มาปลูกกล้วยไม้ให้บานในหัวใจกัน!!!
Group Blog
 
 
เมษายน 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
29 เมษายน 2551
 
All Blogs
 
เลี้ยงกล้วยไม้อย่างไรจึงจะประกวดได้...รางวัล

เวลาไปชมงานประกวดต้นไม้ทีไรมักจะได้ยินคำถามอยู่เสมอๆ ว่าเลี้ยงกล้วยไม้อย่างไรจึงจะประกวดได้รางวัล ยากหรือไม่ คำตอบคือ มักจะขึ้นอยู่กับปัจจัยบางอย่างของผู้เลี้ยงเอง อาทิ
1. เวลา

2. ชนิดของกล้วยไม้ที่จะเลี้ยง

3. น้ำ

4. ปุ๋ย สารกำจัดโรคพืช และสารกำจัดแมลง

5. ฝีมือในการเลี้ยง

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้คือ ปัญหาที่ผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มักประสบอยู่เสมอ แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็พบอยู่บ่อยๆ บางอย่างกว่าเราจะจับจุดได้ก็ต้องเสียเวลาไปมากพอสมควร หลายท่านเคยบ่นว่า ประกวดกล้วยไม้มาหลายปีแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จสักที คือได้แต่ส่งเข้าประกวดแต่ไม่ค่อยได้รับรางวัล ความจริงปัญหาเรื่องนี้ก็คงจะเป็นธรรมดาของนักกล้วยไม้ กว่าที่แต่ละท่านจะประสบความสำเร็จก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มามากมาย ในลำดับต่อไปจะได้เขียนถึงแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อเข้าประกวดจากประสบการณ์ของผู้เขียน
1. เวลา การเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อเข้าประกวดมีความแตกต่างจากการเลี้ยงเพื่อการค้า หรือเป็นงานอดิเรก ทั้งนี้เพราะการเลี้ยงเพื่อเข้าประกวด จะต้องใช้เวลานานในการดูแลต้นกล้วยไม้อย่างใกล้ชิด อย่างน้อยควรมีเวลาให้แก่กล้วยไม้พวกนี้วันละ 30 นาที หรือ 1 ชม. เพื่อให้น้ำ ยา และปุ๋ย ซึ่งจะต้องมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนเพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ และระยะเวลาการออกดอกที่แน่นอน ตลอดจนความสมบูรณ์ของดอกที่ออกมาแต่ละครั้งด้วย ผู้เขียนก็เคยประสบปัญหาเรื่องนี้มาแล้ว คือมักต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือไปทำธุระบ่อยครั้ง จนทำให้ไม่มีเวลาดูแลกล้วยไม้เท่าที่ควร กล้วยไม้จึงให้ดอกออกมาไม่สมบูรณ์ไม่สามารถส่งเข้าประกวดได้ แต่เมื่อมีเวลาอยู่กับกล้วยไม้อย่างสม่ำเสมอทำให้ในปีต่อมาประสบความสำเร็จในการประกวดและได้รับรางวัลมาโดยตลอด

2. การเลือกชนิดกล้วยไม้ที่จะปลูกเลี้ยง หลายๆ ท่านคงจะมีต้นกล้วยไม้อยู่บ้างแล้ว สำหรับบางท่านก็อาจกำลังตัดสินใจว่าจะปลูกเลี้ยงกล้วยไม้อะไรดี ในเรื่องนี้ตัวของท่านเองต้องเป็นผู้ตัดสินใจเพราะขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ซึ่งต้องถามตัวเองก่อนว่าชอบกล้วยไม้ชนิดไหน ในเรื่องนี้เราต้องเปิดโลกทรรศน์ของตัวเองให้กว้างที่สุด เพื่อที่จะได้พบกล้วยไม้แต่ละประเภทว่ามีความสวยงามเพียงใด ข้อเสนอแนะคือ ท่านต้องพยายามไปชมงานประกวดกล้วยไม้หลายๆ ครั้ง เพื่อที่จะได้พบเห็นกล้วยไม้ที่นักกล้วยไม้นำมาประกวดซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ดีเพื่อการตัดสินใจของท่านว่าท่านชอบกล้วยไม้ประเภทไหน สำหรับท่านที่ไม่มีเวลาจะไปชมงานประกวดกล้วยไม้ ก็อาจไปเดินชมได้ที่ตลาดกล้วยไม้ ซึ่งมีกล้วยไม้หลายชนิดที่นำมาขาย ที่เราเห็นกันบ่อยๆ คือ กล้วยไม้สกุลหวาย แคทลียา แวนด้า แอสโคเซนด้า และที่นิยมมากคือกล้วยไม้ป่า ข้อแนะนำคือในการเลือกซื้อกล้วยไม้ชนิดต่างๆ ก่อนที่จะซื้อเราจะต้องศึกษาจากผู้รู้หรือตำรากล้วยไม้ให้ดีว่ากล้วยไม้ที่เราจะซื้อไปเลี้ยงนั้น สามารถเจริญเติบโตหรือให้ดอกให้ผลได้ดีหรือไม่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เราจะนำไปเลี้ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ป่า เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะคนส่วนใหญ่ที่ซื้อกล้วยไม้ป่าไปเลี้ยงเนื่องจากในขณะที่แม่ค้านำมาขายกำลังออกดอกสวยงาม แต่เมื่อซื้อไปเลี้ยงแล้วปรากฏว่าไม่เคยออกดอกอีกเลยและในที่สุดก็ตาย ซึ่งเมื่อคิดแล้วเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้เกิดการทำลายธรรมชาติอย่างคิดไม่ถึง ดังนั้นถ้าเป็นการเริ่มต้นเลี้ยงกล้วยไม้ ก็ควรเลือกประเภทที่เลี้ยงง่ายๆ ก่อน เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย แคทลียา แวนด้า หรือแอสโคเซนด้า เพราะกล้วยไม้ประเภทนี้เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่ได้พัฒนาเพื่อให้สามารถปลูกเลี้ยงได้ในสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไป นอกจากนี้เรื่องชื่อกล้วยไม้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของนักกล้วยไม้ที่จะปลูกประกวด เพราะในการประกวดจะต้องเขียนชื่อกล้วยไม้ให้ถูกต้อง มิฉะนั้นกรรมการตัดสินจะไม่พิจารณากล้วยไม้กับประเภทหรือชนิดของกล้วยไม้ส่งเข้าประกวด

3. น้ำ คราวนี้เราคงต้องมารู้เรื่องของการให้น้ำกันบ้าง การให้น้ำนั้นในบางครั้งเราก็ให้มากเกินไป หรือน้อยไปบ้าง ทำให้กระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ได้ ดังนั้นเราจึงควรดูว่ากล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงใช้เครื่องปลูกอะไรเป็นหลัก เครื่องปลูกกล้วยไม้แยกออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้คือ

1. กาบมะพร้าว ให้ความชื้นสูง แต่มีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะนำมาเลี้ยงกล้วยไม้ประกวด แต่ดีสำหรับนำมาเลี้ยงกล้วยไม้ที่แยกหน่อ

2. ออสมันด้า ให้ความชื้นได้น้อยกว่ากาบมะพร้าว แต่มีราคาสูงและหายาก

3. ถ่าน ให้ความชื้นน้อย แต่ความคงทนอยู่ได้นานปีกว่า จึงเหมาะที่จะใช้เป็นเครื่องปลูกสำหรับการประกวด

ในกรณีที่ปลูกเลี้ยงด้วยเครื่องปลูกที่แตกต่างกัน ควรที่จะแยกแขวนให้เป็นอย่างๆ ไปเพื่อความสะดวกในการที่จะให้น้ำ การให้น้ำนั้นควรคำนึงถึงเครื่องปลูกด้วย เพราะเครื่องปลูกแต่ละชนิดมีการดูดซึมน้ำได้แตกต่างกัน เช่น กาบมะพร้าวจะดูดซับน้ำได้มากกว่า การให้น้ำวันละครั้งก็เป็นการเพียงพอ เพราะหากให้น้ำมากไปจะทำให้เครื่องปลูกแฉะ และไม่มีโอกาสที่จะได้แห้งสนิทในแต่ละวันส่งผลให้เครื่องปลูกเกิดเชื้อราได้ง่าย หรือบางครั้งหน่อที่ออกมาใหม่อาจเกิดการเน่าเสียได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าหน่อของกล้วยไม้แนบชิดกับเครื่องปลูกอยู่ตลอดเวลาไม่มีโอกาสที่จะแห้งได้ และที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ คือการเกิดตะไคร่น้ำจับเต็มหน้าเครื่องปลูกจนทำให้เกิดการรดน้ำให้ปุ๋ยเป็นไปได้โดยยาก ส่วนเครื่องปลูกที่เป็นออสมันด้านั้น การดูดซับน้ำได้น้อยกว่ากาบมะพร้าวดังนั้นความชื้นจึงน้อยกว่า การใช้ถ่านจึงเป็นวิธีที่ดีสำหรับการเลี้ยงกล้วยไม้ประกวด แม้ว่าถ่านจะดูดซับน้ำได้น้อยกว่าก็จริง แต่เราก็สามารถที่จะให้น้ำเพิ่มขึ้นได้ในเวลาที่เราต้องการ การเกิดอาการหน่อเน่าก็ลดน้อยลงด้วย
การใช้เครื่องปลูกที่เป็นถ่านนั้นเราควรจะดูด้วยว่า ในตอนบ่ายประมาณ 2-3 โมงเย็น เครื่องปลูกยังคงมีความชื้นอยู่หรือไม่ ถ้าเครื่องปลูกแห้งเร็วมากก็ควรจะรดน้ำให้อีกครั้ง แต่ไม่ต้องมากเหมือนตอนเช้า การดูว่ากล้วยไม้ขาดน้ำหรือไม่ให้สังเกตดูที่ใบ ถ้าเป็นหวายจะดูได้ง่ายกว่าแคทลียา คือใบจะอ่อนนิ่มและตก ถ้าเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่ากล้วยไม้ขาดน้ำ ตามปกติแล้วความชื้นของเครื่องปลูกที่พอเหมาะสำหรับกล้วยไม้อยู่ที่ระดับ 30% ถ้าความชื้นต่ำกว่า 30% กล้วยไม้จะแสดงอาการเหี่ยวให้เห็นได้ชัดเจนก็คือ ลำต้นจะเหี่ยวแตกเป็นร่องตามแนวยาวของลำต้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า กล้วยไม้ได้รับน้ำไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มการให้น้ำมากขึ้น ถ้าปล่อยทิ้งไว้กล้วยไม้จะทรุดโทรม และถ้าเป็นกล้วยไม้ที่กำลังแทงช่อดอก ดอกที่บานจะไม่สมบูรณ์ เนื่องจากว่ากล้วยไม้ไม่สามารถที่จะนำน้ำไปละลายปุ๋ยที่ติดอยู่กับเครื่องปลูก ทำให้กล้วยไม้ขาดปุ๋ยที่จะนำไปบำรุงส่วนต่างๆ
ดังนั้นการขาดน้ำหรือให้น้ำไม่เพียงพอ เป็นการทำลายระบบการทำงานของกล้วยไม้ ดังเราจะเห็นได้ว่ากล้วยไม้ขาดน้ำในขณะแทงช่อดอก ช่อดอกจะไม่ยาวช่วงจังหวะจะถี่ และถ้าให้น้ำเพิ่มขึ้นในระยะนี้ช่วงดอกจะห่างขึ้น ทำให้ต้นกล้วยไม้ต้นเดียวกันมีความถี่ห่างของดอกไม่เท่ากัน ซึ่งมักจะพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ ในฤดูร้อน ถ้าเป็นแคทลียาก้านส่งดอกจะไม่ยืดเท่าที่ควร พอดอกพ้นซองก็บานทันที การเอาใจใส่ดูแลในเรื่องการให้น้ำจึงถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเลี้ยงกล้วยไม้ประกวด เพราะถ้าพลาดไปแล้วกว่ากล้วยไม้จะออกดอกให้ใหม่ก็ต้องเสียเวลานานไปหลายเดือน และถ้าเป็นต้นที่ออกดอกเป็นฤดูกาลแล้ว คงต้องรอไปอีกปีหนึ่งทีเดียว
4. ปุ๋ย สารกำจัดโรคพืช และสารกำจัดแมลง สิ่งสำคัญในการเลี้ยงกล้วยไม้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ปุ๋ย หรือ อาหารของกล้วยไม้ ผู้เลี้ยงจะต้องรู้ว่ากล้วยไม้วัยไหนต้องการปุ๋ยสูตรอะไร เพราะปุ๋ยที่เขาผลิตออกมานั้น แต่ละสูตรมีการใช้ที่แตกต่างกันไปตามวัยของกล้วยไม้ แต่ก็มีบางท่านที่ชอบใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น สูตร 18-18-18 หรือ 21-21-21 เป็นต้น หรือที่เรียกกันว่าปุ๋ยครอบจักรวาลโดยใช้กับกล้วยไม้ทุกวัย ถ้าจะถามว่าสูตรนี้ดีไหมโดยใช้กับกล้วยไม้ทุกวัย ก็คงตอบว่าดีเพราะถ้าไม่ดีเขาคงผลิตออกมาขายไม่ได้ แต่มันดีเหมือนรถยนต์รุ่นเก่าชนิดเกียร์เดียว วิ่งทางราบมันก็วิ่งได้อยู่แต่พอไปขึ้นเขาทางชันมันก็หมดแรงแซงไม่ไหว
ดังนั้นการให้ปุ๋ยกล้วยไม้เราจึงต้องรู้ว่าเราจะให้ปุ๋ยกล้วยไม้เพื่อประโยชน์อะไร ให้แล้วกล้วยไม้มีการตอบสนองอย่างไร นี่คือเหตุผลของการให้ปุ๋ย การให้ปุ๋ยกล้วยไม้สำหรับการเลี้ยงประกวดนั้นไม่เหมือนกับการเลี้ยงกล้วยไม้ขายต้น คือให้งามอย่างเดียวเป็นใช้ได้ แต่การเลี้ยงกล้วยไม้ประกวดจะประโคมปุ๋ยลงแบบขายต้นไม่ได้ มันต้องค่อยเป็นค่อยไป มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ปุ๋ย รู้จักเปลี่ยนปุ๋ยเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งที่ควรจะเปลี่ยนเพื่อให้ได้ดอกที่มีคุณภาพพอที่จะส่งเข้าประกวดได้ ผู้ที่เลี้ยงกล้วยไม้เพื่อการประกวดส่วนมากมักจะเลี้ยงกล้วยไม้ที่เคยเห็นดอกมาแล้วหรือแบ่งแยกออกมา พอเป็นไม้รุ่นที่ควรจะออกดอกได้เราก็แยกออกมาแล้วให้ปุ๋ยสูตร 15-30-15 ถ้าเป็นหวายก็สุดลำ ส่วนแคทลียาแทงซองหรือไม่ก็ให้ดูด้วย การให้ปุ๋ยควรให้ประมาณ 7 วันครั้ง ถ้าเป็นแคทลียาก็ให้ 10 วันครั้ง และสังเกตดูว่ามีตุ่มเล็กๆ ขึ้นที่ใบหรือไม่ ถ้ามีก็แสดงว่าให้ปุ๋ยมากเกินไป ควรทิ้งระยะเวลาการให้ปุ๋ยให้ห่างออกไปอีก แคทลียานั้นต้องการปุ๋ยน้อยกว่าหวายแต่มีการสะสมปุ๋ยได้ดีกว่า
เมื่อให้ปุ๋ยสูตร 15-30-15 จนถึงระยะหนึ่ง กล้วยไม้ควรแทงช่อ ให้หมั่นตรวจดูเพื่อที่จะได้แยกออกไว้ต่างหาก ถ้าเป็นแคทลียาจะเห็นเงาดอกในซองดอกก็ให้งดการให้ปุ๋ยสูตร 15-30-15 แล้วเปลี่ยนเป็นสูตร 16-21-27 ผสมปุ๋ยปลา “ฟอดด์อิท” สูตร 5-1-1.6 อย่างละเท่าๆ กัน ให้อาทิตย์เว้นอาทิตย์ การให้ปุ๋ยปลาทุกครั้งควรให้สารกำจัดเชื้อราผสมลงไปด้วยเพื่อป้องกันเชื้อรา โดยเฉพาะในฤดูฝนควรงดการให้ปุ๋ยปลาเพราะจะทำให้ยอดเน่าได้ ควรให้ปุ๋ยสูตร 10-20-30 แทน เพราะหน้าฝนกล้วยไม้จะได้ไนโตรเจนจากน้ำฝนบ้างแล้ว การให้ปุ๋ยปลาก็เพื่อที่จะกล้วยไม้ได้กินไนโตรเจนแบบค่อยเป็นค่อยไป บางท่านอาจจะใช้ปุ๋ยสูตรเท่ากันกับกล้วยไม้ที่แทงช่อ ผลเสียก็คือ ถ้าเป็นหวายดอกจะปลิแตกอ้าโผล่ปากออกมา เวลาบานจะเสียรูปทรงปากจะเบี้ยว สีจะจาง กลีบดอกจะบางความคงทนจะน้อยลง ถ้าเป็นแคทลียาก็มีอาการคล้ายกับหวาย แต่ดอกจะขยายขึ้นอีกเล็กน้อย ดอกจะบานไม่ทน และในกรณีที่ให้ปุ๋ยสูตรเท่านี้ถ้าเป็นหน้าฝนจะทำให้ไนโตรเจนเกิน และจะทำให้กล้วยไม้แทงหน่อพร้อมกับแทงช่อก็จะทำให้ช่อสั้นไป เพราะอาหารส่วนหนึ่งต้องถูกนำไปเลี้ยงหน่อแทนที่จะส่งไปเลี้ยงช่ออย่างเดียว ทำให้ความสมบูรณ์ของช่อลดน้อยลงไป ถ้าเป็นเช่นนี้ควรตัดช่อไปเพื่อรักษาหน่อไว้ให้มีความสมบูรณ์ดีกว่าจะเก็บไว้ทั้งอย่าง เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้หน่อก็จะทรุด ช่อก็จะสั้นขาดคุณภาพ
การให้ยา ยาในที่นี้หมายถึงสารป้องกันและกำจัดโรคพืช และสารป้องกันและกำจัดแมลง สารป้องกันและกำจัดโรคพืชที่ใช้อยู่เป็นประจำคือ ออโธไซด์ 50 ผสมกับเบนเลทในอัตราส่วน ออโธไซด์ 2 ส่วน เบนเลท 1 ส่วน เติมน้ำให้ครบตามจำนวนที่ต้องการ การให้ควรให้ในระยะที่กล้วยไม้กำลังแทงช่อจนถึงระยะก่อนที่ดอกจะบาน และเมื่อดอกบานแล้วควรงดให้เพราะจะทำให้ดอกเปื้อนยาเป็นจุดด่างๆ ทำให้หมดความสวยงามไปได้ เวลาส่งเข้าประกวดก็จะถูกมองว่าดอกเลอะไม่สะอาด มีโอกาสที่จะพลาดรางวัลได้ ส่วนสารที่กำจัดแมลงนั้น ควรใช้ชนิดที่ไม่รุนแรงนัก และฉีดแล้วไม่เกิดอาการดอกร่วงดอกฝ่อได้ และควรอ่านเอกสารกำกับด้วยพร้อมทั้งใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เอง
5. ฝีมือในการเลี้ยง จริงๆ แล้วก็คือความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกล้วยไม้ที่ท่านเลี้ยงดูอยู่นั่นเอง กล้วยไม้แต่ละชนิดแต่ละสกุลมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้นการที่เอากล้วยไม้มาเลี้ยงดูนั้นผู้เลี้ยงต้องรู้จักความเป็นอยู่ที่แท้จริงของกล้วยไม้เพื่อนำมาปรับปรุงในการเลี้ยงให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น มีการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ให้ยา โดยสม่ำเสมอ รู้จักการปรับเปลี่ยนปุ๋ยไปตามฤดูกาลให้เหมาะสม เพื่อให้กล้วยไม้ได้รับปุ๋ยที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง รู้จักการใช้ยา สารกำจัดโรคพืช และสารกำจัดศัตรูพืช
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้มีความมั่นใจในการเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อการประกวดอย่างแท้จริง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้เลี้ยงจะมีความอดทนและมีความตั้งใจจริงสักเพียงใด ถ้าท่านมีความอดทนในการรอคอยการออกดอกของกล้วยไม้ และมีความตั้งใจจริงที่จะเลี้ยงกล้วยไม้แล้ว ความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกลมือเอื้อมของท่าน


ที่มาข้อมูล:
มังกร โลหะอุดม. เลี้ยงกล้วยไม้อย่างไรจึงจะประกวดได้...รางวัล. วารสาร...สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2550



Create Date : 29 เมษายน 2551
Last Update : 29 เมษายน 2551 13:54:51 น. 0 comments
Counter : 2050 Pageviews.

เซ้งขอนแก่น
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add เซ้งขอนแก่น's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.