มองภาพแห่งความสำเร็จที่ชัดเจน เดินแต่ละก้าวอย่างมีสติ ด้วยใจที่สงบ
<<
ตุลาคม 2555
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
24 ตุลาคม 2555

ถึง VI ที่ติดดอย banpu และหุ้นโภคภัณฑ์อื่นๆ

ผมเห็นว่ากระทู้นี้มีประโยชน์มากครับ จึงขออนุญาติเอามาลงไว้เป็นวิทยาทานกับตัวเอง และคนอื่นๆ ที่แวะเวียนเข้ามาอ่านครับ ... หรือจะติดตาม รีวิวหุ้นBanpu ได้ที่นี่ครับ //www.naiwaen.com/?p=1162 ขอบคุณครับ... 

.........

เห็นคนกระทู้ข้างล่างติดดอยบ้านปูแล้วมีคนแนะให้"เล่นแบบ VI สิ ถือยาวๆ"
เลยนึกถึงบทความของดร.นิเวศน์นี้ขึ้นมา

บทเรียนหุ้นโภคภัณฑ์
หุ้นที่ร้อนแรงและมีสีสันที่สุดกลุ่มหนึ่งในตลาดหุ้นนั้น ผมคิดว่าคือหุ้นที่ผลิตหรือขายสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นครั้งเป็นคราวโดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจร้อนแรงอย่างในช่วงเร็ว ๆ นี้ หุ้นโภคภัณฑ์บางตัวหรือบางกลุ่มจะปรับตัวหรือวิ่งขึ้นหวือหวามาก ราคาหุ้นอาจขึ้นไปได้เป็น 5-10 เท่าอย่างง่าย ๆ ในเวลาเดียวกันก็อาจจะมีหุ้นโภคภัณฑ์อีกตัวหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งที่ปรับตัวลงเหลือครึ่งเดียวหรือต่ำกว่านั้น นี่ไม่ใช่เฉพาะราคาที่ปรับตัวขึ้น แต่มันมาพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่สูงลิ่วเป็นร้อยหรือเป็นพันล้านบาทต่อวัน หลาย ๆ ตัวมีปริมาณการซื้อขายสูงสุดสิบอันดับแรกเกือบทุกวันทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ ดังนั้น หุ้นโภคภัณฑ์นั้น ต้องถือว่าเป็นหุ้น “ยอดนิยม” ในตลาดหุ้นไทย

ลองนึกดูย้อนหลังไปเพียงไม่นาน ธุรกิจเรือเทกองเคยเป็นขวัญใจของนักเล่นหุ้นเกือบทุกคนและก็อาจจะรวมถึง “VI” หลาย ๆ คนที่วิเคราะห์ด้วย “หลักการแบบ VI” แล้วก็สรุปว่าหุ้นเรือนั้น Undervalued หรือมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานมากแม้ว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปหลายเท่าแล้ว ผมคงไม่ต้องพูดว่านั่นคือความผิดพลาดของการวิเคราะห์ เพราะว่าหุ้นเรือต่างก็ “จมลง” นั่นคือราคาที่เคยสูงลิ่วตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่กำไรของบริษัทยังดีน่าประทับใจจนถึงขณะนี้ที่กำไรเริ่มตกต่ำลงอย่างมาก ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็ลดลงไปเรื่อย ๆ และคนก็เลิกพูดกันเรื่องเกี่ยวกับเรือและหันไปเล่นหุ้นโภคภัณฑ์ตัวอื่นต่อไป

หุ้นผลิตฟิล์มสำหรับบรรจุอาหารนั้น ในอดีตแทบไม่มีคนสนใจเลยเพราะกำไรของบริษัทไม่มีอะไรน่าประทับใจ การเติบโตก็ไปเรื่อย ๆ ผมคิดว่านักลงทุนส่วนใหญ่ก็ไม่ใคร่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทหน้าตาเป็นอย่างไร แต่แล้วจู่ ๆ ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นราวกับติดจรวด สักระยะหนึ่งปริมาณการซื้อขายก็ตามมา หุ้นหลายตัวในกลุ่มกลายเป็นหุ้นยอดนิยม แม้แต่ “VI” จำนวนไม่น้อยก็ยังคิดว่าหุ้นเหล่านี้ยังถูกและมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นไปอีกมากหลังจากที่มันได้กระโดดขึ้นไปแล้วหลายเท่า เหตุผลก็คือ จากการวิเคราะห์ด้วย “หลักการแบบ VI” แล้ว หุ้นยังคุ้มค่าที่จะซื้อเพราะราคาหุ้นนั้นยังถูกมาก กำไรของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมากและเพิ่มต่อไปแบบก้าวกระโดด การวิเคราะห์เรื่องกำไรนั้นดูเหมือนว่าจะถูกต้อง กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น “มโหฬาร” ดังคาด แต่ราคาหุ้นกลับถดถอยลงอย่าง “ผิดคาด”
หุ้นโภคภัณฑ์หลายตัวหรือหลายกลุ่ม ยาง เป็นตัวอย่างที่กำลัง “แสดงอยู่บนเวที” นั่นคือ ราคาหุ้นกำลังดีดตัวถึงขีดสุด กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากมายจนไม่น่าเชื่ออานิสงค์จากราคายางในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดน่าจะในประวัติศาสตร์ ปริมาณการซื้อขายหุ้นติดอันดับสูงสุดสิบอันดับเป็นว่าเล่นทั้งที่ไม่ใช่เป็นหุ้นตัวใหญ่ เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าหุ้นจะไปทางไหนหลังจาก “จบการแสดง”

ทำไมหุ้นที่วิเคราะห์ตาม “หลักการแบบ VI” และพบว่ามันเป็นหุ้นที่ถูก มี Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยสูง แต่ราคากลับลดต่ำลงไปมาก? ตลาดผิดหรือคนวิเคราะห์ผิดกันแน่? เรามาดูกัน
หุ้นโภคภัณฑ์ที่หวือหวาทั้งหลายที่กล่าวถึงนั้น ช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปหลายเท่าแล้วนั้น บางทีจะพบว่า ข้อแรก ค่า PE หรือราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้นนั้นยังต่ำมากเพียง 3-4 เท่าก็มี ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นที่ “ถูกมาก” ซื้อหุ้นแล้ว “เพียง 3-4 ปี ก็คืนทุนแล้ว” แต่นี่อาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะหุ้นโภคภัณฑ์นั้น กำไรมักไม่สม่ำเสมอ กำไรที่เห็นนั้นคือกำไรที่มากกว่าปกติมากและไม่ยั่งยืน กำไรโดยเฉลี่ยที่จะรักษาอยู่ได้นั้นอาจจะต่ำกว่าหลายเท่า ดังนั้น การเอาปีที่กำไรดีผิดปกติมาใช้วัดค่า PE จึงใช้ไม่ได้ หุ้นที่จะสามารถใช้ค่า PE เป็นตัววัดความถูกความแพงนั้น ควรจะเป็นกิจการที่มีกำไรสม่ำเสมอหรือเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น ดังนั้น ในกรณีของหุ้นโภคภัณฑ์แบบนี้ ค่า PE จึงมีประโยชน์น้อย การบอกว่าค่า PE ต่ำแสดงให้เห็นว่าเป็นหุ้นถูกจึงอาจจะไม่ถูกต้อง นี่เป็นข้อแรก
ข้อสอง หุ้นโภคภัณฑ์ที่กำลังร้อนนั้น นอกจาก PE ต่ำแล้ว ค่า PB หรือราคาต่อมูลค่าทางบัญชี ซึ่งเป็นตัวชี้ความถูกความแพงอีกตัวหนึ่งก็อาจจะต่ำด้วย บางทีต่ำกว่า 1 เท่าหรือไม่เกิน 2 เท่า ดังนั้น นี่เป็นการ “ยืนยัน” อีกจุดหนึ่งว่าหุ้นร้อนตัวนั้น “ยังถูกมาก” นี่ก็อาจจะมีส่วนจริงบ้างถ้าคิดว่ามูลค่าทรัพย์สินทางบัญชีนั้นอาจจะเป็นมูลค่าของทรัพย์สินจริง ๆ ที่สามารถขายได้ในกรณีเลิกกิจการ แต่ในความเป็นจริงก็คือ ไม่มีบริษัทไหนคิดจะเลิกกิจการ และผมก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเลิกจริง ๆ สินทรัพย์จะมีราคาอย่างที่ว่าจริงไหม เพราะบ่อยครั้ง เวลาเลิกกิจการ โรงงานมักจะกลายเป็นเศษเหล็กที่แทบไม่มีค่าเลย นอกจากนั้น มูลค่าทางบัญชีเองก็ลดลงได้ในกรณีที่บริษัทมีผลขาดทุนในอนาคตอันเนื่องมาจากราคาของโภคภัณฑ์ที่ลดลงก็ได้ สรุปแล้ว ค่า PB เองก็ไม่ได้บอกอะไรที่มีความหมายมากนักในกรณีของหุ้นโภคภัณฑ์ที่เป็นโรงงาน

ข้อสาม ค่า Dividend Yield หรือผลตอบแทนเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้น ของหุ้นโภคภัณฑ์ที่กำลังร้อนแรงนั้น มักจะสูงลิ่ว บางทีมากกว่า 6-7% ต่อปี ซึ่งเป็นปันผลที่งดงามมาก นี่เป็นตัวยืนยันความถูกของหุ้นในสไตล์หุ้น “ห่านทองคำ” ซึ่งเป็นแนวของนักลงทุนแบบ VI ที่ “อนุรักษ์นิยมมาก” ในกลุ่ม VI ด้วยกัน ดังนั้น นี่เป็นการยืนยันความปลอดภัยของหุ้นอีกจุดหนึ่ง แต่นี่ก็อาจจะเป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดอีกเช่นกัน เหตุผลก็คือ ปันผลที่เห็นนั้น เป็นปันผลที่คิดจากกำไร ถ้าในอนาคตกำไรลดลง ปันผลก็ต้องลดลง ผลตอบแทนที่บอกว่า 6-7% จึงเป็นปันผลเพียงครั้งเดียว ในอนาคตอาจจะน้อยลงหรือไม่มีก็ได้ ดังนั้น Dividend Yield ในกรณีของหุ้นโภคภัณฑ์จึงไม่ได้บอกว่าหุ้นถูกหรือแพง
สุดท้าย ฐานะการเงินของหุ้นโภคภัณฑ์ในยามร้อนแรงก็อาจจะดีเยี่ยม บางทีมีเงินสดเหลือเฟือด้วยซ้ำ แต่นี่ก็อาจจะเป็นภาพลวงตา เพราะเงินสดนั้น ไม่ได้นำมาแจกจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น บางทีอนาคตก็อาจจะหมดไปกับการลงทุนหรืออะไรต่าง ๆ ที่ไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับบริษัท ดังนั้น เงินสดก็อาจจะมีความหมายไม่มากถ้าเจ้าของเขาไม่อยากแจกคืนให้ผู้ถือหุ้น

ข้อสรุปรวบยอดของผมก็คือ ตัวเลขและการวิเคราะห์ตามหลักการ “แบบ VI” นั้น ใช้ไม่ได้กับหุ้นโภคภัณฑ์ วิธีการที่ผมคิดว่าดีที่สุดสำหรับการเล่นหุ้นโภคภัณฑ์ก็คือ ซื้อหุ้นก่อนที่วัฏจักรราคาสินค้าจะเป็น “ขาขึ้น” อย่างน้อย 2-3 เดือนโดยที่ราคาหุ้นยังไม่ได้ขยับขึ้นหรือปรับตัวขึ้นก็เพียงเล็กน้อย ขายหุ้นเมื่อทุกอย่างกำลังร้อนแรงสุด ๆ และราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากจนไม่น่าเชื่อ ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าคนที่รู้ดีที่สุดก็คือเจ้าของหรือผู้บริหารกิจการ ดังนั้น คนที่ได้เปรียบก็คือ คนในหรือคนที่ใกล้ชิดหรือได้ข้อมูลก่อนคนอื่น

//www.thaivi.com/2011/02/616/

จากคุณ : เบิกได้จ่ายตร

สงสัยเขาเป็น VI มือใหม่มั้งครับ แล้วยังทำการบ้านไม่ดีพอ อย่างบทความต่างๆที่ดร.นิเวศน์เขียนก็มีอ้างอิงของปีเตอร์ลินช์ในเรื่องหุ้นวัฏจักร

หุ้นวัฏจักร  นี่คือหุ้นของกิจการที่มียอดขายขึ้น ๆ  ลง  ๆ  ตามวัฏจักรของเศรษฐกิจหรือตามวัฏจักรของอุตสาหกรรม   หุ้นที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่นั้นมักเป็นหุ้นวัฏจักรซึ่งทำให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยจำนวนมากเป็นหุ้นวัฏจักร  ประเด็นก็คือ  ทั้งยอดขายและกำไรของหุ้นมักจะไม่แน่นอน  ในช่วง  “ขาขึ้น”  ยอดขายและกำไร ก็จะปรับตัวขึ้น  บางทีหลายปีจนทำให้เรานึกไปว่าเป็นหุ้นโตเร็ว  แต่ในช่วง “ขาลง”  ยอดขายและกำไรก็ลดลง  บางครั้งถ้าเราดูตัวเลขยอดขายและกำไรย้อนหลังไปยาวเป็น 10 ปีหรือมากกว่านั้น   ก็อาจจะเห็น  “วัฏจักร” ที่ชัดเจนขึ้น   หุ้นบริษัทขายบ้านและคอนโดมิเนียมหลายบริษัทนั้น  นักลงทุนอาจจะวิเคราะห์และสรุปว่าเป็นหุ้นโตเร็วเพราะยอดขายและกำไรอาจจะโตอย่างโดดเด่นมา 4-5 ปี  แต่ถ้าถามว่าอีก 5 ปีข้างหน้าบริษัทนั้นจะยังมียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้นหรือใกล้เคียงกับปัจจุบันไหม?  ผมเองก็ไม่แน่ใจ  โอกาสเป็นไปได้ว่ายอดขายและกำไรน้อยกว่านั้นเพราะการขายบ้านและคอนโดนั้นต้อง “เริ่มต้นใหม่”  กับ “ลูกค้ารายใหม่” ทุกปี  ซึ่งผมรู้สึกว่ามีความไม่แน่นอนสูง  ดังนั้น  สำหรับผมจะไม่จัดให้บริษัทในกลุ่มนี้เป็นหุ้นโตเร็ว

           หุ้นวัฏจักรนั้น  เนื่องจากการโตขึ้นของกำไรไม่แน่นอนและอาจจะตกกลับลงไปอีกในอนาคต  ดังนั้น  ความเสี่ยงจึงสูงและการกำหนดค่า PE ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนก็ทำได้ยาก  ว่าที่จริง ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่าเราควรซื้อในยามที่ PE สูงและขายตอนที่ PE ต่ำ  การเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วควรมองไปที่วัฏจักรมากกว่าตัวเลขความถูกความแพงของหุ้น  และถ้าเรารู้ว่ากำลังเป็นขาขึ้น  การลงทุนก็มักจะทำกำไรให้เรามหาศาล  บางทียิ่งกว่าหุ้นโตเร็ว  อย่างไรก็ตาม  วันหนึ่งหุ้นจะลง  ดังนั้น  เราจะต้องขายหุ้นก่อนที่วัฏจักรจะเริ่มเปลี่ยนเป็นขาลง

จากคุณ : Dr. Manhattan

หุ้นไหนๆ ก็เป็นหุ้นแบบ VI ได้ ถ้า
ถ้ามัน "ถูกเกินเหตุ"

ถ้าหุ้นตัวหนึ่ง มันกำไรขึ้นๆ ลงๆ ระหว่าง 1 กับ 5 บาท
แต่ถ้า เราไปเห็นราคาหุ้นในกระดานมันอยู่ 2-3 บาท
ก็สามารถตะครุบเอาไว้ได้ แม้กำไรมันจะแกว่งมากไปมา
แต่ถ้าราคาหุ้นมันแกว่งต่ำค่อดๆ (ขออภัย) กว่านั้น
ก็ถือเป็นจังหวะที่เราเห็นว่า "Value ของมันเกินราคา" ได้

(โดยต้องมีคุณสมบัติอื่นให้ครบถ้วนนะ เช่นหนี้น้อย,
ผบห. ไม่โกง, สินค้า/บริการ มีความได้เปรียบคู่แข่ง แม้
ว่ามันจะขึ้นๆ ลงๆ ก็ตามทีเถิด, โดยคงต้องยกเว้นในเรื่อง
ของ profit margin และ ยอดขาย ที่คงขึ้นๆ ลงไป ไปตาม
วัฏจักร)

หุ้นไหนๆ ก็เป็นอะไรก็ได้ ขึ้นกับว่าเราซื้อมันที่ราคาไหน
ต่างหาก บางทีเราอาจจะไม่ต้องหาหุ้นเลอเลิศ แต่เป็นบริษัท
ที่ดีพอควร แต่หุ้นมันราคาถูกเกินเหตุ ก็รวยได้เหมือนกันครับ

(ซึ่งอาจจะ ตรงกันข้ามกับการลงทุนใน Growth Stock ที่
หวังในเรื่องของ Performance ของบริษัทที่ดีมาก เป็นหลัก
อันนี้แล้วแต่คนชอบ แต่ถ้าทำถูก ก็รวยได้หมดครับ)

จากคุณ : มือเก่าหัดขับ

 

 




Create Date : 24 ตุลาคม 2555
Last Update : 9 ธันวาคม 2555 9:22:03 น. 0 comments
Counter : 4887 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นายแว่นธรรมดา
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 110 คน [?]




ยินดีต้อนรับสู่บล็อกนายแว่นธรรมดา บล็อกที่รวมเอาความคิด ความฝัน ความรู้สึกของนายแว่นธรรมดา เพื่อปะติดปะต่อภาพแห่งความรู้สึกในใจของเราให้เสร็จสมบูรณ์ (ขอสงวนการนำข้อมูลในบล็อกไปใช้ครับ)
Free counters!
New Comments
[Add นายแว่นธรรมดา's blog to your web]