happy memories
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2564
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
29 ตุลาคม 2564
 
All Blogs
 

ครูแก้ว อัจฉริยะกุล อัจฉริยะคีตกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์


ภาพจากหนังสือ "หนังสือ ๑๑๑ คนดนตรี"
ของ สุกรี เจริญสุข วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ๒๕๔๖





ช่วงนี้เพลงที่ฮิตติดปากใครหลาย ๆ คน รวมทั้งเราด้วยคือ "บ้านเกิดเมืองนอน" ทั้งร้องทั้งฮัมเพลงนี้ตลอด ไมน่าเชื่อเหมือนกันว่าจะเป็นเพลงฮิต ทั้งที่เป็นเพลงเก่ามากกกก แถมยังเป็นเพลงปลุกใจด้วย เอ ไม่ใช่สิ เป็นเพลงปลุกสำนึกรักชาติมากกว่า มันเท่ตรงที่นำกลับมาทำใหม่ตั้งสี่เวอร์ชั่น ทำได้เพราะถูกใจหมดเลย ต้องขอแสดงความชื่นชมและยกย่องทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งโปรดิวเซอร์ นักร้อง นักดนตรี และทีมงานเบื้องหลัง ทำให้เพลงนี้กลับมามีชีวิตชีวา ติดหู ติดปากคนไทยอีกครั้ง ก่อนจะคุยถึงเพลงเวอร์ชั่นใหม่ บล็อกนี้ขอนำชีวประวัติของ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงนี้มาลงบล็อกก่อน เกือบลืมไป บล็อกนี้ชื่อเพราะได้ใจ ไม่ได้ตั้งเอง ขออนุญาตนำชื่อหนังสือที่ คุณคีตา พญาไท เขียนมาเป็นชื่อบล็อก

ปอลอ ฟังเพลงนี้แล้วก็คิดว่าน่าจะนำเพลงแนวนี้กลับมาทำใหม่อีกเยอะ ๆ พอดีเพิ่งจะเห็นโพสของพี่ดี้ นิติพงษ์ บอกว่ากำลังนำเพลงเก่ากว่า “บ้านเกิดเมืองนอน” ๒๐ ปีมาทำใหม่อีก เห็นรูปพี่ดี้ถ่ายคู่กับ คุณใหม่ เจริญปุระ, คุณแอม เสาวลักษณ์ และ คุณโบ สุนิตา ก็ตื่นเต้นแล้ว คิดว่าน่าจะมีนักร้องเบอร์ใหญ่มาร่วมงานนี้อีกหลายท่าน ตอนนี้ปูเสื่อรอฟังอย่างใจจดใจจ่อเลยค่ะ









แก้ว อัจฉริยะกุล เกิดเมื่อ ๑๕ พฤษภาคม  ๒๔๕๘ เป็นบุตรชายคนโตของนายใหญ่ อัจฉริยะกุล (นาย ซี ปาปา ยาโนปูโลส) ซึ่งเป็นชาวกรีก กับมารดาคือ นางล้วน อัจฉริยะกุล (นามสกุลเดิม เหรียญสุวรรณ)

ครูแก้วมีพี่น้อง ๔ คน เมื่อแรกเกิดพระภิกษุตั้งชื่อให้ว่า “แก้วฟ้า” (ซึ่งเป็นที่มาของนามปากกาและชื่อคณะละครวิทยุของครูแก้ว) แต่นายอำเภอเขียนคำว่า “ฟ้า” ตกไป จึงกลายเป็นชื่อ “แก้ว”

ในวัยเรียนนั้น หนังสือ คิดถึงครูแก้ว อัจฉริยะกุล เล่าถึงชีวิตของท่านในวัยรุ่นไว้ว่าครูแก้วเองก็เป็นเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม




โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ ครูแก้วสูบมาตั้งแต่มัธยม นอกจากนี้ยังเล่นบิลเลียด ที่ถึงขนาดโดดเรียนไปเล่นอยู่แถวหัวถนนสี่พระยา จนมารดาต้องมาตามให้ไปสอบ

แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น ช่วง ม.๘ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ท่านก็สามารถสอบได้ “Diploma” สามารถไปเรียนต่อที่สหรับอเมริการัฐใดก็ได้ โดยไม่ต้องผ่าน college หรือ โรงเรียนเตรียม แต่บิดาไม่ให้ไปเพราะป่วย กลัวว่าจะเสียโดยไม่ได้เห็นหน้าลูกชายเป็นครั้งสุดท้าย ครูแก้วจึงมาสำเร็จการศึกษาจากในระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ในวัยทำงาน ตอนต้นเขาเข้ารับราชการที่กรมไปรษณีย์โทรเลข จนกระทั่งลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ชีวิตส่วนตัวครูแก้วสมรสกับ ประภาศรี อัจฉริยะกุล




เส้นทางละครเวที และละครวิทยุของครูแก้วเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อท่านลาออกจากราชการเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยครูแก้วทำงานเป็นผู้จัดการแผนกโฆษณาที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยและศาลาเฉลิมเขตร์

จากนั้นตั้ง "คณะละครวิทยุแก้วฟ้า" โดยครูแก้วเป็นศิษย์ของ “พระนางเธอลักษมีลาวัณย์” พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และอดีตพระชายาใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว




ทั้งนี้คณะแก้วฟ้า ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ฟังทั่วเมืองไทย (โดยเฉพาะในยุคทองของภาพยนตร์ไทย ๑๖ มม.เจ้าของภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉาย มักมอบให้คณะแก้วฟ้าจัดทำเป็นละครวิทยุ) ตลอดจนเป็นวิทยากรพิเศษให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง

สมัยนั้นละครเวททีทั้งละครนอก ละครใน จะใช้ผู้แสดงชายหรือผู้หญิงเพียงเพศเดียว แต่ครูแก้วเป็นผู้ริเริ่มให้มมีะครเวทีที่ใช้ผู้แสดงชายจริงหญิงแท้ เรื่องแรกคือ “นางบุญใจบาป” โดยนําเค้าเรื่องมาจาก “บู๊สง” แสดงที่ศาลาเฉลิมกรงุ นำแสดงโดย ม.ล.รุจุริจา, มารศรี, ล้อต๊อก, และ จอกดอกจันทร์




ท่านมีผลงานละครเวทีประมาณ ๕๐ เรื่อง และเขียนบทแปลบรรยายไทย จากภาพยนตร์ต่างประเทศ และแต่งบทละครโทรทัศน์ประมาณ ๑๐๐ เรื่อง โดยใช้นามปากกาว่า "แก้วฟ้า”

เมื่อครั้งที่คณะ Walt Disney มาจัดการแสดงโชว์ในประเทศไทย ครูแก้วได้เป็นผู้ถอดบท แปลเพลงเป็นภาษาไทย โดยคณะแก้วฟ้าของครูแก้วเป็นผู้ลงเสียงของโชว์ต่าง ๆ อาทิ พินอคคิโอ สโนว์ไว้ท์ ปีเตอร์แพน เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะละครวิทยุที่ครูแก้วเคยมีผลงานร่วมด้วย ๑. คณะจามรของ ครูเวส สุนทรจามร ๒. คณะจิตต์ร่วมใจของ จิตตเสน ไชยาคํา และ ๓. คณะปัญญาพล ของ เพ็ญ ปัญญาพล




แต่นักฟังเพลงไทยสากลลูกกรุงจะทราบกันดีว่า ถ้าพูดถึงเพลงในแนวของ “สุนทราภรณ์” ครูเพลงที่มีผลงานมากมายนับร้อยนับพันเพลง เห็นจะไม่มีใครเกินครูแก้ว อัจฉริยะกุล

และที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดคือ ผลงานของครูแก้วมีสำนวนไพเราะ มีสัมผัสเหมือนบทกวี เลือกใช้เสียงสูงต่ำของวรรณยุกต์ได้อย่างลงตัว และทรงความหมายทุกคำ คำทุกคำคมคาย ว่ากันว่าแม้ในเรื่องเดียวกัน ครูก็เลี่ยงใช้ศัพท์ต่าง ๆ แสดงว่าครูมี “คลังคำ” ในสมองมากมาย 

ทั้งนี้ว่ากันว่าที่จริงแล้วท่านประพันธ์คำร้องตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี!!




โดยเส้นทางสายดนตรีและเสียงเพลงของครูแก้วนั้น ท่านมีผลงานประพันธ์เนื้อร้องร่วมกับ ครูเวส สุนทรจามร ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้ครูแก้วมาร่วมประพันธ์เนื้อร้องประกอบทํานองให้กับวงดนตรีของกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) และมีผลงานร่วมกับวงสุนทราภรณ์ตั้งแต่นั้นมา เป็นเวลาเกือบ ๑๕ ปี

แต่การทำงานร่วมกับ บรมครูอีกท่าน อย่าง “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” นับว่ามีผลงานร่วมกันมากที่สุด

โดยมีผู้ประมาณไว้ว่าครูทั้งสองประพันธ์เพลงร่วมกันประมาณ ๑,๐๐๐ เพลง จนเป็นที่มาของคำคล้องจองที่ว่า “ทำนองเอื้อ-เนื้อแก้ว” และ “แก้วเนื้อ-เอื้อทำนอง” เป็นเหมือนคู่ที่สวรรค์ให้เกิดมาเป็นคู่บุญของกันและกัน 




สำหรับผลงานการแต่งคำร้องชิ้นหนึ่งของครูแก้วที่ได้รับคำยกย่อง คือ เพลงประกอบบทละครชุด “จุฬาตรีคูณ” ประกอบด้วยเพลง จุฬาตรีคูณ, จ้าวไม่มีศาล, อ้อมกอดพี่, ใต้ร่มมลุลี และ ปองใจรัก

นอกจากนี้ ครูแก้วยังมีผลงานเพลงอมตะอีกเป็นจำนวนมากเช่นเพลง พรหมลิขิต, พรานล่อเนื้อ, คะนึงครวญ, โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย, กรุงเทพราตรี, ขอพบในฝัน, คิดถึง, เงาของใคร, จังหวะชีวิต, ฉันอยู่ใกล้เธอ ฯลฯ




อย่างไรก็ดี เพลงที่ถูกนำมาขับร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงปัจจุบัน ในเทศกาลสำคัญของประเทศไทย ก็เป็นผลงานคำร้องของครูแก้ว อาทิ รำวงเริงสงกรานต์, รำวงวันลอยกระทง

โดยประวัติเพลงรำวงวันลอยกระทงนั้นมีที่มาสุดคลาสสิก เล่ากันว่าในค่ำคืนวันลอยกระทง ราวปี ๒๔๙๒-๒๔๙๓ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งนำโดยครูเอื้อ ได้ถูกเชิญให้ไปร่วมเล่นดนตรีในงานลอยกระทงวันนั้นด้วย ปรากฏว่า ทางคณะจัดงานก็ได้ขอให้วงสุนทราภรณ์แต่งบทเพลงบรรเลงในงานวันลอยกระทงเพื่อเป็นที่ระลึก




เมื่อขอมา ก็จัดให้ ครูเอื้อ จึงร่วมกับครูแก้ว อัจฉริยะครูเพลงทั้ง ๒ จึงได้นั่งลงสร้างบทเพลงรำวงลอยกระทงขึ้นมา ณ เดี๋ยวนั้น ครูแก้วเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง ครูเอื้อเป็นคนเขียนทำนอง ใช้เวลาแต่งเพลงนี้ไม่ถึง ๓๐ นาที!!

จากนั้นพอซ้อมร้องซ้อมรำกันจนลงตัว วงดนตรีสุนทราภรณ์จึงได้ขึ้นร้องเพลงรำวงลอยกระทงครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ตามประวัติเล่าว่าครูแก้วสูบบุหรี่และซิการ์จัด ต่อมาท่านป่วยด้วยโรคหัวใจ, เบาหวาน, โรคตับ, โรคปอด, โรคความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๔ สิริอายุได้ ๖๖ ปี ท่านยังได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนที่ ๕ (ปี ๒๕๒๐-๑๕๒๑)





ข้อมูลจาก komchadluek.net









ฉลอง ๑๐๐ ปีครูแก้ว อัจฉริยะกุล
โดย ประยอม ซองทอง

จากนิตยสาร Formula พ.ค. ๒๕๕๘


ในฐานะผู้นิยมหลงใหลเพลงในท่วงทำนอง (สไตล์) สุนทราภรณ์ ปีนี้เป็นปีที่ครบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ครูผู้ประพันธ์คำร้องให้วงดนตรีวงนี้มากที่สุดคู่ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้แต่งทำนองไพเราะเป็นเลิศ ท่านทั้งสองนี้ เสมือนพระพรหมลิขิตให้เกิดมาเป็นคู่บุญของกันและกัน จนมีคำพูดติดปากเสมือนคำขวัญว่า "ทำนองเอื้อ-เนื้อแก้ว"




ครูทั้งสองท่านอายุห่างกัน ๕ ปี คือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน เกิดเมื่อ ๒๑ มกราคม ๒๔๕๓ และกายละจากโลกนี้ไปเมื่อ ๑ เมษายน ๒๕๒๔ คือ เมื่อ ๓๔ ปีมาแล้ว ส่วนครูแก้ว อัจฉริยะกุล เกิดเมื่อ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๕๘ แต่ความที่ท่านมุแต่ทำงานหนัก และ (มีผู้เล่าให้ฟังด้วยความเป็นห่วงท่านว่า) สูบบุหรี่จัด โรคภัยจึงรุมเร้า ท่านจึงอำลาโลกนี้ไปในวัย ๖๖ ปี เมื่อ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๔ แปลกที่ท่านทั้งสอง ละจากไปในปีเดียวกัน




ครูแก้ว เป็นคนเดียวกับนักเขียนผู้ใช้นามแฝงว่า "แก้วฟ้า" ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของคณะและผู้แต่งเรื่อง สำหรับละครวิทยุคณะแก้วฟ้าด้วย และท่านยังได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนที่ ๕ (๒๕๒๐-๒๕๒๑) ในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ ข้าพเจ้ากับเพื่อนที่เขียนกลอนมาด้วยกัน และรักสำนวนคำร้องภาษากวีของท่าน พยายามจะไปกราบคารวะท่านตอนที่ท่านทำประชาสัมพันธ์ให้โรงภาพยนตร์ “เฉลิมเขตร์” (หัวมุมถนนกรุงเกษม เยื้องโรงพยาบาลหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ถนนบำรุงเมือง) แต่โชคไม่ดี คุณโกวิท สีตลายัน ผู้รู้จักท่านดี ผู้พาเราไปหาท่าน อ้างว่าเดี๋ยวท่านคุยติดลม เสียเวลาทั้งของท่านและของเรา ซึ่งจะพาเราเข้าดูหนังไม่ทัน เขาจึงขึ้นไปหาท่านเพียงคนเดียวเพื่อขอตั๋วสำหรับเรา ๔ คน มะเนาะ ยูเด็น วินัย ภู่ระหงษ์ และข้าพเจ้า จึงไม่ได้คารวะจนกระทั่งบัดนี้




ผู้เขียนเคยเขียนถึงครูไว้เมื่อหลายปีก่อนว่าด้วยอัจฉริยะทางภาษาของครูแก้ว ผลงานท่านที่อัดแผ่นเสียงประมาณ ๓,๐๐๐ เพลง สรุปรวบรัดสั้น ๆ ว่า ครูแก้วแต่งเพลงได้ทุกประเภท ทั้งเพลงสดุดีพระบรมราชวงศ์ (เช่น ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น ) เพลงปลุกใจ (เช่น บ้านเกิดเมืองนอน) เพลงประจำสถาบัน (เช่น ชุดของจุฬาฯ หลาย ๆ เพลง, เพลง ขวัญโดม ของธรรมศาสตร์) เพลงรักโรแมนติค (แต่งมากที่สุด ทุกอารมณ์) เพลงคติชีวิต เพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดี และวรรณกรรม (เช่น ชุดจุฬาตรีคูณ, จันทน์กะพ้อร่วง-จากนวนิยายเรื่องแผ่นดินของเรา ของแม่อนงค์) หลายเพลงกลายเสมือนเป็นเพลงประจำชาติและชาวต่างชาติร้องได้ (เช่น รำวงลอยกระทง, รำวงลอยเรือ, นางฟ้าจำแลง, อาลัยลา) เพลงประจำเทศกาลต่าง ๆ ตลอดทั้งปี เพลงชมธรรมชาติและสถานที่บ้านเมือง (กรุงเทพราตรี, ภูกะดึง ฯลฯ)




สรุปสั้น ๆ ว่า ภาษาของครูแก้วเป็นภาษากวี มีสัมผัสพราว แต่ทรงความหมายทุกคำ คำทุกคำคมคาย แม้ในเรื่องเดียวกัน ครูก็เลี่ยงใช้ศัพท์ต่าง ๆ แสดงว่าครูมี "คลังคำ" ในสมองมากมาย แสดงความเป็นคลังภาษาที่ร่ำรวยคำเพราะ อ่านมาก รู้เห็นมาก และเข้าใจลึกซึ้งในความหมายของภาษา สำนวนโวหาร มีทั้งเลียนของกวีโบราณ และที่ครูคิดประดิษฐ์ แล้วจับวางให้เหมาะแก่เนื้อเรื่อง โวหารจึงสละสลวย ลึกซึ้งกินใจ ศักดิ์ของคำเหมาะทุกรสทุกบท ทุกตอน ไม่เฟ้อ หรือฝืนบรรจุคำให้เต็ม ๆ หากแต่มีภาพพจน์อันงดงามในการเรียงร้อยถ้อยคำได้อารมณ์ ความรู้สึก




ในวาระฉลอง ๑๐๐ ปี ในเดือนพฤษภาคมนี้ ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้วิเคราะห์เพลงของครูหลายเพลง แต่ที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดเพลงหนึ่งคือ จันทน์กะพ้อร่วง ซึ่งประพันธกรเอกคนหนึ่งของไทย "แม่อนงค์" หรือ ครูมาลัย ชูพินิจ ได้ประพันธ์ตอนขึ้นต้นเรื่อง "แผ่นดินของเรา" ไว้ด้วยความประทับใจบาดอารมณ์ว่า

"ดอกจันทน์กะพ้อร่วงพรู แต่มิได้หล่นลงสู่พื้นดินทีเดียว กลีบสีขาวของมันน้อย ๆ และอ่อนนุ่ม ปลิวกระจายตามลมเหมือนฝูงผึ้งแตกรัง ไปตกที่นั่นนิดที่นี่หน่อย บนพื้นสีเขียว ในลำคู เกลื่อนกลาดอยู่รอบโคนต้นอย่างที่เคยหล่นมาแล้วในชีวิตของมัน ต่างแต่ในวันนี้ไม่มีใครเขาจะเหลียวแล ไม่มีใครจะเอาใจใส่ ไม่มีแม้แต่เด็กจะคอยเก็บไปร้อยเป็นพวงมาลัยเล่นหรือใส่พานบูชาพระ บางกลีบเคราะร้ายปลิวไปตกลงกลางทางเดิน ก็รังแต่จะถูกเหยียบย่ำแหลกเหลวไปใต้ฝ่าเท้าที่โหดร้ายของผู้ที่ไม่รู้จักคุณค่าของมัน ทำนองเดียวกับหัวใจอันบริสุทธิ์ของหญิงสาวถูกขยี้โดยชายผู้ไม่รู้จักคุณค่าของความรัก"

แล้วครูแก้ว ก็ใช้หัวใจและอารมณ์อันละเอียดอ่อนของกวีร้อยเรียงออกมาจนกลายเป็นเพลงอมตะ ได้ฟังเสียงร้องของคุณมัณฑนา โมรากุล ศิลปินแห่งชาติคราวใดก็บาดอารมณ์ลึก ๆ ชวนสะอื้นยิ่งว่า

"ดอกจันทน์กะพ้อร่วงพรู
เจ้ามิใช่ร่วงสู่แผ่นดินแห่งไหนโดยง่าย
ลมพาเอากลีบกระจาย
ร่วงปลิวพร่างพลิ้วพราย

ไม่มีที่หมายใด ดูดังฝูงผึ้งแตกรัง
เมื่อไร้กำลัง หล่นก็ลงฝังทั่วไป
ไร้ผู้จะเหลียวใส่ใจ ไม่มีใครที่ไหน
เก็บเอาไปเพื่อไว้บูชา

บางกลีบเขาเหยียบลง
แหลกเป็นผงอย่างไร้เมตตา
กลีบจมแผ่นดินสิ้นสูญราคา
กลิ่นนั้นหนายังหอมมีค่าผูกพัน

จันทน์กะพ้อคือเหล่าสตรี
มีราคีเพราะชายขยี้พรหมจรรย์
ความสาวแหลกเหลวสิ้นพลัน
ไร้ค่าผูกพันเหมือนจันทน์กะพ้อร่วงพรู"












บีจีจากเวบ wallcoo กรอบจากคุณ ebaemi ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





 

Create Date : 29 ตุลาคม 2564
0 comments
Last Update : 29 ตุลาคม 2564 15:19:35 น.
Counter : 3539 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณทนายอ้วน, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณmultiple, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณเริงฤดีนะ, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก, คุณหอมกร, คุณ**mp5**, คุณRinsa Yoyolive, คุณตะลีกีปัส, คุณThe Kop Civil, คุณจันทราน็อคเทิร์น, คุณtoor36, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณnonnoiGiwGiw, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณปรศุราม, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณสองแผ่นดิน, คุณกะว่าก๋า, คุณกิ่งฟ้า, คุณtuk-tuk@korat, คุณSweet_pills, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณอุ้มสี, คุณnewyorknurse


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.