชนิด


Basic2
๒๒ ก.พ. / ๙.oo-๑๗.oo น./ ๔,๕oo บาทต่อท่าน
แพทเทิร์น ๑-๕ กลีบ ให้เป็นกุหลาบและดอกไม้ได้หลายชนิด


สมัครทางกล่องข้อความแฟนเพจ และ Lind id : paperart
เรียนที่บ้านบรมราชชนนี ๑๗
*ใช้กระดาษเรเนซองซ์ ๒oo แกรม / มีอุปกรณ์ Workshop ให้พร้อมใช้ค่ะ
** เรียนคอร์สเดียวได้ แต่ถ้าจะเรียน Basic2 ต้องผ่าน Basic1 ก่อน



ภาพและข้อมูลจาก
เฟซบุค Thaipaperart




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 21 มกราคม 2558
Last Update : 21 มกราคม 2558 23:08:13 น. 0 comments
Counter : 3956 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.