LOVE ACTUALLY
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
18 พฤศจิกายน 2551
 
All Blogs
 
แบงก์นอกผวาศก.ซบ-หนี้เน่าพุ่ง ปรับเพิ่มรายได้ขั้นต่ำบัตรเครดิต

ผู้จัดการรายวัน - แบงก์ฝรั่งเริ่มรับมือผลกระทบเศรษฐกิจโลก หันขยับขึ้นรายได้ขั้นต่ำคนทำบัตรเครดิต เน้นทำตลาดระดับบน ชี้อนาคตจะแบงก์พาณิชย์ไทยเตรียมขยับขึ้นตาม ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดมูลค่าการใช้จ่ายบัตรเครดิตไตรมาส 4 อยู่ที่ 223,250 ล้าน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.7% ผลจากทั้งแบงก์-นอนแบงก์โหมแคมเปญดันยอดใช้จ่ายช่วงโค้งสุดท้ายของปี
นายวิชิต พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายบุคคลธนกิจธนาคารเอชเอสบีซี (ประเทศไทย) หรือHSBC เปิดเผยว่า ธนาคารได้ทำการปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำของผู้ที่สมัครบัตรเครดิตจาก 15,000 บาท เป็น18,000 บาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ธุรกิจบัตรเครดิตค่อนข้างมีความอ่อนไหว จึงต้องทำการป้องกันปัญหาไว้ก่อน ซึ่งการปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำดังกล่าวนั้นเป็นนโยบายเฉพาะของประเทศไทยไม่ได้เป็นนโยบายที่สั่งมาจากบริษัทแม่
สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดของบัตรเครดิตนั้นธนาคารได้หันมาเน้นลูกค้าผู้ถือบัตรทองและบัตรแพลตินัมมากขึ้น ส่วนยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ในปีนี้ถือได้ว่าลดลงจากปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีการปรับเกณฑ์การชำระขั้นต่ำจาก 5 % มาเป็น 10%
"การปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำมาอยู่ที่ 18,000 บาทต่อเดือนนั้น เพราะมองว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้มีโอกาสที่มากระทบไทยดังนั้นจึงต้องป้องกันไว้ก่อนส่วนเงื่อนไขอื่นๆ ไม่ได้เปลี่ยน ซึ่งเรามีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับปัจจุบันเรามีฐานบัตรเครดิตอยู่กว่า 500,000 ใบ"
รายงานข่าวจากธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ธนาคารได้ทำการปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำของผู้ที่ทำบัตรเครดิตขึ้นมาอยู่ที่ 20,000 บาทต่อเดือน เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินโลกในขณะนี้ โดยที่ผ่านมาได้มีธนาคารเอชเอสบีซีที่ได้มีการปรับเกณฑ์ดังกล่าวไปก่อนหน้านี้ และคาดว่าในระยะต่อไปจะมีธนาคารพาณิชย์ของไทยปรับเกณฑ์ดังกล่าวขึ้นตามด้วย
ขณะที่ นางสาวอัญชลี จรัสยศวุฒิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดบัตรเครดิต ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่าขณะนี้ธนาคารยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใด ๆ ส่วนรายได้ขั้นต่ำของผู้สมัครบัตรเครดิตที่ 15,000 บาท ยังถือเป็นระดับที่ธนาคารสามารถควบคุมหนี้เสียได้โดยปัจจุบันอยู่ที่ 2.1%แต่อย่างไรก็ตามรายได้ลูกค้าผู้ถือบัตรของธนาคารโดยเฉลี่ยนั้นอยู่ที่ 30,000 บาท ส่วนยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยอยู่ที่ 13,500 บาทต่อเดือน
คาดโหมแคมเปญดันยันยอดใช้จ่าย
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตช่วยไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ว่า จากภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในทุกกลุ่มผู้ประกอบการไตรมาส 3 ปี 2551 มีปริมาณการใช้จ่ายทั้งสิ้น 197,775.9 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 12.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากที่มีการเติบโตร้อยละ 13.8 ในไตรมาส 2 ปี 2551 โดยเป็นผลมาจากมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมากในไตรมาส 3 นี้ ทั้งนี้มีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศมีประมาณ 30,539.0 ล้านบาท โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากที่มีการเติบโตร้อยละ 12.1 ในไตรมาส 2 ปี 2551 โดยหากเปรียบเทียบมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 2 ปี 2551 จะพบว่า มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 3 ลดลงจากไตรมาส 2 ประมาณ 220.9 ล้านบาท
ในขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 3 ปี 2551 มีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตประมาณ 94,472.3 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 13.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 ในไตรมาส 2 ปี 2551 สถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Non-Bank ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 3 ปี 2551 มีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตประมาณ 72,764.5 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 ในไตรมาส 2 ปี 2551
ทั้งนี้ ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกลุ่ม Non-Bank ที่เร่งขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2551 นั้น ได้สอดคล้องกับปริมาณบัตรเครดิตใหม่ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่น่าจะมาจากผู้ประกอบการที่ออกบัตรเครดิตที่ส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ประกอบการที่มีบริษัทในเครือที่ประกอบธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้า และ ดิสเคานท์สโตร์ เป็นต้น ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และเมื่อผู้บริโภคใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ส่วนลดในการซื้อสินค้า เป็นต้น ซึ่งเป็นการช่วยผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายในภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนั้น แม้ว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของทุกปีจะเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตต่างคาดหวังที่จะเห็นการเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในระดับที่สูงกว่าในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนับได้ว่าเป็นฤดูแห่งการใช้จ่าย หรือเทศกาลของขวัญปีใหม่ และยังเป็นอีกช่วงหนึ่งที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ในช่วงนี้ผู้บริโภคจะมีการใช้จ่ายมากเป็นพิเศษ จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ผู้ประกอบการต่างเร่งทำแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้นในช่วงนี้ นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในช่วงนี้จะทำให้แรงกดดันต่อภาระรายจ่ายของผู้บริโภคเริ่มบรรเทาลง ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีการเติบโตที่ดีขึ้น
แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการบัตรเครดิตจะเผชิญปัจจัยที่ท้าทายในการดำเนินกลยุทธ์กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเครดิต เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของไทย สถานการณ์ทางการเมือง รวมถึงปัญหาวิกฤติทางการเงินโลกที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว สภาวะแวดล้อมที่กำลังบีบรัดผู้บริโภคในขณะนี้ ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจมีการปรับลดการใช้จ่ายลงในช่วงนี้ โดยใช้จ่ายบนพื้นฐานของความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงที่เหลือไม่ขยายตัวดังที่คาด
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาวะแวดล้อมธุรกิจบัตรเครดิตจะมีปัจจัยลบค่อนข้างมากแต่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังคงเดินหน้าทำแคมเปญการตลาด เพื่อเร่งยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต่อไป โดยในช่วงนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าทำแคมเปญร่วมกับพันธมิตรห้างสรรพสินค้า ดิสท์เคานท์สโตร์และร้านค้าเฉพาะอย่าง เพื่อเร่งยอดขายในช่วงเทศกาล ซึ่งแคมเปญส่วนใหญ่จะเน้นไปยังสิทธิประโยชน์จากการชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิต เช่น ส่วนลดเพิ่มอีกร้อยละ 5 – 10 จากสินค้าที่ทางห้างสรรพสินค้าได้จัดแคมเปญลดราคาแล้ว การแลกรับบัตรกำนัลของขวัญเมื่อชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตตามวงเงินที่กำหนด เป็นต้น ซึ่งอาจจะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคที่อาจจะลังเลจากภาวะเศรษฐกิจตัดสินใจซื้อสินค้า เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในขณะนี้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังได้ร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการโรงแรม และสายการบิน เช่น นำเสนอส่วนลดที่พักเมื่อใช้บัตรเครดิตชำระค่าบริการ เป็นต้น ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวของไทยด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการณ์มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 4 ปี 2551 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 223,250.0 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.7 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.4 ในไตรมาส 4 ปี 2550 ซึ่งน่าจะทำให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปี 2551 อยู่ที่ประมาณ 816,500.9 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.5 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.1 ในปี 2550 ทั้งนี้สาเหตุการขยายตัวของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปีนี้ น่าจะมาจากผลของเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคต้องเผชิญกับ ราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และราคาสินค้าที่ขยับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันที่ผ่านมา อาทิ สินค้าอุปโภคและบริโภคบางรายการได้ปรับราคาขึ้นมาสูงกว่าร้อยละ 30 ของราคาเดิม เป็นต้น
สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตคาดว่า ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตในไตรมาส 4 ปี 2551 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 192,980.10 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 2550 สาเหตุของการขยายตัวของยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเปรียบเทียบจากฐานที่ต่ำในปี 2550 และสาเหตุอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้อาจจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผ่อนชำระสินเชื่อบัตรเครดิต โดยผู้บริโภคอาจจะมีการผ่อนชำระแบบเต็มจำนวนน้อยลง



Create Date : 18 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2551 12:00:49 น. 0 comments
Counter : 216 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

illuminant
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




1.Cut loss
2.Looking forward
3.Market move by sentiment
4.The crowd usually wrong
5.Stick to the plan
6.Patience
Friends' blogs
[Add illuminant's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.