เรียนรู้จากโปรกอล์ฟ

เมื่อวานไปเรียนมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว เป็นครั้งที่หก เหลืออีกสี่ครั้งก็จะจบหลักสูตรแล้ว คราวนี้ผมยกถุงกอล์ฟไปด้วย   

โปรทวีศักดิ์ก็ยิ้มร่าเข้ามาคุย เหมือนที่ผมคาดไว้ เขาถามว่าไปออกรอบมาเป็นอย่างไรบ้าง ผมก็บอกไปตามตรงว่า ดีครับ มีความสุข แต่ก็มีปัญหาอยู่สามอย่างคือ 

 หนึ่ง ผมทำไม่ได้เหมือนตอนซ้ำ จำที่เรียนไม่ได้  ขุดดินไปหลายหน ประหม่า เครียด และเกร็งกับสนาม

 สอง ชิพให้ลูกขึ้นกรีนยังไม่ได้กว่าจะสำเร็จเล่นเอาท้อ  
สาม พัตลูกให้ลงหลุมไม่ได้เลย

โปรทวีศักดิ์หัวเราะบอกว่า เป็นธรรมดา เพราะผมยังไม่ได้เรียนทั้งชิพและพัตต์

เขาว่า อันดับแรกเลยคือการทำสมาธิ มือกับไม้ต้องเป็นหนึ่งเดียว อย่าคิดว่าให้เอาหัวไม้นั้นไปตีลูก ให้คิดว่าเอานาฬิกาหวดลงไป ไม้มันก็จะตามลงไปเอง ให้แขนตึงเข้าไว้ ท่าต้องสวย ไม่ต้องกังวลเลยว่าลูกจะไปตรงหรือไกลแค่ไหน ทำท่าให้สวยสง่าไว้ ลูกมันก็จะไปของมันเอง 

บทเรียนนี้ผมจำได้ดี แต่พอลงสนามจริง กลับคิดไปถึงเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ยกตัวขึ้นบ้าง อยากมองดูผลงานบ้าง หดแขนบ้าง เมื่อตีพลาด ผมไม่เข้าใจตัวเอง และก็หงุดหงิดอย่างบอกไม่ถูก 

ช่วงนี้ผมอ่านหนังสือกอล์ฟแทนหนังสือนิยายเลย เพิ่งอ่านวิถีแห่งเครซีกอล์ฟเล่มที่สามของนพ.วิธานจมเล่มไปหมาด ๆ  โดยเฉพาะเรื่องดัชนีแห่งความสุข 

นายแพทย์คนนี้เป็นหมอศัลกรรมอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ศึกษาเรื่องกอล์ฟ อ่านเรื่องกอล์ฟเป็นตั้ง ๆ ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ อ่านเพื่อจะรู้แก่นของกีฬากอล์ฟจริง จากนั้นก็เขียนหนังสือกอล์ฟออกมา ขายดิบขายดี ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่สนใจปรัชญาของกีฬาชนิดนี้ ผมอยากรู้ว่า กีฬากอล์ฟนั้นดีอย่างไร คำตอบบางอย่างอยู่ในหนังสือ เช่นมีอยู่ตอนหนึ่งที่เขาเขียนว่า เราไม่สามารถควบคุมความโกรธ ความกลัว หรือความลังเลสงสัยได้เลย เพราะสามเรื่องนี้เป็นธรรมชาติของเกมกอล์ฟ  แม้นักกอล์ฟสามารถควบคุมการรับรู้ของความโกรธ ความกลัว ความลังเลสงสัยที่เกิดขึ้นได้ 

 เพียงแต่เราต้องฝึกทักษะอะไรบางอย่างที่ทำให้เรารับรู้ได้ดีขึ้น

ผมยังไม่ถึงขั้นโกรธ แต่สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เราตั้งใจขนาดนี้ แต่ก็ยังตีลูกพลาดอีก ผมคุยเรื่องนี้กับโปรทวีศักดิ์ เขาบอกว่า เขาก็ชอบเรื่องปรัชญา แต่ก็ยังไม่ได้อ่านหนังสือของหมอวิธาน เขาว่า หนังสือกอล์ฟทุกเล่มนั้นแม้จะมีวิธีเล่าเรื่อง หรือวิธีเขียนที่ต่างกัน แต่ก็มีเป้าหมายเหมือนกันทุกเล่มคือ ให้เราทำความเข้าใจกับกีฬากอล์ฟ ให้เราเล่นให้ดีขึ้น บางคนพูดถึงปรัชญา บางคนก็พูดถึงเรื่องเทคนิค บางคนก็เล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาให้ฟัง 

โปรทวีศักดิ์บอกว่า กอล์ฟนั้นไม่เหมือนกีฬาชนิดอื่น มันเป็นกีฬาผู้ดี แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้คนถ่อยเข้าไปในสนามเยอะ เข้าไปแล้วก็เล่นการพนัน โมโหใส่กัน พูดจาหยาบคาย และที่น่าเกลียดก็คือมีการโกงกัน ถ้าเริ่มโกงนิด ๆ หน่อย ๆ ในสนาม ชีวิตจริงนั้นไม่ต้องพูด รับรองโกงสะบั้นหั่นแหลก

โปรฯทวีศักดิ์ว่า สมัยที่เขาเล่นนั้น นักกอล์ฟมีจำนวนไม่มาก ประมาณหลักหมื่น แต่เดี๋ยวนี้มีนักกอล์ฟทั่งประเทศเป็นแสน  คน บางคนนั้นไม่ได้ฝึกไม่ได้เรียน มีเงินก็ซื้ออุปกรณ์มา ไปเรียนเอาจากของจริงเลย กฎกติกามารยาทอะไรก็ไม่รู้เรื่อง และก็มีนิสัยถ่อยเหมือนคนไม่การศึกษา
ผมยังไม่เคยเห็นคนถ่อยในสนาม จึงไม่ออกความเห็นอะไร

ระหว่างที่ผมกำลังซ้อมหวดหัวไม้อยู่ ฝนก็เทลงมา โปรทวีศักดิ์ก็เลยชวนมายืนหลบฝนอยู่ที่โต๊ะหน้าห้องกระจก ผมสั่งน้ำให้เขาขวดหนึ่ง และเล่าให้ฟังเรื่องหนังสือของหมอวิธาร 

มีประโยคหนึ่งที่ผมจำได้ก็คือ “ พวกเราที่เป็นนักกอล์ฟสมัครเล่นอาจไม่สามารถเล่นกอล์ฟได้คะแนนดี ๆ เท่ากับนักกอล์ฟมืออาชีพชั้นนำได้ แต่พวกเราสามารถรู้สึกได้แบบเดียวกันกับที่นักกอล์ฟชั้นนำเหล่านั้นรู้สึกได้ตอนที่เขาตีลูกทอปฟอร์ม”

โปรฯทวีศักดิ์บอกว่า นั่นแหละใช่ เพราะเราต้องคำถามก่อนว่า เราเล่นกอล์ฟเพื่ออะไร แล้วเราก็จะไปหาเป้าหมายนั้นให้ได้ เช่นเล่นเพื่อการออกกำลังกาย หรือเล่นเพื่อหาความสุขให้กับตัวเอง สองอย่างนี้เราต้องตระหนักอยู่เสมอ และเราก็มุ่งไปสู่จุดหมายนั้นให้ได้ อย่าไปแข่งกับใคร อย่าไปอวดใคร ให้ตั้งใจตีแต่ละลูกด้วยความสุขใจที่สุด แล้วเราก็จะพบความสุขที่เราค้นหา ตีผิดตีพลาดก็ไม่ต้องโกรธตัวเอง ถ้าเราเราโกรธตัวเอง เราก็จะขาดความสุขไปทันที

ผมถามว่า ถ้าผมจะเล่นอาชีพแบบนักกอล์ฟเก่ง ๆ นั้นต้องใช้เวลากี่เดือน โปรทวีศักดิ์หัวเราะ บอกว่าอย่าพูดเป็นเดือน ให้พูดเป็นปี อย่างน้อยที่สุดก็ปีหนึ่ง จึงจะเข้าสอบนักกอล์ฟมืออาชีพได้ เวลาสอบนั้นก็ต้องใช้เวลาสองวันหรือสี่วันแล้วแต่กฎ 

ผมเล่าว่า มีนักกอล์ฟคนหนึ่งอายุแค่ยี่สิบ เขาบอกว่าเริ่มเทินโปรฯในปี๒๐๐๙ ปี๒๐๑๑ เขาได้แช้มป์แล้ว 

โปรทวีศักดิ์บอกว่า เขาอาจจะเล่นมาตั้งแต่หกขวบก็ได้  ในโลกของกีฬากอล์ฟนี้ไม่มีใครจะเก่งได้ภายในสองปี เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องเรียนให้รู้ ถึงเทคนิกของมัน และหมั่นฝึกซ้อมไปเรื่อย ๆ เป็นประจำ ปีสองปีนั้นคุณยังไม่เก่ง แต่ปีที่สี่ที่ห้าคุณอาจจะเก่งก็ได้ 

ผมก็ถามไปอย่างนั้นเอง ใจนั้นไม่ได้คิดเรื่องความเป็นเลิศเหนือคนอื่นแม้แต่น้อย 

ฝนซาผมก็หวดลูกต่อ ใช้หัวไม้สาม พยายามใช้สมาธิ และยืนนิ่งอยู่นานจนรู้สึกเกรงใจ ผมตีจบก็ถามโปรทวีศักดิ์ว่า ผมควรจะใช้เวลากี่นาทีสำหรับการหวดลูกแรก เขาบอกว่า ให้นิ่งไว้ ไม่ควรขยับตัวมาก เพราะจะเสียบุคลิก เสร็จแล้วก็จดหัวไม้ลง ยืนในท่าที่ถูกต้อง ก่อนที่จะทำสมาธิให้กายกับใจอยู่ในที่เดียวกัน ใช้เวลานานสุดก็ประมาณหนึ่งนาทีครึ่ง แล้วก็ยกไม้ขึ้น เอานาฬิกาข้อมือหวดลงไป ลูกมันก็จะลอยไปไกลถึงสองร้อยหลา ขอเพียงแต่มีสมาธิเท่านั้น ทุกอย่างมันก็จะไปได้ดี
ผมบอกว่าผมมักจะตีพลาด เขาถามว่าคุณคิดอะไรอยู่ ถ้าคุณคิดว่าจะให้ลูกมันไปไกล หรือคิดจะให้เพื่อนชม รับรองคุณแป๊ก ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ดังหวัง

วันนี้ผมก็ได้เรียนรู้เรื่องสมาธิเพิ่งขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง และก็ซ้อมเหล็กเบอร์ห้า ส่วนเหล็กสามนั้นโปรทวีศักดิ์บอกว่า ไม่ต้องใช้ เอาออกไปก็ได้ ให้ใช้หัวไม้เบอร์หนึ่งแทน ผมถามว่าวันก่อนผมจับไดร์เวอร์ของผู้ชายคนหนึ่ง เขาบอกราคาสามหมื่นบาท โปรทวีศักดิ์บอกว่า อย่าให้ถึงขนาดนั้น ให้ไปดูที่เดอะมอลล์งามวงศ์วาน ราคาห้าหกพันก็พอแล้ว แต่ตอนนี้ตีหัวไม้สามให้เก่งก่อน หัวไม้สามมันเล็ก ถ้าคุณตีหัวเล็กนี้ได้แม่น คุณก็สามารถตีหัวไม้หนึ่งได้สบาย ๆ 

วันนี้ผมตีไปคุยไป โปรทวีศักดิ์ก็มีท่าทีที่สบายขึ้น บอกว่า เมื่อคุณขจรฤทธิ์อ่านหนังสือมาก ตรงไหนไม่เข้าใจ หรืออยากถามอะไรผมก็โทรมาได้เลยนะ ผมชอบคุยเรื่องกอล์ฟกับคนอื่น  

ผมก็ตอบว่า ขอบคุณครับ 

ผมเล่าเรื่องที่อ่านมาให้โปรทวีศักดิ์ฟังอีก หมอวิธานเขียนว่า กอล์ฟนั้นเป็นศิลปะแห่งการรอคอย  มองอีกแง่หนึ่งกอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องใช้เวลามาก บางคนรอนานโกรธ หรืออารมณ์เสียได้ง่าย
แต่มองอีกแง่หนึ่ง กอล์ฟเป็นกีฬาที่แสนละเมียดละไม เพราะเป็นกีฬาที่มีเวลาให้กับนักกอล์ฟมากมายในการที่จะได้ใคร่ครวญและช้าลง

ศิลปะแห่งการรอคอย จึงเป็นคำที่น่าสนใจ เดิมทีคุณหมอเองก็เป็นคนใจร้อน คอยไม่เป็น เพราะคิดเหมือนคนอื่น ๆ ว่าเวลาเป็นเงินเป็นทอง เมื่อมาเล่นกอล์ฟ เขาถูกทำให้ต้องคอย ในเมื่อต้องคอย เขาก็มีทางเลือกอยู่สองทางเท่านั้นคือ”คอยอย่างมีความสุข” หรือเลือกที่จะ “คอยอย่างหงุดหงิด” เขาบอกว่าเขาเชื่อว่าท่านนักกอล์ฟทั้งหลายก็คงมีธุรกิจที่ยุ่งเหยิงไม่น้อยไปกว่ากัน เวลาของนักกอล์ฟแต่ละท่านล้วนแล้วแต่เป็นเงินเป็นทองด้วยกันทั้งสิ้น  เพราะฉะนั้นไหน ๆ พวกเราก็มาเป็นนักกอล์ฟกันแล้วควรจะเรียนรู้ศิลปะแห่งการรอคอยเพิ่มขึ้นอีกสักเรื่องหนึ่ง

โปรทวีศักดิ์บอกว่า อยากอ่านหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาบ้างแล้ว

ผมรับปากว่า มาซ้อมเที่ยวหน้า ผมจะซื้อมาฝาก

เขาบอกขอบคุณมากนะครับ เขาไม่ใช่หนอนหนังสือ แต่ก็ชอบอ่านเรื่องแบบนี้มาก ๆ 
ผมซ้อมหวดด้วยเหล็กห้า และหัวไม้สามจนลูกหมดไปสี่ถาด ฝนหายขาด ท้องฟ้าโปร่งขึ้น ปกติโปรทวีศักดิ์จะอยู่กับผมแค่หนึ่งชั่วโมง จบชั่วโมงเดินเข้าห้องเลย แต่วันนี้เขามีท่าทีเป็นกันเอง นั่งไขว่ห้างคุยกับผมอย่างสนุกสนาน เล่าเรื่องตัวเองให้ฟังว่า กว่าจะสอบได้เป็นโปรกอล์ฟนั้นยากลำบากอย่างไร เราคุยกันแต่เรื่องกอล์ฟและเรื่องกอล์ฟ ผมเองก็รู้สึกว่าดัชนีแห่งความสุขพุ่งพรวดขึ้นทันที

ระหว่างคุยก็มีเด็กของสนามมายืนเช็ดหัวไม้ให้ผมอย่างพิถีพิถัน เสร็จแล้วก็เรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ พร้อมที่จะยกไปใส่รถเมื่อถึงเวลาอันสมควร ผมก็บอกลา  เขาถามว่า เมื่อไรจะออกรอบอีก ผมบอก วันอาทิตย์นี้ครับ

 “งั้นวันเสาร์เรามาเจอกันอีกหนึ่งชั่วโมง ผมจะสอนพัตลูกให้คุณ แต่ยังไงผมจะขอดูคิวนิดหนึ่งถ้าคิวผมว่าง  ผมจะจัดให้คุณ” เขาพูด

ผมไหว้ลาเขาพร้อมกับบอกว่า ถ้าเจอวันเสาร์จะซื้อหนังสือวิถีแห่งกอล์ฟมาให้เขาชุดหนึ่งแน่นอน  

ผมขับรถออกมาจากสนามไดร๊กอล์ฟ พร้อมกับสงสัยตัวเองว่า เราบ้ามากไปหรือเปล่า ทำไมจึงพุดเรื่องกอล์ฟได้เป็นคุ้งเป็นแคว ทั้งที่ตลอดเวลาสี่สิบแปดปีที่ผ่านมาไม่เคยพูดหรือสนใจมันเลย








Create Date : 12 ธันวาคม 2555
Last Update : 12 ธันวาคม 2555 13:06:42 น.
Counter : 1315 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kajohnrit
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ธันวาคม 2555

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
14
17
18
23
24
25
27
29
31