PINK PANDA
<<
สิงหาคม 2550
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
6 สิงหาคม 2550
 
 
แนะชูมาตรฐานสากล หนทางแบงก์"อยู่รอด"

พัฒนาการระบบสถาบันการเงินไทยในระยะ 10 ปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นได้จากคำกล่าวเปรียบเปรย เกี่ยวกับการบริการทางการเงินที่ว่า “จะฝากจะถอนเอาหมอนไปด้วย” เดี๋ยวนี้กลายเป็นคำพูดที่ล้าสมัยไปแล้ว เพราะพนักงานแบงก์ พากันลงจากหอคอยงาช้าง มาแข่งกันวิ่งเข้าหาลูกค้าขาแทบขวิด...

แต่นั่นเป็นเพียงพัฒนาการหนึ่งเท่านั้น เพราะในระยะ 10 ปีที่ผ่านมากว่าจะมาถึงวันนี้ได้ วิกฤตการณ์ปี 2540 ทำให้สถาบันการเงินและเศรษฐกิจไทยต้องบอบช้ำจากนโยบายที่ผิดพลาดทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่ขยายตัวโดยขาดความพร้อม และความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างถ่องแท้

ก่อนฟองสบู่แตก จีดีพีที่สูงมากกว่า 10% ต่อปี สอดคล้องกับสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงถึง 26% ต่อปี กระจุกตัวอยู่ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความร้อนแรงจนต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ในขณะนั้นสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan-to-Deposit Ratio) ของธนาคารพาณิชย์สูงกว่า 130% เทียบปัจจุบันที่เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 80%

ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในขณะนั้น ใช้ความเป็นเครือญาติในการบริหารงาน หรือเป็นฐานทุนให้พวกพ้องในการขยายธุรกิจ รวมทั้งระบบการบริหารความเสี่ยงที่ยังไม่รัดกุม และเมื่อฟองสบู่แตกมีการลอยตัวเงินบาท ส่งผลต่อยอดเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ไทยพุ่งพรวดมาอยู่ที่ 2.47 ล้านล้านบาทคิดเป็น 52.3% ของสินเชื่อโดยรวม ในเดือนพฤษภาคม 2542 ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องสำรองหนี้เสียนับแสนล้านบาท กดดันให้ต้องเพิ่มทุนรวมกว่า 8 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2541-2543

“ช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ธนาคารกรุงเทพเริ่มมองเห็นเค้าลางของปัญหาและกังวลว่าฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์จะแตก แม้เราปรับนโยบายสินเชื่อและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นแต่บริษัทขนาดใหญ่ของไทยราวครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้นประสบปัญหาในการชำระหนี้ กระทบเป็นลูกโซ่ถึงซัพพลายเออร์ของบริษัทเหล่านี้ ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ทำให้เอ็นพีแอลของธนาคารพุ่งถึงจุดสูงสุด หลังจากการลอยตัวค่าเงินบาทแล้ว 18 เดือน” นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ย้อนถึงเหตุการณ์ในขณะนั้น

แบงก์ใหญ่ลุยเพิ่มทุนรับวิกฤติ

ธนาคารกรุงเทพ จำเป็นต้องเพิ่มทุนถึง 2 ครั้ง และจัดตั้งหน่วยงานบริหารสินทรัพย์พิเศษ หรือ SAM (Special Asset Management) เป็นธนาคารแรก เพื่อบริหารจัดการหนี้ที่มีปัญหา สร้างระบบการบริหารความเสี่ยงสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพและแยกบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานขายกับหน่วยงานอนุมัติสินเชื่อออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งยังได้มีการปรับปรุงระบบงานด้านการประมวลข้อมูลและตัวเลขต่างๆ

สถานการณ์ความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินในขณะนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง จนต้องหันไประดมทุนจากต่างประเทศ

ธนาคารกสิกรไทย ถือเป็นธนาคารแห่งแรกที่คว้าจังหวะเหมาะทำการเพิ่มทุนได้ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 376 ล้านหุ้น เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงประเภทสถาบันต่างประเทศในราคาสูงถึง 88 บาทต่อหุ้น ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2541 ได้เงินถึง 33,088 ล้านบาท หลังจากนั้นในปี 2542 ได้ออกสลิปส์ หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิควบหุ้นบุริมสิทธิ อีก 42,960 ล้านบาท และในปีเดียวกัน ได้เพิ่มทุนอีกครั้ง ราคาหุ้นละ 20 บาท ขายผ่านสาขาของธนาคาร มีผู้จองซื้อหุ้นถึง 20,000 ราย และการเพิ่มทุนครั้งนั้น ตระกูลล่ำซำต้องเจ็บปวดพอควร เพราะสัดส่วนการถือหุ้นของตระกูลล่ำซำลดฮวบเหลือ 7% ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศถือหุ้นสูงถึง 49%

ต่างชาติถือหุ้นใหญ่แทนเจ้าสัว

มาถึงวันนี้ บัณฑูร ล่ำซำผู้สืบทอดหน้าที่รักษาสมบัติของตระกูลยอมรับว่าแบงก์นี้ไม่ใช่ของตระกูลล่ำซำอีกต่อไป พร้อมกับถอยตัวเองออกไปนั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและแต่งตั้งคนนอกตระกูลอย่างดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทน

ไม่ใช่แค่ล่ำซำเท่านั้น วิกฤติคราวนี้ทำให้ตระกูลเจ้าสัวดังหลายตระกูลกลายเป็นตำนานผู้ก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ อาทิเช่น ธนาคารศรีนครของตระกูลเตชะไพบูลย์ที่ถูกทางการสั่งควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย ตระกูลหวั่งหลี แห่งธนาคารนครธน ตระกูลตู้จินดา ตระกูลเอื้อชูเกียรติ ตระกูลจันทร์ศรีชวาลา ที่ต้องยอมให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในที่สุด

ด้านนายชาติศิริ กล่าวถึงบทบาทตนเองว่า ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพเป็นบริษัทมหาชน และตนก็เป็นเพียงผู้บริหารคนหนึ่ง ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นให้มาปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น โดยส่วนตัวแล้วมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ธนาคารเป็นสถาบันการเงินชั้นนำที่แข็งแรงมั่นคงและมีผลประกอบการที่ดีอย่างยั่งยืน

“ความอยู่รอดขององค์กรขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ การบริหารงานและความสามารถของบุคลากรขององค์กรเป็นหลัก และในฐานะผู้ลงทุน ตระกูลโสภณพนิชก็ยังยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมไม่เปลี่ยนแปลงคือสนับสนุนกิจการของธนาคารกรุงเทพให้เจริญรุดหน้าสืบไป โดยไม่คำนึงว่าสัดส่วนการถือครองหุ้นจะมีมาก-น้อยเพียงใด” นายชาติศิริ กล่าว

แม้จะผ่านช่วงเวลาคับขันมากว่า 10 ปี แต่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ต้องลดความเป็นเจ้าของลง โดยตระกูลรัตนรักษ์ต้องเปิดทางให้กลุ่ม GE และลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือเพียง 27% จากที่เคยถือหุ้นใหญ่ในแบงก์แห่งนี้สูงสุด 40%

“ผมดีใจมากและหมดห่วงแล้ว เพราะจีอีมีเงินมหาศาล สามารถทำให้ธนาคารอยู่รอดปลอดภัย ผมถือว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว” เป็นคำกล่าวสุดท้ายก่อนก้าวลงจากบัลลังก์ด้วยวัยกว่า 60 ปีของนายกฤตย์ รัตนรักษ์ ผู้ขอถอนตัวไปเป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้างสนามแทน

นายแบงก์ทั้งหลาย ยังเชื่อมั่นว่าระบบการเงินไทยมีความแข็งแกร่งพอทั้งฐานเงินทุนและระบบการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะนายปลิว มังกรกนก หนึ่งในผู้บริหารหลักที่ดิ้นรนให้บริษัทเงินทุนทิสโก้ อยู่รอดและยืนหยัดขึ้นมาเป็นธนาคารพาณิชย์ได้ถึงวันนี้ ด้วยการตัดสินใจเข้าโครงการ 14สิงหาคม 2541 ต่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ และสามารถเพิ่มทุนถึง 6,000 ล้านบาทในขณะที่บริษัทเงินทุนอีก 56 แห่ง ถูกปิดกิจการลง

นายปลิว ระบุว่า แม้ขนาดขององค์กรจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่เชื่อว่าแบงก์เล็กที่ผ่านวิกฤติมาเข้มแข็งได้ในวันนี้มีความแข็งแกร่งไม่แพ้แบงก์ใหญ่ เพราะมีความครบวงจรในธุรกิจซึ่งเป็นรากฐานในการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม และช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากสินเชื่อเท่านั้น

ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะรักษาฐานลูกค้า

โจทย์ที่จะทำให้ธนาคารอยู่รอดต่อไปได้ คือต้องพัฒนาตัวเองให้บริการลูกค้าให้ได้ สร้างความสามารถแข่งขันให้ได้ ไม่แข่งขันกันจนเกิดฟองสบู่เหมือนอดีต และผลักดันตัวเองให้เข้ากับมาตรฐานสากลให้ได้ โดยทิสโก้เป็นธนาคารแห่งแรกในประเทศที่ใช้ระบบ IRB วิเคราะห์ความเสี่ยงลูกค้า ตามมาตรฐานบาเซิล 2 ซึ่งธนาคารมีการทำโมเดลทางการเงิน โดยยกเหตุการณ์ปี 2540 เข้ามาคำนวณ พบว่าด้วยทุนธุรกิจขนาดนี้ หากเกิดความเสี่ยงในระดับนั้นอีก ทั้งเอ็นพีแอล หรือดอกเบี้ย ที่กระชากสูงขึ้นไปขนาดนั้นคำตอบคือ "พอ"

หนึ่งในมือปราบมารที่เข้าไปรื้อโครงสร้างและวางรากฐานให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง อย่าง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการและตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) หรือการควบรวมธนาคารศรีนคร-นครหลวงไทย และล่าสุดเข้าไปแก้ปัญหาธนาคารที่เคยมีรากฐานในการเป็นเครื่องมือนักการเมือง ซึ่งเขาได้มารื้อโครงสร้างและกำจัดเชื้อร้ายออกจากแบงก์นี้ได้มากพอสมควรในช่วงเวลาเกือบ 3 ปีในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย

ปรับโมเดลธุรกิจที่ดึงความได้เปรียบของธนาคารแห่งนี้ขึ้นมาใช้สร้างรายได้ โดยเฉพาะการใช้ระบบให้บริการชำระเงินภาครัฐ (processing bank) มาขยายสู่การบริการเอกชน ขณะเดียวกันใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้ากว่า 13 ล้านรายซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ โดยเข้าไปให้บริการทางการเงินที่เข้าถึงความต้องการ รวมทั้งขยายพื้นที่แข่งขันให้ใหญ่ขึ้นในธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้างฐานที่มั่นทางธุรกิจให้กว้างขึ้น ในส่วนของโครงสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพก็ได้วางรากฐานด้วยการให้ทุนกับนักศึกษาไปเรียนต่อในมหาลัยชั้นนำเพื่อกลับมาเป็นหัวกะทิให้กับธนาคารต่อไปในอนาคต

ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย นายอภิศักดิ์ มองว่า สถาบันการเงินยังมีภาระที่ต้องปรับตัวอีกมาก เพื่อไล่ให้ทันมาตรฐานสากล ที่วิ่งไล่หลังมาเรื่อยๆ และใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะหรือหา Niche ของตัวเองให้เจอ เพื่อรักษาฐานลูกค้ายามที่แข่งขันกับต่างชาติ

"ชฎา" ชูมาตรฐานสากลฝ่าวิกฤติแบงก์

เช่นเดียวกับคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้มีบทบาทสำคัญที่นำพาธนาคารพาณิชย์เก่าแก่แห่งนี้รอดพ้นวิกฤติมาได้ ระบุว่า แม้จะไม่จำเป็นต้องเป็นแบงก์ใหญ่ที่สุด แต่ต้องใหญ่พอที่จะมีฐานรองรับและกระจายความเสี่ยงได้ ขณะเดียวกัน ระบบธนาคารไทยจำเป็นต้องพึ่งพาและพยายามมีความรอบรู้เท่าทันสถาบันการเงินสากลให้มากและเร็วที่สุด

“ต้องผูกใจลูกค้าไม่ให้หนีไป เป็นจุดที่แต่ละสถาบันต้องหาความพอดีว่าตรงไหนที่ผูกใจลูกค้าได้ ให้ลูกค้าเชื่อมั่นและอยากใช้บริการ เรามีโอกาสที่จะผูกใจลูกค้ามากกว่าคู่แข่งจากต่างประเทศ เพราะเค้ามีนโยบายจากต่างประเทศ ไม่เฉพาะเพื่อคนไทย เปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่เราเปลี่ยนแบบนั้นไม่ได้” คุณหญิงชฎา กล่าว

ในขณะที่ภาคธุรกิจสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเอง ภาคของผู้กำกับ ถือเป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งเช่นกัน ดังเช่นที่เคยมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องในความผิดพลาดทางนโยบายที่ไม่มีความเข้าใจอิทธิพลของตลาดอย่างแท้จริง แม้จะผ่านมา 10 ปีแล้ว นับแต่วิกฤติ แต่ดูเหมือนยังขาดมุมมองการแก้ปัญหาแบบองค์รวม

คุณหญิงชฎา ระบุว่า แม้ทางการพยายามสร้างมาตรฐานสากลให้ระบบการเงินไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบการตรวจสอบ การบริหารความเสี่ยง กระบวนการแก้หนี้ รวมถึง หลักเกณฑ์ด้านเงินกองทุน สิ่งเหล่านี้ธนาคารพาณิชย์หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำได้แค่ให้ข้อมูลว่าเร็วไป หรือเหมาะกับสภาพของไทยหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังมีเรื่องที่ต้องศึกษาในเรื่องของสถาบันที่ดูแลธนาคาร เพราะในปัจจุบันยังมีผู้กำกับอยู่หลายรายทำให้เกิดความสับสน

แม้พัฒนาการของสถาบันการเงินไทยในขณะนี้มีความเข้มแข็งจากระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น ปรับระบบอนุมัติสินเชื่อ ลดความกระจุกตัวของสินเชื่อ หันมาเน้นสินเชื่อรายย่อยและเอสเอ็มอีมากขึ้นแทนสินเชื่อขนาดใหญ่ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากรายได้ดอกเบี้ยแล้วก็ตาม แต่ยังไม่มีนายธนาคารคนใดกล้ายืนยันว่าจะไม่มีวิกฤติใดที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์เกิดความเสียหายขึ้นอีก

ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในยุคของโลกาภิวัตน์ที่เต็มไปด้วยความผันผวนและเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเศรษฐกิจและการเมือง อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ และคงไม่มีบทพิสูจน์ไหนจะสามารถวัดความพร้อมได้จริงหากไม่เจอวิกฤติอีก แต่เพื่อความไม่ประมาท เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมไม่ว่าเหตุการณ์จะผันผวนไปในลักษณะใด




Create Date : 06 สิงหาคม 2550
Last Update : 6 สิงหาคม 2550 21:46:38 น. 1 comments
Counter : 1313 Pageviews.

 


โดย: pung_koong~* IP: 58.8.129.124 วันที่: 6 สิงหาคม 2550 เวลา:21:47:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

grooveriderz
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Pink Pandaขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยน่ะค๊าบ
[Add grooveriderz's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com pantip.com pantipmarket.com pantown.com