Group Blog
 
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
10 เมษายน 2555
 
All Blogs
 
คติธรรม - ศิลปกรรมในพระเมรุ คุณค่าที่ควรเรียนรู้



หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงแล้ว กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ยังเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมความงามของพระเมรุ และอาคารประกอบพระเมรุในครั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน 2555 ระหว่างเวลา09.00-19.00 น.

ก่อนที่จะเข้าชมพระเมรุ เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับพระเมรุกันก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร พระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ยอดทรงมณฑปแปลง มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้านสร้างขึ้นบนฐานชาลาใหญ่ ความสูงถึงยอดฉัตร 35.59 เมตร มุขด้านทางทิศตะวันตกเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน มุขทางด้านทิศเหนือมีสะพานเกรินอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธาน มุขหลังด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่วางเตาเผาพระศพ บริเวณชานชาลาทุกด้านมีบันไดขึ้นลง รายล้อมด้วยรั้วราชวัติ ฉัตร โคม และเทวดาอัญเชิญฉัตรประกอบพระอิสริยยศ


และที่งดงามไม่แพ้กัน เห็นจะเป็นฉากบังเพลิง ที่ใช้บังสายตาและบังลม มีลักษณะเป็นฉากพับติดไว้กับเสาพระเมรุทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้าเขียนรูปเทวดา ด้านหลังเป็นลายดอกกุหลาบ อีกชิ้นที่ต้องใช้ฝีมือชั้นสูง คือ พระโกศจันทน์ ซึ่งประชาชนจะได้เห็นเมื่อได้เข้าไปชมภายในพระเมรุ พระโกศจันทน์ ประกอบด้วยลวดลายทั้งหมด 57 ลาย มีชิ้นส่วนทั้งสิ้น 8,320 ชิ้น การสร้างต้องใช้ความอดทน เนื่องจากต้องฉลุลายจากไม้จันทน์หอม กว่าจะได้แต่ละชิ้นก็ต้องใช้ระยะเวลา ศิลปกรรมที่เห็นได้เด่นชัดอีกชิ้นหนึ่ง คือ เทวดารอบพระเมรุ และสัตว์หิมพานต์ ซึ่งครั้งนี้มีเทวดาประดับรอบพระเมรุ 30 องค์

ส่วนสัตว์หิมพานต์นั้นประดับบริเวณเขามอ เขาจำลองป่าหิมพานต์รอบพระเมรุ ประดับไว้ 160 ตัว มีลักษณะแตกต่างกันออกไป อาทิ กินนร กินรี นรสิงห์ นรปักษาไกรสร

ถัดมาจากองค์พระเมรุ จะเจอกับซ่าง คือ อาคารที่สร้างบนฐานชาลาพระเมรุทั้ง 4 มุม เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม 4 ชุด สลับกันสวดพระอภิธรรมตลอดงานพระราชพิธี พอลงมาทางด้านทิศตะวันออกของพระเมรุหลังเตาเผาพระศพจะพบกับหอเปลื้อง เป็นที่เก็บพระโกศและเครื่องประกอบ รวมถึงเครื่องใช้ในช่วงพระราชทานเพลิงพระศพ กลับมาทางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุ เป็นพระที่นั่งทรงธรรม สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับขณะบำเพ็ญพระราชกุศล มีบริเวณสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ทูตานุทูต นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เฝ้าฯ รับเสด็จ นอกจากนี้ยังมีศาลาลูกขุน ทับเกษตร อาคารขอบเขตมณฑลพิธี ทิม ที่พักพระสงฆ์ รั้วราชวัติและเสาโคม ซึ่งความงดงามของสถาปัตยกรรมไทยเหล่านี้หาชมไม่ง่ายนักชมความงดงามของพระเมรุกันจนเพลินแล้ว รู้หรือไม่ว่า สิ่งที่ได้ชมนั้นมีที่มาที่ไปทั้งหมด มีคติความเชื่อและคติธรรมที่น่าสนใจอยู่ โดย พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ผู้ออกแบบพระเมรุ อธิบายความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุไว้ว่า เขาพระสุเมรุ เป็นที่สถิตของเทพยดาทั้งหลาย เมื่อเรามีคติความเชื่อว่า คนที่ตายแล้วจะกลับไปสู่สวรรค์

ความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุมีพูดถึงในไตรภูมิ เป็นเรื่องของภูมิจักรวาล ซึ่งเป็นความเชื่อในพุทธศาสนามีลักษณะเป็นที่อยู่ของเทวดา ตีนเขาเป็นป่าหิมพานต์ จากความคิดเรื่องนี้จึงได้จำลองพระเมรุมาศ พระเมรุ เป็นเสมือนเขาพระสุเมรุและสัตบริภัณฑ์ เพื่อส่งเสด็จสู่ทิพยพิมาน โดยสถานที่ประกอบพิธีเดิมนั้นมักเรียกกันว่า ทุ่งพระเมรุ ซึ่งปัจจุบันคือ ท้องสนามหลวง

ขณะที่ นายสาคร โสภา รองผอ.ฝ่ายบริหาร วิทยาลัยช่างศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญศิลปกรรมไทยผู้เขียนลวดลายฉากบังเพลิง เล่าถึงคติธรรมที่แฝงไว้ในฉากบังเพลิงว่า ฉากบังเพลิงมีความงดงาม ด้านหน้าเป็นรูปเทวดา ด้านหลังเป็นรูปดอกกุหลาบ ซึ่งการเขียนรูปดอกกุหลาบ เนื่องจาก สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ทรงโปรดดอกกุหลาบเป็นอย่างมาก การออกแบบจึงได้นำลวดลายดอกกุหลาบมาเขียนไว้ที่ฉากบังเพลิง ส่วนฉากบังเตานั้น ได้ออกแบบเป็นรูปดอกบัว 4 เหล่า เพื่อแฝงคติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาไว้ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ ซึ่งนับตั้งแต่โบราณมาจะมีการเขียนลวดลายต่าง ๆ ที่แฝงคติธรรมในพระเมรุมาโดยตลอด

ความหมายของบัวสี่เหล่า เริ่มจาก อุคคฏิตัญญู (บัวพ้นน้ำ) พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที วิปจิตัญญู (บัวปริ่มน้ำ)พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป เนยยะ (บัวใต้น้ำ) พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธาในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง ส่วน ปทปรมะ (บัวในโคลนตม) พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธา ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่า ปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน” นายสาคร กล่าว

สิ่งที่ทรงคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ความสวยงามเท่านั้น ยังคงแฝงไว้ซึ่งคติความเชื่อ คติธรรมต่าง ๆ ที่จะทำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างความดี ลดละความชั่ว เพื่อนำไปปรับใช้กับชีวิต ไม่เพียงเท่านั้นเรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่าเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคนด้วย.

คลิกชมาภาพได้อีกที่นี่...




Create Date : 10 เมษายน 2555
Last Update : 10 เมษายน 2555 10:07:55 น. 0 comments
Counter : 1321 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.