gappaman

gappaman
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]







Add to Technorati Favorites
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
7 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add gappaman's blog to your web]
Links
 

 
ทริปไม้-เมือง-ร้อน : สู้โลกร้อนด้วยวิถีไทย

เว็บไซต์ของ พี่ก้อง - ทรงกลด เป็นที่ๆผมแวะเข้าไปอ่านนานๆครั้ง blog ของแกจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีทั้งโฆษณา ข่าว และบทความต่างๆให้อ่านดูตลอด ก็ได้ความรู้ประดับสมองดี

ครั้งล่าสุดที่ผมแวะเข้าไปอ่าน พบว่าพี่ก้องแกกำลังจัดทริปที่ชื่อว่า "ไม้ - เมือง - ร้อน" เป็นทริปวิชาการ ว่ากันด้วยหัวข้อยอดฮิตตามกระแสปัจจุบันนี้ ก็คือ "โลกร้อน" นั่นเอง (ก็สมเป็นพี่แกดีนะ) โดยมีอาจารย์ยงยุทธ จรรยารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวิทยากรประจำทริป (อยากไปเหมือนกันแฮะ)

และผู้ที่เข้าร่วมทริปนี้ประมาณ 40 คนก็จะมี "การบ้าน" ให้กลับไปทำหลังจากที่ทริปจบลง นั่นคือ การเขียนสรุปใจความของทริปครั้งนี้ตามมุมมองของแต่ละคน แล้วช่วยกันนำไปเผยแพร่ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการนำไปโพสต์ลง blog ของตัวเอง หรือตามที่ต่างๆ ยังไงก็ได้ ซึ่งพี่ก้องเขาก็เกิดไอเดียขึ้นมา ชวนคนที่ไม่ได้ร่วมทริปให้ช่วยกันเผยแพร่ด้วย โดยให้บทความของผู้ร่วมทริปเป็นแหล่งข้อมูลให้เข้าไปอ่าน อ่านเสร็จแล้วก็ช่วยกันเขียนถึงทริปครั้งนี้อีกที แล้วนำไปเผยแพร่ตามเว็บไซต์ของตัวเอง

ก็ดีนะ .... ผมเองก็ไม่ได้เขียนอะไรมานานแล้ว (ขี้เกียจ) เลยตอบตกลงกระทู้ในเว็บพี่ก้องไปว่า เดี๋ยวจัดให้ครับพี่ จะได้มีอะไรมาบังคับมือตัวเองให้ทำงานหน่อย พี่ก้องนัดไว้ว่าให้เอาเรื่องมาโพสต์พร้อมๆกันในวันที่ 1 เมษายนนี้ โดยบทความของผู้ร่วมทริปจะโพสต์ก่อนหน้านั้น 1 อาทิตย์เพื่อเป็นข้อมูล

สุดท้าย เอาเข้าจริงๆก็เล่นเกมซะ ..... ลืมไปเลย

เอะใจนึกได้อีกทีก็ปาเข้าไปตั้ง 28 มีนา แล้ว ตายห่ะ !!! .... อีก 2 - 3 วันเอง แถมยังไม่ได้เริ่มอ่านบทความของคนที่ไปทริปสักอัน (ตอนที่เขียนอยู่ มีคนมาส่งต้นฉบับที่ blog พี่ก้องแล้ว 29 เรื่อง) สงสัยงานคราวนี้คงจะ late แน่นอน ช่างมันเถอะ .... ส่งช้ายังดีกว่าไม่ส่ง

ถ้าจะให้พูดถึงทริปนี้ ก็จะเป็นการพาไปเที่ยวชมตามสถานที่ต่างๆ ที่ยังมีการใช้วิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อนหลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพาไปดูนาเกลือ ที่ผลิตเกลือได้มากมายทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีทันสมัยอะไรเลย , ตลาดน้ำอัมพวา ที่พ่อค้าแม่ขายที่นั่นนำของมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันแบบไม่ได้หวังกำไร เพราะมันเป็นของที่เหลือกินเหลือใช้จากการทำสวน แทนที่จะเก็บไว้แบบไม่เกิดประโยชน์ ก็เอามาขายเอาเงินเข้ากระเป๋าเล็กๆน้อยๆดีกว่า , พาไปชมวัดวาอารามต่างๆ พร้อมทั้งให้ความรู้ ถกเถียง อภิปรายว่ามันเกี่ยวกันยังไง จะเอามาใช้แก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนกันได้อย่างไรในระหว่างทาง ซึ่งในฐานะผู้ช่วยเผยแพร่ ผมคงไม่ลงรายละเอียดอะไรมากแล้วกัน หาอ่านเอาตามของคนที่ไปทริปมาดีกว่า เรื่องที่ลงรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับทริปได้ดี แนะนำให้แวะไปดูก็



ส่วนมุมมองของผมเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนน่ะเหรอ ?

อืมม์ .... คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องของเทคโนโลยี เพราะยังไงเสียไอ้สิ่งนี้จริงๆมันก็คือผลผลิตที่เกิดจากความขี้เกียจของมนุษย์นั่นเอง การที่เราประดิษฐ์ คิดค้น พัฒนาไล่ตามเทคโนโลยีกันอย่างไม่หยุดหย่อน .... ต้องดีกว่าเก่า เร็วกว่าเก่า ทันใจกว่าเก่า มันก็ไม่ต่างอะไรจากการปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลสตัณหาที่มีในตัวเรา ให้มันมาครอบงำนำทางชีวิต ซึ่งผิดหลักของพุทธศาสนาที่พวกเรานับถือกันตั้งค่อนประเทศแน่นอน

กับอีกเรื่องหนึ่งก็คือทัศนคติในการใช้พลังงาน / ทรัพยากร เพราะที่พูดมาไม่ได้ความว่าเทคโนโลยีมันเป็นสิ่งน่ารังเกียจอะไร ยังไงก็จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตแน่นอน เพียงแต่เราต้องมีทัศนคติในการใช้มันให้ "พอดี" เท่านั้นเอง

อย่างเช่น .... อเมริกา จากประสบการณ์ที่ผ่านมา บอกได้เลยว่าคนที่นี่มีทัศนคติการใช้พลังงานและทรัพยากรสิ้นเปลือง (เชื่อแล้วว่าอยู่ในอันดับต้นๆของโลกเลย) เรื่องใกล้ๆตัวอย่างเรื่องทานข้าว .... ประเทศนี้เป็นประเทศที่เม็ดเงินสะพัดมากมายมหาศาลในธุรกิจร้านอาหาร ถึงขนาดว่าหากจะประเมินสภาพเศรษฐกิจของอเมริกา ให้ดูผลประกอบการของร้านอาหารเป็นดัชนีเปรียบเทียบได้เลย (ถึงเศรษฐกิจจะแย่แค่ไหน ก็ยังออกมาทานข้าวข้างนอกอยู่ดี) เพราะอะไร? เพราะมีนิสัยที่ต้องใช้ชีวิตแบบรวดเร็วทันใจ อะไรที่ต้องลงไม้ลงมือเองจะมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา ให้คนอื่นทำให้ดีกว่า ตัวเองจะได้ไปทำอย่างอื่น ไม่ก็อยู่ว่างๆสบายๆ ของใช้เสีย / สภาพไม่ดีนิดหน่อยก็ทิ้งเลย เดี๋ยวซื้อใหม่ จะซ่อมทำไม

บ้านของพวกฝรั่งนี่มีห้องครัวสวยงามมากครับ .... แต่ไม่ค่อยได้ใช้งานให้สมกับเป็นห้องครัวหรอก (ก็ยังเห็นพวกเอ็งเดินมาหาร้านข้าวกินกันทุกวันๆ) มีปาร์ตี้ เลี้ยงลูกเด็กเล็กแดง ก็มาลงที่ร้านอาหารหมด .... ไม่หัดทำอาหารเลี้ยงลูกเองที่บ้านบ้างวะ? ปล่อยให้มาเลอะเทอะกระจายที่ร้านเต็มไปหมด (ผมว่าตอนทำงานร้านอาหารที่ไทย ไม่ค่อยเห็นภาพคุณแม่หอบหิ้วลูกๆเด็กเล็กมา 2 -3 คนทานข้าวนอกบ้านบ่อยนักหรอกนะ ถึงเอามาทานมันก็ไม่เลอะมาก .... อืมม์ นึกภาพไอ้เด็กพวกนี้เอาไส้ปอเปี๊ยะทอดที่เป็นผักฝอยๆออกมาเล่น ค่อยๆโปรยลงบนพื้น กระจายๆ ไม่ก็ภาพตอนเด็กพวกนี้กินข้าวผัดแล้วใช้กันแต่ส้อม .... ตามประเพณีฝรั่งไง อ้างว่าอีกมือเขาใช้ถือมีด !! พวกผู้ใหญ่มันประสบการณ์สูงแล้วก็ไม่เท่าไหร่ แต่เด็กๆนี่แบบว่า .... เลิกกินเหอะ เฮียขอร้องงงง) ถึงแม้ว่าจะเป็นวันหยุดหรือวันว่างๆอยู่กับบ้าน ก็ยังโทรมาสั่ง to go ไม่ก็ delivery ให้มาส่งที่บ้าน (เอ่อ .... ที่จะบ่นถึงก็พวกลูกค้าประเภทหลังนี่ล่ะ นอกเรื่องซะ ....)

อาจเป็นเพราะขี้เกียจกันก็ได้เลยสั่งอาหารมาทานที่บ้าน คงจะคิดกันว่ากว่าจะทำอาหารเสร็จ .... ไหนจะเก็บล้างอีก (แต่เชื่อไหม เวลาที่สั่งอาหารแล้วนั่งงอมืองอเท้ารอคนส่ง delivery มาประมาณครึ่ง - 1 ชม. ผม .... ในฐานะคนทำอาหารกินเองที่บ้าน เคยจับเวลาดูแล้วตั้งแต่เริ่มทำ เสร็จแล้วนั่งกิน เอาจานชามไปล้างจนหมด มันก็ใช้เวลาพอๆกันนี่หว่า แม้จะนานกว่า 10 - 15 นาที ก็แค่นิดหน่อยเอง แถมเงินที่จ่ายไปกับอาหารมื้อๆนึง เอาไปจ่ายตลาดทำกับข้าวกินเองได้ตั้งกี่มื้อๆ) ที่น่าเป็นห่วงคือ มันต้องมี package หีบห่อ - บรรจุภัณฑ์ให้กับลูกค้าพวกนี้ ซึ่งส่วนมากแล้วถ้าไม่ใช่กล่องโฟม ก็หนีไม่พ้นกล่องพลาสติกต่างๆ คิดดูว่าประชากรในอเมริกามันเยอะขนาดไหน แล้วยังมีพฤติกรรมแบบนี้อีก วันๆนึงใช้กันไปเท่าไหร่แล้วล่ะ

ซึ่งไอ้โฟมกับพลาสติกมันเป็นสารที่มีผลกับชั้นบรรยากาศโลกเรา .... เคยได้ยินข่าวที่เมืองจีน เขารณรงค์กันหนักมากเรื่องการใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าไปซื้อของจ่ายตลาด ก็ดีนะ แต่จากนี้ไปคงต้องรณรงค์กันเพิ่มด้วยว่าถ้าจะมาสั่งอาหารไปทานที่บ้าน ให้เอากล่องข้าวมากันเองด้วยจะดีกว่า

แม้แต่วัฒนธรรมการกินข้าวที่ต่างกันยังมีผลกับการใช้พลังงานเลย เวลาไปตามร้านอาหารหรือภัตตาคาร คนอเมริกา , ยุโรปจะกินข้าวกันแบบเป็นคอร์ส เช่น ต้องเริ่มจากอาหารว่าง(appitizer , orderve) ตามด้วยซุป แล้วตบท้ายด้วยสลัด / อาหารจานหลัก (maincource , entree) ซึ่งระหว่างคอร์สพวกนี้ เวลาเสิร์ฟก็ต้องเปลี่ยนจานให้พวกมันด้วยทุกครั้ง (ลูกค้าบางคนที่ถือธรรมเนียมนี้มากๆจะยิ่งน่ารำคาญเวลาที่ร้านยุ่งๆแล้วรอทำอาหารตามคอร์สให้ไม่ทัน เช่น อาหารออกมาไล่เลี่ยกันกับซุป เจ๊ / เฮียแกก็จะเริ่มบ่นว่าทำไมทำแบบนี้ หนักสุดที่เจอมาคือมันให้ยกอาหารกลับไปก่อนเลย .... น่าพาไอ้พวกนี้ไปเมืองไทยให้ไปกินข้าวมันไก่ กินข้าวพร้อมซุปนี่มันเลวร้ายขนาดนั้นเลย? คล่องคอดีออก จะบอกให้) สรุปคือใช้จานกันเยอะมากต่อมื้อ แล้วเวลาล้างจานก็ไม่ได้ให้คนล้างเหมือนบ้านเรา เขาใช้เครื่อง dishwasher กัน เลยเปลืองพลังงานไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น อะไรที่ทำกันเองได้ก็ไม่ยอมทำ ให้เครื่องมือเครื่องจักรทำให้เสียหมด

เทียบกับคนไทยแล้ว .... จานแค่ใบเดียว ใช้ตะลุยมันไปได้ทุกคอร์สยันอาหารหวาน / ผลไม้ (เอ่อ ... ถึงตอนนั้นแล้ว เปลี่ยนจานหน่อยก็ดีนะ 555+) มาเมืองนอกทำให้ผมรู้ว่านิสัยการกินอาหารแบบคนไทยน่ารักที่สุดแล้วครับ ..... จริงๆ (แต่คงเป็นเพราะทำงานเสิร์ฟอาหารด้วยแหละ เลยรำคาญการกินฝรั่ง)

ไหนจะเป็นการใช้ตะเกียบไม้แบบครั้งเดียวทิ้ง ตามร้านอาหารอีก ทำไมไม่คิดใช้ตะเกียบหนาๆดีๆ จับถนัดๆมือสักสุด ดูแลเก็บล้างดีๆก็ใช้ได้เป็นสิบๆปี จะได้ไม่ต้องไปตัดไม้มาทำเพิ่ม เปลือง .... คนที่นี่ไม่มีความคิดเรื่องการใช้ของหมุนเวียนหรอก อนามัยกันเกินไป (คนบ้านเราไม่เห็นมีใครว่าอะไร เรื่องใช้ของเวียนกัน)

แถมที่นี่ยังไม่มีการเอาผ้ามาตากตามราวบ้าน .... ไม่มีสักบ้าน (อ้างอิงจาก บทความของเพื่อน ) เขาบอกว่ามันทำให้บ้านดูไม่งาม ดูสลัมๆ ต้องใช้เครื่องอบผ้า ซึ่งผมว่าไอ้ของพวกนี้มันก็จำเป็นอยู่บ้างเพราะนี่เป็นประเทศที่มีฤดูหนาวโหดพอควร แต่พอเข้าฤดูร้อนแล้ว มันก็ไม่จำเป็นน่ะ .... พลังงานแสงแดดฟรีๆมีไม่ใช้ ชอบเสียตังค์ใช้ไฟฟ้า

แต่จริงๆแล้วผมก็ใช้เหมือนกัน เครื่องอบผ้าน่ะ เพราะ apartment มีกฎไม่ให้ตากอะไรก็ตามบนระเบียงทั้งนั้น 5555+ ก็ช่วยไม่ได้นะ

โลกใบนี้ถ้าดูดีๆแล้วมันมีเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นอยู่เยอะมาก ที่บางครั้งเราก็มัวเมาไปเองว่ามันจำเป็น เสพติดความสะดวกสบาย ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง จนทำให้สิ่งแวดล้อมมันแย่ลงเรื่อยๆ อะไรที่คิดว่าทำเองได้ก็ลองลงมือลงแรงทำดูบ้างเถอะครับ ไม่เคยก็ลองหัดด

คนสมัยก่อน หรือที่อยู่ตามชนบทไกลๆ เขาไม่ได้มีอะไรอย่างที่เรามีก็ยังอยู่กันได้เลย เพราะอะไร? เพราะเขารู้จักการหาเลี้ยงชีวิตตัวเอง อยู่กับธรรมชาติ ต่างจากเราที่ต้องมีเครื่องจักรเครื่องมือ ใช้เงินซื้อโน่นซื้อนี่ จ้างคนนั้นคนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างให้ .... ผมเองก็ไม่เคยคิดได้แบบนี้จนกระทั่งมีโอกาสไปค่ายอาสาพัฒนาครั้งแรกในชีวิต เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับคนที่มาจากป่าคอนกรีตอย่างผมได้อย่างดีเลย

เป็นช่วงเวลาเกือบ 2 อาทิตย์ที่ต้องพึ่งตัวเองในทุกๆเรื่อง และได้เด็กๆที่นั่นเป็นครู สอนอะไรๆเกี่ยวกับการใช้ชีวิตเยอะมาก ได้ทำอะไรที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน เช่น เกี่ยวหญ้าเลี้ยงวัว จับปลา ทำขนมแบบชาวบ้านง่ายๆ ฯลฯ ยังจำความรู้สึกตอนที่ต้องให้เด็กพวกนี้ผ่ามะพร้าวให้กินได้อยู่เลย .... กูนี่มันช่างไร้ค่าจริงๆ 5555+ ยังไงก็ตาม มันเป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมาก

เด็กๆพวกนี้ ต่อให้หลงป่า ผมก็มั่นใจว่าอยู่รอดได้ ไม่มีอดตายแน่นอน

พูดถึงแล้ว ก็อยากกลับไปในช่วงเวลานั้นอีกจัง ....

เอาเถอะ ผมเองก็พล่ามมานานแล้วล่ะ คิดว่าถึงเวลาไปสักที (รู้สึกว่าเริ่มจะออกทะเลไปอีกแล้ว)

เสียงผมคนเดียวคิดว่าคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มาก แต่หากมีหลายๆเสียงในโครงการนี้ช่วยกันเผยแพร่เรื่องนี้ออกไป คงสะกิดใจหลายๆคนให้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่นี้ได้บ้าง

May the force (of nature) be with you .....

ป.ล. สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณพี่ก้องด้วยแล้วกันนะครับที่จัดกิจกรรมดีๆแบบนี้ขึ้นมา แม้ว่าผมเองจะส่งต้นฉบับช้าไปเดือนนึงก็ตามที ขออภัยเป็นอย่างสูง

ตบท้ายด้วยประโยคเด็ดที่ผมชอบจากการตามไปอ่านเรื่องของคนนั้นคนนี้มา …

“มีคุณลุงเคยบ่นให้ฟังว่าไม่เช้าใจเด็กสมัยนี้ เรียนจนจบปริญญาแล้วยังมานั่งบ่นว่า ไม่มีงานจะทำ เค้าไม่เห็นต้องเรียนอะไรเลย มีงานให้ทำทั้งวันตั้งแต่ตะวันขึ้น จนตะวันตก” : เร่เข้ามา เร่เข้ามา โลกร้อนๆ จ้า โลกร้อน ร้อน

“นอกจากวิถีธุรกิจแบบไทยๆแล้ว ปรัชญาในการชีวิตของคนไทย เรากลัวจนแต่เราไม่อยากรวย พอเรากลัวจน อะไรก็ตามที่เราต้องทำเราจะเอาแรงลง พอเอาแรงลง มันไม่มีราคา เพราะฉะนั้นผลผลิตที่ได้มามันก็คือกำไรทั้งหมด ขายเท่าไหร่มันก็กำไรอยู่แล้ว แต่พอเราอยากรวยเราก็จะลงทุน ผลผลิตที่ได้ออกมามันก็จะต้องให้คุ้มทุน ราคามันก็เลยสูง แต่คนโบราณไม่มีต้นทุนในการทำนา ชีวิตชาวนาสมัยก่อนจะมีงานเต็มตลอด 12 ชั่วโมง ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เค้าไม่เคยมีเวลาว่าง แต่ชาวนาสมัยนี้ มีแต่เวลาว่าง นั่งดูบอลตู้ นั่งดูมวยตู้ เพราะเราจ้างเค้าหมด จ้างไถ เสร็จแล้วก็จ้างหว่าน จ้างฉีดยา จ้างให้ปุ๋ย จ้างเกี่ยว จ้างนวด” ถ้าเราลองคิดดูเล่นๆ ว่า ถ้าชาวนากลับไปใช้วิถีแบบไทยๆ แต่เดิมของเรา ชีวิตของชาวนาของเราอาจจะไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินอย่างทุกวันนี้” : วิถีไทยช่วยได้...ไม่ใช่แค่ลดโลกร้อน

ป.ล. 2 : ของฝากก่อนจาก มีอีกซีรีย์นึงที่แนะนำให้ไปอ่าน คือ บทสัมภาษณ์ของ โจน จันใด จากศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์ “พันพรรณ” อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ว่าด้วยเรื่องของการทำการเกษตรและการใช้ชีวิตของชาวบ้านสมัยก่อน ต่อยอดความรู้จากทริปครั้งนี้ได้ดีครับ มีทั้งหมด 8 ตอน อันนี้เอามาให้ชมเป็นตัวอย่าง

มองประเทศพัฒนาแล้วยังไงบ้างครับ

ประเทศไหนที่เจริญแล้วถือว่าเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา มันทำให้ชีวิตยากขึ้น ทำให้คนไม่มีความสุข มีเสรีภาพอย่างเดียวคือเสรีภาพในการแข่งกันหาเงิน แต่จะเลือกที่จะมีความสุขไม่ได้ แค่จะทำส้วม เราต้องไปขออนุญาตกี่ที่ต่อกี่ที่ เขาบังคับให้เราซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทนี้ ไม่งั้นก็ไม่ผ่าน ที่สหรัฐฯ จะทำโรงเก็บเครื่องมือยังต้องขออนุญาตเลย จะปลูกผักปลูกอะไรมันยากหมด ทำไมต้องทำให้ยากขนาดนั้น บ้านเราไม่เคยมีอะไรยากเลย ผมไม่เคยชื่นชมประเทศที่พัฒนาแล้วเลย

ทำไมถึงเชื่อมั่นในวิถีตะวันออก

ไม่ใช่วิถีตะวันออก แต่เป็นวิถีเก่าแก่ทั่วโลก มันเป็นวิถีที่ยั่งยืนที่สุดที่คนอยู่ได้มาหลายพันปี แต่พอเรามาเปลี่ยนเป็นวิถีตะวันตก หรือวิถีบริโภคนิยม แค่ไม่ถึง 50 ปี เราแทบไม่เหลืออะไรเลย พอเปลี่ยนมาอย่างนี้ มนุษย์ที่เคยทำงานแค่ปีละ 2 เดือน ตอนนี้ต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมงตลอดทั้งปีทั้งชาติ มันก็เลยเป็นคำถามกับตัวเองว่า เราพัฒนาไปเพื่ออะไร เพื่อให้เราทำงานมากขึ้น เพื่อให้ชีวิตยากขึ้น เพื่อให้เป็นทุกข์มากขึ้น สมัยก่อนหรือวิถีตะวันออก เขาพัฒนาไปเพื่อความสุข เพื่อความง่าย ทุกอย่างคิดขึ้นมาเพื่อให้ชีวิตมันง่าย ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่คิดขึ้นมาเพื่อให้ชีวิตมันยาก

อยากมีรถสักคันหนึ่งเพื่อที่จะไปให้เร็วที่ สุด ก็เพื่อรีบไปทำงานใช่ไหม จะได้ทำงานได้มากกว่าคนอื่น วิถีแบบนี้มันไม่ใช่ทางที่ผมอยากจะเป็น ความง่ายคือการเดิน หรือการขี่จักรยาน อาจจะเร็วกว่าขี่รถ เพราะกว่าจะได้รถมา เราทำงานกี่ปีเพื่อที่จะซื้อรถ แต่ผมเดินไปตลาดในหมู่บ้าน ขี่รถอาจจะใช้เวลาเร็วกว่าเดินนิดนึง แต่กว่าจะได้รถมาเราต้องทำงานมากขึ้นเท่าไหร่

เราไม่ได้คิดคำนวณเวลาที่เราเสียไปกับการหาเงินซื้อรถเลย ถ้าเราคิดตรงนั้นจะพบว่าเทคโนโลยีทำให้เราช้าลง วิถีที่เราพัฒนาทำให้เราช้าลง ไม่ได้ทำให้เราดีขึ้น

ผมก็เลยเชื่อในวิถีเก่า วิถีเก่ามันดีอยู่แล้ว ขาดอย่างเดียวเรื่องสุขอนามัย ถ้าเราต่อยอดจากของเก่า เพื่อให้มันดีขึ้น จะทำให้ชีวิตเราสะดวกขึ้น แต่ตอนนี้เราทิ้งของเก่าแล้วก็กระโดดไปสู่บริโภคนิยมหรือระบบอุตสาหกรรมโดย ที่เราไม่มีฐาน ไม่มีอะไรเลย เราก็เข้าไปเป็นทาสในระบบทันที แล้วก็ไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลยจากมัน มองดูสิ ความเจริญก้าวหน้าทั้งหลายในปัจจุบัน ใครได้ประโยชน์จากความเจริญนี้ คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือคนที่ทุกข์ที่สุด ไม่มีเวลาว่างเลย ”




comments here




Create Date : 07 พฤษภาคม 2552
Last Update : 7 พฤษภาคม 2552 15:33:50 น. 0 comments
Counter : 1005 Pageviews.
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.