Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
8 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 
พิจารณา สุบินนิมิต (3)อุคคหนิมิต (4)วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต



คอลัมน์ วิถึแห่งการปฏิบัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เสถียร จันทิมาธร  :พิจารณา สุบินนิมิต (3)อุคคหนิมิต (4)วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

พิจารณา สุบินนิมิต (3)
คอลัมน์ วิถึแห่งการปฏิบัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เสถียร จันทิมาธร

ชีวประวัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต สำนวน พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ใช้คำว่า สุบินนิมิต อันมาจากคำบอกเล่าของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


หมายถึง นิมิต จาก ความฝัน

ฝัน อันหนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของ จักรพล พิมพการ ให้คำนิยามสั้นๆ ว่า "เรื่องราวที่มองเห็นขณะนอนหลับ"

ฝัน อัน มองแตน สรุป

"ข้าพเจ้าเชื่อว่า ความฝันเป็นล่ามที่แท้จริงแห่งความโน้มเอียงของเรา แต่จำเป็นต้องอาศัยศิลปะ เพื่อใช้คัดสรรและทำความเข้าใจมัน"

ภายใน "ฝัน" ภายใน "สุบิน" ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มีอะไรบ้าง

1 มีป่า 1 มีทุ่งอันเวิ้งว้างกว้างขวาง 1 มีต้นชาติที่บุคคลตัดให้ล้มลงแล้ว ปราศจากใบ ตอสูง ประมาณ 1 คืบ ใหญ่ประมาณ 1 อ้อม

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ขึ้นสู่ขอนชาติ พิจารณาดูอยู่รู้ว่าผุพังไปแล้ว จักไม่งอกขึ้นได้อีก

พลันมีม้า 1 มาเทียมขอนชาติ พระอาจารย์ขึ้นขี่และม้าพาวิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเต็มฝีเท้า ได้แลเห็นตู้ใบ 1 เหมือนตู้พระไตรปิฎกตั้งอยู่ จึงลงจากหลังม้าตรงตู้พระไตรปิฎกนั้นแต่มิได้เปิดตู้ดูจึงไม่ทราบว่ามีอะไรอยู่ในนั้น

แลดูไปข้างหน้าเห็นเป็นป่าชัฏเต็มไปด้วยขวากหนามต่างๆ จะไปต่อไปไม่ได้เลยรู้สึกตัวตื่น



เป็นการตื่นขณะที่ 1 อยู่เบื้องหน้าตู้เหมือนตู้พระไตรปิฎก 1 ทอดตาไปข้างหน้าเห็นเป็นป่าชัฏเต็มไปด้วยขวากหนามต่างๆ จะไปต่อไปไม่ได้

ภาพจาก "ความฝัน" ชวนให้นึกถึงความรู้สึกและความต้องการของ คาร์ล กุสตาฟ ยุง

"ฉันขอมีส่วนร่วมกับผู้อ่านถึงเรื่องอคติที่มีต่อการตีความทางความฝัน ว่าคือแก่นสารของความไม่แน่นอนและไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ แต่อีกด้านหนึ่ง ฉันรู้ว่า ถ้าเราเพ่งพิจารณาความฝันอย่างหมดจดและงดงาม ครุ่นคิดทบทวนกลับไปกลับมาและศึกษากับตัวเราเสมอ เราก็จะได้พบบางสิ่งบางอย่างแน่นอน"

เหมือนกับเป็นเรื่อง "ไม่แน่นอน" เหมือนกับเป็นเรื่อง "ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์"



ทั้งนี้ เพราะระหว่างความเชื่อดั้งเดิมของแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน ขณะที่สังคมตะวันตกเห็นความฝันเป็นเรื่องไร้สาระ เกิดจากความฟุ้งซ่าน กินมากไป นอนมากไป ตรงกันข้ามสังคมตะวันออกมองเห็นความฝันเหมือนกับสิ่งบอกเหตุ

ต่อเมื่อ ซิกมันด์ ฟรอยด์ เสนอทฤษฎีความฝันว่าสัมพันธ์กับจิตไร้สำนึกนั้นหรอก สังคมตะวันตกจึงเริ่มให้ความสำคัญกับความฝัน

เพียงแต่จะนำไป "ตีความ" อย่างไรเท่านั้นเอง

ซิกมันด์ ฟรอยด์ อาจเน้นน้ำหนักไปยังจิตไร้สำนึกอันสัมพันธ์กับเซ็กซ์เป็นอย่างสูง ขณะที่นักสังคมวิทยาอย่าง เลวี-สโตรสส์ ตีความและแปลความฝันอย่างสัมพันธ์กับความหมายของสัญลักษณ์ในเทพนิยาย

แล้ว พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เล่าท่านแปลความหมายของสุบินนิมิตออกมาอย่างไร



เราสามารถอ่านความในใจของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผ่านคำบอกเล่าในชีวประวัติ

สุบินนิมิตนี้เป็นบุพพนิมิตบอกความมั่นใจในการทำความเพียร จึงตั้งหน้าทำความเพียรมิได้ท้อถอย มีการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ก็มิได้ทอดทิ้ง เป็นการดำเนินตามทางแห่งอริยมรรคด้วยความมั่นแน่ว

กาลต่อมา พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หวนไปพิจารณาสุบินนิมิตได้ความว่า

การออกมาบวชในพระพุทธศาสนาและปฏิบัติตามอริยมรรคนั้น บ้านนั้นคือความผิดทั้งหลาย และป่านั้นคือกิเลสซึ่งเป็นความผิดเหมือนกัน

อันความที่บรรลุถึงทุ่งเวิ้งว้างนั้นคือละความผิดทั้งหลาย ประกอบแต่ความดีความงาม

ขอนชาติได้แก่ชาติความเกิด ม้าได้แก่ตัวปัญญาวิปัสสนาจักมาแก้ความผิด การขึ้นสู่ม้าแล้วม้าพาวิ่งไปสู่ตู้พระไตรปิฎกนั้น คือเมื่อพิจารณาไปแล้วจักสำเร็จเป็นปฏิสัมภิทานุสาสน์ ฉลาดรู้อะไรๆ ในเทศนาวิธี ทรมานแนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ทั้งหลายให้ได้รับความเย็นใจและเข้าใจในข้อปฏิบัติทางจิตแต่จะไม่ได้ในจตุปฏิสัมภิทาญาณเพราะไม่ได้เปิดดูตู้นั้น

ส่วนข้างหน้าอันเต็มไปด้วยขวากหนามนั้นได้ความว่า เมื่อพิจารณาเกินไปจากมรรคจากสัจจะก็คือความผิดนั่นเอง



ไม่มีหลักฐานใดบ่งบอกว่า พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พิจารณาสุบินนิมิตนี้เมื่อใด

แต่ที่ไม่ควรมองข้ามคือ "เมื่อพิจารณาได้ความเท่านี้แล้ว ก็ถอยจิตคืนมาหาตัว พิจารณากายเป็นกายคตาสติภาวนาต่อไป"

เป็นการพิจารณาภายหลัง เป็นการพิจารณาหลังจากเดินตามทางแห่งอริยมรรคมาแล้ว

อุคคหนิมิต (4) วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เสถียร จันทิมาธร


ยังดำเนินไปในท่วงทำนอง "ท่านเล่าให้ฟังว่า" อันเป็นการบอกเล่าจาก พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กับศิษยานุศิษย์

เป็น "ท่านเล่าให้ฟังว่า" จากสำนวน พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)

"ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านเจริญกัมมัฏฐานภาวนาอยู่วัดเลียบ เมืองอุบลนั้น ในชั้นแรกยังภาวนา พุทโธ พุทโธ อยู่"

ที่น่าสนใจก็คือ ระหว่างภาวนาได้บังเกิด "อุคคหนิมิต"

อุคคนิมิต หมายถึง นิมิตติดตา หมายถึงนิมิต (อารมณ์กรรมฐาน) ที่นึกกำหนดจนแม่นใจหรือที่เพ่งดูจนติดตาติดใจ แม้หลับตาก็เห็น

อุคคนิมิต เป็นการพัฒนาไปกว่า สุบินนิมิต

นี่ย่อมเป็นความต่อเนื่องจากการเจริญกัมมัฏฐาน บนพื้นฐานแห่งการภาวนา พุทโธ พุทโธ ตามแนวทางที่ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ได้สอนสั่ง

อุคคหนิมิตดำเนินไปอย่างไร ต้องอ่าน

วาระแรก มีอุคคหนิมิต คือ เมื่อจิตรวมลง ได้ปรากฏรูปอสุภะภายนอกก่อน คือ เห็นคนตายอยู่ข้างหน้า

ห่างจากที่นั่งประมาณ 1 วา ผินหน้ามาทางท่าน มีสุนัขตัวหนึ่งมาดึงไส้ออกไปกินอยู่

เมื่อเห็นดังนั้นท่านก็มิได้ท้อถอย คงกำหนดนิมิตนั้นให้มาก ออกจากที่นั่งแล้ว จะนอนอยู่ก็ดี จงกรมก็ดี เดินไปมาอยู่ก็ดี ก็ให้ปรากฏนิมิตอยู่อย่างนั้น

ครั้นนานวันมาก็ขยายให้ใหญ่ ขยายให้เน่าเปื่อย ผุพัง เป็นจุณวิจุณไป

กำหนดให้มาก ให้มีทั้งตายเก่าและตายใหม่ จนกระทั่งเต็มหมดทั้งวัดวา มีแร้งกาหมายยื้อแย่งกันกินอยู่

ท่านก็ทำอยู่อย่างนั้น จนอสุภะนั้นได้กลับกลายเป็นวงแก้ว

วาระที่ 2 เมื่อร่างอสุภะทั้งหมดได้กลับกลายเป็นวงแก้วแล้ว จึงเพ่งอยู่ในวงแก้วอันขาวเลื่อมใสสะอาด คล้ายวงกสิณสีขาว

ท่านก็เพ่งพิจารณาอยู่ในวงนั้นเรื่อยไป

วาระที่ 3 เมื่อกำหนดพิจารณาต่อไป จึงแลไปเห็นอะไรอย่างหนึ่งคล้ายภูเขาอยู่ข้างหน้า จึงนึกขึ้นในขณะนั้นว่า อยากไปดู

บางทีจะเป็นหนทางข้อปฏิบัติ กระมัง

จึงได้เดินไปดู ปรากฏว่าภูเขานั้นเป็นพักอยู่ 5 พัก จึงก้าวขึ้นไปถึงพักที่ 5 แล้วหยุด แล้วกลับคืน

ขณะที่เดินไปนั้นปรากฏว่าตัวท่านสะพายดาบอันคมกล้าเล่มหนึ่ง และที่เท้ามีรองเท้าสวมอยู่

ในคืนต่อมาก็เป็นไปอย่างนั้น และปรากฏนิมิตคืบหน้าต่อไปเป็นกำแพงขวางหน้าอยู่ ที่กำแพงมีประตูจึงอยากเข้าไปดูว่าข้างในมีอะไรอีกจึงเอามือผลักประตูเข้าไป ปรากฏว่ามีทางสายหนึ่งตรงไปท่านจึงเดินตามทางนั้นไป

ข้างขวามือเห็นมีที่นั่งและที่อยู่ของพระภิกษุ 2-3 รูปกำลังนั่งสมาธิอยู่ ที่อยู่ของพระภิกษุนั้นคล้ายประทุนเกวียน ท่านมิได้เอาใจใส่คงเดินต่อไป ข้างทาง 2 ข้างมีถ้ำมีเงื้อมผาอยู่มากได้เห็นดาบสตนหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ท่านก็มิได้เอาใจใส่อีก

ครั้นเดินต่อไปก็ถึงหน้าผาสูงมากจะไปอีกก็ไปไม่ได้ จึงหยุดเพียงนั้นแล้วกลับออกมาทางเก่า

คืนต่อมาก็ไปอีกอย่างเก่า ครั้นไปถึงหน้าผาแห่งนั้นจึงปรากฏยนตร์คล้ายอู่มีสายหย่อนลงมาแต่หน้าผา ท่านจึงขึ้นสู่อู่พอนั่งเรียบร้อยอู่ก็ชักขึ้นไปบนภูเขาลูกนั้น ครั้นขึ้นไปแล้วจึงเห็นสำเภาใหญ่ลำหนึ่งอยู่บนภูเขาลูกนั้น

ขึ้นไปดูในสำเภานั้นเห็นโต๊ะสี่เหลี่ยม บนโต๊ะมีผ้าปูเป็นผ้าสีเขียวเนื้อละเอียดมาก มองดูทั้ง 4 ทิศมีดวงประทีปติดสว่างรุ่งโรจน์อยู่ ประทีปนั้นคล้ายติดด้วยน้ำมัน ปรากฏว่าตัวท่านขึ้นนั่งบนโต๊ะนั้น และปรากฏว่าได้ฉันจังหันที่นั้นด้วย เครื่องจังหันมีแตงกับอะไรอีกหลายอย่าง

ครั้นฉันจังหันเสร็จแล้ว มองไปข้างหน้าปรากฏเห็นเป็นฝั่งโน้นไกลมาก จะไปก็ไปไม่ได้เพราะมีเหวลึก ไม่มีสะพานข้ามไป จึงกลับคืนมาเหมือนอย่างเก่า

ยังไม่จบ ยังมี วาระ 4 วาระ 5 อันเป็นความต่อเนื่องจากอุคคหนิมิต พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

มีความแตกต่างระหว่าง สุบินนิมิต ครั้งก่อน กับ อุคคหนิมิต ครั้งนี้เป็นอย่างมาก ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ความวิจิตรพิสดาร ความวิลิศมาหรา ความมากด้วยสีสัน

อย่าเพิ่งด่วนสรุป โปรดติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยต่อไปพลัน


credit : //www.khaosod.co.th/


Create Date : 08 ธันวาคม 2554
Last Update : 8 ธันวาคม 2554 2:51:01 น. 0 comments
Counter : 876 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.