Group Blog All Blog
|
สารเอ็นโดฟินส์กับความรัก ความรักของแต่ละคนก็มีนิยามแตกต่างกัน บางคนมีความรักที่หมายถึงความรู้สึกอยากอยู่ใกล้ คิดถึงเมื่ออยู่ห่างไกล ต้องการทำสิ่งที่ดีให้เพื่อเอาใจ บางคนความรักหมายถึงการอยากใช้ชีวิตด้วย อยากมีครอบครัวด้วยกัน อยากแก่ไปด้วยกัน บางครั้งความรักก็นำความทุกข์มาให้แก่คนเรา แต่หลายๆ ครั้งที่ความรักนำความสุข ความอิ่มใจ ปลื้มปิติมาให้ทั้งแก่ผู้รักและผู้ถูกรัก หลายท่านอาจเคยมีประสบการณ์ยามเมื่อแรกรักใหม่ๆ ถึงแม้จะเป็นการแอบชอบ แอบรักใครสักคนก็ตาม ก็มักรู้สึกว่าช่วงนั้นพิเศษกว่าปกติ สามารถนั่งอมยิ้มได้คนเดียวเมื่อนึกถึง มองอะไรๆ สดชื่นไปหมด อยากรู้ความเป็นไปของคนที่เรารักทุกอย่าง บ่อยครั้งก็มองเห็นแต่ข้อดีของคนที่เราชอบ เรารัก ต่อมาเมื่อคบกันนานเข้า ก็ต้องมีการปรับตัวเข้าหากัน เมื่อคนที่รักกันอยู่ด้วยกันนานๆ ก็มักจะมี ความผูกพัน กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากความรู้สึกรักใคร่ในช่วงแรก ในสมองของคนเรามีกลไกการทำงานที่ซับซ้อนมากมายและมีการหลั่งสารเคมีหลายชนิดเมื่อเรากำลังมีความรัก หนึ่งในสารเคมีเหล่านั้นคือสาร เอ็นโดฟินส์ ( ENDORPHINES) หรือ สารแห่งความสุข หรือ สารสุข สารเอ็นโดฟินส์เป็นสารเคมีจำพวกเดียวกับฝิ่น (opioid) ซึ่งผลิตขึ้นภายในร่างกาย โดยสมองส่วนไฮโปธารามัส (Hypothalamus) และต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) อันเนื่องมาจากเป็นสารเคมีจำพวกเดียวกับฝิ่นจึงมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด (Analgesia) และทำให้รู้สึกสุขสบาย (Sense of well-being)หรืออีกนัยหนึ่ง สารเอ็นโดฟินส์ก็คือ ยาแก้ปวดแบบธรรมชาติ นั่นเอง สารเอ็นโดฟินส์นี้ถูกค้นพบครั้งแรกโดย John Hughs และ Hans Kosterlitz ในปี ค.ศ.1975 โดยพบในสมองของสุกร ในขณะนั้นเขาได้ให้ชื่อว่าสาร Enkephalins (ในภาษากรีก egkephalos มีความหมายว่า ภายในกะโหลกศีรษะ) และต่อมาได้มีการค้นพบสารเอ็นโดฟินส์อีกหลายชนิดในมนุษย์ โดยคำว่า Endophine นั้นมีที่มาจากคำว่า Endogenous Morphine ซึ่งหมายถึงสารมอร์ฟีนที่ถูกผลิตขึ้นภายในร่างกายโดยธรรมชาติซึ่งไม่ก่อผลเสียต่อร่างกาย เมื่อเรามีความสุขหรืออยู่ในสภาวะที่สุขสบาย (Pleasure experience) ไม่ว่าจะเป็นการจินตนาการหรือความรู้สึกจากประสาทรับสัมผัสทั้ง 5 เช่น การเล่นคลอเคลียกันสัตว์เลี้ยงแสนรัก การฟังดนตรีเพราะๆ การอ่านหนังสือที่ถูกใจ การดูภาพยนตร์ การออกกำลังกาย (ในบางตำรากล่าวว่าต้องเป็นการออกกำลังกายที่หนักๆ) การทำสมาธิ หรือการที่มีความรู้สึกรัก การได้พูดคุยกับคนที่เรารัก การได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่เรารัก การได้สัมผัสถ่ายทอดความรักซึ่งกันและกัน กระทั่งการได้ร่วมรักกับคนที่เรารัก ขั้นตอนการเล้าโลม เหล่านี้เป็นการกระตุ้นให้สมองเกิดการหลั่งสารเอ็นโดฟินส์ขึ้น(โดยพบว่ามีการหลั่งสารเอ็นโดฟินส์อย่างมากในช่วง orgasm) เมื่อสารเอ็นโดฟินส์ที่หลั่งออกมานี้จะไปจับกับตัวรับ(receptor) ชนิด Opioid ในสมอง ก็จะมีผลโดยรวมทำให้เกิดการหลั่งของสารโดปามีน(Dopamine) มากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อร่างกายต่างๆ เช่น บรรเทาความเจ็บปวด เกี่ยวข้องกับสมดุล ความหิว การนอนหลับ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ ระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีผลต่อการควบคุมการสร้างฮอร์โมนเพศ (sex hormones) และที่สำคัญสารเอ็นโดฟินส์สามารถส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immune system) โดยมีการศึกษาและรายงานถึงผลของการหัวเราะว่าทำให้เกิดการหลั่งสารเอ็นโดฟินส์ในสมองมากขึ้น จะเกิดการกดการทำงานของ Stress hormone หรือฮอร์โมนที่หลั่งเมื่อร่างกายเผชิญกับสภาวะที่เครียด เช่น Adrenaline มีผลทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้อาการปวดบรรเทาลง และมีผลทำให้หลอดเลือดขยายตัวได้ดีขึ้น ทำให้เม็ดเลือดขาวเดินทางเข้าไปฆ่าเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น โอกาสเจ็บป่วยก็จะลดลง คือทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นนั่นเอง ดังนั้นการที่มีกิจกรรมใดก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกเป็นสุขมีการหลั่งสารเอ็นเอ็นโดฟินส์ย่อมมีส่วนเสริมความแข็งแรงให้กับร่างกายได้เสมอ เนื่องจากร่างกายกับจิตใจมีความเชื่อมประสานกันอย่างแยกไม่ได้ ในบางครั้งอาจเคยสังเกตว่าเวลาไม่สบายกาย จิตใจก็มักหงุดหงิดหรือหดหู่ไปด้วย หรือเวลาที่ไม่สบายใจ ร่างกายก็พลอยเบื่ออาหาร นอนไม่หลับไปด้วย ดังนั้นเวลาที่คนเราไม่สบาย นอกจากการรับประทานยาตามแพทย์สั่งแล้ว การอยู่ในสภาวะที่มีความสบายกาย และสบายใจ หรือมีความสุขใจ ก็มีผลดีต่ออาการเจ็บป่วยทางร่างกาย การมีความรัก มีคนรักคอยเอาใจใส่ดูแลอยู่ใกล้ๆ การได้รับสัมผัสการกอด จูบ การลูบหัว จับมือจากคนรัก ซึ่งจะทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ สบายใจขึ้นทันที เป็นสิ่งที่ทำให้เกิด Pleasure experience เมื่อมีการหลั่งสารเอ็นโดฟินส์แล้ว คนรักที่กำลังไม่สบายก็จะรู้สึกเจ็บปวดน้อยลง การทำงานของเม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันโรคก็แข็งแรงขึ้น มีผลให้หายเจ็บป่วยได้ไวขึ้นเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าความรักนั้น นอกจากจะทำให้สุขใจแล้ว ยังทำให้สุขกายได้อีกด้วย ในผู้ที่ติดสารเสพติดนั้น เหตุผลของการใช้สารเสพติดมักเกี่ยวข้องกับความต้องการคลายเครียด คลายความทุกข์ใจ อยากรู้สึกสนุกหรือมีความสุขมากขึ้น ฯลฯ ซึ่งจะพบว่า ถ้าครอบครัว และสังคม มีความรัก ความอบอุ่นให้แก่กันเพียงพอ และรู้จักการหาความสุขจากกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ก็จะเกิดการหลั่งของ Endogenous Morphine หรือ Endorphine ทำให้รู้สึกสุขสบาย ไม่ต้องหาสารสุขจากภายนอก เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาการใช้สารเสพติดลงได้เป็นอย่างยิ่ง เรื่อง: พญ.เรขา กลลดาเรืองไกร ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today ![]() |
ธิดาดอง
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() คนเป็นสิ่งมีชีวิต เปลี่ยนแปลงได้
![]() Friends Blog
Link |
เราสามารถสร้างอารมณ์เกิดขึ้นได้เอง
และสามารถรับผลการหลั่งสารความสุขได้ใช่ไหมคะ
ถ้ามีอารมณ์คล้อยตาม เป็นประโยชน์มากเลยคะ