Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
12 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
Triple Marker

เมื่อวันเสาร์ที่31 พฤษภา ก็เกือบสองอาทิตย์ที่แล้ว ตาอ้วนโทรไปโรงพยาบาล ต้องการถามเรื่องการตรวจน้ำคร่ำ เพราะตอนนั้นฉันใกล้จะครบ 17 สัปดาห์แล้ว พอคุยกับพยาบาลเสร็จ ก็รู้ว่าหากจะคุยเรื่องนี้จะต้องไปคุยที่โรงพยาบาลเท่านั้น ไม่มีการรับปรึกษาทางโทรศัพท์ (เพราะรพ.ไม่ได้ตังค์) เราจึงขอเลื่อนนัดคุณหมอจากวันศุกร์ที่ 6 มิถุนา(วันที่นัดตรวจครรภ์) มาเป็นวันอังคารที่ 3 มิถุนาแทน (วันจันทร์ไม่ได้ เพราะตาอ้วนติดประชุม วันจันทร์จะเป็นวันที่ตาอ้วนยุ่งที่สุดในสัปดาห์)

เมื่อไปถึงรพ. พยาบาลบอกฉันว่าไม่ต้องเก็บปัสสาวะ ชั่งน้ำหนัก และวัดความดันเหมือนอย่างเคย เพราะยังไม่ครบกำหนดตรวจครรภ์ แต่ไปๆมาๆพยาบาลก็มาบอกใหม่ว่าให้วัดเหมือนเดิม เพราะคุณหมอจะขอตรวจครรภ์ด้วยเลย

คุณหมอเรียกตาอ้วนเข้าไปนั่งในห้องตรวจด้วย เพราะเรื่องตรวจน้ำคร่ำเป็นเรื่องสำคัญ (สำหรับสังคมญี่ปุ่น) งานนี้ถกกันหน้าดำคร่ำเครียด คุณหมอบอกให้รู้ถึงประโยชน์และโทษของการตรวจน้ำคร่ำ ก็อย่างที่เราๆรู้กันแล้ว คือความแม่นยำในการ diagnosis ถึง 99 เปอร์เซนต์ แต่ก็ต้องเสี่ยงกับการmiscarriage (แล้วฉันก็ไม่ค่อยให้เครดิตกับคุณหมอญี่ปุ่นเรื่องการเจาะน้ำคร่ำด้วย เรื่องนี้เทใจให้หมอไทยสุดตัว) คุณหมอเอ่ยออกมาว่า มันมีอีกวิธีการหนึ่ง คือใช้การตรวจเลือด(血液検査 – ketsueki kensa)ของแม่แทน หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า

Triple Marker ฉันบอกคุณหมอไป คุณหมอชมว่าฉันเก่ง เกือบจะโม้ต่อแล้วว่าคนไทยที่ท้องรู้เรื่องนี้กันทุกคนแหล่ะคุณหมอขา

คุณหมอบอกว่าผลของการตรวจเลือดกินเวลา 1 อาทิตย์ ซึ่งหากผลตรวจเลือด พบความเสี่ยงสูง ก็จะต้องตรวจน้ำคร่ำอีกรอบ แล้วคุณหมอจะไปชิงเอาผลตรวจน้ำคร่ำมาก่อน เพราะตามกฎหมายญี่ปุ่น หากตั้งครรภ์ครบ 22 สัปดาห์จะห้ามทำแท้ง (เรียกสวยๆว่า ยุติการตั้งครรภ์) ฉะนั้นหากมีความผิดปกติของทารกในครรภ์เกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเสร็จภายใน 21 สัปดาห์

ฉันดูหน้าหมอก็รู้ว่าหมออยากให้ทำtriple markerก่อนตรวจน้ำคร่ำ100เปอร์เซนต์ ก็เลยสรุปเข้าทางตาอ้วนเลย เพราะพี่แกก็ไม่อยากจะให้เจาะน้ำคร่ำเป็นทุนอยู่แล้ว

อ้วนๆ หากผลเจาะน้ำคร่ำออกมาว่าลูกผิดปกติ เราเก็บลูกไว้กันเถอะนะ ฉันเคยปรึกษากับตาอ้วน

อืม ได้ อย่างนั้นจะเจาะไปทำไมล่ะ ก็ยังไงก็จะเก็บเค้าไว้อยู่แล้วน่ะ

แต่หากเราสองคนตายไปก่อนลูก ใครจะเลี้ยงเค้าต่อล่ะ ฉันยังมีข้อกังขาต่อ

แล้วสรุปจะเอายังไงล่ะ ตาอ้วนก็หุดหิดหัวใจเหมือนกัน

พอตกลงใจว่าจะทำ triple markerคุณหมอก็ให้เอกสารมา 1 ฉบับเกี่ยวกับการทำtriple marker พร้อมทั้งกำชับกำชานักหนาว่าห้ามเอาเอกสารนี้ไปเผยแพร่ เพราะเคยมีเคสมาแล้วว่ามีคนเอาเอกสารประเภทนี้ไปโพสต์ไว้บนอินเตอร์เนต ปรากฏว่าเนเรื่องใหญ่โตลุกลาม เพราะมีคนญี่ปุ่นที่อคติกับเรื่องแบบนี้อยู่มาคอมเมนต์เสียๆหายๆ (ฉันก็ไม่รู้ว่าเป็นคอมเมนต์แบบไหน)

พอปรึกษาคุณหมอเสร็จ ตาอ้วนก็ออกไปรอข้างนอก คุณหมอก็ตรวจครรภ์ฉันตามปกติ พยาบาลบอกว่าอาการบวมของฉันหายไปแล้ว (ดีใจจัง) ผลการชั่งน้ำหนักก็ขึ้นมาไม่ถึง 1 โล (เดือนที่แล้ว 61.6 โลคราวนี้ 62.3 โล) ความยาวมดลูก 17 ซม. ณ อายุครรภ์ที่ 16 สัปดาห์กับ 6 วัน แต่รอบเอว 88.5 แล้ว (น่ากลัวมั่กๆ) คุณหมอให้ฉันดูมอนิเตอร์เวลาu/s ชี้ให้ดู

This is head. This is body. This is ashi. คุณหมอขา ทำไมมาตกม้าตายตอนจบล่ะคะ ashiน่ะมันภาษาญี่ปุ่น ปะกิตเค้าเรียก legs

คุณหมอคะลูกสาว หรือลูกชายคะ ฉันถามคุณหมอ

ยังบอกไม่ได้ครับ ฉันว่าฉันฟังไม่ผิดนะ คุณหมอพูดเหมือนว่า หากบอกตอนนี้จะถือว่าผิดกฎหมาย เพราะอายุครรภ์น้อยไป...กฎอะไรฟระ หมอเอากฎหมายมาขู่แหงเลย

คุณหมอคะ ขอดูหัวใจลูกหน่อย แล้วคุณหมอก็ชี้ให้ฉันดูจุดสีแดงๆน้ำเงินๆเต้นตุบๆ ดูการเต้นของหัวใจว่าเต้นอย่างสม่ำเสมอ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ยินเสียงหัวใจเต้นของตัวเล็กเสียที

ทุกอย่างปกติดี เป็นไปตามเกณฑ์ แล้วฉันก็ไปเก็บเลือด 1 หลอดเพื่อตรวจtriple marker จ่ายเงินไป 21,000 เยน ตาอ้วนขับรถตัวเบากลับบ้าน พี่แกหย่อนฉันไว้ที่หน้าคอนโด แล้วก็ขับรถไปทำงานต่อ คืนวันนั้นกลับบ้านมาเกือบตี 4 (วันไหนตาอ้วนขับรถไปทำงาน พี่แกจะไม่กังวลเรื่องรถไฟเที่ยวสุดท้าย พ่อจะกลับเช้าทุ้กที)

................................................................................................

วันอังคารที่10 มิถุนา ฉันกับตาอ้วนไปฟังผลตรวจเลือด คราวนี้ไม่ต้องทำอะไรนอกจากคุยกับคุณหมออย่างเดียว ชื่อของฉันถูกเรียกเข้าห้องตรวจหมายเลข 1 (กลิ่นตุๆว่ะ เพราะผอ.รพ.อยู่ห้องตรวจหมายเลข 2 นี่หว่า) ปรากฏว่าฉันได้คุยกับคุณหมอคนใหม่ (สงสัยมาแทนหมอหนุ่มขวัญใจฉัน)

คุณสามีไม่มาด้วยเหรอคะ พยาบาลถามฉัน เพราะปกติเห็นติดกันเป็นตังเม

มาค่ะ แต่ตอนนี้ออกไปโทรศัพท์ข้างนอก ไม่รู้จะโทรอะไรกันนักหนา โทรหาคนที่บริษัท2-3คน เพราะต้องขอโทษที่ขอลางานช่วงเช้า

คุณหมอใหม่แต่หน้าแก่ก็เริ่มบรรเลงบอกฉันว่าผลของการตรวจเลือด ค่าความเสี่ยงต่ำ แล้วหมอก็พึมพำอะไรอีกไม่รู้ ซึ่งจับใจความได้ว่าไม่ได้อธิบายอะไรเพิ่มเลย นอกจากบอกว่าค่าความเสี่ยงต่ำ (แล้วตรูจะรู้มั้ยเนี่ย) พร้อมกับเอากระดาษที่บางๆเหมือนบิลเงินสดให้ฉันดูค่าเอง (หากเข้าใจที่เขียน ตรูก็ไปเป็นหมอแล้วโว้ย) ตาอ้วนเดินเข้ามาพอดี ฉันก็เลยเอากระดาษให้ตาอ้วนดู ระหว่างนั้นคุณหมอใหม่ก็บรรเลงเพลงเดิมให้ตาอ้วนฟัง แต่คราวนี้คนฟังเป็นคนละคนกัน....

เดี๋ยวก่อนครับ ผมยังดูไม่เสร็จ ขอเวลาดูก่อนได้มั้ย ตาอ้วนบอกคุณหมอกลับไป โอ้ว...ฉันเหลือบตาดูหน้าคุณหมอ หงิกเลย

ค่านี้บอกอะไรได้บ้างครับ

พึมพำ พึมพำ พึมพำ พึมพำ พึมพำ

อ้วน ถามหมอหน่อยสิ ว่าหากค่าความเสี่ยงสูง ตัวเลขจะออกมาเป็นยังไง ฉันถามหมอไปแล้วทีนึง แต่หมอเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ (หรือที่จริงหมอเองก็ไม่รู้!!??)

ขอเอากระดาษแผ่นนี้กลับบ้านได้มั้ยครับ มันมี 2 ใบ คือตัวจริง 1 ใบ และสำเนา 1 ใบ แผ่นที่ตาอ้วนดูอยู่เป็นแผ่นสำเนา

ไม่ได้ครับ

ทำไมไม่ได้ครับ ผมจ่ายเงินไปแล้ว ก็ควรมีสิทธิ์ที่จะเอากลับบ้านไม่ใช่เหรอครับ ขอให้คุณหมอเข้าใจผมหน่อยนะครับ เพราะหากเป็นคุณหมอเอง คุณหมอก็คงจะทำอย่างผมใช่ไหมครับ คุณหมอหน้าหงิกกำลังสอง กระซิบบอกพยาบาลให้เรียกอัศวินมาขาวมาหน่อย แย่แร้ว....

และแล้วไม่รู้ว่าเป็นเพราะคุณพยาบาลไปเรียก หรือคุณหมอผอ.รพ.ได้ยินเสียงที่ดังไม่เกรงใจของตาอ้วนก็ไม่รู้ เดินมาอธิบายทุกอย่างให้เข้าใจ

ปกติผลค่าตรวจเลือดทำtriple testนี้ทางรพ.จะเก็บไว้ครับ หากอยากได้เดี๋ยวไปถ่ายเอกสารให้ครับ แต่สุดท้ายฉันก็ได้สำเนาที่ดูอยู่แต่แรกนั่นกลับบ้าน

ค่าข้างบนคือค่าเฉลี่ยของผู้หญิงท้องอายุ 36 ครับ ส่วนค่าตรวจเลือดของคุณภรรยาคือค่าข้างล่างครับ ยังไงก็ตามนี่เป็นแค่ค่าความเสี่ยงเท่านั้น ไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะไม่ผิดปกติ 100 % เพราะอย่างนั้นต้องตรวจน้ำคร่ำ อะไรง่ะ...ก็คุณหมอนั่นแหล่ะแนะนำให้ทำtriple markerก่อน หากคุณหมอยังไม่สามารถยืนยันให้คนไข้อุ่นใจได้ จะมาแนะนำให้ทำtriple markerเสียเงินเปล่าๆปลี้ๆทำไม ก็ตรวจน้ำคร่ำแต่แรกก็หมดเรื่อง

จะตรวจน้ำคร่ำยืนยันอีกรอบหรือไม่ คุณสามีภรรยาต้องปรึกษากันดูเองครับ หมอญี่ปุ่นนี่อธิบายอะไรเป็นสีเทาได้ดีจริ๊ง ไม่มีขาว ไม่มีดำ คลุมเครือตลอด ทุกอย่างคนไข้ตัดสินใจเอง (เพื่อที่ว่าหากมีอะไรผิดพลาด จะได้ไม่มาโทษหมอ)

วันนี้ค่าไปฟังหมอบรรเลงเพลง จ่ายไป 370 เยน (ประกันสังคมจ่ายอีก 70 เปอร์เซนต์) ก่อนกลับบ้านแวะเดินไปซื้อร้านทำเกี๊ยวซ่าขายส่ง 30 ชิ้น แล้วก็ซาลาเปา 4 ลูก ทุกครั้งที่ไปตรวจครรภ์ หากไปทันร้านเปิดก็จะซื้อกลับมาทุกครั้ง ก่อนตาอ้วนไปทำงาน เลยนั่งกินเกี๊ยวซ่ากับซาลาเปาที่บ้านก่อน อย่างเคยวันนี้ขับรถไปทำงาน กลับบ้านเกือบตี 3

.................................................................................................

สรุปฉันไม่ตรวจน้ำคร่ำแล้วค่ะ เพราะยังไงก็ทำใจไปฆ่าไปแกงลูกไม่ลง ตัวเองก็เป็นคนมีลูกยากอยู่เป็นทุนด้วย ยังไงก็ขอเก็บรักษาดูแลเค้าไว้

หากดูตามผลตรวจtriple test ค่าเฉลี่ยของหญิงท้องวัย 36 ปี มีความเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรม 1/239 ผลตรวจเลือดของฉัน ค่าความเสี่ยงอยู่ที่ 1/1998

การทำtriple markerนี้คือการสกรีนผลการตรวจเลือดของแม่แล้วมาคำนวนหาค่าความเสี่ยงของทารกในครรภ์ ความเสี่ยงที่ว่านั้นได้แก่
- โรคดาวน์ซินโดรม (trisomy 21)
- โรคเอ็ดเวิร์ดซินโดรม (trisomy 18)
- ความผิดปกติของเส้นประสาทที่สมอง และความผิดรูปของกระดูกไขสันหลัง

การทำtriple markerสามารถทำได้ 2 ช่วง คือ ช่วงไตรมาสแรก(สัปดาห์ที่ 11-14) และไตรมาสที่สอง(สัปดาห์ที15-18 ช้าสุดไม่เกินสัปดาห์ที่20)ของการตั้งครรภ์ หาทำทั้งสองช่วงจะเรียกว่า Integrated หรือ Sequential Screening แต่การทำtriple markerไม่สามารถบอกได้ว่าทารกในครรภ์ผิดปกติเรื่องอะไร เช่น ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคดาวน์ หรือโรคเอ็ดเวิร์ด บอกได้เพียงว่ามีความเสี่ยงที่จะผิดปกติเท่านั้น และบอกได้เพียง 70% หากต้องการการวินิจฉัยความผิดปกติอย่างแม่นยำต้องตรวจน้ำคร่ำ (amniocentesis ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 羊水検査-yousui kensa)

การทำtriple markerเป็นการสกรีน หาค่า 3 อย่างในเลือดของแม่
- Alpha-fetoprotein (AFP) ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า a-フェトプロテイン
- Human chorionic gonadotropin (hCG) ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ヒト絨毛性ゴナドトロピン
- Unconjugated estriol (uE3) ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 非抱合型エストリオール

บางโรงพยาบาลจะเป็นการทำ quadruple screen ซึ่งจะเป็นการเทสต์หาค่า inhibin A เพิ่มขึ้นมาอีกอย่าง นอกเหนือจากเทสต์ 3 อย่างตามที่ได้กล่าวแล้วตามข้างบน (คลีนิคฟุคุดะของฉันทำ quadruple screen) ที่ญี่ปุ่นนิยมเทสต์ทั้ง 2 แบบ

การทำtriple markerตรวจหาค่าความเสี่ยงของโรคดาวน์นั้น ไม่สามารถบอกได้ว่า “เป็นโรคดาวน์” หรือ “ไม่เป็นโรคดาวน์” แต่ผลการตรวจเลือดจะบอกถึงค่าความเสี่ยงเท่านั้น โดยค่าความเสี่ยงจะเป็นการอิงกับอายุของคนที่ตรวจ เช่น คุณแม่อายุ 30 มีความเสี่ยงที่จะเป็นดาวน์ 1/704 (หมายถึงในคุณแม่ 704 คน จะมี 1 คนที่ทารกในครรภ์เป็นโรคดาวน์) พอหาค่าจากเลือดคุณแม่แล้ว ผลที่ออกมาจะบอกได้เพียงค่าความเสี่ยง เช่น 1/3134 (หมายถึงเคสของคนตรวจที่มีอายุ 30 ปีด้วยกันนั้น มีความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะเป็นโรคดาวน์ 1 ต่อ 3134 คน) ฉะนั้นการทำtriple markerจะอิงค่าความเสี่ยงของคุณแม่ที่มีอายุอยู่ในช่วงเดียวกัน ไม่เทียบกับค่าความเสี่ยงของคุณแม่ช่วงอายุอื่น (หากฉันเข้าใจผิด ขออภัยด้วยค่ะ )

สาเหตุของโรคดาวน์
1. Trisomy 21 (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 標準型) อัตราการเกิดจากความผิดปกตินี้อยู่ที่ร้อยละ 95 ของโรคดาวน์ทั้งหมด คือโครโมโซม(ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 染色体- senshokutai) คู่ที่ 21 เกินมา 1 โดยปกติคนเราจะมีโครโมโซมทั้งหมด 46 แท่ง 23 แท่งได้จากแม่ และอีก 23 แท่งได้จากพ่อ คนที่เป็นโรคดาวน์ในเคสนี้จะมีโครโมโซม 47 แท่ง ส่วนใหญ่จะผิดปกติเนื่องมาจากอายุของแม่ที่มากขึ้น

ดูได้จากภาพข้างล่าง

Photobucket

2. 転座型 เคสนี้จะเกิดขึ้นร้อยละ 4 เกิดจากการที่ 1 แท่งของโครโมโซมคู่ที่ 21 ไปติดอยู่กับโครโมโซมคู่อื่น(ส่วนใหญ่จะเป็นคู่ที่13หรือ14)ในขั้นตอนการแบ่งเซล เคสนี้อายุของแม่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เป็นความผิดปกติที่ขั้นตอนการปฏิสนธิ

3. モザイク型 เคสนี้จะเกิดขึ้นเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น เป็นการผิดปกติที่ขั้นตอนการแบ่งเซลของตัวอ่อนที่ไม่สามารถแบ่งออกมาได้ชัดเจน เปรียบเหมือนกับmosaic เคสนี้ไม่ได้เป็นความผิดปกติที่จำนวนโครโมโซม

อายุของคุณแม่เสี่ยงกับทารกในครรภ์เป็นโรคดาวน์

Photobucket

เย็นวันนี้ฉันทำผัดผักบุ้ง กับแกงส้มเปลือกแตงโม เมื่อวานไปกินข้าวบ้านใหญ่ ป่าป๊าซื้อแตงโมมาครึ่งลูก ได้ทีเลยขอเปลือกมาซะเลย หย่อยๆๆๆ อาหารง่ายๆ แต่ก็ทำให้ลืมความอยากอาหารไทยไปได้เยอะเลยค่ะ

Photobucket


*หากจะฝากข้อความ เชิญที่ ปราศรัย นะคะ*

mahalo Image hosted by Photobucket.com




Create Date : 12 มิถุนายน 2551
Last Update : 12 มิถุนายน 2551 23:15:39 น. 0 comments
Counter : 2225 Pageviews.

fudge-a-mania
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add fudge-a-mania's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.