แหล่งกบดาน
<<
มิถุนายน 2558
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
9 มิถุนายน 2558

[Books] มองโลกอย่างฉลาด ด้วยเศรษฐศาสตร์โคตรพิลึก (SuperFreakonomics) - Levitt & Dubner



ตั้งแต่ได้อ่าน เศรษฐพิลึก (Freakonomics) ของ Steven D. Levitt and Stephen J. Dubner ไปเมื่อสองปีก่อน เราก็ติดตามฟัง Freakonomic Radio มาตลอด แต่นั่นไม่ได้หมายความเห็นด้วยกับทุกอย่างที่สองคนนี้พูด (หรืออาจจะต้องบอกว่า Levitt พูด) บางเรื่องเราเห็นต่าง หลายเรื่องก็น่าเบื่อ แต่ Levitt มีความคิดประหลาดดี และ Dubner นำเสนอสนุก ประเด็นที่หยิบยกมาก็ชวนขบคิด

ปีนี้ได้ฤกษ์อ่าน SuperFreakonomics หรือ มองโลกอย่างฉลาดด้วยเศรษฐศาสตร์โคตรพิลึก ซะที ทีมแปลของ We Learn ทำผลงานได้ดีจาก เศรษฐพิลึก เลยตัดสินใจซื้อภาษาไทยต่อ เล่มนี้เหมือนเป็นเล่มสองของเศรษฐพิลึก คอนเซ็ปท์ยังเหมือนเดิมคือพูดถึงประเด็นเรื่องราวหลากหลาย แต่หลักๆคือ การตอบสนองสิ่งจูงใจของมนุษย์ในเชิงพฤติกรรม และผลกระทบภายนอกที่คาดไม่ถึง

ในช่วงแรกพูดถึงหนึ่งในปัจจัยที่คิดไม่ถึงแต่ทำให้ทัศนคติเกี่ยวกับการมีลูกผู้หญิงในอินเดียดีขึ้น นั่นก็คือ เคเบิลทีวีและดาวเทียม (ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าเป็น correlation หรือ causal) ผลดีทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถแทนม้า (ภูเขาขี้ม้าในเมือง เสียงเกือกและล้อ จราจรติดขัด)

เศรษฐศาสตร์ของอาชีพโสเภณี
เป็นส่วนที่เราว่าน่าสนใจแทบจะที่สุดในเล่ม Levitt เอาข้อมูลมาจากสองทาง คือ จากนักวิจัยคนเดิมในเล่มแรกที่เข้าไปคลุกคลีเพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับแก๊งค์ยาเสพติดในชิคาโก กับโสเภณีชั้นสูงคนหนึ่งที่หันมาเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ เราได้ฟังสัมภาษณ์ของ Levitt ตอนที่เจอกับโสเภณีคนนี้หนแรก ฮามากๆ Levitt เชิญเธอมาบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งชิคาโกด้วย ในหนังสือพูดถึงทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์ ทำเล ราคา ส่วนลด นายหน้า อุปสงค์-อุปทาน price sensitivity ฯลฯ

การเพิกเฉยและการเสียสละ
เป็นอีกส่วนที่อ่านแล้วได้คิดเยอะมาก เรื่องการเพิกเฉยใช้จุดหลักที่คดีของคิตตี เจโนวีส ส่วนการเสียสละใช้ Game theory และ เกมเผด็จการ (ซึ่งต้องบอกว่าเราเห็นด้วยกับจอห์น ลิสต์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มองเห็นข้อสรุปแอบแฝงอีกอย่างที่ต่างออกไป นั่นคือ จะมีคนประมาณ 10% ที่ไม่ว่าสถานการณ์ไหนก็จะเสียสละเสมอ คนกลุ่มนี้อาจจะโง่ อาจจะซื่อ หรืออาจจะเป็นคนดีจริง แต่เราก็ชื่นชมละ)

ในหนังสือมีประโยคหนึ่งที่เราชอบมาก "มันใช้ได้ผลทางปฏิบัติ แต่ใช้ได้ผลทางทฤษฎีหรือเปล่า" และเราเห็นด้วยกับนักเศรษฐศาสตร์นะว่า การแบ่งปันส่วนใหญ่ คือ impure/warm glow altruism แต่ในบางเรื่อง ต่อให้เราเห็นด้วยในทางทฤษฎี การใช้ในทางปฏิบัติมันก็ทำใจลำบากจริงๆ อย่างการขายอวัยวะมนุษย์แบบถูกกฎหมาย ตามแบบ Iran Model จนถึงตอนนี้สมองเราก็ยังประมวลผลอยู่ คือเข้าใจถึงผลดีนะ และเข้าใจด้วยว่ามันเป็นร่างกายของเขาที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ตอนนี้สมองยังประมวลผลอยู่ ตัดสินใจไม่ได้ อยู่ เช่น ขายไตเพื่อไปเที่ยว หรือขายไตมาเป็นสินสอดลูกสาว ฯลฯ และยังลงโฆษณา ต่อรองราคากันได้อีก มันน่าเศร้ายังไงไม่รู้

ปัญหาเรื่องโลกร้อน และพายุเฮอริเคน
พูดถึงนวัตกรรมที่คิดค้นโดยบริษัท Intellectual Ventures เป็นหลัก หลายอย่างน่าทึ่งมาก เช่น การติดตั้งอ่างห่วงยางกลางทะเลเพื่อบรรเทาความรุนแรงของพายุเฮอริเคน แต่พอลองหาข้อมูลในอินเตอร์ก็พบว่า มันเป็นแค่ Plan C แม้แต่การลดโลกร้อนด้วยวิศวกรรมดาวเคราะห์ (ผ้าห่มบูโดไก เรือสร้างเมฆ ฯลฯ) ก็รู้สึกว่าเป็นไอเดียที่เป็น Plan C อีกนั่นแหละ เพราะความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมันสูงเกิน ส่วนตัวคิดว่าหนังสือ 'อวย' นักคิดค้นที่กล่าวถึงในบทนี้มากเกินไป

จึงไม่น่าแปลกใจที่บทนี้ทำให้เราคลางแคลงและมีปัญหามากที่สุดในเล่ม ไปหาข้อมูลสองข้างต่อในเน็ตก็ยังไม่หายขัดใจ ต่อให้ในบล็อกของ freakonomics บอกว่าปัญหาบางอย่างเกิดจากการพิมพ์ผิดก็เถอะ (และน่าเสียดายที่ในฉบับภาษาไทยก็แปลมาทั้งผิดๆอย่างนั้น)



แต่เราชอบนะที่บอกว่าเรื่องโลกร้อนกลายเป็นศาสนาหนึ่งไปแล้ว ใครแตะไม่ได้ เห็นต่างไม่ได้ ต้องปกป้องไม่ลืมหูลืมตา บางแหล่งเมคเรื่อง เมคข้อมูลมาเกทับกันอีกต่างหาก ยิ่งไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตต่อยิ่งเห็นชัด จากการอ่านเราไม่คิดว่า Levitt กับ Dubner ปฏิเสธเรื่องโลกร้อน เขาแค่บอกว่ามนุษย์เป็นปัจจัยที่น้อยมาก (ซึ่งบอกไว้ก่อนว่าเราไม่เห็นด้วย) แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะสิ่งที่กล่าวถึงส่วนใหญ่ในเรื่องคือการเสนอหนทางแก้ปัญหาในแง่มุมใหม่ ซึ่งฉีกแนวและคิดนอกกรอบ (ซึ่งอาจจะถูกหรือไม่ถูกก็ได้) ปัญหาคือ Freak เน้นการพรีเซนต์หวือหวาเกินไป และตีความโอเว่อร์ (อย่างที่เราเห็นมาแล้วในบางบท) ถึงแม้บางอย่างจะน่าสนใจนำไปขบคิดต่อยอดก็เถอะ

เราเห็นหลายคนโจมตีหนังสือเล่มนี้ ด่าแบบไม่เผาผี เพราะบทนี้บทเดียว (โปรดดูต้นย่อหน้าที่แล้ว) ไม่รู้สิ ส่วนตัวเราอาจจะเห็นต่างในหลายเรื่องและฟันธงไม่ได้ เพราะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่เราเห็นด้วยในบทคือแง่ของเศรษฐศาสตร์ มนุษย์เราทำร้ายสิ่งแวดล้อม เพราะไม่เห็นผลทันตา ไม่เห็นผลตรงหน้า มีหนังสือเล่มหนึ่งเราเคยอ่านบอกว่า มนุษย์เราไม่ถนัดในการอดกลั้นระงับใจ แต่เก่งในการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี มันใช่เลย

อื่นๆที่น่าสนใจเล่มมีอีกหลายเรื่อง อย่างเช่น

- การสืบหาผู้ต้องสงสัยมือระเบิดฆ่าตัวตายด้วยข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์

- การบริหารจัดการข้อมูลในวงการแพทย์

- วิธียืดอายุให้อยู่นานขึ้น (หนึ่งในนั้นคือ ได้รางวัลโนเบล ทำให้อายุยืนขึ้น 2 ปี หรือถ้ายากเกินไปก็ ซื้อกรมธรรม์บำนาญตลอดชีพ)

น่าสนใจทุกเรื่อง ดังนั้นสรุปแล้วก็ยังอ่านสนุกอยู่ ส่วนภาษาไทยก็แปลได้ลื่นไหลเข้าใจง่าย เพราะงี้เลยจะรออีกสักพักว่าเผื่อสนพ จะเอาอีก Think Like a Freak กับ How to Rob a Bank มาแปลด้วย

4 ดาว




 

Create Date : 09 มิถุนายน 2558
0 comments
Last Update : 24 ธันวาคม 2562 9:36:58 น.
Counter : 3737 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Froggie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 29 คน [?]




[Add Froggie's blog to your web]