<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
5 มิถุนายน 2552
 
 
มารู้จักวิธี Time Out กันค่ะ

ตั้งแต่ปลายขวบปีแรกจนถึงวัย 5-6 ขวบ เด็กๆ จะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ความเป็นตัวของตัวเอง ความคิดจินตนาการ และการเรียนรู้ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็จะถือตนเองเป็นใหญ่ ทั้งไม่มีความสามารถในการควบคุมตนเองได้ดีพอ อาการประเภทดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว เอาแต่ใจ ขว้างปาของ แย่งของเล่น แกล้งน้อง ฯลฯ ซึ่งแม้เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ปกติตามวัย แต่ก็สามารถสร้างความปวดหัวให้แก่พ่อแม่ได้ไม่น้อยนะครับ

และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือแก้ไขอย่างเหมาะสมแต่เบื้องต้นด้วย เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาที่รุนแรงยากต่อการแก้ไขภายหลัง โดยหลักสำคัญคือต้องช่วยให้เด็กๆ รู้จักและสามารถควบคุมตนเองได้นั่นเองครับ

การเอาชนะหรือทะเลาะ...ไม่ได้ช่วย
การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมจะต้องเป็นไปด้วยความสัมพันธ์ที่ดีของเด็กและพ่อแม่ครับ คือพ่อแม่ต้องแสดงให้เด็กเห็นว่าเขาได้รับความเข้าใจและเห็นคุณค่า และขณะที่เขาควบคุมตนเองไม่ได้พ่อแม่ก็ต้องช่วยควบคุมให้อย่างเอาจริงและสงบ โดยไม่ใช้วิธีรุนแรงที่อาจทำให้เด็กยิ่งต่อต้านและเอาชนะ ซึ่งจะยิ่งทำให้เด็กเลียนแบบความรุนแรง และการควบคุมพฤติกรรมก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น

เคล็ดลับอยู่ที่ Time-out
วิธีหนึ่งที่ได้ผลดี คือ time-out หรือ การแยกเด็กออกจากสิ่งกระตุ้นหรือความสนใจจากสิ่งรอบข้างชั่วคราว เพื่อให้เขาสงบและควบคุมตนเองได้ เช่น เมื่อเด็ก 3 ขวบ กำลังโกรธและจะขว้างปาของ พ่อแม่อาจจับเด็กไปนั่งที่เก้าอี้มุมห้องแล้วบอกว่า “ตอนนี้หนูกำลังโกรธ หนูต้องมานั่งตรงนี้ให้ใจเย็นก่อน” แล้วคุมให้เด็กนั่งเป็นเวลา 2-3 นาที จนสงบจึงปล่อยให้เด็กกลับไปทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อ

ขณะที่เด็กถูกแยกอยู่ใน time-out บรรยากาศจะต้องสงบและไม่มีสิ่งกระตุ้นทั้งในทางบวกและทางลบ นั่นคือจะต้องไม่มีของเล่นให้เล่นหรือมีโทรทัศน์ให้ดู และจะต้องไม่พูดบ่นหรือสอนเด็กในขณะนั้น พ่อแม่เพียงอยู่ใกล้ๆ ในสายตาโดยพยายามไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งสถานที่สำหรับ Time-out อาจเป็นเก้าอี้ตรงมุมห้อง ทางเดินที่ไม่มีคนรบกวน หรือห้องที่เปิดประตูไว้ ที่สำคัญก็คือ จะต้องไม่เป็นการขังเด็กเป็นอันขาด

การใช้ time-out ที่ได้ผลดีจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอและทำทันทีที่เห็นเด็กมีพฤติกรรมที่ต้องการแก้ไข เช่น เมื่อเด็กทำลายข้าวของเวลาโกรธก็ต้องจับเด็กให้ไปนั่งให้สงบทันที และจะดียิ่งกว่าถ้าให้เด็กอยู่ใน time-out ตั้งแต่เด็กเริ่มโกรธแล้วมีทีท่าว่าจะควบคุมตนเองไม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กสงบลง ง่ายกว่ารอจนกระทั่งเด็กอาละวาดเต็มที่ บางครั้งอาจใช้วิธีพูดหรือนับ 1-3 เตือนเด็กให้เด็กหยุดตนเองก่อนที่จะต้องถูกให้อยู่ใน time-out อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้ time-out มาขู่เด็ก หรือพูดเตือนบ่อยเกินไ ป


Time-out ไม่ใช่การลงโทษ
Time-out ใช้เพื่อช่วยให้เด็กฝึกการควบคุมตนเอง ดังนั้น จึงใช้ได้ดีกับปัญหาพฤติกรรมใดๆ ที่เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เช่น เมื่อเด็กเล่นรุนแรงแล้วห้ามไม่หยุด เด็กทะเลาะแล้วลงมือตีกัน เด็กลุกเดินหรือก่อกวนในห้องเรียน หรือเมื่อถูกขัดใจแล้วอาละวาด วัตถุประสงค์คือเพื่อให้เด็กสงบ ไม่ถูกเร้า ใจเย็นลง และหยุดตนเองได้ในที่สุด

Time-out ไม่ใช่การลงโทษและไม่ใช่การให้เด็กชดใช้ความผิดนะครับ และไม่ควรใช้เมื่อพฤติกรรมที่เด็กไม่ควบคุมตนเองนั้นเกิดจากความกลัว เช่น เมื่อเด็กร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียน นอกจากนี้ก็ไม่ควรใช้เมื่อเด็กไม่ทำตามพ่อแม่ ในสิ่งที่เด็กยังไม่พร้อมหรือยากเกินไปสำหรับเขา หรือเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรปล่อยให้เด็กรับผิดชอบเองโดยไม่สมควรบังคับ เช่น เมื่อเด็กไม่ยอมกิน เป็นต้น

Time-out ต้องไม่นาน
เวลาที่เหมาะในการให้เด็กอยู่ใน time-out ควรอยู่ระหว่าง 2-5 นาที หรืออาจใช้หลักคร่าวๆ ว่า เท่ากับ 1 นาทีต่ออายุที่เป็นปี เช่น 3 ขวบก็ 3 นาที แต่ไม่ควรเกิน 5 นาทีสำหรับทุกอายุ เพราะถ้านานเกินไปเด็กจะเริ่มรู้สึกต่อต้าน วัตถุประสงค์ของ time out ไม่ใช่เพื่อการลงโทษ แต่เพื่อให้เด็กสงบและควบคุมตนเองได้ดีขึ้น ดังนั้น เวลาที่ใช้จึงควรกำหนดให้คงที่และไม่ควรเพิ่มเวลาตามความผิดที่ทำ ถ้าเด็กไม่ยอมนั่งสงบก็ไม่ควรเพิ่มเวลาให้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่บอกเด็กว่าจะจับเวลาเมื่อเขาเริ่มสงบ การทำเช่นนี้จะทำให้เห็นว่าการที่จะเลิกจาก time-out ได้เมื่อไรนั้นจะเป็นความรับผิดชอบของตัวเขาเอง


ให้เด็กรู้เหตุผลในการ Time-out
เมื่อครบเวลาควรทบทวนกับเด็กสั้นๆ ว่าเขาต้องอยู่ใน time-out เพราะเหตุใด เช่น “พ่อให้หนูนั่งสงบตรงนี้เพราะหนูขว้างของ คราวหลังถ้าหนูโกรธก็บอกได้นะไม่ต้องขว้างของ ตอนนี้หนูใจเย็นแล้วไปเล่นต่อได้” แล้วให้เด็กไปมีกิจกรรมอื่นๆ ตามปกติ ควรหลีกเลี่ยงการสอนที่ยาวหรือการพูดตำหนิติเตียน


ถ้าลูกไม่ยอมอยู่ใน Time-out
ถ้าเด็กไม่ยอมนั่งสงบ พ่อแม่ควรจับตัวเด็กให้นั่งบนเก้าอี้ที่กำหนดไว้ โดยจับทางข้างหลังเก้าอี้แล้วรวบแขน 2 ข้างของเด็กกอดไว้ เมื่อเด็กเริ่มสงบจึงปล่อยแขนแล้วเริ่มจับเวลา เด็กอาจต่อต้านในระยะแรก แต่ถ้าปฏิบัติอย่างเอาจริงและสม่ำเสมอ เด็กก็จะยอมตามในที่สุด พ่อแม่ควรพูดชมเด็กเมื่อเขายอมนั่งและสงบลงได้

ในบางกรณีเด็กอาจจะแสดงท่าทีว่าไม่เดือดร้อนเมื่อพ่อแม่ให้อยู่ใน time-out เช่น อาจแสดงสีหน้ายั่วยวน หรือพูดท้าทายว่าไม่สนใจ นั่นไม่ได้แปลว่าเด็กไม่เดือดร้อนจริงและการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอของพ่อแม่ย่อมได้ผล


เริ่มใช้ Time-out ได้ตั้งแต่อายุเท่าใด
Time-out สามารถใช้กับเด็กได้ตั้งแต่ปลายขวบปีแรก หรือประมาณ 9-10 เดือนเป็นต้นไป และสามารถใช้ได้ผลไปจนถึงเด็กวัยเรียน การใช้ time-out ตั้งแต่เล็กๆ และใช้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เด็กยอมรับวีการนี้ได้ดี และสามารถหลีกเลี่ยงวิธีการลงโทษอย่างรุนแรงในการจัดการกับปัญหาพฤติกรรมได้ เด็กส่วนใหญ่จะชอบ time-out มากกว่าการถูกลงโทษ

Time-out จะได้ผลต่อเมื่อมี time-in ด้วย
การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของเด็กจะไม่ได้ผลเลย ถ้ามัวแต่เพ่งเล็งที่พฤติกรรมที่ไม่ดีเพียงอย่างเดียว โดยไม่ให้ความสนใจพฤติกรรมที่ดี การไม่มีเวลาให้กับลูกในภาวะปกติ เช่น ขณะที่เขาเล่นดีๆ อย่างสงบ แต่จะตอบสนองต่อเมื่อลูกสร้างปัญหา เมื่อเขาร้องโวยวาย ขว้างปาของหรือทะเลาะกันเท่านั้น ปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ

พ่อแม่จึงต้องพยายามให้ความสนใจเด็กอย่างต่อเนื่องในเวลาปกติที่อาจเรียกว่า time-in ซึ่งอาจทำให้ด้วยการอยู่ใกล้ๆ เด็ก แตะตัว โอบไหล่ พยักหน้า หรือยิ้มให้เป็นระยะๆ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องสนใจอยู่ตลอดเวลา แต่อาจเป็นเพียงช่วงสั้นๆ บ่อยๆ เด็กยิ่งเล็กยิ่งต้องการความสนใจจากพ่อแม่มาก เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็ค่อยๆ ปล่อยให้มีโอกาสเล่นด้วยตนเองตามลำพัง แต่ถึงแม้จะเติบโตขึ้นเท่าไร เด็กก็ยังคงต้องการการพูดชม และการแสดงการยอมรับเป็นระยะๆ ว่าการปฏิบัติของเขานั้นเป็นที่พอใจของพ่อแม่ และเมื่อเขาก็มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พ่อแม่ก็ควรช่วยให้เขาพยายามควบคุมตนเอง การทำเช่นนี้จะช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในความรักของพ่อแม่และในคุณค่าของตนเอง ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตอย่างมีสุขภาพจิตที่ดีต่อไป



(update 18 สิงหาคม 2004)
[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 9 ฉบับที่ 99 มกราคม 2547 ]

เครดิต ข้อมูลจากคุณ Lovenaming ห้องชานเรือนค่ะ









Create Date : 05 มิถุนายน 2552
Last Update : 5 มิถุนายน 2552 11:56:02 น. 2 comments
Counter : 783 Pageviews.

 
......แอบมาอ่านข้อมูลจ้ะ......


โดย: jetsada.999 วันที่: 5 มิถุนายน 2552 เวลา:14:18:03 น.  

 
เป็นข้อมูลที่ดีค่ะ เอาไปใชมั่งดีกว่า...


โดย: CrystaL_32 วันที่: 6 มิถุนายน 2552 เวลา:19:57:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

คนแก่งคอย
Location :
สระบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add คนแก่งคอย's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com pantip.com pantipmarket.com pantown.com