happy memories
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2564
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
25 มิถุนายน 2564
 
All Blogs
 

อำลา อาลัย...ครูชาลี อินทรวิจิตร




หลากความประทับใจในบทเพลงของตำนานครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ ‘ชาลี อินทรวิจิตร’


เมื่อเวลา ๐๐.๔๕ น. ของวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ‘ครูชาลี อินทรวิจิตร’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ด้วยวัย ๙๘ ปี ท่านเป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ได้รังสรรค์ผลงานอันวิจิตรบรรจงเอาไว้มากมายทั้งในด้านบทเพลงและภาพยนตร์จนได้รับการเคารพยกย่องอย่างสูงมาเป็นเวลานาน การจากไปในครั้งนี้จึงนับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญยิ่งของวงการบันเทิงและวงการศิลปะไทย




‘ชาลี อินทรวิจิตร’ มีบทบาททั้งในฐานะนักแสดง ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์ และที่สำคัญที่สุดคือการเป็นนักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีผลงานประพันธ์คำร้องบทเพลงนับพันเพลง และมีบทเพลงอมตะอันเป็นที่รู้จักนับร้อย อาทิ สดุดีมหาราชา, แสนแสบ, ท่าฉลอม, เรือนแพ, หยาดเพชร, เท่านี้ก็ตรม, สาวนครชัยศรี, ทุ่งรวงทอง, มนต์รักดอกคำใต้, แม่กลอง, จำเลยรัก เป็นต้น




รวมทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์จำนวนมาก เช่นเพลงจากเรื่อง สวรรค์มืด (๒๕๐๑) เรือนแพ (๒๕๐๔) ลูกทาส (๒๕๐๗) ลูกเจ้าพระยา (๒๕๒๐) บ้านทรายทอง (๒๕๒๓) และอีกมากมาย ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง “สวรรค์มืด” คือผลงานภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ ชาลี อินทรวิจิตร ได้ประพันธ์บทเพลงอมตะมอบไว้ในหนังเรื่องนี้ถึง ๓ เพลง คือ สวรรค์มืด, ภาวนา และ มนต์รักดวงใจ นอกจากนี้ท่านยังฝากผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมเอาไว้อีกมากมาย อาทิ ความรักเจ้าขา (๒๕๑๒), ผยอง (๒๕๑๘) และ ชั่วฟ้าดินสลาย (๒๕๒๓) เป็นต้น จนได้รับรางวัลมากมายทั้งรางวัลตุ๊กตาทอง (พระสุรัสวดี) รางวัลสุพรรณหงส์ และรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ




ชาลี อินทรวิจิตร เป็นบุคคลเดียวของประเทศที่ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติถึง ๒ สาขาด้วยกันคือ สาขาศิลปะการแสดง ด้าน ‘ผู้ประพันธ์คำร้อง’ และ ‘ผู้กำกับภาพยนตร์’ นอกจากนี้ท่านยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วย




ในด้านการประพันธ์เพลงนั้น ถ้อยคำในบทเพลงที่ครูชาลีได้รังสรรค์ขึ้นมาล้วนแล้วแต่มีถ้อยภาษาที่งดงามวิจิตร เมื่อสดับไปพร้อมกับท่วงทำนองและเสียงร้องอันไพเราะย่อมก่อให้เกิดความสุนทรีย์ขึ้นในจิตใจ โดยครูชาลีจะเขียนเพลงขึ้นจากอารมณ์ที่อ่อนไหวเมื่อมีสิ่งใด ๆ มากระทบหัวใจก็จะกลั่นอารมณ์นั้นออกมาเป็นบทเพลง เพลงส่วนใหญ่ของครูชาลีจึงเป็นเพลงรักที่มีอารมณ์อันละเมียดละไม







นอกจากนี้ ครูชาลีจะเลือกแต่งให้เหมาะสมกับนักร้องแต่ละคน ซึ่งนักร้องที่ร้องเพลงที่แต่งโดยครูชาลีมากที่สุดก็คือ ‘สุเทพ วงศ์กำแหง’ ยกตัวอย่างเพลงดังที่ครูชาลีแต่งและร้องโดยสุเทพก็คือ “เท่านี้ก็ตรม” ซึ่งพอเนื้อร้องอันงดงามมาผสานไปกับท่วงทำนองและเสียงร้องที่นุ่มแบบ ‘เสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์’ แล้วย่อมพาใจเคลิ้มไป เพลงนี้เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับครูชาลี, ครูสมาน กาญจนะผลิน (ผู้แต่งทำนอง) และ สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นอย่างมากและได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ ๔ ใน ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ครูชาลีบอกว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ สุเทพ วงศ์กำแหง ชอบมาก เพราะประทับใจในเนื้อเพลง เขาจึงร้องออกมาอย่างใช้อารมณ์ได้ไพเราะมาก


“เท่านี้ก็ตรมไม่หายไหนจะต้องอาย

แล้วยังไม่วายถวิล

ต้องซมซบหน้าน้ำตาร่วงริน

ไหลโลมลงดินเหมือนรินจากใจ”








นอกจากนี้ก็มีเพลง “สวรรค์มืด” บทเพลงที่ครูชาลีแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่อง แสนแสบ, ท่าฉลอม, สาวนครชัยศรี, และ เรือนแพ หนึ่งในบทเพลงอมตะที่ครูชาลีถ่ายทอดเนื้อหาและบรรยากาศเกี่ยวข้องกับจังหวัดสมุทรสาครอันเป็นถิ่นกำเนิดของครูและชรินทร์ร้องและถ่ายทอดอารมณ์ของเพลงออกมาได้อย่างน่าตรึงใจนั้นก็คือเพลง “ท่าฉลอม”


“พี่อยู่ไกลถึงท่าฉลอม แต่พี่ไม่ตรอม

เพราะรักพะยอมยามยาก

ออกทะเลจะหาปลามาฝาก

แม่คุณขวัญใจคนยาก

รับของฝากจากพี่ได้ไหม”





นอกจากจะมีเพลงที่เกี่ยวกับสมุทรสาครแล้ว เพลงดังของครูชาลีที่ร้องโดยชรินทร์นั้นมีหลายเพลงที่มีบรรยากาศเกี่ยวกับห้วงน้ำ ยกตัวอย่างเช่นเพลง แสนแสบ” เพลงนี้ครูชาลีตั้งใจแต่งให้กับชรินทร์ นันทนาครได้ร้อง หลังจากที่ครูไม่ค่อยได้แต่งเพลงให้ชรินทร์ร้องเลยตั้งแต่ช่วงหลังปี ๒๕๐๐ กว่า ๆ ด้วยกลัวว่าศิษย์รักจะน้อยใจ ครูจึงตั้งใจแต่งเพลงนี้ให้พร้อมการันตีว่าจะทำให้ชรินทร์ดังแน่ ๆ และสุดท้ายมันก็เป็นเช่นนั้น “แสนแสบ” กลายเป็นบทเพลงที่ดังทะลุฟ้าและชรินทร์จะต้องร้องให้ทุกเวทีตั้งแต่อดีตมาจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อ ‘เชิด ทรงศรี’ สร้างภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า” เล่าตำนานคลองแสนแสบ ‘ขวัญ-เรียม’ ‘ไพรวัลย์ ลูกเพชร’ ก็นำเพลงนี้มาร้องจนโด่งดังไปด้วยอีกเช่นกัน




ชรินทร์ นันทนาคร มีความผูกพันกับ ครูชาลี มาก และเคยกล่าวกับ ครูชาลี ว่าถ้า ครูชาลี แต่งเพลงขึ้นมาเมื่อใด ชรินทร์ ก็จะขอร้องทุกบทเพลงนั้นเลย ยกตัวอย่างอีกสักหนึ่งบทเพลงของ ครูชาลี ที่ ชรินทร์ ร้องเอาไว้ได้อย่างหวานหยดย้อยเลยก็คือ “หยาดเพชร” ซึ่ง ครูชาลี ใช้เวลาเขียนเพลงนี้แค่เพียงชั่วโมงกว่า ๆ  เท่านั้น “เปรียบเธอเพชรงามน้ำหนึ่ง หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า หยาดเพชรเกล็ดแก้วแววฟ้า ร่วงมาจากฟ้าหรือไร” ซึ่ง ชรินทร์ นันทนาคร ได้เคยยกย่องการประพันธ์เพลงด้วยถ้อยภาษาอันไพเราะของครูชาลีไว้ว่า “ครูชาลี ไม่เคยเรียนอักษรศาสตร์ ไม่เคยเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยใด ๆ แต่บทกวีที่มีทำนองของเขามีคุณค่ามหาศาล และเป็นอมตะตลอดมาตั้งแต่วันที่จรดปากกาเขียนอักษรตัวแรกมาจนทุกวันนี้”


“เปรียบเธอเพชรงามน้ำหนึ่ง

หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า

หยาดเพชรเกล็ดแก้วแววฟ้า

ร่วงมาจากฟ้าหรือไร”





สำหรับประวัติส่วนตัวของ ครูชาลี อินทรวิจิตร ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ที่ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพี่คนโตในจำนวนพี่น้อง ๓ คน แต่เดิมมีชื่อว่า ‘สง่า อินทรวิจิตร’ เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนพร้อมวิทยามูล ข้างเวทีมวยราชดำเนิน แล้วไปต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร จบการศึกษาจากโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟรุ่นแรก แผนกการเดินรถ มีบันทึกไว้ว่า ด้วยเหตุที่บ้านอยู่ท่าฉลอม ทำให้เด็กชายสง่าต้องมีน้ำอดน้ำทนในการเดินทาง เพราะต้องขึ้นรถไฟจากมหาชัยมาวงเวียนใหญ่ ก่อนจะต่อรถสาธารณะเข้าสู่พระนครชั้นใน




ด้วยความรักในการแสดงและเสียงเพลง สมัยเป็นวัยรุ่นใฝ่ฝันจะเป็นนักร้อง ครูชาลีมีความชื่นชอบ สถาพร มุกดาประกร นักร้องประจำวงดนตรีทรัพย์สินของ ครูนารถ ถาวรบุตร เป็นพิเศษ โดยแอบไปดูประจำที่โรงหนังโอเดียน จากนั้นขึ้นเวทีประกวดร้องเพลง ประจำจังหวัดสมุทรสาคร จนได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยหนึ่งในคณะกรรมการที่ตัดสินวันนั้น คือ ครูล้วน ควันธรรม ที่ต่อมาเขาขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ครูสง่าจึงได้ไปอาศัยบ้านครูแถวโบสถ์พราหมณ์ มีโอกาสรู้จักลูกศิษย์คนอื่น ๆ ของครูล้วน เช่น สุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ ซึ่งชักนำให้เขาก้าวเข้าสู่วงการแสดงในเวลาต่อมา




ครูชาลีร้องเพลงได้ดีมาก ท่านได้ไปสมัครเป็นนักร้องหน้าม่านของคณะละครหลายคณะที่แสดงตามเวทีของโรงละครดังในยุคก่อน ได้เรียนรู้ทั้งในด้านการร้องและการประพันธ์เพลงจนมีประสบการณ์เชี่ยวชาญและหันมาเขียนเพลงอย่างจริง ๆ จัง ๆ จนกลายเป็นนักประพันธ์เพลงที่ยิ่งใหญ่นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เอกลักษณ์ในการแต่งเพลงของครูชาลีที่ใครฟังเนื้อร้องแล้วก็แทบรู้ได้ทันทีนั้นอยู่ที่ความวิจิตรบรรจงในการใช้ภาษา เรียบง่ายแต่ว่างดงาม และเป็นบทเพลงที่เข้าถึงผู้คนโดยทั่วไปเป็นบทเพลงอันละมุนละไมที่มุ่งเข้าสู่ใจของคนฟัง




ปี ๒๔๙๒ สง่า เปลี่ยนชื่อ เป็น ชาลี อินทรวิจิตร เนื่องจากการแสดงในละครเรื่อง “เคหาสน์สีแดง” ของคณะละครศิวารมณ์ ละครเรื่องนี้ มี สุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ และ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เป็นนักแสดงนำ ผู้แต่งเพลงประกอบคือ สง่า อารัมภีร และ สุนทรียา ณ เวียงกาญยน์ โดย สง่า อินทรวิจิตร รับบทเป็น “นักเรียนนายเรือชาลี” ด้วยเหตุนี้ ท่านหญิงดวงดาว (หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร) เจ้าของบทประพันธ์ จึงได้ประทานชื่อนี้ ชาลี ให้ใช้ตลอดไป เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่นนี้ สง่า อารัมภีร บันทึกไว้ว่า 

“ชาลี แต่เดิม ชื่อ สง่า อินทรวิจิตร เมื่อเขามาแสดงเรื่องเคหาสน์สีแดงของท่านดวงดาว ท่านทรงพอพระทัยมาก เรียกชาลีไปหาที่ร้านหยกฟ้า หน้าศาลาเฉลิมนคร บอกว่า เธอแสดงเป็นนาวาโทชาลี สมบทบาทในนวนิยายเหลือเกิน ฉันขอมอบชื่อ ชาลี ให้แทนชื่อ สง่า จะได้ไม่พ้องกับหัวหน้าวงดนตรี ซึ่งเป็นนักแต่งเพลง…”




จากคณะละครศิวารมณ์ ชาลี ย้ายไปอยู่กับคณะละครเทพศิลป์ เขาผ่านงานเล่นละคร และทำหน้าที่เป็นนักร้องสลับหน้าม่านละคร ทั้งนี้ คีตา พญาไท ผู้สันทัดเพลงลูกกรุง วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ ชาลี อินทรวิจิตร หันมาแต่งเพลงมากกว่าที่จะเป็นนักแสดง หรือนักร้อง น่าจะมาจากเหตุผลสำคัญ คือการเกิดขึ้นของนักร้องรุ่นใหม่ ๒ คนนั่นเอง

“ครูไสล ไกรเลิศ นำเด็กหนุ่มมาสู่วงการเพลงสองคน ถ้าจะเปรียบกับสมัยนี้ ก็วัยจ๊าบ สดและซิงจริง ๆ คนหนึ่งเสียงร้องนุ่มนวล หวานซึ้ง ไพเราะเหมือนลมกระซิบคลื่น สุเทพ วงศ์กำแหง อีกคนหนึ่ง… กังวาน เสียงแจ่มชัด จัดจ้าน พลิ้วโหยสูงสุดต่ำสุดได้โดยไม่ต้องอาศัยลูกคอช่วย เขาคือ ชรินทร์ งามเมือง (เปลี่ยนนามสกุลเป็น นันทนาคร ในเวลาต่อมา) ผมฟังเสียงเขาร้อง แม้กายจะสงบนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว แต่หัวใจฉันเดินทางไปสุดปลายฟ้า ผมสัญญากับวัน เวลาและฤดูกาล กับดวงดาวกระพริบ ในท้องฟ้าใสของคืนแรม ผมจะเลิกร้องเพลง หันมาแต่งเพลง”




ครูชาลี สมรสกับนักแสดงหญิง ‘ศรินทิพย์ ศิริวรรณ’ ซึ่งหายไประหว่างการถ่ายทำเรื่อง “อีจู้กู้ปู่ป้า” ของ ‘กำธร ทัพคัลไลย’ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ จนถึงปัจจุบันยังไม่พบตัว ภายหลังเหตุการณ์นั้นครูชาลีได้แต่งเพลงเพื่อระลึกถึงภรรยาโดยใช้ทำนองเพลง Aubrey ของเดวิด เกตส์แห่งวงเบรด (Bread) ใช้ชื่อเพลงว่า ‘เมื่อเธอจากฉันไป’ ขับร้องโดย พรพิมล ธรรมสาร ในภายหลังท่านได้สมรสกับ ‘ธิดา อินทรวิจิตร’ และใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุขตราบจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต













ทุกเพลงมีตำนาน! เปิด ๑๐ เพลงเอก "ชาลี อินทรวิจิตร" ผู้ประพันธ์ "สดุดีมหาราชา"


ชาลี อินทรวิจิตร ยังเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง ผู้กำกับภาพยนตร์ ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ มีผลงานประพันธ์คำร้องเพลงที่มีชื่อเสียง TNN ONLINE ขอรวบรวม ๑๐ ตำนานบทเพลงอันทรงคุณค่า และถือเป็นมรดกของแผ่นดินมาฝากกัน ทุกบทเพลงของครูชาลี ล้วนประพันธ์ขึ้นจากเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ร้อยเรียงผ่านเสียงดนตรี จนกลายเป็นบทเพลงคู่แผ่นดินจนถึงปัจจุบัน


๑. สดุดีมหาราชา


เพลงสดุดีมหาราชา เป็นเพลงที่เกิดจากการประพันธ์ทำนองและคำร้องร่วมกันโดย ชาลี อินทรวิจิตร, สมาน กาญจนะผลิน และสุรัฐ พุกกะเวส เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง "ลมหนาว" ของ ชรินทร์ นันทนาคร นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์ และอรัญญา นามวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙

ปัจจุบันเพลงนี้มีการขับร้องเพื่อถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทั้งสองพระองค์อยู่เสมอ โดยถือเป็นธรรมเนียมทั่วไปว่าเพลงนี้ต้องขับร้องหลังการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และมีการจุดเทียนชัยถวายพระพร

รัฐบาลได้จัดเพลงนี้ให้เป็น ๑ ใน ๖ เพลงสำคัญของแผ่นดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖





๒. แสนแสบ

เพลง แสนแสบ เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแผลเก่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร ต่อมานำกลับมาขับร้องใหม่โดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร ประกอบภาพยนตร์ แผลเก่า (๒๕๒๐) ของ เชิด ทรงศรี

๓ . ท่าฉลอม

เพลง ท่าฉลอม เป็นเพลงยอดนิยม ชื่อเพลงหมายถึง ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร บ้านเกิดของ ชาลี อินทรวิจิตร ผู้ประพันธ์ มีเนื้อหากล่าวถึง ความในใจของชายหนุ่มชาวประมงในท่าฉลอม ต่อหญิงสาวใน ตำบลมหาชัย ซึ่งอยู่คนละฝั่ง ประพันธ์คำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร เรียบเรียงทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน ต้นฉบับขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร ใน พ.ศ. ๒๕๐๔





๔. สาวนครชัยศรี

เพลง "สาวนครชัยศรี" ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร ทำนอง สมาน กาญจนผลิน เป็นเพลงที่ครูชาลีแต่งให้กับคู่ชีวิตของท่าน คือ คุณศิรินทร์ทิพย์ ศิริวรรณ ซึ่งเกิดที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม


๕. ทุ่งรวงทอง

เพลง "ทุ่งรวงทอง" ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร ทำนอง สมาน กาญจนผลิน เป็นเพลงเอกในภาพยนตร์เรื่อง "ทุ่งรวงทอง" สร้างจากบทประพันธ์ของ แขไข เทวิณ โดยศิริ ศิริจินดา นำแสดงโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์ อมรา อัศวนนท์

นอกจากนี้ เพลง"ทุ่งรวงทอง"ได้ส่งให้ครูชาลีขึ้นรับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ พระราชทาน ประเภทคำร้อง ในงานแผ่นเสียงทองคำ ครั้งที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙





๖. มนต์รักดอกคำใต้

เพลง"มนต์รักดอกคำใต้" เป็นผลงานร่วมกันของสองสง่า คือ คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร และทำนอง สง่า อารัมภีร เพลง"มนต์รักดอกคำใต้" เป็นเพลงเอกในภาพยนตร์เรื่อง"แมวไทย" ครั้งก่อน เคยปรากฏในข่าวบันเทิงสมัยนั้นว่า ครูแจ๋วและครูชาลีสร้างบรรยากาศในการแต่งเพลงนี้โดยลงเรือพายชมธรรมชาติไป แต่งเพลงไป เกิดเพลง"มนต์รักดอกคำใต้" ที่แสนไพเราะเพลงนี้ออกมา





๗. บ้านทรายทอง

เพลงบ้านทรายทอง เป็นเพลงไตเติ้ลประกอบละครเรื่องบ้านทรายทอง ซึ่งเป็นละครเวทีที่สร้างจากผลงานเขียนของ ก. สุรางคนางค์ โดยการกำกับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล จัดแสดงที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ขับร้องโดย สวลี ผกาพันธ์ ซึ่งรับบทนำแสดงเป็น "พจมาน สว่างวงศ์" ด้วย


๘. เรือนแพ

เพลงเอกในภาพยนตร์ เรื่องเรือนแพ ของ อัศวินภาพยนตร์ ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้อง และบันทึกเสียงปี พ.ศ. ๒๕๐๔





๙ . จำเลยรัก

เพลงจำเลยรัก ผู้ประพันธ์คำร้องโดย ครูชาลี อินทรวิจิตร และผู้ประพันธ์ทำนองโดยครูสมาน กาญจนผลิน เพลงจำเลยรัก ถูกใช้ประกอบภาพยนตร์จากนวนิยายดัง “จำเลยรัก” ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ผู้ชมจดจำคำร้องและสามารถร้องเพลงนี้ได้ทุกคน บางท่อนของคำร้อง ถูกนำมาใช้ในบทสนทนาทั่วไป ตัดพ้อต่อว่า จากเนื้อเพลงท่อนแรก “เจ็บแค้นเคืองโกรธโทษฉันไย ฉันทำอะไรให้เธอเคืองขุ่น ปรักปรำฉันเป็นจำเลยของคุณ นี่หรือพ่อนักบุญ แท้จริงคุณคือคนป่า”


๑๐. สวรรค์มืด

สวรรค์มืด เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ออกฉายในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ นำแสดงโดย สุเทพ วงศ์กำแหง (เรื่องที่สองของสุเทพ) คู่นางเอกหน้าใหม่ อดีตนางสาวถิ่นไทยงามปี ๒๔๙๐ คือ "สืบเนื่อง กันภัย" และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ภาพยนตร์เข้าฉายเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ฉายครั้งแรกที่ ศาลาเฉลิมกรุง แล้วนำกลับมาฉายอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และออกจำหน่ายในรูปแบบดีวีดี โดย มูลนิธิหนังไทย เจ้าของลิขสิทธิ์ ในปัจจุบัน





ข้อมูลจาก
beartai.com
thepeople.co
tnnthailand.com

พระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ และภาพจาก
หนังสือสูจิบัตรคอนเสิร์ต "เชิดชูครูเพลง ครั้งที่ ๒ ชาลี อินทรวิจิตร"





บีจีจากคุณคุณจอมแก่นแสนซน
กรอบจากคุณ ebaemi และคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2564
0 comments
Last Update : 25 มิถุนายน 2564 23:45:30 น.
Counter : 3079 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสองแผ่นดิน, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณหอมกร, คุณทนายอ้วน, คุณSweet_pills, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณThe Kop Civil, คุณกะว่าก๋า, คุณเริงฤดีนะ, คุณปรศุราม, คุณkatoy, คุณจอมใจจอมมโน, คุณtoor36, คุณชีริว, คุณnewyorknurse, คุณ**mp5**, คุณซองขาวเบอร์ 9, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณmariabamboo, คุณnonnoiGiwGiw, คุณจันทราน็อคเทิร์น, คุณอุ้มสี, คุณtuk-tuk@korat, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณInsignia_Museum, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณอาจารย์สุวิมล


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.